วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2551

บทใคร่ครวญถึงหน้าที่ของดาอีย์


ในสูเราะฮฺ อัล-ญุมุอะฮฺ อายะฮฺที่ 2 อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

(هُوَ الَّذِي بَعَثَ فِي الْأُمِّيِّينَ رَسُولاً مِّنْهُمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِهِ وَيُزَكِّيهِمْ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَإِن كَانُوا مِن قَبْلُ لَفِي ضَلَالٍ مُّبِينٍ) (الجمعة : 2 )

ความว่า พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งรอซูลขึ้นคนหนึ่ง ในหมู่ผู้ไม่รู้จักหนังสือจากพวกเขาเองเพื่อให้อ่านโองการต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และเพื่อขัดเกลาพวกเขา และเพื่อสอนคัมภีร์และหิกมะฮฺแก่พวกเขา และแท้จริง ก่อนหน้านี้พวกเขาอยู่ในความหลงทางอย่างชัดเจน

ความหมายที่เหมือนกันกับอายะฮฺข้างต้น ปรากฏในสูเราะฮฺ อาล อิมรอน อายะฮฺที่ 164 อีกด้วย นั่นคือดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

(لَقَدْ مَنَّ اللّهُ عَلَى الْمُؤمِنِينَ إِذْ بَعَثَ فِيهِمْ رَسُولاً مِّنْ أَنفُسِهِمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِهِ وَيُزَكِّيهِمْ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَإِن كَانُواْ مِن قَبْلُ لَفِي ضَلالٍ مُّبِينٍ) (آل عمران : 164 )

ความว่า แท้จริง อัลลอฮฺได้ประทานคุณแก่บรรดามุอ์มิน(ผู้ศรัทธา) ด้วยการที่พระองค์ทรงแต่งตั้งรอซูลขึ้นคนหนึ่งในหมู่พวกเขาเอง เพื่อให้อ่านโองการต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และเพื่อขัดเกลาพวกเขา และเพื่อสอนคัมภีร์และหิกมะฮฺแก่พวกเขา และแท้จริง ก่อนหน้านี้พวกเขาอยู่ในความหลงทางอย่างชัดเจน

อายะฮฺนี้ระบุถึงหน้าที่ หรืองานเผยแผ่อิสลามของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งก็คือหน้าที่ของบรรดาผู้เผยแผ่อิสลาม(ดาอีย์) ในหมู่ประชาชาติของท่านทุกคนเช่นกัน

หน้าที่หรืองานเหล่านั้นคือ

หนึ่ง อ่านอัลกุรอานให้ฟัง

สอง ขัดเกลาให้เป็นคนดี

สาม สอนอัลกุรอานและหิกมะฮฺ (นักอรรถาธิบายหลายท่านให้ความหมาย หิกมะฮฺ ในอายะฮฺนี้ว่าหมายถึงซุนนะฮฺ หรือแนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่นำไปสู่การปฏิบัติตามอัลกุรอานนั่นเอง)

การอ่านอัลกุรอาน หรือพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าให้มวลมนุษย์ฟัง เป็นงานหลักพื้นฐานของบรรดารอซูล ถ้าเป็นก่อนสมัยท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็คือคัมภีร์อื่นๆ นอกจากอัลกุรอาน

เช่นที่มีปรากฏในสูเราะฮฺ อัล-เกาะศ็อศ อายะฮฺที่ 59 ว่า

(وَمَا كَانَ رَبُّكَ مُهْلِكَ الْقُرَى حَتَّى يَبْعَثَ فِي أُمِّهَا رَسُولاً يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِنَا وَمَا كُنَّا مُهْلِكِي الْقُرَى إِلَّا وَأَهْلُهَا ظَالِمُونَ) (القصص : 59 )

ความว่า และพระผู้อภิบาลของเจ้ามิได้เป็นผู้ทำลายเมืองทั้งหลาย จนกว่าจะทรงแต่งตั้งรอซูลขึ้นในเมืองแม่ของมัน โดยให้เขาอ่านโองการทั้งหลายของเราแก่พวกเขา และเรามิได้เป็นผู้ทำลายเมืองทั้งหลาย เว้นแต่ชาวเมืองนั้นเป็นผู้อธรรม

และแม้แต่การบังเกิดขึ้นของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เพื่อให้เป็นศาสนทูตแก่ประชาชาติยุคสุดท้าย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงจากคำขอพรของท่านนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีล อะลัยฮิมัสสลาม ที่ได้ขอจากอัลลอฮฺให้มีรอซูลผู้มาทำหน้าที่ดังกล่าวบังเกิดขึ้น ในหมู่ลูกหลานของท่านทั้งสอง และบุคคลผู้นั้นก็คือท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั่นเอง อัลลอฮฺได้ตรัสถึงดุอาอ์ของทั้งสองว่า

(رَبَّنَا وَابْعَثْ فِيهِمْ رَسُولاً مِّنْهُمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِكَ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَيُزَكِّيهِمْ إِنَّكَ أَنتَ العَزِيزُ الحَكِيمُ) (البقرة : 129 )

ความว่า โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งเรา ขอทรงแต่งตั้งรอซูลคนหนึ่งให้มีขึ้นในหมู่พวกเขา เพื่อให้อ่านโองการต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และเพื่อสอนคัมภีร์และหิกมะฮฺแก่พวกเขา และเพื่อขัดเกลาพวกเขา แท้จริงพระองค์นั้นทรงเปี่ยมยิ่งด้วยเดชานุภาพและความปรีชา

ในเชิงปฏิบัติ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำตัวอย่างไว้อย่างแจ่มแจ้งในกระบวนการดะอฺวะฮฺของท่าน หากทบทวนประวัติศาสตร์การเผยแพร่อิสลาม เราจะพบว่าท่านนบีมักจะเริ่มด้วยการอ่านอัลกุรอานให้ มัดอูว์ (ผู้ฟัง ผู้ถูกเชิญชวน) ได้ฟังก่อน บ่อยครั้งท่านตอบโต้กับพวกมุชริกีนด้วยการอ่านอัลกุรอานให้ฟัง โดยไม่ได้พูดพร่ำถ้อยคำอื่นใดให้ยืดยาว เศาะหาบะฮฺหลายท่านถูกส่งไปยังเมืองต่างๆ ในฐานะดาอีย์ของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม โดยรับคำสั่งให้ทำหน้าที่อ่านอัลกุรอาน ขัดเกลาผู้คน และสอนอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ตามที่มีระบุในอายะฮฺเหล่านี้

เพราะฉะนั้น ผู้ทำหน้าที่ดะอฺวะฮฺที่มุ่งมั่นทำงานเพื่ออิสลามจึงต้องคำนึงถึงหน้าที่เหล่านี้ ให้สมกับการเป็น ดาอีย์ ผู้ตามแนวทางของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตามที่อัลกุรอานได้สั่งในท่านรอซูลประกาศว่า

(قُلْ هَـذِهِ سَبِيلِي أَدْعُو إِلَى اللّهِ عَلَى بَصِيرَةٍ أَنَاْ وَمَنِ اتَّبَعَنِي وَسُبْحَانَ اللّهِ وَمَا أَنَاْ مِنَ الْمُشْرِكِينَ) (يوسف : 108 )

ความว่า จงกล่าวเถิด(โอ้ มุหัมมัด) นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺบนความประจักษ์แจ้ง ทั้งตัวฉันและผู้ติดตามฉัน และมหาบริสุทธิ์เถิดพระองค์อัลลอฮฺ ฉันมิได้อยู่ในหมู่ตั้งภาคี


มีเกียรติอันใดจะประเสริฐเท่ากับการได้ชื่อว่า "เป็นผู้ติดตาม" ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ศาสนทูตอันเป็นที่รักของเรา


วัลลอฮุ อะอฺลัม ..

วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2551

ความแตกต่างระหว่าง ฟะห์ชาอ์ และ มุงกัร


والمنكر كل فعل تحكم العقول الصحيحة بقبحه، أو تتوقف في استقباحه واستحسانه العقول فتحكم بقبحه الشريعة

มุงกัร คือ การกระทำทุกอย่าง ที่ปัญญาอันเที่ยงธรรมวินิจฉัยว่าเป็นสิ่งที่เลว หรือ สิ่งที่จำแนกว่าดีหรือชั่วได้ด้วยสติปัญญา แล้วศาสนาก็ให้หุก่มว่าเลวตามนั้น (นั่นคือศาสนาวินิจฉัยว่าเลว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของปัญญา)

(อ้างถึง : อัล-อัศฟะฮานีย์ ใน เฆาะรีบ อัล-กุรอาน 1:505 หมวด نكر)

فحش: الفحش والفحشاء والفاحشة ما عظم قبحه من الافعال والاقوال

ฟะหะชะ : ฟุห์ชฺ, ฟะห์ชาอ์, ฟาหิชะฮฺ คือ การกระทำหรือคำพูดที่เลวทรามอย่างใหญ่หลวง

(อัล-อัศฟะฮานีย์ ใน เฆาะรีบ อัล-กุรอาน 1:373 หมวด فحش)

สรุป

มุงกัร คือ พฤติกรรมที่เป็นความผิดในภาพรวม เป็นพฤติกรรมที่แม้แต่สติปัญญาของคนทั่วไปก็รับไม่ได้ ในขณะที่ ฟะห์ชาอ์ คือพฤติกรรมเลวทรามที่มีระดับความน่าเกลียด และโสมมมากกว่าความผิดทั่วๆ ไป

อย่างไรก็ตาม นิยามข้างต้นเป็นเพียงความหมายคร่าวๆ ในเชิงภาษา เพื่อให้สามารถจำแนกได้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ทว่ายังมีการให้นิยามที่ละเอียดและหลากหลายกว่านี้ ในหมู่นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน .. วัลลอฮุอะอฺลัม

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551

หิกมะฮฺ, เมาอิเซาะฮฺ และมุญาดะละฮฺ ในมุมมอง อัล-ก็อรฎอวีย์

«ادْعُ إِلِى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَادِلْهُم بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ» (النحل : 125 )

ความว่า จงเชิญชวนสู่เส้นทางแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วย "หิกมะฮฺ" วิทยปัญญา และ "เมาอิเซาะฮฺ หะสะนะฮฺ" การตักเตือนที่ดี และจง "มุญาดะละฮฺ" โต้แย้งกับพวกเขาด้วยวิธีการที่ดีที่สุด

วิธีการแบบ "หิกมะฮฺ" เป็นการสื่อสารไปยังปัญญา ในขณะที่ "เมาอิเซาะฮฺ" นั้นสื่อสารไปยังหัวใจและสะกิดความรู้สึก เพราะมนุษย์ไม่ได้มีปัญญาล้วนๆ แต่มีทั้งปัญญาและอารมณ์

มีคนบางกลุ่มที่เราจำเป็นต้องสื่อไปยังปัญญาหรือความคิดของเขา คนที่คิดเป็น คนที่ใช้ชีวิตท่ามกลางความรู้และวัฒนธรรม และมีคนอีกหลายพวกที่เราต้องสื่อไปยังความรู้สึกของเขา แล้วก็มีคนบางกลุ่มที่เราต้องใช้วิธีการรวมๆ ต้องสื่อไปทั้งความคิดและความรู้สึกพร้อมๆ กัน

นี่คือ "เมาอิเซาะฮฺ" หรือการตักเตือน แต่อัลกุรอานไม่ได้บอกว่าเป็น "เมาอิเซาะฮฺ" หรือการตักเตือนเฉยๆ แต่เป็น "เมาอิเซาะฮฺ หะสะนะฮฺ" หรือการตักเตือนที่ดี จงตักเตือนพวกเขาด้วยการตักเตือนที่ดี

การตักเตือนที่ดีอาจจะเป็นด้วยวิธีการที่ดี ยอดเยี่ยม ดึงดูด นำเสนอด้วยภาพที่งดงาม อย่างอัลกุรอานที่เพียบพร้อมด้วยความมหัศจรรย์ที่งดงามด้านวาทศิลป์ เพราะฉะนั้นจำเป็นที่เราต้องนำเสนอด้วยวิธีการที่สวยและดึงดูด ไม่ใช่ว่ากระทำไปเหมือนขว้างหินใส่คนอื่นเขา แบบนี้ไม่ใช่การตักเตือนที่ดี

การตักเตือนที่ดีอาจจะอยู่ที่การเลือกสถานที่และดูเวลาที่เหมาะสมด้วย

เมื่อใดที่ใช้วิธี "มุญาดะละฮฺ"

เรามี "ดะอฺวะฮฺ" หรือการเชิญชวนสำหรับมุสลิมด้วยกัน และมี "มุญาดะละฮฺ" หรือการโต้แย้งกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม คนที่ยอมรับเราให้ใช้วิธีดะอฺวะฮฺเชิญชวน ส่วนคนที่ขัดแย้งกับเราให้เราใช้วิธีการโต้ หรือที่เรียกกันในภาษาปัจจุบันว่า "หิวารฺ" หรือการสนทนา

อัลกุรอานกล่าวว่า

«قَدْ سَمِعَ اللَّهُ قَوْلَ الَّتِي تُجَادِلُكَ فِي زَوْجِهَا وَتَشْتَكِي إِلَى اللَّهِ وَاللَّهُ يَسْمَعُ تَحَاوُرَكُمَا» (المجادلة : 1)

ความว่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงรับฟังคำพูดของสตรีที่โต้แย้งกับเจ้า (มุญาดะละฮฺ) ว่าด้วยเรื่องสามีของนาง นางได้ร้องต่ออัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงฟังการสนทนา(ตะหาวุร หรือ หิวารฺ) ของเจ้าทั้งสองคน

เพราะฉะนั้นการ "มุญาดะละฮฺ" หรือการโต้แย้ง ก็คือ "หิวารฺ" หรือการสนทนาประการหนึ่งนั่นเอง พวกเราถูกบัญชาให้สนทนากับผู้ที่ขัดแย้งกับเรา ถ้าหากการดะอฺวะฮฺเชิญชวนเป็นสิ่งที่วาญิบ การสนทนาก็วาญิบเช่นกัน

สิ่งที่น่าประหลาดก็คือ อัลกุรอานบอกว่า ให้เราโต้ด้วยสิ่งที่ดีกว่าหรือที่ดีที่สุด

กับประโยค "เมาอิเซาะฮฺ" หรือการตักเตือน อัลกุรอานแค่ใช้คำว่า "เมาอิเซาะฮฺ หะสะนะฮฺ" หรือการตักเตือนที่ดี แต่กับประโยค "มุญาดะละฮฺ" หรือการโต้แย้ง อัลกุรอานกลับใช้คำว่า "บิลละตี ฮิยะ อะห์สัน" หมายถึงต้องดีกว่าหรือดีที่สุดจริงๆ เท่านั้น

หมายถึงว่า ถ้าหากเรามีวิธีอยู่สองทางในการสนทนาและโต้แย้ง วิธีหนึ่งดีและเยี่ยม ส่วนอีกวิธีดีกว่าและเยี่ยมกว่า สิ่งที่ต้องทำก็คือ เราต้องเลือกใช้วิธีที่ดีกว่าและเยี่ยมกว่าในการสนทนา

อัลกุรอานได้ยกตัวอย่างบางประการ ให้เราทราบวิธีใช้คำในการสนทนากับเหล่ามุชริกีน เช่น

«وَإِنَّا أَوْ إِيَّاكُمْ لَعَلَى هُدًى أَوْ فِي ضَلَالٍ مُّبِينٍ» (سبأ : 24)

ความว่า และแท้จริง ไม่พวกเราก็พวกท่าน ที่อยู่บนทางนำหรืออยู่ในความหลงทางอันชัดแจ้ง

จากอายะฮฺนี้ เราเข้าใจว่าอัลลอฮฺต้องการสร้างความเคลือบแคลงให้กับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กระนั้นหรือ ว่าท่านอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ ? ไม่ใช่ .. มันไม่ใช่เช่นนั้น แต่ที่พระองค์ให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวเช่นนี้ เพื่อให้สามารถดึงดูดหัวใจของพวกเขา ให้มีความรู้สึกใกล้เคียง และรู้สึกเป็นกันเองมากขึ้น

ที่เหนือไปกว่านั้น ในอายะฮฺถัดไป อัลลอฮฺตรัสว่า

«قُل لَّا تُسْأَلُونَ عَمَّا أَجْرَمْنَا وَلَا نُسْأَلُ عَمَّا تَعْمَلُونَ» (سبأ : 25)

ความว่า จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) พวกเจ้าจะไม่ถูกถามในสิ่งที่เราก่ออาชญากรรม และเราจะไม่ถูกถามที่ในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ

อันที่จริงสำนวนที่น่าจะให้เสมอกันก็คือ "พวกเจ้าจะไม่ถูกถามในสิ่งที่เราก่ออาชญากรรม และเราจะไม่ถูกถามที่ในสิ่งที่พวกเจ้าก่ออาชญากรรม" คือน่าจะใช้คำว่า "อาชญากรรม" กับทั้งสองฝ่าย แต่พระองค์ไม่ทรงให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ใช้คำนี้ แต่กลับให้ใช้คำว่าอาชญากรรมกับฝ่ายตัวเอง และไม่ชอบให้พาดพิงคำว่าอาชญากรรมกับพวกมุชริกีน แต่ใช้เพียงสำนวนว่า "สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ" เฉยๆ กับพวกเขาเท่านั้น

อะไรที่จะนิ่มนวลไปกว่านี้ อะไรที่จะเป็นวิธีการที่ดีกว่านี้อีก ?

จึงนับว่าจำเป็นที่เราจักต้องศึกษาจากอัลกุรอานและทางนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถึงวิธีการที่เราจะใช้สนทนากับผู้อื่น ...

...................................


ถอดย่อความจากเทปของ ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวีย์ ในหัวข้อ "วาทะอิสลามของเราในยุคสมัยปัจจุบัน" เผยแพร่โดย โครงการรางวัลนานาชาติของอะมีร นายิฟ บิน อับดุลอะซีซ อาลสะอูด เพื่อซุนนะฮฺและอิสลามศึกษาร่วมสมัย www.naifprize.org.sa