วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

การใช้ข้อตัดสินอื่นที่ไม่ใช่บทบัญญัติของอัลลอฮ์




การศรัทธาต่ออัลลอฮ์มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การเคารพภักดีต่อพระองค์และการยอมรับต่อหุก่มที่เป็นข้อตัดสินต่าง ๆ ด้วย ต้องยอมรับและพอใจกับข้อตัดสินจากอัลกุรอานและสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อมีการเห็นไม่ตรงกันในประเด็นต่าง ๆ ทั้งในเรื่องที่เป็นรากฐานหลักของศาสนา หรือสิทธิอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องปลีกย่อย ในอัลกุรอานมีคำสั่งจากอัลลอฮ์ที่กล่าวโดยตรงถึงชนชั้นผู้นำและบรรดาประชาชนให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปหาข้อตัดสินของอัลลอฮ์เมื่อมีความขัดแย้งกัน

ในส่วนของผู้นำ อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ ۞إِنَّ ٱللَّهَ يَأۡمُرُكُمۡ أَن تُؤَدُّواْ ٱلۡأَمَٰنَٰتِ إِلَىٰٓ أَهۡلِهَا وَإِذَا حَكَمۡتُم بَيۡنَ ٱلنَّاسِ أَن تَحۡكُمُواْ بِٱلۡعَدۡلِۚ ﴾ [النساء: 58]

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงใช้ให้พวกเจ้ารักษาความไว้วางใจแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คนพวกเจ้าก็จะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม” (อัน-นิสาอ์ 58)



สำหรับคนที่เป็นประชาชนผู้ตาม พระองค์ได้ตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَطِيعُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُواْ ٱلرَّسُولَ وَأُوْلِي ٱلۡأَمۡرِ مِنكُمۡۖ فَإِن تَنَٰزَعۡتُمۡ فِي شَيۡءٖ فَرُدُّوهُ إِلَى ٱللَّهِ وَٱلرَّسُولِ إِن كُنتُمۡ تُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِۚ ذَٰلِكَ خَيۡرٞ وَأَحۡسَنُ تَأۡوِيلًا 59 ﴾ [النساء: 59]

ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮ์และเชื่อฟังศาสนทูตเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใดก็จงนำสิ่งนั่นกลับไปยังอัลลอฮ์และศาสนทูตมาตรว่าพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันปรโลก นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดีและผลสุดท้ายที่งดงามยิ่ง” (อัน-นิสาอ์ 59)



พระองค์ปฏิเสธความศรัทธาของคนที่ใช้หุก่มของผู้อื่นเป็นข้อตัดสิน ดังที่ได้ตรัสว่า

﴿ أَلَمۡ تَرَ إِلَى ٱلَّذِينَ يَزۡعُمُونَ أَنَّهُمۡ ءَامَنُواْ بِمَآ أُنزِلَ إِلَيۡكَ وَمَآ أُنزِلَ مِن قَبۡلِكَ يُرِيدُونَ أَن يَتَحَاكَمُوٓاْ إِلَى ٱلطَّٰغُوتِ وَقَدۡ أُمِرُوٓاْ أَن يَكۡفُرُواْ بِهِۦۖ وَيُرِيدُ ٱلشَّيۡطَٰنُ أَن يُضِلَّهُمۡ ضَلَٰلَۢا بَعِيدٗا 60 ﴾ [النساء: 60]

ความว่า “เจ้ามิได้มองดูบรรดาผู้ที่อ้างตนว่าพวกเขาศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้าและสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้าดอกหรือ ? เขาเหล่านั้นต้องการที่จะให้การตัดสินเป็นสิทธิแก่เหล่าฏอฆูต(สิ่งเคารพอื่นนอกจากอัลลอฮ์) ทั้ง ๆ ที่พวกเขาถูกใช้ให้ปฏิเสธมัน และชัยฏอนนั้นต้องการที่จะให้พวกเขาหลงทางออกไปอย่างห่างไกล” (อัน-นิสาอ์ 60)



﴿ فَلَا وَرَبِّكَ لَا يُؤۡمِنُونَ حَتَّىٰ يُحَكِّمُوكَ فِيمَا شَجَرَ بَيۡنَهُمۡ ثُمَّ لَا يَجِدُواْ فِيٓ أَنفُسِهِمۡ حَرَجٗا مِّمَّا قَضَيۡتَ وَيُسَلِّمُواْ تَسۡلِيمٗا 65 ﴾ [النساء: 65]

ความว่า “มิใช่เช่นนั้นดอก ขอสาบานด้วยพระเจ้าของเจ้าว่า เขาเหล่านั้นจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าพวกเขาจะให้เจ้าตัดสินในสิ่งที่ขัดแย้งกันระหว่างพวกเขา แล้วพวกเขาไม่พบความคับใจใด ๆ ในจิตใจของพวกเขาจากสิ่งที่เจ้าได้ตัดสินใจและพวกเขายอมจำนนด้วยดี” (อัน-นิสาอ์ 65)

การใช้หุก่มอื่นเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่กุฟร์ได้เช่นที่อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ وَمَن لَّمۡ يَحۡكُم بِمَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡكَٰفِرُونَ 44 ﴾ [المائدة: 44]

ความว่า “และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานลงมา ชนเหล่านี้แหละคือผู้ปฏิเสธการศรัทธา” (อัล-มาอิดะฮ์ 44)



เมื่อมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องใดระหว่างนักปราชญ์ ก็จำเป็นที่จะต้องกลับไปหาข้อตัดสินของอัลลอฮ์ในทุกเรื่องทุกประเด็น ข้อตัดสินที่ยอมรับได้ต้องสอดคล้องกับอัลกุรอานและสุนนะฮ์เท่านั้น โดยไม่มีอคติหรือยึดติดอยู่กับตัวบุคคลหรือทัศนะใดเป็นการเฉพาะ และต้องใช้กับทุกเรื่องไม่ใช่แค่ในเรื่องข้อขัดแย้งส่วนบุคคลเท่านั้น เพราะอิสลามนั้นเกี่ยวข้องกันทั้งหมดไม่ได้แยกส่วนหนึ่งส่วนใดออกไปต่างหากจากการดำรงชีวิต บรรดาผู้ติดตามนักปราชญ์ทั้งหลายที่เป็นผู้นำมัซฮับเองก็จะต้องนำคำพูดและทัศนะของนักปราชญ์ที่พวกเขานับถือกลับไปสู่อัลกุรอานและสุนนะฮ์ด้วยเช่นกัน อะไรที่สอดคล้องกับอัลกุรอานและสุนนะฮ์ให้เอามาใช้ อะไรที่ไม่สอดคล้องก็ต้องปล่อยไปโดยไม่มีทิฐิหรืออคติมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอะกีดะฮ์หรือหลักความเชื่อความศรัทธา เพราะผู้นำมัซฮับทั้งหลายต่างก็สั่งเสียเป็นเสียงเดียวกันเช่นนี้กันทุกคน คือให้กลับไปหาอัลกุรอานและสุนนะฮ์ ใครที่ไม่ได้ทำตามที่กล่าวมาย่อมไม่ใช่ผู้ติดตามพวกเขาอย่างแท้จริงแม้จะอ้างตัวว่าเป็นผู้ติดตามพวกเขาก็ตามที

การที่อัลลอฮ์ปฏิเสธความศรัทธาจากคนที่ไม่ได้ใช้ข้อตัดสินของอัลลอฮ์เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่า การใช้บทบัญญัติของอัลลอฮ์นั้นย่อมเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับความศรัทธา ความเชื่อ และเป็นอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ เป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติเป็นหลักศาสนา การใช้ข้อตัดสินและบทบัญญัติของอัลลอฮ์ต้องไม่ทำเพียงเพราะเห็นว่ามันดีที่สุดและมีประโยชน์ที่สุดต่อมนุษย์ โดยลืมจุดประสงค์หลักของมัน นั่นคือเป็นการยอมรับและเป็นอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ก่อนจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น

﴿ وَإِذَا دُعُوٓاْ إِلَى ٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦ لِيَحۡكُمَ بَيۡنَهُمۡ إِذَا فَرِيقٞ مِّنۡهُم مُّعۡرِضُونَ 48 وَإِن يَكُن لَّهُمُ ٱلۡحَقُّ يَأۡتُوٓاْ إِلَيۡهِ مُذۡعِنِينَ 49 ﴾ [النور: 48، 49]

ความว่า “และเมื่อพวกเขาได้รับการเชิญชวนเรียกร้องไปสู่อัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์เพื่อให้ตัดสินระหว่างพวกเขา เมื่อนั้นฝ่ายหนึ่งจากพวกเขาพากันผินหลังให้ และหากว่ามีผลประโยชน์อยู่ข้างพวกเขาแล้ว พวกเขาจะรีบมาหาเขาอย่างนอบน้อมโดยทันที” (อัน-นูร 48-49)



จะเห็นว่าในอายะฮ์นี้พูดถึงคนบางกลุ่มที่ใช้ข้อตัดสินของอัลลอฮ์ในประเด็นที่พวกเขามองว่ามีผลประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ไม่ตรงกับความต้องการหรือความปรารถนาของตนพวกเขาก็จะละทิ้งไป เพราะพวกเขาไม่ได้เคารพอิบาดะฮ์และยอมรับอัลลอฮ์อย่างแท้จริง



หุก่มของผู้ที่ใช้ข้อตัดสินอื่นนอกจากบทบัญญัติของอัลลอฮ์


﴿ وَمَن لَّمۡ يَحۡكُم بِمَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡكَٰفِرُونَ 44 ﴾ [المائدة: 44]

ความว่า “และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานลงมา ชนเหล่านี้แหละคือผู้ปฏิเสธการศรัทธา” (อัล-มาอิดะฮ์ 44)



จากอายะฮ์นี้ได้ข้อสรุปว่าการใช้บทบัญญัติอื่นเป็นข้อตัดสินนั้นถือว่าเข้าข่ายกุฟร์(การปฏิเสธศรัทธา) เพียงแต่กุฟร์นั้นก็แบ่งได้สองประเภท บางประเภทก็ทำให้บุคคลหลุดพ้นจากสภาพการเป็นมุสลิม และบางประเภทนั้นเป็นกุฟร์เล็กไม่ได้เป็นเหตุให้พ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพของผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าว

ถ้าเขาทำด้วยความเชื่อว่าการใช้ข้อตัดสินของอัลลอฮ์ไม่ได้วาญิบหรือไม่ใช่สิ่งจำเป็นและทำด้วยความเจตนาและตั้งใจเองโดยไม่มีใครบังคับ หรือดูถูกข้อตัดสินของอัลลอฮ์ หรือเชื่ออย่างหมดใจว่าบทบัญญัติอื่น ๆ ดีกว่าบทบัญญัติของอัลลอฮ์ หรือเชื่อว่าบทบัญญัติของอัลลอฮ์ไม่เหมาะกับยุคสมัย หรือกระทำลงไปเพื่อเอาใจบรรดากาฟิรและมุนาฟิก กรณีเหล่านี้ถือว่าเข้าข่ายกุฟร์ใหญ่ที่ทำให้หลุดจากสภาพการเป็นมุสลิมได้

แต่ถ้าหากเขารู้และเชื่อว่าบทบัญญัติของอัลลอฮ์นั้นดีกว่าแต่ยังไปใช้บทบัญญัติอื่นทั้งที่รู้ดีว่าต้องได้รับโทษจากการกระทำเช่นนี้เพราะมันเป็นบาป กรณีนี้ถือว่าเป็นกุฟร์เล็กที่ไม่ได้ทำให้หลุดพ้นจากสภาพการเป็นมุสลิม

ถ้าหากเขาไม่รู้บทบัญญัติของอัลลอฮ์ว่าแท้จริงเป็นอย่างไร แล้วเขาก็พยายามวินิจฉัยอย่างสุดความสามารถแต่ได้ข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องกับบทบัญญัติที่แท้จริง กรณีนี้เขาจะได้รับผลบุญจากความพยายามในการวินิจฉัย ส่วนความผิดพลาดดังกล่าวของเขาก็จะได้รับการอภัยอีกด้วย

อย่างไรก็ตามคำอธิบายข้างต้นนี้ใช้กับการตัดสินในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรณีส่วนบุคคล แต่หากเป็นกรณีการตัดสินในภาพรวมเกี่ยวกับหลักการของศาสนาย่อมจะแตกต่างออกไป เช่นกรณีที่ดัดแปลงสัจธรรมของศาสนาให้เป็นเรื่องเท็จ ทำเรื่องเท็จให้เป็นเรื่องจริง ทำสุนนะฮ์ให้เป็นบิดอะฮ์ ทำบิดอะฮ์ให้เป็นสุนนะฮ์ สั่งให้ทำในสิ่งที่อัลลอฮ์ห้าม สั่งห้ามในสิ่งที่อัลลอฮ์บัญชาให้ทำ ฯลฯ กรณีเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยในการตัดสินของอัลลอฮ์ เพราะเป็นเรื่องที่ทำลายหลักความเชื่อความศรัทธาของมุสลิมและตรงกันข้ามกับเตาฮีดอันเป็นแกนหลักของศาสนานั่นเอง วัลลอฮุอะอฺลัม



--------------------

แปลสรุปโดยสังเขปจากหนังสือ อัต-เตาฮีด ของท่านเชคศอลิห์ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน หน้า 48-53

โดย ซุฟอัม อุษมาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น