วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สรุปเนื้อหาตัฟซีร สูเราะฮ์ อัซ-ซาริยาต



ฟังทาง SoundCloud ที่นี่ 


ตอนที่ 1 - อายะฮ์ 1-6
- ปฐมบทของสูเราะฮ์ อัซ-ซาริยาต
- ความพิเศษของสูเราะฮ์ เป็นหนึ่งในจำนวนสูเราะฮ์ที่พูดถึงอะกีดะฮ์หรือความเชื่อเกี่ยวกับอาคิเราะฮ์
- เป็นสูเราะฮ์มักกียะฮ์ ซึ่งมีเนื้อหาในการยืนยันหลักความเชื่อให้ยอมรับต่ออัลลอฮ์
- เริ่มต้นด้วยการสาบาน มีความคล้ายคลึงกับสูเราะฮ์ อัล-มุรสะลาต
- อัซ-ซาริยาต หมายถึงลมที่สามารถหอบพัดสิ่งของ เช่น น้ำฝน เมฆ ใบไม้ ฝุ่น ฯลฯ
- การเรียงลำดับการสาบานได้อย่างสวยงาม ลม น้ำฝน สายน้ำ(หรือเรือที่แล่นในท้องน้ำ)
- ความมหัศจรรย์ของการสร้างแรงตึงผิวที่ทำให้สิ่งของต่างๆ เช่น เรือลำใหญ่ ลอยตัวเหนือน้ำได้
- สิ่งที่เราเห็นทุกวันแต่เราไม่เคยคิด ถูกใช้ในการสาบานเพื่อดึงความสนใจของมนุษย์ 22.30-23.40
- ทรงสาบานกับบรรดามลาอิกะฮ์ที่รับใช้พระองค์อัลลอฮ์ในการแบ่งสรรปัจจัยต่าง ๆ ให้แก่มนุษย์
- ทุกครั้งที่อัลลอฮ์สาบานพระองค์ต้องมีเรื่องที่จะบอกเราและต้องเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องตั้งใจฟัง
- สิ่งที่อัลลอฮ์ต้องการบอกก็คือ สิ่งที่พระองค์บอกว่าจะเกิดขึ้นในวันกิยามะฮ์นั้นเป็นเรื่องจริง และการตอบแทนจะเกิดขึ้นจริง
- สำหรับคนที่ไม่ใช่มุสลิม ไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะเชื่อต่อการฟื้นคืนชีพอีกครั้ง จนอัลลอฮ์ต้องใช้การสาบานในการบอกว่าอาคิเราะฮ์มีจริง 29.30-32.40
- เมื่อไรก็ตามที่หัวใจยอมรับ ชีวิตจะเปลี่ยนเป็นคนละคน
- ทำไมมุชริกีนไม่ยอมศรัทธาต่อวันกิยามะฮ์ เพราะว่ายังอยากจะทำอะไรบางอย่างตามใจตัวเอง 33.40-36.30
- อายะฮ์ที่พูดถึงการต่อสู้ของผู้ศรัทธาในการให้ความสำคัญต่ออาคิเราะฮ์ และไม่เพลี่ยงพล้ำต่อดุนยา การศรัทธาต่ออาคิเราะฮ์จึงมีความสำคัญมาก 37.22-38.33


ตอนที่ 2 - อายะฮ์ 7-14
- สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้อยู่ในการควบคุมดูแลของอัลลอฮ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติหรือเรื่องความรู้สึกของมนุษย์
- วงจรชีวิตจะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกฎสภาวะของอัลลอฮ์
- يقلب الله الليل والنهار
- เวลาที่เราแย่สุดๆ อย่าพยายามหาทางออกด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งรู้สึกว่าแย่เท่าไร ยิ่งต้องยึดกับสายเชือกให้แน่นเท่านั้น
- สุนนะตุลลอฮ์ อัล-เกานียะฮ์ ต้องใช้ สุนนะตุลลอฮ์ อัช-ชัรอียะฮ์ ในการแก้ปัญหา
- อายะฮ์ที่ 7 เป็นการสาบานต่อเนื่องจากอายะฮ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งเรียงลำดับความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงมาอย่างสวยงาม
- ความแตกต่างระหว่างการเชื่อมอายะฮ์ด้วย อักษร ฟาอ์ และ อักษร วาว
- อัลลอฮ์สาบานด้วยท้องฟ้าที่สวยงาม และมีปรากฏการณ์หลากหลายเกิดขึ้นบนท้องฟ้า
- มนุษย์ขัดแย้งกันอย่างมากมายต่อความศรัทธาที่ท่านนบีได้นำมาแจ้งและเชิญชวน
- ความหลากหลายทางความคิดอาจจะแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในความจริง
- คนที่หลงทางจากความจริง ไม่ว่าจะหาข้ออ้างหรือแนวคิดต่างๆ มากลบเกลื่อนความจริงอย่างไร สุดท้ายก็ยังหลงอยู่วันยังค่ำ
- คนที่ไม่ได้ตั้งต้นด้วยการปิดใจ ถ้าเขาแสวงหาความจริงสุดท้ายก็จะได้เจอ
- การใช้การโกหกหรือการคาดเดาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นเหตุแห่งความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไม่น่าเชื่อ
- เมื่อไรก็ตามที่เราอารมณ์นำหน้ามันจะก่อความเสียหายที่เราคาดไม่ถึง
- พวกมุชริกีนเยาะเย้ยท่านนบีด้วยการตั้งคำถามว่าเมื่อไรกิยามะฮ์จะเกิดขึ้น
- อัลลอฮ์ทรงตอบโต้ทันใด ด้วยการสำทับให้พวกเขารู้ว่าวันกิยามะฮ์คือวันที่พวกเขาจะต้องลิ้มลองการลงโทษอันเจ็บปวด แล้วเหตุใดจึงต้องรีบเร่งขอให้เจอด้วยเล่า


ตอนที่ 3 - อายะฮ์ 15-19
- ความแตกต่างระหว่างคำถามของผู้ศรัทธากับผู้ที่ไม่ศรัทธาต่ออาคิเราะฮ์
- ผู้ศรัทธาควรจะต้องถามว่า เราต้องเตรียมตัวอะไรเพื่อเจอกับอาคิเราะฮ์
- อัลลอฮ์พูดถึงการเตรียมตัวของผู้ศรัทธาที่มั่นใจว่าจะได้พบกับอาคิเราะฮ์
- มุตตะกีนกับมุห์สินีน 12.35
- บทสนทนาระหว่างอุมัรกับอุบัย์เกี่ยวกับความหมายของตักวา 12.40-14.50
- สวรรค์มากมายหลายประเภทที่ผู้ศรัทธาจะได้รับเป็นรางวัลจากอัลลอฮ์ 15.00-17.00
- อะไรคือสิ่งที่อัลลอฮ์ประทานให้กับชาวสวรรค์แล้วพวกเขาก็รับมาจากพระองค์ 18.15-20.40
- มุห์สินีน หมายถึงอะไร 21.00-23.55
- ก่อนจะเป็นมุห์สินีน ต้องเป็นมุตตะกีนก่อน จะเป็นมุตตะกีนต้องเป็นมุอ์มินีนก่อน 23.56-26.25
- คุณลักษณะของมุห์สินีน ประการแรก ใช้เวลากลางคืนเพื่ออิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์
- การทำดีที่ดีสุด คือ ทำดีต่ออัลลอฮ์ด้วยการกิยามุลลัยล์
- พิสูจน์การแก้ปัญหาของเราด้วยการกิยามุลลัยล์ แทนที่การบ่นและโวยวาย
- การกิยามุลลัยล์เป็นความท้าทายของโลกสมัยใหม่
- กลางคืนของเราในยุคนี้ถูกใช้เพื่ออย่างอื่นมากกว่า
- อิสติฆฟารในช่วงท้ายของกลางคืน ให้ปฏิบัติอย่างน้อยเพื่อได้กลิ่นอายของชาวสวรรค์ 34.25-38.20
- ต่อไปคือคุณลักษณะการชอบบริจาคแก่คนที่มาขอและคนที่ไม่ได้ขอ ทั้งซะกาตและทานทั่วไป
- อิบาะฮ์ทางร่างกายกับอิบาดะฮ์ทางทรัพย์สิน จำเป็นต้องไปด้วยกัน ให้เศาะดะเกาะฮ์ลื่นไหลเหมือนกับการละหมาด 40.00-41.55
- ความประเสริฐของการเศาะดะเกาะฮ์ 42.00-45.00
- ต้องบริหารจัดการเพื่อให้สามารถทำอิบาดะฮ์โดยเฉพาะการบริจาคอย่างมีระบบและไม่เสียใจภายหลัง


ตอนที่ 4 - อายะฮ์ 20-27
- เนื่องจากวันอาคิเราะฮ์มีความสำคัญมากต่อมนุษย์ อัลลอฮ์จึงพยายามอธิบายให้พวกเขาเข้าใจและยอมรับ ผ่านการใช้หลากหลายวิธีในการอธิบาย
- มีสัญญาณต่างๆ มากมายในแผ่นดินที่แสดงถึงความจริงของอัลลอฮ์และการที่อาคิเราะฮ์นั้นมีจริง
- มีความมหัศจรรย์มากมายอยู่รอบตัวเราที่เป็นหลักฐานให้เราเพิ่มความมั่นใจต่ออัลลอฮ์
- การพิจารณาความมหัศจรรย์เหล่านี้เพิ่มอีมานได้ บางทีเราไม่รู้สึกตัวเพราะเราอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้จนเคยชิน 12.00-15.10
- ในตัวของมนุษย์เองก็มีเครื่องหมายและสัญญาณต่าง ๆ มากมายที่แสดงถึงความอัศจรรย์ในการสร้างของอัลลอฮ์ 15.00-17.18
- นอกจากนี้บนท้องฟ้าก็เต็มเปี่่ยมไปด้วยความมหัศจรรย์ แม้กระทั่งริซกีของเราก็มาจากท้องฟ้า 17.30-19.34
- อัลลอฮ์เป็นผู้กำหนดริซกีให้กับเรา พระองค์คือพระผู้เป็นเจ้า
- อัลกุรอานเลือกใช้คำที่สวยงามในการอธิบาย
- สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดนี้ จะทำอย่างไรให้มันสะท้อนกลับสู่อาคิเราะฮ์ให้ได้ 21.30-23.55
- อิบาดะฮ์ของเราเป็นอิบาดะฮ์ที่ผูกโยงเข้ากับทุกสิ่ งทุกอย่างรอบตัว ยกตัวอย่างการอิบาดะฮ์กลางคืนกับการใคร่ครวญ 24.00-25.55
- ทุกสิ่งที่อัลลอฮ์กล่าวถึงวันอาคิเราะฮ์ย่อมจะเป็นจริง เปรียบเสมือนความจริงที่มนุษย์ยอมรับว่าตนสามารถพูดได้
- หลังจากนั้นอัลลอฮ์ได้ยกตัวอย่างเรื่องราวต่าง ๆ ที่แสดงถึงผลของการปฏิเสธวันอาคิเราะฮ์
- กลุ่มมลาอิกะฮ์ที่มาหาท่านนบีอิบรอฮีมและกล่าวสลามแก่ท่าน
- เกร็ดความรู้เกี่ยวการให้สลามแบบนะศับและแบบร็อฟอฺ
- การสลามสั้นๆ เช่นกล่าวว่า "สลาม" เฉยๆ ได้หรือไม่?
- การต้อนรับแขกของท่านนบีอิบรอฮีม เป็นตัวอย่างสอนเราว่าควรให้ความสำคัญกับแขกอย่างไร


ตอนที่ 5 - 2019-12-26
- ตัวอย่างในการต้อนรับแขกของอิบรอฮีม
- มลาอิกะฮ์ได้ให้ข่าวดีกับอิบรอฮีมว่าจะมีลูกชายอีกคนหนึ่ง
- ปฏิกิริยาของภรรยาอิบรอฮีมหลังจากได้รับข่าวดีว่าจะมีลูก ในขณะที่นางมีอายุมากแล้ว
- เมื่อมลาอิกะฮ์แจ้งว่ามาเพื่อทำลายเมืองของนบีลูฏ อิบรอฮีมจึงทักท้วงพวกเขาด้วยความเป็นห่วงลูฏ
- รูปแบบการทำลายล้างกลุ่มชนของนบีลูฏ หรือชาวเมืองโซดอม
- เมืองโซดอม เมืองแห่งการลงโทษพวกลูฏ
- พฤติกรรมของพวกนบีลูฏ ปัจจุบันก็ยังมีปรากฏและกลายเป็นประเด็นที่คุยกันใหญ่โตเพื่อทำให้พฤติกรรมนี้เป็นเรื่องปกติในสังคม
- (นาที 30-32) ความสำคัญของการศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์ในการแก้ปัญหาที่เป็นพฤติกรรมเลวทรามของมนุษย์
- บริเวณทะเลเดดซีใช่สถานที่ของพวกนบีลูฏจริงหรือไม่? ในฐานะมุสลิมเราควรจะวางจุดยืนของเราอย่างไร?
- เกร็ดความรู้เรื่องความหมายของ อิสลาม และ อีมาน เมื่อสองคำนี้อยู่ด้วยกันและแยกกัน


ตอนที่ 6 - 2020-1-2 อายะฮ์ 38-46
- บทนำเกร็ดเรื่องการต้อนรับปีใหม่ในทัศนะอิสลาม
- ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาคำสอนในอัลกุรอานกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง จะเชื่อมโยงอย่างไร
- การเล่าถึงตัวอย่างประชาชาติที่ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ว่ามีจุดจบเช่นไร
- สุนนะฮ์ของท่านนบี อิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ที่เหลือไว้หลายประการแก่ประชาชาตินี้
- 17.16 - 18.44 การต้อนรับแขกของอิบรอฮีม
- ร่องรอยอีกประการหนึ่งที่ยังคงเหลือให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นบทเรียน คือ เรื่องของมูซากับฟิรเอาน์
- 23.42 - 25.55 อำนาจของฟิรเอาน์แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ตัวเขา
- 26.45 - 28.45 การพึ่งพาไสยศาสตร์และหมอดูของบรรดาคนมีอำนาจเหมือนสมัยฟิรเอาน์
- ฟิรเอาน์มีจุดจบที่เลวร้าย ไม่ได้ตายดี
- พวกอ๊าดที่ถูกทำลายด้วยลมพายุจนไม่เหลือซาก
- พวกของนบีนูห์ ที่ถูกลงโทษด้วยน้ำท่วม


ตอนที่ 7 - 2020-1-9 อายะฮ์ที่ 47 จนจบ
- สรุปการลงโทษประชาชาติก่อนหน้ายุคท่านนบีด้วยการลงโทษที่แตกต่างกัน
- พูดถึงการสร้างท้องฟ้าและการขยายท้องฟ้าตามที่อัลลอฮ์ประสงค์
- พูดถึงแผ่นดินที่อัลลอฮ์สร้างมาเพื่อให้มนุษย์สะดวกสบายในการใช้ชีวิต
- 13.15 - 15.35 การสร้างทุกอย่างให้เป็นคู่ เป็นความมหัศจรรย์ประการหนึ่งที่อัลลอฮ์สรรค์สร้างมา
- การเป็นคู่ทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุรูปธรรมและเรื่องที่เป็นนามธรรม
- 16.10 - 19.10 ความสำนึกเกิดมาจากการตะดับบุร การใคร่ครวญ ไม่ใช่ทุกคนสามารถจะสำนึกได้
- เรียนอัลกุรอานแล้วไม่เกิดบทเรียนเพราะเราไม่ได้คิดตามที่อัลกุรอานบอก
- กับกิตาบอัลกุรอาน ต้องตะดับบุร กับสรรพสิ่งต้องตะซักกุร
- 19.25 - เมื่อได้บทเรียนแล้วต้องมีแอคชั่นให้กลับไปหาอัลลอฮ์อย่างรีบรุด
- 20.50 - 22.00 ทำไมต้องรีบรุดกลับไปหาอัลลอฮ์ เพราะการลงโทษของอัลลอฮ์ถ้ามันมาก็จะลงมาอย่างฉับพลัน
- 22.00 - 24.10 สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อกลับไปหาอัลลอฮ์ คือ ต้องทิ้งชิริกทั้งหมด
- บาปชิริกคือบาปใหญ่ ที่เป็นต้นตอของบาปเล็กๆ อย่างอื่นทั้งปวง
- 25.00 - 26.30 เป้าประสงค์ของการสั่งให้เราพิจารณามัคลูก ก็คือ เพื่อให้เรากลับไปหาอัลลอฮ์
- จากความโง่เขลาสู่การเรียนรู้
- จากกุฟร์ สู่การศรัทธา
- จากการทำบาป สู่การเชื่อฟัง
- จากความหลงลืม สู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์
- บรรดาคนที่ปฏิเสธการศรัทธาต่างก็ใช้ข้ออ้างเดียวกันในการต่อต้านสัจธรรม เสมือนว่าพวกเขาสั่งเสียตกทอดกันมา
- 31.00 - 32.54 คำพูดที่ออกมาเหมือนกัน เป็นเพราะว่าหัวใจของพวกเขาสกปรกเหมือนกัน
- หัวใจเหมือนกัน คำพูดเหมือนกัน
- ข้อเท็จจริงนี้เหมือนเป็นการปลอบใจท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในเมื่อนี่เป็นสิ่งที่ท่านเลี่ยงไม่ได้
- 35.00 - 37.35 หน้าที่หลักของเราะสูลคือตัซกีร ข้อแตกต่างระหว่างตอบโต้กับตัซกีร
- 38.00 - 40.00 จุดประสงค์ในการสร้างมนุษย์และญิน
- ประเด็นการอธิบายต่ออายะฮ์นี้
- 1. อัลลอฮ์สร้างมนุษย์มาด้วยความพร้อมที่จะอิบาดะฮ์ต่อพระองค์
- ความหมายของตักลีฟ และ มุกัลลัฟ
- 2. การสร้างมนุษย์และญินก็เพื่อให้พวกเขายอมรับที่จะเป็นบ่าวต่อพระเจ้า
- ไม่ว่ามนุษย์จะศรัทธาหรือไม่ พวกเขาก็ยังคงอยู่ในสภาพบ่าว ที่หมายถึงว่าถูกควบคุมดูแลโดยอำนาจของพระเจ้า
- 3. การสร้างมนุษย์และญินเพื่อให้พวกเขารู้จักอัลลอฮ์
- 43.28 ทำไมอัลลอฮ์ต้องการให้เราอิบาดะฮ์ แล้วพระองค์จะให้อะไรกับเรา
- ปรัชญาหรือตรรกะในการอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์เป็นอะไรที่สามารถเข้าใจได้ง่าย
- เป็นบ่าวของอัลลอฮ์ คือ ความสูงส่ง เป็นตำแหน่งที่ท่านนบีขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์
- 52.40 - 53.50 สรุปท้ายของสูเราะฮ์อัซ-ซาริยาต การทำความเข้าใจชีวิตตามครรลองของอัลลอฮ์

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

ความรู้ใดที่ทำให้ยำเกรงต่ออัลลอฮ์?





คำถาม : หนทางใดบ้างนำไปสู่ความรู้ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ อัซซะวะญัลล์ ?


คำตอบ :
ท่านได้ถามประเด็นสำคัญที่ยิ่งใหญ่มาก ..



ความรู้ที่สืบทอดมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือความรู้ที่จะก่อให้เกิดจิตสำนึกแห่งการยำเกรงต่ออัลลอฮ์ได้ เช่นที่พระองค์ตรัสว่า

إِنَّمَا يَخۡشَى ٱللَّهَ مِنۡ عِبَادِهِ ٱلۡعُلَمَٰٓؤُاْۗ﴾ [فاطر: 28]﴿

ความว่า “แท้จริงแล้ว ผู้ที่หวั่นเกรงต่ออัลลอฮ์คือบรรดาผู้มีความรู้” (ฟาฏิร 28)


ดังนั้น ผู้ใดก็ตามรับความรู้ที่สืบทอดมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับอัลกุรอานและหะดีษของท่าน และเขาก็ได้ไตร่ตรองในความรู้เหล่านั้นก็จะพบว่ามันสามารถสร้างจิตสำนึกแห่งความยำเกรงได้ ชาวสะลัฟบางท่านกล่าวว่า “เราแสวงหาความรู้โดยไม่ได้ตั้งใจแต่แรกว่าทำเพื่ออัลลอฮ์ ทว่ามันกลับไม่เป็นเช่นนั้นสุดท้ายก็ต้องตั้งใจเพื่ออัลลอฮ์” กล่าวคือ ตอนที่เราเริ่มศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ เราทำไปเพราะความทะเยอทะยานตามประสาวัยหนุ่มสาวและเพื่อแข่งขันกับพวกพ้อง แต่เมื่อเราเรียนมากขึ้นและรู้มากขึ้นเกี่ยวกับเนื้อหาต่าง ๆ ที่อัลลอฮ์ประทานลงมาแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เราได้รู้ข้อเท็จจริงในความรู้อันเป็นมรดกตกทอดนี้จากท่าน ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ก็มาเองโดยปริยาย ความบริสุทธิ์ใจก็ผุดขึ้นมา และความนอบน้อมก็บังเกิด



คำพูดนี้คล้าย ๆ กับที่บางคนได้พูดว่า “เราแสวงหาความรู้ โดยไม่ได้ตั้งเจตนา/เนียตใด ๆ แต่หลังจากนั้น การตั้งเจตนา/เนียตก็มาเอง”


การตั้งเจตนา/เนียต และความบริสุทธิ์ใจ/อิคลาศ ก็คือ การที่เราตั้งจิตตั้งใจให้มั่นว่า เราเรียนเพื่อต้องการขจัดความไม่รู้ให้หมดไปจากตัวเอง ขจัดสภาพที่เราไม่รู้จักสิทธิของอัลลอฮ์ให้หมดไป ขจัดการไม่รู้จักสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือความไม่รู้เกี่ยวกับวิธีการทำอิบาดะฮ์ต่อพระองค์อัลลอฮ์ เมื่อใดที่เราตั้งใจว่าต้องการขจัดความไม่รู้ให้พ้นจากตัวเองนี่คือความหมายของความอิคลาศในการแสวงหาความรู้ คือความหมายของการเนียตหรือตั้งเจตนาที่ดี ดังหะดีษที่บอกว่า

«إِنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ» [أخرجه البخاري (1/ 6، رقم 1)، ومسلم (3/1515، رقم 1907)]

“ทุกการงานนั้นขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา” (อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1, มุสลิม หมายเลข 1907)



การตั้งเจตนา/เนียตที่ดี คือ การตั้งใจว่าต้องการขจัดความไม่รู้ให้พ้นจากตัวเอง ไม่ใช่ตั้งใจว่าต้องการให้ตัวเองโดดเด่นเหนือคนอื่น หรือต้องการรู้ให้มาก ต้องการประกาศนียบัตร ต้องการตำแหน่ง ฯลฯ เหล่านี้ทั้งหมดคือการเจตนาเพื่อดุนยา แต่เจตนาที่ดีคือการเนียตว่าต้องการให้ความไม่รู้หมดไปจากตัวเรา



และเมื่อใดที่ท่านรู้สึกเข้าใจมากขึ้นแล้วและมั่นใจว่าได้รับความรู้มาแล้ว อินชาอัลลอฮ์ ก็ให้ท่านตั้งเจตนาเพิ่มเติมว่าต้องการขจัดความไม่รู้ให้หมดไปจากคนอื่นด้วย ผ่านการเผยแพร่ความรู้ที่เป็นมรดกตกทอดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และส่งต่อความรู้ให้กับผู้อื่น เพราะท่านนบีได้บอกว่า

«بَلِّغُوا عَنِّي وَلَوْ آيَةً». [أخرجه البخاري (4/ 170، رقم 3461)]

“จงบอกต่อจากฉัน แม้เป็นเพียงอายะฮ์หนึ่งก็ตามที” (อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3461)



ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังกล่าวอีกว่า

«نَضَّرَ اللهُ امْرَأً سَمِعَ مَقَالَتِي فوَعَاها فأدَّاها كما سَمِعها ، فرُبَّ مُبَلَّغٍ أَوْعَى مِنْ سَامِعٍ». [أخرجه الترمذي (5/ 34، رقم 2658)، وابن ماجه (1/ 84، رقم 230)، والإمام أحمد (3/225، رقم 13350)]

“อัลลอฮ์ทรงทำให้ใบหน้าของคนผู้หนึ่งสว่างไสว เขาฟังคำพูดจากฉัน แล้วเขาก็เข้าใจ จากนั้นเขาก็บอกต่อกับคนอื่นตามที่เขาได้ฟังมา บางทีคนที่ได้รับการถ่ายทอดก็อาจจะเข้าใจดีกว่าคนที่ฟังคนแรกก็เป็นได้” (อัต-ติรมิซีย์ หลายเลข 2658, อิบนุ มาญะฮ์ หมายเลข 230, อะห์มัด หมายเลข 1335)


ดังนั้น การตั้งเจตนา/เนียตที่ดีในการแสวงหาความรู้ คือ การตั้งใจว่าต้องการขจัดความไม่รู้ออกจากตัวเอง และขจัดความไม่รู้ออกจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว คนอื่น ๆ ที่เขาคลุกคลีด้วย คนที่มีความรู้เช่นนี้ทุกสรรพสิ่งจะขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ให้แก่เขา แม้กระทั่งปลาที่อยู่ในท้องน้ำ เพราะเหตุใดเล่า? เพราะเขาจะไม่กระทำการใด ๆ นอกจากด้วยความรู้ ถ้าเขาทำถูกนั่นก็เพราะทำด้วยความรู้ที่มี หรือถ้าหากจะผิดพลาดก็ยังอิงอยู่บนฐานแห่งความรู้ที่เขามีเช่นกัน ถ้าเขาผิดเขาจะขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ เขารู้ว่าอะไรคือความหมายของการอิสติฆฟารเวลาที่เขาขออิสติฆฟารจากอัลลอฮ์ เขารู้ว่าอะไรคือความหมายของการเชื่อฟังต่ออัลลอฮ์ในยามที่เขาทำตามคำสั่งของพระองค์ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องในทั้งสองกรณี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนที่ยำเกรงต่ออัลลอฮ์มากที่สุดก็คือบรรดาอุละมาอ์ที่ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากความรู้ของพวกเขานั่นเอง


ขอดุอาอ์ต่อพระองค์อัลลอฮ์ทรงบันดาลให้เราและท่านได้เป็นหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้นด้วยเถิด ขอพระองค์ทรงปกป้องเราจากความเลวร้ายของตัวเราเอง และจากความชั่วร้ายในการประพฤติปฏิบัติต่าง ๆ ของเราด้วยเทอญ


-----------------

แปลจากนะศีหัตของ เชค ศอลิห์ บิน อับดุลอะซีซ อาล อัช-ชัยค์

ที่มา https://saleh.af.org.sa/ar/node/1491

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สิทธิในการให้อภัยความผิดพลาดของมิตรสหาย




สิทธิประการหนึ่งของมิตรสหายและพี่น้องก็คือการให้อภัยความผิดพลาด นี่คือประเด็นที่กว้างมาก เป็นเรื่องใหญ่ เพราะในสังคมของการการอยู่ร่วมกัน การเป็นเพื่อน มิตรสหายและพี่น้อง หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการผิดพลาดระหว่างกันบ้าง ฝ่ายหนึ่งเห็นข้อผิดพลาดของอีกฝ่าย อีกฝ่ายก็เห็นข้อผิดพลาดของคู่กรณีเช่นกัน ต้องมีคำพูดที่พลาดพลั้งออกมาเป็นเรื่องปกติ เพราะเราทุกคนเป็นมนุษย์และมนุษย์นั้นหนีไม่พ้นจากความผิดพลาด “ลูกหลานของอาดัมทุกคนย่อมผิดพลาด และคนผิดพลาดที่ดีที่สุดคือผู้ที่กลับตัวกลับใจ” (เศาะฮีฮ์ อัล-ญามิอฺ 4515) จึงเป็นสิทธิของพี่น้องที่จะต้องให้อภัยซึ่งกันและกันในสิ่งที่แต่ละคนผิดพลาดไป



ความผิดพลาดมีสองประเภท: ผิดพลาดในเรื่องศาสนาและผิดพลาดในสิทธิของเรา หมายถึง เพื่อนของเราอาจจะทำผิดพลาดในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของอัลลอฮ์ หรือเขาอาจจะทำผิดพลาดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเอง



หนึ่ง ถ้าเป็นความผิดพลาดในเรื่องศาสนา​ เช่น การที่เขาละทิ้งสิ่งที่วาญิบหรือฝ่าฝืนสิ่งต้องห้าม จุดยืนในการให้อภัยของเราก็คือไม่ใช่ประจานเขา แต่ต้องพยายามแก้ไขปรับปรุง เพราะเรารักเขาเพื่ออัลลอฮ์ ถ้าเรารักเขาเพื่อพระองค์ก็ต้องช่วยทำให้เขากลับมาสู่บทบัญญัติชะรีอะฮ์ของอัลลอฮ์ ช่วยให้เขายืนหยัดในการอิบาดะฮ์เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ นี่คือนัยแห่งความรักที่เรามีต่อพี่น้องและมิตรสหาย



ดังนั้นหากเป็นเรื่องศาสนา เราต้องพยายามทุ่มเทในสิ่งที่จำเป็นต้องทำด้วยการแก้ไขข้อผิดพลาดนั้น ถ้าแนะนำตักเตือนเขาแล้วได้ผลก็ให้ตักเตือนไป หรือถ้าพิจารณาแล้วว่าต้องละวางจากเขาสักระยะหนึ่งเพื่อให้เขาได้คิดก็ให้ออกห่างจากเขาไป​ และการออกห่างตามที่เราเคยเรียนมาก่อนหน้านี้มีสองประเภท​ คือ ออกห่างเพื่อสั่งสอนให้เขาได้คิด และการออกห่างเพื่อลงโทษเขา บางทีเราออกห่างจากเขาเพื่อประโยชน์ของตัวเรา และบางทีเราก็ออกห่างจากเขาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเขาเอง ดังนั้นให้พิจารณาดูว่าถ้าออกห่างจากเขาแล้วเกิดประโยชน์กับตัวเขาก็ให้ทำ ถ้าคนสองคนเป็นเพื่อนกันมาและมีมิตรภาพที่ขาดกันไม่ได้มาตลอด แล้ววันหนึ่งเขาเห็นว่าเพื่อนของเขาทำผิดใหญ่หลวงต่ออัลลอฮ์ ถ้าเขาชั่งดูแล้วว่าการที่เขาออกห่างจากเพื่อนสักระยะหนึ่ง ไม่เจอเขา ไม่ตอบรับเขา ไม่คุยด้วย หรือเวลาเจอกันแล้วก็ทำตัวด้วยสีหน้าที่ไม่เหมือนเดิม จะทำให้เพื่อนของเขารู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำผิดอยู่จนสำนึกผิดต่อบาปที่เขาทำเพราะเพื่อนคนนั้นเคยสนิทกันจนขาดเขาไม่ได้ ถ้ามีผลบวกเช่นนี้ก็ให้เขาพยายามทำดูตามที่พิจารณาแล้วว่าได้ผล เพราะการออกห่างในรูปแบบนี้มีผลดีที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ แต่ถ้าหากผลออกมาในทางกลับกันก็ไม่ควรทำ เนื่องจากการออกห่างมีจุดประสงค์เพื่อสอนและปรับปรุง เราจะเห็นว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีวิธีการรับมือและสั่งสอนคนที่ทำผิดหลากหลายรูปแบบ คนที่ทำบาปบางคนบางทีท่านก็ออกห่างไม่สนใจเขา แต่บางคนท่านก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น บรรดาอุละมาอ์จึงมีความเห็นว่า วิธีการออกห่างนั้นให้ใช้กับคนที่ใช้แล้วได้ผลเป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง ถ้าไม่เป็นผลดีก็ห้ามใช้วิธีนี้กับเขา



สอง ความผิดพลาดในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของเรา กรณีนี้ต้องคำนึงถึงสิทธิของความเป็นพี่น้องก่อนเสมอ คือเราต้องไม่ขยายความผิดพลาดนั้นให้ใหญ่โต เพราะชัยฏอนจะเข้ามายุแยงในหัวใจ มันจะเริ่มตอกย้ำคำนี้กับเขาซ้ำ ๆ ตอกย้ำความผิดนี้กับเขาจนขยายเป็นเรื่องใหญ่ เลยเถิดจนทำลายและตัดสายสัมพันธ์แห่งความรักและความเป็นพี่น้อง หลังจากที่เคยรักและมีไมตรีที่ดีกันมาก่อน กลับกลายเป็นการละทิ้งและตัดขาดกันด้วยเหตุผลทางโลก ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพราะบทบัญญัติของอัลลอฮ์อีกต่อไป วิธีแก้ไขก็คือ เราต้องคำนึงถึงความดีงามของเขาให้มาก ลองพูดกับตัวเองว่า เขาทำผิดกับฉัน ครั้งนี้เขาพลาดไป เขาพูดไม่ดีกับฉัน อาจจะต่อหน้าหรือลับหลัง แต่ให้เราดูสิ่งดี ๆ ที่เขาเคยทำไว้ ดูความสัมพันธ์ของเขากับเรา ดูความซื่อสัตย์ที่เขาให้เราในรอบหลายปีที่ผ่านมา หรือในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ล่วงเลยมาในอดีต เพื่อขยายความดีนั้นให้ใหญ่ขึ้นมากลบความผิดพลาดของเขา จนกระทั่งสายใยแห่งความเป็นพี่น้องระหว่างเรากับเขาได้ยืนหยัดมั่นคง และความรักระหว่างเรากับเขาไม่ถูกตัดขาดหรือพรากไป


------------
แปลจากบทความของ เชค ศอลิห์ บิน อับดุลอะซีซ อาล อัช-ชัยค์
ที่มา https://ar.islamway.net/article/37123





วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สรุปเนื้อหาตัฟซีร สูเราะฮฺ อัฏ-ฏูรฺ




ฟังทาง SoundCloud ที่นี่

ตอนที่ 1

- บทนำ แนะนำสูเราะฮ์ และอายะฮ์ที่น่าสนใจในสูเราะฮ์
- เหตุผลการเริ่มต้นสูเราะฮ์ด้วยการสาบาน
- ความหมายของการสาบานด้วยสรรพสิ่งแต่ละอย่างในสูเราะฮ์
- บัยตุลมะอฺมูร อยู่ที่ฟ้าชั้นเจ็ดซึ่งมีนบีอิบรอฮีมเฝ้าอยู่ เป็นผลตอบแทนที่ท่านได้สร้างกะอฺบะฮ์
- เรื่องราวและเหตุการณ์ที่นบีมูซาไปวะห์ยูที่ภูเขาฏูร และการที่อัลลอฮ์ให้เกียรติแก่ภูเขาลูกนี้
- เกร็ดของสูเราะฮ์อัฏ-ฏูร, อัน-นัจญ์มฺ, อัล-เกาะมัร, ซึ่งเป็นสูเราะฮ์ มักกียะฮ์ เสมือนว่าอัลลอฮ์ต้องการผูกโยงชีวิตของมนุษย์เข้ากับวิถีแห่งสรรพสิ่งในจักรวาล
- การสาบานใช้เพื่อตักเตือนแบบเข้มข้นเกี่ยวกับวันอาคิเราะฮ์ที่มนุษย์ไม่มีวันหลีกหนีพ้น
- เมื่อมนุษย์หนีอาคิเราะฮ์ไม่พ้น วิธีเดียวที่จะรอดคือการกลับไปหาอาคิเราะฮ์ด้วยการยอมรับศรัทธาต่ออัลลอฮ์
- เหตุใดที่ต้องใช้เครื่องมือในการสาบานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากพวกมักกะฮ์เป็นพวกหัวแข็งดื้อด้าน




ตอนที่ 2

- อายะฮ์ที่ 7 เป็นต้นไป เป็นการเล่าเรื่องที่เป็นการสนองการสาบานของอัลลอฮ์ในตอนต้นสูเราะฮ์
- เครื่องมือในการเน้นย้ำ (ตะอ์กีด) เพื่อประกาศว่าวันกิยามะฮ์นั้นจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่มีใครสามารถยับยั้งมันได้
- หะดีษของญุบัยร์ บิน มุฏอิม ที่มาเจรจากับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในประเด็นเชลยสงครามบะดัร และได้ฟังสูเราะฮ์อัฏ-ฏูร ที่ท่านนบีกำลังอ่านในละหมาดมัฆริบ
- ญุบัยร์ รู้สึกสะดุดกับอายะฮ์ในสูเราะฮ์ อัฏ-ฏูร จนกระทั่งได้รับอิสลามกับอายะฮ์ที่ได้ฟังในสูเราะฮ์นี้
- เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่คนกาฟิรเองก็ควรฟังอัลกุรอาน แล้วนับประสาอะไรกับคนที่เป็นมุสลิม ยิ่งต้องควรฟังมากกว่าคนอื่น
- เกร็ดเรื่องเสียงและอิทธิพลต่อหัวใจและอารมณ์ ดังนั้น เสียงอัลกุรอานย่อมสามารถบำบัดหัวใจได้อย่างดีเยี่ยม
- การขี้เกียจและการไม่คุ้นเคยกับอัลกุรอาน สามารถแก้ไขได้ด้วยการเริ่มต้นจากการหัดฟังนักอ่านอัลกุรอานที่ไพเราะก่อนเพื่อให้คุ้นชิน
- สภาพของวันสิ้นโลกที่ท้องฟ้าจะอ่อนยะยวบ และภูเขาจะแตกกระจุยเป็นผง
- วันอาคิเราะฮ์เป็นที่แห่งการลงโทษคนที่ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และชีวิตหลังความตาย คนที่ลืมอัลลอฮ์
- คนที่ลืมอัลลอฮ์ ก็คือ คนที่ลืมตัวเอง คนที่ไม่รู้จักอัลลอฮ์ก็จะไม่รู้จักตัวเอง แม้ว่ามนุษย์จะหาคำตอบมากมายแค่ไหนก็จะหาคำตอบไม่เจอถ้าไม่ได้ฟังคำตอบจากอัลลอฮ์
- คนที่มีอัลลอฮ์นำทางจะมีความชัดเจนว่าชีวิตกำเนิดมาได้อย่างไร ดำเนินอยู่ได้อย่างไร และจะมีบั้นปลายอย่างไร
- ตัวอย่างการใช้ทางนำของอัลลอฮ์ในการรู้จักจุดอ่อนของตัวเอง คือ การที่อัลลอฮ์บอกว่ามนุษย์ไม่เคยเบื่อที่จะแสวงหาสิ่งที่ตนปรารถนา แต่เมื่อเจอกับสิ่งที่ไม่คาดฝันเราก็จะท้อแท้หมดหวัง
- ทางนำของอัลกุรอานยังคงมีชีวิตชีวาเหมาะกับทุกสถานการณ์ที่เราเจอ
- คนที่ใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่มีอาคิเราะฮ์ เส้นทางจะสับสนในการเลือกเส้นทางชีวิต
- พวกเขาจะถูกผลักลงนรก และถูกตอกย้ำด้วยคำพูดซ้ำเติมจากมลาอิกะฮ์
- พวกเขาจะถูกซ้ำเติมด้วยคำพูดให้เจ็บใจ และถูกเย้ยหยันอย่างน่าอดสูให้อยู่ในนรกตลอดกาล
- ความอดทนจะมีประโยชน์เฉพาะในดุนยา แต่มันจะไม่มีประโยชน์อีกต่อไปในนรก
- สำนวนการนำเสนอแบบนี้ในสูเราะฮ์อัฏ-ฏูร เหมาะสมกับสภาพของพวกมุชริกีนในมักกะฮ์ที่มีความดื้อด้านและหัวแข็ง กระนั้นก็ยังมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ศรัทธา
- สำนวนเชิงสำทับเช่นนี้ต้องการจะละลายความแข็งกระด้างของพวกปฏิเสธศรัทธาเหล่านี้




ตอนที่ 3 อายะฮ์ที่ 17-21

- การอ่านอัลกุรอานและการตะดับบุรจะให้กำลังใจกับเราทุกครั้งที่เราใช้เวลาอยู่กับมัน
- เป็นอายะฮ์ที่เริ่มต้นอธิบายการตอบแทนผู้ศรัทธาด้วยสวรรค์ หลังจากที่ได้พูดถึงชาวนรกมาก่อนหน้านี้
- ผลตอบแทนในสวรรค์มีความสุขสบายที่ไม่สิ้นสุด ทั้งสุขภายในและภายนอก
- อัลลอฮ์ให้คุณลักษณะของผู้ที่ได้รับความสุขในสวรรค์ คือ ผู้ตักวา
- ทุกคนควรจะต้องรู้และเข้าใจคำว่าตักวาให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้ปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้ตักวาที่แท้จริง
- การมีตักวาคือการได้รับประกันสวรรค์โดยไม่ต้องผ่านการลงโทษในนรก
- ชาวสวรรค์จะกินอาหารเพื่อความสุข ไม่ได้กินเพื่อประทังความหิว (17.20-21.00)
- อัลลอฮ์ให้ความคุ้มครองและป้องกันชาวสวรรค์จากไฟนรก
- ความสุขในสวรรค์ไม่ใช่เฉพาะทางกายภาพ แต่รวมถึงการได้ยินคำพูดที่ทำให้ชวนลิ้มลองความสุข
- อาหารของชาวสวรรค์จะไม่สร้างของเสียหรือให้โทษใดๆ ที่เป็นผลพวงจากการกินเหล่านั้น
- ที่นั่งของชาวสวรรค์คือเตียงที่ได้รับการประดับประดาอย่างสวยงาม โดยเอนกายอย่างสบายไม่ต้องลุกจากที่นั่งเพื่อไปทำธุระใดๆ
- ความสุขที่มากกว่าการได้ทานอาหารและมีที่พักอย่างอลังการ คือ การมีคู่ครองที่สวยงามเป็นนางสวรรค์
- ครอบครัวของผู้ศรัทธาถ้าสมาชิกทุกคนเป็นผู้ศรัทธาเหมือนเขา ทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันอีกครั้งในสวรรค์ในชั้นที่สูงสุดของสมาชิกในครอบครัว
- อัลลอฮ์ให้เกียรติด้วยการยกระดับสมาชิกครอบครัวที่่อยู่สวรรค์ชั้นต่ำกว่าให้มาอยู่กับสมาชิกที่อยู่บนสวรรค์ชั้นสูงกว่า
- ครอบครัวชาวสวรรค์ (35.48 - 40.51)
- แต่ละชีวิตต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง ทุกคนมีหนี้ชีวิตของตัวเองเหมือนเป็นการจำนองที่จะต้องไถ่ตัวเองด้วยการทำความดีตามคำสั่งของอัลลอฮ์
- อะมัลที่เราทำ คือ สิ่งที่จะใช้ไถ่ชีวิตต่อหน้าอัลลอฮ์ เพื่อให้เราได้เป็นชาวสวรรค์ต่อไป อินชาอัลลอฮ์




ตอนที่ 4 - อายะฮ์ที่ 22-28

- ครอบครัวชาวสวรรค์ที่ได้อยู่ร่วมกันอีกครั้ง เป็นบรรยากาศเหมือนการรวมญาติ
- ความสุขของการได้เห็นครอบครัว เป็นอีกหนึ่งรูปแบบความสุขที่เพิ่มเติมมากกว่าการกินการดื่มและอยู่กับคู่รัก
- ความสุขกับการได้อยู่กับครอบครัว 7.30 - 10.11
- ในขณะที่ชาวนรก อัลลอฮ์จะให้แต่ละคนอยู่ในที่ของตนเอง โดยที่ลูกหลานไม่ต้องแบกรับบาปของพ่อแม่หรือบรรพบุรุษของตน
- ข้อตัดสินของชาวนรกและชาวสวรรค์มีความแตกต่างกัน
- นรกเป็น ดารุลอัดล์/ที่แห่งความยุติธรรม สวรรค์เป็น ดารุลฟัฏล์/ที่แห่งการเอื้อเฟื้อให้เพิ่ม (ตัฟซีร อัส-สะอฺดีย์)
- อัลลอฮ์จะให้มีอาหารเป็นผลไม้และเนื้อที่เอร็ดอร่อยแก่ชาวสวรรค์
- ชาวสวรรค์จะล้อมวงดื่มกินสุราในสวรรค์เป็นกลุ่มอย่างมีความสุข
- ความสุขในโลกดุนยาเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามเลียนแบบความสุขในสวรรค์
- ความแตกต่างระหว่างสุราในดุนยาและสุราในสวรรค์
- เหล้าของชาวสรรค์ 24.30 - 26.20
- บริกรที่คอยรับใช้ชาวสวรรค์เป็นเด็กหนุ่มที่งดงามเหมือนกับพวกเขาเป็นไข่มุกที่ถูกรักษาไว้อย่างดี
- ความสุขอีกประการหนึ่งของชาวสวรรค์คือ ต้องการเจอมิตรสหาย 29.08 - 32.40
- ชาวสวรรค์จะพูดกันถึงเรื่องราวในอดีตเพื่อเพิ่มความสุขของพวกเขา ณ ปัจจุบันที่พวกเขาประสบความสำเร็จด้วยการเข้าสวรรค์
- ความหมายของคำว่าเตาฟีก หมายถึงการที่อัลลอฮ์ทำให้เราสมปรารถนา ฮิดายะฮ์หมายถึงเส้นทางที่อัลลอฮ์ชี้นำ
- ทั้งเตาฟีกและฮิดายะฮ์ล้วนมาจากอัลลอฮ์ ชาวสวรรค์จะสำนึกถึงบุญคุณของอัลลอฮ์
- การลงโทษด้วย สะมูม หมายถึงพิษที่เข้าสู่ข้างในร่างกาย ซึ่งชาวนรกจะถูกหมกอยู่ในพิษนี้
- การเพียรพยายามในการขอดุอาอ์ต่อพระองค์อัลลอฮ์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้เป็นชาวสวรรค์ 39.59 - 42.37
- ดุอาอ์สองประเภท คือ ดุอาอ์อิบาดะฮ์ และ ดุอาอ์มัสอะละฮ์
- พระนาม อัล-บัรร์ ของอัลลอฮ์ หมายถึงพระองค์ทรงมีความเอื้อเฟื้ออย่างล้นเหลือกับบ่าวของพระองค์ โดยที่เราไม่ต้องเรียกร้องจากพระองค์
- ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เมื่ออ่านอายะฮ์นี้ นางจะเอามาใช้จริงภาคปฏิบัติด้วยการใช้ขอดุอาอ์ว่า
اللّهُمَّ مُنَّ علينا وقِنَا عَذَابَ السَّمُومِ، إِنَّكَ أَنْتَ البَرَّ الرَّحِيْم




ตอนที่ 5 - อายะฮ์ที่ 29-43

- การเรียนอัลกุรอาน นอกจากจะได้ผลบุญแล้วยังสามารถเอาไปใช้จริงตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องพบ
- มีการทวนคำว่า "อัม" หลายครั้งเป็นการตั้งคำถามให้ฉุกคิดในปมต่าง ๆ ที่พวกมุชริกีนใช้ในการอ้างเพราะไม่ยอมศรัทธาต่ออัลลอฮ์
- อัลลอฮ์สั่งให้ท่านนบีทำหน้าที่ในการเชิญชวนต่อไป ไม่ว่าพวกมุชริกีนจะปฏิเสธหรือกล่าวหาท่านอย่างไรก็ตาม
- อัลลอฮ์ได้แก้ปมต่าง ๆ ที่พวกมุชริกีนกล่าวอ้างจนครบ
- ปมแรกที่พวกมุชริกีนกล่าวอ้างก็คือหาว่าท่านนบีเป็นคนเสียสติ
- คำกล่าวหาอื่น ๆ อาทิ กล่าวหาท่านนบีเป็นนักกวีที่คอยสร้างความรำคาญ
- อัลลอฮ์ตั้งคำถามต่อมาว่า พฤติกรรมของพวกมุชริกีนที่แสดงออกมานั้นมาจากสติปัญญาของคนที่มีปัญญาจริงๆ กระนั้นหรือ
- ถ้าไม่เช่นนั้น ก็แสดงว่าเป็นพฤติกรรมของคนที่ละเมิดจาบจ้วงคนอื่นอย่างเสียๆ หายๆ
- หรือพวกเขากล่าวหาว่าอัลกุรอานเป็นการคิดค้นเองของมุฮัมมัด ถ้าอย่างนั้นก็ให้พวกเขาลองเขียนมาใหม่ให้เหมือนอัลกุรอานสักสูเราะฮ์หนึ่งสิ
- หรือพวกเขาคิดว่าเกิดมาเอง หรือคิดว่าตัวเองเป็นพระเจ้าเสียเอง หรือคิดว่าพวกเขาคือผู้สร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน กระนั้นหรือ ?
- หรือพวกเขามีคลังสมบัติของอัลลอฮ์อยู่ในมือ หรือพวกเขาเป็นคนที่มีอำนาจสามารถควบคุมคนอื่นได้ กระนั้นหรือ ?
- หรือพวกเขามีบันไดที่ใช้ปีนขึ้นไปฟังโองการของอัลลอฮ์
- มีปมอื่นๆ อีกที่อัลลอฮ์ตอบโต้พวกมุชริกีน
- เกร็ด การตัฟซีรแบบวิเคราะห์ตัวเลขในมุมมองของผู้บรรยาย




ตอนที่ 6 - อายะฮ์ที่ 44-49

- หลังจากที่อัลลอฮ์ได้แก้ปมความคลางแคลงต่าง ๆ จนครบแล้ว พวกมุชริกีนก็ยังคงดื้อดึงไม่ยอมศรัทธา
- ความดื้อรั้นของคนที่ไม่ยอมศรัทธาแม้จะเห็นการลงโทษอยู่ต่อหน้าก็ยังพูดหลอกตัวเองว่าเป็นเรื่องอื่น
- ความน่ากลัวของการมองไม่เห็นอะซาบที่อยู่ต่อหน้า
- เวลาที่เจอกับคนที่ดื้อด้านหัวรั้นเราควรจะต้องทำอย่างไร?
- คำสั่งแรกที่อัลลอฮ์ใช้ให้ท่านนบีทำกับคนพวกนี้ คือ ปล่อยพวกเขาไปตามยถากรรมของตนจนกว่าพวกเขาจะเจอกับการลงโทษเอง
- ภัยพิบัติของอัลลอฮ์อาจจะเป็นการลงโทษสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นความเมตตาแก่คนกลุ่มหนึ่ง
- สำหรับกาฟิร ภัยพิบัติคือการลงโทษ สำหรับมุอ์มินคือกัฟฟาเราะฮ์ หรือมูลเหตุแห่งการอภัยโทษก่อนที่พวกเขาจะกลับสู่อาคิเราะฮ์ (22.20-24.28)
- อัลลอฮ์สั่งให้ผู้ศรัทธาอดทนต่อการตัดสินของอัลลอฮ์ที่สั่งให้ทำต่อพฤติกรรมของผู้ปฏิเสธ
- ผู้ศรัทธาต้องอดทนขนาดไหน มีใครที่เจอบททดสอบมากกว่าผู้ศรัทธา จึงอย่ายอมแพ้ความอดทนกับคนที่ไม่ศรัทธา ต้องแข่งอดทน ต้องอดทนมากกว่าเขา (29.00-31.00)
- การรักษาสภาพอะมัลและการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ เพื่อให้เราได้รับชัยชนะในที่สุด
- คำสั่งให้ตัสบีห์เมื่อลุกขึ้นยืน ไม่ว่าจะเป็นการลุกจากที่นอนหรือลุกจากที่นั่งชุมนุม หรือลุกขึ้นมาละหมาด
- แนะนำดุอาอ์ปิดการชุมนุม หรือ กัฟฟาเราะฮ์ อัล-มัจญ์ลิส
- ความอดทนและการตัสบีห์มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร การซิกิรเป็นการเสริมแรงความอดทน (36.18-38.05)
- ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตัสบีห์ คือกลางคืนช่วงสุดท้าย
- วิธีที่ดีที่สุดในการเสริมกำลังใจคือการลุกขึ้นมาช่วงท้ายของกลางคืนเพื่อมาเข้าเฝ้าอัลลอฮ์ ร้องเรียนปัญหาที่ตัวเองเจอ
- วิธีแก้ปัญหาตามที่อัลลอฮ์แนะนำ ปรึกษาคนนั้นคนนี้แต่ไม่เคยปรึกษาอัลลอฮ์เลย (39.31-41.35)
- การเตรียมตัวเพื่อให้สามารถลุกขึ้นมาละหมาดกลางคืน ต้องวางแผนตั้งแต่ตอนกลางวัน ไม่อย่างนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยากมากที่จะลุกได้
- ลองปิดเครื่องมือสื่อสารกลางคืนแต่เนิ่น ๆ
- สุนัตสองร็อกอะฮ์ก่อนศุบห์ อยู่ในความหมายของอายะฮ์ที่อัลลอฮ์สั่งให้ตัสบีห์ตอนที่ดวงดาวกำลังจะลับตาไป (43.45-45.38)
- การเกาะฎอละหมาดสุนัตสองร็อกอะฮ์ก่อนศุบห์ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วดีที่สุด
- สรุปตอนท้าย สูเราะฮ์นี้กำลังพูดถึงการศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์ และคนที่ไม่ยอมศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์ และวิธีการเผชิญหน้ากับคนกลุ่มนี้

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

การใช้ข้อตัดสินอื่นที่ไม่ใช่บทบัญญัติของอัลลอฮ์




การศรัทธาต่ออัลลอฮ์มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การเคารพภักดีต่อพระองค์และการยอมรับต่อหุก่มที่เป็นข้อตัดสินต่าง ๆ ด้วย ต้องยอมรับและพอใจกับข้อตัดสินจากอัลกุรอานและสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อมีการเห็นไม่ตรงกันในประเด็นต่าง ๆ ทั้งในเรื่องที่เป็นรากฐานหลักของศาสนา หรือสิทธิอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องปลีกย่อย ในอัลกุรอานมีคำสั่งจากอัลลอฮ์ที่กล่าวโดยตรงถึงชนชั้นผู้นำและบรรดาประชาชนให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปหาข้อตัดสินของอัลลอฮ์เมื่อมีความขัดแย้งกัน

ในส่วนของผู้นำ อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ ۞إِنَّ ٱللَّهَ يَأۡمُرُكُمۡ أَن تُؤَدُّواْ ٱلۡأَمَٰنَٰتِ إِلَىٰٓ أَهۡلِهَا وَإِذَا حَكَمۡتُم بَيۡنَ ٱلنَّاسِ أَن تَحۡكُمُواْ بِٱلۡعَدۡلِۚ ﴾ [النساء: 58]

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงใช้ให้พวกเจ้ารักษาความไว้วางใจแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คนพวกเจ้าก็จะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม” (อัน-นิสาอ์ 58)



สำหรับคนที่เป็นประชาชนผู้ตาม พระองค์ได้ตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَطِيعُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُواْ ٱلرَّسُولَ وَأُوْلِي ٱلۡأَمۡرِ مِنكُمۡۖ فَإِن تَنَٰزَعۡتُمۡ فِي شَيۡءٖ فَرُدُّوهُ إِلَى ٱللَّهِ وَٱلرَّسُولِ إِن كُنتُمۡ تُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِۚ ذَٰلِكَ خَيۡرٞ وَأَحۡسَنُ تَأۡوِيلًا 59 ﴾ [النساء: 59]

ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮ์และเชื่อฟังศาสนทูตเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใดก็จงนำสิ่งนั่นกลับไปยังอัลลอฮ์และศาสนทูตมาตรว่าพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันปรโลก นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดีและผลสุดท้ายที่งดงามยิ่ง” (อัน-นิสาอ์ 59)



พระองค์ปฏิเสธความศรัทธาของคนที่ใช้หุก่มของผู้อื่นเป็นข้อตัดสิน ดังที่ได้ตรัสว่า

﴿ أَلَمۡ تَرَ إِلَى ٱلَّذِينَ يَزۡعُمُونَ أَنَّهُمۡ ءَامَنُواْ بِمَآ أُنزِلَ إِلَيۡكَ وَمَآ أُنزِلَ مِن قَبۡلِكَ يُرِيدُونَ أَن يَتَحَاكَمُوٓاْ إِلَى ٱلطَّٰغُوتِ وَقَدۡ أُمِرُوٓاْ أَن يَكۡفُرُواْ بِهِۦۖ وَيُرِيدُ ٱلشَّيۡطَٰنُ أَن يُضِلَّهُمۡ ضَلَٰلَۢا بَعِيدٗا 60 ﴾ [النساء: 60]

ความว่า “เจ้ามิได้มองดูบรรดาผู้ที่อ้างตนว่าพวกเขาศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้าและสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้าดอกหรือ ? เขาเหล่านั้นต้องการที่จะให้การตัดสินเป็นสิทธิแก่เหล่าฏอฆูต(สิ่งเคารพอื่นนอกจากอัลลอฮ์) ทั้ง ๆ ที่พวกเขาถูกใช้ให้ปฏิเสธมัน และชัยฏอนนั้นต้องการที่จะให้พวกเขาหลงทางออกไปอย่างห่างไกล” (อัน-นิสาอ์ 60)



﴿ فَلَا وَرَبِّكَ لَا يُؤۡمِنُونَ حَتَّىٰ يُحَكِّمُوكَ فِيمَا شَجَرَ بَيۡنَهُمۡ ثُمَّ لَا يَجِدُواْ فِيٓ أَنفُسِهِمۡ حَرَجٗا مِّمَّا قَضَيۡتَ وَيُسَلِّمُواْ تَسۡلِيمٗا 65 ﴾ [النساء: 65]

ความว่า “มิใช่เช่นนั้นดอก ขอสาบานด้วยพระเจ้าของเจ้าว่า เขาเหล่านั้นจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าพวกเขาจะให้เจ้าตัดสินในสิ่งที่ขัดแย้งกันระหว่างพวกเขา แล้วพวกเขาไม่พบความคับใจใด ๆ ในจิตใจของพวกเขาจากสิ่งที่เจ้าได้ตัดสินใจและพวกเขายอมจำนนด้วยดี” (อัน-นิสาอ์ 65)

การใช้หุก่มอื่นเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่กุฟร์ได้เช่นที่อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ وَمَن لَّمۡ يَحۡكُم بِمَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡكَٰفِرُونَ 44 ﴾ [المائدة: 44]

ความว่า “และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานลงมา ชนเหล่านี้แหละคือผู้ปฏิเสธการศรัทธา” (อัล-มาอิดะฮ์ 44)



เมื่อมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องใดระหว่างนักปราชญ์ ก็จำเป็นที่จะต้องกลับไปหาข้อตัดสินของอัลลอฮ์ในทุกเรื่องทุกประเด็น ข้อตัดสินที่ยอมรับได้ต้องสอดคล้องกับอัลกุรอานและสุนนะฮ์เท่านั้น โดยไม่มีอคติหรือยึดติดอยู่กับตัวบุคคลหรือทัศนะใดเป็นการเฉพาะ และต้องใช้กับทุกเรื่องไม่ใช่แค่ในเรื่องข้อขัดแย้งส่วนบุคคลเท่านั้น เพราะอิสลามนั้นเกี่ยวข้องกันทั้งหมดไม่ได้แยกส่วนหนึ่งส่วนใดออกไปต่างหากจากการดำรงชีวิต บรรดาผู้ติดตามนักปราชญ์ทั้งหลายที่เป็นผู้นำมัซฮับเองก็จะต้องนำคำพูดและทัศนะของนักปราชญ์ที่พวกเขานับถือกลับไปสู่อัลกุรอานและสุนนะฮ์ด้วยเช่นกัน อะไรที่สอดคล้องกับอัลกุรอานและสุนนะฮ์ให้เอามาใช้ อะไรที่ไม่สอดคล้องก็ต้องปล่อยไปโดยไม่มีทิฐิหรืออคติมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอะกีดะฮ์หรือหลักความเชื่อความศรัทธา เพราะผู้นำมัซฮับทั้งหลายต่างก็สั่งเสียเป็นเสียงเดียวกันเช่นนี้กันทุกคน คือให้กลับไปหาอัลกุรอานและสุนนะฮ์ ใครที่ไม่ได้ทำตามที่กล่าวมาย่อมไม่ใช่ผู้ติดตามพวกเขาอย่างแท้จริงแม้จะอ้างตัวว่าเป็นผู้ติดตามพวกเขาก็ตามที

การที่อัลลอฮ์ปฏิเสธความศรัทธาจากคนที่ไม่ได้ใช้ข้อตัดสินของอัลลอฮ์เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่า การใช้บทบัญญัติของอัลลอฮ์นั้นย่อมเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับความศรัทธา ความเชื่อ และเป็นอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ เป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติเป็นหลักศาสนา การใช้ข้อตัดสินและบทบัญญัติของอัลลอฮ์ต้องไม่ทำเพียงเพราะเห็นว่ามันดีที่สุดและมีประโยชน์ที่สุดต่อมนุษย์ โดยลืมจุดประสงค์หลักของมัน นั่นคือเป็นการยอมรับและเป็นอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ก่อนจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น

﴿ وَإِذَا دُعُوٓاْ إِلَى ٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦ لِيَحۡكُمَ بَيۡنَهُمۡ إِذَا فَرِيقٞ مِّنۡهُم مُّعۡرِضُونَ 48 وَإِن يَكُن لَّهُمُ ٱلۡحَقُّ يَأۡتُوٓاْ إِلَيۡهِ مُذۡعِنِينَ 49 ﴾ [النور: 48، 49]

ความว่า “และเมื่อพวกเขาได้รับการเชิญชวนเรียกร้องไปสู่อัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์เพื่อให้ตัดสินระหว่างพวกเขา เมื่อนั้นฝ่ายหนึ่งจากพวกเขาพากันผินหลังให้ และหากว่ามีผลประโยชน์อยู่ข้างพวกเขาแล้ว พวกเขาจะรีบมาหาเขาอย่างนอบน้อมโดยทันที” (อัน-นูร 48-49)



จะเห็นว่าในอายะฮ์นี้พูดถึงคนบางกลุ่มที่ใช้ข้อตัดสินของอัลลอฮ์ในประเด็นที่พวกเขามองว่ามีผลประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ไม่ตรงกับความต้องการหรือความปรารถนาของตนพวกเขาก็จะละทิ้งไป เพราะพวกเขาไม่ได้เคารพอิบาดะฮ์และยอมรับอัลลอฮ์อย่างแท้จริง



หุก่มของผู้ที่ใช้ข้อตัดสินอื่นนอกจากบทบัญญัติของอัลลอฮ์


﴿ وَمَن لَّمۡ يَحۡكُم بِمَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡكَٰفِرُونَ 44 ﴾ [المائدة: 44]

ความว่า “และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานลงมา ชนเหล่านี้แหละคือผู้ปฏิเสธการศรัทธา” (อัล-มาอิดะฮ์ 44)



จากอายะฮ์นี้ได้ข้อสรุปว่าการใช้บทบัญญัติอื่นเป็นข้อตัดสินนั้นถือว่าเข้าข่ายกุฟร์(การปฏิเสธศรัทธา) เพียงแต่กุฟร์นั้นก็แบ่งได้สองประเภท บางประเภทก็ทำให้บุคคลหลุดพ้นจากสภาพการเป็นมุสลิม และบางประเภทนั้นเป็นกุฟร์เล็กไม่ได้เป็นเหตุให้พ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพของผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าว

ถ้าเขาทำด้วยความเชื่อว่าการใช้ข้อตัดสินของอัลลอฮ์ไม่ได้วาญิบหรือไม่ใช่สิ่งจำเป็นและทำด้วยความเจตนาและตั้งใจเองโดยไม่มีใครบังคับ หรือดูถูกข้อตัดสินของอัลลอฮ์ หรือเชื่ออย่างหมดใจว่าบทบัญญัติอื่น ๆ ดีกว่าบทบัญญัติของอัลลอฮ์ หรือเชื่อว่าบทบัญญัติของอัลลอฮ์ไม่เหมาะกับยุคสมัย หรือกระทำลงไปเพื่อเอาใจบรรดากาฟิรและมุนาฟิก กรณีเหล่านี้ถือว่าเข้าข่ายกุฟร์ใหญ่ที่ทำให้หลุดจากสภาพการเป็นมุสลิมได้

แต่ถ้าหากเขารู้และเชื่อว่าบทบัญญัติของอัลลอฮ์นั้นดีกว่าแต่ยังไปใช้บทบัญญัติอื่นทั้งที่รู้ดีว่าต้องได้รับโทษจากการกระทำเช่นนี้เพราะมันเป็นบาป กรณีนี้ถือว่าเป็นกุฟร์เล็กที่ไม่ได้ทำให้หลุดพ้นจากสภาพการเป็นมุสลิม

ถ้าหากเขาไม่รู้บทบัญญัติของอัลลอฮ์ว่าแท้จริงเป็นอย่างไร แล้วเขาก็พยายามวินิจฉัยอย่างสุดความสามารถแต่ได้ข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องกับบทบัญญัติที่แท้จริง กรณีนี้เขาจะได้รับผลบุญจากความพยายามในการวินิจฉัย ส่วนความผิดพลาดดังกล่าวของเขาก็จะได้รับการอภัยอีกด้วย

อย่างไรก็ตามคำอธิบายข้างต้นนี้ใช้กับการตัดสินในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรณีส่วนบุคคล แต่หากเป็นกรณีการตัดสินในภาพรวมเกี่ยวกับหลักการของศาสนาย่อมจะแตกต่างออกไป เช่นกรณีที่ดัดแปลงสัจธรรมของศาสนาให้เป็นเรื่องเท็จ ทำเรื่องเท็จให้เป็นเรื่องจริง ทำสุนนะฮ์ให้เป็นบิดอะฮ์ ทำบิดอะฮ์ให้เป็นสุนนะฮ์ สั่งให้ทำในสิ่งที่อัลลอฮ์ห้าม สั่งห้ามในสิ่งที่อัลลอฮ์บัญชาให้ทำ ฯลฯ กรณีเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยในการตัดสินของอัลลอฮ์ เพราะเป็นเรื่องที่ทำลายหลักความเชื่อความศรัทธาของมุสลิมและตรงกันข้ามกับเตาฮีดอันเป็นแกนหลักของศาสนานั่นเอง วัลลอฮุอะอฺลัม



--------------------

แปลสรุปโดยสังเขปจากหนังสือ อัต-เตาฮีด ของท่านเชคศอลิห์ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน หน้า 48-53

โดย ซุฟอัม อุษมาน

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ทัศนคติเชิงวัตถุนิยม


ความหมายของทัศนคติเชิงวัตถุนิยม หมายถึงการที่มนุษย์มีมุมมองในชีวิตซึ่งคิดวนเวียนอยู่กับเป้าหมายที่จะบรรลุความสุขในโลกดุนยาอันชั่วคราวนี้เพียงอย่างเดียว ไม่เคยมีความคิดว่าชีวิตจะต้องเจออะไรบ้างหลังจากที่ต้องตายไป ไม่สนใจว่าบั้นปลายชีวิตหลังความตายเป็นจะอย่างไร ไม่ได้ทำอะไรเพื่ออาคิเราะฮ์ ไม่ให้ความสำคัญ ไม่รับรู้ว่าแท้จริงแล้วอัลลอฮ์สร้างโลกนี้มาเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติความดี เสมือนเป็นแหล่งเพาะปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลในโลกหน้า ดุนยาคือโลกแห่งการปฏิบัติ อาคิเราะฮ์คือโลกแห่งการตอบแทน ใครที่ใช้โอกาสในดุนยาเพื่อปฏิบัติคุณความดีเขาก็จะได้รับกำไรในสองโลก แต่หากใครที่ละเลยในการทำดีตอนที่มีชีวิตอยู่ในดุนยา อาคิเราะฮ์ของเขาก็จะเสียหายไม่มีกำไรใด ๆ รออยู่อีก


﴿ خَسِرَ ٱلدُّنۡيَا وَٱلۡأٓخِرَةَۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡخُسۡرَانُ ٱلۡمُبِينُ 11 ﴾ [الحج: 11]

ความว่า “เขาผู้นั้นย่อมขาดทุนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นั่นคือความขาดทุนที่ชัดเจนยิ่ง” (อัล-หัจญ์ 11)



อัลลอฮ์ไม่ได้สร้างโลกดุนยานี้อย่างไร้สาระ แต่ทรงสร้างด้วยเหตุผลที่ยิ่งใหญ่

﴿ ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلۡمَوۡتَ وَٱلۡحَيَوٰةَ لِيَبۡلُوَكُمۡ أَيُّكُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗاۚ وَهُوَ ٱلۡعَزِيزُ ٱلۡغَفُورُ 2 ﴾ [الملك: 2]

ความว่า “พระองค์ผู้ทรงสร้างความตายและการมีชีวิต เพื่อทดสอบพวกเจ้าว่าใครที่จะปฏิบัติความดีได้เลิศกว่า พระองค์คือผู้ทรงเกรียงไกรและปรีชาญาณ” (อัล-มุลก์ 2)

﴿ إِنَّا جَعَلۡنَا مَا عَلَى ٱلۡأَرۡضِ زِينَةٗ لَّهَا لِنَبۡلُوَهُمۡ أَيُّهُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗا 7 ﴾ [الكهف: 7]

ความว่า “แท้จริงแล้ว เราได้สร้างสิ่งต่าง ๆ บนหน้าแผ่นดินเพื่อเป็นเครื่องประดับตกแต่งให้มันสวยงาม เพื่อที่เราจะได้ทดสอบพวกเขาว่าใครที่จะปฏิบัติคุณงามความดีได้เลิศยิ่งกว่า” (อัล-กะฮ์ฟฺ 7)



พระองค์กำหนดให้ชีวิตดุนยามีความสะดวกสบายและความสำราญต่าง ๆ มากมาย อาทิ ทรัพย์สิน ลูกหลาน ตำแหน่ง อำนาจ และความสุขทุกประเภทอีกเหลือคณานับไม่มีใครทราบได้นอกจากพระองค์



มนุษย์บางกลุ่ม -ซึ่งเป็นส่วนใหญ่- มักจะมองเห็นแค่ความสุขผิวเผินที่ยั่วยวน คอยปรนเปรอตัวเองให้มีความสุขโดยไม่ได้พิจารณาความลับที่แฝงเร้นมาด้วย พยายามที่จะกอบโกยและรวบรวมสะสมอย่างสุขสำราญโดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตหลังจากโลกนี้ และอาจจะปฏิเสธด้วยซ้ำไปว่าไม่มีอีกแล้วโลกหลังความตาย

﴿ وَقَالُوٓاْ إِنۡ هِيَ إِلَّا حَيَاتُنَا ٱلدُّنۡيَا وَمَا نَحۡنُ بِمَبۡعُوثِينَ 29 ﴾ [الأنعام: 29]

ความว่า “พวกเขากล่าวว่า ไม่มีชีวิตอื่นใดอีกนอกจากชีวิตของเราในโลกดุนยานี้เท่านั้น และพวกเราจะไม่มีการฟื้นคืนชีพอีก” (อัล-อันอาม 29)



อัลลอฮ์ได้กำชับตักเตือนคนที่มีแนวคิดในการใช้ชีวิตเช่นนี้ว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ لَا يَرۡجُونَ لِقَآءَنَا وَرَضُواْ بِٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَٱطۡمَأَنُّواْ بِهَا وَٱلَّذِينَ هُمۡ عَنۡ ءَايَٰتِنَا غَٰفِلُونَ 7 أُوْلَٰٓئِكَ مَأۡوَىٰهُمُ ٱلنَّارُ بِمَا كَانُواْ يَكۡسِبُونَ 8 ﴾ [يونس: 7، 8]

ความว่า “แท้จริงแล้ว บรรดาคนที่ไม่หวังจะพบกับเราในอาคิเราะฮ์และพอใจกับการมีชีวิตในโลกดุนยานี้ ซ้ำยังรู้สึกมั่นคงกับชีวิตดังกล่าว รวมถึงบรรดาคนที่ไม่รู้สาอะไรเลยเกี่ยวกับโองการ(สัญญาณ)ต่าง ๆ ของเรา คนเหล่านี้จะกลับไปสู่ที่พักของพวกเขาในนรกด้วยผลแห่งการแสวงหากอบโกยที่พวกเขาทำไว้” (ยูนุส 7-8)

﴿ مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيۡهِمۡ أَعۡمَٰلَهُمۡ فِيهَا وَهُمۡ فِيهَا لَا يُبۡخَسُونَ 15 أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ لَيۡسَ لَهُمۡ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ إِلَّا ٱلنَّارُۖ وَحَبِطَ مَا صَنَعُواْ فِيهَا وَبَٰطِلٞ مَّا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 16 ﴾ [هود: 15، 16]

ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ปรารถนาชีวิตในดุนยาและความเลิศเลอของมัน เราก็จะให้กับเขาอย่างเต็มที่ตามความพยายามของพวกเขาในโลกนี้ และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนให้มีความขาดตกบกพร่องเลย แต่คนเหล่านี้ เมื่อกลับไปอาคิเราะฮ์จะไม่ได้รับอะไรอีกนอกจากนรก สิ่งที่พวกเขาทำในดุนยาจะสูญสลายสิ้น และสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติไว้ในดุนยาจะเป็นโมฆะ” (ฮูด 15-16)



สัญญาแห่งการสำทับตักเตือนนี้ครอบคลุมถึงบรรดาคนที่มีทัศนคติเชิงวัตถุนิยมเหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ดูเบื้องนอกกำลังปฏิบัติงานที่จะได้ผลในอาคิเราะฮ์แต่เป้าประสงค์จริง ๆ กลับต้องการผลประโยชน์ในดุนยา เช่น พวกมุนาฟิกและพวกสร้างภาพอวดให้คนชม หรืออาจจะเป็นบรรดาคนกาฟิรที่ไม่ได้ศรัทธาต่อการฟื้นคืนชีพและการสอบสวนในอาคิเราะฮ์ เช่นชาวญาฮิลียะฮ์ กลุ่มแนวคิดอันตรายอย่างพวกทุนนิยมสุดโต่ง สังคมนิยม เซคคิวลาร์ ลัทธิปฏิเสธพระเจ้า ฯลฯ คนเหล่านี้ไม่ได้เห็นคุณค่าของชีวิต มุมมองของพวกเขาไม่ได้มากไปกว่าวิถีแห่งสัตว์อื่น หรืออาจจะย่ำแย่กว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากพวกเขาทุ่มเทความคิดและปัญญาเพื่อสิ่งที่ไม่ได้อยู่ถาวรและไม่ได้ทำให้พวกเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ได้ทำความดีเพื่อบั้นปลายที่กำลังจะมาหาพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่สัตว์อื่นนั้นไม่ต้องมีบั้นปลายเหมือนมนุษย์และพวกมันเองก็ไม่ได้มีปัญญาเหมือนพวกเขาแต่แรกด้วย อัลลอฮ์ได้เตือนสติว่า

﴿ أَمۡ تَحۡسَبُ أَنَّ أَكۡثَرَهُمۡ يَسۡمَعُونَ أَوۡ يَعۡقِلُونَۚ إِنۡ هُمۡ إِلَّا كَٱلۡأَنۡعَٰمِ بَلۡ هُمۡ أَضَلُّ سَبِيلًا 44 ﴾ [الفرقان: 44]

ความว่า “เจ้าคิดหรือว่า พวกเขาส่วนใหญ่จะได้ยินหรือมีปัญญาคิดได้ อันที่จริงพวกเขาไม่ได้เป็นเหมือนอะไรเลยนอกจากพวกปศุสัตว์ หนำซ้ำอาจจะหลงทางยิ่งกว่าพวกมันเสียอีก” (อัล-ฟุรกอน 44)



พระองค์กล่าวว่าคนที่มีทัศนคติเช่นนี้แท้จริงแล้วเป็นคนที่ไม่มีความรู้

﴿ وَلَٰكِنَّ أَكۡثَرَ ٱلنَّاسِ لَا يَعۡلَمُونَ 6 يَعۡلَمُونَ ظَٰهِرٗا مِّنَ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَهُمۡ عَنِ ٱلۡأٓخِرَةِ هُمۡ غَٰفِلُونَ 7 ﴾ [الروم: 6، 7]

ความว่า “ทว่า มนุษย์ส่วนใหญ่นั้นไม่รู้ พวกเขารู้เฉพาะเรื่องเบื้องหน้าในโลกดุนยานี้เท่านั้น แต่พวกเขาไม่รู้สาไม่สนใจอะไรเลยเกี่ยวกับอาคิเราะฮ์” (อัร-รูม 6-7)



แม้ว่ามนุษย์จะมีความสามารถในการคิดค้นและสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากมาย แต่พวกเขาก็ยังถือว่าไม่มีความรู้ที่แท้จริงตราบใดที่จุดมุ่งหมายในชีวิตของพวกเขามีเพียงแค่โลกดุนยานี้เท่านั้น มันเป็นความรู้ที่ไม่ครบถ้วน ไม่มีความเหมาะสมที่จะได้รับฉายาอันทรงเกียรติว่าเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา การเรียกขานว่าเป็นผู้รู้นั้นคู่ควรกับคนที่รู้จักอัลลอฮ์และมีความยำเกรงต่อพระองค์

﴿ إِنَّمَا يَخۡشَى ٱللَّهَ مِنۡ عِبَادِهِ ٱلۡعُلَمَٰٓؤُاْۗ إِنَّ ٱللَّهَ عَزِيزٌ غَفُورٌ 28 ﴾ [فاطر: 28]

ความว่า “แท้จริงแล้ว คนที่เกรงกลัวต่ออัลลอฮ์ในหมู่บ่าวของพระองค์คือบรรดาผู้รู้จริง แท้จริง อัลลอฮ์ทรงเป็นผู้เกรียงไกรและผู้อภัยยิ่ง” (ฟาฏิร 28)



ในจำนวนตัวอย่างการมีทัศนคติแบบวัตถุนิยมก็คือเรื่องราวของกอรูนและคลังสมบัติของเขา อัลลอฮ์ได้ตรัสถึงเรื่องราวของเขาว่า

﴿ فَخَرَجَ عَلَىٰ قَوۡمِهِۦ فِي زِينَتِهِۦۖ قَالَ ٱلَّذِينَ يُرِيدُونَ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا يَٰلَيۡتَ لَنَا مِثۡلَ مَآ أُوتِيَ قَٰرُونُ إِنَّهُۥ لَذُو حَظٍّ عَظِيمٖ 79 ﴾ [القصص: 79]

ความว่า “แล้วกอรูนก็ออกมายังกลุ่มชนของตนในชุดของเขาที่ประดับประดาอย่างโอ่อ่า บรรดาคนที่หลงใหลชีวิตในดุนยาต่างกล่าวกันว่า พวกเราปรารถนาอยากจะได้เหมือนที่กอรูนได้รับบ้าง แท้จริงเขาเป็นคนที่มีโชคลาภยิ่งใหญ่เหลือเกิน” (อัล-เกาะศ็อศ 79)



ผู้คนทั้งหลายเมื่อเห็นความร่ำรวยของกอรูนต่างก็ปรารถนาอยากจะได้รับโชคลาภแบบเดียวกับเขาบ้าง ต่างก็อิจฉาและชื่นชมยินดีกับความมั่งมีของกอรูน สภาพเดียวกันนี้เราอาจจะเห็นได้ในประเทศต่าง ๆ ที่เจริญรุ่งเรืองด้านวัตถุและเศรษฐกิจอย่างก้าวไกล จนบรรดาผู้คนที่มีอีมานอ่อนในหมู่ชาวมุสลิมมองดูความเจริญเหล่านั้นอย่างฉงนสนเท่ห์ โดยไม่สนใจว่าความเจริญเหล่านั้นแฝงด้วยกุฟร์และต้องมีบั้นปลายที่เลวร้ายอย่างไรบ้าง ทัศนคติที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้เป็นเหตุจูงใจให้พวกเขายกย่องคนเหล่านั้นในหัวใจและพยายามแสดงออกเพื่อเลียนแบบนิสัย วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขาอย่างไม่ลังเลไร้ข้อกังขา ในขณะเดียวกันกลับไม่สนใจที่จะเอาตัวอย่างของพวกเขาในเรื่องความขะมักเขม้น อุตสาหะ การสร้างความแข็งแกร่งและผลิตนวัตกรรมที่มีประโยชน์มาใช้กับตัวเองบ้าง



ทัศนคติที่ถูกต้องในการดำรงชีวิตนั้น คือการที่มนุษย์มองว่าทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ตำแหน่ง และอำนาจทางวัตถุ ล้วนเป็นเครื่องมือที่จะใช้เพื่อปฏิบัติความดีกลับไปสู่อาคิเราะฮ์ ดังนั้น ดุนยาไม่ได้ถูกตำหนิโดยตัวมันเอง สิ่งที่ควรตำหนิหรือถูกชมคือพฤติกรรมของมนุษย์ที่ใช้ชีวิตในดุนยา แท้จริงแล้วดุนยาเป็นสะพานเชื่อมสู่อาคิเราะฮ์ และเป็นที่เก็บเสบียงกลับสู่สวรรค์ ชีวิตที่สุขสำราญในสวรรค์ล้วนมาจากความมุ่งมั่นในการสะสมความดีตอนที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้ ดุนยาเป็นที่แห่งการญิฮาดต่อสู้ ละหมาด ถือศีลอด บริจาคในหนทางของอัลลอฮ์ และแข่งกันกันทำความดี อัลลอฮ์ได้ตรัสถึงชาวสวรรค์ว่า

﴿ كُلُواْ وَٱشۡرَبُواْ هَنِيٓ‍َٔۢا بِمَآ أَسۡلَفۡتُمۡ فِي ٱلۡأَيَّامِ ٱلۡخَالِيَةِ 24 ﴾ [الحاقة: 24]

ความว่า “พวกเจ้าทั้งหลายจงกินเถิด จงดื่มเถิด ให้สำราญตามที่พอใจ ด้วยผลแห่งความดีที่พวกเจ้าทำมาก่อนหน้านี้ในวันวานที่ผ่านมา” (อัล-ห๊ากเกาะฮ์ 24)



วันวานที่ผ่านมาในอายะฮ์นี้ หมายถึง ดุนยา นั่นเอง.



--------------------

แปลโดย ซุฟอัม อุษมาน

จากหนังสือ อัต-เตาฮีด ของท่านเชคศอลิห์ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน หน้า 62-65

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

จริยธรรมการปฏิสัมพันธ์กับต่างศาสนิก




มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับต่างศาสนิก ซึ่งแตกต่างกันไปตามบริบทและมิติที่หลากหลาย อาทิ ความสัมพันธ์ส่วนตัว ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ความสัมพันธ์ในสถานการณ์ปกติและยามสงคราม บทความนี้คงจะไม่ลงลึกในประเด็นดังกล่าว ในที่นี้เราเพียงแค่จะอธิบายสภาพจริงของความสัมพันธ์เหล่านี้บนพื้นฐานของหลักจริยธรรม ที่อาจจะมีคนส่วนหนึ่งเข้าใจผิดในบางเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ก่อนอื่นต้องย้ำว่าพื้นฐานที่อิสลามบัญญัติให้มุสลิมปฏิสัมพันธ์กับต่างศาสนิกในทุกบริบทนั้นวางอยู่บนหลักการทางจริยธรรมและคุณธรรม การสานไมตรี การเรียกร้องเชิญชวนสู่สัจธรรมตามกาลเทศะของมัน การต่อสู้และญิฮาดตามบริบทที่ถูกต้องในหลักคำสอนของชะรีอะฮ์ การผ่อนปรนประนีประนอมก็มีบริบทเฉพาะของมัน เช่นเดียวกับการยืนหยัดเด็ดขาดในบางเรื่องที่หลักการศาสนากำชับเน้นหนัก ทั้งหมดนั้นจะต้องวางอยู่บนหลักการทางจริยธรรมทั้งสิ้น นี่เป็นพื้นฐานสำคัญที่มุสลิมต้องเข้าใจและยึดปฏิบัติ แม้ว่าความแตกต่างของมุสลิมกับต่างศาสนิกนั้นจะมีให้เห็นแต่แรกแล้วในแง่ความไม่ตรงกันทางด้านความเชื่อก็ตาม



หลักบัญญัติทางศาสนาว่าด้วยความสัมพันธ์กับต่างศาสนิกทั่วไป

ในระดับของต่างศาสนิกทั่วไปที่ไม่ใช่คู่สงครามมีบทบัญญัติที่จำเป็นต้องตระหนักและยึดมั่นอยู่บางประการดังนี้

1. ไม่สร้างความเดือดร้อนและก่อความอธรรม หลักการนี้ปรากฏในวจนะของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ความว่า “ผู้ใดที่ฆ่าต่างศาสนิกที่มีพันธสัญญาระหว่างกัน เขาจะไม่ได้รับกลิ่นอายของสวรรค์ ซึ่งแท้จริงแล้วกลิ่นอายของมันนั้นสามารถรับรู้และสัมผัสได้ก่อนระยะทางจะถึงสวรรค์สี่สิบปี” (อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3166)

2. ยึดหลักจริยธรรมของอิสลามในการปฏิสัมพันธ์ อาทิ ความซื่อสัตย์ การรักษาสัญญา ความยุติธรรม การให้ความเป็นธรรม ความเมตตาตามบริบททางศาสนา เป็นต้น

3. อนุญาตให้ทำดีและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นของขวัญหรือความช่วยเหลือฉุกเฉิน เหล่านี้เคยมีตัวอย่างในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่เกิดขึ้นกับบรรดาเศาะหาบะฮ์และท่านนบีเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรตระหนักและระวังว่าการทำดีดังกล่าวจะต้องไม่เข้าข่ายการผูกใจ(วะลาอ์)ด้วยความรักและเสน่หาเยี่ยงที่สมควรจะให้แก่มุสลิม หรือเป็นการส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหรือภารกิจที่เป็นสัญลักษณ์เฉพาะทางศาสนาและความเชื่อ



หลักบัญญัติทางศาสนาว่าด้วยความสัมพันธ์กับคู่สงคราม

สำหรับต่างศาสนิกที่เป็นอริศัตรูคู่สงคราม จะเห็นได้ว่ามีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรมในด้านความสัมพันธ์อยู่มากมายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

- ห้ามเริ่มก่อสงครามโดยที่ไม่มีการนำหน้าด้วยการเรียกร้องเชิญชวนสู่อิสลามก่อน เช่นเหตุการณ์ในสงครามค็อยบัร ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำชับท่านอาลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ผู้เป็นแม่ทัพในครั้งนั้นว่า “จงเดินทัพไปอย่างช้าๆ มั่นคง เมื่อถึงที่ของพวกเขาก็จงเรียกร้องพวกเขาสู่อิสลาม จงบอกให้พวกเขารู้ถึงสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องทำ ขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ การที่พระองค์ให้ทางนำบุคคลหนึ่งผ่านความพยายามของเจ้านั้นย่อมดีกว่าที่เจ้าได้รับอูฐแดงเสียอีก” (อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3406)

- ห้ามบิดพลิ้วหักหลัง และชำระแค้นด้วยการทรมานคู่สงครามในสมรภูมิ

- ห้ามคร่าชีวิตคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ เช่น เด็ก สตรี นักบวช คนแก่เฒ่า ที่ไม่ได้มีส่วนในการสงคราม

- ห้ามทำลายเรือกสวนไร่นาหรือเผาทำลายบ้านเรือนโดยไม่มีเหตุจำเป็นถึงที่สุด หรือวางยาพิษในแหล่งน้ำ เป็นต้น




ความเข้าใจผิดบางประการในประเด็นความสัมพันธ์กับต่างศาสนิก

1. ใช้อารมณ์และจุดยืนส่วนบุคคลแทนที่จะใช้หลักการและบทบัญญัติ เป็นข้อที่อาจจะกล่าวว่าได้ความผิดพลาดส่วนใหญ่มาจากสาเหตุนี้ จำเป็นมากที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าประเด็นละเอียดอ่อนเช่นนี้ต้องอ้างอิงไปยังหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮ์เท่านั้น ลำพังการยืนยันว่าตนมีความบริสุทธิ์ใจต่ออิสลามในการปฏิสัมพันธ์กับต่างศาสนิกโดยใช้ฐานแห่งความรู้สึกส่วนตัวย่อมไม่ถูกต้อง พฤติกรรมใช้อารมณ์บางอย่างที่อาจจะมองว่าเป็นการปกป้องอิสลามอาจจะเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้มีผลต่อการดูแลปกป้องศาสนาของอัลลอฮ์เลย เพราะค้านกับหลักคำสอนในอัลกุรอานและสุนนะฮ์ แน่แท้ว่าการปกป้องและช่วยเหลือสนับสนุนอิสลามนั้นเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอยู่ในกรอบบทบัญญัติของอัลลอฮ์เท่านั้น ไม่ใช่ใช้อารมณ์นำหน้าหรือจุดยืนของตัวเองเป็นเกณฑ์ตัดสิน เพราะนั่นอาจจะเป็นแค่กระแสชั่วครู่ชั่วคราวหรืออารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการสนับสนุนอิสลามในระยะยาวแต่อย่างใด

2. ความเข้าใจผิดว่าจุดยืนบางอย่างเป็นหลักคำสอนในบทบัญญัติอิสลามทั้งที่มันไม่ใช่ มีความเข้าใจผิดหลายประการ ที่เราอาจจะเข้าใจว่ามาจากบทบัญญัติของอิสลามแต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น อาทิ

- การคิดไปว่าการสร้างความเดือดร้อนแก่ต่างศาสนิกนั้นได้ผลบุญเสมอ

- การคิดไปว่าการทำดีกับต่างศาสนิกนั้นเป็นสิ่งหะรอมที่ต้องห้าม

- สับสนระหว่างความเข้าใจเรื่อง การทำดีต่อผู้อื่นและการผูกใจรัก (วะลาอ์ และ บะรออ์) ซึ่งเป็นสองประการที่แตกต่างกัน

- การคิดไปว่าไม่อนุญาตกล่าวทักทายให้สลามต่างศาสนิกไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งอันที่จริงครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยกล่าวให้สลามกับกลุ่มคนที่นั่งรวมกันอยู่ซึ่งมีทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม นอกจากนี้สำนวนหรือประโยคในการกล่าวทักทายต่างศาสนิกก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสำนวนเดียวกับที่ใช้กับมุสลิมด้วยกัน แต่สามารถปรับใช้ตามกาลเทศะให้เหมาะสมได้

- การเข้าใจสลับกันระหว่าง ความประเสริฐของอิสลามและนิสัยส่วนตัวของมุสลิม หลายคนเข้าใจผิดว่าเมื่อตนเป็นผู้นับถืออิสลามแล้วก็ย่อมต้องมีนิสัยที่ประเสริฐกว่าคนอื่นโดยปริยายแม้ว่าตัวเองจะมีนิสัยบางอย่างที่เลวทรามก็ตาม เขาอาจจะเข้าใจว่าเป็นไปไม่ได้ที่นิสัยของต่างศาสนิกบางคนจะดีกว่านิสัยส่วนตัวของมุสลิม ความจริงต้องมีการแยกแยะว่ามารยาทที่ดีงามในอิสลามนั้นมีค่าในตัวเองและไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวตนของมุสลิม หากมุสลิมไม่ได้เอามารยาทที่ดีเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตจริงนั่นก็แสดงว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความดีงามในด้านนี้ของอิสลาม เป็นไปได้อย่างไรที่เขาจะภูมิใจกับความงดงามที่เขาเองไม่ยอมเอามันมาประดับตัวเองหรือไม่ยอมเป็นเจ้าของความดีงามนั้น

- ความเข้าใจสับสนระหว่างรูปแบบความสัมพันธ์ของมุสลิมกับต่างศาสนิก และการไม่เข้าใจถ่องแท้ต่อศัพท์เทคนิคบางตัวในทางชะรีอะฮ์ของอิสลาม กล่าวคือ มุสลิมหลายคนมีความเข้าใจแต่เดิมว่ารูปแบบความสัมพันธ์ของตนกับต่างศาสนิกควรต้องเป็นอย่างไร แต่เนื่องจากอาจจะมีความไม่ชัดเจนต่อความหมายของศัพท์บางตัวในชะรีอะฮ์อิสลามทำให้มีการแสดงออกที่ผิดเพี้ยนไป เช่นการไม่สามารถแยกแยะระหว่าง หุก่มและอีมาน ความสัมพันธ์และการแสดงออก การเสวนาและการดะอฺวะฮ์ เป็นต้น ในบางกรณีก็ยังจำเป็นต้องแยกระหว่างการใช้ศัพท์เทคนิคและการแสดงออกที่สะท้อนต่อความหมายของศัพท์นั้น ๆ เพราะบางทีสองอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันในเชิงพฤติกรรมเสมอไป ตัวอย่างเช่นคำว่า กาฟิร ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิเสธศรัทธา ความหมายของคำนี้ดูผิวเผินสะท้อนว่ามุสลิมควรต้องปฏิบัติเป็นปฏิปักษ์โดยปริยาย แต่ในความเป็นจริงอิสลามมีบทบัญญัติมากมายเกี่ยวข้องกับการทำดีต่อกาฟิรในบางโอกาส รวมถึงบทบัญญัติที่สั่งให้เรียกร้องเชิญชวนพวกเขาสู่อิสลามด้วยการปฏิบัติที่ดี และมารยาทอื่น ๆ ที่ใช้กับมนุษย์ด้วยกันโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม เช่นเดียวกับศัพท์อื่น ๆ ที่อาจจะเป็นปัญหาเพราะความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อข้อเท็จจริงในความหมายตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติอิสลามเช่นคำว่า ญิฮาด เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว พื้นฐานจริยธรรมในการปฏิสัมพันธ์ของมุสลิมกับต่างศาสนิกนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้หลักการที่ถูกต้องตามคำสอนในอัลกุรอานและสุนนะฮ์เป็นแนวทางในการกำหนดจุดยืนและรูปแบบ ซึ่งมีการอธิบายไว้ในตำรับตำราของนักวิชาการอิสลามนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้อารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวเป็นเกณฑ์ เพราะนั่นจะยิ่งสร้างปัญหาและอาจจะทำให้อิสลามถูกเข้าใจผิดมากยิ่งขึ้นไปอีก วัลลอฮุอะอฺลัม

----------
หมายเหตุ แปลโดยคัดย่อจากงานของ ศ.ดร.อับดุลลอฮ์ บิน ฎ็อยฟุลลอฮ์ อัร-รุหัยลีย์, เกาะวาอิดุล อัคลาก อัลฟาฎิละฮ์ วะ มุนเฏาะละกอต ลิกติสาบิฮา, หน้า 213-231

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อัคลาก ระหว่างรากฐานหลักและสาขาปลีกย่อย



อัคลาก หรือหลักจริยธรรมในอิสลามนั้นมีการแบ่งประเภทต่าง ๆ ตามมุมมองและมิติที่ต่างกัน บางครั้งอาจจะแบ่งประเภทตามลักษณะเนื้อแท้ที่เป็นรากฐานหลักหรือสาขาปลีกย่อย บางครั้งก็อาจจะแบ่งตามความสัมพันธ์ของบุคคลหรือผู้เกี่ยวข้องกับการใช้จริยธรรมนั้น ๆ หรือบางทีก็อาจจะแบ่งตามสถานะของมนุษย์ในสังคมแต่ละแห่งที่มีการใช้หลักจริยธรรมดังกล่าว ในที่นี้จะหยิบยกคำอธิบายที่ว่าด้วยการแบ่งประเภทอัคลากตามลักษณะการเป็นรากฐานหลักหรือสาขาปลีกย่อยของมันมาพอสังเขป 



รากฐานหลักและสาขาปลีกย่อยของอัคลาก

อัคลาก มีส่วนที่เป็นรากฐานหลักและสาขาปลีกย่อย ซึ่งกล่าวได้ว่าอัคลากที่ดีมีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องหลักและที่เป็นเรื่องปลีกย่อย เช่นเดียวกับอัคลากที่เลวทรามก็มีทั้งที่เป็นเรื่องหลักและเป็นเรื่องย่อย ผู้ใดก็ตามที่พยายามอุตสาหะฝึกฝนตัวเองให้มีรากฐานทางอัคลากหรือจริยธรรมที่ดี ก็ย่อมเป็นการง่ายสำหรับเขาที่จะฝึกฝนจริยธรรมปลีกย่อยอื่น ๆ ตามมาด้วย 

มีทัศนะเกี่ยวกับการกำหนดรากฐานของอัคลากที่ดีค่อนข้างหลากหลาย เราคัดมาเฉพาะทัศนะที่แบ่งรากฐานของอัคลากเหล่านี้ออกเป็นเก้าประการ ซึ่งแต่ละข้อก็จะมีคู่ตรงข้ามเป็นรากฐานของอัคลากที่เลวทรามขนานกันไป 

รากฐานของอัคลากที่ดี 9 ข้อ คือ

1. รักความจริงและให้ความสำคัญกับเรื่องที่ถูกต้อง (ตรงกันข้ามกันคือ ไม่ยอมรับความจริง บิดเบือน)

2. ความเมตตากรุณา (ตรงข้ามกับความทารุณ ไร้เมตตา)

3. ความมุ่งมาดปรารถนาอย่างแรงกล้า (ตรงข้ามกับความเฉื่อยชา ขี้เกียจ)

4. จิตสำนึกสาธารณะ (ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัว)

5. ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น (ตรงข้ามกับความอิจฉาริษยา)

6. ความอดทนอดกลั้น (ตรงข้ามกับความย่อท้อ ตีโพยตีพาย)

7. รักการให้และแบ่งปัน (ตรงข้ามกับความตระหนี่ถี่เหนียว)

8. ความใจกว้าง ให้อภัย (ตรงข้ามกับความใจแคบ)

9. มีความทะเยอทะยานและความตั้งใจที่สูงส่ง (ตรงข้ามกับความอ่อนแอ ไร้วิสัยทัศน์)

ตัวอย่างของรากฐานในข้อแรกก็คือ การรักความจริงและให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ซึ่งจากรากฐานหลักในข้อนี้ก็จะมีจรรยามารยาทปลีกย่อยที่รวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน อาทิ การยอมรับความจริง ความซื่อสัตย์ ความเชื่อใจ การรักษาสัญญา ความยุติธรรม การหวนกลับสู่ความถูกต้องถ้าหากมีข้อพิพาทหรือความขัดแย้งกัน 

ในสาขาปลีกย่อยของการยอมรับความจริงก็อาจจะยกตัวอย่างเพิ่มเติมได้ เช่น การยอมรับด้วยใจเป็นธรรมถึงข้อดีของผู้ที่มีบุญคุณไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม ตรงกันข้ามกับบุคคลที่มีหัวใจผิดเพี้ยนไม่เห็นคุณความดีของคนอื่น ซึ่งเป็นคุณลักษณะของอัคลากที่น่าตำหนิยิ่ง เช่น บุคคลที่ไม่ยอมรับคุณความดีของบุพการี ไม่เชื่อฟังท่านทั้งสองและไม่ทำหน้าที่ตามที่ควรต้องทำต่อทั้งสองท่าน 

หากการไม่เชื่อฟังพ่อแม่ทั้งสองถือว่าน่าตำหนิมากแล้ว แน่นอนสิ่งที่น่าตำหนิและน่ารังเกียจมากไปกว่านั้นอีกก็คือการไม่ยอมรับในบุญคุณของพระผู้อภิบาลเจ้า ไม่ศรัทธาและไม่เชื่อฟังพระองค์ ปฏิเสธสารและศาสนทูตของพระองค์ ทั้งที่มีหลักฐานมากมายแสดงให้เห็นถึงความสัจจริงปรากฏต่อหน้าแล้ว มีสิ่งใดที่บิดเบือนรากฐานแห่งจริยธรรมได้น่าเกลียดมากไปกว่าการปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้าอีกเล่า 

การปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า การไม่ยอมรับในคุณลักษณะและพระนามอันงดงามของพระองค์ ไม่สำนึกในความเมตตาและความกรุณาที่ทรงให้แก่สรรพสิ่งทั้งมวล ย่อมเป็นความสามานย์และความตกต่ำทางคุณธรรมอย่างที่สุด เพราะเป็นการปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการมีอยู่ เป็นการปฏิเสธผู้ให้ชีวิต ให้ปัญญา ให้ความรู้สึก และทุกอย่างที่หลอมรวมเป็นชีวิตของเรา เป็นการปฏิเสธผู้ที่จะทรงตอบแทนเราด้วยรางวัลอันยิ่งใหญ่สำหรับผู้ศรัทธาและเชื่อฟังพระองค์ เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงการหลุดลุ่ยและล่มสลายทางคุณธรรมอย่างน่าอนาถ 

การรักความจริงและให้ความสำคัญกับความถูกต้องยังมีระดับที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการปฏิเสธความจริงก็มีระดับแตกต่างกัน ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคนด้วย 

ในขณะเดียวกัน ความจริงและสัจธรรมที่เราจำเป็นต้องยอมรับ มอบความรัก และให้ความสำคัญก็ยังมีระดับที่ต่างกันอีก ความจริงสูงสุดที่เราทุกคนจำเป็นต้องยอมรับและให้ความรักก็คือ “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์, มุฮัมมัด เราะซูลุลลอฮ์” หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยบทบัญญัติปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องโยงใยกับสองคำปฏิญาณนี้ ตามระดับของความสำคัญในแต่ละชั้นของภาคปฏิบัติในชีวิตของมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นการทำดีต่อผู้ที่ควรต้องทำดี การเมตตาต่อผู้ที่เราควรเมตตา การมอบสิทธิต่อทุกคนที่ควรจะได้รับสิทธิจากเรา 

เมื่อไรก็ตามที่เราปฏิเสธรากฐานหลักในข้อนี้ นั่นแสดงว่าเรากำลังทำในสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้าม คือการไม่ยอมรับความจริง ไม่ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง และโยงใยถึงข้อปลีกย่อยที่รวมอยู่ในข้อนี้ อาทิ การปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ การอกตัญญูต่อบุพการี การโกหก การทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ ความอยุติธรรม ไร้เมตตา กลับกลอก ละเลยสิทธิของผู้อื่น ตลอดจนมารยาทเลวทรามอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกับรากฐานหลักในข้อนี้ 


------------
หมายเหตุ 
แปลโดยคัดย่อจากงานของ ศ.ดร.อับดุลลอฮ์ บิน ฎ็อยฟุลลอฮ์ อัร-รุหัยลีย์, เกาะวาอิดุล อัคลาก อัลฟาฎิละฮ์ วะ มุนเฏาะละกอต ลิกติสาบิฮา, หน้า 79-83

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564

แนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับอัคลากจากอัลกุรอานและหะดีษ

 


เกริ่นนำ 


อันที่จริงแล้ว เนื้อหาในโองการอัลกุรอานและหะดีษบทต่าง ๆ ล้วนมีสาระสำคัญที่เกี่ยวโยงกับอัคลากหรือหลักจริยธรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือแฝงนัยในทางอ้อม อาจจะเกี่ยวข้องกับประเด็นอุศูล(รากฐานหลักของศาสนา)หรือไม่ก็เป็นฟุรุอฺ(ประเด็นย่อยในบทบัญญัติต่าง ๆ) ไม่ว่าทั้งเรื่องอะกีดะฮ์หรือชะรีอะฮ์ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับอัลลอฮ์ หรือความสัมพันธ์ของมนุษย์กันเองก็ตาม เป็นการยากที่เราจะจำกัดจำนวนหลักฐานต่าง ๆ ที่พูดถึงอัคลากในอัลกุรอานและสุนนะฮ์ เพราะเนื้อหาในตัวบทเกือบทั้งหมดล้วนมีทิศทางในการสนับสนุนจริยธรรมทั้งสิ้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การทำความเข้าใจเพื่อถอดบทเรียนจากตัวบทเหล่านั้นให้ได้ หรือที่เรียกว่า ฟิกฮ์ เหมือนที่อิมามอัล-บุคอรีย์ได้ใช้มันวางแนวทางในการตั้งชื่อหัวข้อบทต่าง ๆ ในตำราเศาะฮีห์ของท่าน การทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ต่อตัวบทเหล่านี้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าตัวบทหลักฐานทั้งในอัลกุรอานและหะดีษเหล่านี้สามารถถอดบทเรียนเพื่อใช้เป็นกฎหรือหลักการที่จะเป็นแนวทางและแนวคิดสำหรับทำความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงกับอัคลากได้ทั้งสิ้น โดยจะขอยกตัวอย่างมาบางส่วนดังต่อไปนี้ 



ตัวอย่างจากอายะฮ์อัลกุรอาน


﴿ هَلۡ جَزَآءُ ٱلۡإِحۡسَٰنِ إِلَّا ٱلۡإِحۡسَٰنُ 60 ﴾ [الرحمن: 60] 
ความว่า “ผลของการทำดีนั้นจะเป็นอะไรเสียมิได้ นอกจากเป็นการทำดีตอบแทน” (อัร-เราะห์มาน : 60) 

นี่เป็นกฎทั่วไปที่อัลลอฮ์ใช้ในการตอบแทนความดีของมนุษย์ ซึ่งเราควรถอดบทเรียนเอามาใช้ระหว่างมนุษย์กันเองด้วย คนที่ทำดีกับเราก็สมควรจะได้รับการทำดีตอบกลับเช่นกัน 



﴿وَقُولُواْ لِلنَّاسِ حُسۡنٗا﴾ [البقرة: 83] 
ความว่า “จงกล่าวคำพูดที่ดีกับผู้คน” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 83) 

เป็นกฎทั่วไปในการใช้คำพูดและสนทนาพาที ทั้งในแง่คำและความหมาย รูปแบบและเนื้อหา ต้องสรรหาคำพูดที่ดีมาใช้ โองการสั้น ๆ เช่นนี้ให้บทเรียนมากมาย อาทิ สาระที่ครอบคลุม งดงาม การสานความสัมพันธ์ด้วยความเป็นธรรม เอื้อเฟื้อ และผลที่ได้จากการปฏิบัติคำแนะนำนี้ 



﴿وَقُل لِّعِبَادِي يَقُولُواْ ٱلَّتِي هِيَ أَحۡسَنُۚ إِنَّ ٱلشَّيۡطَٰنَ يَنزَغُ بَيۡنَهُمۡۚ﴾ [الاسراء: 53] 
ความว่า “จงกล่าวแก่บ่าวของข้าว่า ให้พวกเขาพูดด้วยคำพูดที่ดีที่สุด เพราะแท้จริงชัยฏอนจะคอยยุแหย่ระหว่างพวกเขา” (อัล-อิสรออ์ 53) 

โองการนี้ให้มาตรฐานที่สูงขึ้นไปอีก ทุกคำพูดที่คัดสรรมาต้องดีที่สุด ไม่ใช่แค่ดีอย่างเดียว ลองคิดดูว่าหากเราปฏิบัติได้จริงแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่และการคลุกคลีระหว่างกันจะงดงามเพียงใด 



﴿وَأَن تَعۡفُوٓاْ أَقۡرَبُ لِلتَّقۡوَىٰۚ وَلَا تَنسَوُاْ ٱلۡفَضۡلَ بَيۡنَكُمۡۚ﴾ [البقرة: 237] 
ความว่า “และการที่พวกเจ้าให้อภัยกันนั้นย่อมใกล้เคียงความยำเกรงมากกว่า และอย่าได้ลืมบุญคุณระหว่างพวกเจ้า” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 237) 

มีสองกฎที่ถอดบทเรียนได้จากอายะฮ์นี้ หนึ่งคือการใช้หลักให้อภัยในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน สองคือการรักษาน้ำจิตน้ำใจและบุญคุณที่เคยมี ความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นบ้างเป็นบางครั้งจะต้องไม่ทำให้ลืมกฎสองข้อนี้ และถึงแม้ว่าเราอาจจะเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมที่ถูกลิดรอนไปได้ กระนั้นอัลกุรอานก็ยังกำชับว่าการอภัยให้กันนั้นประเสริฐกว่า ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์เป็นสิ่งที่ควรพิจารณามากกว่าความกระตือรือร้นในการทวงสิทธิคืน ซึ่งบางครั้งก็เลยเถิดจนก่อความเสียหายต่อสภาพของความยำเกรงนั่นเสียเอง 


﴿ وَعِبَادُ ٱلرَّحۡمَٰنِ ٱلَّذِينَ يَمۡشُونَ عَلَى ٱلۡأَرۡضِ هَوۡنٗا وَإِذَا خَاطَبَهُمُ ٱلۡجَٰهِلُونَ قَالُواْ سَلَٰمٗا 63 ﴾ [الفرقان: 63] 
ความว่า “บรรดาบ่าวของพระเจ้าผู้ทรงเมตตานั้น (อิบาดุรเราะห์มาน) พวกเขาจะเดินบนหน้าแผ่นดินอย่างถ่อมตน และเมื่อมีคนโง่เขลาพูดไม่ดีด้วยพวกเขาก็จะกล่าวตอบด้วยถ้อยคำที่สันติ” (อัล-ฟุรกอน 63) 

เป็นอายะฮ์ที่สอนเรื่องการเดินซึ่งกำชับไม่ให้แสดงออกมาเยี่ยงคนที่โอหัง กับกฎอีกข้อหนึ่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนไร้สติปัญญาในการพูดคุยสนทนาที่บางครั้งอาจจะนำไปสู่การโต้เถียงไม่ยอมจบ คือการกล่าวสลามให้เขาหรือใช้ถ้อยคำที่เป็นมาตรฐานของผู้แสวงหาความสันติแล้วเลี่ยงออกไปอย่างสงบ กฎสองข้อนี้สำคัญมากในการใช้เพื่อคบค้าสมาคมกับคนอื่น และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเลยมันก็ใหญ่หลวงเช่นเดียวกัน 


﴿وَإِنَّ ٱلسَّاعَةَ لَأٓتِيَةٞۖ فَٱصۡفَحِ ٱلصَّفۡحَ ٱلۡجَمِيلَ 85﴾ [الحجر: 85] 
ความว่า “แท้จริง วันสิ้นโลกนั้นต้องมาอย่างแน่นอน ดังนั้นจงอภัยให้กันด้วยดีเถิด” (อัล-หิจญร์ 85) 

นี่คือหลักการอภัยซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และยังผูกโยงกับการให้รำลึกถึงวันอาคิเราะฮ์เป็นมิติในการเตือนตัวเอง ตราบใดที่เชื่อมั่นว่าอาคิเราะฮ์ต้องมาอย่างเลี่ยงไม่ได้เหตุใดจึงไม่อภัยเพื่อจะได้ไม่ต้องวุ่นวายเมื่อวันนั้นมาถึง ชีวิตเราจะปลอดโปร่งแค่ไหนหากใช้หลักคิดเช่นนี้มาปฏิบัติจริง 



﴿ خُذِ ٱلۡعَفۡوَ وَأۡمُرۡ بِٱلۡعُرۡفِ وَأَعۡرِضۡ عَنِ ٱلۡجَٰهِلِينَ 199 وَإِمَّا يَنزَغَنَّكَ مِنَ ٱلشَّيۡطَٰنِ نَزۡغٞ فَٱسۡتَعِذۡ بِٱللَّهِۚ إِنَّهُۥ سَمِيعٌ عَلِيمٌ 200 ﴾ [الأعراف: 199، 200] 
ความว่า “จงยอมรับส่วนที่ขาดตกบกพร่องจากนิสัยผู้อื่น จงสั่งในสิ่งที่ดี และจงหลีกห่างจากบรรดาผู้ประพฤติตนไร้ปัญญา และหากมีการยุแหย่ใดจากชัยฏอนมายั่วยุเจ้าก็จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ให้พ้นจากมัน แท้จริงพระองค์ทรงได้ยินและทรงเห็น” (อัล-อะอฺรอฟ 199-200) 

มีหลักคิดสี่ประการที่ได้บทเรียนจากอายะฮ์เหล่านี้คือ 1) การยอมรับและอภัยให้กับพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่คนอื่นแสดงออกมาโดยนิสัยหรือโดยธรรมชาติที่ยากจะแก้ไข 2) การส่งเสริมและสั่งเสียรณรงค์กันให้ทำความดีและยับยั้งความชั่ว 3) การหลีกเลี่ยงและออกห่างจากคนที่มีนิสัยเลวและประพฤติตนอย่างไร้ปัญญา 4) การขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ให้พ้นจากการยุแหย่ล่อลวงของชัยฏอน ทั้งหมดนี้จะทำให้ชีวิตราบรื่นและมีความสุข ท่านญะอฺฟัร อัศ-ศอดิก ได้กล่าวว่า “ไม่มีอายะฮ์ใดในอัลกุรอานเกี่ยวกับอัคลากที่ดี จะกระชับมากไปกว่าอายะฮ์นี้อีกแล้ว” (ฟัตหุลบารี 8/206) 



﴿ لَّقَدۡ كَانَ لَكُمۡ فِي رَسُولِ ٱللَّهِ أُسۡوَةٌ حَسَنَةٞ لِّمَن كَانَ يَرۡجُواْ ٱللَّهَ وَٱلۡيَوۡمَ ٱلۡأٓخِرَ وَذَكَرَ ٱللَّهَ كَثِيرٗا 21 ﴾ [الأحزاب: 21] 
ความว่า “แท้จริงแล้ว ในตัวศาสนทูตของอัลลอฮ์นั้นมีตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่มุ่งหวังในอัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ และยังได้รำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย” (อัล-อะห์ซาบ 21) 

เป็นกฎในระดับแนวทางชีวิตที่สำคัญมาก ใครก็ตามที่อยากมีจริยธรรมที่งดงาม ตัวอย่างที่เขาต้องใช้อย่างไม่มีทางปฏิเสธก็คือท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพราะท่านคือครูผู้อบรมที่สมบูรณ์ยิ่งทั้งเรื่องอัคลากและศาสนา ทุกคนสามารถที่จะใช้ท่านเป็นแบบอย่างได้โดยไม่มีใครยกเว้น 



﴿وَقَضَىٰ رَبُّكَ أَلَّا تَعۡبُدُوٓاْ إِلَّآ إِيَّاهُ وَبِٱلۡوَٰلِدَيۡنِ إِحۡسَٰنًاۚ ﴾ [الإسراء: 23] 
ความว่า “พระผู้อภิบาลของเจ้ามีคำสั่งว่า พวกเจ้าอย่าได้เคารพอิบาดะฮ์ผู้ใดนอกจากพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น และจงทำดีกับบิดามารดา” (อัล-อิสรออ์ 23) 

เป็นหลักการทั่วไปในการใช้ให้ผูกโยงเรื่องจริยามารยาทเข้ากับเรื่องหลักความเชื่อหรืออะกีดะฮ์ด้วย เพราะการทำดีก็เป็นอิบาดะฮ์ การทำดีต่อมนุษย์ที่สมควรที่สุดคือการทำดีต่อบุพการีทั้งสอง การทำดีดังกล่าวต้องเกิดขึ้นมาจากการอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียวและสำนึกในความยิ่งใหญ่ของพระองค์อย่างแท้จริง ใครที่เชื่อฟังต่ออัลลอฮ์ก็ต้องทำดีต่อบิดามารดาของเขา 



﴿ وَإِذۡ قَالَ لُقۡمَٰنُ لِٱبۡنِهِۦ وَهُوَ يَعِظُهُۥ يَٰبُنَيَّ لَا تُشۡرِكۡ بِٱللَّهِۖ إِنَّ ٱلشِّرۡكَ لَظُلۡمٌ عَظِيمٞ 13 ﴾ [لقمان: 13] 
ความว่า “จงระลึกเมื่อลุกมานได้พูดกับลูกของตนเป็นการตักเตือนว่า โอ้ลูกเอ๋ยอย่าได้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ แท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นอธรรมอันใหญ่หลวง” (ลุกมาน 13) 

นี่คือหลักการเตาฮีดในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เตาฮีดคือสัจธรรมและความยุติธรรม ในขณะที่ชิริกหรือการตั้งภาคีนั้นเป็นอธรรมที่ใหญ่หลวง ชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยเตาฮีดจะประสบกับความเปี่ยมสุขและดีงามในภาพรวมตลอดไป ในขณะที่การชิริกนั้นเป็นเหตุหลักแห่งความหายนะของชีวิตมนุษย์ ทั้งหมดนี้ครอบคลุมรวมทั้งเรื่องรากฐานและรายละเอียดปลีกย่อยในการใช้ชีวิตทุกแขนง 



ตัวอย่างจากหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม 


«وَمَنْ يَسْتَعْفِفْ يُعِفَّهُ اللَّهُ ، وَمَنْ يَسْتَغْنِ يُغْنِهِ اللَّهُ ، وَمَنْ يَتَصَبَّرْ يُصَبِّرْهُ اللَّهُ » 
ความว่า “ใครที่พยายามเพื่อรักษาเกียรติ อัลลอฮ์ก็จะทำให้เขามีเกียรติ ใครที่แสวงหาความมั่งมี(จากอัลลอฮ์) อัลลอฮ์ก็จะทรงทำให้เขามั่งมี(โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น) ใครพยายามที่จะอดทน อัลลอฮ์ก็จะทำให้เขามีความอดทน ..” (อัล-บุคอรีย์ 1469, มุสลิม 124[1053]) 

เป็นหะดีษที่ชี้ให้เห็นหลักการสำคัญก็คือ มนุษย์ต้องมีความพยายามก่อน การที่เขาทุ่มเทเพื่อยับยั้งพฤติกรรมและความต้องการที่ผิด อัลลอฮ์ก็จะทรงให้เขาประสบความสำเร็จในการนั้น เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ที่กล่าวถึงทั้งการแสวงหาความมั่งมีจากอัลลอฮ์ และความอดทนจากบททดสอบที่ต้องเจอในชีวิต นักอธิบายหะดีษบางส่วนมุ่งเน้นความหมายของหะดีษนี้ไปที่การงดพึ่งพามนุษย์ในเรื่องปัจจัยยังชีพ กล่าวคือ เมื่อเรายับยั้งใจไม่ขอจากมนุษย์ด้วยกัน แต่เรามุ่งหาอัลลอฮ์ในการขอความมั่งมี และอดทนอดกลั้นกับสภาพที่กำลังเดือดร้อน อัลลอฮ์ก็จะทรงให้ทั้งสามอย่างนี้คือ รักษาเกียรติที่ไม่ต้องขอจากผู้อื่น ความรู้สึกมั่งมีอย่างพอเพียงในหัวใจ และความอดทนต่อสภาพที่ตนเองประสบอยู่ 



«كُلُّ النَّاسِ يَغْدُو فَبايِعٌ نَفْسَهُ فَمُعْتِقُها، أوْ مُوبِقُها» 
ความว่า “มนุษย์ทุกคนนั้นกำลังมุ่งหน้าเดินทาง แล้วเขาก็จะขายตัวเอง บางคนก็เป็นผู้ปลดปล่อยให้ตัวเองรอด บางคนก็เป็นผู้ทำลายตัวเองจนหายนะ” (มุสลิม 1[223]) 

มีกฎสองข้อที่ปรากฏในหะดีษนี้ ข้อหนึ่งมนุษย์ทุกคนล้วนเดินทางกับชีวิตของเขาสู่อนาคต ไม่ว่าเขาจะเคลื่อนไหวหรือนิ่งอยู่กับที่ ชีวิตของเขาก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ ไม่ได้หยุด ข้อสอง ในเมื่อชีวิตกำลังเดินทาง เราก็เปรียบเสมือนผู้ขายชีวิตให้กับกาลเวลาที่หมดไป และมีผู้ขายแค่สองประเภทเท่านั้น คือ ผู้ที่พยายามทำให้ชีวิตปลอดภัยรอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮ์ด้วยการทำความดี กับคนที่ปล่อยปะละเลยให้ชีวิตจมปลักอยู่กับความผิดจนต้องพบกับความหายนะไม่ในโลกนี้ก็ในโลกหน้า อัน-นะวะวีย์อธิบายหะดีษนี้ว่า “มนุษย์ทุกคนแสวงหาด้วยตัวเอง บางคนก็ขายชีวิตเขาด้วยการเชื่อฟังอัลลอฮ์ พระองค์จึงปลดปล่อยเขาให้พ้นจากการลงโทษ บางคนขายชีวิตให้กับชัยฏอนและอารมณ์ใฝ่ต่ำ มันจึงก่อให้เกิดความหายนะ วัลลอฮุอะอฺลัม” (ชัรห์ อัน-นะวะวีย์ ลิ มุสลิม 3/102) 



«ليسَ الشَّدِيدُ بالصُّرَعَةِ، إنَّما الشَّدِيدُ الذي يَمْلِكُ نَفْسَهُ عِنْدَ الغَضَبِ» 
ความว่า “ผู้ที่แข็งแกร่งไม่ใช่คนที่ล้มคู่ต่อสู้ได้ ผู้แข็งแกร่งที่แท้จริงคือคนที่ระงับตนเองได้ในขณะที่กำลังโมโห” (อัล-บุคอรีย์ 6114, มุสลิม 107[2609]) 

เป็นหะดีษที่วางรากฐานสำคัญสำหรับการแก้ไขปรับปรุงตนเอง ด้วยการปรับความเข้าใจใหม่ ให้พิจารณาที่ข้อเท็จจริงด้านในไม่ใช่มองแค่ผิวเผินด้านนอก ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะให้ราคากับผู้กล้าและมีพลังแข็งแกร่งด้านร่างกาย หะดีษนี้ได้ปรับมุมองใหม่ให้เห็นถึงคุณลักษณะที่น่ายกย่องอย่างแท้จริงคือคนที่สามารถระงับความโกรธของตนเองได้ 



«مَن لا يَشْكُرُ النَّاسَ لا يشكرُ اللهَ» 
ความว่า “ผู้ใดไม่ขอบคุณคนอื่น เขาก็จะไม่ขอบคุณอัลลอฮ์” (อะห์มัด 2/258) 

เป็นการวางกฎสำคัญเกี่ยวกับการสำนึกบุญคุณของผู้มีพระคุณ ให้ความสำคัญถึงขนาดผูกโยงกับการขอบคุณอัลลอฮ์ การขอบคุณอัลลอฮ์และมนุษย์นั้นล้วนกลับไปสู่รากฐานเดียวกัน นั่นคือการรักในความถูกต้องและให้ความสำคัญกับสิทธิที่พึงได้รับ รากฐานแห่งจริยธรรมข้อนี้เมื่ออยู่ในหัวใจของผู้ใดแล้วเขาก็ย่อมที่จะเห็นสิทธิของคนอื่นไม่ว่าจะมากมายหรือเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม 


ครั้งหนึ่งมีเศาะหาบะฮ์มาขอโอวาทจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านก็กล่าวกับเขาสั้น ๆ ว่า
 «لَا تَغْضَبْ» 
ความว่า “ท่านอย่าโมโห” (อัล-บุคอรีย์ 6116) 

คำสั่งเสียนี้เป็นหนึ่งในจำนวนกฎสำคัญที่มีส่วนในการปิดช่องทางที่จะนำไปสู่นิสัยที่ไม่พึงประสงค์และมารยาทที่เสื่อมเสีย อาการโมโหและความโกรธมักเป็นอุปสรรคที่คอยกีดขวางไม่ให้มีสติและมองข้อเท็จจริงอย่างที่ควรจะเป็น คำสั่งเสียของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “ท่านอย่าโมโห” มีนัยรวมถึงสองประการด้วยกัน กล่าวคือ หนึ่ง ห้ามไม่ให้ปล่อยอารมณ์โกรธปะทุไปเรื่อยโดยไม่มีการยับยั้งชั่งใจ สอง ห้ามไม่ให้พาตัวเองไปอยู่ในสภาพที่ต้องเสี่ยงกับการต้องโมโหหรือต้องเจอกับปัจจัยที่ทำให้ตัวเองโกรธโดยไม่จำเป็น ในหะดีษอื่นยังพูดถึงการรักษาอาการโมโหด้วยการให้นั่งลงและอาบน้ำละหมาดอีกด้วย 

ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ เราต้องเชื่อมั่นว่าอัลกุรอานและหะดีษนั้นบรรจุเนื้อหาด้านอัคลากไว้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ในเรื่องเหล่านี้ 

------------
หมายเหตุ 
แปลโดย ซุฟอัม อุษมาน ด้วยการคัดย่อจากงานของ ศ.ดร.อับดุลลอฮ์ บิน ฎ็อยฟุลลอฮ์ อัร-รุหัยลีย์, เกาะวาอิดุล อัคลาก อัลฟาฎิละฮ์ วะ มุนเฏาะละกอต ลิกติสาบิฮา, หน้า 41-62

คีย์เวิร์ด : #อัคลาก

*กรุณาระบุอ้างอิงมายังลิงก์นี้หากต้องการเผยแพร่ต่อ