วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

ความรู้ใดที่ทำให้ยำเกรงต่ออัลลอฮ์?





คำถาม : หนทางใดบ้างนำไปสู่ความรู้ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ อัซซะวะญัลล์ ?


คำตอบ :
ท่านได้ถามประเด็นสำคัญที่ยิ่งใหญ่มาก ..



ความรู้ที่สืบทอดมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือความรู้ที่จะก่อให้เกิดจิตสำนึกแห่งการยำเกรงต่ออัลลอฮ์ได้ เช่นที่พระองค์ตรัสว่า

إِنَّمَا يَخۡشَى ٱللَّهَ مِنۡ عِبَادِهِ ٱلۡعُلَمَٰٓؤُاْۗ﴾ [فاطر: 28]﴿

ความว่า “แท้จริงแล้ว ผู้ที่หวั่นเกรงต่ออัลลอฮ์คือบรรดาผู้มีความรู้” (ฟาฏิร 28)


ดังนั้น ผู้ใดก็ตามรับความรู้ที่สืบทอดมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับอัลกุรอานและหะดีษของท่าน และเขาก็ได้ไตร่ตรองในความรู้เหล่านั้นก็จะพบว่ามันสามารถสร้างจิตสำนึกแห่งความยำเกรงได้ ชาวสะลัฟบางท่านกล่าวว่า “เราแสวงหาความรู้โดยไม่ได้ตั้งใจแต่แรกว่าทำเพื่ออัลลอฮ์ ทว่ามันกลับไม่เป็นเช่นนั้นสุดท้ายก็ต้องตั้งใจเพื่ออัลลอฮ์” กล่าวคือ ตอนที่เราเริ่มศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ เราทำไปเพราะความทะเยอทะยานตามประสาวัยหนุ่มสาวและเพื่อแข่งขันกับพวกพ้อง แต่เมื่อเราเรียนมากขึ้นและรู้มากขึ้นเกี่ยวกับเนื้อหาต่าง ๆ ที่อัลลอฮ์ประทานลงมาแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เราได้รู้ข้อเท็จจริงในความรู้อันเป็นมรดกตกทอดนี้จากท่าน ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ก็มาเองโดยปริยาย ความบริสุทธิ์ใจก็ผุดขึ้นมา และความนอบน้อมก็บังเกิด



คำพูดนี้คล้าย ๆ กับที่บางคนได้พูดว่า “เราแสวงหาความรู้ โดยไม่ได้ตั้งเจตนา/เนียตใด ๆ แต่หลังจากนั้น การตั้งเจตนา/เนียตก็มาเอง”


การตั้งเจตนา/เนียต และความบริสุทธิ์ใจ/อิคลาศ ก็คือ การที่เราตั้งจิตตั้งใจให้มั่นว่า เราเรียนเพื่อต้องการขจัดความไม่รู้ให้หมดไปจากตัวเอง ขจัดสภาพที่เราไม่รู้จักสิทธิของอัลลอฮ์ให้หมดไป ขจัดการไม่รู้จักสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือความไม่รู้เกี่ยวกับวิธีการทำอิบาดะฮ์ต่อพระองค์อัลลอฮ์ เมื่อใดที่เราตั้งใจว่าต้องการขจัดความไม่รู้ให้พ้นจากตัวเองนี่คือความหมายของความอิคลาศในการแสวงหาความรู้ คือความหมายของการเนียตหรือตั้งเจตนาที่ดี ดังหะดีษที่บอกว่า

«إِنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ» [أخرجه البخاري (1/ 6، رقم 1)، ومسلم (3/1515، رقم 1907)]

“ทุกการงานนั้นขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา” (อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1, มุสลิม หมายเลข 1907)



การตั้งเจตนา/เนียตที่ดี คือ การตั้งใจว่าต้องการขจัดความไม่รู้ให้พ้นจากตัวเอง ไม่ใช่ตั้งใจว่าต้องการให้ตัวเองโดดเด่นเหนือคนอื่น หรือต้องการรู้ให้มาก ต้องการประกาศนียบัตร ต้องการตำแหน่ง ฯลฯ เหล่านี้ทั้งหมดคือการเจตนาเพื่อดุนยา แต่เจตนาที่ดีคือการเนียตว่าต้องการให้ความไม่รู้หมดไปจากตัวเรา



และเมื่อใดที่ท่านรู้สึกเข้าใจมากขึ้นแล้วและมั่นใจว่าได้รับความรู้มาแล้ว อินชาอัลลอฮ์ ก็ให้ท่านตั้งเจตนาเพิ่มเติมว่าต้องการขจัดความไม่รู้ให้หมดไปจากคนอื่นด้วย ผ่านการเผยแพร่ความรู้ที่เป็นมรดกตกทอดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และส่งต่อความรู้ให้กับผู้อื่น เพราะท่านนบีได้บอกว่า

«بَلِّغُوا عَنِّي وَلَوْ آيَةً». [أخرجه البخاري (4/ 170، رقم 3461)]

“จงบอกต่อจากฉัน แม้เป็นเพียงอายะฮ์หนึ่งก็ตามที” (อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3461)



ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังกล่าวอีกว่า

«نَضَّرَ اللهُ امْرَأً سَمِعَ مَقَالَتِي فوَعَاها فأدَّاها كما سَمِعها ، فرُبَّ مُبَلَّغٍ أَوْعَى مِنْ سَامِعٍ». [أخرجه الترمذي (5/ 34، رقم 2658)، وابن ماجه (1/ 84، رقم 230)، والإمام أحمد (3/225، رقم 13350)]

“อัลลอฮ์ทรงทำให้ใบหน้าของคนผู้หนึ่งสว่างไสว เขาฟังคำพูดจากฉัน แล้วเขาก็เข้าใจ จากนั้นเขาก็บอกต่อกับคนอื่นตามที่เขาได้ฟังมา บางทีคนที่ได้รับการถ่ายทอดก็อาจจะเข้าใจดีกว่าคนที่ฟังคนแรกก็เป็นได้” (อัต-ติรมิซีย์ หลายเลข 2658, อิบนุ มาญะฮ์ หมายเลข 230, อะห์มัด หมายเลข 1335)


ดังนั้น การตั้งเจตนา/เนียตที่ดีในการแสวงหาความรู้ คือ การตั้งใจว่าต้องการขจัดความไม่รู้ออกจากตัวเอง และขจัดความไม่รู้ออกจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว คนอื่น ๆ ที่เขาคลุกคลีด้วย คนที่มีความรู้เช่นนี้ทุกสรรพสิ่งจะขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ให้แก่เขา แม้กระทั่งปลาที่อยู่ในท้องน้ำ เพราะเหตุใดเล่า? เพราะเขาจะไม่กระทำการใด ๆ นอกจากด้วยความรู้ ถ้าเขาทำถูกนั่นก็เพราะทำด้วยความรู้ที่มี หรือถ้าหากจะผิดพลาดก็ยังอิงอยู่บนฐานแห่งความรู้ที่เขามีเช่นกัน ถ้าเขาผิดเขาจะขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ เขารู้ว่าอะไรคือความหมายของการอิสติฆฟารเวลาที่เขาขออิสติฆฟารจากอัลลอฮ์ เขารู้ว่าอะไรคือความหมายของการเชื่อฟังต่ออัลลอฮ์ในยามที่เขาทำตามคำสั่งของพระองค์ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องในทั้งสองกรณี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนที่ยำเกรงต่ออัลลอฮ์มากที่สุดก็คือบรรดาอุละมาอ์ที่ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากความรู้ของพวกเขานั่นเอง


ขอดุอาอ์ต่อพระองค์อัลลอฮ์ทรงบันดาลให้เราและท่านได้เป็นหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้นด้วยเถิด ขอพระองค์ทรงปกป้องเราจากความเลวร้ายของตัวเราเอง และจากความชั่วร้ายในการประพฤติปฏิบัติต่าง ๆ ของเราด้วยเทอญ


-----------------

แปลจากนะศีหัตของ เชค ศอลิห์ บิน อับดุลอะซีซ อาล อัช-ชัยค์

ที่มา https://saleh.af.org.sa/ar/node/1491