วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

จริยธรรมการปฏิสัมพันธ์กับต่างศาสนิก




มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับต่างศาสนิก ซึ่งแตกต่างกันไปตามบริบทและมิติที่หลากหลาย อาทิ ความสัมพันธ์ส่วนตัว ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ความสัมพันธ์ในสถานการณ์ปกติและยามสงคราม บทความนี้คงจะไม่ลงลึกในประเด็นดังกล่าว ในที่นี้เราเพียงแค่จะอธิบายสภาพจริงของความสัมพันธ์เหล่านี้บนพื้นฐานของหลักจริยธรรม ที่อาจจะมีคนส่วนหนึ่งเข้าใจผิดในบางเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ก่อนอื่นต้องย้ำว่าพื้นฐานที่อิสลามบัญญัติให้มุสลิมปฏิสัมพันธ์กับต่างศาสนิกในทุกบริบทนั้นวางอยู่บนหลักการทางจริยธรรมและคุณธรรม การสานไมตรี การเรียกร้องเชิญชวนสู่สัจธรรมตามกาลเทศะของมัน การต่อสู้และญิฮาดตามบริบทที่ถูกต้องในหลักคำสอนของชะรีอะฮ์ การผ่อนปรนประนีประนอมก็มีบริบทเฉพาะของมัน เช่นเดียวกับการยืนหยัดเด็ดขาดในบางเรื่องที่หลักการศาสนากำชับเน้นหนัก ทั้งหมดนั้นจะต้องวางอยู่บนหลักการทางจริยธรรมทั้งสิ้น นี่เป็นพื้นฐานสำคัญที่มุสลิมต้องเข้าใจและยึดปฏิบัติ แม้ว่าความแตกต่างของมุสลิมกับต่างศาสนิกนั้นจะมีให้เห็นแต่แรกแล้วในแง่ความไม่ตรงกันทางด้านความเชื่อก็ตาม



หลักบัญญัติทางศาสนาว่าด้วยความสัมพันธ์กับต่างศาสนิกทั่วไป

ในระดับของต่างศาสนิกทั่วไปที่ไม่ใช่คู่สงครามมีบทบัญญัติที่จำเป็นต้องตระหนักและยึดมั่นอยู่บางประการดังนี้

1. ไม่สร้างความเดือดร้อนและก่อความอธรรม หลักการนี้ปรากฏในวจนะของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ความว่า “ผู้ใดที่ฆ่าต่างศาสนิกที่มีพันธสัญญาระหว่างกัน เขาจะไม่ได้รับกลิ่นอายของสวรรค์ ซึ่งแท้จริงแล้วกลิ่นอายของมันนั้นสามารถรับรู้และสัมผัสได้ก่อนระยะทางจะถึงสวรรค์สี่สิบปี” (อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3166)

2. ยึดหลักจริยธรรมของอิสลามในการปฏิสัมพันธ์ อาทิ ความซื่อสัตย์ การรักษาสัญญา ความยุติธรรม การให้ความเป็นธรรม ความเมตตาตามบริบททางศาสนา เป็นต้น

3. อนุญาตให้ทำดีและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นของขวัญหรือความช่วยเหลือฉุกเฉิน เหล่านี้เคยมีตัวอย่างในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่เกิดขึ้นกับบรรดาเศาะหาบะฮ์และท่านนบีเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรตระหนักและระวังว่าการทำดีดังกล่าวจะต้องไม่เข้าข่ายการผูกใจ(วะลาอ์)ด้วยความรักและเสน่หาเยี่ยงที่สมควรจะให้แก่มุสลิม หรือเป็นการส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหรือภารกิจที่เป็นสัญลักษณ์เฉพาะทางศาสนาและความเชื่อ



หลักบัญญัติทางศาสนาว่าด้วยความสัมพันธ์กับคู่สงคราม

สำหรับต่างศาสนิกที่เป็นอริศัตรูคู่สงคราม จะเห็นได้ว่ามีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรมในด้านความสัมพันธ์อยู่มากมายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

- ห้ามเริ่มก่อสงครามโดยที่ไม่มีการนำหน้าด้วยการเรียกร้องเชิญชวนสู่อิสลามก่อน เช่นเหตุการณ์ในสงครามค็อยบัร ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำชับท่านอาลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ผู้เป็นแม่ทัพในครั้งนั้นว่า “จงเดินทัพไปอย่างช้าๆ มั่นคง เมื่อถึงที่ของพวกเขาก็จงเรียกร้องพวกเขาสู่อิสลาม จงบอกให้พวกเขารู้ถึงสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องทำ ขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ การที่พระองค์ให้ทางนำบุคคลหนึ่งผ่านความพยายามของเจ้านั้นย่อมดีกว่าที่เจ้าได้รับอูฐแดงเสียอีก” (อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3406)

- ห้ามบิดพลิ้วหักหลัง และชำระแค้นด้วยการทรมานคู่สงครามในสมรภูมิ

- ห้ามคร่าชีวิตคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ เช่น เด็ก สตรี นักบวช คนแก่เฒ่า ที่ไม่ได้มีส่วนในการสงคราม

- ห้ามทำลายเรือกสวนไร่นาหรือเผาทำลายบ้านเรือนโดยไม่มีเหตุจำเป็นถึงที่สุด หรือวางยาพิษในแหล่งน้ำ เป็นต้น




ความเข้าใจผิดบางประการในประเด็นความสัมพันธ์กับต่างศาสนิก

1. ใช้อารมณ์และจุดยืนส่วนบุคคลแทนที่จะใช้หลักการและบทบัญญัติ เป็นข้อที่อาจจะกล่าวว่าได้ความผิดพลาดส่วนใหญ่มาจากสาเหตุนี้ จำเป็นมากที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าประเด็นละเอียดอ่อนเช่นนี้ต้องอ้างอิงไปยังหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮ์เท่านั้น ลำพังการยืนยันว่าตนมีความบริสุทธิ์ใจต่ออิสลามในการปฏิสัมพันธ์กับต่างศาสนิกโดยใช้ฐานแห่งความรู้สึกส่วนตัวย่อมไม่ถูกต้อง พฤติกรรมใช้อารมณ์บางอย่างที่อาจจะมองว่าเป็นการปกป้องอิสลามอาจจะเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้มีผลต่อการดูแลปกป้องศาสนาของอัลลอฮ์เลย เพราะค้านกับหลักคำสอนในอัลกุรอานและสุนนะฮ์ แน่แท้ว่าการปกป้องและช่วยเหลือสนับสนุนอิสลามนั้นเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอยู่ในกรอบบทบัญญัติของอัลลอฮ์เท่านั้น ไม่ใช่ใช้อารมณ์นำหน้าหรือจุดยืนของตัวเองเป็นเกณฑ์ตัดสิน เพราะนั่นอาจจะเป็นแค่กระแสชั่วครู่ชั่วคราวหรืออารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการสนับสนุนอิสลามในระยะยาวแต่อย่างใด

2. ความเข้าใจผิดว่าจุดยืนบางอย่างเป็นหลักคำสอนในบทบัญญัติอิสลามทั้งที่มันไม่ใช่ มีความเข้าใจผิดหลายประการ ที่เราอาจจะเข้าใจว่ามาจากบทบัญญัติของอิสลามแต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น อาทิ

- การคิดไปว่าการสร้างความเดือดร้อนแก่ต่างศาสนิกนั้นได้ผลบุญเสมอ

- การคิดไปว่าการทำดีกับต่างศาสนิกนั้นเป็นสิ่งหะรอมที่ต้องห้าม

- สับสนระหว่างความเข้าใจเรื่อง การทำดีต่อผู้อื่นและการผูกใจรัก (วะลาอ์ และ บะรออ์) ซึ่งเป็นสองประการที่แตกต่างกัน

- การคิดไปว่าไม่อนุญาตกล่าวทักทายให้สลามต่างศาสนิกไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งอันที่จริงครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยกล่าวให้สลามกับกลุ่มคนที่นั่งรวมกันอยู่ซึ่งมีทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม นอกจากนี้สำนวนหรือประโยคในการกล่าวทักทายต่างศาสนิกก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสำนวนเดียวกับที่ใช้กับมุสลิมด้วยกัน แต่สามารถปรับใช้ตามกาลเทศะให้เหมาะสมได้

- การเข้าใจสลับกันระหว่าง ความประเสริฐของอิสลามและนิสัยส่วนตัวของมุสลิม หลายคนเข้าใจผิดว่าเมื่อตนเป็นผู้นับถืออิสลามแล้วก็ย่อมต้องมีนิสัยที่ประเสริฐกว่าคนอื่นโดยปริยายแม้ว่าตัวเองจะมีนิสัยบางอย่างที่เลวทรามก็ตาม เขาอาจจะเข้าใจว่าเป็นไปไม่ได้ที่นิสัยของต่างศาสนิกบางคนจะดีกว่านิสัยส่วนตัวของมุสลิม ความจริงต้องมีการแยกแยะว่ามารยาทที่ดีงามในอิสลามนั้นมีค่าในตัวเองและไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวตนของมุสลิม หากมุสลิมไม่ได้เอามารยาทที่ดีเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตจริงนั่นก็แสดงว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความดีงามในด้านนี้ของอิสลาม เป็นไปได้อย่างไรที่เขาจะภูมิใจกับความงดงามที่เขาเองไม่ยอมเอามันมาประดับตัวเองหรือไม่ยอมเป็นเจ้าของความดีงามนั้น

- ความเข้าใจสับสนระหว่างรูปแบบความสัมพันธ์ของมุสลิมกับต่างศาสนิก และการไม่เข้าใจถ่องแท้ต่อศัพท์เทคนิคบางตัวในทางชะรีอะฮ์ของอิสลาม กล่าวคือ มุสลิมหลายคนมีความเข้าใจแต่เดิมว่ารูปแบบความสัมพันธ์ของตนกับต่างศาสนิกควรต้องเป็นอย่างไร แต่เนื่องจากอาจจะมีความไม่ชัดเจนต่อความหมายของศัพท์บางตัวในชะรีอะฮ์อิสลามทำให้มีการแสดงออกที่ผิดเพี้ยนไป เช่นการไม่สามารถแยกแยะระหว่าง หุก่มและอีมาน ความสัมพันธ์และการแสดงออก การเสวนาและการดะอฺวะฮ์ เป็นต้น ในบางกรณีก็ยังจำเป็นต้องแยกระหว่างการใช้ศัพท์เทคนิคและการแสดงออกที่สะท้อนต่อความหมายของศัพท์นั้น ๆ เพราะบางทีสองอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันในเชิงพฤติกรรมเสมอไป ตัวอย่างเช่นคำว่า กาฟิร ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิเสธศรัทธา ความหมายของคำนี้ดูผิวเผินสะท้อนว่ามุสลิมควรต้องปฏิบัติเป็นปฏิปักษ์โดยปริยาย แต่ในความเป็นจริงอิสลามมีบทบัญญัติมากมายเกี่ยวข้องกับการทำดีต่อกาฟิรในบางโอกาส รวมถึงบทบัญญัติที่สั่งให้เรียกร้องเชิญชวนพวกเขาสู่อิสลามด้วยการปฏิบัติที่ดี และมารยาทอื่น ๆ ที่ใช้กับมนุษย์ด้วยกันโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม เช่นเดียวกับศัพท์อื่น ๆ ที่อาจจะเป็นปัญหาเพราะความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อข้อเท็จจริงในความหมายตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติอิสลามเช่นคำว่า ญิฮาด เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว พื้นฐานจริยธรรมในการปฏิสัมพันธ์ของมุสลิมกับต่างศาสนิกนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้หลักการที่ถูกต้องตามคำสอนในอัลกุรอานและสุนนะฮ์เป็นแนวทางในการกำหนดจุดยืนและรูปแบบ ซึ่งมีการอธิบายไว้ในตำรับตำราของนักวิชาการอิสลามนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้อารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวเป็นเกณฑ์ เพราะนั่นจะยิ่งสร้างปัญหาและอาจจะทำให้อิสลามถูกเข้าใจผิดมากยิ่งขึ้นไปอีก วัลลอฮุอะอฺลัม

----------
หมายเหตุ แปลโดยคัดย่อจากงานของ ศ.ดร.อับดุลลอฮ์ บิน ฎ็อยฟุลลอฮ์ อัร-รุหัยลีย์, เกาะวาอิดุล อัคลาก อัลฟาฎิละฮ์ วะ มุนเฏาะละกอต ลิกติสาบิฮา, หน้า 213-231