วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

การใช้ข้อตัดสินอื่นที่ไม่ใช่บทบัญญัติของอัลลอฮ์




การศรัทธาต่ออัลลอฮ์มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การเคารพภักดีต่อพระองค์และการยอมรับต่อหุก่มที่เป็นข้อตัดสินต่าง ๆ ด้วย ต้องยอมรับและพอใจกับข้อตัดสินจากอัลกุรอานและสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อมีการเห็นไม่ตรงกันในประเด็นต่าง ๆ ทั้งในเรื่องที่เป็นรากฐานหลักของศาสนา หรือสิทธิอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องปลีกย่อย ในอัลกุรอานมีคำสั่งจากอัลลอฮ์ที่กล่าวโดยตรงถึงชนชั้นผู้นำและบรรดาประชาชนให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปหาข้อตัดสินของอัลลอฮ์เมื่อมีความขัดแย้งกัน

ในส่วนของผู้นำ อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ ۞إِنَّ ٱللَّهَ يَأۡمُرُكُمۡ أَن تُؤَدُّواْ ٱلۡأَمَٰنَٰتِ إِلَىٰٓ أَهۡلِهَا وَإِذَا حَكَمۡتُم بَيۡنَ ٱلنَّاسِ أَن تَحۡكُمُواْ بِٱلۡعَدۡلِۚ ﴾ [النساء: 58]

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงใช้ให้พวกเจ้ารักษาความไว้วางใจแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คนพวกเจ้าก็จะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม” (อัน-นิสาอ์ 58)



สำหรับคนที่เป็นประชาชนผู้ตาม พระองค์ได้ตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَطِيعُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُواْ ٱلرَّسُولَ وَأُوْلِي ٱلۡأَمۡرِ مِنكُمۡۖ فَإِن تَنَٰزَعۡتُمۡ فِي شَيۡءٖ فَرُدُّوهُ إِلَى ٱللَّهِ وَٱلرَّسُولِ إِن كُنتُمۡ تُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِۚ ذَٰلِكَ خَيۡرٞ وَأَحۡسَنُ تَأۡوِيلًا 59 ﴾ [النساء: 59]

ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮ์และเชื่อฟังศาสนทูตเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใดก็จงนำสิ่งนั่นกลับไปยังอัลลอฮ์และศาสนทูตมาตรว่าพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันปรโลก นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดีและผลสุดท้ายที่งดงามยิ่ง” (อัน-นิสาอ์ 59)



พระองค์ปฏิเสธความศรัทธาของคนที่ใช้หุก่มของผู้อื่นเป็นข้อตัดสิน ดังที่ได้ตรัสว่า

﴿ أَلَمۡ تَرَ إِلَى ٱلَّذِينَ يَزۡعُمُونَ أَنَّهُمۡ ءَامَنُواْ بِمَآ أُنزِلَ إِلَيۡكَ وَمَآ أُنزِلَ مِن قَبۡلِكَ يُرِيدُونَ أَن يَتَحَاكَمُوٓاْ إِلَى ٱلطَّٰغُوتِ وَقَدۡ أُمِرُوٓاْ أَن يَكۡفُرُواْ بِهِۦۖ وَيُرِيدُ ٱلشَّيۡطَٰنُ أَن يُضِلَّهُمۡ ضَلَٰلَۢا بَعِيدٗا 60 ﴾ [النساء: 60]

ความว่า “เจ้ามิได้มองดูบรรดาผู้ที่อ้างตนว่าพวกเขาศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้าและสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้าดอกหรือ ? เขาเหล่านั้นต้องการที่จะให้การตัดสินเป็นสิทธิแก่เหล่าฏอฆูต(สิ่งเคารพอื่นนอกจากอัลลอฮ์) ทั้ง ๆ ที่พวกเขาถูกใช้ให้ปฏิเสธมัน และชัยฏอนนั้นต้องการที่จะให้พวกเขาหลงทางออกไปอย่างห่างไกล” (อัน-นิสาอ์ 60)



﴿ فَلَا وَرَبِّكَ لَا يُؤۡمِنُونَ حَتَّىٰ يُحَكِّمُوكَ فِيمَا شَجَرَ بَيۡنَهُمۡ ثُمَّ لَا يَجِدُواْ فِيٓ أَنفُسِهِمۡ حَرَجٗا مِّمَّا قَضَيۡتَ وَيُسَلِّمُواْ تَسۡلِيمٗا 65 ﴾ [النساء: 65]

ความว่า “มิใช่เช่นนั้นดอก ขอสาบานด้วยพระเจ้าของเจ้าว่า เขาเหล่านั้นจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าพวกเขาจะให้เจ้าตัดสินในสิ่งที่ขัดแย้งกันระหว่างพวกเขา แล้วพวกเขาไม่พบความคับใจใด ๆ ในจิตใจของพวกเขาจากสิ่งที่เจ้าได้ตัดสินใจและพวกเขายอมจำนนด้วยดี” (อัน-นิสาอ์ 65)

การใช้หุก่มอื่นเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่กุฟร์ได้เช่นที่อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ وَمَن لَّمۡ يَحۡكُم بِمَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡكَٰفِرُونَ 44 ﴾ [المائدة: 44]

ความว่า “และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานลงมา ชนเหล่านี้แหละคือผู้ปฏิเสธการศรัทธา” (อัล-มาอิดะฮ์ 44)



เมื่อมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องใดระหว่างนักปราชญ์ ก็จำเป็นที่จะต้องกลับไปหาข้อตัดสินของอัลลอฮ์ในทุกเรื่องทุกประเด็น ข้อตัดสินที่ยอมรับได้ต้องสอดคล้องกับอัลกุรอานและสุนนะฮ์เท่านั้น โดยไม่มีอคติหรือยึดติดอยู่กับตัวบุคคลหรือทัศนะใดเป็นการเฉพาะ และต้องใช้กับทุกเรื่องไม่ใช่แค่ในเรื่องข้อขัดแย้งส่วนบุคคลเท่านั้น เพราะอิสลามนั้นเกี่ยวข้องกันทั้งหมดไม่ได้แยกส่วนหนึ่งส่วนใดออกไปต่างหากจากการดำรงชีวิต บรรดาผู้ติดตามนักปราชญ์ทั้งหลายที่เป็นผู้นำมัซฮับเองก็จะต้องนำคำพูดและทัศนะของนักปราชญ์ที่พวกเขานับถือกลับไปสู่อัลกุรอานและสุนนะฮ์ด้วยเช่นกัน อะไรที่สอดคล้องกับอัลกุรอานและสุนนะฮ์ให้เอามาใช้ อะไรที่ไม่สอดคล้องก็ต้องปล่อยไปโดยไม่มีทิฐิหรืออคติมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอะกีดะฮ์หรือหลักความเชื่อความศรัทธา เพราะผู้นำมัซฮับทั้งหลายต่างก็สั่งเสียเป็นเสียงเดียวกันเช่นนี้กันทุกคน คือให้กลับไปหาอัลกุรอานและสุนนะฮ์ ใครที่ไม่ได้ทำตามที่กล่าวมาย่อมไม่ใช่ผู้ติดตามพวกเขาอย่างแท้จริงแม้จะอ้างตัวว่าเป็นผู้ติดตามพวกเขาก็ตามที

การที่อัลลอฮ์ปฏิเสธความศรัทธาจากคนที่ไม่ได้ใช้ข้อตัดสินของอัลลอฮ์เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่า การใช้บทบัญญัติของอัลลอฮ์นั้นย่อมเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับความศรัทธา ความเชื่อ และเป็นอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ เป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติเป็นหลักศาสนา การใช้ข้อตัดสินและบทบัญญัติของอัลลอฮ์ต้องไม่ทำเพียงเพราะเห็นว่ามันดีที่สุดและมีประโยชน์ที่สุดต่อมนุษย์ โดยลืมจุดประสงค์หลักของมัน นั่นคือเป็นการยอมรับและเป็นอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ก่อนจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น

﴿ وَإِذَا دُعُوٓاْ إِلَى ٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦ لِيَحۡكُمَ بَيۡنَهُمۡ إِذَا فَرِيقٞ مِّنۡهُم مُّعۡرِضُونَ 48 وَإِن يَكُن لَّهُمُ ٱلۡحَقُّ يَأۡتُوٓاْ إِلَيۡهِ مُذۡعِنِينَ 49 ﴾ [النور: 48، 49]

ความว่า “และเมื่อพวกเขาได้รับการเชิญชวนเรียกร้องไปสู่อัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์เพื่อให้ตัดสินระหว่างพวกเขา เมื่อนั้นฝ่ายหนึ่งจากพวกเขาพากันผินหลังให้ และหากว่ามีผลประโยชน์อยู่ข้างพวกเขาแล้ว พวกเขาจะรีบมาหาเขาอย่างนอบน้อมโดยทันที” (อัน-นูร 48-49)



จะเห็นว่าในอายะฮ์นี้พูดถึงคนบางกลุ่มที่ใช้ข้อตัดสินของอัลลอฮ์ในประเด็นที่พวกเขามองว่ามีผลประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ไม่ตรงกับความต้องการหรือความปรารถนาของตนพวกเขาก็จะละทิ้งไป เพราะพวกเขาไม่ได้เคารพอิบาดะฮ์และยอมรับอัลลอฮ์อย่างแท้จริง



หุก่มของผู้ที่ใช้ข้อตัดสินอื่นนอกจากบทบัญญัติของอัลลอฮ์


﴿ وَمَن لَّمۡ يَحۡكُم بِمَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡكَٰفِرُونَ 44 ﴾ [المائدة: 44]

ความว่า “และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานลงมา ชนเหล่านี้แหละคือผู้ปฏิเสธการศรัทธา” (อัล-มาอิดะฮ์ 44)



จากอายะฮ์นี้ได้ข้อสรุปว่าการใช้บทบัญญัติอื่นเป็นข้อตัดสินนั้นถือว่าเข้าข่ายกุฟร์(การปฏิเสธศรัทธา) เพียงแต่กุฟร์นั้นก็แบ่งได้สองประเภท บางประเภทก็ทำให้บุคคลหลุดพ้นจากสภาพการเป็นมุสลิม และบางประเภทนั้นเป็นกุฟร์เล็กไม่ได้เป็นเหตุให้พ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพของผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าว

ถ้าเขาทำด้วยความเชื่อว่าการใช้ข้อตัดสินของอัลลอฮ์ไม่ได้วาญิบหรือไม่ใช่สิ่งจำเป็นและทำด้วยความเจตนาและตั้งใจเองโดยไม่มีใครบังคับ หรือดูถูกข้อตัดสินของอัลลอฮ์ หรือเชื่ออย่างหมดใจว่าบทบัญญัติอื่น ๆ ดีกว่าบทบัญญัติของอัลลอฮ์ หรือเชื่อว่าบทบัญญัติของอัลลอฮ์ไม่เหมาะกับยุคสมัย หรือกระทำลงไปเพื่อเอาใจบรรดากาฟิรและมุนาฟิก กรณีเหล่านี้ถือว่าเข้าข่ายกุฟร์ใหญ่ที่ทำให้หลุดจากสภาพการเป็นมุสลิมได้

แต่ถ้าหากเขารู้และเชื่อว่าบทบัญญัติของอัลลอฮ์นั้นดีกว่าแต่ยังไปใช้บทบัญญัติอื่นทั้งที่รู้ดีว่าต้องได้รับโทษจากการกระทำเช่นนี้เพราะมันเป็นบาป กรณีนี้ถือว่าเป็นกุฟร์เล็กที่ไม่ได้ทำให้หลุดพ้นจากสภาพการเป็นมุสลิม

ถ้าหากเขาไม่รู้บทบัญญัติของอัลลอฮ์ว่าแท้จริงเป็นอย่างไร แล้วเขาก็พยายามวินิจฉัยอย่างสุดความสามารถแต่ได้ข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องกับบทบัญญัติที่แท้จริง กรณีนี้เขาจะได้รับผลบุญจากความพยายามในการวินิจฉัย ส่วนความผิดพลาดดังกล่าวของเขาก็จะได้รับการอภัยอีกด้วย

อย่างไรก็ตามคำอธิบายข้างต้นนี้ใช้กับการตัดสินในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรณีส่วนบุคคล แต่หากเป็นกรณีการตัดสินในภาพรวมเกี่ยวกับหลักการของศาสนาย่อมจะแตกต่างออกไป เช่นกรณีที่ดัดแปลงสัจธรรมของศาสนาให้เป็นเรื่องเท็จ ทำเรื่องเท็จให้เป็นเรื่องจริง ทำสุนนะฮ์ให้เป็นบิดอะฮ์ ทำบิดอะฮ์ให้เป็นสุนนะฮ์ สั่งให้ทำในสิ่งที่อัลลอฮ์ห้าม สั่งห้ามในสิ่งที่อัลลอฮ์บัญชาให้ทำ ฯลฯ กรณีเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยในการตัดสินของอัลลอฮ์ เพราะเป็นเรื่องที่ทำลายหลักความเชื่อความศรัทธาของมุสลิมและตรงกันข้ามกับเตาฮีดอันเป็นแกนหลักของศาสนานั่นเอง วัลลอฮุอะอฺลัม



--------------------

แปลสรุปโดยสังเขปจากหนังสือ อัต-เตาฮีด ของท่านเชคศอลิห์ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน หน้า 48-53

โดย ซุฟอัม อุษมาน

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ทัศนคติเชิงวัตถุนิยม


ความหมายของทัศนคติเชิงวัตถุนิยม หมายถึงการที่มนุษย์มีมุมมองในชีวิตซึ่งคิดวนเวียนอยู่กับเป้าหมายที่จะบรรลุความสุขในโลกดุนยาอันชั่วคราวนี้เพียงอย่างเดียว ไม่เคยมีความคิดว่าชีวิตจะต้องเจออะไรบ้างหลังจากที่ต้องตายไป ไม่สนใจว่าบั้นปลายชีวิตหลังความตายเป็นจะอย่างไร ไม่ได้ทำอะไรเพื่ออาคิเราะฮ์ ไม่ให้ความสำคัญ ไม่รับรู้ว่าแท้จริงแล้วอัลลอฮ์สร้างโลกนี้มาเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติความดี เสมือนเป็นแหล่งเพาะปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลในโลกหน้า ดุนยาคือโลกแห่งการปฏิบัติ อาคิเราะฮ์คือโลกแห่งการตอบแทน ใครที่ใช้โอกาสในดุนยาเพื่อปฏิบัติคุณความดีเขาก็จะได้รับกำไรในสองโลก แต่หากใครที่ละเลยในการทำดีตอนที่มีชีวิตอยู่ในดุนยา อาคิเราะฮ์ของเขาก็จะเสียหายไม่มีกำไรใด ๆ รออยู่อีก


﴿ خَسِرَ ٱلدُّنۡيَا وَٱلۡأٓخِرَةَۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡخُسۡرَانُ ٱلۡمُبِينُ 11 ﴾ [الحج: 11]

ความว่า “เขาผู้นั้นย่อมขาดทุนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นั่นคือความขาดทุนที่ชัดเจนยิ่ง” (อัล-หัจญ์ 11)



อัลลอฮ์ไม่ได้สร้างโลกดุนยานี้อย่างไร้สาระ แต่ทรงสร้างด้วยเหตุผลที่ยิ่งใหญ่

﴿ ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلۡمَوۡتَ وَٱلۡحَيَوٰةَ لِيَبۡلُوَكُمۡ أَيُّكُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗاۚ وَهُوَ ٱلۡعَزِيزُ ٱلۡغَفُورُ 2 ﴾ [الملك: 2]

ความว่า “พระองค์ผู้ทรงสร้างความตายและการมีชีวิต เพื่อทดสอบพวกเจ้าว่าใครที่จะปฏิบัติความดีได้เลิศกว่า พระองค์คือผู้ทรงเกรียงไกรและปรีชาญาณ” (อัล-มุลก์ 2)

﴿ إِنَّا جَعَلۡنَا مَا عَلَى ٱلۡأَرۡضِ زِينَةٗ لَّهَا لِنَبۡلُوَهُمۡ أَيُّهُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗا 7 ﴾ [الكهف: 7]

ความว่า “แท้จริงแล้ว เราได้สร้างสิ่งต่าง ๆ บนหน้าแผ่นดินเพื่อเป็นเครื่องประดับตกแต่งให้มันสวยงาม เพื่อที่เราจะได้ทดสอบพวกเขาว่าใครที่จะปฏิบัติคุณงามความดีได้เลิศยิ่งกว่า” (อัล-กะฮ์ฟฺ 7)



พระองค์กำหนดให้ชีวิตดุนยามีความสะดวกสบายและความสำราญต่าง ๆ มากมาย อาทิ ทรัพย์สิน ลูกหลาน ตำแหน่ง อำนาจ และความสุขทุกประเภทอีกเหลือคณานับไม่มีใครทราบได้นอกจากพระองค์



มนุษย์บางกลุ่ม -ซึ่งเป็นส่วนใหญ่- มักจะมองเห็นแค่ความสุขผิวเผินที่ยั่วยวน คอยปรนเปรอตัวเองให้มีความสุขโดยไม่ได้พิจารณาความลับที่แฝงเร้นมาด้วย พยายามที่จะกอบโกยและรวบรวมสะสมอย่างสุขสำราญโดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตหลังจากโลกนี้ และอาจจะปฏิเสธด้วยซ้ำไปว่าไม่มีอีกแล้วโลกหลังความตาย

﴿ وَقَالُوٓاْ إِنۡ هِيَ إِلَّا حَيَاتُنَا ٱلدُّنۡيَا وَمَا نَحۡنُ بِمَبۡعُوثِينَ 29 ﴾ [الأنعام: 29]

ความว่า “พวกเขากล่าวว่า ไม่มีชีวิตอื่นใดอีกนอกจากชีวิตของเราในโลกดุนยานี้เท่านั้น และพวกเราจะไม่มีการฟื้นคืนชีพอีก” (อัล-อันอาม 29)



อัลลอฮ์ได้กำชับตักเตือนคนที่มีแนวคิดในการใช้ชีวิตเช่นนี้ว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ لَا يَرۡجُونَ لِقَآءَنَا وَرَضُواْ بِٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَٱطۡمَأَنُّواْ بِهَا وَٱلَّذِينَ هُمۡ عَنۡ ءَايَٰتِنَا غَٰفِلُونَ 7 أُوْلَٰٓئِكَ مَأۡوَىٰهُمُ ٱلنَّارُ بِمَا كَانُواْ يَكۡسِبُونَ 8 ﴾ [يونس: 7، 8]

ความว่า “แท้จริงแล้ว บรรดาคนที่ไม่หวังจะพบกับเราในอาคิเราะฮ์และพอใจกับการมีชีวิตในโลกดุนยานี้ ซ้ำยังรู้สึกมั่นคงกับชีวิตดังกล่าว รวมถึงบรรดาคนที่ไม่รู้สาอะไรเลยเกี่ยวกับโองการ(สัญญาณ)ต่าง ๆ ของเรา คนเหล่านี้จะกลับไปสู่ที่พักของพวกเขาในนรกด้วยผลแห่งการแสวงหากอบโกยที่พวกเขาทำไว้” (ยูนุส 7-8)

﴿ مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيۡهِمۡ أَعۡمَٰلَهُمۡ فِيهَا وَهُمۡ فِيهَا لَا يُبۡخَسُونَ 15 أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ لَيۡسَ لَهُمۡ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ إِلَّا ٱلنَّارُۖ وَحَبِطَ مَا صَنَعُواْ فِيهَا وَبَٰطِلٞ مَّا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 16 ﴾ [هود: 15، 16]

ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ปรารถนาชีวิตในดุนยาและความเลิศเลอของมัน เราก็จะให้กับเขาอย่างเต็มที่ตามความพยายามของพวกเขาในโลกนี้ และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนให้มีความขาดตกบกพร่องเลย แต่คนเหล่านี้ เมื่อกลับไปอาคิเราะฮ์จะไม่ได้รับอะไรอีกนอกจากนรก สิ่งที่พวกเขาทำในดุนยาจะสูญสลายสิ้น และสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติไว้ในดุนยาจะเป็นโมฆะ” (ฮูด 15-16)



สัญญาแห่งการสำทับตักเตือนนี้ครอบคลุมถึงบรรดาคนที่มีทัศนคติเชิงวัตถุนิยมเหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ดูเบื้องนอกกำลังปฏิบัติงานที่จะได้ผลในอาคิเราะฮ์แต่เป้าประสงค์จริง ๆ กลับต้องการผลประโยชน์ในดุนยา เช่น พวกมุนาฟิกและพวกสร้างภาพอวดให้คนชม หรืออาจจะเป็นบรรดาคนกาฟิรที่ไม่ได้ศรัทธาต่อการฟื้นคืนชีพและการสอบสวนในอาคิเราะฮ์ เช่นชาวญาฮิลียะฮ์ กลุ่มแนวคิดอันตรายอย่างพวกทุนนิยมสุดโต่ง สังคมนิยม เซคคิวลาร์ ลัทธิปฏิเสธพระเจ้า ฯลฯ คนเหล่านี้ไม่ได้เห็นคุณค่าของชีวิต มุมมองของพวกเขาไม่ได้มากไปกว่าวิถีแห่งสัตว์อื่น หรืออาจจะย่ำแย่กว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากพวกเขาทุ่มเทความคิดและปัญญาเพื่อสิ่งที่ไม่ได้อยู่ถาวรและไม่ได้ทำให้พวกเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ได้ทำความดีเพื่อบั้นปลายที่กำลังจะมาหาพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่สัตว์อื่นนั้นไม่ต้องมีบั้นปลายเหมือนมนุษย์และพวกมันเองก็ไม่ได้มีปัญญาเหมือนพวกเขาแต่แรกด้วย อัลลอฮ์ได้เตือนสติว่า

﴿ أَمۡ تَحۡسَبُ أَنَّ أَكۡثَرَهُمۡ يَسۡمَعُونَ أَوۡ يَعۡقِلُونَۚ إِنۡ هُمۡ إِلَّا كَٱلۡأَنۡعَٰمِ بَلۡ هُمۡ أَضَلُّ سَبِيلًا 44 ﴾ [الفرقان: 44]

ความว่า “เจ้าคิดหรือว่า พวกเขาส่วนใหญ่จะได้ยินหรือมีปัญญาคิดได้ อันที่จริงพวกเขาไม่ได้เป็นเหมือนอะไรเลยนอกจากพวกปศุสัตว์ หนำซ้ำอาจจะหลงทางยิ่งกว่าพวกมันเสียอีก” (อัล-ฟุรกอน 44)



พระองค์กล่าวว่าคนที่มีทัศนคติเช่นนี้แท้จริงแล้วเป็นคนที่ไม่มีความรู้

﴿ وَلَٰكِنَّ أَكۡثَرَ ٱلنَّاسِ لَا يَعۡلَمُونَ 6 يَعۡلَمُونَ ظَٰهِرٗا مِّنَ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَهُمۡ عَنِ ٱلۡأٓخِرَةِ هُمۡ غَٰفِلُونَ 7 ﴾ [الروم: 6، 7]

ความว่า “ทว่า มนุษย์ส่วนใหญ่นั้นไม่รู้ พวกเขารู้เฉพาะเรื่องเบื้องหน้าในโลกดุนยานี้เท่านั้น แต่พวกเขาไม่รู้สาไม่สนใจอะไรเลยเกี่ยวกับอาคิเราะฮ์” (อัร-รูม 6-7)



แม้ว่ามนุษย์จะมีความสามารถในการคิดค้นและสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากมาย แต่พวกเขาก็ยังถือว่าไม่มีความรู้ที่แท้จริงตราบใดที่จุดมุ่งหมายในชีวิตของพวกเขามีเพียงแค่โลกดุนยานี้เท่านั้น มันเป็นความรู้ที่ไม่ครบถ้วน ไม่มีความเหมาะสมที่จะได้รับฉายาอันทรงเกียรติว่าเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา การเรียกขานว่าเป็นผู้รู้นั้นคู่ควรกับคนที่รู้จักอัลลอฮ์และมีความยำเกรงต่อพระองค์

﴿ إِنَّمَا يَخۡشَى ٱللَّهَ مِنۡ عِبَادِهِ ٱلۡعُلَمَٰٓؤُاْۗ إِنَّ ٱللَّهَ عَزِيزٌ غَفُورٌ 28 ﴾ [فاطر: 28]

ความว่า “แท้จริงแล้ว คนที่เกรงกลัวต่ออัลลอฮ์ในหมู่บ่าวของพระองค์คือบรรดาผู้รู้จริง แท้จริง อัลลอฮ์ทรงเป็นผู้เกรียงไกรและผู้อภัยยิ่ง” (ฟาฏิร 28)



ในจำนวนตัวอย่างการมีทัศนคติแบบวัตถุนิยมก็คือเรื่องราวของกอรูนและคลังสมบัติของเขา อัลลอฮ์ได้ตรัสถึงเรื่องราวของเขาว่า

﴿ فَخَرَجَ عَلَىٰ قَوۡمِهِۦ فِي زِينَتِهِۦۖ قَالَ ٱلَّذِينَ يُرِيدُونَ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا يَٰلَيۡتَ لَنَا مِثۡلَ مَآ أُوتِيَ قَٰرُونُ إِنَّهُۥ لَذُو حَظٍّ عَظِيمٖ 79 ﴾ [القصص: 79]

ความว่า “แล้วกอรูนก็ออกมายังกลุ่มชนของตนในชุดของเขาที่ประดับประดาอย่างโอ่อ่า บรรดาคนที่หลงใหลชีวิตในดุนยาต่างกล่าวกันว่า พวกเราปรารถนาอยากจะได้เหมือนที่กอรูนได้รับบ้าง แท้จริงเขาเป็นคนที่มีโชคลาภยิ่งใหญ่เหลือเกิน” (อัล-เกาะศ็อศ 79)



ผู้คนทั้งหลายเมื่อเห็นความร่ำรวยของกอรูนต่างก็ปรารถนาอยากจะได้รับโชคลาภแบบเดียวกับเขาบ้าง ต่างก็อิจฉาและชื่นชมยินดีกับความมั่งมีของกอรูน สภาพเดียวกันนี้เราอาจจะเห็นได้ในประเทศต่าง ๆ ที่เจริญรุ่งเรืองด้านวัตถุและเศรษฐกิจอย่างก้าวไกล จนบรรดาผู้คนที่มีอีมานอ่อนในหมู่ชาวมุสลิมมองดูความเจริญเหล่านั้นอย่างฉงนสนเท่ห์ โดยไม่สนใจว่าความเจริญเหล่านั้นแฝงด้วยกุฟร์และต้องมีบั้นปลายที่เลวร้ายอย่างไรบ้าง ทัศนคติที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้เป็นเหตุจูงใจให้พวกเขายกย่องคนเหล่านั้นในหัวใจและพยายามแสดงออกเพื่อเลียนแบบนิสัย วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขาอย่างไม่ลังเลไร้ข้อกังขา ในขณะเดียวกันกลับไม่สนใจที่จะเอาตัวอย่างของพวกเขาในเรื่องความขะมักเขม้น อุตสาหะ การสร้างความแข็งแกร่งและผลิตนวัตกรรมที่มีประโยชน์มาใช้กับตัวเองบ้าง



ทัศนคติที่ถูกต้องในการดำรงชีวิตนั้น คือการที่มนุษย์มองว่าทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ตำแหน่ง และอำนาจทางวัตถุ ล้วนเป็นเครื่องมือที่จะใช้เพื่อปฏิบัติความดีกลับไปสู่อาคิเราะฮ์ ดังนั้น ดุนยาไม่ได้ถูกตำหนิโดยตัวมันเอง สิ่งที่ควรตำหนิหรือถูกชมคือพฤติกรรมของมนุษย์ที่ใช้ชีวิตในดุนยา แท้จริงแล้วดุนยาเป็นสะพานเชื่อมสู่อาคิเราะฮ์ และเป็นที่เก็บเสบียงกลับสู่สวรรค์ ชีวิตที่สุขสำราญในสวรรค์ล้วนมาจากความมุ่งมั่นในการสะสมความดีตอนที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้ ดุนยาเป็นที่แห่งการญิฮาดต่อสู้ ละหมาด ถือศีลอด บริจาคในหนทางของอัลลอฮ์ และแข่งกันกันทำความดี อัลลอฮ์ได้ตรัสถึงชาวสวรรค์ว่า

﴿ كُلُواْ وَٱشۡرَبُواْ هَنِيٓ‍َٔۢا بِمَآ أَسۡلَفۡتُمۡ فِي ٱلۡأَيَّامِ ٱلۡخَالِيَةِ 24 ﴾ [الحاقة: 24]

ความว่า “พวกเจ้าทั้งหลายจงกินเถิด จงดื่มเถิด ให้สำราญตามที่พอใจ ด้วยผลแห่งความดีที่พวกเจ้าทำมาก่อนหน้านี้ในวันวานที่ผ่านมา” (อัล-ห๊ากเกาะฮ์ 24)



วันวานที่ผ่านมาในอายะฮ์นี้ หมายถึง ดุนยา นั่นเอง.



--------------------

แปลโดย ซุฟอัม อุษมาน

จากหนังสือ อัต-เตาฮีด ของท่านเชคศอลิห์ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน หน้า 62-65