วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - บะเราะกะฮ์ในชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน




 ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - บะเราะกะฮ์ในชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - บะเราะกะฮ์ในชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องมุสลิมีนที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

อัลหัมดุลิลลาฮ์ ชุโกรต่ออัลลอฮ์ ที่เรายังมีลมหายใจ มีปัจจัยในการดำรงชีวิต มีความเมตตาจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างล้นพ้นมาแก่เรา ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์อะไร เรายังคงมีอัลลอฮ์ผู้ทรงดูแลเราอยู่เสมอ

เราเคยพูดถึงการแสวงหาริซกีที่หะรอม ว่ามันอันตรายแค่ไหนสำหรับมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้คนหย่อนยานและไม่ให้ความสำคัญกับหะลาลและหะรอมในการแสวงหาทรัพย์สินซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของสัญญาณวันสิ้นโลก คำถามก็คือ แล้วมีวิธีการอย่างไรที่จะให้ชีวิตของเราอยู่ในกรอบของการแสวงหาริซกีที่หะลาล ริซกีที่มีความบะเราะกะฮ์หรือความเพิ่มพูนในชีวิตของเราได้บ้าง?

คำว่า บะเราะกะฮ์ หรือบะเราะกาต คิดว่าพี่น้องคงได้ยินกันมาบ้าง หมายถึงการเพิ่มพูน ความมั่นคงอย่างถาวรที่เราได้รับจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา[1]

มันคือคุณค่าที่เราสัมผัสได้ว่าให้ความสุขกับชีวิต มันอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของวัตถุเสมอไป ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَيْسَ الغِنَى عَنْ كَثْرَةِ العَرَضِ، ولَكِنَّ الغِنَى غِنَى النَّفْسِ» [البخاري 6446، مسلم 1051]

ความว่า “ความร่ำรวยนั้นไม่ใช่วัดด้วยการที่ว่ามีทรัพย์สมบัติมากมายแค่ไหน แต่ความร่ำรวยก็คือการรวยหัวใจ(หัวใจรู้สึกพอเพียงกับสิ่งที่มี)” (อัล-บุคอรีย์ 6446, มุสลิม 1051)

พี่น้องครับ

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในโลกยุคนี้ โลกยุคที่ผู้คนเรียกว่าสมัยใหม่ มีความเจริญต่างๆ นานามากมาย มีการกระจายรายได้กันถ้วนหน้า มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกเยอะแยะ มีหนทางในการทำมาค้าขายการทำอาชีพมากมายในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แต่ผู้คนก็ยังรู้สึกว่าชีวิตยังไม่พอ ยังรู้สึกว่าตัวเองคับแคบ ยังคงอยากได้มากขึ้น

เราเห็นว่าในขณะที่ประเทศมหาอำนาจหลายๆ ประเทศร่ำรวยมหาศาลจนสามารถให้เงินกู้กับประเทศที่ยากจนเป็นหมื่นล้านแสนล้าน ด้วยดอกเบี้ยที่จ่ายแล้วจ่ายอีกก็ยังปลดหนี้ไม่ได้ ความมั่งคั่งของฝั่งหนึ่งที่สร้างความยากจนข้นแค้นในอีกฝั่งหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะเรียกว่าเป็นบะเราะกะฮ์ได้อย่างไร? นี่คือชีวิตของพวกเราในโลกยุคนี้

ถ้าเราย้อนกลับไปดูในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านให้ความสำคัญกับบะเราะกะฮ์ ความเพิ่มพูนในริซกี ในชีวิต ในสังคม มากกว่าจำนวนตัวเลข ท่านนบีได้ขอดุอาอ์ให้มีบะเราะกะฮ์แก่เมืองมะดีนะฮ์

«اللَّهُمَّ اجْعَلْ بالمَدِينَةِ ضِعْفَيْ ما بمَكَّةَ مِنَ البَرَكَةِ». [عن أنس بن مالك، البخاري 1885، مسلم 1369]

ความว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดทำให้มะดีนะฮ์มีความบะเราะกะฮ์เป็นสองเท่าของมักกะฮ์” (รายงานโดยอะนัส บิน มาลิก บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 1885 มุสลิม 1369)

 

«اللَّهُمَّ بَارِكْ لَنَا في صَاعِنَا وَمُدِّنَا، وَاجْعَلْ مع البَرَكَةِ بَرَكَتَيْنِ». [عن أبي سعيد، مسلم 1374].

ความว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดให้มีความบะเราะกะฮ์ในเครื่องตวงศออฺและมุดด์ของเรา ขอโปรดทำให้มีบะเราะกะฮ์เป็นสองเท่า” (รายงานโดยอบู สะอีด บันทึกโดยมุสลิม 1374)

 

كانَ رسولُ الله صلى الله عليه وسلم إِذَا أَتَى الثَّمَرُ أُتِيَ بِهِ فَيَقُوْلُ: «اللَّهُمَّ بَارِكْ لَنَا فِي مَدِينَتِنَا، وَفِي ثِمَارِنَا، وَفِي مُدِّنَا، وَفِي صَاعِنَا؛ بَرَكَةً مَعَ بَرَكَةٍ» ثُمَّ يُعْطِيهِ أَصْغَرَ مَنْ يَحْضُرُهُ مِنَ الْوِلْدَانِ. [عن أبي هريرة، رواه مسلم 1373]

ความว่า เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ ชาวมะดีนะฮ์จะเอามาให้กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วท่านก็จะขอดุอาอ์ว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานความบะเราะกะฮ์ให้กับเมืองของเรา ให้กับผลไม้ของเรา ให้กับเครื่องตวงมุดด์ของเรา ให้กับเครื่องตวงศออฺของเรา ให้มีบะเราะกะฮ์เป็นเท่าของบะเราะกะฮ์” จากนั้นท่านก็จะยื่นผลไม้นั้นให้กับเด็กที่อายุน้อยที่สุดก่อน จากจำนวนคนทั้งหมดที่มานั่งรอท่านในบริเวณนั้น (จากอบู ฮุร็อยเราะฮ์ บันทึกโดยมุสลิม 1773)

นี่เป็นการเปิดฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อแสวงหาบะเราะกะฮ์จากอัลลอฮ์

 

พี่น้องครับ

มีตัวอย่างของความบะเราะกะฮ์หลายอย่างที่ถูกกล่าวถึงในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งในเรื่องหลักคำสอน และภาคปฏิบัติ เช่น

«طَعامُ الرَّجُلِ يَكْفِي رَجُلَيْنِ، وطَعامُ رَجُلَيْنِ يَكْفِي أرْبَعَةً، وطَعامُ أرْبَعَةٍ يَكْفِي ثَمانِيَةً». [عن جابر بن عبدالله، صحيح مسلم 2059]

ความว่า “อาหารของหนึ่งคนพอสำหรับสองคน อาหารของสองคนพอสำหรับสี่คน อาหารของสี่คนพอสำหรับแปดคน” (จากญาบิร บิน อับดุลลอฮ์ บันทึกโดยมุสลิม 2059)   

 

 

«البَرَكَةُ في نَواصِي الخَيْلِ» [عن أنس بن مالك، البخاري 2851، مسلم 1874]

ความว่า “ความบะเราะกะฮ์เพิ่มพูนนั้นอยู่กับกระโหลกหน้าผากของม้า” (จากอะนัส บิน มาลิก บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 2851 และมุสลิม 1874) หะดีษนี้หมายถึง การญิฮาดหรือต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ ซึ่งต้องใช้การทุ่มเททั้งแรงกายและทรัพย์สิน แต่มีผลตอบแทนอันใหญ่หลวงทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์

บรรดาเศาะหาบะฮ์ในยุคท่านนบี มีหลายคนที่ร่ำรวย และร่ำรวยเป็นพันล้านหมื่นล้านถ้าหากจะเทียบกับมูลค่าในยุคปัจจุบัน เช่น ท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน, อับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟ์, อัซ-ซุบัยร์ บิน อัล-เอาวาม ฯลฯ คนเหล่านี้เป็นเศาะหาบะฮ์ที่ไม่เคยขาดรบในสมรภูมิกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่พวกเขาร่ำรวยเพราะบะเราะกะฮ์ที่พวกเขาได้ทำตามหลักศาสนาที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอน

ถ้าเราศึกษาประวัติผู้คนเหล่านี้จะเห็นว่า พวกเขามีทัศนคติเกี่ยวกับบะเราะกะฮ์มากกว่าเรื่องรวยหรือไม่รวย และด้วยความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติตามหลักคำสอนศาสนาทำให้พวกเขามีบะเราะกะฮ์จนทรัพย์สินร่ำรวยโดยไม่คาดคิด

อุษมาน บิน อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ผู้ที่รับจัดการดูแลกองทัพที่ออกไปรบในสมรภูมิตะบูก เป็นคนที่ซื้อบ่อน้ำแล้วบริจาคให้กับชาวมะดีนะฮ์ ในขณะที่อับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ บุรุษที่โตจากเลขศูนย์จนรวยกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน คือผู้ที่บริจาคอย่างมากมายให้กับผู้ที่เคยผ่านสงครามบะดัร รับดูแลบรรดาอุมมะฮาตุลมุอ์มินีน(บรรดาภรรยาของท่านนบี) เป็นคนชอบบริจาคจนกระทั่งมีคำกล่าวว่า คนในเมืองมะดีนะฮ์ต่างก็เป็นผู้รับอุปการะจากอับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟ์ ทั้งสิ้น หนึ่งในสามเป็นคนที่ยืมเงินจากท่าน อีกหนึ่งในสามเป็นคนที่ท่านจ่ายหนี้ให้ และหนึ่งในสามที่เหลือคือคนที่ท่านทำดีด้วยการให้เปล่า[2]

เรื่องราวแห่งความบะเราะกะฮ์ในยุคบรรพบุรุษอิสลาม เพียงพอที่จะให้เราศึกษาเพื่อแสวงหาวิธีการที่ถูกต้องในการแสวงหาปัจจัยในยุคที่เราต่างโหยหาความมั่งคั่งอย่างไม่เคยพอ ไม่ต้องใช้ไอดอลอายุน้อยร้อยล้าน หรือวิธีการที่หะรอมที่อัลลอฮ์ไม่พอใจและไม่เป็นบะเราะกะฮ์แก่ชีวิตมาเป็นทางลัดในการแสวงหาเงินทอง แม้จะมากมายแค่ไหนแต่ถ้าเป็นสิ่งที่หะรอมก็ไม่มีวันได้รับบะเราะกะฮ์จากอัลลอฮ์

 

พี่น้องทุกท่าน

ข้อสรุปสั้นๆ จากการรวบรวมปัจจัยแห่งบะเราะกะฮ์ในชีวิตตามหลักคำสอนอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นจากอัลกุรอานหรือสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อาจจะมีอยู่หลายประการซึ่งขอนำเสนอบางส่วนดังนี้

หนึ่ง การศรัทธา(อีมาน) การยำเกรง(ตักวา การมอบหมาย(ตะวักกุล)

﴿وَلَوۡ أَنَّ أَهۡلَ ٱلۡقُرَىٰٓ ءَامَنُواْ وَٱتَّقَوۡاْ لَفَتَحۡنَا عَلَيۡهِم بَرَكَٰتٖ مِّنَ ٱلسَّمَآءِ وَٱلۡأَرۡضِ وَلَٰكِن كَذَّبُواْ فَأَخَذۡنَٰهُم بِمَا كَانُواْ يَكۡسِبُونَ 96﴾ [الأعراف: 96] 

ความว่า “และหากว่าชาวเมืองนั้นได้ศรัทธาและมีความยำเกรงแล้วไซร้ แน่นอนเราก็จะเปิดความบะเราะกะฮ์จากฟากฟ้าและแผ่นดินให้แก่พวกเขาแล้ว แต่ทว่าพวกเขาปฏิเสธ ดังนั้นเราจึงได้ลงโทษพวกเขา เนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขาขวนขวายไว้” (อัล-อะอฺรอฟ 96)

 

﴿وَمَن يَتَّقِ ٱللَّهَ يَجۡعَل لَّهُۥ مَخۡرَجٗا 2 وَيَرۡزُقۡهُ مِنۡ حَيۡثُ لَا يَحۡتَسِبُۚ وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ﴾ [الطلاق: 2،  3] 

ความว่า “และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงหาทางออกให้แก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากสิ่งที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้ช่วยเหลืออย่างพอเพียงแก่เขาแล้ว” (อัฏ-เฏาะลาก 2-3)

 

สอง การให้ความสำคัญกับอัลกุรอาน ทั้งด้วยการเรียนและปฏิบัติตามคำสอนของอัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่เปี่ยมด้วยบะเราะกะฮ์ ค่ำคืนที่มันถูกประทานลงมาก็เต็มเปี่ยมด้วยบะเราะกะฮ์ บ้านที่อ่านอัลกุรอานจะมีมลาอิกะฮ์มาและจะขับไล่ชัยฏอนออกไป

﴿ وَهَٰذَا كِتَٰبٌ أَنزَلۡنَٰهُ مُبَارَكٞ فَٱتَّبِعُوهُ وَٱتَّقُواْ لَعَلَّكُمۡ تُرۡحَمُونَ 155 ﴾ [الأنعام: 155] 

ความว่า “และนี่แหละคือคัมภีร์ที่มีความบะเราะกะฮ์/จำเริญซึ่งเราได้ประทานให้มันลงมายังเจ้า จงปฏิบัติตามคัมภีร์นั้นเถิด และจงยำเกรง เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความกรุณาเมตตา” (อัล-อันอาม 155)

 

สาม การให้ความสำคัญกับการละหมาด ทั้งของตัวเองและสมาชิกในครอบครัว

﴿وَأۡمُرۡ أَهۡلَكَ بِٱلصَّلَوٰةِ وَٱصۡطَبِرۡ عَلَيۡهَاۖ لَا نَسۡ‍َٔلُكَ رِزۡقٗاۖ نَّحۡنُ نَرۡزُقُكَۗ وَٱلۡعَٰقِبَةُ لِلتَّقۡوَىٰ 132﴾ [طه: 132] 

ความว่า “และเจ้าจงสั่งใช้ให้ครอบครัวของเจ้าทำการละหมาด และจงอดทนในการปฏิบัติ เรามิได้ขอเครื่องยังชีพจากเจ้า เราต่างหากเป็นผู้ให้เครื่องยังชีพแก่เจ้า และบั้นปลายที่ดีนั้นเตรียมไว้สำหรับผู้ที่มีความยำแกรง” (ฏอฮา 132)

อิบนุ กะษีร ได้อธิบายอายะฮ์นี้ว่า ถ้าท่านรักษาการละหมาดอย่างดี ริซกีก็จะมาหาท่านโดยที่ท่านไม่อาจคาดคิด[3]

 

สี่ การบริจาคทานให้มาก และหลีกห่างจากดอกเบี้ย

﴿ يَمۡحَقُ ٱللَّهُ ٱلرِّبَوٰاْ وَيُرۡبِي ٱلصَّدَقَٰتِۗ وَٱللَّهُ لَا يُحِبُّ كُلَّ كَفَّارٍ أَثِيمٍ 276 ﴾ [البقرة: 276] 

ความว่า “อัลลอฮ์จะทรงให้ดอกเบี้ยลดน้อยลงและหมดความจำเริญ และจะทรงให้ทำการบริจาคทานเพิ่มพูนขึ้น และอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงชอบผู้เนรคุณ ผู้กระทำบาปทุกคน” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 276)

 

«مَن تَصَدَّقَ بعَدْلِ تَمْرَةٍ مِن كَسْبٍ طَيِّبٍ، ولَا يَقْبَلُ اللَّهُ إلَّا الطَّيِّبَ، وإنَّ اللَّهَ يَتَقَبَّلُهَا بِيَمِيْنِهِ، ثُمَّ يُرَبِّيهَا لِصَاحِبِهِ، كما يُرَبِّي أَحَدُكُمْ فَلُوَّهُ، حتَّى تَكُونَ مِثْلَ الجَبَلِ» [عن أبي هريرة، البخاري 1410]

ความว่า “ใครก็ตามที่บริจาคเท่ากับอินทผลัมหนึ่งเม็ดจากทรัพย์สินที่ดี และอัลลอฮ์จะไม่ทรงรับนอกจากของที่ดีเท่านั้น แท้จริงพระองค์จะทรงรับมันด้วยมือขวาของพระองค์ แล้วจะทรงดูแลให้มันเติบโต เหมือนที่พวกท่านดูแลเอาใจใส่ลูกม้าของตัวเอง จนกระทั่งการบริจาคที่พระองค์ดูแลนั้นใหญ่โตเท่ากับภูเขา” (จากอบู ฮุร็อยเราะฮ์ บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 1410)

 

ห้า การเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ

«مَنْ أحَبَّ أنْ يُبْسَطَ لَهُ فِي رِزْقِهِ، ويُنْسَأَ لَهُ فِي أَثَرِهِ، فَلْيَصِلْ رَحِمَهُ» [عن أنس بن مالك، البخاري 5986، مسلم 2557]

ความว่า “ใครที่ปรารถนาอยากให้ริซกีของเขากว้างขวาง และมีอายุยืนยาว ก็ให้เขาเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติของเขา” (จากอะนัส บิน มาลิก บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 5986, มุสลิม 2557)

 

หก การขอบคุณอัลลอฮ์อย่างสม่ำเสมอ

﴿ وَإِذۡ تَأَذَّنَ رَبُّكُمۡ لَئِن شَكَرۡتُمۡ لَأَزِيدَنَّكُمۡۖ وَلَئِن كَفَرۡتُمۡ إِنَّ عَذَابِي لَشَدِيدٞ 7 ﴾ [إبراهيم: 7] 

ความว่า “และจงรำลึกขณะที่พระเจ้าของพวกเจ้าได้ประกาศว่า หากพวกเจ้าขอบคุณ ข้าก็จะเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้า และหากพวกเจ้าเนรคุณ แท้จริงการลงโทษของข้านั้นสาหัสยิ่ง” (อิบรอฮีม 7)

 

เจ็ด การอิสติฆฟาร/ขออภัยโทษให้มาก

﴿فَقُلۡتُ ٱسۡتَغۡفِرُواْ رَبَّكُمۡ إِنَّهُۥ كَانَ غَفَّارٗا 10 يُرۡسِلِ ٱلسَّمَآءَ عَلَيۡكُم مِّدۡرَارٗا 11 وَيُمۡدِدۡكُم بِأَمۡوَٰلٖ وَبَنِينَ وَيَجۡعَل لَّكُمۡ جَنَّٰتٖ وَيَجۡعَل لَّكُمۡ أَنۡهَٰرٗا 12﴾ [نوح: 10،  12]    

ความว่า “ฉัน(นูห์)ได้พูดว่า พวกท่านจงอิสติฆฟารขออภัยโทษต่อพระเจ้าของพวกท่านเถิด แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ที่อภัยยิ่ง พระองค์จะทรงหลั่งน้ำฝนอย่างมากมายแก่พวกท่าน และพระองค์จะทรงเพิ่มพูนทรัพย์สินและลูกหลานแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีสวนมากมายแก่พวกท่าน และจะทรงทำให้มีลำน้ำมากมายแก่พวกท่าน” (นูห์ 10-12)

 

﴿وَأَنِ ٱسۡتَغۡفِرُواْ رَبَّكُمۡ ثُمَّ تُوبُوٓاْ إِلَيۡهِ يُمَتِّعۡكُم مَّتَٰعًا حَسَنًا إِلَىٰٓ أَجَلٖ مُّسَمّٗى وَيُؤۡتِ كُلَّ ذِي فَضۡلٖ فَضۡلَهُۥۖ﴾ [هود: 3] 

ความว่า “และพวกท่านจงอิสติฆฟาร/ขออภัยโทษจากพระเจ้าของพวกท่าน แล้วจงกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์ พระองค์จะทรงให้ปัจจัยแก่พวกท่านจนถึงวาระที่กำหนดไว้ และพระองค์จะทรงประทานผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ทำความดีทุกคน” (ฮูด 3)



[1] (ดูเพิ่มเติมที่ bit.ly/3J3n65c)

[2] كان أهلُ المدينة عيالًا على عبدالرحمن بن عوف، ثُلُث يُقرِضهم ماله، وثُلُث يقضي دَينهم وثُلُث يصِلهم بماله.   ดูใน สิยัร อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์  t.ly/NLQvk

[3] يقول ابن كثير: يعني إذا أقمت الصلاة أتاك الرزق من حيث لا تحتسب. t.ly/JO83c


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น