วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - ไม่ประมาทกับดุนยาและชัยฏอน - ซุฟอัม อุษมาน

  



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - ไม่ประมาทกับดุนยาและชัยฏอน - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - ไม่ประมาทกับดุนยาและชัยฏอน - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

อัต-ตักวา หรือ อิตตะกุลลอฮ์ เป็นคำสั่งที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอ เพราะตักวาคือกระบวนการที่จะทำให้มุอ์มินผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา คิดที่จะปรับปรุงตัวเอง คิดที่จะดูแลตัวเอง เป็นการกระตุ้นให้เราทุกคนใช้ชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้ด้วยสติ เป็นการบอกกล่าว เป็นการย้ำเตือนอยู่ทุกครั้ง ทุกสัปดาห์ในวันศุกร์ เราจะได้ยินคำว่า อิตตะกุลลอฮ์ เพราะมันสำคัญมากๆ ต่อชีวิตของมนุษย์

ในอายะฮ์หนึ่งของสูเราะฮ์อัล-หัชร์ อัลลอฮ์ได้กำชับให้มีการตักวาถึงสองครั้งในอายะฮ์เดียวกันว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَلۡتَنظُرۡ نَفۡسٞ مَّا قَدَّمَتۡ لِغَدٖۖ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۚ إِنَّ ٱللَّهَ خَبِيرُۢ بِمَا تَعۡمَلُونَ 18﴾ [الحشر: 18] 

ความว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงตักวาต่ออัลลอฮ์ ทุกชีวิตจงไตร่ตรองดูว่าได้ทำอะไรบ้างสำหรับวันพรุ่งนี้ จงตักวาต่ออัลลอฮ์ แท้จริงแล้ว อัลลอฮ์ทรงรู้ดีถึงการกระทำของพวกเจ้า” (อัล-หัชร์ 18)

จะเห็นได้ว่า ตักวา เป็นกระบวนการภาคปฏิบัติไม่ใช่แค่ทฤษฎี อายะฮ์นี้มีตักวาสองครั้งด้วยกัน ตอนต้นอายะฮ์กับท้ายอายะฮ์ ในขณะที่ตรงกลางมีคำสั่งแทรกเข้ามาให้ทุกคนพิจารณาไตร่ตรองว่ากำลังทำอะไรอยู่สำหรับวันพรุ่งนี้ หมายถึง สำหรับวันอาคิเราะฮ์ วันที่เราจะตายแล้วกลับไปหาอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา แล้วพระองค์ก็ปิดท้ายอีกครั้งหนึ่งว่า จงตักวาต่ออัลลอฮ์ เพราะพระองค์รู้ดีที่สุดถึงสิ่งที่พวกเราทำ อัลลอฮุอักบัร

 

พี่น้องครับ

อายะฮ์ดังกล่าวนี้สำคัญกับเราอย่างยิ่ง ให้บทเรียนที่สำคัญกับเราบางประการ ในจำนวนสิ่งที่ได้รับจากอายะฮ์นี้ก็คือ ความสำคัญของตักวาในภาคปฏิบัติ เพราะมันคุมหัวคุมท้าย เราจำเป็นต้องใช้ตักวาในทุกกระบวนการชีวิตของเรา ตื่นขึ้นมาก็ต้องตักวา จะหลับตานอนในตอนกลางคืนก็ต้องตักวาต่ออัลลอฮ์

อายะฮ์นี้อัลลอฮ์สอนให้เรามองอนาคต ให้เราตรวจสอบสภาพตัวเองอยู่ตลอดเวลา และบอกถึงความจำเป็นที่เราจะต้องควบคุมตัวเองให้อยู่บนเส้นทาง อยู่ในกรอบ ใช้ชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้อย่างไม่ประมาท เราจะใช้ชีวิตในโลกดุนยานี้โดยไม่ประมาทอย่างไร ไม่ประมาทกับอะไรบ้าง ต้องขยายความกันอีกทีหนึ่ง ด้วยการพิจารณาว่าในฐานะที่เราเป็นมุอ์มินเรามีปัญหาอะไรบ้างในการใช้ชีวิตของเราในโลกดุนยานี้? ในขณะที่เราเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อะไรบ้างที่เราต้องระวัง? เพราะอัลลอฮ์ได้บอกให้เราตักวา ตักวาก็คือการระวัง ความหมายในศัพท์เดิมของมันก็คือการระวังและการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย

ในอีกอายะฮ์หนึ่งอัลลอฮ์ได้บอกถึงคนที่ใช้ชีวิตโดยไม่ระวัง ใช้ชีวิตอย่างประมาท สุดท้ายพวกเขาจะต้องเจอกับอะไรในวันอาคิเราะฮ์ พระองค์ได้ตรัสถึงพวกเขาว่า  

﴿وَٱلَّذِينَ كَفَرُواْ لَهُمۡ نَارُ جَهَنَّمَ لَا يُقۡضَىٰ عَلَيۡهِمۡ فَيَمُوتُواْ وَلَا يُخَفَّفُ عَنۡهُم مِّنۡ عَذَابِهَاۚ كَذَٰلِكَ نَجۡزِي كُلَّ كَفُورٖ 36 وَهُمۡ يَصۡطَرِخُونَ فِيهَا رَبَّنَآ أَخۡرِجۡنَا نَعۡمَلۡ صَٰلِحًا غَيۡرَ ٱلَّذِي كُنَّا نَعۡمَلُۚ أَوَ لَمۡ نُعَمِّرۡكُم مَّا يَتَذَكَّرُ فِيهِ مَن تَذَكَّرَ وَجَآءَكُمُ ٱلنَّذِيرُۖ فَذُوقُواْ فَمَا لِلظَّٰلِمِينَ مِن نَّصِيرٍ 37﴾ [فاطر: 36،  37]    

ความว่า “ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาจะได้รับไฟนรกญะฮันนัม(เป็นการตอบแทน) พวกเขาจะไม่ถูกทำให้ตาย ในขณะที่การลงโทษในนรกก็จะหนักหน่วงไม่ถูกลดหย่อนแก่พวกเขาแม้แต่น้อย เช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนแก่ผู้เนรคุณ(ปฏิเสธศรัทธา)ทุกคน และพวกเขาจะตะโกนอยู่ในนรกนั้นว่า ข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ได้ทรงโปรดนำเราออกไป(จากนรก) เพื่อเราจะได้ปฏิบัติการงานที่ดี ที่เราไม่เคยได้ปฏิบัติก่อนหน้านี้ (อัลลอฮ์จะตอบพวกเขาว่า)เรามิได้ให้อายุของพวกเจ้ายืนยาวนานพอดอกหรือ? เพียงพอสำหรับผู้ที่ใคร่ครวญจะได้ตระหนัก และ(ยิ่งกว่านั้น)ได้มีผู้ตักเตือนมายังพวกเจ้าแล้ว ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรส(การลงโทษ)เถิด เพราะสำหรับบรรดาผู้อธรรมนั้นจะไม่มีผู้ช่วยเหลือ” (ฟาฏิร 36-37)

อัลลอฮ์ได้บอกถึงคนที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ใช้ชีวิตแต่ละวันในดุนยาโดยไม่สนใจอาคิเราะฮ์ ประมาท ปล่อยปะละเลย ไม่ทำภารกิจและไม่ทำหน้าที่ในการเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ พอถึงวันอาคิเราะฮ์ก็จะต้องอยู่ในไฟนรกอันร้อนระอุ ในนรกญะฮันนัมที่ไม่ให้พวกเขาตายและไม่ทำให้พวกเขามีชีวิต หมายถึงการทรมานที่หนักหนาสาหัสซึ่งถ้าเกิดขึ้นในดุนยาจะทำให้มนุษย์ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่คนที่อยู่ในนรกจะไม่ตายด้วยการทรมานนี้ แต่จะต้องถูกทรมานวนซ้ำไปซ้ำมาแม้จะเจ็บปวดเจียนตายแค่ไหนก็ตาม ถึงร่างกายจะเหลวแหลกไปแล้วก็จะฟื้นขึ้นมารับการทรมานอย่างต่อเนื่องไม่มีวันจบ วัลอิยาซุบิลลาฮ์ มินซาลิก

เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จึงตะโกนโหยหวนในนรกว่า โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดให้เราออกไปจากนรกเถิด ให้เราได้กลับไปใช้ชีวิตอีกครั้งแล้วเราจะไม่ประมาท เราจะระวังตัว เราจะทำความดีและไม่ทำบาปอีก แน่นอนว่าพวกเขาไม่มีโอกาสนั้นอีกแล้ว ตอนอยู่ในดุนยาใช้ชีวิตอย่างประมาทและละเลย พอถึงอาคิเราะฮ์ก็จะไม่มีโอกาสได้กลับตัวอีกต่อไป แม้จะร้องขอต่ออัลลอฮ์อย่างไรก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะกลับมาอีกครั้ง

อัลลอฮ์ได้ตอบกลับพวกเขาว่า เราได้ให้ชีวิตที่ยาวนานเพียงพอแก่พวกเจ้าจนถึงวัยที่สามารถจะคิดออกได้แล้วมิใช่หรือ ให้พวกเจ้าได้คิดได้ตระหนัก แล้วเหตุใดพวกเจ้าถึงไม่คิดไตร่ตรองในขณะที่มีชีวิตอยู่ในดุนยา เราไม่ได้ตายตอนที่เรายังคิดอะไรไม่ได้ เราไม่ได้ตายตอนที่เราเป็นเด็ก แต่เราตายตอนที่เราสามารถคิดเป็นแล้ว ตายตอนที่เราคิดจะทำบาปอะไรเราก็ทำหมดโดยไม่สนใจ พอถึงเวลาหนึ่งที่อัลลอฮ์เอาชีวิตเราไป เราจะไปบอกกับอัลลอฮ์ว่าขอเวลากลับมาคิดมาทำความดีอีกครั้งหนึ่งมันย่อมเป็นไปไม่ได้

ตัฟซีรบางทัศนะอธิบายว่าอายุขัยที่สามารถคิดเป็นไตร่ตรองได้ในอายะฮ์ดังกล่าวคือ อายุ 17 บ้างก็บอกว่า 21 บ้างก็บอกว่า 40 บ้างก็บอกว่า 60 ลองคิดดูว่าเราแต่ละคนผ่านช่วงอายุเหล่านี้มากี่ช่วงแล้ว และเราคิดไตร่ตรองอะไรได้บ้างหรือยัง ถ้ายังคิดไม่ได้ ไตร่ตรองไม่เป็น ก็น่าเป็นห่วงที่สุดแล้ว

นอกจากนี้ก็ยังมีคำตักเตือนมาแล้ว คำตักเตือนที่พูดถึงในอายะฮ์นี้มีบางทัศนะที่อธิบายว่าหมายถึงหงอกสีขาวบนตัวเรา เมื่อไรก็ตามที่มีหงอกนั่นแสดงว่าใกล้ถึงวาระแห่งการสิ้นสุดชีวิตในโลกนี้แล้ว ถึงเวลาที่ควรจะตระหนักได้แล้ว และควรจะระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้มากกว่าที่ผ่านๆ มาก่อนหน้านี้

 

พี่น้องครับ

อัลกุรอานมีหน้าที่ในการเตือนไม่ให้มนุษย์ประมาท มีสองประการที่ห้ามประมาทกับมัน อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เรียกร้องให้มนุษย์ทั้งหมดฉุกคิด ไม่ใช่แค่เรียกผู้ศรัทธาเท่านั้น แต่พระองค์เรียกมนุษย์ทั้งหมดให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ให้ระมัดระวังสองอย่างนั่นก็คือ ดุนยา กับ ชัยฏอน[1]

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ ٱتَّقُواْ رَبَّكُمۡ وَٱخۡشَوۡاْ يَوۡمٗا لَّا يَجۡزِي وَالِدٌ عَن وَلَدِهِۦ وَلَا مَوۡلُودٌ هُوَ جَازٍ عَن وَالِدِهِۦ شَيۡ‍ًٔاۚ إِنَّ وَعۡدَ ٱللَّهِ حَقّٞۖ فَلَا تَغُرَّنَّكُمُ ٱلۡحَيَوٰةُ ٱلدُّنۡيَا وَلَا يَغُرَّنَّكُم بِٱللَّهِ ٱلۡغَرُورُ 33 ﴾ [لقمان: 33] 

ความว่า “โอ้มนุษย์เอ๋ย พวกเจ้าจงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด และจงกลัววันหนึ่งที่พ่อไม่อาจจะช่วยลูกของเขาได้ และลูกก็ไม่อาจจะช่วยพ่อของเขาได้แต่อย่างใด แท้จริงสัญญาของอัลลอฮ์นั้นเป็นความจริง ดังนั้นอย่าให้การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ล่อลวงพวกเจ้า และอย่าให้หัวหน้าพวกล่อลวง(ชัยฏอน)มาหลอกลวงพวกเจ้าเกี่ยวกับอัลลอฮ์เป็นอันขาด” (ลุกมาน 33)

อย่าให้ดุนยาล่อลวงเจ้า อย่าตกเป็นเหยื่อการยั่วยวนของชัยฏอน สองอย่างนี้แหละที่ทำให้มนุษย์เสียหายมานักต่อนักแล้ว ทำให้โดนฉุดกระชากลากถูจนหกล้มระเนระนาดไม่สามารถเจอกับหนทางแห่งการรอดพ้น ไม่เจอกับฮิดายะฮ์จากอัลลอฮ์ให้เขาปลอดภัยในวันอาคิเราะฮ์ วัลอิยาซุบิลลาฮ์ มินซาลิก

เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่อย่างไร เราผ่านดุนยานี้มากี่ปี เราผ่านเหตุการณ์และบททดสอบต่างๆ นานามามากมาย ให้ระวังตัวอย่าประมาท เพราะบางทีบททดสอบก็มาตอนที่เราสบาย บางคนอาจจะถูกทดสอบด้วยความสบาย ในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจจะถูกทดสอบด้วยความลำบาก ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทั้งสองด้านแห่งการทดสอบนี้ก็น่าเป็นห่วงทั้งสิ้น สำหรับคนที่ปล่อยปะละเลย ไม่ยอมรับรู้รับฟังคำสั่งของอัลลอฮ์ ไม่รู้จักระวังและประมาทในการใช้ชีวิต จนกลายเป็นเหยื่อของดุนยาและตกหลุมพรางของชัยฏอน

ยังมีอายะฮ์อื่นที่ใกล้เคียงกัน ที่อธิบายสภาพชีวิตของคนที่ใช้ชีวิตในดุนยาด้วยความประมาท ปล่อยให้ความเพริดแพร้วในดุนยาลากจูงไป และปล่อยให้ตัวเองโดนชัยฏอนล่อลวงจนไม่สามารถรอดพ้นได้

﴿يَوۡمَ يَقُولُ ٱلۡمُنَٰفِقُونَ وَٱلۡمُنَٰفِقَٰتُ لِلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱنظُرُونَا نَقۡتَبِسۡ مِن نُّورِكُمۡ قِيلَ ٱرۡجِعُواْ وَرَآءَكُمۡ فَٱلۡتَمِسُواْ نُورٗاۖ فَضُرِبَ بَيۡنَهُم بِسُورٖ لَّهُۥ بَابُۢ بَاطِنُهُۥ فِيهِ ٱلرَّحۡمَةُ وَظَٰهِرُهُۥ مِن قِبَلِهِ ٱلۡعَذَابُ 13 يُنَادُونَهُمۡ أَلَمۡ نَكُن مَّعَكُمۡۖ قَالُواْ بَلَىٰ وَلَٰكِنَّكُمۡ فَتَنتُمۡ أَنفُسَكُمۡ وَتَرَبَّصۡتُمۡ وَٱرۡتَبۡتُمۡ وَغَرَّتۡكُمُ ٱلۡأَمَانِيُّ حَتَّىٰ جَآءَ أَمۡرُ ٱللَّهِ وَغَرَّكُم بِٱللَّهِ ٱلۡغَرُورُ 14﴾ [الحديد: 13،  14] 

ความว่า “วันที่พวกมุนาฟิกชายและพวกมุนาฟิกหญิงจะกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาว่า รอพวกเราด้วยเถิด เพื่อเราจะได้รับแบ่งแสงสว่างของพวกท่านด้วย จะมีเสียงกล่าวว่า จงหันหลังกลับไปทางข้างหลังของพวกเจ้าเพื่อแสวงหาเอาเอง (ขณะนั้น) ก็จะมีกำแพงที่มีประตูบานหนึ่งมาขวางกั้นระหว่างพวกเขา ด้านในของมันนั้นมีความเมตตาและด้านนอกของมัน(ของพวกมุนาฟิก)มีการลงโทษ พวกเขาจะร้องเรียกบรรดาผู้ศรัทธาว่าพวกเรามิได้เคยอยู่ร่วมกับพวกท่านดอกหรือ? ผู้ศรัทธาจะกล่าวตอบว่า แน่นอน แต่พวกเจ้าได้ทำลายตัวเองด้วยการกลับกลอก พวกเจ้าเฝ้าดูว่าจะเกิดวิบัติอะไรกับเรา พวกเจ้าคลางแคลงในศาสนา พวกเจ้าปล่อยให้ความหวังที่เลื่อนลอยมาหลอกลวง จนกระทั่งพระบัญชาของอัลลอฮ์ได้มาถึง และมัน(ชัยฎอน)ก็ได้ล่อลวงพวกเจ้าเกี่ยวกับอัลลอฮ์” (อัล-หะดีด 13-14) 

เพราะฉะนั้นมาทบทวนตัวเองด้วยอายะฮ์อัลกุรอานเหล่านี้ อายะฮ์ที่อัลลอฮ์เรียกมนุษย์เป็นการเฉพาะ ให้เราได้รู้สึกตัวและไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلۡإِنسَٰنُ مَا غَرَّكَ بِرَبِّكَ ٱلۡكَرِيمِ 6 ٱلَّذِي خَلَقَكَ فَسَوَّىٰكَ فَعَدَلَكَ 7 فِيٓ أَيِّ صُورَةٖ مَّا شَآءَ رَكَّبَكَ 8﴾ [الانفطار: 6،  8] 

ความว่า “โอ้มนุษย์เอ๋ย อะไรเล่าที่ล่อลวงเจ้า(ให้หันห่าง) จากพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงเกื้อกูล ผู้ทรงบังเกิดเจ้า แล้วทรงทำให้เจ้าสมบูรณ์ แล้วก็ทรงทำให้เจ้าสมส่วน ในรูปใดที่พระองค์ทรงประสงค์ก็จะทรงประกอบเจ้าขึ้น” (อัล-อินฟิฏอร 6-8)

 แน่นอนว่าอัลลอฮ์นั้นทรงมีคุณลักษณะแห่งความเมตตาและการอภัยอย่างมากมาย แต่บางที ชัยฏอนก็มีกลลวงให้เรารู้สึกว่าอัลลอฮ์นั้นทรงเมตตา มันทำให้เราอยู่สบายๆ ไม่ยอมทำดี ให้เราทำบาปไปเรื่อยๆ ไม่ยอมกลับเนื้อกลับตัว สุดท้ายเมื่อถึงวันที่เราต้องจากโลกนี้ไปก็หมดโอกาสที่จะขออภัยโทษต่อพระองค์อีก นะอูซุบิลลาฮ์ มินซาลิก

 

พี่น้องที่รักทั้งหลายครับ

สิ่งที่จะทำให้เราไม่ประมาท คือ การตรวจสอบตัวเอง ทบทวนตนเองอยู่เสมอ เพราะใจเรามักจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากผู้ที่อัลลอฮ์ทรงดูแลด้วยความเมตตาของพระองค์เท่านั้น

﴿۞وَمَآ أُبَرِّئُ نَفۡسِيٓۚ إِنَّ ٱلنَّفۡسَ لَأَمَّارَةُۢ بِٱلسُّوٓءِ إِلَّا مَا رَحِمَ رَبِّيٓۚ إِنَّ رَبِّي غَفُورٞ رَّحِيمٞ 53﴾ [يوسف: 53] 

ความว่า “และฉันไม่รับประกันได้ว่าจิตใจของฉันจะสะอาดบริสุทธิ์ แท้จริงจิตใจนั้นชอบสั่งในสิ่งที่เป็นความชั่ว นอกจากที่พระเจ้าของฉันทรงเมตตาเท่านั้น แท้จริงพระเจ้าของฉันเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (ยูสุฟ 53)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีดุอาอ์ที่ท่านใช้อ่านบ่อยมาก และสอนให้พวกเราอ่านมัน

«اللَّهُمَّ يَا مُقَلِّبَ الْقُلُوْبِ، ثَبِّتْ قَلْبِيْ عَلَى دِيْنِكَ» [عن أنس بن مالك، صحيح الأدب المفرد 527، وصحيح الترمذي 2140 كلاهما للألباني]

ความว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ผู้ทรงพลิกผันหัวใจทั้งหลาย ขอพระองค์ทำให้หัวใจของฉันมั่นคงอยู่บนศาสนาของพระองค์ด้วยเถิด” (จากอะนัส บิน มาลิก, ดู เศาะฮีห์ อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด 527 และเศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ 2140 ของอัล-อัลบานีย์)

แม้ว่าดุนยาจะมีสิ่งสวยงามที่ยั่วยวนชวนลุ่มหลง และแม้ว่าชัยฏอนจะพยายามอยู่เสมอในการทำให้เราตกในหลุมพรางของมัน แต่สุดท้ายแล้ว อำนาจแห่งความศรัทธาที่เรามีต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ความช่วยเหลือของพระองค์ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เราพึ่งพิงได้ดีที่สุด ดังนั้น การขอดุอาอ์คือเครื่องมือที่จะทำให้หัวใจของเรานั้นเข้มแข็งท่ามกลางการทดสอบต่างๆ มากมายในขณะที่เรามีชีวิตในโลกดุนยา ท่ามกลางการล่อลวงของชัยฏอน

ให้ดุอาอ์เช่นนี้เป็นดุอาอ์ที่เราได้อ่านอยู่เสมอ เพื่อให้หัวใจของเรามั่นคงและเชื่อมโยงอยู่กับพระองค์อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างเข้มแข็งไม่มีวันเสื่อมคลาย



[1] ดูการอธิบายในตัฟซีร อัล-วะสีฏ ของ สัยยิด ฏ็อนฏอวีย์


วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - บะเราะกะฮ์ในชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน




 ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - บะเราะกะฮ์ในชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - บะเราะกะฮ์ในชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องมุสลิมีนที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

อัลหัมดุลิลลาฮ์ ชุโกรต่ออัลลอฮ์ ที่เรายังมีลมหายใจ มีปัจจัยในการดำรงชีวิต มีความเมตตาจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างล้นพ้นมาแก่เรา ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์อะไร เรายังคงมีอัลลอฮ์ผู้ทรงดูแลเราอยู่เสมอ

เราเคยพูดถึงการแสวงหาริซกีที่หะรอม ว่ามันอันตรายแค่ไหนสำหรับมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้คนหย่อนยานและไม่ให้ความสำคัญกับหะลาลและหะรอมในการแสวงหาทรัพย์สินซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของสัญญาณวันสิ้นโลก คำถามก็คือ แล้วมีวิธีการอย่างไรที่จะให้ชีวิตของเราอยู่ในกรอบของการแสวงหาริซกีที่หะลาล ริซกีที่มีความบะเราะกะฮ์หรือความเพิ่มพูนในชีวิตของเราได้บ้าง?

คำว่า บะเราะกะฮ์ หรือบะเราะกาต คิดว่าพี่น้องคงได้ยินกันมาบ้าง หมายถึงการเพิ่มพูน ความมั่นคงอย่างถาวรที่เราได้รับจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา[1]

มันคือคุณค่าที่เราสัมผัสได้ว่าให้ความสุขกับชีวิต มันอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของวัตถุเสมอไป ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَيْسَ الغِنَى عَنْ كَثْرَةِ العَرَضِ، ولَكِنَّ الغِنَى غِنَى النَّفْسِ» [البخاري 6446، مسلم 1051]

ความว่า “ความร่ำรวยนั้นไม่ใช่วัดด้วยการที่ว่ามีทรัพย์สมบัติมากมายแค่ไหน แต่ความร่ำรวยก็คือการรวยหัวใจ(หัวใจรู้สึกพอเพียงกับสิ่งที่มี)” (อัล-บุคอรีย์ 6446, มุสลิม 1051)

พี่น้องครับ

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในโลกยุคนี้ โลกยุคที่ผู้คนเรียกว่าสมัยใหม่ มีความเจริญต่างๆ นานามากมาย มีการกระจายรายได้กันถ้วนหน้า มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกเยอะแยะ มีหนทางในการทำมาค้าขายการทำอาชีพมากมายในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แต่ผู้คนก็ยังรู้สึกว่าชีวิตยังไม่พอ ยังรู้สึกว่าตัวเองคับแคบ ยังคงอยากได้มากขึ้น

เราเห็นว่าในขณะที่ประเทศมหาอำนาจหลายๆ ประเทศร่ำรวยมหาศาลจนสามารถให้เงินกู้กับประเทศที่ยากจนเป็นหมื่นล้านแสนล้าน ด้วยดอกเบี้ยที่จ่ายแล้วจ่ายอีกก็ยังปลดหนี้ไม่ได้ ความมั่งคั่งของฝั่งหนึ่งที่สร้างความยากจนข้นแค้นในอีกฝั่งหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะเรียกว่าเป็นบะเราะกะฮ์ได้อย่างไร? นี่คือชีวิตของพวกเราในโลกยุคนี้

ถ้าเราย้อนกลับไปดูในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านให้ความสำคัญกับบะเราะกะฮ์ ความเพิ่มพูนในริซกี ในชีวิต ในสังคม มากกว่าจำนวนตัวเลข ท่านนบีได้ขอดุอาอ์ให้มีบะเราะกะฮ์แก่เมืองมะดีนะฮ์

«اللَّهُمَّ اجْعَلْ بالمَدِينَةِ ضِعْفَيْ ما بمَكَّةَ مِنَ البَرَكَةِ». [عن أنس بن مالك، البخاري 1885، مسلم 1369]

ความว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดทำให้มะดีนะฮ์มีความบะเราะกะฮ์เป็นสองเท่าของมักกะฮ์” (รายงานโดยอะนัส บิน มาลิก บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 1885 มุสลิม 1369)

 

«اللَّهُمَّ بَارِكْ لَنَا في صَاعِنَا وَمُدِّنَا، وَاجْعَلْ مع البَرَكَةِ بَرَكَتَيْنِ». [عن أبي سعيد، مسلم 1374].

ความว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดให้มีความบะเราะกะฮ์ในเครื่องตวงศออฺและมุดด์ของเรา ขอโปรดทำให้มีบะเราะกะฮ์เป็นสองเท่า” (รายงานโดยอบู สะอีด บันทึกโดยมุสลิม 1374)

 

كانَ رسولُ الله صلى الله عليه وسلم إِذَا أَتَى الثَّمَرُ أُتِيَ بِهِ فَيَقُوْلُ: «اللَّهُمَّ بَارِكْ لَنَا فِي مَدِينَتِنَا، وَفِي ثِمَارِنَا، وَفِي مُدِّنَا، وَفِي صَاعِنَا؛ بَرَكَةً مَعَ بَرَكَةٍ» ثُمَّ يُعْطِيهِ أَصْغَرَ مَنْ يَحْضُرُهُ مِنَ الْوِلْدَانِ. [عن أبي هريرة، رواه مسلم 1373]

ความว่า เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ ชาวมะดีนะฮ์จะเอามาให้กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วท่านก็จะขอดุอาอ์ว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานความบะเราะกะฮ์ให้กับเมืองของเรา ให้กับผลไม้ของเรา ให้กับเครื่องตวงมุดด์ของเรา ให้กับเครื่องตวงศออฺของเรา ให้มีบะเราะกะฮ์เป็นเท่าของบะเราะกะฮ์” จากนั้นท่านก็จะยื่นผลไม้นั้นให้กับเด็กที่อายุน้อยที่สุดก่อน จากจำนวนคนทั้งหมดที่มานั่งรอท่านในบริเวณนั้น (จากอบู ฮุร็อยเราะฮ์ บันทึกโดยมุสลิม 1773)

นี่เป็นการเปิดฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อแสวงหาบะเราะกะฮ์จากอัลลอฮ์

 

พี่น้องครับ

มีตัวอย่างของความบะเราะกะฮ์หลายอย่างที่ถูกกล่าวถึงในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งในเรื่องหลักคำสอน และภาคปฏิบัติ เช่น

«طَعامُ الرَّجُلِ يَكْفِي رَجُلَيْنِ، وطَعامُ رَجُلَيْنِ يَكْفِي أرْبَعَةً، وطَعامُ أرْبَعَةٍ يَكْفِي ثَمانِيَةً». [عن جابر بن عبدالله، صحيح مسلم 2059]

ความว่า “อาหารของหนึ่งคนพอสำหรับสองคน อาหารของสองคนพอสำหรับสี่คน อาหารของสี่คนพอสำหรับแปดคน” (จากญาบิร บิน อับดุลลอฮ์ บันทึกโดยมุสลิม 2059)   

 

 

«البَرَكَةُ في نَواصِي الخَيْلِ» [عن أنس بن مالك، البخاري 2851، مسلم 1874]

ความว่า “ความบะเราะกะฮ์เพิ่มพูนนั้นอยู่กับกระโหลกหน้าผากของม้า” (จากอะนัส บิน มาลิก บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 2851 และมุสลิม 1874) หะดีษนี้หมายถึง การญิฮาดหรือต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ ซึ่งต้องใช้การทุ่มเททั้งแรงกายและทรัพย์สิน แต่มีผลตอบแทนอันใหญ่หลวงทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์

บรรดาเศาะหาบะฮ์ในยุคท่านนบี มีหลายคนที่ร่ำรวย และร่ำรวยเป็นพันล้านหมื่นล้านถ้าหากจะเทียบกับมูลค่าในยุคปัจจุบัน เช่น ท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน, อับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟ์, อัซ-ซุบัยร์ บิน อัล-เอาวาม ฯลฯ คนเหล่านี้เป็นเศาะหาบะฮ์ที่ไม่เคยขาดรบในสมรภูมิกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่พวกเขาร่ำรวยเพราะบะเราะกะฮ์ที่พวกเขาได้ทำตามหลักศาสนาที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอน

ถ้าเราศึกษาประวัติผู้คนเหล่านี้จะเห็นว่า พวกเขามีทัศนคติเกี่ยวกับบะเราะกะฮ์มากกว่าเรื่องรวยหรือไม่รวย และด้วยความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติตามหลักคำสอนศาสนาทำให้พวกเขามีบะเราะกะฮ์จนทรัพย์สินร่ำรวยโดยไม่คาดคิด

อุษมาน บิน อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ผู้ที่รับจัดการดูแลกองทัพที่ออกไปรบในสมรภูมิตะบูก เป็นคนที่ซื้อบ่อน้ำแล้วบริจาคให้กับชาวมะดีนะฮ์ ในขณะที่อับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ บุรุษที่โตจากเลขศูนย์จนรวยกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน คือผู้ที่บริจาคอย่างมากมายให้กับผู้ที่เคยผ่านสงครามบะดัร รับดูแลบรรดาอุมมะฮาตุลมุอ์มินีน(บรรดาภรรยาของท่านนบี) เป็นคนชอบบริจาคจนกระทั่งมีคำกล่าวว่า คนในเมืองมะดีนะฮ์ต่างก็เป็นผู้รับอุปการะจากอับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟ์ ทั้งสิ้น หนึ่งในสามเป็นคนที่ยืมเงินจากท่าน อีกหนึ่งในสามเป็นคนที่ท่านจ่ายหนี้ให้ และหนึ่งในสามที่เหลือคือคนที่ท่านทำดีด้วยการให้เปล่า[2]

เรื่องราวแห่งความบะเราะกะฮ์ในยุคบรรพบุรุษอิสลาม เพียงพอที่จะให้เราศึกษาเพื่อแสวงหาวิธีการที่ถูกต้องในการแสวงหาปัจจัยในยุคที่เราต่างโหยหาความมั่งคั่งอย่างไม่เคยพอ ไม่ต้องใช้ไอดอลอายุน้อยร้อยล้าน หรือวิธีการที่หะรอมที่อัลลอฮ์ไม่พอใจและไม่เป็นบะเราะกะฮ์แก่ชีวิตมาเป็นทางลัดในการแสวงหาเงินทอง แม้จะมากมายแค่ไหนแต่ถ้าเป็นสิ่งที่หะรอมก็ไม่มีวันได้รับบะเราะกะฮ์จากอัลลอฮ์

 

พี่น้องทุกท่าน

ข้อสรุปสั้นๆ จากการรวบรวมปัจจัยแห่งบะเราะกะฮ์ในชีวิตตามหลักคำสอนอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นจากอัลกุรอานหรือสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อาจจะมีอยู่หลายประการซึ่งขอนำเสนอบางส่วนดังนี้

หนึ่ง การศรัทธา(อีมาน) การยำเกรง(ตักวา การมอบหมาย(ตะวักกุล)

﴿وَلَوۡ أَنَّ أَهۡلَ ٱلۡقُرَىٰٓ ءَامَنُواْ وَٱتَّقَوۡاْ لَفَتَحۡنَا عَلَيۡهِم بَرَكَٰتٖ مِّنَ ٱلسَّمَآءِ وَٱلۡأَرۡضِ وَلَٰكِن كَذَّبُواْ فَأَخَذۡنَٰهُم بِمَا كَانُواْ يَكۡسِبُونَ 96﴾ [الأعراف: 96] 

ความว่า “และหากว่าชาวเมืองนั้นได้ศรัทธาและมีความยำเกรงแล้วไซร้ แน่นอนเราก็จะเปิดความบะเราะกะฮ์จากฟากฟ้าและแผ่นดินให้แก่พวกเขาแล้ว แต่ทว่าพวกเขาปฏิเสธ ดังนั้นเราจึงได้ลงโทษพวกเขา เนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขาขวนขวายไว้” (อัล-อะอฺรอฟ 96)

 

﴿وَمَن يَتَّقِ ٱللَّهَ يَجۡعَل لَّهُۥ مَخۡرَجٗا 2 وَيَرۡزُقۡهُ مِنۡ حَيۡثُ لَا يَحۡتَسِبُۚ وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ﴾ [الطلاق: 2،  3] 

ความว่า “และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงหาทางออกให้แก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากสิ่งที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้ช่วยเหลืออย่างพอเพียงแก่เขาแล้ว” (อัฏ-เฏาะลาก 2-3)

 

สอง การให้ความสำคัญกับอัลกุรอาน ทั้งด้วยการเรียนและปฏิบัติตามคำสอนของอัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่เปี่ยมด้วยบะเราะกะฮ์ ค่ำคืนที่มันถูกประทานลงมาก็เต็มเปี่ยมด้วยบะเราะกะฮ์ บ้านที่อ่านอัลกุรอานจะมีมลาอิกะฮ์มาและจะขับไล่ชัยฏอนออกไป

﴿ وَهَٰذَا كِتَٰبٌ أَنزَلۡنَٰهُ مُبَارَكٞ فَٱتَّبِعُوهُ وَٱتَّقُواْ لَعَلَّكُمۡ تُرۡحَمُونَ 155 ﴾ [الأنعام: 155] 

ความว่า “และนี่แหละคือคัมภีร์ที่มีความบะเราะกะฮ์/จำเริญซึ่งเราได้ประทานให้มันลงมายังเจ้า จงปฏิบัติตามคัมภีร์นั้นเถิด และจงยำเกรง เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความกรุณาเมตตา” (อัล-อันอาม 155)

 

สาม การให้ความสำคัญกับการละหมาด ทั้งของตัวเองและสมาชิกในครอบครัว

﴿وَأۡمُرۡ أَهۡلَكَ بِٱلصَّلَوٰةِ وَٱصۡطَبِرۡ عَلَيۡهَاۖ لَا نَسۡ‍َٔلُكَ رِزۡقٗاۖ نَّحۡنُ نَرۡزُقُكَۗ وَٱلۡعَٰقِبَةُ لِلتَّقۡوَىٰ 132﴾ [طه: 132] 

ความว่า “และเจ้าจงสั่งใช้ให้ครอบครัวของเจ้าทำการละหมาด และจงอดทนในการปฏิบัติ เรามิได้ขอเครื่องยังชีพจากเจ้า เราต่างหากเป็นผู้ให้เครื่องยังชีพแก่เจ้า และบั้นปลายที่ดีนั้นเตรียมไว้สำหรับผู้ที่มีความยำแกรง” (ฏอฮา 132)

อิบนุ กะษีร ได้อธิบายอายะฮ์นี้ว่า ถ้าท่านรักษาการละหมาดอย่างดี ริซกีก็จะมาหาท่านโดยที่ท่านไม่อาจคาดคิด[3]

 

สี่ การบริจาคทานให้มาก และหลีกห่างจากดอกเบี้ย

﴿ يَمۡحَقُ ٱللَّهُ ٱلرِّبَوٰاْ وَيُرۡبِي ٱلصَّدَقَٰتِۗ وَٱللَّهُ لَا يُحِبُّ كُلَّ كَفَّارٍ أَثِيمٍ 276 ﴾ [البقرة: 276] 

ความว่า “อัลลอฮ์จะทรงให้ดอกเบี้ยลดน้อยลงและหมดความจำเริญ และจะทรงให้ทำการบริจาคทานเพิ่มพูนขึ้น และอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงชอบผู้เนรคุณ ผู้กระทำบาปทุกคน” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 276)

 

«مَن تَصَدَّقَ بعَدْلِ تَمْرَةٍ مِن كَسْبٍ طَيِّبٍ، ولَا يَقْبَلُ اللَّهُ إلَّا الطَّيِّبَ، وإنَّ اللَّهَ يَتَقَبَّلُهَا بِيَمِيْنِهِ، ثُمَّ يُرَبِّيهَا لِصَاحِبِهِ، كما يُرَبِّي أَحَدُكُمْ فَلُوَّهُ، حتَّى تَكُونَ مِثْلَ الجَبَلِ» [عن أبي هريرة، البخاري 1410]

ความว่า “ใครก็ตามที่บริจาคเท่ากับอินทผลัมหนึ่งเม็ดจากทรัพย์สินที่ดี และอัลลอฮ์จะไม่ทรงรับนอกจากของที่ดีเท่านั้น แท้จริงพระองค์จะทรงรับมันด้วยมือขวาของพระองค์ แล้วจะทรงดูแลให้มันเติบโต เหมือนที่พวกท่านดูแลเอาใจใส่ลูกม้าของตัวเอง จนกระทั่งการบริจาคที่พระองค์ดูแลนั้นใหญ่โตเท่ากับภูเขา” (จากอบู ฮุร็อยเราะฮ์ บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 1410)

 

ห้า การเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ

«مَنْ أحَبَّ أنْ يُبْسَطَ لَهُ فِي رِزْقِهِ، ويُنْسَأَ لَهُ فِي أَثَرِهِ، فَلْيَصِلْ رَحِمَهُ» [عن أنس بن مالك، البخاري 5986، مسلم 2557]

ความว่า “ใครที่ปรารถนาอยากให้ริซกีของเขากว้างขวาง และมีอายุยืนยาว ก็ให้เขาเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติของเขา” (จากอะนัส บิน มาลิก บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 5986, มุสลิม 2557)

 

หก การขอบคุณอัลลอฮ์อย่างสม่ำเสมอ

﴿ وَإِذۡ تَأَذَّنَ رَبُّكُمۡ لَئِن شَكَرۡتُمۡ لَأَزِيدَنَّكُمۡۖ وَلَئِن كَفَرۡتُمۡ إِنَّ عَذَابِي لَشَدِيدٞ 7 ﴾ [إبراهيم: 7] 

ความว่า “และจงรำลึกขณะที่พระเจ้าของพวกเจ้าได้ประกาศว่า หากพวกเจ้าขอบคุณ ข้าก็จะเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้า และหากพวกเจ้าเนรคุณ แท้จริงการลงโทษของข้านั้นสาหัสยิ่ง” (อิบรอฮีม 7)

 

เจ็ด การอิสติฆฟาร/ขออภัยโทษให้มาก

﴿فَقُلۡتُ ٱسۡتَغۡفِرُواْ رَبَّكُمۡ إِنَّهُۥ كَانَ غَفَّارٗا 10 يُرۡسِلِ ٱلسَّمَآءَ عَلَيۡكُم مِّدۡرَارٗا 11 وَيُمۡدِدۡكُم بِأَمۡوَٰلٖ وَبَنِينَ وَيَجۡعَل لَّكُمۡ جَنَّٰتٖ وَيَجۡعَل لَّكُمۡ أَنۡهَٰرٗا 12﴾ [نوح: 10،  12]    

ความว่า “ฉัน(นูห์)ได้พูดว่า พวกท่านจงอิสติฆฟารขออภัยโทษต่อพระเจ้าของพวกท่านเถิด แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ที่อภัยยิ่ง พระองค์จะทรงหลั่งน้ำฝนอย่างมากมายแก่พวกท่าน และพระองค์จะทรงเพิ่มพูนทรัพย์สินและลูกหลานแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีสวนมากมายแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีลำน้ำมากมายแก่พวกท่าน” (นูห์ 10-12)

 

﴿وَأَنِ ٱسۡتَغۡفِرُواْ رَبَّكُمۡ ثُمَّ تُوبُوٓاْ إِلَيۡهِ يُمَتِّعۡكُم مَّتَٰعًا حَسَنًا إِلَىٰٓ أَجَلٖ مُّسَمّٗى وَيُؤۡتِ كُلَّ ذِي فَضۡلٖ فَضۡلَهُۥۖ﴾ [هود: 3] 

ความว่า “และพวกท่านจงอิสติฆฟาร/ขออภัยโทษจากพระเจ้าของพวกท่าน แล้วจงกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์ พระองค์จะทรงให้ปัจจัยแก่พวกท่านจนถึงวาระที่กำหนดไว้ และพระองค์จะทรงประทานผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ทำความดีทุกคน” (ฮูด 3)



[1] (ดูเพิ่มเติมที่ bit.ly/3J3n65c)

[2] كان أهلُ المدينة عيالًا على عبدالرحمن بن عوف، ثُلُث يُقرِضهم ماله، وثُلُث يقضي دَينهم وثُلُث يصِلهم بماله.   ดูใน สิยัร อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์  t.ly/NLQvk

[3] يقول ابن كثير: يعني إذا أقمت الصلاة أتاك الرزق من حيث لا تحتسب. t.ly/JO83c