วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ความเสียหายบนแผ่นดิน ... ภาวะของสภาพไร้ศรัทธา

فَلَوْلاَ كَانَ مِنَ الْقُرُونِ مِن قَبْلِكُمْ أُوْلُواْ بَقِيَّةٍ يَنْهَوْنَ عَنِ الْفَسَادِ فِي الأَرْضِ إِلاَّ قَلِيلاً مِّمَّنْ أَنجَيْنَا مِنْهُمْ وَاتَّبَعَ الَّذِينَ ظَلَمُواْ مَا أُتْرِفُواْ فِيهِ وَكَانُواْ مُجْرِمِينَ ،ـ سورة هود : 116

ความว่า "ดังนั้น ในศตวรรษก่อนจากพวกเจ้า น่าจะมีปัญญาชนช่วยกันห้ามปรามการบ่อนทำลาย(สร้างความเสียหาย)ในแผ่นดิน เว้นแต่จำนวนน้อยเท่านั้น(คือคนที่ทำหน้าที่เช่นนั้นมีอยู่แต่ไม่มาก) จากผู้ที่เราได้ช่วยพวกเขาให้รอดพ้น และบรรดาผู้อธรรมได้ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาถูกให้อยู่ในความสำราญ พวกเขาจึงเป็นผู้กระทำผิด"

อายะฮฺนี้คือบทสรุปที่สำคัญข้อหนึ่งของ "หน้าที่ของบรรดานบี" ซึ่งถูกกล่าวถึงหลายท่านในสูเราะฮฺฮูด ...

นบี ทุกคนถูกส่งให้มีหน้าที่ ห้ามปรามการสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดินของอัลลอฮฺ และเราก็จะพบว่า ประชาชาติของนบีแต่ละท่านนั้นสร้างความเสียหายบนแผ่นดินในรูปแบบที่หลากหลาย แตกต่างกัน แต่จุดกำเนิดของความเสียหายเหล่านั้นมาจากจุดเดียวกันคือ "การไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ"

เมื่อ ไม่ศรัทธา บางพวกจึงทำตนโอหัง(เช่นพวกอ๊าดประชาชาติของนบีฮูด และฟิรเอา์น์ในยุคของนบีมูซา) บางพวกจึงสมสู่ผิดเพศ(พวกของนบีลูฏ)เป็นความเสียหายด้านจริยธรรมที่หนักหนา ยิ่ง บางพวกจึงกล้าโกงตาชั่ง(พวกของนบีชุอัยบ์)สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ

เพราะฉะนั้น สารแห่งการเชิญชวนเรียกร้องของบรรดานบีทั้งหมดจึงโฟกัสที่ เรียกร้องให้ประชาชาติทั้งหมดศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เพราะด้วยแรงศรัทธาหรืออีมานเท่านั้นที่สามารถควบคุมมนุษย์ไม่ให้สร้างความ เสียหายบนหน้าแผ่นดินได้

เฉกเช่นเดียวกับปัจจุบันนี้ ความเสียหายทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะผู้คนไร้ศรัทธา เมื่อไร้ศรัทธาจึงไม่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ไม่นึกถึงโลกหน้าอีกโลกหนึ่ง ชีวิตมีเพียงโลกนี้ จึงพร่ำหาความสุขสบายทุกอย่างที่หาได้โดยไม่คำนึงถึงสิ่งใดอื่นอีกแล้ว มนุษย์ที่เมื่อถูกวัตถุนิยมและบริโภคนิยมเข้าครอบงำ ย่อมทำได้ทุกอย่างเพื่อความสำราญของอารมณ์ดิบและความต้องการของแรงตัณหา ... การต้านทานสิ่งเหล่านี้มีอยู่หนทางเดียว คือ กลับไปหาอัลลอฮฺ

สารแห่งดะอฺวะฮฺของเราจึงชัดเจนยิ่งว่า "เราต้องเรียกร้องและเชิญชวนให้มนุษย์กลับไปหาอัลลอฮฺ"
หากไม่ต้องการเห็นความเสียหายระบาดไปทั่วแผ่นดินเยี่ยงที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ...

วัลลอฮฺ อะอฺลัม ..

หมายเหตุ เรื่องราวการดะอฺวะฮฺของบรรดานบี ถูกกล่าวถึงอย่างน้อยในสามสูเราะฮฺหลักๆ คือ สูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ, สูเราะฮฺ ฮูด และสูเราะฮฺ อัช-ชุอะรออ์