วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - ทรัพย์สิน นิอฺมะฮ์หรือฟิตนะฮ์ - ซุฟอัม อุษมาน



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - ทรัพย์สิน นิอฺมะฮ์หรือฟิตนะฮ์ - ซุฟอัม อุษมาน (youtube.com)

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - ทรัพย์สิน นิอฺมะฮ์หรือฟิตนะฮ์ - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องมุสลิมีนที่อัลลอฮ์รักทุกท่าน

อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา สร้างมนุษย์มาด้วยนิสัยแต่แรกหลายประการที่ติดตัวมากับเรา เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะปฏิเสธได้ หนึ่งในจำนวนนิสัยเหล่านั้นก็คือ การที่เรารักและชอบทรัพย์สมบัติและเงินตรา

ในสูเราะฮ์ อาล อิมรอน อัลลอฮ์ได้พูดถึงนิสัยนี้เอาไว้อย่างไรบ้าง? พระองค์ตรัสว่า

﴿زُيِّنَ لِلنَّاسِ حُبُّ ٱلشَّهَوَٰتِ مِنَ ٱلنِّسَآءِ وَٱلۡبَنِينَ وَٱلۡقَنَٰطِيرِ ٱلۡمُقَنطَرَةِ مِنَ ٱلذَّهَبِ وَٱلۡفِضَّةِ وَٱلۡخَيۡلِ ٱلۡمُسَوَّمَةِ وَٱلۡأَنۡعَٰمِ وَٱلۡحَرۡثِۗ ذَٰلِكَ مَتَٰعُ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَاۖ وَٱللَّهُ عِندَهُۥ حُسۡنُ ٱلۡمَ‍َٔابِ 14﴾ [آل عمران: 14] 

ความว่า “มนุษย์นั้นถูกทำให้ลุ่มหลงในความปรารถนาที่เป็นเสน่ห์อันได้แก่ ผู้หญิงและลูกชาย ทองและเงินอันมากมาย ม้าดี ปศุสัตว์ และไร่นา นั่นเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ชั่วคราวในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้เท่านั้น สำหรับอัลลอฮ์นั้น ณ พระองค์คือที่กลับอันงดงาม” (อาล อิมรอน 14)

อัลลอฮ์ทรงประดับความรู้สึกนี้ลงไปในชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด ลองไล่เรียงดูว่ามีอะไรบ้าง?

เริ่มตั้งแต่ความปรารถนาในอิสตรีผู้เป็นคู่ครอง การอยากมีลูกหลานเยอะ ปรารถนาในเงินทองอันมากมาย ชอบสะสมความมั่งคั่งที่เป็นพาหนะ ปศุสัตว์ และเรือกสวนไร่นา สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือประโยชน์สุขในโลกดุนยานี้ที่ทุกคนต่างหลงใหลใฝ่หา ซึ่งอาจจะทำให้มนุษย์ลุ่มหลงจนเกินเขต โดยไม่สนใจว่าอาคิเราะฮ์นั้นยั่งยืนกว่า และสมควรต้องเอาใจใส่ที่จะกลับไปหาอัลลอฮ์ให้ดีที่สุด

 

พี่น้องครับ

ในเมื่อมนุษย์นั้นถูกสร้างมาให้มีนิสัยอย่างนี้ อิสลามจึงต้องมีบทบัญญัติที่จะคอยมาควบคุมไม่ให้ความรู้สึกนี้มันเลยเถิด สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องรู้ก็คือ ต้องหาคำตอบว่าอิสลามวางกฎเกณฑ์อย่างไรเกี่ยวกับทรัพย์สิน ในมุมมองอิสลามทรัพย์สินถือว่าเป็นนิอฺมะฮ์ความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ หรือเป็นฟิตนะฮ์/บททดสอบกันแน่?

ท่านเชคอิบนุ อุษัยมีน ได้กล่าวว่า[1] “ไม่เป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินนั้นเป็นนิอฺมะฮ์จากอัลลอฮ์ แต่ทุกนิอฺมะฮ์จากอัลลอฮ์ก็ถือว่าเป็นฟิตนะฮ์/บททดสอบด้วยเช่นกัน พระองค์ตรัสว่า

﴿وَنَبۡلُوكُم بِٱلشَّرِّ وَٱلۡخَيۡرِ فِتۡنَةٗۖ وَإِلَيۡنَا تُرۡجَعُونَ 35﴾ [الأنبياء: 35] 

ความว่า “และเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยความยากลำบากและความสะดวกสบาย และพวกเจ้าจะต้องกลับไปหาเราอย่างแน่นอน” (อัล-อันบิยาอ์ 35)

พระองค์ตรัสถึงนบีสุลัยมานตอนที่ได้เห็นบัลลังก์ของราชินีบิลกีสมาอยู่ต่อหน้าท่าน จึงได้กล่าวว่า

﴿قَالَ هَٰذَا مِن فَضۡلِ رَبِّي لِيَبۡلُوَنِيٓ ءَأَشۡكُرُ أَمۡ أَكۡفُرُۖ وَمَن شَكَرَ فَإِنَّمَا يَشۡكُرُ لِنَفۡسِهِۦۖ وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ رَبِّي غَنِيّٞ كَرِيمٞ 40﴾ [النمل: 40] 

ความว่า “สุลัยมานกล่าวว่า นี่คือความโปรดปรานของพระผู้อภิบาลของฉัน พระองค์จะได้ทรงทดสอบฉันว่าจะกตัญญูหรือเนรคุณ ผู้ใดที่กตัญญูรู้คุณแท้จริงเขาก็ได้รับบุญคุณเพื่อตัวเขาเอง และผู้ใดเนรคุณแท้จริงพระผู้อภิบาลของฉันนั้น(ไม่ต้องพึ่งผู้ใด)พระองค์เป็นผู้ทรงมั่งมีผู้ทรงเอื้อเฟื้อยิ่ง” (อัน-นัมล์ 40)

ดังนั้น ทรัพย์สินถือว่าเป็นนิอฺมะฮ์/ความโปรดปรานที่อัลลอฮ์ใช้ทดสอบผู้เป็นบ่าวว่าเขาจะขอบคุณอัลลอฮ์ต่อนิอฺมะฮ์นั้นหรือไม่ เขาจะใช้มันในการทำความดีและเชื่อฟังอัลลอฮ์ หรือเขาจะทรยศฝ่าฝืนด้วยการใช้มันในการทำบาปต่อพระองค์”[2]

ทรัพย์สินหรือสมบัติ เป็นหนึ่งในห้าประการที่เรียกว่าเป็น الضَّرُوْرِيَّات الْخَمْس  “ความจำเป็นห้าประการ” ที่มีบทบัญญัติให้ดูแลตามเจตนารมณ์แห่งอิสลามหรือ มะกอศิด อัช-ชะรีอะฮ์ คือ ศาสนา ชีวิต ปัญญา ทรัพย์สิน และเชื้อสายวงศ์ตระกูล ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญในการดูแลและจัดการทรัพย์สิน

 

พี่น้องครับ

ทรัพย์สินในมุมมองอิสลามเป็นเหมือนดาบสองคม มันสามารถเป็นได้สิ่งที่ให้ประโยชน์และเป็นได้ทั้งสาเหตุแห่งความทุกข์ทรมาน

ด้านที่มันเป็นบวก ก็คือ มันมีประโยชน์มหาศาลในโลกดุนยาและเป็นเหตุแห่งการเพิ่มพูนผลบุญได้ไม่สิ้นสุดในอาคิเราะฮ์ สำหรับผู้ที่ใช้จ่ายอย่างถูกต้องในหนทางของอัลลอฮ์ก็จะได้รับการชื่นชมและผลบุญจากพระองค์

﴿إِنَّ ٱلَّذِينَ يَتۡلُونَ كِتَٰبَ ٱللَّهِ وَأَقَامُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَأَنفَقُواْ مِمَّا رَزَقۡنَٰهُمۡ سِرّٗا وَعَلَانِيَةٗ يَرۡجُونَ تِجَٰرَةٗ لَّن تَبُورَ 29 لِيُوَفِّيَهُمۡ أُجُورَهُمۡ وَيَزِيدَهُم مِّن فَضۡلِهِۦٓۚ إِنَّهُۥ غَفُورٞ شَكُورٞ 30﴾ [فاطر: 29، 30] 

ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้อ่านคัมภีร์ของอัลลอฮ์ ดำรงการละหมาด และบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา ทั้งโดยซ่อนเร้นและเปิดเผย เพื่อหวังการค้าที่ไม่ซบเซา(ไม่ขาดทุนในอาคิเราะฮ์) พระองค์จะทรงตอบแทนรางวัลของพวกเขาให้อย่างครบถ้วน และจะทรงเพิ่มโปรดปรานจากพระองค์ให้แก่พวกเขา แท้จริง พระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงชื่นชม (เพราะการภักดีของพวกเขา)” (ฟาฏิร 29-30)

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทรัพย์สินก็เป็นหายนะที่รุนแรง เป็นเชื้อเพลิงในไฟนรก ได้รับการประณามจากอัลลอฮ์อย่างหนักหน่วงสำหรับผู้ที่แสวงหามันอย่างไร้สติ ไม่สนใจถูกผิด และยังใช้จ่ายมันเพื่อสนองอารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือไม่คิดถึงสิทธิและหน้าที่ตามที่อัลลอฮ์กำหนด อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿إِنَّ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ يُنفِقُونَ أَمۡوَٰلَهُمۡ لِيَصُدُّواْ عَن سَبِيلِ ٱللَّهِۚ فَسَيُنفِقُونَهَا ثُمَّ تَكُونُ عَلَيۡهِمۡ حَسۡرَةٗ ثُمَّ يُغۡلَبُونَۗ وَٱلَّذِينَ كَفَرُوٓاْ إِلَىٰ جَهَنَّمَ يُحۡشَرُونَ 36﴾ [الأنفال: 36] 

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้น พวกเขาจะใช้จ่ายทรัพย์สินของพวกเขาเพื่อขัดขวาง(ผู้คน)ให้ออกจากเส้นทางของอัลลอฮ์ พวกเขาจะบริจาคมันแล้วทรัพย์สินนั้นก็จะกลายเป็นความเสียใจแก่พวกเขา แล้วพวกเขาก็จะได้รับความพ่ายแพ้ บรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้นพวกเขาจะถูกต้อนไปสู่นรกญะฮันนัม” (อัล-อันฟาล 36)

 

﴿وَٱلَّذِينَ يَكۡنِزُونَ ٱلذَّهَبَ وَٱلۡفِضَّةَ وَلَا يُنفِقُونَهَا فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ فَبَشِّرۡهُم بِعَذَابٍ أَلِيمٖ 34﴾ [التوبة: 34] 

ความว่า “และบรรดาผู้ที่สะสมทองและเงิน และไม่จ่ายมันในทางของอัลลอฮ์นั้น จงแจ้งข่าวแก่พวกเขาเถิดว่าต้องได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด” (อัต-เตาบะฮ์ 34)


พี่น้องครับ

ด้วยเหตุที่ทรัพย์สินเป็นทั้งนิอฺมะฮ์และฟิตนะฮ์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้ให้คำแนะนำเอาไว้แล้วดังหะดีษที่มีรายงานว่า

عن حكيم بن حِزَام رضي الله عنه قال: سَأَلْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَأَعْطَانِيْ، ثُمَّ سَأَلْتُهُ فَأَعْطَانِيْ، ثُمَّ قَالَ لِي: «يَا حَكِيْمُ، إِنَّ هَذَا المَاْلَ خَضِرٌ حُلْوٌ، فَمَنْ أَخَذَهُ بسَخَاوَةِ نَفْسٍ بُورِكَ لَهُ فِيهِ، وَمَنْ أَخَذَهُ بِإِشْرَافِ نَفْسٍ لَمْ يُبَارَكْ لَهُ فِيهِ، وَكَانَ كَالَّذِيْ يَأْكُلُ ولَا يَشْبَعُ، وَالْيَدُ الْعُلْيَا خَيْرٌ مِنَ الْيَدِ السُّفْلَى»، قَالَ حَكِيمٌ: فَقُلتُ: يا رَسولَ اللَّهِ، وَالَّذِيْ بَعَثَكَ بِالْحَقِّ، لَاْ أَرْزَأُ أَحَدًا بَعْدَكَ شَيْئًا حَتَّى أُفَارِقَ الدُّنْيَا. [البخاري 3143، مسلم 1035]

ความว่า จากหะกีม บิน หิซาม เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า ฉันได้ขอทรัพย์สินจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านก็ให้ฉัน จากนั้นฉันก็ขออีกท่านก็ให้อีก และท่านนบีได้พูดกับฉันว่า “หะกีมเอ๋ย แท้จริงแล้วทรัพย์สินนั้นเป็นเหมือนสิ่งที่เขียวสดและหอมหวาน (เป็นที่ปรารถนาของทุกคน) ใครที่รับมันไปด้วยความใจกว้างและไม่ละโมบเขาก็จะได้รับบะเราะกะฮ์ความเพิ่มพูนในทรัพย์สินนั้น ส่วนใครที่รับไปด้วยความละโมบเขาก็จะไม่ได้รับความบะเราะกะฮ์ เหมือนคนที่กินแต่ไม่รู้จักอิ่ม และคนที่เป็นมือบนนั้นย่อมดีกว่าคนที่เป็นมือล่าง” หะกีมฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า โอ้ท่านรอซูล ขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ผู้ทรงแต่งตั้งมาด้วยสัจธรรม ฉันจะไม่ขอทรัพย์สินจากผู้ใดอีกหลังจากท่านจนกว่าชีวิตของฉันจะจากโลกนี้ไป (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 3143 และมุสลิม 1035)

คำแนะนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จากหะดีษนี้ก็คือ แสวงหาทรัพย์สินด้วยความใจกว้าง รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปันให้กับผู้อื่น ไม่ใช่แสวงหาทรัพย์สินด้วยความละโมบโลภมากและกระเหี้ยนหระหืออยากได้จนตาลุกวาว โดยไม่สนใจต่อความถูกผิดของวิธีการที่ได้มาของทรัพย์สินว่าจะฮะลาลหรือจะหะรอมหรือไม่อย่างไร และขอให้จำไว้ว่าการเป็นคนมือบนหมายถึงเป็นผู้ให้และชอบบริจาคนั้นมีความประเสริฐมากกว่าการเป็นมือล่างที่รู้จักแต่ขอรับจากผู้อื่นเพียงฝ่ายเดียว

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

ในอีกหะดีษหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อธิบายสภาพของคนสี่ประเภทที่มีมุมมองต่างกันในเรื่องทรัพย์สิน

عن أبي كبشة الأنماري -رضي الله عنه- أن النبي -صلى الله عليه وسلم- قال: «إِنَّمَا الدُّنْيَا لِأَرْبَعَةِ نَفَرٍ: عَبْدٍ رَزَقَهُ اللَّهُ مَالًا وَعِلْمًا فَهُوَ يَتَّقِي فِيهِ رَبَّهُ، وَيَصِلُ فِيهِ رَحِمَهُ، وَيَعْلَمُ لِلَّهِ فِيهِ حَقًّا، فَهَذَا بِأَفْضَلِ المَنَازِلِ، وَعَبْدٍ رَزَقَهُ اللَّهُ عِلْمًا وَلَمْ يَرْزُقْهُ مَالًا فَهُوَ صَادِقُ النِّيَّةِ يَقُولُ: لَوْ أَنَّ لِي مَالًا لَعَمِلْتُ بِعَمَلِ فُلَانٍ فَهُوَ بِنِيَّتِهِ فَأَجْرُهُمَا سَوَاءٌ، وَعَبْدٍ رَزَقَهُ اللَّهُ مَالًا وَلَمْ يَرْزُقْهُ عِلْمًا، فَهُوَ يَخْبِطُ فِي مَالِهِ بِغَيْرِ عِلْمٍ لَا يَتَّقِي فِيهِ رَبَّهُ، وَلَا يَصِلُ فِيهِ رَحِمَهُ، وَلَا يَعْلَمُ لِلَّهِ فِيهِ حَقًّا، فَهَذَا بِأَخْبَثِ المَنَازِلِ، وَعَبْدٍ لَمْ يَرْزُقْهُ اللَّهُ مَالًا وَلَا عِلْمًا فَهُوَ يَقُولُ: لَوْ أَنَّ لِي مَالًا لَعَمِلْتُ فِيهِ بِعَمَلِ فُلَانٍ فَهُوَ بِنِيَّتِهِ فَوِزْرُهُمَا سَوَاءٌ» [رواه الترمذي 2325، وصححه الألباني في صحيح سنن الترمذي].

ความว่า จากอบู กับชะฮ์ อัล-อันมารีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “ดุนยานั้นแบ่งให้กับคนสี่ประเภท (หนึ่ง) คนที่อัลลอฮ์ให้ความรู้และทรัพย์สิน แล้วเขาก็ยำเกรงต่ออัลลอฮ์ในเรื่องทรัพย์สิน ใช้มันเพื่อสานสัมพันธ์กับเครือญาติ และรู้หน้าที่ว่าต้องใช้เพื่อสิทธิของอัลลอฮ์ในเรื่องใดบ้าง นี่คือผู้ที่มีสถานะสูงที่สุด (สอง) คนที่อัลลอฮ์ให้ความรู้แต่ไม่ให้ทรัพย์สิน เขามีความตั้งใจดีและกล่าวกับตัวเองว่า ถ้ามีทรัพย์สินเขาก็จะใช้มันเหมือนกับคนประเภทที่หนึ่ง ดังนั้นด้วยเจตนาดีเช่นนี้เขาจะได้รับผลบุญเหมือนกันกับสหายของเขา (สาม) คนที่อัลลอฮ์ให้ทรัพย์สินแต่ไม่ได้ให้ความรู้ เขาใช้ทรัพย์สินของเขาอย่างสะเปะสะปะโดยไม่ใส่ใจใฝ่รู้ความถูกต้อง ไม่ยำเกรงต่ออัลลอฮ์ในเรื่องทรัพย์สิน ไม่ได้ใช้เพื่อสานสัมพันธ์เครือญาติ ไม่รู้หน้าที่ต่ออัลลอฮ์ว่าต้องใช้จ่ายในเรื่องใดบ้าง คนผู้นี้อยู่ในสภาพที่เลวที่สุด (สี่) คนที่อัลลอฮ์ไม่ให้ทั้งทรัพย์สินและความรู้ แต่เขาก็พูดกับตัวเองว่า ถ้ามีทรัพย์สินเขาก็จะใช้เหมือนคนประเภทที่สาม ดังนั้นด้วยเจตนาแบบนี้เขาก็จะได้บาปเหมือนกับสหายของเขา” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ 2325 และอัล-อัลบานีย์กล่าวว่าเศาะฮีห์ในเศาะฮีห์ สุนัน อัต-ติรมิซีย์ ดูเพิ่มเติมใน https://islamqa.info/ar/answers/219763)

ข้อสรุปก็คือ ทรัพย์สินถ้าอยู่ในมือของคนที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ก็จะเป็นคุณมหาศาล แต่ถ้าอยู่ในมือของผู้ที่ไม่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ก็จะเป็นหายนะรุนแรง

ในหะดีษอีกบทหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวกับท่าน อัมร์ บิน อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ว่า

«يا عَمْرُو، إنِّي أُرِيْدُ أَنْ أَبْعَثَكَ عَلَى جَيْشٍ فَيُغْنِمَكَ اللهُ، وأَرْغَبَ لَكَ رَغْبَةً مِنَ الـْمَالِ صَالِحَةً»، قُلتُ: إنِّيْ لَمْ أُسْلِمْ رَغْبَةً فِيْ الـْمَالِ، إنَّمَا أَسْلَمْتُ رَغْبَةً فِي الإِسْلَامِ، فَأَكُوْنَ مَعَ رَسُولِ اللهِ، فَقَالَ: «يَا عَمْرُو،‍ نِعْمَ الـْمَالُ الصَّالِحُ لِلْمَرْءِ الصَّالِحِ». [البخاري في الأدب المفرد: صحيح الأدب المفرد للألباني 229]

ความว่า “โอ้ อัมร์ เอ๋ย ฉันต้องการจะส่งท่านออกไปสงครามกับกองทัพหนึ่ง แล้วอัลลอฮ์จะให้ท่านได้รับชัยชนะมา และฉันจะได้มอบทรัพย์สินที่ดีให้กับท่าน” ท่านอัมร์ตอบว่า แท้จริงฉันไม่ได้รับอิสลามเพราะต้องการทรัพย์สิน แต่ที่ฉันรับอิสลามเพราะฉันปรารถนาในศาสนาอิสลามอย่างจริงใจและต้องการที่จะอยู่กับรอซูลของอัลลอฮ์ ท่านนบีจึงได้ตอบกลับไปว่า “โอ้อัมร์เอ๋ย ทรัพย์สินที่ดีที่สุดนั้น ย่อมคู่ควรที่จะอยู่กับคนที่ดีมีคุณธรรม” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ ใน อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด ดู เศาะฮีห์ อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด ของ อัล-อัลบานีย์ 229)

ขอดุอาอ์ให้เราเป็นคนที่ดีมีคุณธรรมและได้รับทรัพย์สินที่ดีจากอัลลอฮ์ ระลึกเสมอว่าทรัพย์สินที่ดีที่สุด คือ ทรัพย์สินที่อยู่ในมือคนที่มีคุณธรรมมากที่สุด อย่าให้ทรัพย์สินอยู่ในมือคนที่ไม่มีคุณธรรม เพราะความหายนะต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นล้วนมาจากน้ำมือของผู้คนที่ไม่ยำเกรงต่ออัลลอฮ์ในการแสวงหาทรัพย์สินและนำไปใช้ในหนทางที่อัลลอฮ์ไม่พอพระทันนั่นเอง



[1] المال لا شك أنه من نعم الله عز وجل، ولكن كل نعمة من الله فإنها ابتلاء من الله سبحانه وتعالى، قال الله عز وجل: ﴿وَنَبْلُوكُمْ بِالشَّرِّ وَالْخَيْرِ فِتْنَةً وَإِلَيْنَا تُرْجَعُونَ﴾. وقال الله عز وجل عن سليمان عليه الصلاة والسلام حين أحضر عنده عرش بلقيس: ﴿قَالَ هَذَا مِنْ فَضْلِ رَبِّي لِيَبْلُوَنِي أَأَشْكُرُ أَمْ أَكْفُرُ وَمَنْ شَكَرَ فَإِنَّمَا يَشْكُرُ لِنَفْسِهِ وَمَنْ كَفَرَ فَإِنَّ رَبِّي غَنِيٌّ كَرِيمٌ﴾. فالمال نعمة من النعم يبتلي الله بها العبد هل يشكر الله عز وجل على هذه النعمة ويستعملها في طاعة الله أم يكفر هذه النعمة ويستعملها في معاصي الله.

[2] ดูใน https://binothaimeen.net/content/8865