วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - อิสลามสอนให้มีกำลังใจ - ซุฟอัม อุษมาน


 ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

หรือบน SoundCloud


พี่น้องมุสลิมีนที่อัลลอฮ์ให้เกียรติและรักทุกท่าน

อัลหัมดุลิลลาฮ์ ชุโกรขอบคุณต่ออัลลอฮ์ที่ยังทรงให้เรามีชีวิตอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งศาสนาอิสลาม อิสลามที่สอนให้เรามีกำลังใจอยู่เสมอ แม้ว่าจะผ่านบททดสอบหรือวิกฤตมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตส่วนตัว หรือในครอบครัว ในชุมชนหรือสังคมทั่วไป หรือวิกฤติระดับโลกก็ตาม เรายังคงมีกำลังใจได้อยู่เสมอตราบใดที่เรายังรักษาตัวตนของเราภายใต้คำสอนของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา 

แม้ว่าจะมีวิกฤตต่างๆ เข้ามามากมาย แต่อิสลามก็เตือนให้เราระวังจากความคิดต่างๆ ที่เป็นลบ อิสลามบอกว่าความคิดต่างๆ ที่เป็นลบในหัวของเรา บางทีอาจจะเป็นผลพวงมาจาก วัสวาส/การกระซิบกระซาบของชัยฏอนก็เป็นได้

ทำไมเราต้องพูดถึงเรื่องนี้ ทำไมเราต้องพูดถึงเรื่องการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำไมอิสลามต้องบอกให้เรามีกำลังใจและมีความคิดที่ดี?

เพราะสังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้มีเรื่องนี้เหล่านี้อยู่ บางทีเราเห็นบททดสอบที่เกิดขึ้น เรามีความทุกข์ อาจจะมีความท้อแท้ ความสิ้นหวัง บางคนอาจจะคิดว่าตัวเองนั้นล้มเหลว ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ เจอกับอุปสรรคต่างๆ นานา และอีกสารพัดความรู้สึกลบที่เกิดขึ้นกับตัวของเรา จากนั้นเราก็พยายามจะหาหนทางแก้ปัญหา บางทีแก้ปัญหาแบบผิดๆ ถูกๆ บางครั้งถึงขั้นออกนอกลู่นอกทาง ใช้วิธีการที่ผิดหรือค้านกับหลักการอิสลามในการแก้ปัญหา หนักกว่านั้นบางคนถึงขั้นไปพึ่งสิ่งต่างๆ ที่อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งห้าม ถึงขั้นไปหาหมอดูหมอเดา พึ่งพิธีกรรมชิริก ไสยศาสตร์หรือศาสตร์มืด ที่ขัดกับหลักคำสอนอิสลาม นะอูซุบิลลาฮ์ มิน ซาลิก

ทั้งหมดทั้งปวงนั้นอาจจะเกิดมาจากความสิ้นหวังหรือความท้อแท้กับปัญหาในชีวิตที่ต้องพบเจอ จึงทำให้ต้องไปหาวิธีการที่หะรอมในการแก้ปัญหา

 

พี่น้องครับ

ความรู้สึกเหล่านี้ ความรู้สึกสิ้นหวังหรือท้อแท้แบบนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากหัวใจที่อ่อนแอ หัวใจที่ไม่ได้มีความผูกพันและเชื่อมั่นในอะกีดะฮ์ที่มีต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

ครั้งหนึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยสอนท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านอิบนุ อับบาส รายงานว่า   

كُنْتُ خَلْفَ النَّبِيِّ  صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ  يَوْماً، فَقَالَ: «يَا غُلامُ، إنِّيْ أُعَلِّمُكَ كَلِمَاتٍ: احْفَظِ اللهَ يَحْفَظْكَ، احْفَظِ اللهَ تَجِدْهُ تُجَاهَكَ، إِذَا سَألْتَ فَاسْأَلِ اللهَ، وإِذَا اسْتَعَنْتَ فَاسْتَعِنْ باللهِ، وَاعْلَمْ  أنَّ الأُمَّةَ لَوْ اجْتَمَعَتْ عَلَى أنْ يَنْفَعُوكَ بِشَيءٍ لَمْ يَنْفَعُوكَ إلاَّ بِشَيءٍ قَدْ كَتَبهُ اللهُ لَكَ، وَلَوْ اجتَمَعُوا عَلَى أنْ يَضُرُّوكَ بِشَيءٍ لَمْ يَضُرُّوكَ إلاَّ بِشَيءٍ قَدْ كَتَبَهُ اللهُ عَلَيْكَ، رُفِعَتِ الأَقْلاَمُ وَجَفَّتِ الصُّحفُ». [صحيح الترمذي للألباني 2516]

ความว่า วันหนึ่งฉันเคยนั่งซ้อนท้ายบนสัตว์พาหนะของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วท่านก็พูดกับฉันขึ้นมาว่า “เด็กน้อยเอ๋ย ฉันจะสอนคำพูดบางอย่างให้กับเจ้า: จงดูแลรักษาอัลลอฮ์แล้วอัลลอฮ์จะดูแลรักษาเจ้า จงดูแลรักษาอัลลอฮ์ให้ดีแล้วเจ้าจะพบว่าอัลลอฮ์จะคอยดูแลอยู่เบื้องหน้าเจ้าทุกแห่งหน เวลาจะวิงวอนขอก็จงขอจากอัลลอฮ์ เวลาจะเรียกร้องความช่วยเหลือใดก็จงเรียกร้องกับอัลลอฮ์ พึงรู้เถิดว่าถ้าคนทั้งหมดรวมตัวกันที่จะมอบผลประโยชน์ใดให้กับเจ้า พวกเขาก็ไม่สามารถมอบให้เจ้าได้นอกจากสิ่งที่อัลลอฮ์ได้กำหนดไว้ให้กับเจ้าแล้วเท่านั้น และถ้าหากพวกเขาทั้งหมดรวมตัวกันที่จะทำร้ายเจ้าด้วยภัยใดๆ พวกเขาก็ไม่สามารถทำร้ายเจ้าได้นอกจากในสิ่งที่อัลลอฮ์ได้กำหนดไว้ให้แก่เจ้าแล้วเท่านั้น ปากกาถูกยกขึ้นเพราะได้เขียนเสร็จแล้ว และน้ำหมึกในสมุดบันทึกก็แห้งเรียบร้อยแล้ว” (เศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ ของอัล-อัลบานีย์ 2516)

หะดีษบทนี้เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่มาก สอนวิธีที่จะทำให้เรามีกำลังใจ สอนให้เรารู้ว่าจะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ อย่างเข้มแข็งได้อย่างไร ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนอิบนุ อับบาสในขณะที่ทั้งสองคนขี่พาหนะไปด้วยกัน อิบนุ อับบาส เป็นเด็กที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สอนมากับมือท่านตั้งแต่เด็กๆ มีเคล็ดลับมากมายที่ท่านสอนอิบนุ อับบาส ซึ่งในจำนวนนั้นก็คือหะดีษนี้ที่เรากล่าวไว้แล้ว

ประการแรก จงรักษาดูแลอัลลอฮ์ หมายถึง ดูแลรักษาคำสั่งของอัลลอฮ์ พระองค์ใช้ให้เราทำอะไรก็ทำให้ดีที่สุด พระองค์ห้ามเราจากเรื่องอะไรก็ต้องละทิ้งให้ได้ เมื่อไรก็ตามที่รักษาดูแลคำสั่งของอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะดูแลรักษาเรา พระองค์จะช่วยจัดการปัญหาของเราให้คลี่คลาย ถ้าเราดูแลรักษาคำสั่งของอัลลอฮ์ให้ดีในตอนที่เราสุขสบาย วันใดวันหนึ่งที่เรามีปัญหาและเผชิญกับความทุกข์หรือความลำบากฉุกเฉินขึ้นมาเราก็จะพบว่าอัลลอฮ์ไม่ทิ้งเรา พระองค์จะช่วยเราทันที

ประการต่อมา เวลาใดก็ตามที่เราจะขอสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้ขอจากอัลลอฮ์ ต้องการความช่วยเหลือใดก็ให้ขอจากอัลลอฮ์ อย่าไปขอจากสิ่งอื่นที่ทำให้เราต้องชิริก ต้องตั้งภาคีกับอัลลอฮ์ วัลอิยาซุบิลลาฮ์ มิน ซาลิก

พึงจำเอาไว้ ไม่ว่าคนทั้งโลกนี้ต้องการจะหยิบยื่นของบางอย่างที่ดีให้กับเรา แต่หากอัลลอฮ์ไม่ประสงค์ให้เกิด คนเหล่านั้นก็ไม่สามารถให้ประโยชน์กับเราได้ ตรงกันข้าม ถ้าหากคนทั้งโลกร่วมมือกันต้องการจะทำร้ายเรา แต่พระองค์ไม่ประสงค์ให้เกิด พวกเขาก็ไม่สามารถจะทำร้ายเราได้ เพราะอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เป็นผู้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง

มาชาอัลลอฮ์ นี่คืออะกีดะฮ์ นี่คือความเชื่อของมุสลิม เมื่อไรก็ตามที่ความเชื่อนี้มั่นคงอยู่ในใจเราแล้วเราจะไม่มีกำลังใจได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่จะทำให้เรามีพลังใจพร้อมที่จะสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นวันนี้หรือวันไหนก็ตาม

 

พี่น้องครับ

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตอนที่ท่านอยู่ในถ้ำ ษูร กับท่านอบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ในเหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮ์ หลบซ่อนจากการไล่ล่าของพวกกุร็อยช์เป็นเวลาสามคืน พวกมุชริกีนตามมาถึงหน้าปากถ้ำเกือบที่จะเข้ามาเห็นตัวของทั้งสองคนอยู่แล้ว ท่านอบู บักร์นั้นกระวนกระวายกลัวว่าพวกเขาจะมองเห็น ท่านเล่าว่า

نَظَرْتُ إِلَى أَقْدَامِ المُشْرِكِينَ عَلَى رُؤُوسِنَا وَنَحْنُ فِيْ الْغَارِ، فَقُلتُ: يَا رَسُوْلَ اللهِ، لَوْ أَنَّ أَحَدَهُمْ نَظَرَ إِلَى قَدَمَيْهِ أَبْصَرَنَا تَحْتَ قَدَمَيْهِ، فَقَالَ: «يا أَبَا بَكْرٍ، مَا ظَنُّكَ باثْنَيْنِ، اللهُ ثَالِثُهُمَا». [البخاري 3653، مسلم 2381]

ความว่า ฉัน(อบู บักร์)มองไปยังเท้าของพวกมุชริกีนที่ตามมาถึงปากถ้ำซึ่งอยู่ทางด้านบนศรีษะของเราในขณะที่เราอยู่ในถ้ำ แล้วฉันก็พูดกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า โอ้ รอซูลของอัลลอฮ์ หากพวกเขามองลงมาที่เท้าของตัวเอง พวกเขาก็จะเห็นเราอยู่ข้างล่างนี้แล้ว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ตอบท่านไปว่า “อบู บักร์ เอ๋ย เจ้าคิดอย่างไร กับคนสองคนที่มีอัลลอฮ์ซึ่งเป็นบุคคลที่สามคอยดูแลพวกเขาอยู่” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 3653 มุสลิม 2381)

ในเวลาวิกฤตที่กำลังถูกไล่ล่าและมีคนจะทำร้าย ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังมีกำลังใจและยังปลอบโยนท่านอบู บักร์ไม่ให้กระวนกระวาย อย่าได้กังวลใจ เพราะเรามีอัลลอฮ์คอยดูแลอยู่ การที่เรามีอะกีดะฮ์ที่ผูกโยงกับอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทำให้เรามีพลังใจเข้มแข็งเยี่ยงนี้

 

พี่น้องครับ

ในอัลกุรอานเอง มีอายะฮ์มากมายที่ให้กำลังใจพวกเรา ผ่านอายะฮ์ต่างๆ ที่พูดถึงความเมตตาของอัลลอฮ์ อายะฮ์ที่พูดถึงเรื่องราวของบรรดานบีที่เป็นบทเรียนให้เรารู้ว่าพวกเขาผ่านอุปสรรค์และปัญหาต่างๆ ได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีอายะฮ์ที่บอกให้ระวังการล่อลวงของชัยฏอน เช่น

﴿وَمَن يَتَّقِ ٱللَّهَ يَجۡعَل لَّهُۥ مَخۡرَجٗا 2 وَيَرۡزُقۡهُ مِنۡ حَيۡثُ لَا يَحۡتَسِبُۚ وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ﴾ [الطلاق: 2،  3]   

ความว่า “ใครก็ตามที่มีความตักวาต่ออัลลอฮ์ พระองค์จะทำให้พวกเขามีทางออก และจะประทานริซกีให้โดยไม่คิดคำนวน ใครก็ตามที่มอบหมายต่ออัลลอฮ์ พระองค์ก็จะเป็นที่พึ่งอย่างพอเพียงแล้ว” (อัฏ-เฏาะลาก 2-3)

การตักวาต่ออัลลอฮ์เป็นเหตุให้เราได้รับการคลี่คลายปัญหา มีทางออกสำหรับทางตันต่ออุปสรรคที่ต้องเจอ อัลลอฮ์จะให้ริซกีโดยไม่ต้องพะวง และพระองค์เป็นที่พึ่งให้กับเขาอย่างเพียงพอแล้ว

ในเรื่องราวของนบียูซุฟ ตอนที่น้องนบียูซุฟกักตัวน้องชายที่ชื่อบุนยามินไว้ แล้วพี่คนอื่นๆ ก็กลับไปหานบียะอฺกูบเพื่อแจ้งว่าบุนยามินโดนจับตัว ยะอฺกูบก็พูดกับลูกๆ ว่าจงกลับไปหาน้องชายของพวกเจ้า อย่าได้สิ้นหวังในความช่วยเหลือของอัลลอฮ์

﴿وَلَا تَاْيۡ‍َٔسُواْ مِن رَّوۡحِ ٱللَّهِۖ إِنَّهُۥ لَا يَاْيۡ‍َٔسُ مِن رَّوۡحِ ٱللَّهِ إِلَّا ٱلۡقَوۡمُ ٱلۡكَٰفِرُونَ 87﴾ [يوسف: 87] 

ความว่า “และอย่าได้สิ้นหวังจากความเมตตาและการช่วยเหลือของอัลลอฮ์ แท้จริง คนที่สิ้นหวังจากความเมตตาของอัลลอฮ์ไม่มีใครอีกแล้วนอกจากคนที่ปฏิเสธศรัทธาเท่านั้น” (ยูสุฟ 87)

ในเรื่องราวของนบี อิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม อัลลอฮ์ได้แจ้งข่าวดีให้ท่านทราบว่าภรรยาของท่านจะมีบุตร ในขณะที่ทั้งสองคนนั้นมีอายุมากแล้ว แต่กระนั้นอัลลอฮ์ก็ส่งมะลาอิกะฮ์มาบอกกับท่านว่าอย่าได้สิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์

﴿قَالُواْ بَشَّرۡنَٰكَ بِٱلۡحَقِّ فَلَا تَكُن مِّنَ ٱلۡقَٰنِطِينَ 55 قَالَ وَمَن يَقۡنَطُ مِن رَّحۡمَةِ رَبِّهِۦٓ إِلَّا ٱلضَّآلُّونَ 56﴾ [الحجر: 55،  56] 

ความว่า “บรรดามะลาอิกะฮ์ที่มาหาอิบรอฮีมได้กล่าวว่า เราได้แจ้งข่าวดีแก่ท่านด้วยความสัจจริง ดังนั้นท่านอย่าได้เป็นผู้ที่สิ้นหวังเลย อิบรอฮีมก็พูดว่า ผู้ใดที่สิ้นหวังจากความเมตตาแห่งพระผู้อภิบาลของเขาได้อีกเล่า นอกจากบรรดาคนที่หลงทางเท่านั้น” (อัล-หิจญ์รฺ 55-56)

ความสิ้นหวัง ความท้อแท้ และความโศกเศร้า เป็นสิ่งที่ชัยฏอนพยายามจะให้เกิดขึ้นในใจผู้ศรัทธา เพราะมันเป็นประตูที่จะทำให้ชัยฏอนเข้ามาก่อกวนและมีอิทธิพลต่อหัวใจของมนุษย์

﴿إِنَّمَا ذَٰلِكُمُ ٱلشَّيۡطَٰنُ يُخَوِّفُ أَوۡلِيَآءَهُۥ فَلَا تَخَافُوهُمۡ وَخَافُونِ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ 175﴾ [آل عمران: 175]

ความว่า “แท้จริงแล้ว นั่นคือชัยฏอนที่ต้องการข่มขู่บรรดาสาวกของมัน ดังนั้น พวกเจ้าอย่าได้เกรงกลัวพวกเขา แต่พวกเจ้าจงเกรงกลัวฉันหากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา” (อาล อิมรอน 175)

﴿إِنَّمَا ٱلنَّجۡوَىٰ مِنَ ٱلشَّيۡطَٰنِ لِيَحۡزُنَ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَلَيۡسَ بِضَآرِّهِمۡ شَيۡ‍ًٔا إِلَّا بِإِذۡنِ ٱللَّهِۚ وَعَلَى ٱللَّهِ فَلۡيَتَوَكَّلِ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ 10﴾ [المجادلة: 10]   

ความว่า “แท้จริงแล้ว พฤติกรรมกระซิบกระซาบนั้นมาจากชัยฏอนเพื่อที่จะสร้างความกังวลใจแก่บรรดาผู้ศรัทธา แต่มันจะไม่สามารถทำร้ายพวกเขาได้นอกจากด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์เท่านั้น ผู้ศรัทธาทั้งหลายจงมอบหมายต่ออัลลอฮ์เถิด” (อัล-มุญาดะละฮ์ 10)

นี่เป็นตัวอย่างที่พูดถึงพฤติกรรมบางอย่างที่อาจจะทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่ดีในหัวใจ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ชัยฏอนต้องการให้เกิดเพื่อเข้ามามีบทบาทและควบคุมหัวใจมนุษย์ ดังนั้น จึงต้องรู้ทันและไม่ปล่อยให้โดยชัยฏอนเข้ามาครอบงำด้วยความรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังเหล่านี้ เช่น เวลาทำอะไรสักอย่างไม่สำเร็จ อย่านึกเสียดายหรือเสียใจว่า “ถ้า” ทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็คงไม่เกิดผลแบบนั้นแบบนี้ เพราะคำพูดอย่างนี้เปิดประตูให้ชัยฏอนเข้ามาล่อลวงเราได้ เรื่องอะไรที่ผ่านไปแล้วก็ไม่ต้องมานึกเสียดาย แต่ให้กล่าวว่า นี่คือกำหนดการของอัลลอฮ์ (จากความหมายหะดีษที่บันทึกโดยมุสลิม 2664)

เพราะฉะนั้น ให้ตัดความรู้สึกที่สร้างความกังวลใจออกไป แล้วกลับมาผูกโยงความเชื่อของเรากับอัลลอฮ์ ให้เรามั่นใจในความเมตตาของอัลลอฮ์ เราจะได้มีกำลังใจและจะได้ทบทวนตัวเองต่ออุปสรรคต่างๆ และได้สู้ต่อไปอย่างมีพลังต่อการช่วยเหลือของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา 

 

พี่น้องมุสลิมที่ร่วมละหมาดวันศุกร์ทุกท่านครับ

ยิ่งเรามีความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา  มากเท่าไร เราก็จะยิ่งมีพลังใจ และยิ่งเราห่างจากอัลลอฮ์มากเท่าไร ยิ่งเราชิริก/ตั้งภาคีต่อพระองค์ หัวใจของเราก็จะกระสับกระส่ายมากเท่านั้น ยิ่งทำให้เราขยับเข้าไปหาสิ่งที่ผิดมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีความท้อแท้ มีความกลัวในการใช้ชีวิต และทำลายอะกีดะฮ์เตาฮีดของเราก็คือ เรื่องการถือโชคลาง นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุหรือผลสะท้อนความอ่อนแอของอะกีดะฮ์ที่เรามีต่ออัลลอฮ์

พวกมุชริกีนในสมัยญาฮิลียะฮ์ จะถือเรื่องโชคลางต่างๆ เป็นเรื่องที่ยึดถือกันมา เช่น เวลาเห็นสัตว์บางตัวหรือนกบางชนิดมาเกาะที่หลังคาบ้านก็จะถือว่าเป็นลางร้าย บางทีจะงดเดินทางในช่วงเดือนใดเดือนหนึ่งเพราะถือว่าเป็นฤกษ์ไม่ดี เป็นต้น

เมื่ออิสลามมา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้ประกาศไม่ให้เศาะหาบะฮ์ยึดถือตามพฤติกรรมของพวกมุชริกีน เพราะสิ่งเหล่านั้นขัดกับหลักความเชื่อเตาฮีดต่ออัลลอฮ์

«لا عَدْوَى ولا طِيَرَةَ، ولا هَامَةَ ولا صَفَرَ» [البخاري 5757]

ความว่า “ไม่มีการเชื่อว่าโรคร้ายนั้นแพร่ระบาดด้วยตัวเองโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดของอัลลอฮ์ ไม่มีการเชื่อในเรื่องลางร้ายที่ได้ยินหรือได้เห็น ไม่มีการเชื่อในเรื่องนกฮูกที่มาเกาะบ้าน ไม่มีการเชื่อในเรื่องลางร้ายของเดือนเศาะฟัร” (บันทึกโดยมุสลิม 2684)

ตัวอย่างเรื่องการถือโชคลางเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ปฏิเสธทั้งสิ้น

ไม่น่าเชื่อว่า ในยุคปัจจุบันนี้ที่เรามีเทคโนโลยีทันสมัย ก็ยังมีเรื่องเหล่านี้อยู่ มีการทำนายโชคชะตา ดูโชคดูดวง แล้วก็ทำอย่างปกติผ่านเครื่องมือทันสมัยในอุปกรณ์ไฮเทคที่เราใช้ บางทีก็ส่งตรงเข้ามาในมือถือของเราเองโดยไม่ต้องไปหา ไม่เฉพาะในสังคมที่ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ แต่ในหมู่มุสลิมด้วยกันเองก็ยังมีให้เห็น บางทีถึงขั้นมีการโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่เราต้องระวังเรื่องพวกนี้

ทำอย่างไรให้อะกีดะฮ์ของเรามีความเข้มแข็งแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องหันไปพึ่งของที่ผิดอย่างนี้อีกต่อไป มีคำแนะนำในหะดีษเมากูฟถึงท่านอบู อัด-ดัรดาอ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า

مَنْ قَاْلَ إِذَا أَصْبَحَ وَإِذَا أَمْسَى: ﴿حَسۡبِيَ ٱللَّهُ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَۖ عَلَيۡهِ تَوَكَّلۡتُۖ وَهُوَ رَبُّ ٱلۡعَرۡشِ ٱلۡعَظِيمِ 129﴾ [التوبة: 129]   سبعَ مرَّاتٍ؛ كفاهُ اللَّهُ ما أهمَّهُ. [رواه أبو داود 5081]

ความว่า “ใครที่กล่าวทุกเช้าและเย็นด้วยบทรำลึกนี้จำนวนเจ็ดครั้งว่า

﴿حَسۡبِيَ ٱللَّهُ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَۖ عَلَيۡهِ تَوَكَّلۡتُۖ وَهُوَ رَبُّ ٱلۡعَرۡشِ ٱلۡعَظِيمِ 129

ความหมาย “อัลลอฮ์นั้นทรงเพียงพอแก่ฉันแล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ฉันขอมอบหมายต่อพระองค์ พระองค์เป็นผู้อภิบาลบัลลังก์อัรช์อันยิ่งใหญ่” (จากสูเราะฮ์ อัต-เตาบะฮ์ 129)

อัลลอฮ์ก็จะทรงรับที่จะช่วยเหลือทำให้สิ่งที่เขาเป็นทุกข์และกังวลได้คลี่คลายไป” (บันทึกโดยอบู ดาวูด 5281)[1]

เมื่ออัลลอฮ์ทรงรับที่จะช่วยเหลือ แล้วเหตุใดที่เราต้องไปพึ่งพาสิ่งชิริกให้เกิดความเสียหายกับอะกีดะฮ์ของเราอีก วัลอิยาซุบิลลาฮ์ มิน ซาลิก



[1] หะดีษบทนี้นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าเฎาะอีฟ แต่บางส่วนก็ให้น้ำหนักว่าเป็นสายรายงานที่ดีและรับได้ ดูเพิ่มเติมในบทความของ ดร.คอลิด บิน อุษมาน อัส-สับต์ t.ly/WYUT4)


วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - ทรัพย์สินที่หะรอม - ซุฟอัม อุษมาน

 




ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

หรือบน SoundCloud


อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ชุโกรขอบคุณต่ออัลลอฮ์สำหรับทุกอย่างที่พระองค์ให้กับเราในชีวิต สำหรับริซกีทั้งที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เป็นผู้ประทานและกำหนดมันให้กับเรามาทั้งสิ้น

มีหะดีษบทหนึ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับเราในสังคมที่เราต้องวุ่นวายกับการแสวงหาริซกีในสภาวะปัจจุบัน เป็นหะดีษที่รายงานโดยอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَيَأْتِيَنَّ عَلَى النَّاسِ زَمانٌ، لَا يُبَالِي المَرْءُ بِمَا أخَذَ الـمَالَ، أَمِنْ حَلَالٍ أَمْ مِنْ حَرَامٍ» [البخاري، رقم: 2083]

ความว่า “จะมียุคสมัยหนึ่งมาถึงผู้คน บุคคลหนึ่งจะไม่สนใจว่าเขาได้ทรัพย์สินมาด้วยวิธีไหน ได้มาจากสิ่งที่หะลาลหรือได้มาจากสิ่งที่หะรอม” (อัล-บุคอรีย์ 2083)

นี่เป็นหนึ่งในสัญญาณวันกิยามะฮ์ ที่คนจะไม่สนใจวิธีการแสวงหาริซกีและการหาเงิน หะลาลก็เอาหะรอมก็เอา ปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยที่เราเห็นทุกวันนี้ ไม่มีบิดเบี้ยวไปจากหะดีษข้างบนเลยแม้แต่น้อย สุบหานัลลอฮ์  

 

พี่น้องครับ

จริงๆ แล้ว เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์กำหนดไว้แล้วตั้งแต่เรายังไม่เกิด ดังนั้น จึงอย่าได้มีความรู้สึกว่าทำไมเรามีทรัพย์สินน้อยเหลือเกิน ทำไมเราได้ริซกีล่าช้า แล้วเราก็พยายามที่จะรีบร้อนหาเงินและริซกีด้วยวิธีการต่างๆ โดยไม่สนใจว่ามันจะเป็นวิธีการที่ถูกหรือผิด

ในอีกหะดีษหนึ่งที่รายงานโดยญาบิร บิน อับดุลลอฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา

«لَا تَسْتَبْطِئُوْا الرِّزْقَ، فَإِنَّهُ لَنْ يَمُوْتَ الْعَبْدُ حَتَّى يَبْلُغَهُ آخِرُ رِزْقٍ هُوَ لَهُ، فَأَجْمِلُوْا فِـيْ الطَّلَبِ: أَخْذِ الْحَلَاْلِ وَتَرْكِ الْحَرَامِ» [تخريج صحيح ابن حبان، رقم: 3239، صححه الأرناؤوط على شرط مسلم]

ความว่า “อย่าได้รู้สึกว่าริซกีนั้นมาช้า เพราะบ่าวคนหนึ่งจะไม่มีวันเสียชีวิต จนกว่าริซกีอันสุดท้ายที่เป็นของเขาจะมาให้เขาได้ใช้ ดังนั้น จงแสวงหาริซกีให้ดี ด้วยการรับเอาสิ่งที่หะลาล และละทิ้งสิ่งที่หะรอม” (ตัครีจญ์ เศาะฮีห์ อิบนุ หิบบาน 3239 เป็นหะดีษเศาะฮีห์ตามเงื่อนไขของมุสลิม)

ตราบใดที่ริซกีของเรายังไม่หมด ชีวิตของเราก็จะไม่มีวันสิ้นสุดไปจากโลกนี้ เราทุกคนจะได้ใช้ริซกีที่อัลลอฮ์กำหนดมาให้เราหมดจนชิ้นสุดท้ายไม่เหลือไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตจากดุนยานี้ไป

ดังนั้น หน้าที่ของเราก็คือแสวงหามันด้วยวิธีที่ถูกต้อง ด้วยวิธีการที่หะลาล อย่าแหกกฎในการแสวงหาริซกีด้วยวิธีการที่หะรอม รับริซกีเฉพาะที่หะลาล อะไรที่หะรอมต้องเอาออกไป

พี่น้องครับ

ริซกี ทรัพย์สิน และเงินทอง ที่หะรอมอันตรายอย่างไรสำหรับเรา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« لا يدخُلُ الجنَّةَ لَحْمٌ نَبَتَ من سُحْتٍ؛ النَّارُ أَوْلى به» [الكبائر للذهبي، رقم 223، صحيح على شرط الشيخين]

ความว่า “จะไม่ได้เข้าสวรรค์ เลือดเนื้อที่เติบโตเกิดมาจากการบริโภคสิ่งที่หะรอม นรกนั้นย่อมคู่ควรกับเขามากกว่า” (อัล-กะบาอิร ของ อัซ-ซะฮะบีย์ 223 หะดีษเศาะฮีห์ตามเงื่อนไขอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

นี่คืออันตรายของการใช้ทรัพย์สินที่หะรอมในการดำรงชีวิต ในหะดีษอีกบทหนึ่ง รายงานโดยท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนผู้คนไว้ว่า

«أَيُّها النَّاسُ، إنَّ اللهَ طَيِّبٌ لَا يَقْبَلُ إلَّا طَيِّبًا، وإنَّ اللهَ أمَرَ المُؤْمِنِينَ بِمَا أمَرَ بِهِ الـْمُرْسَلِينَ، فَقَالَ: ﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلرُّسُلُ كُلُواْ مِنَ ٱلطَّيِّبَٰتِ وَٱعۡمَلُواْ صَٰلِحًاۖ إِنِّي بِمَا تَعۡمَلُونَ عَلِيمٞ 51﴾ [المؤمنون: 51]  ، وَقَالَ: ﴿كُلُواْ مِن طَيِّبَٰتِ مَا رَزَقۡنَٰكُمۡۚ﴾ [البقرة: 57]، ثُمَّ ذَكَرَ الرَّجُلَ يُطِيلُ السَّفَرَ أشْعَثَ أغْبَرَ، يَمُدُّ يَدَيْهِ إِلَى السَّمَاءِ، يَا رَبِّ، يَا رَبِّ، وَمَطْعَمُهُ حَرَامٌ، ومَشْرَبُهُ حَرَامٌ، ومَلْبَسُهُ حَرَامٌ، وغُذِيَ بِالْحَرَامِ، فَأَنَّى يُسْتَجَابُ لِذَلِكَ؟!» [مسلم رقم: 1015]

ความว่า “ผู้คนทั้งหลาย แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเป็นเลิศพระองค์จะรับเฉพาะสิ่งที่ดีเท่านั้น พระองค์สั่งบรรดาผู้ศรัทธาเหมือนกับที่เคยสั่งบรรดาศาสนทูตมาก่อนแล้ว พระองค์ตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلرُّسُلُ كُلُواْ مِنَ ٱلطَّيِّبَٰتِ وَٱعۡمَلُواْ صَٰلِحًاۖ إِنِّي بِمَا تَعۡمَلُونَ عَلِيمٞ 51﴾ [المؤمنون: 51] 

ความหมาย “โอ้ ศาสนทูตทั้งหลาย จงบริโภคจากสิ่งดีๆ และจงประกอบการงานที่ดี แท้จริงแล้วข้ารู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (อัล-มุอ์มินูน 51)

และยังตรัสอีกว่า

﴿كُلُواْ مِن طَيِّبَٰتِ مَا رَزَقۡنَٰكُمۡۚ﴾ [البقرة: 57]

ความหมาย “จงบริโภคจากสิ่งที่ดีซึ่งเราได้ประทานให้กับพวกเจ้า” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 57)

หลังจากนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้เอ่ยถึงผู้ชายคนหนึ่งที่เดินทางรอนแรมมายาวนาน ผมเผ้ายุ่งเหยิงเนื้อตัวเต็มไปด้วยฝุ่น เขายกสองมือขอดุอาอ์ไปยังฟ้าเบื้องบนว่า ยา ร็อบบี ยา ร็อบบี (โอ้ พระเจ้าของฉัน โอ้ พระเจ้าของฉัน) ในขณะที่อาหารของเขานั้นหะรอม เครื่องดื่มของเขาก็หะรอม เสื้อผ้าของเขาก็หะรอม เขาเติบโตมาด้วยของหะรอม แล้วดุอาอ์ของเขาจะถูกตอบรับจากอัลลอฮ์ได้อย่างไร?” (มุสลิม 1015)

ผู้ชายคนนี้มีปัจจัยที่อัลลอฮ์จะตอบรับดุอาอ์อยู่ในตัวเขา นั่นคือ เป็นคนเดินทาง เป็นคนยากจนข้นแค้น ยกมือไปยังอัลลอฮ์บนฟ้า และยังร้องขอว่า ยา ร็อบบี แต่ว่าปัจจัยทั้งหมดนั้นไม่มีประโยชน์สำหรับเขา เพราะมีอุปสรรค์กีดขวางการตอบรับดุอาอ์อยู่ นั่นก็คือการบริโภคสิ่งที่หะรอม สาเหตุข้อนี้ลบปัจจัยการตอบรับดุอาอ์ข้างต้นจนหมดสิ้น วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก

นี่เป็นอันตรายของทรัพย์สินและเงินทองที่หะรอม

 

พี่น้องครับ

ทรัพย์สินที่หะรอมในอิสลาม จะย้อนกลับไปที่รากฐานสามข้อ ตามที่นักวิชาการมุสลิมได้ประมวลเอาไว้ ดังนี้ (ดูการอ้างอิงได้จาก bit.ly/42ui610)

หนึ่ง ทรัพย์สินที่ได้มาจากของหะรอมตามบทบัญญัติ เช่น การขายเหล้าเบียร์ สุกร เลือด หรือได้มาจากพฤติกรรมที่หะรอมเช่น ลักขโมย ปล้น หรือได้มาจากธุรกรรมต้องห้าม เช่น การซื้อขายในมัสยิด การขายตัดราคา การขายสินค้าที่กักตุนโดยไม่เป็นธรรม เป็นต้น 

สอง ทรัพย์สินที่ได้มาจากการหลอกลวงหรือที่เรียกว่า “เฆาะร็อร” มีความไม่ชัดเจน มีลักษณะคล้ายการเสี่ยงทาย การสุ่มสินค้า การพนันได้เสีย การโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง สินค้าไม่ตรงปก เป็นต้น

สาม ทรัพย์สินที่ได้มาจากดอกเบี้ยและธุรกรรมปลีกย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

พี่น้องทุกท่าน

มีคำพูดจากอุละมาอ์ในอดีตเช่นท่าน มาลิก บิน ดีนาร์ ท่านกล่าวว่า

"لَأَنْ يَتْرُكَ الرَّجُلُ دِرْهَمًا حَرَامًا خَيْرٌ لَهُ مِنْ أَنْ يَتَصَدَّقَ بِمِئَةِ أَلْفِ دِرْهَم". [المجالسة وجواهر العلم: 5/126]

ความหมายก็คือ การที่บุคคลละทิ้งหนึ่งดิรฮัมที่หะรอม ก็ยังดีกว่าการที่เขาบริจาคแสนดิรฮัมที่หะลาล (อัล-มุญาละสะฮ์ วะ ญะวาฮิร อัล-อิลม์ 5/126)

สุบหานัลลอฮ์ ระหว่างการบริจาคเป็นแสนเป็นล้านจากเงินที่หะลาลซึ่งได้รับผลบุญจากอัลลอฮ์ แต่กลับบริโภคสิ่งที่หะรอมแค่เล็กน้อยก็ยังน่ากลัวกว่า ดังนั้น การละทิ้งสิ่งที่หะรอมแค่ชิ้นเดียวยังสำคัญกว่า เพราะในที่สุดแล้ว สิ่งที่หะรอมก็จะกลายเป็นเหตุให้ต้องรับโทษในไฟนรก วัลอิยาซุบิลลาฮ์

เพราะฉะนั้น จำเป็นที่เราต้องเอาสิ่งที่หะรอมออกไปจากตัวเราก่อน พร้อมๆ กับการที่เราพยายามแสวงหาสิ่งที่หะลาลมาใช้เป็นริซกีของเรา

عَنْ أَبِي بَرْزَةَ الأَسْلَمِيِّ، قَالَ: قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «لَا تَزُوْلُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ القِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ فِيمَ فَعَلَ، وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَ أَنْفَقَهُ، وَعَنْ جِسْمِهِ فِيمَ أَبْلَاهُ» [رواه الترمذي، رقم: 2417، وقال: هَذَا حَدِيثٌ حَسَنٌ صَحِيحٌ].

ความว่า จากอบู บัรซะฮ์ อัล-อัสละมีย์ เล่าว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “สองเท้าของบ่าวจะไม่เขยื้อนไปไหนในวันกิยามะฮ์ จนกว่าเขาจะถูกสอบสวนด้วยคำถามสี่ข้อ คือ อายุในการมีชีวิตของเขาใช้ทำอะไรบ้าง? ความรู้ที่เขาเรียนมาใช้ทำอะไรบ้าง? ทรัพย์สินของเขาได้มาจากไหนและใช้จ่ายไปเพื่ออะไรบ้าง? และร่างกายของเขาถูกใช้เพื่อเรื่องใดบ้าง?” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ 2417 เป็นหะดีษ หะสัน เศาะฮีห์)

พึงตระหนักเสมอว่า ทรัพย์สินของเราไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือมากมาย ทั้งหะลาลและหะรอม จะต้องถูกสอบสวนจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างไม่มีวันหลีกพ้นได้

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

พึงตักวาต่ออัลลอฮ์เถิด จงแสวงหาริซกีที่ดีและพยายามหลีกเลี่ยงริซกีที่หะรอม ต้องเรียนรู้ว่าอะไรคือริซกีที่หะลาลและอะไรคือริซกีที่หะรอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่อะไรๆ ก็อยู่ในโลกออนไลน์ มีทั้งสินเชื่อออนไลน์ กู้เงินออนไลน์ ชิงโชคออนไลน์ พนันออนไลน์ ลงทุนออนไลน์ หวยออนไลน์ ฯลฯ ยุคของเทคโนโลยีที่ทำให้การกระจายของเงินหะรอมรวดเร็วเหลือเกิน สารพัดออนไลน์ในชีวิตที่บางครั้งเราตามไม่ทันและมาหาเราเองโดยไม่ต้องออกไปหาข้างนอก มันเด้งเข้ามาเองในโทรศัพท์ของเราหรืออุปกรณ์ของเรา โดยไม่ทันรู้ตัว

 

ถ้าหากเรามีความรู้สึกว่าริซกีที่หะลาลมีน้อยเหลือเกิน มาช้าเหลือเกิน ในขณะที่ริซกีหะรอมมันยั่วเราเหลือเกิน มันมีเยอะเหลือเกิน มันพร้อมที่จะให้เราเข้าไปเอาไปใช้ได้ทุกเมื่อ ขอให้เราได้ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ทันที มีดุอาอ์ที่ช่วยให้เราได้ตระหนักในการแสวงหาริซกีที่หะลาลและหลีกเลี่ยงริซกีที่หะรอม เป็นหะดีษที่รายงานโดยอะลีย์ บิน ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า

أنَّ مُكَاتِبًا جَاءَهُ فَقَالَ: إنِّي قَدْ عَجِزْتُ عَنْ مُكَاتَبَتِيْ فَأَعِنِّيْ، قالَ: أَلَا أُعَلِّمُكَ كَلِمَاتٍ عَلَّمَنِيْهِنَّ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَوْ كَاْنَ عَلَيْكَ مِثْلُ جَبَلِ صِيْرٍ دَيْنًا أَدَّاْهُ اللَّهُ عَنكَ، قالَ: قُل: «اللَّهُمَّ اكْفِنِيْ بِحَلَالِكَ عَنْ حَرَامِكَ، وَأَغْنِنِيْ بِفَضْلِكَ عَمَّنْ سَوَاكَ». [صحيح الترمذي للألباني: 3563، حديث حسن]

ความว่า มีทาสที่กำลังทำงานไถ่ตัวเองคนหนึ่งมาหาท่านอะลีย์และพูดกับท่านว่า ฉันรู้สึกอ่อนแอในการที่จะหาเงินมาไถ่ตัวเองจากเจ้านาย ขอท่านได้โปรดช่วยฉันหน่อยเถิด ท่านอะลีย์พูดกับเขาว่า เอาไหมถ้าหากฉันจะบอกดุอาอ์ให้ เป็นดุอาอ์ที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยสอนฉัน แม้นว่าท่านจะมีหนี้เป็นกองพะเนินเท่ากับภูเขา “ศีร” (แห่งเมืองฏ็อยย์หรือเมืองเยเมน) อัลลอฮ์ก็จะช่วยให้ท่านมีทางออกได้รับริซกีที่จะใช้หนี้นั้นให้หมดไป ท่านจงกล่าวดุอาอ์นี้เถิด

«اللَّهُمَّ اكْفِنِيْ بِحَلَالِكَ عَنْ حَرَامِكَ، وَأَغْنِنِيْ بِفَضْلِكَ عَمَّنْ سَوَاكَ»

คำอ่าน อัลลอฮุมักฟินี บิหะลาลิกะ อัน หะรอมิก, วะ อัฆนินี บิฟัฎลิกะ อัมมัน สิวากะ

ความหมาย โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานปัจจัยของพระองค์ที่หะลาลอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งสิ่งที่หะรอมอีก ขอพระองค์ทำให้ฉันได้รับความมั่งมีของพระองค์โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นอีกเลย (รายงานโดยอัต-ติรมิซีย์ และอัล-อัลบานีย์วินิจฉัยว่าเป็นหะดีษหะสัน ในเศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ 3563)

ดังนั้น หากจะหนีจากสิ่งหะรอมก็ให้เราขอสิ่งที่หะลาลจากอัลลอฮ์ จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และแสวงหาริซกีที่หะลาลด้วยวิธีการที่ถูกต้อง แล้วเราจะปลอดภัยทั้งในดุนยานี้และอาคิเราะฮ์