วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การพัฒนาและส่งเสริมการประกอบอาชีพในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

ภาพจาก
http://makkahnewspaper.com/uploads/imported_images/2015/11/7/303212.JPG


วิสัยทัศน์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในการพัฒนาเศาะหาบะฮฺและสังคมมุสลิมที่รู้จักทำงานและพึ่งพาตัวเอง นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง 

ในสมัยญาฮิลียะฮฺมีอาชีพหลายอย่างที่ผู้คนถือว่าเป็นอาชีพต่ำต้อยและไม่ให้ราคา อาทิอาชีพช่างทั้งหลาย เช่น ช่างเหล็ก ช่างจักสาน ช่างฟอกหนัง ช่างทอ ช่างตัดเย็บ รวมไปถึงงานที่คนส่วนใหญ่ดูถูกเช่น การเก็บไม้ฟืนขายและการรับจ้างขนของในตลาด 

ไม่มีเหตุผลใดเลยที่อิสลามจะดูถูกงานพวกนี้ เพราะล้วนเป็นงานสุจริตและมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เทียบไม่ได้เลยกับการต้องแบมือขอทานหรือรอแต่ส่วนแบ่งโดยไม่ทำงานใดๆ ทั้งสิ้น 

การมีงานทำนั้นถือว่าเป็นนิอฺมะฮฺ (ความโปรดปราน) จากอัลลอฮฺ มันไม่ใช่ภาระแห่งการตรากตรำลำบาก (ดู คำอธิบายที่น่าสนใจของ ดร.อับดุลกะรีม บักการฺ, อัล-มัดค็อล อิลา อัต-ตันมียะฮฺ อัล-มุตะกามิละฮฺ, หน้า 202) 

จริงอยู่ที่คนเรามีสิทธิจะเลือกงานและทำในสิ่งที่ตนชอบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะดูแคลนอาชีพอื่นๆ ที่ตนคิดว่าต่ำต้อย จนกระทั่งบางทีก็ยังเลือกที่จะงอมืองอเท้าไม่ยอมแตะต้องและเกี่ยวข้องกับมันเด็ดขาด ถึงแม้ว่าจะถึงขั้นคับขันแค่ไหนก็ไม่เอา ขออยู่อย่างคนไม่ทำงานดีกว่าต้องไปเกลือกกลั้วทำอะไรกระจอกๆ ในความคิดแบบนั้น 

น่าอดสูยิ่งนักที่ความคิดพวกนี้ยังคงมีอยู่ในโลกทุกวันนี้ โลกศิวิไลซ์ที่ไม่ได้มีสภาพห่างไกลเท่าไรจากสังคมญาฮิลียะฮฺในอดีต น่าเสียดายที่วิสัยทัศน์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในด้านการพัฒนามนุษย์และสังคม มิได้ถูกนำมาถอดเป็นบทเรียนเพื่อยกระดับความคิดและมุมมองให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นค่าของศักดิ์ศรีที่ได้มีกินและใช้จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง มิพักต้องคิดไกลไปถึงการที่เราจะเห็นความเสียสละและการบริจาคเพื่อส่วนรวม อันเป็นประเด็นสำคัญที่ชี้ถึงความสูงส่งแห่งสังคมที่เจริญด้วยคุณธรรมในจิตใจ และการพัฒนาตัวเองให้เป็นบุคคลที่พึ่งตนเองได้และสร้างคุณค่าแก่โลกนี้ไม่รู้จบ
ลองอ่านเท็กซ์ข้างล่างนี้ เพื่อเก็บบทเรียนที่ได้มาใช้สำหรับการพัฒนาเยาวชนและคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ดู

คัดจาก الاصطفاء من سيرة المصطفى ، للأستاذ الدكتور عبدالعزيز العمري


**********
ช่างตีเหล็ก

เมืองมะดีนะฮฺมีสภาพที่ใกล้เคียงกับเมืองอื่นๆ ในแคว้นหิญาซ กล่าวคือมีการประกอบอาชีพอุตสาหกรรมครัวเรือนพื้นฐานขนาดย่อมที่เรียบง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการแปลงสภาพผลิตผลให้เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งชาวอาหรับมักจะดูหมิ่นดูแคลนงานพวกนั้นบางส่วน ทำให้กลายเป็นงานที่พวกทาสและชาวยิวยึดไปประกอบอาชีพเป็นพวกแรกๆ ในจำนวนงานที่ว่านั้นก็คืออาชีพช่างตีเหล็ก 

ครั้นเมื่ออิสลามได้มาถึง ท่านนบีจึงได้ทำการเปลี่ยนมุมมองทัศนคติดังกล่าวนั้นเสียใหม่ อิสลามได้กล่าวถึงคุณสมบัติของบรรดานบีต่างๆ ผ่านอัลกุรอานไว้ เช่น นบี ซะกะรียา มีอาชีพเป็นช่างไม้ นบี ดาวูด ประกอบอาชีพทำเสื้อเกราะและอุตสาหกรรมเหล็กเป็นต้น อัลลอฮฺได้ตรัสว่า 

﴿ وَعَلَّمۡنَٰهُ صَنۡعَةَ لَبُوسٖ لَّكُمۡ لِتُحۡصِنَكُم مِّنۢ بَأۡسِكُمۡۖ فَهَلۡ أَنتُمۡ شَٰكِرُونَ 80 ﴾ [الأنبياء: 80] 

ความว่า “และเราได้สอนเขาให้รู้การทำเสื้อเกราะแก่พวกเจ้า เพื่อป้องกันพวกเจ้าจากการรบพุ่งกัน แล้วพวกเจ้าจะเป็นผู้กตัญญูขอบคุณบ้างไหม?” (อัล-อันบิยาอ์ 80)


หลังจากนั้นท่านนบีก็ได้พูดต่อไปถึงนบีดาวูดว่า “ไม่มีผู้ใดเลยสักคนที่กินอาหารดีเลิศไปกว่าผู้ที่กินอาหารจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง และแท้จริงนบีดาวูดก็เป็นผู้ที่กินอาหารจากน้ำพักน้ำแรงของตัวท่านเอง”[1]

เศาะหาบะฮฺท่านหนี่งที่ชื่อค็อบบาบ บิน อัล-อะร็อต ท่านเคยเป็นช่างตีเหล็กในขณะที่ท่านอาศัยอยู่ที่เมืองมักกะฮฺก่อนการฮิจญ์เราะฮฺ และปรากฏว่าท่านนบีก็มิได้ตำหนิติเตียนหรือดูหมิ่นดูแคลนเขาแต่อย่างใด และอาจเป็นไปได้ว่าหลังจากเขาได้ทำการฮิจญ์เราะฮฺไปยังมะดีนะฮฺแล้วเขายังคงยึดถือในอาชีพเดิมของเขาต่อไป 

ท่านนบีก็ยังเคยว่าจ้างผู้หญิงคนหนึ่งให้เป็นแม่นมให้กับบินชายของท่านที่ชื่ออิบรอฮีม โดยแม่นมคนนั้นเป็นภรรยาของ อบู สัยฟ์ ซึ่งเป็นช่างตีเหล็กในนครมะดีนะฮฺ มีรายงานที่บอกว่าท่านนบีได้ไปหาเขาในขณะที่เขากำลังทำการเป่าเตาเผาเหล็กของเขาอยู่ จึงทำให้บ้านของเขาเต็มไปด้วยควันที่คลุ้งกระจาย[2]

ข้อสังเกตน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การตั้งชื่อสูเราะฮฺหนึ่งในอัลกุรอานด้วยสูเราะฮฺ อัล-หะดีด (บทว่าด้วยเหล็ก) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกได้ถึงความสำคัญของเหล็กในมุมมองอิสลาม อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿ لَقَدۡ أَرۡسَلۡنَا رُسُلَنَا بِٱلۡبَيِّنَٰتِ وَأَنزَلۡنَا مَعَهُمُ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡمِيزَانَ لِيَقُومَ ٱلنَّاسُ بِٱلۡقِسۡطِۖ وَأَنزَلۡنَا ٱلۡحَدِيدَ فِيهِ بَأۡسٞ شَدِيدٞ وَمَنَٰفِعُ لِلنَّاسِ وَلِيَعۡلَمَ ٱللَّهُ مَن يَنصُرُهُۥ وَرُسُلَهُۥ بِٱلۡغَيۡبِۚ إِنَّ ٱللَّهَ قَوِيٌّ عَزِيزٞ 25 ﴾ [الحديد: 25] 

ความว่า “แน่นอน เราได้ส่งบรรดานบีของเราพร้อมด้วยหลักฐานทั้งหลายอันชัดแจ้ง และเราได้ประทานคัมภีร์และความยุติธรรมลงมาพร้อมกับพวกเขา เพื่อมนุษย์จะได้ดำรงอยู่บนความเที่ยงธรรม และเราได้ให้มีเหล็กขึ้นมา ในนั้นมีความแข็งแกร่งและมีประโยชน์มากหลายสำหรับมนุษย์ และเพื่อที่อัลลอฮฺจะได้รู้ว่าผู้ใดที่ช่วยเหลือพระองค์และบรรดานบีของพระองค์ในทางลับ แท้จริง อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงพลัง ผู้ทรงอำนาจ” (อัล-หะดีด : 25)

ในที่สุดมุมมองของผู้คนที่มีต่ออาชีพนี้ก็เปลี่ยนไป[3]


ช่างฟอกหนังและเจาะหนัง

ช่างฟอกหนังมีหน้าที่ซ่อมแซม แปรรูป และใช้ประโยชน์จากหนังสัตว์[4]

เป็นที่ทราบดีว่ามีบรรดาสตรีจำนวนหนึ่งในเมืองมะดีนะฮฺที่ทำงานฟอกหนังสัตว์ และตัดเจาะเย็บรองเท้าจากหนังสัตว์ เช่น อัสมาอ์ บินตุ อุมัยส์ ภรรยาของท่านญะอฺฟัร บิน อบี ฏอลิบ มีรายงานว่าตอนที่ท่านนบีได้เข้าไปหานางเพื่อบอกข่าวการได้รับชะฮีดของสามีนาง ขณะนั้นนางเพิ่งเสร็จจากการเย็บหนังจำนวนสี่สิบชิ้น[5]

กล่าวกันว่าอุมมุลมุอ์มินีนท่านหญิงเสาดะฮฺ บินตุ ซัมอะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ทำงานเกี่ยวกับหนังสัตว์ที่ฟอกแล้วจากเมืองฏออิฟ เช่นเดียวกันกับอุมมุลมุอ์มินีนท่านหญิงซัยนับ บินตุ ญะห์ชฺ ที่ทำงานฟอกและตัดเย็บหนังสัตว์ แล้วท่านก็เอารายได้ไปบริจาคแก่บรรดาผู้ยากไร้[6] ท่านหญิงซัยนับนั้นเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการตัดเจาะและเย็บหนัง และได้ผลิตงานเป็นของตนเองเพื่อเอาไปขายและทำการบริจาคจากรายได้ของมัน[7]

หลังจากการฮิจญ์เราะฮฺของท่านนบี อุตสาหกรรมฟอกหนังและตัดเย็บหนังสัตว์มีความรุ่งเรือง ประกอบกับที่บรรดาภรรยาบางคนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เองก็ได้ทำงานเกี่ยวกับหนังสัตว์ จึงเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้คนจำนวนมากหันมาฝึกฝนและทำงานในด้านนี้


การทอผ้าและการตัดเย็บเสื้อผ้า

การทอผ้าและการตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นสองอาชีพที่เอื้อต่อกัน ต่างก็ต้องรองรับและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน การตัดเย็บเสื้อผ้าจำเป็นที่จะต้องนำหน้าด้วยการทอผ้าก่อนเสมอ และโดยปกติการทอผ้าก็ไม่อาจเกิดประโยชน์ที่สมบูรณ์ได้นอกจากต้องมีการตัดเย็บด้วยเช่นกัน อิบนุ ค็อลดูน กล่าวว่า “อุตสาหกรรมทั้งสองอย่างนี้มีความความจำเป็นต่อความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องใช้สอยเพื่อความสะดวกสบาย”[8] หลังจากนั้นท่านยังกล่าวอีกต่อไปว่า “อุตสาหกรรมทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งสร้างสรรค์ที่เก่าแก่ดั้งเดิม เนื่องจากการสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกายนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ในระดับปกติของความเจริญ”[9]

เมื่อเราได้ทำการศึกษาในเรื่องการปั่นด้ายและการทอในยุคสมัยของท่านนบี จำเป็นด้วยเช่นกันที่เราต้องรู้ถึงศักยภาพด้านความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบในการทอผ้าและสิ่งแวดล้อมของเมืองนั้น ตลอดจนความพร้อมในด้านประสบการณ์ เทคนิคและทักษะความชำนาญที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะมาทำงานด้านนี้ ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะมีอยู่อย่างจำกัดหากเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ

มะดีนะฮฺเป็นเมืองอันอุดมด้วยวัตถุดิบที่เป็นขนสัตว์ เนื่องจากมีทรัพยากรสัตว์ที่เลี้ยงไว้มาก ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการใช้ประโยชน์จากขนสัตว์เหล่านั้น รวมถึงการเอามันมาปั่นเป็นด้ายด้วยเช่นกัน บรรดาสตรีหลายคนในสมัยของท่านนบีก็ทำงานเกี่ยวกับการทอผ้าในเมืองมะดีนะฮฺ[10]

ท่านอิมามอัล-บุคอรีย์ได้ตั้งหัวข้อหนึ่งในการรวบรวมหะดีษที่เกี่ยวข้อง ให้ชื่อว่า “บทที่กล่าวถึงนักทอผ้า”[11] หะดีษเหล่านี้บ่งชี้ว่า ในเมืองมะดีนะฮฺมีสตรีบางคนที่มีความชำนาญด้านการทอผ้า และพวกนางได้ดำเนินการทอผ้าและผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากการทอ ท่านนบีเคยได้รับของขวัญจากสตรีช่างทอผ้านางหนึ่ง การที่ท่านนบีรับของขวัญจากนางเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดความภาคภูมิใจและให้กำลังใจแก่นาง รวมถึงคนอื่นๆ ที่ทำงานในอาชีพทอผ้าเช่นเดียวกับนางในเมืองมะดีนะฮฺ

เครื่องปั่นผ้าคือสิ่งที่ใช้สำหรับการปั่นขนสัตว์เพื่อให้มีการเปลี่ยนรูปจากขนสัตว์ธรรมดาให้กลายเป็นเส้นด้ายขนสัตว์ หลังจากผ่านกระบวนการนี้แล้วจึงจะมีการทอเป็นเครื่องแต่งกายในรูปแบบต่างๆ ในภายหลัง 

ผู้ชายหลายคนก็เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการตัดเย็บและการทอผ้า หลักฐานในเรื่องนี้คือ หะดีษที่รายงานจากท่านสินาน บิน สะอฺด์ ท่านได้กล่าวว่า ฉันได้ทำการตัดเย็บเสื้อคลุมจากหนังสัตว์ผืนหนึ่งให้แก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งฉันได้ทำบริเวณขอบหรือริมของเสื้อคลุมนั้นด้วยสีดำ ครั้นเมื่อท่านนบีได้สวมใส่มัน ท่านได้กล่าวว่า จงดูสิ มันช่างงดงามและดูสง่าเหลือเกิน ชายชาวเบดูอินคนหนึ่งได้ลุกขึ้นยืนพลางกล่าวว่า โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ได้โปรดให้ผ้าผืนนี้แก่ฉันเถิด ท่านสินานกล่าวว่า ท่านนบีนั้นเมื่อท่านถูกขอในสิ่งใดท่านไม่เคยตระหนี่หรือปฏิเสธที่จะให้ ดังนั้น ท่านนบีจึงให้เสื้อคลุมผืนนั้นแก่ชายเบดูอินคนนั้นไป และท่านได้สั่งให้ฉันทำการตัดเย็บเสื้อคลุมผืนใหม่แก่ท่าน แต่ปรากฏว่าท่านนบีได้เสียชีวิตก่อนในขณะที่ผ้าคลุมอยู่ในระหว่างการตัดเย็บที่ยังไม่แล้วเสร็จ[12]

มีรายงานจากเศาะหาบะฮฺบางท่านที่บ่งชี้ว่า มีเศาะหาบะฮฺบางคนทำงานเกี่ยวกับ ค็อซ เป็นผ้าที่ทอจากไหมและขนสัตว์ กล่าวกันว่าส่วนหนึ่งจากบุคคลเหล่านั้นได้แก่ อัซ-ซุบัยร์ บิน อัล-เอาวาม และอัมร์ บิน อัล-อาศ

การทำงานทอผ้าในเมืองมะดีนะฮฺสามารถตอบสนองความต้องการบางส่วนของเครื่องแต่งกายขั้นพื้นฐาน ขนสัตว์ที่ยังไม่ได้ทำการแปรรูปสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ในหลายๆ ลักษณะ เช่นการทำฟูกและหมอน สตรีชาวอันศอรคนหนึ่งได้ส่งฟูกที่ยัดไส้ด้วยขนสัตว์เป็นของขวัญแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจึงกล่าวแก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า เจ้าจงส่งมันคืนกลับไปเถิด(ท่านนบีกลัวว่าท่านอาจจะนอนหลับสบายจนละเลยการละหมาดในตอนกลางคืน)[13]อันเป็นผลมาจากความอ่อนนุ่มของฟูกใบนั้น 

เช่นเดียวกับเชือก ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นทั้งในยามปกติและยามเดินทาง โดยเชือกเหล่านั้นถูกผลิตขึ้นมาจากขนสัตว์และหนังสัตว์ต่างๆ

เศาะหาบะฮฺบางคนได้ทำเชือกขึ้นมาจากใบของต้นอินทผลัม และบางคนก็เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการบริจาคเชือกที่ใช้ในยามศึกสงคราม เช่นเดียวกับที่เศาะหาบะฮฺบางคนจะผลิตเครื่องเรือน เครื่องใช้ และเครื่องประดับต่างๆ จากขนสัตว์ เช่น พรมและผ้าที่ใช้สำหรับปูละหมาด เป็นต้น ในขั้นเริ่มต้นพวกเขาจะทำการทออย่างง่ายๆ จากสิ่งที่มีพร้อมอยู่แล้วมากมายจากขนแพะ แกะ และสัตว์อื่นๆ ที่มีขนหยาบ 

ส่วนการตัดเย็บนั้นเป็นการตัดชุดผืนผ้าที่ทอเรียบร้อยแล้ว นำมันมาตัดให้มีความเหมาะสมพอดีกับขนาดรูปร่างของแต่ละคน หลังจากนั้นชิ้นส่วนต่างๆ ที่ถูกตัดนั้นก็จะถูกเย็บติดกันด้วยเข็มและอุปกรณ์อื่นๆ 

งานตัดเย็บเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในเมืองมะดีนะฮฺในยุคสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะพบว่ามีผู้คนจำนวนหนึ่งยึดงานตัดเย็บเป็นงานฝีมือและใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินสร้างอาชีพเลี้ยงตนเองด้วย ท่านอิมามอัล-บุคอรีย์ได้หัวข้อหนึ่งในหนังสือท่านใช้ชื่อว่า “บทกล่าวถึงการเย็บปักถักร้อย” รายงานจากอะนัส บินมาลิก ท่านได้กล่าวว่า แท้จริง ช่างตัดเย็บคนหนึ่งได้เชิญท่านนบีไปรับประทานอาหารที่เขาได้จัดทำขึ้น ท่านอะนัส บิน มาลิก กล่าวว่า ดังนั้นฉันจึงไปพร้อมกับท่านนบีเพื่อรับประทานอาหาร[14] ท่านนบีได้ตอบรับต่อการเชิญชวนนั้นเพื่อลบล้างความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ที่มีอยู่ในหัวใจของผู้คนที่มีต่อช่างตัดเย็บโดยรวม และเป็นการให้กำลังใจสนับสนุนส่งเสริมพวกเขาในการทำงานสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการส่วนหนึ่งของสังคมต่อไป

ท่านนบีเป็นผู้หนึ่งที่มักจะทำการปะชุนเสื้อผ้าของท่านด้วยตัวท่านเองอยู่บ่อยครั้ง มีผู้ถามท่านหญิงอาอิชะฮฺถึงการปฏิบัติตนของท่านนบีในขณะที่ท่านอยู่ในบ้าน ท่านหญิงอาอิชะฮฺได้ตอบว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ เมื่อท่านอยู่ในบ้านท่านจะทำการเย็บรองเท้าของท่าน โดยการประกบแปะชิ้นส่วนรองเท้าและทำการเย็บมันเข้าด้วยกัน โดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือเย็บรองเท้า ท่านนบียังเย็บเสื้อผ้า และทำงานบ้านเฉกเช่นที่พวกท่านทำงานในบ้านของตนเอง[15]

นี่เป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการทำงาน รู้จักพึ่งพาตนเอง และการที่คนผู้หนึ่งได้ทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ของตน ก็ถือว่าเป็นการฝึกฝนตัวเองให้รู้จักสร้างสรรค์การผลิตและไม่มีนิสัยเกียจคร้าน 


งานจักสาน 

งานจักสานถือเป็นอาชีพหนึ่งที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในเมืองมะดีนะฮฺในยุคสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นการทอเครื่องใช้และเครื่องเรือนต่างๆ โดยใช้ใบอินทผลัม ทั้งนี้เนื่องจากเมืองมะดีนะฮฺนั้นมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งอินทผลัม ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้ประโยชน์จากใบของมันในงานจักสาน และมีการทอสิ่งของต่างๆ จากใบของมัน เช่น เสื่อที่ท่านนบีใช้นอนจนกระทั่งเห็นรอยเสื่อติดที่ผิวหนังของท่าน[16]

ชาวอันศอรในเมืองมะดีนะฮฺมีการทำงานจักสานจากใบอินทผลัมเช่นกัน ท่านสัลมาน อัล-ฟาริซีย์ ได้ยึดงานจักสานเป็นอาชีพ ท่านได้ทำงานด้านจักสานนี้อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของแคว้น อัล-มะดาอิน ท่านกล่าวว่า ฉันชอบที่จะได้บริโภคจากน้ำพักน้ำแรงของฉันเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฏิบัติตามในสิ่งที่ท่านนบีได้บอกกล่าวไว้[17]

สตรีบางคนในสมัยท่านนบีในบางครั้งบางเวลาพวกนางจะทำการปั่นและทอใบอินทผลัมกันในมัสยิด สิ่งดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการสนับสนุนส่งเสริมในงานด้านนี้เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับรู้ถึงความสะอาดของใบที่ใช้จักสานและกลิ่นหอมของมัน

มีการใช้ประโยชน์จากใยของต้นอินทผลัมในการยัดหรือสอดไส้ในหมอนและแปรงต่างๆ ท่านอะดีย์ บิน หาติม ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า ฉันได้เดินด้วยกันกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จนกระทั่งได้เข้าไปในบ้านของท่าน หลังจากนั้นท่านนบีได้เอาหมอนที่ยัดไส้ด้วยใยอินทผลัมโยนมาให้ฉัน และกล่าวว่า จงนั่งบนนี้เถิด[18] ท่านอะนัสได้กล่าวว่า ฉันได้เข้าไปหาท่านนบีและพบว่าข้างใต้ศีรษะของท่านนั้นมีหมอนที่ยัดไส้ข้างในด้วยใยอินทผลัม[19]

ทั้งหมดนี้คือผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ถูกผลิตขึ้นจากทรัพยากรและวัตถุดิบที่หลากหลาย ซึ่งมีหลักฐานมากมายจากจริยวัตรของท่านนบีกล่าวระบุถึง เป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกว่ามันถูกผลิตในช่วงเวลาที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นการสนับสนุนด้านปัจจัยเงินทองแก่ปัจเจกบุคคล และเป็นความต้องการและความจำเป็นที่ประสบจริง ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในสังคมของชาวมุสลิมมะดีนะฮฺ


การพัฒนาและการเลี้ยงสัตว์

อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในสูเราะฮฺ อัน-นะห์ลฺ อายะฮฺที่ 5-8 ว่า 

﴿ وَٱلۡأَنۡعَٰمَ خَلَقَهَاۖ لَكُمۡ فِيهَا دِفۡءٞ وَمَنَٰفِعُ وَمِنۡهَا تَأۡكُلُونَ 5 وَلَكُمۡ فِيهَا جَمَالٌ حِينَ تُرِيحُونَ وَحِينَ تَسۡرَحُونَ 6 وَتَحۡمِلُ أَثۡقَالَكُمۡ إِلَىٰ بَلَدٖ لَّمۡ تَكُونُواْ بَٰلِغِيهِ إِلَّا بِشِقِّ ٱلۡأَنفُسِۚ إِنَّ رَبَّكُمۡ لَرَءُوفٞ رَّحِيمٞ 7 وَٱلۡخَيۡلَ وَٱلۡبِغَالَ وَٱلۡحَمِيرَ لِتَرۡكَبُوهَا وَزِينَةٗۚ وَيَخۡلُقُ مَا لَا تَعۡلَمُونَ 8 ﴾ [النحل: 5-8] 

ความว่า “และปศุสัตว์นั้นพระองค์ทรงสร้างขึ้นมา ในตัวมันมีความอบอุ่นสำหรับพวกเจ้า และมีประโยชน์มากหลาย พวกเจ้าได้ใช้ส่วนหนึ่งจากมันมาบริโภค และในตัวมันมีความสง่างามสำหรับพวกเจ้า ขณะที่มันกลับจากทุ่งหญ้าและขณะที่นำมันออกไปเลี้ยง และมันแบกสัมภาระหนักของพวกเจ้าไปยังเมืองไกล ๆ โดยที่พวกเจ้าจะไปถึงไม่ได้เว้นแต่ด้วยความเหนื่อยยากลำบาก แท้จริง พระผู้อภิบาลของพวกเจ้านั้นเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ ทรงสร้างม้า ล่อ และลา เพื่อพวกเจ้าจะได้ขี่มันและเป็นเครื่องประดับ และพระองค์ยังทรงสร้างสิ่งอื่นๆ ที่พวกเจ้าไม่รู้” (อัน-นะห์ลฺ : 5-8) 



อายะฮฺอันประเสริฐนี้บ่งบอกถึงประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์ที่มีต่อมนุษย์ ศาสนาอิสลามดูแลและให้ความสำคัญกับทุกกิจกรรมด้านเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ 

สิ่งที่ชี้ชัดถึงการดูแลและการเอาใจใส่ของอิสลามต่อการเลี้ยงสัตว์ การเพาะพันธุ์ และการพัฒนาพันธุ์สัตว์คือการที่มันเป็นอาชีพซึ่งชาวมะดีนะฮฺรู้จักกันเป็นอย่างดีในยุคสมัยท่านของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม



การเลี้ยงแพะ

ถือได้ว่าการเลี้ยงแพะนั้นเป็นอาชีพหลักในชีวิตของผู้คนตั้งแต่บรรพกาล นอกจากนั้นมันยังเป็นงานที่ทำให้ผู้คนนึกถึงการแต่งตั้งนบีและเกี่ยวโยงกับบรรดานบีต่างๆ ในอดีต ซึ่งบรรดานบีเหล่านั้นมักจะเป็นผู้ที่เคยเลี้ยงแพะมาก่อน ก่อนที่อัลลอฮฺจะแต่งตั้งพวกเขาเพื่อประกาศศาสนาแก่ผู้คน พวกเขาล้วนเคยผ่านบททดสอบการเลี้ยงแพะ ทั้งยังได้รับประโยชน์และบทเรียนจากอาชีพนี้ 

มีบันทึกในเศาะฮีห์อิมามอัล-บุคอรีย์จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ ท่านได้กล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺจะไม่ส่งนบีคนใดเว้นแต่นบีคนนั้นจะเป็นผู้ที่เคยเลี้ยงแพะ บรรดาเศาะหาบะฮฺได้กล่าวว่า แล้วท่านล่ะ โอ้เราะสูลุลลอฮฺ? ท่านนบีกล่าวว่า ฉันก็เคยเลี้ยงมันมาเช่นกัน โดยรับค่าจ้างเป็นเศษเงินดีนาร์จากชาวมักกะฮฺ”[20]

อิสลามได้ให้ความสำคัญกับระบบซะกาตปศุสัตว์ มีการประเมินและกำหนดสัดส่วนที่แน่นอนของมัน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งในด้านรายได้ทางเศรษฐกิจ

มีฝูงแพะกลุ่มหนึ่งที่ถูกนำออกไปเลี้ยงยังทุ่งหญ้าซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองมะดีนะฮฺ และถูกต้อนกลับมายังเมืองมะดีนะฮฺในตอนเย็น ซึ่งประชาชนชาวมะดีนะฮฺจะได้รับประโยชน์จากน้ำนมของมันในตอนค่ำ หลังจากนั้นฝูงแพะดังกล่าวจะออกไปยังทุ่งหญ้าอีกครั้งในตอนรุ่งเช้าของวันใหม่ แพะฝูงนี้จะถูกเรียกว่า อัส-สิรอห์ (คือแพะที่ถูกเลี้ยงไว้แบบปล่อยให้หากินเองในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์) 

ในขณะที่ท่านนบีพำนักอยู่ ณ เมืองมะดีนะฮฺ ที่นั่นจะมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยให้สัตว์หากินเองตามธรรมชาติซึ่งมีที่ตั้งอยู่นอกเมืองมะดีนะฮฺ หลังจากนั้นฝูงแพะดังกล่าวก็จะกลับมายังเมืองมะดีนะฮฺอีกครั้งในตอนเย็น ฝูงแพะเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการรับประกันความสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำนมให้ชาวมะดีนะฮฺ น้ำนมซึ่งมีความประเสริฐมากมายที่ท่านนบีได้พูดถึงในหะดีษต่างๆ ของท่าน และท่านยังส่งเสริมในเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น ชาวเมืองจึงให้ความสำคัญกับมันมากขึ้นทั้งในด้านการผลิตและการบริโภค

ชายเบดูดินคนหนึ่งได้บุกจู่โจมเข้าไปยังทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชาวมะดีนะฮฺ ท่านนบีพร้อมด้วยเศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่งจึงได้ออกติดตามหา จนกระทั่งถึงร่องน้ำตรงช่องเขาที่ชื่อว่า สัฟวาน[21] ซึ่งตั้งอยู่ในแนวเขต บะดัร ปรากฏว่าท่านนบีเกิดการแคล้วคลาดจากเขาจึงไม่สามารถจับตัวเขามาได้ การติดตามหรือการปฏิบัติการของท่านนบีในครั้งนี้ถูกเรียกว่า สงครามบะดัรครั้งที่หนึ่ง 

อัลลอฮฺตรัสว่า 

﴿ وَإِنَّ لَكُمۡ فِي ٱلۡأَنۡعَٰمِ لَعِبۡرَةٗۖ نُّسۡقِيكُم مِّمَّا فِي بُطُونِهِۦ مِنۢ بَيۡنِ فَرۡثٖ وَدَمٖ لَّبَنًا خَالِصٗا سَآئِغٗا لِّلشَّٰرِبِينَ 66 ﴾ [النحل: 66] 

ความว่า “และแท้จริงในปศุสัตว์นั้น ย่อมมีบทเรียนอย่างแน่นอนแก่พวกเจ้า เราให้พวกเจ้าดื่มจากสิ่งที่อยู่ในท้องของมัน กำเนิดจากระหว่างมูลและเลือดเป็นน้ำนมบริสุทธิ์ที่โอชาแก่ผู้ดื่ม” (อัน-นะห์ลฺ : 66) 


ท่านนบีเองก็มีแม่แพะและแกะที่ให้นมอยู่เจ็ดตัว อุมมุ อัยมันเป็นคนคอยเลี้ยงไว้ ให้ท่านนบีได้ใช้ประโยชน์จากน้ำนมของสัตว์เหล่านั้น[22]

ท่านนบีได้ห้ามการรีดน้ำนมจากสัตว์เลี้ยงของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาทรัพย์สินนี้แก่เจ้าของมัน รายงานจากอับดุลลอฮฺ บิน อุมัร ท่านนบีได้กล่าวว่า “ใครคนหนึ่งอย่าได้รีดน้ำนมจากสัตว์เลี้ยงของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของมัน คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจะชอบใจไหมเมื่อมีคนเข้าไปยังห้องที่เก็บเสบียงอาหารของเขาและได้พังทลายที่เก็บของนั้น และทำการขนอาหารของเขาไป แท้จริงแล้ว น้ำนมในเต้าของสัตว์นั้นคือแหล่งอาหารการกินสำหรับเจ้าของมัน ดังนั้นใครคนหนึ่งอย่าได้รีดน้ำนมจากสัตว์เลี้ยงของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ”[23]

การให้ความสำคัญและการพัฒนาทรัพยากรสัตว์ และการสนับสนุนส่งเสริมจากท่านนบีให้มีการใช้ประโยชน์จากมันรวมทั้งการแปรรูปมันออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถือเป็นแรงจูงใจที่สำคัญสำหรับสังคมเมืองมะดีนะฮฺหลังการฮิจญ์เราะฮฺ เนื่องจากเป็นการเพิ่มความสำคัญในทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการตอบสนองความต้องการของสังคมในด้านอาหาร อันได้แก่ เนื้อสัตว์และน้ำนมของมัน และส่งเสริมการตอบสนองความต้องการของสังคมด้านเสื้อผ้าและเครื่องใช้เครื่องประดับอันได้แก่ หนังสัตว์และขนของมัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญาณบ่งชี้ที่มีอยู่ในอัลกุรอาน เช่นเดียวกับที่มีการตั้งชื่อสูเราะฮฺหนึ่งในอัลกุรอานว่า สูเราะฮฺ อัล-อันอาม (โองการเกี่ยวกับปศุสัตว์) เป็นสิ่งที่อธิบายความสำคัญของปศุสัตว์ที่มีต่อชีวิตมนุษย์ได้เป็นอย่างดี


การเก็บและรวบรวมไม้ฟืน

ในจำนวนของหลักๆ ที่มีการเก็บตุนและรวบรวมไว้ใช้ประโยชน์ก็คือไม้ฟืน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพของคนบางส่วนด้วย กระทั่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “การที่ชายผู้หนึ่งได้นำเชือกและทำการมัดไม้ฟืน หลังจากนั้นเขาได้เอามันไปขาย อัลลอฮฺจะทรงปกป้องเขาจากความต้อยต่ำอัปยศในการขอทาน มันย่อมดีและประเสริฐกว่าการแบมือขอจากผู้คน ไม่ว่าผู้คนเหล่านั้นจะให้หรือไม่ให้อะไรเลยแก่เขา”[24]

อาชีพประเภทนี้เป็นอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินทุน มันไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าขวานหนึ่งด้ามกับเชือกเส้นหนึ่งสำหรับมัดไม้ฟืน และบางครั้งอาจไม่ต้องใช้สิ่งเหล่านี้เลยในการเก็บและรวบรวมไม้ฟืนบางชนิด อาชีพนี้จัดเป็นอาชีพที่ง่ายที่สุดเพื่อดำรงการเลี้ยงชีพ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการพึ่งพาตนเองในอาชีพนี้ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของศาสนาอิสลาม

เช่นเดียวกับการเก็บและรวบรวมหญ้าและสมุนไพร และนำมันไปขายแก่พ่อค้าคนกลางหรือคนอื่นๆ จัดเป็นสิ่งที่ทำมากันอย่างแพร่หลายในเมืองมะดีนะฮฺในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เศาะหาบะฮฺบางคนจะทำการเก็บและรวบรวม อิซคิร (พืชที่มีกลิ่นหอมชนิดหนึ่งคล้ายตะไคร้) และนำมันไปขาย

อัล-บุคอรีย์ได้ชื่อบทหนึ่งในหนังสือเศาะฮีห์ของท่านว่า (บทว่าด้วยการขายไม้ฟืนและต้นไม้จำพวกลำต้นอ่อน)[25]

ชาวอันศอรกลุ่มหนึ่งได้ทำการเก็บไม้ฟืนและนำมันไปขาย แล้วพวกเขานำเงินจากการขายไม้ฟืนนั้นไปซื้ออาหารและทำการบริจาคแก่ชาวศุฟฟะฮฺ[26](กลุ่มคนยากจนที่อาศัยชายคามัสยิดท่านนบีเป็นที่อยู่อาศัย) ท่านนบีได้สั่งใช้บรรดาคนยากจนอนาถาให้ออกไปหาไม้ฟืนและทำการขายมัน ซึ่งมันเป็นการประเสริฐกว่าการขอทานจากผู้คน 

ชายชาวอันศอรคนหนึ่งได้มาหาท่านนบีและเขาได้ร้องเรียนท่านนบีถึงความจำเป็นของเขา ดังนั้นท่านนบีจึงกล่าวแก่เขาว่า ท่านจงเดินออกไปและและท่านจงนำสิ่งของที่ท่านหามาได้จากในบ้านของท่านมาให้ฉัน ดังนั้นชายชาวอันศอรคนนั้นจึงได้นำพรมและแก้วน้ำมา ท่านนบีจึงได้จัดการขายมันไปในราคาสองดิรฮัม และท่านได้ให้เงินจำนวนนั้นแก่ชายคนนั้นไป และท่านนบีได้กล่าวแก่ชายคนนั้นว่าท่านจงใช้เงินหนึ่งดิรฮัมนี้ซื้ออาหารให้แก่คนในครอบครัวท่าน และท่านจงนำเงินที่เหลืออีกหนึ่งดิรฮัมไปซื้อขวานมาหนึ่งด้าม หลังจากนั้นท่านจงมาหาฉัน ดังนั้นเขาได้ปฏิบัติตามในสิ่งที่ท่านนบีได้สั่งใช้ แล้วเขาก็มาหาท่านนบีอีกครั้ง ท่านนบีจึงกล่าวแก่เขาว่า ท่านจงไปยังที่ลุ่มระหว่างเชิงเขาและเก็บไม้ฟืนที่นั่น หลังจากนั้นอีกสิบวันท่านจงมาหาฉันอีกครั้ง ปรากฏว่าหลังจากนั้นอีกสิบวันชายชาวอันศอรคนดังกล่าวได้กลับมาหาท่านนบีและดูเหมือนว่าเขามีรายได้แล้ว ท่านนบีจึงได้กล่าวแก่เขาว่า การทำงานเช่นนี้ย่อมดีสำหรับเจ้ามากกว่าการที่เจ้ากลับไปยังวันกิยามะฮฺในสภาพที่เจ้ามีจุดดำปรากฏบนใบหน้า(อันเป็นร่องรอยที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของผู้ขอทาน)[27]

การชี้แนะแนวทางของท่านนบีแก่ผู้ยากไร้คนนี้ ถือเป็นการชี้นำแก่มวลมนุษย์ทั้งหลายในบรรดาประชาชาติจวบจนถึงวันกิยามะฮฺ เป็นการชี้แนะให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีในตนเอง ไม่ต้องขอทานจากคนอื่น เป็นการยับยั้งตนจากการขอทาน และพยายามหางานทำเพื่อให้เกิดผลผลิตที่ตอบสนองความต้องการของตนเอง โดยไม่ต้องคอยพึ่งพาผู้อื่น

นี่หมายถึงการสนับสนุนผลักดันผู้คนให้มีการสร้างผลิตผลเท่าที่เขามีกำลังความสามารถ และไม่เป็นภาระแก่คนอื่น คงไม่มีประชาติใดบนผืนแผ่นดินนี้นอกจากมุสลิมที่มีคำสอนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นบทบัญญัติจากพระเจ้า ที่ส่งเสริมให้ผู้คนร่วมกันสร้างผลิตผลและส่งเสริมให้ผู้คนมีการมีงานทำ


งานรับจ้าง 

เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้รับจ้างคือผู้ที่ขอค่าจ้างเพื่อแลกกับค่าบริการและการทำงาน ประเภทของงานบริการนั้นมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างในการทำงาน เช่น งานด้านการให้บริการ งานแบกขน งานรดน้ำหรือรินน้ำ และงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมา ซึ่งผู้ทำงานขอรับค่าจ้างจากผู้ว่าจ้างในการทำงานนั้นๆ

อาชีพรับจ้างเป็นอาชีพที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในเมืองมะดีนะฮฺในยุคสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตำราหะดีษต่างๆ ได้วางเรื่องหรือบทต่างๆ ว่าด้วยงานรับจ้าง และได้กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องที่เกี่ยวกับการรับจ้างในยุคสมัยของท่านนบี[28]

เศาะหาบะฮฺบางคนเคยแบกขนสิ่งของต่างๆ ไว้บนหลังของเขาเพื่อให้บริการแก่ผู้คน แลกกับค่าจ้างที่กำหนด เศาะหาบะฮฺบางส่วนใช้เงินค่าจ้างในการซื้อหาอาหารมารับประทาน และบางส่วนก็นำเงินรายได้นั้นมาทำการบริจาค

เศาะหาบะฮฺบางคนชอบที่จะทำการบริจาคเมื่อท่านนบีเชิญชวนให้บริจาค แม้ในบางครั้งพวกเขาไม่มีทรัพย์สินที่จะนำมาบริจาคได้ พวกเขาจึงเดินมุ่งหน้าตรงไปยังตลาดเพื่อทำการแบกขนสิ่งของแก่ผู้คนแลกกับการได้รับค่าจ้างเป็นค่าตอบแทน เมื่อได้รับค่าจ้างมาแล้ว พวกเขาจะไปพบท่านนบีและทำการบริจาค มีกล่าวในหะดีษที่รายงานโดยอบู มัสอูด อัล-อันศอรีย์ ท่านได้กล่าวว่า เมื่อท่านเราะสูลุลลอฮฺสั่งใช้พวกเราให้ทำการบริจาค หนึ่งในพวกเราจะเดินออกไปยังตลาดและทำการแบกขนสิ่งของแก่ผู้คน บางคนก็ได้มาหนึ่งกอบมือ และมีบางคนในหมู่พวกเขาที่เก็บรวบรวมได้ถึงหนึ่งแสน[29] ท่านหมายถึง เดิมทีนั้นเศาะหาบะฮฺบางคนมีฐานะยากจน แต่หลังจากที่พวกเขาทำงานก็สามารถเก็บออมกลายเป็นคนร่ำรวยมีเงินแสน 

แท้จริง ในบรรดาเศาะหาบะฮฺนั้นมีชายผู้ยากจนอยู่คนหนึ่งถูกเรียกขานว่า อบู อะกีล ชื่อจริงของเขาคือหุชมาน แต่ผู้รู้บางท่านมีความเห็นว่าเขาอาจมีชื่ออื่นที่ไม่ใช่ชื่อนี้ เขาเป็นผู้ที่ถูกตั้งสมญานามว่า ผู้เป็นเจ้าของทะนาน เนื่องจากเขาได้ทำการแบกน้ำไว้บนหลังของเขาและบริจาคเงินจำนวนครึ่งหนึ่งทุกครั้งที่ได้รับเป็นค่าจ้าง เมื่อท่านนบีได้เชิญชวนผู้คนให้ทำการบริจาค อบู อะกีลจึงได้นำผลอินทผลัมจำนวนหนึ่งทะนานมาบริจาค พลางกล่าวแก่ท่านนบีว่า แท้จริงฉันได้แบกน้ำจำนวนสองทะนานไว้บนหลังของฉัน หนึ่งในนั้นสำหรับฉันและครอบครัวของฉัน และส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งนั้นฉันได้นำมันมาบริจาค (เมื่อได้ฟังเช่นนั้น)พวกชาวมุนาฟิกีนผู้มีนิสัยกลับกลอกต่างพากันหัวเราะเยาะและกล่าวว่า อัลลอฮฺนั้นทรงร่ำรวยพระองค์ไม่ต้องการการบริจาคจากนายคนนี้หรอก อัลกุรอานจึงถูกประทานลงมาในพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า 

﴿ ٱلَّذِينَ يَلۡمِزُونَ ٱلۡمُطَّوِّعِينَ مِنَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ فِي ٱلصَّدَقَٰتِ وَٱلَّذِينَ لَا يَجِدُونَ إِلَّا جُهۡدَهُمۡ فَيَسۡخَرُونَ مِنۡهُمۡ سَخِرَ ٱللَّهُ مِنۡهُمۡ وَلَهُمۡ عَذَابٌ أَلِيمٌ 79 ﴾ [التوبة: 79] 

ความว่า “พวกที่ตำหนิบรรดาผู้ที่สมัครใจจากหมู่ผู้ศรัทธาในการบริจาคทาน และตำหนิผู้ที่ไม่พบสิ่งใด(จะบริจาค)นอกจากค่าแรงงานอันเล็กน้อยของพวกเขา แล้วก็เย้ยหยันพวกเขานั้น อัลลอฮฺได้ทรงเย้ยหยันพวกเขากลับ และสำหรับพวกเขานั้นคือการลงโทษอันเจ็บแสบ” (อัต-เตาบะฮฺ : 79)[30]


ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างตามสัญญา ท่านนบีกล่าวว่า “อัลลอฮฺได้ตรัสว่า คนสามประเภทที่ข้า(อัลลอฮฺ)จะตั้งตนป็นปรปักษ์กับเขาคือ ชายผู้ที่ให้สัญญาด้วยการสาบานกับชื่อของข้า หลังจากนั้นเขากลับบิดพลิ้วหลอกลวง และชายผู้ที่ทำการขายคนอิสระที่ไม่ใช่ทาสและเอาเงินจากการขายนั้นไปบริโภค และชายผู้ที่ว่าจ้างคนมาทำงานให้กับเขา และจนผู้รับจ้างได้ทำงานอย่างสมบูรณ์ แต่เขากลับไม่ให้ค่าจ้างแก่เขา” 

นี่เป็นคำเตือนหรือคำขู่จากอัลลอฮฺและนบีของพระองค์ และสัญญาแห่งการลงโทษสำหรับมนุษย์ผู้ที่ไม่ให้ค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างและมีความอธรรมต่อผู้รับจ้างหรือลูกจ้าง

ประตูแห่งริซกีจากการทำงานรับจ้างนั้น เป็นประตูที่ประเสริฐและมีเกียรติ ท่านนบีได้ให้การยอมรับอาชีพนี้ และบรรดาเศาะหาบะฮฺก็ได้ปฏิบัติจริงในชีวิตของพวกเขา โดยได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้กำลังใจจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยเหตุนี้การทำงานนี้จึงเป็นการพัฒนาตัวตน สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง และเป็นความประเสริฐและมีเกียรติสำหรับมนุษย์[31]


วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ดะอฺวะฮฺออนไลน์และพลังของโซเชียล



แรงใจของคนทำงานบางทีก็ได้มาโดยไม่เคยคาดคิด


วันนี้ มีประสบการณ์ที่ประทับใจมาก อยากจะบันทึกเก็บไว้และถอดบทเรียนเผื่อจะมีประโยชน์กับท่านที่เกี่ยวข้อง หรือสนใจทำงานดะอฺวะฮฺออนไลน์ แต่ไม่มีแรงจูงใจหรือแรงบันดาลใจมากพอ

เรื่องก็คือ ตั้งแต่มกราคม ปี 2016 ผมตัดสินใจเปิดช่องไฟล์เสียง e-daiyah ในเว็บ SoundCloud แบบอันลิมิต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 5,000 กว่าบาท เหตุที่เว็บนี้เก็บค่าใช้จ่ายเนื่องจากมันไม่มีโฆษณา ส่วนเหตุที่ผมกล้าตัดสินใจจ่ายเงินห้าพันกว่าบาทเพื่อสมัครใช้งานแบบไม่จำกัด เนื่องจากได้ทดลองใช้เวอร์ชั่นฟรีที่อนุญาตให้อัพโหลดไฟล์เสียงได้ 6 ชั่วโมง และปรากฏว่ามันใช้ดี ง่าย สะดวก มีความลงตัวกับไฟล์เสียงในรูป MP3 ลองสำรวจความฮิตก็เห็นว่าน่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีความนิยมมากในต่างประเทศ และเห็นผู้ใช้งานในไทยอยู่พอประมาณ 


5,000 บาท ต่อปีแพงไหม? นี่คือคำถามที่วนอยู่ในหัวตอนจะตัดสินใจจ่ายเงินสมัครปีแรก ผมตั้งเป้าง่ายๆ เพื่อที่จะใช้เงินจำนวนนี้ให้คุ้มค่าที่สุด โดยกำหนดเป้าไว้ว่า ภายใน 1 ปี จะต้องมีคนเข้ามาฟังไฟล์เสียงในช่องของเราอย่างน้อย 5,000 ครั้ง ตีง่ายๆ ว่า เราจ่าย 1 บาท เพื่อให้คนเข้ามาฟังไฟล์เสียงศาสนา 1 ครั้ง ได้เท่านี้ผมว่าคุ้มการจ่ายเงินนี้แล้ว 

เวลาผ่านไปถึงครึ่งปี ปรากฏว่ามีผู้เข้าฟังในช่องปาเข้าไปเกือบ 6,000 ครั้งแล้ว ทะลุเป้าที่วางไว้แบบไม่ต้องลุ้น ถึงสิ้นปี 2016 จำนวนสถิติออกมา จำนวนคนฟัง 13,000 กว่าครั้ง จำนวนดาวน์โหลด 361 ครั้ง เกือบเท่าจำนวนวันของหนึ่งปี 

ปีถัดมา 1 มกราคม 2017 เนื่องจากเรามีงบจำกัด ก็เลยออกไอเดียที่จะทำเสื้อขายหารายได้มาจ่ายค่าต่ออายุ แชร์โพสต์เสื่อโปรเจค e-daiyah ลงเฟซไปไม่ทันไร ก็มีข้อความทางหลังไมค์จากคนรู้จักคนหนึ่ง เป็นหลักฐานโอนเงินจำนวน 5,000 บาท ให้ผมอึ้งไปชั่วครู่ ตกลงเสื้อยังไม่ทันออกแต่เราก็ได้งบมาจ่ายแล้วเรียบร้อย 


มาถึงวันนี้ มีเวลาอีกประมาณ 27 วัน เราต้องต่ออายุอีกรอบ ผมไม่มีไอเดียและไม่ทันที่จะคิดว่าจะทำอะไรเพื่อขายหารายได้มาต่ออายุช่อง e-daiyah เลยตัดสินใจออกโปสเตอร์รับบริจาคสมทบจากแฟนเพจและพี่น้องทางโซเชียล 

โพสต์โปสเตอร์ตอนประมาณ 18.00 น. ผ่านไป 1 ชั่วโมงครึ่ง 19.30 น. ก็ต้องโพสต์โปสเตอร์อันใหม่ว่า ปิดรับแล้ว เนื่องจากได้เงินตามจำนวนเงินที่ต้องการเป็นที่เรียบร้อย 

มาชาอ์อัลลอฮฺ ทั้งอึ้งและทึ่ง ในพลังโซเชียลจริงๆ อัลหัมดุลิลลาฮฺ 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ได้ทบทวนความรู้สึกและความคิดบางประการ เช่น

หนึ่ง ทำให้นึกถึงอายะฮฺอัลกุรอานที่ว่า 

﴿ أُوْلَٰٓئِكَ يُسَٰرِعُونَ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِ وَهُمۡ لَهَا سَٰبِقُونَ ﴾ [المؤمنون: 61]  
ความว่า "คนเหล่านั้นคือผู้ที่รีบรุดในการทำความดี พวกเขาจะล่วงหน้าคนอื่นเสมอ"

ยังมีคนที่เป็นดังอายะฮฺที่ว่านี้ในสังคมของเราอยู่จริงๆ

ตอนที่ปิดรับ ยังมีพี่น้องบางท่านเข้ามาถามว่าต้องการบริจาคเข้ามาอีกได้ไหม และรู้สึกเสียดายที่ไม่ทันมีส่วนร่วม ผมบอกบางคนไปว่า ใช่ มันเร็วมากเหมือนขายหุ้นเลย เขาก็บอกว่า มันเป็นหุ้นจริงๆ นั่นแหละ แต่ต่างกันที่ผลตอบแทน


สอง ประโยชน์ของโซเชียล และคุณค่าแห่งความไว้วางใจ 

ภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง เราสามารถที่จะระดมเงินได้มากกว่า 5,000 บาท ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา ถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าไม่มีเครื่องมือการสื่อสารที่รวดเร็วเช่นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นปัจจัยเสริมค่อนข้างชัดเจน ที่ทำให้มีคนร่วมบริจาคอย่างรวดเร็ว ก็คือคุณค่าแห่งความไว้วางใจ ต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นเป็นประจักษ์ ความไว้ใจที่ถูกแสดงออกมานี้สะท้อนกลับมายังคนทำงานได้อย่างวิเศษอีกด้วย เป็นกำลังใจให้อยากจะทำงานต่อไป และเห็นคุณค่าของตัวเองและคุณค่าของงานที่ทำอยู่มากขึ้น

หากมันจะเป็นบทเรียนแก่คนอื่น ก็คงจะสรุปสั้นๆ ได้ว่า "สร้างคุณค่าให้เกิด แล้วความไว้วางใจจะตามมา"

อุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้หนทางดูมืดมิดจะสลายตัวไปได้เองอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อคุณรู้สึกว่า สิ่งที่คุณทำมีคนให้คุณค่ากับมัน และไว้ใจที่จะมีส่วนร่วมกับคุณในการแบ่งปันคุณค่านั้นไปเรื่อยๆ 


สาม เครื่องมือทางการเงินที่สะดวก

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นวตกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างมหาศาล เป็นเครื่องมือสมัยใหม่ที่ต้องรู้ให้ทันและใช้ให้เป็น ตัวอย่างจากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ก็คือ การใช้พร้อมเพย์เป็นช่องทางให้โอนเงิน เมื่อมีช่องทางที่สะดวกขึ้น ทำให้คนอื่นมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น 

ในรูปด้านล่าง มีพี่น้องที่มีส่วนร่วมมินิมัมสุดที่ห้าสิบบาท ถ้าเป็นสมัยก่อนที่จะมีพร้อมเพย์การมีส่วนร่วมด้วยตัวเลขนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะลำพังค่าธรรมเนียมโอนเงินก็มากถึงครึ่งหนึ่งของเงินจำนวนนี้แล้ว คนที่มีกำลังน้อยแต่ต้องการจะบริจาคก็อาจจะทำไม่ได้หรือรู้สึกไม่คุ้มกับการต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนเงิน 

เป็นข้อคิดที่ควรให้ความสำคัญ เพราะเราเชื่อว่ามีหลายคนที่ต้องการจะบริจาคช่วยเหลือให้กับโครงการต่างๆ ที่ดีและมีคุณค่า แต่ช่องทางที่จะให้พวกเขาสะดวกในการมีส่วนร่วมบางทีก็แคบไป เนื่องจากความสามารถของคนไม่เท่ากัน ถ้าเครื่องมือที่เรามีไม่เหมาะสมหรือไม่รองรับสิ่งที่พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมได้ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย ทั้งต่อผู้ที่ตั้งใจจะทำความดีและต่อผู้รับบริจาคเอง 


สี่ ดะอฺวะฮฺออนไลน์ คือสนามที่ยังกว้างพอสำหรับความคิดสร้างสรรค์

มีอีกร้อยพันไอเดียสำหรับคนที่ตั้งใจจริง เพียงแต่ต้องแปรความคิดในหัวและไอเดียในกระดาษให้ออกมาเป็นการทดลองทำอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทุกวันนี้ ยังคงมีไอเดียมากมายเข้ามาแต่หาคนทำไม่ได้ และยังคงมีโครงการดีๆ ที่ได้รับการเสนอให้ทำ แต่ขาดกำลังคนที่พอจะรับงานและทำให้เสร็จได้อย่างที่ต้องการ

ประเด็นนี้ ยังคงต้องได้รับการพูดคุยและปรึกษาหารืออย่างไม่จบสิ้น ตราบใดที่โลกออนไลน์ยังมีชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีมนุษย์อยู่ จึงอยากให้คนที่มีจิตสำนึกแห่งการดะอฺวะฮฺ ทบทวนจุดมุ่งหมายและวิธีการขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับบริบทในโลกแบบนี้ เพราะโอกาสช่างมากมายเหลือเกิน และการลงทุนของเราก็แทบจะน้อยนิด หากจะเปรียบเทียบกับผลที่ได้รับแล้วถือว่าคุ้มค่าจนหาที่สุดมิได้


วัลลอฮุอะอฺลัม