วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551

บทเรียนบางประการจากสูเราะฮฺ อัล-มุดดัษษิร

หนึ่ง ดะอฺวะฮฺต้องมีหลักการ
  • (อายะฮฺที่ 1-7) หลักสูตรดะอฺวะฮฺบทแรกในชีวิตของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สอนให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้รู้จักคุณลักษณะพื้นฐานของดาอีย์ เป็นสิ่งที่ต้องมีในตัวของดาอีย์ทุกคน
  • การที่อัลลอฮฺสอนเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ดะอฺวะฮฺไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้กฎเกณฑ์และวิธีการ ดะอฺวะฮฺไม่ใช่เรื่องของ "การเล่นขายของ" แต่เป็นเรื่องของการวางแผน มีระเบียบขั้นตอน และต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ในเชิงปฏิบัติ
  • การดะอฺวะฮฺโดยไม่เรียนรู้แนวทางและวิธีการไม่ใช่สิ่งที่ทำไม่ได้โดยสิ้นเชิง แต่การดะอฺวะฮฺโดยไม่รู้หลักการ อาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในด้านลบมากกว่าด้านบวก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

สอง วิถีของผู้ต่อต้าน
  • (อายะฮฺที่ 24-25) การต่อต้านมีมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นในอดีตแล้ว มีวิธีการต่อต้านหลากหลายรูปแบบที่ถูกนำมาใช้ หลักๆ ก็คือความพยายามทำร้ายท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาผู้ศรัทธา ถ้าทำไม่ได้ก็หาวิธีใส่ร้าย เสียดสี เหยียดหยาม ฯลฯ เพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อการดะอฺวะฮฺ หรือเพื่อสร้างความคลอนแคลนต่อความถูกต้องของดะอฺวะฮฺนั้นเสียเอง รูปแบบการต่อต้านเช่นเดียวกันนี้มีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน
  • (อายะฮฺที่ 11) อัลลอฮฺทรงรับเป็นผู้ปกป้องท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่เรื่องที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ต้องกังวลมากมาย ถ้าหากต้องเผชิญกับการทำร้ายหรือดูถูกเหยียดหยาม ไม่ว่าความเดือดร้อนนั้นจะหนักหน่วงแค่ไหน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็จะยังคงอยู่ภายใต้การพิทักษ์ดูแลของพระองค์อัลลอฮฺ ความหมายเดียวกันนี้ปรากฏใน (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ : 67) และ (สูเราะฮฺ อัล-หิจญ์รฺ : 95)

สาม การตอบโต้ผู้ต่อต้าน
  • การตอบโต้ทางจิตวิทยา อาจจะมีผลที่ร้ายกาจต่อผู้ต่อต้าน มากกว่าการใช้วิธีรุนแรง (ตั้งแต่อายะฮฺที่ 8-31 มีนัยยะทางจิตวิทยาในการตอบโต้แฝงอยู่อย่างเห็นได้ชัด) ในเมื่อมีวิธีมากมายที่สามารถใช้ตอบโต้ได้ ดาอีย์ควรเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุด ตามที่อัลกุรอานกำชับ เพราะจุดประสงค์ในการตอบโต้ไม่ใช้เพื่อทำร้ายอีกฝ่าย แต่เพื่อให้เขาหยุดพฤติกรรมต่อต้าน และหวังว่าเขาจะตอบรับการดะอฺวะฮฺ (ดู สูเราะฮฺ ฟุศศิลัต : 34) หากคิดใช้แต่วิธีรุนแรงอาจจะไม่ได้ผลตามจุดประสงค์ดังกล่าว หนำซ้ำยังอาจจะเป็นต้นเหตุแห่งผลเสียที่ร้ายแรงกว่าในภายหลัง ไม่ว่าผลเสียนั้นจะเกี่ยวกับดะอฺวะฮฺหรือตัวดาอีย์เอง

สี่ ความชัดเจนของดะอฺวะฮฺ
  • (อายะฮฺที่ 32 จนจบสูเราะฮฺ) ดะอฺวะฮฺอิสลามคือการเรียกร้องสู่คุณธรรมพื้นฐาน ที่กมลสันดานและสติปัญญาของมนุษย์พึงรับได้ สัจธรรมที่อิสลามเชิญชวนมีเครื่องหมายและหลักฐานที่ชัดเจนรับรอง หน้าที่ของดาอีย์คือการนำเสนออย่างชัดเจน อย่าให้คลุมเครือ อย่าให้เหลือความสงสัย ส่วนการตอบรับหรือไม่นั้น อยู่นอกเหนือขอบเขตภาระของดาอีย์ ไม่จำเป็นต้องบังคับข่มขู่ให้ใครเชื่อ ถ้าหากสิ่งที่นำเสนอนั้นมีความชัดเจนภายในตัว ผู้ที่มีสติปัญญาย่อมรู้เองและรับเองได้ ปัญหาก็คือดาอีย์สามารถนำเสนอให้มันชัดเจนแก่ผู้ที่เขาเชิญชวนหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2551

ตอบโต้ผู้ไร้มารยาทด้วยการไม่ใส่ใจ


บางครั้งที่ดาอีย์และนักทำงานต้องเผชิญกับปัญหาคำพูด หรือพฤติกรรมไร้มารยาทของคู่สนทนา อัลลอฮฺได้ทรงชี้ทางออกด้วยวิธีการที่พระองค์ตรัสว่า

«وَاصْبِرْ عَلَى مَا يَقُولُونَ وَاهْجُرْهُمْ هَجْراً جَمِيلاً» (المزّمِّل : 10)

ความว่า จงอดทนต่อสิ่งที่พวกเขาพูด และจงละจากพวกเขาด้วยการละจากที่ดี


"นี่คือคำสั่งให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม อดทนต่อสิ่งที่ผู้ดื้อดึงทั้งหลายกล่าวร้ายแก่ท่านและด่าทอท่าน รวมถึงคำสอนของท่าน เพื่อให้ท่านดำเนินต่อไปบนเส้นทางของอัลลอฮฺ โดยไม่ยอมอ่อนข้อต่อผู้ที่ขัดขวางและผู้ต่อต้าน และสั่งให้ท่านปลีกไปจากพวกเขาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ในการแยกจากไป ที่ไม่ก่อความเดือดร้อน นั่นคือให้ท่านตอบโต้พวกเขาด้วยการละทิ้ง และไม่ใส่ใจพวกเขาและคำพูดของพวกเขา และสั่งให้ท่านโต้ตอบพวกเขาด้วยการโต้เถียงที่ดีกว่าที่สุด" (ตัฟซีร อัส-สะอฺดีย์)


"ความหมายก็คือ โอ้มุหัมมัด จงทำให้การยึดเหนี่ยวและการพึ่งพิงของเจ้าอยู่กับข้าเพียงผู้เดียว จงอดทนต่อสิ่งที่ศัตรูของเจ้าได้โกหกและปรักปรำเจ้า และจงแยกไปจากพวกเขาด้วยดี หมายถึงปลีกไปจากพวกเขาและจงห่างไกลจากพวกเขา และตัดสัมพันธ์กับพวกเขาด้วยดี คือด้วยการที่เจ้าไม่ตอบโต้ความเลวด้วยสิ่งที่เลวเหมือนกัน และอย่าได้เพิ่มเติมในการตัดสัมพันธ์ของเจ้าด้วยการด่าทอพวกเขา หรือโยนคำพูดอันสกปรกแก่พวกเขา"
(ดู มุหัมมัด สัยยิด อัต-ฏ็อนฏอวีย์ ใน อัต-ตัฟซีร อัล-วะสีฏ)


"จงอดทนต่อสิ่งที่พวกเขากล่าว" คือสิ่งที่ก่อให้เกิดความโกรธและความขึ้งเคียด "และจงละจากพวกเขาไปด้วยละจากที่ดี" คือไม่มีการด่าทอทิ้งท้าย ไม่โกรธแค้น ..." (สัยยิด กุฏบ์ ใน ฟี ซิลาลิลกุรอาน)


มีโองการที่มีแนวทางคล้ายๆ กันนี้ในดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺว่า

«خُذِ الْعَفْوَ وَأْمُرْ بِالْعُرْفِ وَأَعْرِضْ عَنِ الْجَاهِلِينَ» (الأعراف : 199)

ความว่า จงนำการอภัยมาใช้ จงสั่งด้วยสิ่งที่ดี และจงหันไปจากบรรดาผู้โฉดเขลา


"และหากหลีกเลี่ยงไม่พ้นจากการทำร้ายและความเดือนร้อนของผู้ที่โฉดเขลา อัลลอฮฺก็สั่งให้เผชิญพวกเขาด้วยการไม่ใส่ใจ และไม่ตอบกลับด้วยพฤติกรรมเลวทรามในทำนองเดียวกัน ดังนั้น หากใครที่ทำร้ายเจ้าด้วยคำพูดหรือการกระทำของเขา เจ้าก็อย่าทำร้ายเขากลับ ใครที่ปิดกั้นเจ้า เจ้าก็อย่าปิดกั้นเขา ใครที่ตัดสัมพันธ์กับเจ้า เจ้าก็จงผูกสัมพันธ์กับเขา ใครที่อยุติธรรมกับเจ้า เจ้าจำเป็นต้องยุติธรรมกับเขา"
(ตัฟซีร อัส-สะอฺดีย์)


"จงหัน(อย่าใส่ใจ)จากเหล่าอวิชชา(คนโฉดเขลา) คือบรรดาผู้ที่ไม่รู้เรื่องและเขลาต่อคุณค่าของสิ่งต่างๆ ไม่รู้จักเคารพคนอื่น ไม่รู้จักใช้คำพูดที่ออกมาจากพวกเขา ซึ่งมีทั้งการใช้ถ้อยคำที่เขลาขลาดและการสร้างความเดือนร้อน เพราะการโต้ตอบและเสวนากับคนเหล่านี้มิได้นำไปสู่ความดีงามใดเลย และมันจะไม่จบด้วยผลลัพธ์ใดๆ การนิ่งเฉยเสียจึงเป็นการให้เกียรติแก่ตัวและวาจาของเราเอง การไม่ใส่ใจพวกเขาอาจจะสร้างความรู้สึกต่ำต้อยแก่ตัวพวกเขา และทำให้พวกเขาอ่อนทิฐิลงได้" (ตัฟซีร อัต-ฏ็อนฏอวีย์)


อาจจะศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันจากโองการเหล่านี้

«اتَّبِعْ مَا أُوحِيَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ لا إِلَـهَ إِلاَّ هُوَ وَأَعْرِضْ عَنِ الْمُشْرِكِينَ» (الأنعام : 106)

«فَاصْدَعْ بِمَا تُؤْمَرُ وَأَعْرِضْ عَنِ الْمُشْرِكِينَ» (الحجر : 94)

«فَأَعْرِضْ عَنْهُمْ وَانتَظِرْ إِنَّهُم مُّنتَظِرُونَ» (السجدة : 30)