วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - ไม่ประมาทกับดุนยาและชัยฏอน - ซุฟอัม อุษมาน

  



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - ไม่ประมาทกับดุนยาและชัยฏอน - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - ไม่ประมาทกับดุนยาและชัยฏอน - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

อัต-ตักวา หรือ อิตตะกุลลอฮ์ เป็นคำสั่งที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอ เพราะตักวาคือกระบวนการที่จะทำให้มุอ์มินผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา คิดที่จะปรับปรุงตัวเอง คิดที่จะดูแลตัวเอง เป็นการกระตุ้นให้เราทุกคนใช้ชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้ด้วยสติ เป็นการบอกกล่าว เป็นการย้ำเตือนอยู่ทุกครั้ง ทุกสัปดาห์ในวันศุกร์ เราจะได้ยินคำว่า อิตตะกุลลอฮ์ เพราะมันสำคัญมากๆ ต่อชีวิตของมนุษย์

ในอายะฮ์หนึ่งของสูเราะฮ์อัล-หัชร์ อัลลอฮ์ได้กำชับให้มีการตักวาถึงสองครั้งในอายะฮ์เดียวกันว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَلۡتَنظُرۡ نَفۡسٞ مَّا قَدَّمَتۡ لِغَدٖۖ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۚ إِنَّ ٱللَّهَ خَبِيرُۢ بِمَا تَعۡمَلُونَ 18﴾ [الحشر: 18] 

ความว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงตักวาต่ออัลลอฮ์ ทุกชีวิตจงไตร่ตรองดูว่าได้ทำอะไรบ้างสำหรับวันพรุ่งนี้ จงตักวาต่ออัลลอฮ์ แท้จริงแล้ว อัลลอฮ์ทรงรู้ดีถึงการกระทำของพวกเจ้า” (อัล-หัชร์ 18)

จะเห็นได้ว่า ตักวา เป็นกระบวนการภาคปฏิบัติไม่ใช่แค่ทฤษฎี อายะฮ์นี้มีตักวาสองครั้งด้วยกัน ตอนต้นอายะฮ์กับท้ายอายะฮ์ ในขณะที่ตรงกลางมีคำสั่งแทรกเข้ามาให้ทุกคนพิจารณาไตร่ตรองว่ากำลังทำอะไรอยู่สำหรับวันพรุ่งนี้ หมายถึง สำหรับวันอาคิเราะฮ์ วันที่เราจะตายแล้วกลับไปหาอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา แล้วพระองค์ก็ปิดท้ายอีกครั้งหนึ่งว่า จงตักวาต่ออัลลอฮ์ เพราะพระองค์รู้ดีที่สุดถึงสิ่งที่พวกเราทำ อัลลอฮุอักบัร

 

พี่น้องครับ

อายะฮ์ดังกล่าวนี้สำคัญกับเราอย่างยิ่ง ให้บทเรียนที่สำคัญกับเราบางประการ ในจำนวนสิ่งที่ได้รับจากอายะฮ์นี้ก็คือ ความสำคัญของตักวาในภาคปฏิบัติ เพราะมันคุมหัวคุมท้าย เราจำเป็นต้องใช้ตักวาในทุกกระบวนการชีวิตของเรา ตื่นขึ้นมาก็ต้องตักวา จะหลับตานอนในตอนกลางคืนก็ต้องตักวาต่ออัลลอฮ์

อายะฮ์นี้อัลลอฮ์สอนให้เรามองอนาคต ให้เราตรวจสอบสภาพตัวเองอยู่ตลอดเวลา และบอกถึงความจำเป็นที่เราจะต้องควบคุมตัวเองให้อยู่บนเส้นทาง อยู่ในกรอบ ใช้ชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้อย่างไม่ประมาท เราจะใช้ชีวิตในโลกดุนยานี้โดยไม่ประมาทอย่างไร ไม่ประมาทกับอะไรบ้าง ต้องขยายความกันอีกทีหนึ่ง ด้วยการพิจารณาว่าในฐานะที่เราเป็นมุอ์มินเรามีปัญหาอะไรบ้างในการใช้ชีวิตของเราในโลกดุนยานี้? ในขณะที่เราเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อะไรบ้างที่เราต้องระวัง? เพราะอัลลอฮ์ได้บอกให้เราตักวา ตักวาก็คือการระวัง ความหมายในศัพท์เดิมของมันก็คือการระวังและการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย

ในอีกอายะฮ์หนึ่งอัลลอฮ์ได้บอกถึงคนที่ใช้ชีวิตโดยไม่ระวัง ใช้ชีวิตอย่างประมาท สุดท้ายพวกเขาจะต้องเจอกับอะไรในวันอาคิเราะฮ์ พระองค์ได้ตรัสถึงพวกเขาว่า  

﴿وَٱلَّذِينَ كَفَرُواْ لَهُمۡ نَارُ جَهَنَّمَ لَا يُقۡضَىٰ عَلَيۡهِمۡ فَيَمُوتُواْ وَلَا يُخَفَّفُ عَنۡهُم مِّنۡ عَذَابِهَاۚ كَذَٰلِكَ نَجۡزِي كُلَّ كَفُورٖ 36 وَهُمۡ يَصۡطَرِخُونَ فِيهَا رَبَّنَآ أَخۡرِجۡنَا نَعۡمَلۡ صَٰلِحًا غَيۡرَ ٱلَّذِي كُنَّا نَعۡمَلُۚ أَوَ لَمۡ نُعَمِّرۡكُم مَّا يَتَذَكَّرُ فِيهِ مَن تَذَكَّرَ وَجَآءَكُمُ ٱلنَّذِيرُۖ فَذُوقُواْ فَمَا لِلظَّٰلِمِينَ مِن نَّصِيرٍ 37﴾ [فاطر: 36،  37]    

ความว่า “ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาจะได้รับไฟนรกญะฮันนัม(เป็นการตอบแทน) พวกเขาจะไม่ถูกทำให้ตาย ในขณะที่การลงโทษในนรกก็จะหนักหน่วงไม่ถูกลดหย่อนแก่พวกเขาแม้แต่น้อย เช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนแก่ผู้เนรคุณ(ปฏิเสธศรัทธา)ทุกคน และพวกเขาจะตะโกนอยู่ในนรกนั้นว่า ข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ได้ทรงโปรดนำเราออกไป(จากนรก) เพื่อเราจะได้ปฏิบัติการงานที่ดี ที่เราไม่เคยได้ปฏิบัติก่อนหน้านี้ (อัลลอฮ์จะตอบพวกเขาว่า)เรามิได้ให้อายุของพวกเจ้ายืนยาวนานพอดอกหรือ? เพียงพอสำหรับผู้ที่ใคร่ครวญจะได้ตระหนัก และ(ยิ่งกว่านั้น)ได้มีผู้ตักเตือนมายังพวกเจ้าแล้ว ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรส(การลงโทษ)เถิด เพราะสำหรับบรรดาผู้อธรรมนั้นจะไม่มีผู้ช่วยเหลือ” (ฟาฏิร 36-37)

อัลลอฮ์ได้บอกถึงคนที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ใช้ชีวิตแต่ละวันในดุนยาโดยไม่สนใจอาคิเราะฮ์ ประมาท ปล่อยปะละเลย ไม่ทำภารกิจและไม่ทำหน้าที่ในการเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ พอถึงวันอาคิเราะฮ์ก็จะต้องอยู่ในไฟนรกอันร้อนระอุ ในนรกญะฮันนัมที่ไม่ให้พวกเขาตายและไม่ทำให้พวกเขามีชีวิต หมายถึงการทรมานที่หนักหนาสาหัสซึ่งถ้าเกิดขึ้นในดุนยาจะทำให้มนุษย์ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่คนที่อยู่ในนรกจะไม่ตายด้วยการทรมานนี้ แต่จะต้องถูกทรมานวนซ้ำไปซ้ำมาแม้จะเจ็บปวดเจียนตายแค่ไหนก็ตาม ถึงร่างกายจะเหลวแหลกไปแล้วก็จะฟื้นขึ้นมารับการทรมานอย่างต่อเนื่องไม่มีวันจบ วัลอิยาซุบิลลาฮ์ มินซาลิก

เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จึงตะโกนโหยหวนในนรกว่า โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดให้เราออกไปจากนรกเถิด ให้เราได้กลับไปใช้ชีวิตอีกครั้งแล้วเราจะไม่ประมาท เราจะระวังตัว เราจะทำความดีและไม่ทำบาปอีก แน่นอนว่าพวกเขาไม่มีโอกาสนั้นอีกแล้ว ตอนอยู่ในดุนยาใช้ชีวิตอย่างประมาทและละเลย พอถึงอาคิเราะฮ์ก็จะไม่มีโอกาสได้กลับตัวอีกต่อไป แม้จะร้องขอต่ออัลลอฮ์อย่างไรก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะกลับมาอีกครั้ง

อัลลอฮ์ได้ตอบกลับพวกเขาว่า เราได้ให้ชีวิตที่ยาวนานเพียงพอแก่พวกเจ้าจนถึงวัยที่สามารถจะคิดออกได้แล้วมิใช่หรือ ให้พวกเจ้าได้คิดได้ตระหนัก แล้วเหตุใดพวกเจ้าถึงไม่คิดไตร่ตรองในขณะที่มีชีวิตอยู่ในดุนยา เราไม่ได้ตายตอนที่เรายังคิดอะไรไม่ได้ เราไม่ได้ตายตอนที่เราเป็นเด็ก แต่เราตายตอนที่เราสามารถคิดเป็นแล้ว ตายตอนที่เราคิดจะทำบาปอะไรเราก็ทำหมดโดยไม่สนใจ พอถึงเวลาหนึ่งที่อัลลอฮ์เอาชีวิตเราไป เราจะไปบอกกับอัลลอฮ์ว่าขอเวลากลับมาคิดมาทำความดีอีกครั้งหนึ่งมันย่อมเป็นไปไม่ได้

ตัฟซีรบางทัศนะอธิบายว่าอายุขัยที่สามารถคิดเป็นไตร่ตรองได้ในอายะฮ์ดังกล่าวคือ อายุ 17 บ้างก็บอกว่า 21 บ้างก็บอกว่า 40 บ้างก็บอกว่า 60 ลองคิดดูว่าเราแต่ละคนผ่านช่วงอายุเหล่านี้มากี่ช่วงแล้ว และเราคิดไตร่ตรองอะไรได้บ้างหรือยัง ถ้ายังคิดไม่ได้ ไตร่ตรองไม่เป็น ก็น่าเป็นห่วงที่สุดแล้ว

นอกจากนี้ก็ยังมีคำตักเตือนมาแล้ว คำตักเตือนที่พูดถึงในอายะฮ์นี้มีบางทัศนะที่อธิบายว่าหมายถึงหงอกสีขาวบนตัวเรา เมื่อไรก็ตามที่มีหงอกนั่นแสดงว่าใกล้ถึงวาระแห่งการสิ้นสุดชีวิตในโลกนี้แล้ว ถึงเวลาที่ควรจะตระหนักได้แล้ว และควรจะระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้มากกว่าที่ผ่านๆ มาก่อนหน้านี้

 

พี่น้องครับ

อัลกุรอานมีหน้าที่ในการเตือนไม่ให้มนุษย์ประมาท มีสองประการที่ห้ามประมาทกับมัน อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เรียกร้องให้มนุษย์ทั้งหมดฉุกคิด ไม่ใช่แค่เรียกผู้ศรัทธาเท่านั้น แต่พระองค์เรียกมนุษย์ทั้งหมดให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ให้ระมัดระวังสองอย่างนั่นก็คือ ดุนยา กับ ชัยฏอน[1]

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ ٱتَّقُواْ رَبَّكُمۡ وَٱخۡشَوۡاْ يَوۡمٗا لَّا يَجۡزِي وَالِدٌ عَن وَلَدِهِۦ وَلَا مَوۡلُودٌ هُوَ جَازٍ عَن وَالِدِهِۦ شَيۡ‍ًٔاۚ إِنَّ وَعۡدَ ٱللَّهِ حَقّٞۖ فَلَا تَغُرَّنَّكُمُ ٱلۡحَيَوٰةُ ٱلدُّنۡيَا وَلَا يَغُرَّنَّكُم بِٱللَّهِ ٱلۡغَرُورُ 33 ﴾ [لقمان: 33] 

ความว่า “โอ้มนุษย์เอ๋ย พวกเจ้าจงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด และจงกลัววันหนึ่งที่พ่อไม่อาจจะช่วยลูกของเขาได้ และลูกก็ไม่อาจจะช่วยพ่อของเขาได้แต่อย่างใด แท้จริงสัญญาของอัลลอฮ์นั้นเป็นความจริง ดังนั้นอย่าให้การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ล่อลวงพวกเจ้า และอย่าให้หัวหน้าพวกล่อลวง(ชัยฏอน)มาหลอกลวงพวกเจ้าเกี่ยวกับอัลลอฮ์เป็นอันขาด” (ลุกมาน 33)

อย่าให้ดุนยาล่อลวงเจ้า อย่าตกเป็นเหยื่อการยั่วยวนของชัยฏอน สองอย่างนี้แหละที่ทำให้มนุษย์เสียหายมานักต่อนักแล้ว ทำให้โดนฉุดกระชากลากถูจนหกล้มระเนระนาดไม่สามารถเจอกับหนทางแห่งการรอดพ้น ไม่เจอกับฮิดายะฮ์จากอัลลอฮ์ให้เขาปลอดภัยในวันอาคิเราะฮ์ วัลอิยาซุบิลลาฮ์ มินซาลิก

เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่อย่างไร เราผ่านดุนยานี้มากี่ปี เราผ่านเหตุการณ์และบททดสอบต่างๆ นานามามากมาย ให้ระวังตัวอย่าประมาท เพราะบางทีบททดสอบก็มาตอนที่เราสบาย บางคนอาจจะถูกทดสอบด้วยความสบาย ในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจจะถูกทดสอบด้วยความลำบาก ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทั้งสองด้านแห่งการทดสอบนี้ก็น่าเป็นห่วงทั้งสิ้น สำหรับคนที่ปล่อยปะละเลย ไม่ยอมรับรู้รับฟังคำสั่งของอัลลอฮ์ ไม่รู้จักระวังและประมาทในการใช้ชีวิต จนกลายเป็นเหยื่อของดุนยาและตกหลุมพรางของชัยฏอน

ยังมีอายะฮ์อื่นที่ใกล้เคียงกัน ที่อธิบายสภาพชีวิตของคนที่ใช้ชีวิตในดุนยาด้วยความประมาท ปล่อยให้ความเพริดแพร้วในดุนยาลากจูงไป และปล่อยให้ตัวเองโดนชัยฏอนล่อลวงจนไม่สามารถรอดพ้นได้

﴿يَوۡمَ يَقُولُ ٱلۡمُنَٰفِقُونَ وَٱلۡمُنَٰفِقَٰتُ لِلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱنظُرُونَا نَقۡتَبِسۡ مِن نُّورِكُمۡ قِيلَ ٱرۡجِعُواْ وَرَآءَكُمۡ فَٱلۡتَمِسُواْ نُورٗاۖ فَضُرِبَ بَيۡنَهُم بِسُورٖ لَّهُۥ بَابُۢ بَاطِنُهُۥ فِيهِ ٱلرَّحۡمَةُ وَظَٰهِرُهُۥ مِن قِبَلِهِ ٱلۡعَذَابُ 13 يُنَادُونَهُمۡ أَلَمۡ نَكُن مَّعَكُمۡۖ قَالُواْ بَلَىٰ وَلَٰكِنَّكُمۡ فَتَنتُمۡ أَنفُسَكُمۡ وَتَرَبَّصۡتُمۡ وَٱرۡتَبۡتُمۡ وَغَرَّتۡكُمُ ٱلۡأَمَانِيُّ حَتَّىٰ جَآءَ أَمۡرُ ٱللَّهِ وَغَرَّكُم بِٱللَّهِ ٱلۡغَرُورُ 14﴾ [الحديد: 13،  14] 

ความว่า “วันที่พวกมุนาฟิกชายและพวกมุนาฟิกหญิงจะกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาว่า รอพวกเราด้วยเถิด เพื่อเราจะได้รับแบ่งแสงสว่างของพวกท่านด้วย จะมีเสียงกล่าวว่า จงหันหลังกลับไปทางข้างหลังของพวกเจ้าเพื่อแสวงหาเอาเอง (ขณะนั้น) ก็จะมีกำแพงที่มีประตูบานหนึ่งมาขวางกั้นระหว่างพวกเขา ด้านในของมันนั้นมีความเมตตาและด้านนอกของมัน(ของพวกมุนาฟิก)มีการลงโทษ พวกเขาจะร้องเรียกบรรดาผู้ศรัทธาว่าพวกเรามิได้เคยอยู่ร่วมกับพวกท่านดอกหรือ? ผู้ศรัทธาจะกล่าวตอบว่า แน่นอน แต่พวกเจ้าได้ทำลายตัวเองด้วยการกลับกลอก พวกเจ้าเฝ้าดูว่าจะเกิดวิบัติอะไรกับเรา พวกเจ้าคลางแคลงในศาสนา พวกเจ้าปล่อยให้ความหวังที่เลื่อนลอยมาหลอกลวง จนกระทั่งพระบัญชาของอัลลอฮ์ได้มาถึง และมัน(ชัยฎอน)ก็ได้ล่อลวงพวกเจ้าเกี่ยวกับอัลลอฮ์” (อัล-หะดีด 13-14) 

เพราะฉะนั้นมาทบทวนตัวเองด้วยอายะฮ์อัลกุรอานเหล่านี้ อายะฮ์ที่อัลลอฮ์เรียกมนุษย์เป็นการเฉพาะ ให้เราได้รู้สึกตัวและไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلۡإِنسَٰنُ مَا غَرَّكَ بِرَبِّكَ ٱلۡكَرِيمِ 6 ٱلَّذِي خَلَقَكَ فَسَوَّىٰكَ فَعَدَلَكَ 7 فِيٓ أَيِّ صُورَةٖ مَّا شَآءَ رَكَّبَكَ 8﴾ [الانفطار: 6،  8] 

ความว่า “โอ้มนุษย์เอ๋ย อะไรเล่าที่ล่อลวงเจ้า(ให้หันห่าง) จากพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงเกื้อกูล ผู้ทรงบังเกิดเจ้า แล้วทรงทำให้เจ้าสมบูรณ์ แล้วก็ทรงทำให้เจ้าสมส่วน ในรูปใดที่พระองค์ทรงประสงค์ก็จะทรงประกอบเจ้าขึ้น” (อัล-อินฟิฏอร 6-8)

 แน่นอนว่าอัลลอฮ์นั้นทรงมีคุณลักษณะแห่งความเมตตาและการอภัยอย่างมากมาย แต่บางที ชัยฏอนก็มีกลลวงให้เรารู้สึกว่าอัลลอฮ์นั้นทรงเมตตา มันทำให้เราอยู่สบายๆ ไม่ยอมทำดี ให้เราทำบาปไปเรื่อยๆ ไม่ยอมกลับเนื้อกลับตัว สุดท้ายเมื่อถึงวันที่เราต้องจากโลกนี้ไปก็หมดโอกาสที่จะขออภัยโทษต่อพระองค์อีก นะอูซุบิลลาฮ์ มินซาลิก

 

พี่น้องที่รักทั้งหลายครับ

สิ่งที่จะทำให้เราไม่ประมาท คือ การตรวจสอบตัวเอง ทบทวนตนเองอยู่เสมอ เพราะใจเรามักจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากผู้ที่อัลลอฮ์ทรงดูแลด้วยความเมตตาของพระองค์เท่านั้น

﴿۞وَمَآ أُبَرِّئُ نَفۡسِيٓۚ إِنَّ ٱلنَّفۡسَ لَأَمَّارَةُۢ بِٱلسُّوٓءِ إِلَّا مَا رَحِمَ رَبِّيٓۚ إِنَّ رَبِّي غَفُورٞ رَّحِيمٞ 53﴾ [يوسف: 53] 

ความว่า “และฉันไม่รับประกันได้ว่าจิตใจของฉันจะสะอาดบริสุทธิ์ แท้จริงจิตใจนั้นชอบสั่งในสิ่งที่เป็นความชั่ว นอกจากที่พระเจ้าของฉันทรงเมตตาเท่านั้น แท้จริงพระเจ้าของฉันเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (ยูสุฟ 53)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีดุอาอ์ที่ท่านใช้อ่านบ่อยมาก และสอนให้พวกเราอ่านมัน

«اللَّهُمَّ يَا مُقَلِّبَ الْقُلُوْبِ، ثَبِّتْ قَلْبِيْ عَلَى دِيْنِكَ» [عن أنس بن مالك، صحيح الأدب المفرد 527، وصحيح الترمذي 2140 كلاهما للألباني]

ความว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ผู้ทรงพลิกผันหัวใจทั้งหลาย ขอพระองค์ทำให้หัวใจของฉันมั่นคงอยู่บนศาสนาของพระองค์ด้วยเถิด” (จากอะนัส บิน มาลิก, ดู เศาะฮีห์ อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด 527 และเศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ 2140 ของอัล-อัลบานีย์)

แม้ว่าดุนยาจะมีสิ่งสวยงามที่ยั่วยวนชวนลุ่มหลง และแม้ว่าชัยฏอนจะพยายามอยู่เสมอในการทำให้เราตกในหลุมพรางของมัน แต่สุดท้ายแล้ว อำนาจแห่งความศรัทธาที่เรามีต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ความช่วยเหลือของพระองค์ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เราพึ่งพิงได้ดีที่สุด ดังนั้น การขอดุอาอ์คือเครื่องมือที่จะทำให้หัวใจของเรานั้นเข้มแข็งท่ามกลางการทดสอบต่างๆ มากมายในขณะที่เรามีชีวิตในโลกดุนยา ท่ามกลางการล่อลวงของชัยฏอน

ให้ดุอาอ์เช่นนี้เป็นดุอาอ์ที่เราได้อ่านอยู่เสมอ เพื่อให้หัวใจของเรามั่นคงและเชื่อมโยงอยู่กับพระองค์อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างเข้มแข็งไม่มีวันเสื่อมคลาย



[1] ดูการอธิบายในตัฟซีร อัล-วะสีฏ ของ สัยยิด ฏ็อนฏอวีย์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น