วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564

แนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับอัคลากจากอัลกุรอานและหะดีษ

 


เกริ่นนำ 


อันที่จริงแล้ว เนื้อหาในโองการอัลกุรอานและหะดีษบทต่าง ๆ ล้วนมีสาระสำคัญที่เกี่ยวโยงกับอัคลากหรือหลักจริยธรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือแฝงนัยในทางอ้อม อาจจะเกี่ยวข้องกับประเด็นอุศูล(รากฐานหลักของศาสนา)หรือไม่ก็เป็นฟุรุอฺ(ประเด็นย่อยในบทบัญญัติต่าง ๆ) ไม่ว่าทั้งเรื่องอะกีดะฮ์หรือชะรีอะฮ์ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับอัลลอฮ์ หรือความสัมพันธ์ของมนุษย์กันเองก็ตาม เป็นการยากที่เราจะจำกัดจำนวนหลักฐานต่าง ๆ ที่พูดถึงอัคลากในอัลกุรอานและสุนนะฮ์ เพราะเนื้อหาในตัวบทเกือบทั้งหมดล้วนมีทิศทางในการสนับสนุนจริยธรรมทั้งสิ้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การทำความเข้าใจเพื่อถอดบทเรียนจากตัวบทเหล่านั้นให้ได้ หรือที่เรียกว่า ฟิกฮ์ เหมือนที่อิมามอัล-บุคอรีย์ได้ใช้มันวางแนวทางในการตั้งชื่อหัวข้อบทต่าง ๆ ในตำราเศาะฮีห์ของท่าน การทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ต่อตัวบทเหล่านี้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าตัวบทหลักฐานทั้งในอัลกุรอานและหะดีษเหล่านี้สามารถถอดบทเรียนเพื่อใช้เป็นกฎหรือหลักการที่จะเป็นแนวทางและแนวคิดสำหรับทำความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงกับอัคลากได้ทั้งสิ้น โดยจะขอยกตัวอย่างมาบางส่วนดังต่อไปนี้ 



ตัวอย่างจากอายะฮ์อัลกุรอาน


﴿ هَلۡ جَزَآءُ ٱلۡإِحۡسَٰنِ إِلَّا ٱلۡإِحۡسَٰنُ 60 ﴾ [الرحمن: 60] 
ความว่า “ผลของการทำดีนั้นจะเป็นอะไรเสียมิได้ นอกจากเป็นการทำดีตอบแทน” (อัร-เราะห์มาน : 60) 

นี่เป็นกฎทั่วไปที่อัลลอฮ์ใช้ในการตอบแทนความดีของมนุษย์ ซึ่งเราควรถอดบทเรียนเอามาใช้ระหว่างมนุษย์กันเองด้วย คนที่ทำดีกับเราก็สมควรจะได้รับการทำดีตอบกลับเช่นกัน 



﴿وَقُولُواْ لِلنَّاسِ حُسۡنٗا﴾ [البقرة: 83] 
ความว่า “จงกล่าวคำพูดที่ดีกับผู้คน” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 83) 

เป็นกฎทั่วไปในการใช้คำพูดและสนทนาพาที ทั้งในแง่คำและความหมาย รูปแบบและเนื้อหา ต้องสรรหาคำพูดที่ดีมาใช้ โองการสั้น ๆ เช่นนี้ให้บทเรียนมากมาย อาทิ สาระที่ครอบคลุม งดงาม การสานความสัมพันธ์ด้วยความเป็นธรรม เอื้อเฟื้อ และผลที่ได้จากการปฏิบัติคำแนะนำนี้ 



﴿وَقُل لِّعِبَادِي يَقُولُواْ ٱلَّتِي هِيَ أَحۡسَنُۚ إِنَّ ٱلشَّيۡطَٰنَ يَنزَغُ بَيۡنَهُمۡۚ﴾ [الاسراء: 53] 
ความว่า “จงกล่าวแก่บ่าวของข้าว่า ให้พวกเขาพูดด้วยคำพูดที่ดีที่สุด เพราะแท้จริงชัยฏอนจะคอยยุแหย่ระหว่างพวกเขา” (อัล-อิสรออ์ 53) 

โองการนี้ให้มาตรฐานที่สูงขึ้นไปอีก ทุกคำพูดที่คัดสรรมาต้องดีที่สุด ไม่ใช่แค่ดีอย่างเดียว ลองคิดดูว่าหากเราปฏิบัติได้จริงแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่และการคลุกคลีระหว่างกันจะงดงามเพียงใด 



﴿وَأَن تَعۡفُوٓاْ أَقۡرَبُ لِلتَّقۡوَىٰۚ وَلَا تَنسَوُاْ ٱلۡفَضۡلَ بَيۡنَكُمۡۚ﴾ [البقرة: 237] 
ความว่า “และการที่พวกเจ้าให้อภัยกันนั้นย่อมใกล้เคียงความยำเกรงมากกว่า และอย่าได้ลืมบุญคุณระหว่างพวกเจ้า” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 237) 

มีสองกฎที่ถอดบทเรียนได้จากอายะฮ์นี้ หนึ่งคือการใช้หลักให้อภัยในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน สองคือการรักษาน้ำจิตน้ำใจและบุญคุณที่เคยมี ความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นบ้างเป็นบางครั้งจะต้องไม่ทำให้ลืมกฎสองข้อนี้ และถึงแม้ว่าเราอาจจะเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมที่ถูกลิดรอนไปได้ กระนั้นอัลกุรอานก็ยังกำชับว่าการอภัยให้กันนั้นประเสริฐกว่า ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์เป็นสิ่งที่ควรพิจารณามากกว่าความกระตือรือร้นในการทวงสิทธิคืน ซึ่งบางครั้งก็เลยเถิดจนก่อความเสียหายต่อสภาพของความยำเกรงนั่นเสียเอง 


﴿ وَعِبَادُ ٱلرَّحۡمَٰنِ ٱلَّذِينَ يَمۡشُونَ عَلَى ٱلۡأَرۡضِ هَوۡنٗا وَإِذَا خَاطَبَهُمُ ٱلۡجَٰهِلُونَ قَالُواْ سَلَٰمٗا 63 ﴾ [الفرقان: 63] 
ความว่า “บรรดาบ่าวของพระเจ้าผู้ทรงเมตตานั้น (อิบาดุรเราะห์มาน) พวกเขาจะเดินบนหน้าแผ่นดินอย่างถ่อมตน และเมื่อมีคนโง่เขลาพูดไม่ดีด้วยพวกเขาก็จะกล่าวตอบด้วยถ้อยคำที่สันติ” (อัล-ฟุรกอน 63) 

เป็นอายะฮ์ที่สอนเรื่องการเดินซึ่งกำชับไม่ให้แสดงออกมาเยี่ยงคนที่โอหัง กับกฎอีกข้อหนึ่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนไร้สติปัญญาในการพูดคุยสนทนาที่บางครั้งอาจจะนำไปสู่การโต้เถียงไม่ยอมจบ คือการกล่าวสลามให้เขาหรือใช้ถ้อยคำที่เป็นมาตรฐานของผู้แสวงหาความสันติแล้วเลี่ยงออกไปอย่างสงบ กฎสองข้อนี้สำคัญมากในการใช้เพื่อคบค้าสมาคมกับคนอื่น และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเลยมันก็ใหญ่หลวงเช่นเดียวกัน 


﴿وَإِنَّ ٱلسَّاعَةَ لَأٓتِيَةٞۖ فَٱصۡفَحِ ٱلصَّفۡحَ ٱلۡجَمِيلَ 85﴾ [الحجر: 85] 
ความว่า “แท้จริง วันสิ้นโลกนั้นต้องมาอย่างแน่นอน ดังนั้นจงอภัยให้กันด้วยดีเถิด” (อัล-หิจญร์ 85) 

นี่คือหลักการอภัยซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และยังผูกโยงกับการให้รำลึกถึงวันอาคิเราะฮ์เป็นมิติในการเตือนตัวเอง ตราบใดที่เชื่อมั่นว่าอาคิเราะฮ์ต้องมาอย่างเลี่ยงไม่ได้เหตุใดจึงไม่อภัยเพื่อจะได้ไม่ต้องวุ่นวายเมื่อวันนั้นมาถึง ชีวิตเราจะปลอดโปร่งแค่ไหนหากใช้หลักคิดเช่นนี้มาปฏิบัติจริง 



﴿ خُذِ ٱلۡعَفۡوَ وَأۡمُرۡ بِٱلۡعُرۡفِ وَأَعۡرِضۡ عَنِ ٱلۡجَٰهِلِينَ 199 وَإِمَّا يَنزَغَنَّكَ مِنَ ٱلشَّيۡطَٰنِ نَزۡغٞ فَٱسۡتَعِذۡ بِٱللَّهِۚ إِنَّهُۥ سَمِيعٌ عَلِيمٌ 200 ﴾ [الأعراف: 199، 200] 
ความว่า “จงยอมรับส่วนที่ขาดตกบกพร่องจากนิสัยผู้อื่น จงสั่งในสิ่งที่ดี และจงหลีกห่างจากบรรดาผู้ประพฤติตนไร้ปัญญา และหากมีการยุแหย่ใดจากชัยฏอนมายั่วยุเจ้าก็จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ให้พ้นจากมัน แท้จริงพระองค์ทรงได้ยินและทรงเห็น” (อัล-อะอฺรอฟ 199-200) 

มีหลักคิดสี่ประการที่ได้บทเรียนจากอายะฮ์เหล่านี้คือ 1) การยอมรับและอภัยให้กับพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่คนอื่นแสดงออกมาโดยนิสัยหรือโดยธรรมชาติที่ยากจะแก้ไข 2) การส่งเสริมและสั่งเสียรณรงค์กันให้ทำความดีและยับยั้งความชั่ว 3) การหลีกเลี่ยงและออกห่างจากคนที่มีนิสัยเลวและประพฤติตนอย่างไร้ปัญญา 4) การขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ให้พ้นจากการยุแหย่ล่อลวงของชัยฏอน ทั้งหมดนี้จะทำให้ชีวิตราบรื่นและมีความสุข ท่านญะอฺฟัร อัศ-ศอดิก ได้กล่าวว่า “ไม่มีอายะฮ์ใดในอัลกุรอานเกี่ยวกับอัคลากที่ดี จะกระชับมากไปกว่าอายะฮ์นี้อีกแล้ว” (ฟัตหุลบารี 8/206) 



﴿ لَّقَدۡ كَانَ لَكُمۡ فِي رَسُولِ ٱللَّهِ أُسۡوَةٌ حَسَنَةٞ لِّمَن كَانَ يَرۡجُواْ ٱللَّهَ وَٱلۡيَوۡمَ ٱلۡأٓخِرَ وَذَكَرَ ٱللَّهَ كَثِيرٗا 21 ﴾ [الأحزاب: 21] 
ความว่า “แท้จริงแล้ว ในตัวศาสนทูตของอัลลอฮ์นั้นมีตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่มุ่งหวังในอัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ และยังได้รำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย” (อัล-อะห์ซาบ 21) 

เป็นกฎในระดับแนวทางชีวิตที่สำคัญมาก ใครก็ตามที่อยากมีจริยธรรมที่งดงาม ตัวอย่างที่เขาต้องใช้อย่างไม่มีทางปฏิเสธก็คือท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพราะท่านคือครูผู้อบรมที่สมบูรณ์ยิ่งทั้งเรื่องอัคลากและศาสนา ทุกคนสามารถที่จะใช้ท่านเป็นแบบอย่างได้โดยไม่มีใครยกเว้น 



﴿وَقَضَىٰ رَبُّكَ أَلَّا تَعۡبُدُوٓاْ إِلَّآ إِيَّاهُ وَبِٱلۡوَٰلِدَيۡنِ إِحۡسَٰنًاۚ ﴾ [الإسراء: 23] 
ความว่า “พระผู้อภิบาลของเจ้ามีคำสั่งว่า พวกเจ้าอย่าได้เคารพอิบาดะฮ์ผู้ใดนอกจากพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น และจงทำดีกับบิดามารดา” (อัล-อิสรออ์ 23) 

เป็นหลักการทั่วไปในการใช้ให้ผูกโยงเรื่องจริยามารยาทเข้ากับเรื่องหลักความเชื่อหรืออะกีดะฮ์ด้วย เพราะการทำดีก็เป็นอิบาดะฮ์ การทำดีต่อมนุษย์ที่สมควรที่สุดคือการทำดีต่อบุพการีทั้งสอง การทำดีดังกล่าวต้องเกิดขึ้นมาจากการอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียวและสำนึกในความยิ่งใหญ่ของพระองค์อย่างแท้จริง ใครที่เชื่อฟังต่ออัลลอฮ์ก็ต้องทำดีต่อบิดามารดาของเขา 



﴿ وَإِذۡ قَالَ لُقۡمَٰنُ لِٱبۡنِهِۦ وَهُوَ يَعِظُهُۥ يَٰبُنَيَّ لَا تُشۡرِكۡ بِٱللَّهِۖ إِنَّ ٱلشِّرۡكَ لَظُلۡمٌ عَظِيمٞ 13 ﴾ [لقمان: 13] 
ความว่า “จงระลึกเมื่อลุกมานได้พูดกับลูกของตนเป็นการตักเตือนว่า โอ้ลูกเอ๋ยอย่าได้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ แท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นอธรรมอันใหญ่หลวง” (ลุกมาน 13) 

นี่คือหลักการเตาฮีดในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เตาฮีดคือสัจธรรมและความยุติธรรม ในขณะที่ชิริกหรือการตั้งภาคีนั้นเป็นอธรรมที่ใหญ่หลวง ชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยเตาฮีดจะประสบกับความเปี่ยมสุขและดีงามในภาพรวมตลอดไป ในขณะที่การชิริกนั้นเป็นเหตุหลักแห่งความหายนะของชีวิตมนุษย์ ทั้งหมดนี้ครอบคลุมรวมทั้งเรื่องรากฐานและรายละเอียดปลีกย่อยในการใช้ชีวิตทุกแขนง 



ตัวอย่างจากหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม 


«وَمَنْ يَسْتَعْفِفْ يُعِفَّهُ اللَّهُ ، وَمَنْ يَسْتَغْنِ يُغْنِهِ اللَّهُ ، وَمَنْ يَتَصَبَّرْ يُصَبِّرْهُ اللَّهُ » 
ความว่า “ใครที่พยายามเพื่อรักษาเกียรติ อัลลอฮ์ก็จะทำให้เขามีเกียรติ ใครที่แสวงหาความมั่งมี(จากอัลลอฮ์) อัลลอฮ์ก็จะทรงทำให้เขามั่งมี(โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น) ใครพยายามที่จะอดทน อัลลอฮ์ก็จะทำให้เขามีความอดทน ..” (อัล-บุคอรีย์ 1469, มุสลิม 124[1053]) 

เป็นหะดีษที่ชี้ให้เห็นหลักการสำคัญก็คือ มนุษย์ต้องมีความพยายามก่อน การที่เขาทุ่มเทเพื่อยับยั้งพฤติกรรมและความต้องการที่ผิด อัลลอฮ์ก็จะทรงให้เขาประสบความสำเร็จในการนั้น เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ที่กล่าวถึงทั้งการแสวงหาความมั่งมีจากอัลลอฮ์ และความอดทนจากบททดสอบที่ต้องเจอในชีวิต นักอธิบายหะดีษบางส่วนมุ่งเน้นความหมายของหะดีษนี้ไปที่การงดพึ่งพามนุษย์ในเรื่องปัจจัยยังชีพ กล่าวคือ เมื่อเรายับยั้งใจไม่ขอจากมนุษย์ด้วยกัน แต่เรามุ่งหาอัลลอฮ์ในการขอความมั่งมี และอดทนอดกลั้นกับสภาพที่กำลังเดือดร้อน อัลลอฮ์ก็จะทรงให้ทั้งสามอย่างนี้คือ รักษาเกียรติที่ไม่ต้องขอจากผู้อื่น ความรู้สึกมั่งมีอย่างพอเพียงในหัวใจ และความอดทนต่อสภาพที่ตนเองประสบอยู่ 



«كُلُّ النَّاسِ يَغْدُو فَبايِعٌ نَفْسَهُ فَمُعْتِقُها، أوْ مُوبِقُها» 
ความว่า “มนุษย์ทุกคนนั้นกำลังมุ่งหน้าเดินทาง แล้วเขาก็จะขายตัวเอง บางคนก็เป็นผู้ปลดปล่อยให้ตัวเองรอด บางคนก็เป็นผู้ทำลายตัวเองจนหายนะ” (มุสลิม 1[223]) 

มีกฎสองข้อที่ปรากฏในหะดีษนี้ ข้อหนึ่งมนุษย์ทุกคนล้วนเดินทางกับชีวิตของเขาสู่อนาคต ไม่ว่าเขาจะเคลื่อนไหวหรือนิ่งอยู่กับที่ ชีวิตของเขาก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ ไม่ได้หยุด ข้อสอง ในเมื่อชีวิตกำลังเดินทาง เราก็เปรียบเสมือนผู้ขายชีวิตให้กับกาลเวลาที่หมดไป และมีผู้ขายแค่สองประเภทเท่านั้น คือ ผู้ที่พยายามทำให้ชีวิตปลอดภัยรอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮ์ด้วยการทำความดี กับคนที่ปล่อยปะละเลยให้ชีวิตจมปลักอยู่กับความผิดจนต้องพบกับความหายนะไม่ในโลกนี้ก็ในโลกหน้า อัน-นะวะวีย์อธิบายหะดีษนี้ว่า “มนุษย์ทุกคนแสวงหาด้วยตัวเอง บางคนก็ขายชีวิตเขาด้วยการเชื่อฟังอัลลอฮ์ พระองค์จึงปลดปล่อยเขาให้พ้นจากการลงโทษ บางคนขายชีวิตให้กับชัยฏอนและอารมณ์ใฝ่ต่ำ มันจึงก่อให้เกิดความหายนะ วัลลอฮุอะอฺลัม” (ชัรห์ อัน-นะวะวีย์ ลิ มุสลิม 3/102) 



«ليسَ الشَّدِيدُ بالصُّرَعَةِ، إنَّما الشَّدِيدُ الذي يَمْلِكُ نَفْسَهُ عِنْدَ الغَضَبِ» 
ความว่า “ผู้ที่แข็งแกร่งไม่ใช่คนที่ล้มคู่ต่อสู้ได้ ผู้แข็งแกร่งที่แท้จริงคือคนที่ระงับตนเองได้ในขณะที่กำลังโมโห” (อัล-บุคอรีย์ 6114, มุสลิม 107[2609]) 

เป็นหะดีษที่วางรากฐานสำคัญสำหรับการแก้ไขปรับปรุงตนเอง ด้วยการปรับความเข้าใจใหม่ ให้พิจารณาที่ข้อเท็จจริงด้านในไม่ใช่มองแค่ผิวเผินด้านนอก ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะให้ราคากับผู้กล้าและมีพลังแข็งแกร่งด้านร่างกาย หะดีษนี้ได้ปรับมุมองใหม่ให้เห็นถึงคุณลักษณะที่น่ายกย่องอย่างแท้จริงคือคนที่สามารถระงับความโกรธของตนเองได้ 



«مَن لا يَشْكُرُ النَّاسَ لا يشكرُ اللهَ» 
ความว่า “ผู้ใดไม่ขอบคุณคนอื่น เขาก็จะไม่ขอบคุณอัลลอฮ์” (อะห์มัด 2/258) 

เป็นการวางกฎสำคัญเกี่ยวกับการสำนึกบุญคุณของผู้มีพระคุณ ให้ความสำคัญถึงขนาดผูกโยงกับการขอบคุณอัลลอฮ์ การขอบคุณอัลลอฮ์และมนุษย์นั้นล้วนกลับไปสู่รากฐานเดียวกัน นั่นคือการรักในความถูกต้องและให้ความสำคัญกับสิทธิที่พึงได้รับ รากฐานแห่งจริยธรรมข้อนี้เมื่ออยู่ในหัวใจของผู้ใดแล้วเขาก็ย่อมที่จะเห็นสิทธิของคนอื่นไม่ว่าจะมากมายหรือเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม 


ครั้งหนึ่งมีเศาะหาบะฮ์มาขอโอวาทจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านก็กล่าวกับเขาสั้น ๆ ว่า
 «لَا تَغْضَبْ» 
ความว่า “ท่านอย่าโมโห” (อัล-บุคอรีย์ 6116) 

คำสั่งเสียนี้เป็นหนึ่งในจำนวนกฎสำคัญที่มีส่วนในการปิดช่องทางที่จะนำไปสู่นิสัยที่ไม่พึงประสงค์และมารยาทที่เสื่อมเสีย อาการโมโหและความโกรธมักเป็นอุปสรรคที่คอยกีดขวางไม่ให้มีสติและมองข้อเท็จจริงอย่างที่ควรจะเป็น คำสั่งเสียของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “ท่านอย่าโมโห” มีนัยรวมถึงสองประการด้วยกัน กล่าวคือ หนึ่ง ห้ามไม่ให้ปล่อยอารมณ์โกรธปะทุไปเรื่อยโดยไม่มีการยับยั้งชั่งใจ สอง ห้ามไม่ให้พาตัวเองไปอยู่ในสภาพที่ต้องเสี่ยงกับการต้องโมโหหรือต้องเจอกับปัจจัยที่ทำให้ตัวเองโกรธโดยไม่จำเป็น ในหะดีษอื่นยังพูดถึงการรักษาอาการโมโหด้วยการให้นั่งลงและอาบน้ำละหมาดอีกด้วย 

ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ เราต้องเชื่อมั่นว่าอัลกุรอานและหะดีษนั้นบรรจุเนื้อหาด้านอัคลากไว้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ในเรื่องเหล่านี้ 

------------
หมายเหตุ 
แปลโดย ซุฟอัม อุษมาน ด้วยการคัดย่อจากงานของ ศ.ดร.อับดุลลอฮ์ บิน ฎ็อยฟุลลอฮ์ อัร-รุหัยลีย์, เกาะวาอิดุล อัคลาก อัลฟาฎิละฮ์ วะ มุนเฏาะละกอต ลิกติสาบิฮา, หน้า 41-62

คีย์เวิร์ด : #อัคลาก

*กรุณาระบุอ้างอิงมายังลิงก์นี้หากต้องการเผยแพร่ต่อ