วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สรุปเนื้อหาตัฟซีร สูเราะฮฺ อัฏ-ฏูรฺ




ฟังทาง SoundCloud ที่นี่

ตอนที่ 1

- บทนำ แนะนำสูเราะฮ์ และอายะฮ์ที่น่าสนใจในสูเราะฮ์
- เหตุผลการเริ่มต้นสูเราะฮ์ด้วยการสาบาน
- ความหมายของการสาบานด้วยสรรพสิ่งแต่ละอย่างในสูเราะฮ์
- บัยตุลมะอฺมูร อยู่ที่ฟ้าชั้นเจ็ดซึ่งมีนบีอิบรอฮีมเฝ้าอยู่ เป็นผลตอบแทนที่ท่านได้สร้างกะอฺบะฮ์
- เรื่องราวและเหตุการณ์ที่นบีมูซาไปวะห์ยูที่ภูเขาฏูร และการที่อัลลอฮ์ให้เกียรติแก่ภูเขาลูกนี้
- เกร็ดของสูเราะฮ์อัฏ-ฏูร, อัน-นัจญ์มฺ, อัล-เกาะมัร, ซึ่งเป็นสูเราะฮ์ มักกียะฮ์ เสมือนว่าอัลลอฮ์ต้องการผูกโยงชีวิตของมนุษย์เข้ากับวิถีแห่งสรรพสิ่งในจักรวาล
- การสาบานใช้เพื่อตักเตือนแบบเข้มข้นเกี่ยวกับวันอาคิเราะฮ์ที่มนุษย์ไม่มีวันหลีกหนีพ้น
- เมื่อมนุษย์หนีอาคิเราะฮ์ไม่พ้น วิธีเดียวที่จะรอดคือการกลับไปหาอาคิเราะฮ์ด้วยการยอมรับศรัทธาต่ออัลลอฮ์
- เหตุใดที่ต้องใช้เครื่องมือในการสาบานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากพวกมักกะฮ์เป็นพวกหัวแข็งดื้อด้าน




ตอนที่ 2

- อายะฮ์ที่ 7 เป็นต้นไป เป็นการเล่าเรื่องที่เป็นการสนองการสาบานของอัลลอฮ์ในตอนต้นสูเราะฮ์
- เครื่องมือในการเน้นย้ำ (ตะอ์กีด) เพื่อประกาศว่าวันกิยามะฮ์นั้นจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่มีใครสามารถยับยั้งมันได้
- หะดีษของญุบัยร์ บิน มุฏอิม ที่มาเจรจากับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในประเด็นเชลยสงครามบะดัร และได้ฟังสูเราะฮ์อัฏ-ฏูร ที่ท่านนบีกำลังอ่านในละหมาดมัฆริบ
- ญุบัยร์ รู้สึกสะดุดกับอายะฮ์ในสูเราะฮ์ อัฏ-ฏูร จนกระทั่งได้รับอิสลามกับอายะฮ์ที่ได้ฟังในสูเราะฮ์นี้
- เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่คนกาฟิรเองก็ควรฟังอัลกุรอาน แล้วนับประสาอะไรกับคนที่เป็นมุสลิม ยิ่งต้องควรฟังมากกว่าคนอื่น
- เกร็ดเรื่องเสียงและอิทธิพลต่อหัวใจและอารมณ์ ดังนั้น เสียงอัลกุรอานย่อมสามารถบำบัดหัวใจได้อย่างดีเยี่ยม
- การขี้เกียจและการไม่คุ้นเคยกับอัลกุรอาน สามารถแก้ไขได้ด้วยการเริ่มต้นจากการหัดฟังนักอ่านอัลกุรอานที่ไพเราะก่อนเพื่อให้คุ้นชิน
- สภาพของวันสิ้นโลกที่ท้องฟ้าจะอ่อนยะยวบ และภูเขาจะแตกกระจุยเป็นผง
- วันอาคิเราะฮ์เป็นที่แห่งการลงโทษคนที่ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และชีวิตหลังความตาย คนที่ลืมอัลลอฮ์
- คนที่ลืมอัลลอฮ์ ก็คือ คนที่ลืมตัวเอง คนที่ไม่รู้จักอัลลอฮ์ก็จะไม่รู้จักตัวเอง แม้ว่ามนุษย์จะหาคำตอบมากมายแค่ไหนก็จะหาคำตอบไม่เจอถ้าไม่ได้ฟังคำตอบจากอัลลอฮ์
- คนที่มีอัลลอฮ์นำทางจะมีความชัดเจนว่าชีวิตกำเนิดมาได้อย่างไร ดำเนินอยู่ได้อย่างไร และจะมีบั้นปลายอย่างไร
- ตัวอย่างการใช้ทางนำของอัลลอฮ์ในการรู้จักจุดอ่อนของตัวเอง คือ การที่อัลลอฮ์บอกว่ามนุษย์ไม่เคยเบื่อที่จะแสวงหาสิ่งที่ตนปรารถนา แต่เมื่อเจอกับสิ่งที่ไม่คาดฝันเราก็จะท้อแท้หมดหวัง
- ทางนำของอัลกุรอานยังคงมีชีวิตชีวาเหมาะกับทุกสถานการณ์ที่เราเจอ
- คนที่ใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่มีอาคิเราะฮ์ เส้นทางจะสับสนในการเลือกเส้นทางชีวิต
- พวกเขาจะถูกผลักลงนรก และถูกตอกย้ำด้วยคำพูดซ้ำเติมจากมลาอิกะฮ์
- พวกเขาจะถูกซ้ำเติมด้วยคำพูดให้เจ็บใจ และถูกเย้ยหยันอย่างน่าอดสูให้อยู่ในนรกตลอดกาล
- ความอดทนจะมีประโยชน์เฉพาะในดุนยา แต่มันจะไม่มีประโยชน์อีกต่อไปในนรก
- สำนวนการนำเสนอแบบนี้ในสูเราะฮ์อัฏ-ฏูร เหมาะสมกับสภาพของพวกมุชริกีนในมักกะฮ์ที่มีความดื้อด้านและหัวแข็ง กระนั้นก็ยังมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ศรัทธา
- สำนวนเชิงสำทับเช่นนี้ต้องการจะละลายความแข็งกระด้างของพวกปฏิเสธศรัทธาเหล่านี้




ตอนที่ 3 อายะฮ์ที่ 17-21

- การอ่านอัลกุรอานและการตะดับบุรจะให้กำลังใจกับเราทุกครั้งที่เราใช้เวลาอยู่กับมัน
- เป็นอายะฮ์ที่เริ่มต้นอธิบายการตอบแทนผู้ศรัทธาด้วยสวรรค์ หลังจากที่ได้พูดถึงชาวนรกมาก่อนหน้านี้
- ผลตอบแทนในสวรรค์มีความสุขสบายที่ไม่สิ้นสุด ทั้งสุขภายในและภายนอก
- อัลลอฮ์ให้คุณลักษณะของผู้ที่ได้รับความสุขในสวรรค์ คือ ผู้ตักวา
- ทุกคนควรจะต้องรู้และเข้าใจคำว่าตักวาให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้ปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้ตักวาที่แท้จริง
- การมีตักวาคือการได้รับประกันสวรรค์โดยไม่ต้องผ่านการลงโทษในนรก
- ชาวสวรรค์จะกินอาหารเพื่อความสุข ไม่ได้กินเพื่อประทังความหิว (17.20-21.00)
- อัลลอฮ์ให้ความคุ้มครองและป้องกันชาวสวรรค์จากไฟนรก
- ความสุขในสวรรค์ไม่ใช่เฉพาะทางกายภาพ แต่รวมถึงการได้ยินคำพูดที่ทำให้ชวนลิ้มลองความสุข
- อาหารของชาวสวรรค์จะไม่สร้างของเสียหรือให้โทษใดๆ ที่เป็นผลพวงจากการกินเหล่านั้น
- ที่นั่งของชาวสวรรค์คือเตียงที่ได้รับการประดับประดาอย่างสวยงาม โดยเอนกายอย่างสบายไม่ต้องลุกจากที่นั่งเพื่อไปทำธุระใดๆ
- ความสุขที่มากกว่าการได้ทานอาหารและมีที่พักอย่างอลังการ คือ การมีคู่ครองที่สวยงามเป็นนางสวรรค์
- ครอบครัวของผู้ศรัทธาถ้าสมาชิกทุกคนเป็นผู้ศรัทธาเหมือนเขา ทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันอีกครั้งในสวรรค์ในชั้นที่สูงสุดของสมาชิกในครอบครัว
- อัลลอฮ์ให้เกียรติด้วยการยกระดับสมาชิกครอบครัวที่่อยู่สวรรค์ชั้นต่ำกว่าให้มาอยู่กับสมาชิกที่อยู่บนสวรรค์ชั้นสูงกว่า
- ครอบครัวชาวสวรรค์ (35.48 - 40.51)
- แต่ละชีวิตต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง ทุกคนมีหนี้ชีวิตของตัวเองเหมือนเป็นการจำนองที่จะต้องไถ่ตัวเองด้วยการทำความดีตามคำสั่งของอัลลอฮ์
- อะมัลที่เราทำ คือ สิ่งที่จะใช้ไถ่ชีวิตต่อหน้าอัลลอฮ์ เพื่อให้เราได้เป็นชาวสวรรค์ต่อไป อินชาอัลลอฮ์




ตอนที่ 4 - อายะฮ์ที่ 22-28

- ครอบครัวชาวสวรรค์ที่ได้อยู่ร่วมกันอีกครั้ง เป็นบรรยากาศเหมือนการรวมญาติ
- ความสุขของการได้เห็นครอบครัว เป็นอีกหนึ่งรูปแบบความสุขที่เพิ่มเติมมากกว่าการกินการดื่มและอยู่กับคู่รัก
- ความสุขกับการได้อยู่กับครอบครัว 7.30 - 10.11
- ในขณะที่ชาวนรก อัลลอฮ์จะให้แต่ละคนอยู่ในที่ของตนเอง โดยที่ลูกหลานไม่ต้องแบกรับบาปของพ่อแม่หรือบรรพบุรุษของตน
- ข้อตัดสินของชาวนรกและชาวสวรรค์มีความแตกต่างกัน
- นรกเป็น ดารุลอัดล์/ที่แห่งความยุติธรรม สวรรค์เป็น ดารุลฟัฏล์/ที่แห่งการเอื้อเฟื้อให้เพิ่ม (ตัฟซีร อัส-สะอฺดีย์)
- อัลลอฮ์จะให้มีอาหารเป็นผลไม้และเนื้อที่เอร็ดอร่อยแก่ชาวสวรรค์
- ชาวสวรรค์จะล้อมวงดื่มกินสุราในสวรรค์เป็นกลุ่มอย่างมีความสุข
- ความสุขในโลกดุนยาเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามเลียนแบบความสุขในสวรรค์
- ความแตกต่างระหว่างสุราในดุนยาและสุราในสวรรค์
- เหล้าของชาวสรรค์ 24.30 - 26.20
- บริกรที่คอยรับใช้ชาวสวรรค์เป็นเด็กหนุ่มที่งดงามเหมือนกับพวกเขาเป็นไข่มุกที่ถูกรักษาไว้อย่างดี
- ความสุขอีกประการหนึ่งของชาวสวรรค์คือ ต้องการเจอมิตรสหาย 29.08 - 32.40
- ชาวสวรรค์จะพูดกันถึงเรื่องราวในอดีตเพื่อเพิ่มความสุขของพวกเขา ณ ปัจจุบันที่พวกเขาประสบความสำเร็จด้วยการเข้าสวรรค์
- ความหมายของคำว่าเตาฟีก หมายถึงการที่อัลลอฮ์ทำให้เราสมปรารถนา ฮิดายะฮ์หมายถึงเส้นทางที่อัลลอฮ์ชี้นำ
- ทั้งเตาฟีกและฮิดายะฮ์ล้วนมาจากอัลลอฮ์ ชาวสวรรค์จะสำนึกถึงบุญคุณของอัลลอฮ์
- การลงโทษด้วย สะมูม หมายถึงพิษที่เข้าสู่ข้างในร่างกาย ซึ่งชาวนรกจะถูกหมกอยู่ในพิษนี้
- การเพียรพยายามในการขอดุอาอ์ต่อพระองค์อัลลอฮ์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้เป็นชาวสวรรค์ 39.59 - 42.37
- ดุอาอ์สองประเภท คือ ดุอาอ์อิบาดะฮ์ และ ดุอาอ์มัสอะละฮ์
- พระนาม อัล-บัรร์ ของอัลลอฮ์ หมายถึงพระองค์ทรงมีความเอื้อเฟื้ออย่างล้นเหลือกับบ่าวของพระองค์ โดยที่เราไม่ต้องเรียกร้องจากพระองค์
- ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เมื่ออ่านอายะฮ์นี้ นางจะเอามาใช้จริงภาคปฏิบัติด้วยการใช้ขอดุอาอ์ว่า
اللّهُمَّ مُنَّ علينا وقِنَا عَذَابَ السَّمُومِ، إِنَّكَ أَنْتَ البَرَّ الرَّحِيْم




ตอนที่ 5 - อายะฮ์ที่ 29-43

- การเรียนอัลกุรอาน นอกจากจะได้ผลบุญแล้วยังสามารถเอาไปใช้จริงตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องพบ
- มีการทวนคำว่า "อัม" หลายครั้งเป็นการตั้งคำถามให้ฉุกคิดในปมต่าง ๆ ที่พวกมุชริกีนใช้ในการอ้างเพราะไม่ยอมศรัทธาต่ออัลลอฮ์
- อัลลอฮ์สั่งให้ท่านนบีทำหน้าที่ในการเชิญชวนต่อไป ไม่ว่าพวกมุชริกีนจะปฏิเสธหรือกล่าวหาท่านอย่างไรก็ตาม
- อัลลอฮ์ได้แก้ปมต่าง ๆ ที่พวกมุชริกีนกล่าวอ้างจนครบ
- ปมแรกที่พวกมุชริกีนกล่าวอ้างก็คือหาว่าท่านนบีเป็นคนเสียสติ
- คำกล่าวหาอื่น ๆ อาทิ กล่าวหาท่านนบีเป็นนักกวีที่คอยสร้างความรำคาญ
- อัลลอฮ์ตั้งคำถามต่อมาว่า พฤติกรรมของพวกมุชริกีนที่แสดงออกมานั้นมาจากสติปัญญาของคนที่มีปัญญาจริงๆ กระนั้นหรือ
- ถ้าไม่เช่นนั้น ก็แสดงว่าเป็นพฤติกรรมของคนที่ละเมิดจาบจ้วงคนอื่นอย่างเสียๆ หายๆ
- หรือพวกเขากล่าวหาว่าอัลกุรอานเป็นการคิดค้นเองของมุฮัมมัด ถ้าอย่างนั้นก็ให้พวกเขาลองเขียนมาใหม่ให้เหมือนอัลกุรอานสักสูเราะฮ์หนึ่งสิ
- หรือพวกเขาคิดว่าเกิดมาเอง หรือคิดว่าตัวเองเป็นพระเจ้าเสียเอง หรือคิดว่าพวกเขาคือผู้สร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน กระนั้นหรือ ?
- หรือพวกเขามีคลังสมบัติของอัลลอฮ์อยู่ในมือ หรือพวกเขาเป็นคนที่มีอำนาจสามารถควบคุมคนอื่นได้ กระนั้นหรือ ?
- หรือพวกเขามีบันไดที่ใช้ปีนขึ้นไปฟังโองการของอัลลอฮ์
- มีปมอื่นๆ อีกที่อัลลอฮ์ตอบโต้พวกมุชริกีน
- เกร็ด การตัฟซีรแบบวิเคราะห์ตัวเลขในมุมมองของผู้บรรยาย




ตอนที่ 6 - อายะฮ์ที่ 44-49

- หลังจากที่อัลลอฮ์ได้แก้ปมความคลางแคลงต่าง ๆ จนครบแล้ว พวกมุชริกีนก็ยังคงดื้อดึงไม่ยอมศรัทธา
- ความดื้อรั้นของคนที่ไม่ยอมศรัทธาแม้จะเห็นการลงโทษอยู่ต่อหน้าก็ยังพูดหลอกตัวเองว่าเป็นเรื่องอื่น
- ความน่ากลัวของการมองไม่เห็นอะซาบที่อยู่ต่อหน้า
- เวลาที่เจอกับคนที่ดื้อด้านหัวรั้นเราควรจะต้องทำอย่างไร?
- คำสั่งแรกที่อัลลอฮ์ใช้ให้ท่านนบีทำกับคนพวกนี้ คือ ปล่อยพวกเขาไปตามยถากรรมของตนจนกว่าพวกเขาจะเจอกับการลงโทษเอง
- ภัยพิบัติของอัลลอฮ์อาจจะเป็นการลงโทษสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นความเมตตาแก่คนกลุ่มหนึ่ง
- สำหรับกาฟิร ภัยพิบัติคือการลงโทษ สำหรับมุอ์มินคือกัฟฟาเราะฮ์ หรือมูลเหตุแห่งการอภัยโทษก่อนที่พวกเขาจะกลับสู่อาคิเราะฮ์ (22.20-24.28)
- อัลลอฮ์สั่งให้ผู้ศรัทธาอดทนต่อการตัดสินของอัลลอฮ์ที่สั่งให้ทำต่อพฤติกรรมของผู้ปฏิเสธ
- ผู้ศรัทธาต้องอดทนขนาดไหน มีใครที่เจอบททดสอบมากกว่าผู้ศรัทธา จึงอย่ายอมแพ้ความอดทนกับคนที่ไม่ศรัทธา ต้องแข่งอดทน ต้องอดทนมากกว่าเขา (29.00-31.00)
- การรักษาสภาพอะมัลและการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ เพื่อให้เราได้รับชัยชนะในที่สุด
- คำสั่งให้ตัสบีห์เมื่อลุกขึ้นยืน ไม่ว่าจะเป็นการลุกจากที่นอนหรือลุกจากที่นั่งชุมนุม หรือลุกขึ้นมาละหมาด
- แนะนำดุอาอ์ปิดการชุมนุม หรือ กัฟฟาเราะฮ์ อัล-มัจญ์ลิส
- ความอดทนและการตัสบีห์มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร การซิกิรเป็นการเสริมแรงความอดทน (36.18-38.05)
- ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตัสบีห์ คือกลางคืนช่วงสุดท้าย
- วิธีที่ดีที่สุดในการเสริมกำลังใจคือการลุกขึ้นมาช่วงท้ายของกลางคืนเพื่อมาเข้าเฝ้าอัลลอฮ์ ร้องเรียนปัญหาที่ตัวเองเจอ
- วิธีแก้ปัญหาตามที่อัลลอฮ์แนะนำ ปรึกษาคนนั้นคนนี้แต่ไม่เคยปรึกษาอัลลอฮ์เลย (39.31-41.35)
- การเตรียมตัวเพื่อให้สามารถลุกขึ้นมาละหมาดกลางคืน ต้องวางแผนตั้งแต่ตอนกลางวัน ไม่อย่างนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยากมากที่จะลุกได้
- ลองปิดเครื่องมือสื่อสารกลางคืนแต่เนิ่น ๆ
- สุนัตสองร็อกอะฮ์ก่อนศุบห์ อยู่ในความหมายของอายะฮ์ที่อัลลอฮ์สั่งให้ตัสบีห์ตอนที่ดวงดาวกำลังจะลับตาไป (43.45-45.38)
- การเกาะฎอละหมาดสุนัตสองร็อกอะฮ์ก่อนศุบห์ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วดีที่สุด
- สรุปตอนท้าย สูเราะฮ์นี้กำลังพูดถึงการศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์ และคนที่ไม่ยอมศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์ และวิธีการเผชิญหน้ากับคนกลุ่มนี้