วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - ไกด์ไลน์ชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - ไกด์ไลน์ชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน (youtube.com)

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - ไกด์ไลน์ชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์รักและเมตตาทุกท่าน

ทุกครั้งเมื่อถึงต้นปีหรือวาระที่จะเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ เรามักจะนึกถึงการทบทวนและการวางแผน คนทำงานบริษัทหรือในองค์กรต่างๆ ก็จะวางแผนว่ามีโครงการหรือเป้าหมายอะไรสำหรับปีนี้ คนทำธุรกิจก็วางแผนว่าจะทำยอดเท่าไรให้บรรลุเป้าหมายในปีหน้า เป็นต้น การทำงานและการทำธุรกิจต้องมีไกด์ไลน์และเป้าหมาย คำถามก็คือ แล้วในชีวิตของเรามีไกด์ไลน์และมีเป้าหมายหรือไม่ เวลาที่เราวางแผนเรื่องดุนยา ก็อย่าละเลยหรือพลาดโอกาสที่จะวางแผนเรื่องอาคิเราะฮ์ด้วย

หากเราไม่รู้ว่าชีวิตของเราทั้งชีวิตควรจะวางแผนอะไรและกำหนดเป้าหมายอย่างไรบ้าง เป็นมุสลิมมีภารกิจอะไรที่ต้องทำ ให้มาฟังคำแนะนำจากอัลกุรอานซึ่งเป็นคู่มือหรือไกด์ไลน์ชีวิตที่อัลลอฮ์ประทานให้กับเรา คัมภีร์อัลกุรอานที่มีเรื่องมหัศจรรย์มากมาย และแน่นอนต้องมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์อย่างไม่ต้องสงสัย หนำซ้ำอัลกุรอานนั้นถูกประทานลงมาเพื่อให้คำแนะนำแก่มนุษย์โดยแท้

 

พี่น้องครับ

ในสูเราะฮ์สั้นๆ อย่างสูเราะฮ์ อัล-อัศร์ อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ให้คำแนะนำแก่มนุษย์เอาไว้อย่างกระชับและเข้าใจง่ายมากๆ พระองค์ตรัสว่า

﴿ وَٱلۡعَصۡرِ 1 إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَفِي خُسۡرٍ 2 إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ 3 ﴾ [العصر: 1،  3] 

ความว่า “ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริง มนุษย์นั้นอยู่ในความขาดทุน ยกเว้นบรรดาผู้ที่ศรัทธาและทำความดีทั้งหลาย และพวกเขาก็สั่งเสียซึ่งกันและกันด้วยสัจธรรม และส่งกำลังใจซึ่งกันและกันให้มีความอดทน” (อัล-อัศร์ 1-3)

จากสูเราะฮ์สั้นๆ ที่มีแค่สามอายะฮ์นี้ อัลลอฮ์ประกาศอย่างชัดเจนว่า เวลาซึ่งหมายถึงชีวิตของมนุษย์นั้น มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนและไม่มีคุณค่าใดๆ เลย ถ้าหากเขาปล่อยให้มันผ่านไปแต่ละวันเรื่อยๆ โดยไร้เป้าหมายและการวางแผนตามคู่มือการใช้ชีวิตที่ควรเป็น เวลาของเราและอายุขัยของเราจะลดลงไปเรื่อยๆ ปัจจัยต่างๆ ในชีวิตก็มีแต่จะน้อยลงไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นถ้าหากเราไม่มีการคิดอย่างจริงจังว่าจะเพิ่มพูนสิ่งดีๆ ในชีวิตอย่างไร อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า หนทางที่จะทำให้มนุษย์รอดพ้นจากความทุนในชีวิตนี้ มีสี่ประการ ดังนี้

หนึ่ง อีมาน หรือความศรัทธา การศรัทธาต่ออัลลอฮ์และหลักการศรัทธาทั้งหมดหกประการ คือกุญแจดอกแรกที่จะไขให้มนุษย์ก้าวเข้าสู่ความสำเร็จในชีวิต หากไม่มีความศรัทธาก็ไร้ปัจจัยสำคัญสำหรับการเข้าถึงความดีงามที่อัลลอฮ์เตรียมไว้ให้เขาในวันอาคิเราะฮ์ การศรัทธาหรืออีมาน ต้องได้มาด้วยการเรียนรู้และศึกษา เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้ศาสนา เรียนอิสลามตามที่อัลลอฮ์ประทานลงมาในอัลกุรอาน และที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนไว้ในสุนนะฮ์ของท่าน

ท่านอิมาม อัล-บุคอรีย์ ได้เรียบเรียงตำราหะดีษของท่าน และตั้งชื่อบทหนึ่งไว้ว่า

"باب العلم قبل القول والعمل؛ لقول الله- تعالى-:"فاعلم أنه لا إله إلا الله" [محمد: 19] فبدأ بالعلم". [الباب العاشر من كتاب العلم من صحيح البخاري].

บทว่าด้วยการมีความรู้ก่อนจะพูดหรือจะทำ ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสความว่า “พึงทราบเถิดว่า พระองค์คือผู้ที่ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์” พระองค์เริ่มด้วยความรู้ก่อน (บทที่สิบจากภาคว่าด้วยความรู้จากตำราหะดีษเศาะฮีห์อัล-บุคอรีย์)

สอง การทำอะมัล การลงมือทำความดีต่างๆ  

การปฏิบัติความดีหลังจากมีความศรัทธาและได้เรียนรู้มาแล้ว คือเครื่องพิสูจน์ว่าการศรัทธาของเราเป็นศรัทธาที่แท้จริงหรือศรัทธาที่หลอกลวง เพราะการศรัทธาไม่ได้อยู่ที่แค่การพูดหรือกล่าวอ้างลอยๆ แต่ต้องพิสูจน์ให้เป็นจริงด้วยการลงมือปฏิบัติ เหมือนที่อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ได้บอกว่า

 لَيْسَ الْإِيمَانُ بِالتَّحَلِّي وَلَا بِالتَّمَنِّي؛ وَلَكِنْ مَا وَقَرَ فِي الْقَلْبِ وَصَدَّقَتْهُ الْأَعْمَالُ. [مجموع الفتاوى 7/294]

ความว่า ความศรัทธานั้นไม่ได้อยู่ที่ตบแต่งภายนอกหรือกล่าวอ้างแบบลมๆ แล้งๆ แต่มันคือสิ่งที่ปักรากฐานอยู่ในใจ และพิสูจน์ให้เป็นจริงด้วยการกระทำ (มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา 7/294)

อัลลอฮ์ได้ตรัสถึงเป้าหมายที่พระองค์ได้ให้ชีวิตกับมนุษย์ว่า

﴿ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلۡمَوۡتَ وَٱلۡحَيَوٰةَ لِيَبۡلُوَكُمۡ أَيُّكُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗاۚ وَهُوَ ٱلۡعَزِيزُ ٱلۡغَفُورُ 2 ﴾ [الملك: 2]   

ความว่า “พระองค์ผู้สร้างความตายและการมีชีวิต เพื่อที่จะทดสอบพวกเจ้าว่า ใครที่ปฏิบัติอะมัลได้อย่างดีที่สุด พระองค์คือผู้ทรงเกรียงไกรและทรงอภัยยิ่ง” (อัล-มุลก์ 2)

การปฏิบัติอะมัลที่ดีที่สุด คือ อะมัลที่มีสองเงื่อนไขนั่นก็คือ ต้องบริสุทธิ์ใจ/อิคลาศต่ออัลลอฮ์พระองค์เดียวเท่านั้น และต้องตรงกับตัวอย่างหรือวิถีปฏิบัติตามสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังที่อุละมาอ์ได้ให้คำอธิบาย

สาม การเชิญชวนและเรียกร้องสู่ทั้งสองปัจจัยข้างต้น กล่าวคือเชิญชวนคนสู่การศรัทธาและทำอะมัลความดี ทั้งการสนับสนุน การบอกกล่าว การสะกิดเตือน การสอน และอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ภารกิจในการเชิญชวนผู้อื่นสู่ความดีและหักห้ามไม่ให้ทำความชั่วนั้น เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากอัลลอฮ์ และเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชาตินี้ได้รับเกียรติและสถานะอันสูงส่ง อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿كُنتُمۡ خَيۡرَ أُمَّةٍ أُخۡرِجَتۡ لِلنَّاسِ تَأۡمُرُونَ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَتَنۡهَوۡنَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ وَتُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِۗ ﴾ [آل عمران: 110] 

ความว่า “พวกเจ้าคือประชาชาติที่ดีที่สุดซึ่งบังเกิดมาเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ด้วยการที่พวกเจ้าสั่งใช้กันในความดี หักห้ามจากความชั่ว และพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮ์” (อาล อิมรอน 110)

การเชิญชวนสู่ความดีและยับยั้งความชั่ว จะส่งผลให้สังคมโดยรวมปลอดภัยจากสิ่งที่อาจจะนำภัยพิบัติมาสู่มนุษย์ การเพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าวนี้คือเหตุแห่งความหายนะและความขาดทุนที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะต่อบุคคลเท่านั้นแต่ยังหมายถึงความหายนะของสังคมโดยรวมด้วยเช่นกัน

สี่ การสั่งเสียและส่งกำลังใจกันให้มีความอดทน นั่นก็คือ อดทนต่อสามเรื่องที่กล่าวมา ตั้งแต่การอดทนที่จะเรียนรู้เพื่อเป็นผู้ศรัทธา อดทนในการทำความดีและละเลิกจากความชั่ว รวมถึงอดทนในการเชิญชวนผู้อื่น ทั้งสามอย่างนี้ล้วนต้องอาศัยความอดทนทั้งสิ้น และยังต้องอดทนในทุกๆ สภาวการณ์ที่อัลลอฮ์กำหนดให้เราต้องประสบพบเจอในการดำรงชีวิตแต่ละวัน

อัลลอฮ์ได้สั่งผู้ศรัทธาไว้ในหลายที่ของอัลกุรอานให้เราอดทน เช่นพระดำรัสของพระองค์

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱصۡبِرُواْ وَصَابِرُواْ وَرَابِطُواْ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ لَعَلَّكُمۡ تُفۡلِحُونَ 200﴾ [آل عمران: 200] 

ความว่า “โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอดทนเถิด จงสู้อดทน จงธำรงรักษาความดีให้มั่นคง และจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์เถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ” (อาล อิมรอน 200)

ความอดทนคือแสงสว่างที่จะส่องให้เราเห็นหนทางแห่งการรอดพ้น เมื่อไรก็ตามที่ชีวิตประสบปัญหาอยู่ในความมืดมินไม่รู้ว่าเดินหรือหาทางออกไปในทางใด การอดทนจะช่วยให้เรามีสติและตั้งตัวที่จะคิดหาทางที่ดีที่สุดเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ให้รอดปลอดภัย

 

พี่น้องครับ

ทั้งสี่ประการนี้คือระดับชั้นแห่งการแสวงหาความสมบูรณ์ให้กับชีวิตและได้รอดพ้นจากความขาดทุน เริ่มตั้งแต่การแสวงหาความรู้เพื่อให้เกิดศรัทธาที่ถูกต้อง การปฏิบัติตามความรู้ที่เรียนมา การบอกต่อความรู้ดังกล่าวแก่ผู้อื่น และการอดทนทั้งในการเรียน การทำ และการสอนความรู้นั้น[1]

 

พี่น้องที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

นี่คือไกด์ไลน์ หรือคำแนะนำเป็นคู่มือชีวิตจากสูเราะฮ์ อัล-อัศร์ ซึ่งชาวสะลัฟบรรพบุรุษอิสลามในอดีตให้ความสำคัญกับสูเราะฮ์นี้มาก

มีรายงานจากอบู มะดีนะฮ์ อัด-ดาริมีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า เวลาที่เศาะหาบะฮ์สองคนเจอกัน พวกเขาจะไม่แยกจากกันไปจนกว่าจะอ่านสูเราะฮ์อัล-อัศร์ให้แก่กันเป็นการเตือนสติ หลังจากนั้นก็จะให้สลามกัน (บันทึกโดยอัฏ-เฏาะบะรอนีย์ ใน อัล-มุอฺญัม อัล-วะสีฏ 5124, อัล-อัลบานีย์วินิจฉัยสายรายงานว่า เศาะฮีห์ ในสิลสิละฮ์ อัศ-เศาะฮีหะฮ์ 2648)[2]

ในขณะเดียวกัน อิมาม อัช-ชาฟิอีย์ ก็ได้กล่าวถึงสูเราะฮ์นี้ว่า “หากผู้คนทั้งหมดร่วมกันไตร่ตรองสูเราะฮ์อัล-อัศร์อย่างจริงจัง ก็เพียงพอสำหรับพวกเขา” [3] หมายถึงเพียงพอที่จะใช้เป็นไกด์ไลน์ต้นทางในการนำทางชีวิตได้อย่างเข้าใจถ่องแท้

จะได้เห็นว่า สูเราะฮ์ อัล-อัศร์ คือเนื้อหาสำคัญที่จะพาให้เราเข้าใจถึงข้อเท็จจริงของความขาดทุนและหนทางที่จะทำให้เราปลอดภัยโดยเฉพาะในโลกอาคิเราะฮ์ การขาดทุนในดุนยาอาจจะมีหนทางที่จะแก้ไขได้ แต่ถ้าขาดทุนในอาคิเราะฮ์ย่อมไม่มีโอกาสจะกลับมาแก้ไขอะไรได้อีก

อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿قُلۡ إِنَّ ٱلۡخَٰسِرِينَ ٱلَّذِينَ خَسِرُوٓاْ أَنفُسَهُمۡ وَأَهۡلِيهِمۡ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِۗ أَلَا ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡخُسۡرَانُ ٱلۡمُبِينُ 15﴾ [الزمر: 15] 

ความว่า “จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) แท้จริงแล้ว บรรดาคนที่ขาดทุนอย่างแท้จริงคือคนที่สูญเสียทั้งตัวพวกเขาเองและครอบครัวในวันกิยามะฮ์ พึงทราบเถิดนั่นแหละคือความขาดทุนอันชัดแจ้ง” (อัซ-ซุมัร 15)

ดังนั้น มาร่วมกันศึกษาไกด์ไลน์ชีวิตจากสูเราะฮ์อัล-อัศร์นี้และนำไปใช้ให้ได้มากที่สุด หากเราหวังที่จะพบกับความรอดพ้นจากหายนะและขาดทุนในโลกอาคิเราะฮ์ที่เราทุกคนต้องกลับไปอย่างแน่นอน



[1]  يقول ابن القيم: وبيان ذلك أن المَراتِب أربعة وباستكمالها يحصل للشَّخْص غايَة كَماله: إحداها معرفَة الحق، الثّانِيَة عمله بِهِ، الثّالِثَة تَعْلِيمه من لا يُحسنهُ، الرّابِعَة صبره على تعلمه والعَمَل بِهِ وتعليمه. [مفتاح دار السعادة].

[2]  قال الصحابي أبو مَدِينة الدارمي- رضي الله عنه: كان الرجلان من أصحاب النبي- صلى الله عليه وسلم- إذ  التقيا لم يفترقا  حتى يقرأ أحدُهما على الآخَرِ" والعصر إن الإنسان لفي خسر" ثم يُسَلِّم أحدهما على الأخر".[ أخرجه الطبراني في المعجم الوسيط( 5124) وصحح إسناده الشيخ الألباني في السلسلة الصحيحة( 2648).

[3]  قال الإمام الشافعي- رحمه الله تعالى-:( لو فكر الناس كلُّهم في سورة العصر لكفتهم). [ذكره شيخ الإسلام ابن تيمية في كتاب الاستقامة (1/259).


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น