วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - พลังของดุอาอ์ - ซุฟอัม อุษมาน




ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - พลังของดุอาอ์ - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - พลังของดุอาอ์ - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องมุสลิมที่อัลลอฮ์รักทุกท่าน

อัลลอฮ์ ผู้ทรงอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่ง ผู้ทรงสร้างทุกอย่างมาด้วยอำนาจและการกำหนดตามเกาะฎออ์เกาะดัรของพระองค์ ทรงกำหนดทุกอย่างให้ดำรงไปตามพระประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตนี้ล้วนอยู่ในกำหนดของพระองค์ทั้งสิ้น พระองค์บอกให้เรารู้ว่าปัญหาในชีวิตของเราคืออะไร แล้วพระองค์ก็บอกวิธีการแก้ปัญหานั้นๆ ด้วยเหตุดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่ ปัญหาส่วนตัว ปัญหาสังคม ปัญหาในระดับโลก ปัญหาระหว่างมุสลิมกับอริศัตรูที่เป็นปฏิปักษ์กับเขา ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามที่อัลลอฮ์ทรงลิขิตไว้ทั้งสิ้น

﴿ إِنَّا كُلَّ شَيۡءٍ خَلَقۡنَٰهُ بِقَدَرٖ 49 ﴾ [القمر: 49] 

ความว่า “แท้จริงทุก ๆ สิ่งนั้นเราสร้างมันด้วยเกาะดัร” (อัล-เกาะมัร 49)

เกาะดัรของอัลลอฮ์คือกำหนดสภาวการณ์ที่พระองค์บันทึกเอาไว้แล้วทั้งสิ้น

 

พี่น้องครับ

ดังนั้น ทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่เลวร้ายที่ประชาชาติมุสลิมต้องเจอล้วนมาจากการกำหนดของอัลลอฮ์ทั้งสิ้น คำถามของเราก็คือ เวลาที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตและปัญหาต่างๆ ที่อัลลอฮ์กำหนดมาเราจะต้องทำอย่างไร? แน่นอนว่า เมื่อมีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นเราก็ต้องแก้ ปัญหามาจากกำหนดของอัลลอฮ์และวิธีแก้ก็มาจากกำหนดของอัลลอฮ์

 ตามวิถีทางที่อัลลอฮ์กำหนดมาเป็น สุนนะตุลลอฮ์ จะแก้ปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาแล้ว เราจะต้องมีปัจจัยหรือมูลเหตุ ที่ภาษาอาหรับเรียกมันว่า “อัสบาบ” มีปัญหาใดเกิดขึ้นเราต้องหามูลเหตุที่จะใช้แก้ปัญหานั้น เหมือนที่อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้พูดถึง ซุลก็อร์นัยน์ ว่า 

 ﴿ إِنَّا مَكَّنَّا لَهُۥ فِي ٱلۡأَرۡضِ وَءَاتَيۡنَٰهُ مِن كُلِّ شَيۡءٖ سَبَبٗا 84 فَأَتۡبَعَ سَبَبًا 85 ﴾ [الكهف: 84،  85] 

ความว่า “แท้จริงเราได้ให้อำนาจแก่เขาในแผ่นดิน และเราประทานปัจจัยมูลเหตุ(สะบับ)ในทุกๆ สิ่งที่เขากระทำ ดังนั้น เขาจึงทำตามมูลเหตุที่รับมาจากพระองค์” (อัล-กะฮ์ฟฺ 84-85)

อัลลอฮ์ประทานความรู้ที่เป็นอัสบาบให้กับซุลก็อรนัยน์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ศอลิห์ มีอำนาจปกครองแผ่นดินจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก สามารถดูแลความเรียบร้อยในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ได้ด้วยความรู้ ด้วยมูลเหตุที่อัลลอฮ์ประทานให้กับท่าน

ดังนั้น เรื่องใดๆ ก็ตามที่เราต้องการจัดการและแก้ปัญหา เราจะต้องหาอัสบาบของมันให้เจอ และต้องจำไว้ว่า ตัวของอัสบาบเองก็เป็นมูลเหตุที่อยู่ในกรอบและกฎเกณฑ์ของเกาะฎออ์เกาะดัรของอัลลอฮ์เช่นเดียวกัน

 قال ابن تيمية: فليس في الدنيا والآخرة شيء بلا سبب. والله تعالى خالق الأسباب والمسببات. [مجموع الفتاوى 8/70]

ความว่า ไม่มีสิ่งใดไม่ว่าในดุนยาหรืออาคิเราะฮ์ที่เกิดขึ้นโดยไร้มูลเหตุ อัลลอฮ์เป็นผู้สร้างทั้งตัว อัสบาบ(มูลเหตุ)และมุสับบะบาต(ผลของมูลเหตุนั้น)

อย่างไรก็ตาม บางทีเราอาจจะไม่รู้ว่า อัสบาบ หรือ มูลเหตุ ที่จะใช้แก้ปัญหานั้น มันมีอยู่สองประเภทด้วยกัน

ประเภทที่หนึ่ง อัสบาบ เกานียะฮ์ คือ มูลเหตุที่เราสัมผัสได้หรือเข้าใจวิธีการทำงานของมันได้ เช่น เมื่อหิวก็ต้องกินเพื่อให้หายหิว การหาอาหารมากินเป็นอัสบาบเกานียะฮ์ หรือเมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเยียวยารักษา การใช้ยาเพื่อจะได้หายจากการเจ็บป่วยก็คืออัสบาบเกานียะฮ์ และเมื่อถูกทำร้ายก็ต้องป้องกันตัวเองจะได้ปลอดภัย เวลาต่อสู้ในสมรภูมิก็ต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ มีการวางแผนตามพิชัยสงคราม เหล่านี้ถือเป็นอัสบาบเกานียะฮ์ อย่างนี้เป็นต้น เช่นที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿وَأَعِدُّواْ لَهُم مَّا ٱسۡتَطَعۡتُم مِّن قُوَّةٖ وَمِن رِّبَاطِ ٱلۡخَيۡلِ تُرۡهِبُونَ بِهِۦ عَدُوَّ ٱللَّهِ وَعَدُوَّكُمۡ﴾ [الأنفال: 60] 

ความว่า “พวกเจ้าจงเตรียมความพร้อมตามที่พวกเจ้ามีความสามารถเพื่อรับมือพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นสรรพกำลังใด และเตรียมม้าไว้ เพื่อที่พวกเจ้าจะทำให้ศัตรูของอัลลอฮ์และศัตรูของพวกเจ้าหวั่นเกรง” (อัล-อันฟาล 60)

ประเภทที่สอง อัสบาบ ชัรอียะฮ์ คือ มูลเหตุที่อัลลอฮ์มีคำสั่งใช้ให้เราทำ แม้ว่าดูผิวเผินเราสัมผัสมันไม่ได้โดยตรง หรือบางทีเราไม่เข้าใจวิธีการทำงานของมัน แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นบทบัญญัติของอัลลอฮ์และแบบอย่างเราะสูลของพระองค์

ถ้าเราทานข้าวเพื่อหายหิวเราเข้าใจได้ว่ามันคืออัสบาบเกานียะฮ์ แต่พร้อมๆ กับการทานข้าวเราขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ด้วย ตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สอนให้เราอ่าน เราไม่เข้าใจว่ามันมีผลอย่างไรก็จริง แต่เมื่ออัลลอฮ์และเราะสูลบอกให้เราทำย่อมต้องมีผลต่อตัวของเราอย่างแน่นอน จึงเรียกมันว่า อัสบาบชัรอียะฮ์

เวลาป่วยก็เช่นกัน พร้อมๆ กับการเยียวยารักษา เราก็ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ให้โรคป่วยหายไป หรือเวลาที่อยู่ในสมรภูมิสงครามนอกจากต้องมีการเตรียมตัวและสรรพกำลังต่างๆ ให้พร้อมแล้ว อัลลอฮ์ก็ยังสั่งให้มุสลิมขอดุอาอ์และรำลึกถึงพระองค์ให้มากๆ ด้วย พระองค์บอกว่ามันคือมูลเหตุและปัจจัยที่จะทำให้พวกเราได้รับชัยชนะ

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِذَا لَقِيتُمۡ فِئَةٗ فَٱثۡبُتُواْ وَٱذۡكُرُواْ ٱللَّهَ كَثِيرٗا لَّعَلَّكُمۡ تُفۡلِحُونَ 45﴾ [الأنفال: 45] 

ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! เมื่อพวกเจ้าปะทะกับศัตรูคู่สงครามใดๆ ก็จงยืนหยัดเถิด และจงรำลึกถึงอัลลอฮ์ให้มาก ๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (อัล-อันฟาล 45)

 

พี่น้องครับ

            การซิกิรต่ออัลลอฮ์ในขณะที่ประจัญบานกับศัตรูมันเป็นมูลเหตุแห่งชัยชนะได้อย่างไร? ในความคิดของเรามันแทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการแพ้ชนะในการต่อสู้กับศัตรู แต่อัลลอฮ์สั่งให้ซิกิรต่อพระองค์ให้มากในเวลาสุ่มเสี่ยงแบบนั้น เพราะมันเป็นอัสบาบชัรอียะฮ์ บางทีเราอาจจะยึดโยงอยู่กับอัสบาบเกานียะฮ์มากจนเกินไป จนทำให้เราไม่สนใจกับอัสบาบชัรอียะฮ์ ทั้งๆ ที่สองอย่างนั้นก็เป็นมูลเหตุเหมือนกัน และบางทีอัสบาบชัรอียะฮ์อาจจะมีพลังมากกว่าอัสบาบเกานียะฮ์ด้วยซ้ำไป

และในจำนวนอัสบาบชัรอียะฮ์ ก็คือ การขอดุอาอ์

ทุกวันนี้เวลาที่เราลำบากเรามักจะได้ยินคำแนะนำว่า ขอดุอาอ์ให้มาก แต่เรากลับรู้สึกว่า แค่ดุอาอ์หรือ ? เราดูแคลนการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ ทั้งๆ ที่มันเป็นมูลเหตุสำคัญที่จะคลี่คลายปัญหาเราได้ เราไม่มั่นใจในพลังของดุอาอ์ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่า ที่เราไม่มั่นใจในดุอาอ์ เป็นเพราะตัวดุอาอ์ไม่มีพลัง หรือเพราะเราเองไม่มีพลังเวลาขอดุอาอ์

เหมือนที่อิบนุล ก็อยยิม ได้อธิบายว่า

قال ابن القيم: والدعاء من أنفع الأدوية، وهو عدو البلاء يدفعه ويعالجه ويمنع نزوله ويرفعه أن يخففه إذا نزل، وهو سلاح المؤمن، وله مع البلاء ثلاث مقامات:

أحدها: أن يكون أقوى من البلاء فيدفعه.

الثاني: أن يكون أضعف من البلاء فيقوى عليه البلاءُ فيصاب به العبد ولكن قد يخففه وإن كان ضعيفًا.

الثالث: أن يتقاوما ويمنع كل واحد منهما صاحبه.

[الداء والدواء ص11]

ความว่า ดุอาอ์นั้นเป็นสิ่งที่ใช้เยียวยาแก้ปัญหาได้อย่างดีที่สุด ดุอาอ์เป็นคู่ปรับของบะลาอ์/บททดสอบ มันจะจัดการและขัดขวางไม่ให้บะลาอ์ลงมา ถ้าลงมาแล้วก็จะขจัดให้มันหมดไป หรือช่วยทุเลาให้มันเบาลงได้ ดุอาอ์เป็นอาวุธของผู้ศรัทธา สถานะของมันในการจัดการบะลาอ์นั้นมีอยู่สามแบบ คือ

หนึ่ง ดุอาอ์มีความแข็งแกร่งกว่าบะลาอ์ มันจึงสามารถรับมือได้

สอง ดุอาอ์อ่อนแอกว่าบะลาอ์ ดังนั้น บะลาอ์จึงมีผลเกิดขึ้นกับบ่าวได้ แต่ดุอาอ์ก็ยังช่วยทุเลาความหนักหน่วงของบะลาอ์แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม

สาม ทั้งดุอาอ์และบะลาอ์มีความแข็งแกร่งเท่ากัน เมื่อนั้นทั้งสองก็จะดันกันไปมาไม่มีใครเหนือกว่าใคร (ดูเพิ่มเติมใน อัด-ดาอ์ วะ อัด-ดะวาอ์ หน้า 11)

 

พี่น้องครับ

ดุอาอ์ เป็นเรื่องเล็กน้อยที่สุดแล้วในความสามารถของเราทุกคนที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยแรงอะไรให้สิ้นเปลืองมากมายเลย แต่ผลของมันนั้นยิ่งใหญ่เหลือคณา ดังนั้น ดุอาอ์จึงใช้แรงน้อย แต่มีผลอันยิ่งใหญ่

ในสงครามบะดัร ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รับข่าวแล้วท่านจะได้รับชัยชนะ แต่ท่านก็ยังขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์อย่างหนักแน่นและเข้มข้น ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้เล่าว่า

إنَّ رَسولَ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ كانَ يُرِينَا مَصَارِعَ أَهْلِ بَدْرٍ بالأمْسِ، يقولُ: هذا مَصْرَعُ فُلَانٍ غَدًا، إنْ شَاءَ اللَّهُ. قالَ: فَقالَ عُمَرُ: فَوَالَّذِي بَعَثَهُ بالحَقِّ، ما أَخْطَؤُوا الحُدُودَ الَّتي حَدَّ رَسولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ. [حديث عمر بن الخطاب، رواه مسلم 2873]

ความว่า แท้จริงแล้ว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ชี้สถานที่จบชีวิตของศัตรูในสงครามบะดัรก่อนจะเกิดสงครามจริงหนึ่งวัน ท่านบอกว่า “ตรงนี้คือที่ตายของคนนี้ ตรงนั้นคือที่ตายของคนนั้นในวันพรุ่งนี้ อินชาอ์อัลลอฮ์” ท่านอุมัร เล่าต่อไปว่า ขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ผู้ทรงแต่งตั้งท่านนบีด้วยความสัจจริง วันรุ่งขึ้น พวกเขาตาย ณ สถานที่ดังกล่าวไม่ผิดไปจากที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ชี้ไว้เลยแม้แต่น้อย” (หะดีษบันทึกโดย มุสลิม 2873)

ในอีกรายงานหนึ่งมีเพิ่มเติมว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ขอดุอาอ์อย่างยาวนานเพื่อให้อัลลอฮ์ช่วยเหลือชาวมุสลิม แม้ว่าท่านจะได้รับข่าวดีแล้วก็ตาม ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เป็นผู้รายงานว่า

لَمَّا كانَ يَوْمُ بَدْرٍ نَظَرَ رَسولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وَسَلَّمَ إلى المُشْرِكِينَ وَهُمْ أَلْفٌ، وَأَصْحَابُهُ ثَلَاثُ مِائَةٍ وَتِسْعَةَ عَشَرَ رَجُلًا، فَاسْتَقْبَلَ نَبِيُّ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وَسَلَّمَ القِبْلَةَ، ثُمَّ مَدَّ يَدَيْهِ، فَجَعَلَ يَهْتِفُ برَبِّهِ: اللَّهُمَّ أَنْجِزْ لي ما وَعَدْتَنِي، اللَّهُمَّ آتِ ما وَعَدْتَنِي، اللَّهُمَّ إنْ تُهْلِكْ هذِه العِصَابَةَ مِن أَهْلِ الإسْلَامِ لا تُعْبَدْ في الأرْضِ، فَما زَالَ يَهْتِفُ برَبِّهِ، مَادًّا يَدَيْهِ مُسْتَقْبِلَ القِبْلَةِ، حتَّى سَقَطَ رِدَاؤُهُ عن مَنْكِبَيْهِ، فأتَاهُ أَبُو بَكْرٍ فأخَذَ رِدَاءَهُ، فألْقَاهُ علَى مَنْكِبَيْهِ، ثُمَّ التَزَمَهُ مِن وَرَائِهِ، وَقالَ: يا نَبِيَّ اللهِ، كَفَاكَ مُنَاشَدَتُكَ رَبَّكَ؛ فإنَّه سَيُنْجِزُ لكَ ما وَعَدَكَ. [حديث عمر بن الخطاب، رواه مسلم 1763]

ความว่า ในวันที่เกิดสงครามบะดัร ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มองไปยังศัตรูแล้วเห็นพวกเขาเป็นพัน ในขณะที่เศาะหาบะฮ์ของท่านมีเพียงสามร้อยสิบเก้าคน ท่านนบีจึงหันไปทางกิบละฮ์ ยกมือขึ้น และขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ขอทรงทำให้สัญญาที่พระองค์ให้ไว้กับฉันเป็นจริงด้วยเถิด โอ้อัลลอฮ์ มอบสัญญาที่พระองค์บอกไว้กับฉันให้เกิดขึ้นจริงด้วยเถิด โอ้อัลลอฮ์ หากพระองค์ทำให้ชาวมุสลิมกลุ่มนี้สูญสิ้นไปก็จะไม่มีผู้ใดเหลือให้อิบาดะฮ์ต่อพระองค์อีกแล้ว” ท่านพร่ำวอนเรียกร้องขอต่ออัลลอฮ์อย่างถึงที่สุด ด้วยการยกมือขึ้นและหันไปทางกิบละฮ์ จนกระทั่งผ้าคลุมหลุดออกไปจากบ่า ท่านอบู บักร์เห็นดังนั้นก็รีบมาหยิบผ้าและคลุมบ่าให้ท่าน คอยดูแลท่านอยู่ด้านหลัง พร้อมกับกล่าวกับท่านนบีว่า โอ้ นบีของอัลลอฮ์ พอแล้ว ท่านขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์มากพอแล้ว พระองค์จะทำให้สิ่งที่สัญญาไว้กับท่านเป็นจริงอย่างแน่นอน (บันทึกโดยมุสลิม 1763)

สุบหานัลลอฮ์ ทั้งที่พระองค์แจ้งข่าวดีเกี่ยวกับชัยชนะของสงครามบะดัรไว้แล้ว แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ไม่ละเลยและเฉยเมยต่อการแสวงหาอัสบาบ ด้วยการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์อย่างแน่วแน่และไม่ย่อท้อ

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

โศกนาฏกรรมในดินแดนปาเลสไตน์ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและยาวนาน พี่น้องของเราต้องพบกับความยากลำบากที่ไม่อาจจะสาธยายได้ ความช่วยเหลือยังคงเป็นสิ่งจำเป็น จึงขอเชิญชวนให้หยิบยื่นการบริจาคตามกำลังความสามารถผ่านองค์กรความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมที่เชื่อถือได้ และอย่าหยุดที่จะขอดุอาอ์ให้พี่น้องเราที่ปาเลสไตน์ จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ความปลอดภัยโดยแท้จริง

اللَّهُمَّ أنْجِ المُسْتَضْعَفِينَ مِنَ المُؤْمِنِينَ فِيْ فِلَسْطِيْنَ، اللَّهُمَّ اشْدُدْ وَطْأَتَكَ علَى الصَّهَايِنَةِ، اللَّهُمَّ اجْعَلْهَا عَلَيْهِمْ سِنِينَ كَسِنِي يُوسُفَ.

โอ้อัลลอฮ์ ของทรงพิทักษ์ผู้ศรัทธาทั้งหลายที่ถูกข่มเหงในดินแดนปาเลสไตน์ให้พวกเขาปลอดภัย ขอพระองค์ลงโทษให้หนักแก่บรรดาไซออนิสต์ ขอให้พวกเขาประสบกับภัยพิบัติเหมือนในยุคของนบียูซุฟ[1]

อามีน ยา ร็อบบัล อาละมีน



[1] ปรับมาจากดุอาอ์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยใช้ขอดุอาอ์เป็นกุนูตนาซิละฮ์เพื่อให้อัลลอฮ์จัดการพวกกุเรชที่รังแกผู้ศรัทธาในสมัยของท่าน (รายงานโดยอบู ฮุร็อยเราะฮ์ บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 6393)

أنَّ النَّبيَّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ كانَ إذَا قَالَ: سَمِعَ اللَّهُ لِمَن حَمِدَهُ، في الرَّكْعَةِ الآخِرَةِ مِن صَلَاةِ العِشَاءِ؛ قَنَتَ: اللَّهُمَّ أنْجِ عَيَّاشَ بنَ أبِي رَبِيعَةَ، اللَّهُمَّ أنْجِ الوَلِيدَ بنَ الوَلِيدِ، اللَّهُمَّ أنْجِ سَلَمَةَ بنَ هِشَامٍ، اللَّهُمَّ أنْجِ المُسْتَضْعَفِينَ مِنَ المُؤْمِنِينَ، اللَّهُمَّ اشْدُدْ وَطْأَتَكَ علَى مُضَرَ، اللَّهُمَّ اجْعَلْهَا عليهم سِنِينَ كَسِنِي يُوسُفَ. [حديث أبي هريرة، رواه البخاري 6393]


วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - อะมัลในเดือนชะอฺบาน - ซุฟอัม อุษมาน

    



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - อะมัลในเดือนชะอฺบาน - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - อะมัลในเดือนชะอฺบาน - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


อัลหัมดุลิลลาฮ์ เราทุกคนขอบคุณชุโกรต่ออัลลอฮ์ และยินดีอย่างมากมายที่ชีวิตของเราได้เดินทางมาสู่เดือนชะอฺบาน เดือนที่ถือว่าเป็นประตูสู่เดือนเราะมะฎอน เป็นช่วงแห่งการเตรียมตัวต้อนรับฤดูกาลแห่งอิบาดะฮ์ที่เข้มข้นมากขึ้นไปอีก ตั้งแต่เดือนเราะญับที่ผ่านมาแล้ว เราได้บอกให้พี่น้องตื่นตัวในเรื่องนี้ เหมือนที่คนในอดีตเขาพูดกันว่า เราะญับคือเดือนแห่งการเพาะปลูก ชะอฺบานคือเดือนแห่งการรดน้ำ และเราะมะฎอนคือเดือนแห่งการเก็บเกี่ยว[1]

นี่คือความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแสวงหาและทุ่มเทเพื่ออะมัลอิบาดะฮ์ ก่อนหน้านี้เราอาจจะเข้าใจว่าต้องรอให้ถึงเราะมะฎอนก่อนแล้วค่อยลงมือทุ่มเท ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วเราจะไปเก็บเกี่ยวตอนไหนหากเราไม่ได้เตรียมตัวก่อนหน้าที่จะเข้าสู่เราะมะฎอน

 

พี่น้องครับ

วันนี้ มาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งกับพวกเราทุกคน ทั้งผู้พูดและผู้ฟังถึงอะมัลต่างๆ ที่สมควรทำในเดือนนี้ เป็นเสมือนการอุ่นเครื่องก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเดือนเราะมะฎอนที่ประเสริฐที่สุดในรอบปี เดือนชะอฺบานนี้มีสุนนะฮ์อะไรบ้างหรือภารกิจอะไรบ้างที่เราต้องให้ความสำคัญ

ประการที่หนึ่ง ขอย้ำสำหรับผู้ที่ยังมีหนี้การถือศีลอดที่ยังไม่ได้ชดใช้สำหรับใครที่ยังมีค้างอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดามุสลิมะฮ์ทั้งหลาย ให้รีบใช้โอกาสในเดือนนี้เพื่อถือศีลอดชดใช้ให้หมดเสียก่อน อย่าประวิงเวลาหรือละเลยจนรอให้ถึงเราะมะฎอนโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าถึงเราะมะฎอนใหม่ในขณะที่ของเก่ายังค้างอยู่ มันจะมีปัญหาใหม่เข้ามา นั่นก็คือ นอกจากจะต้องชดใช้ของเก่าต่อไปหลังเราะมะฎอนแล้ว เขายังต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮ์ด้วยการจ่ายอาหารให้คนยากจนหนึ่งคนต่อหนึ่งวันที่ยังค้างของรอบที่แล้ว เช่นใครที่ยังค้างอยู่หนึ่งวันสองวันหรือกี่วันก็ตามแต่ยังไม่ได้ถือชดใช้ พอเราะมะฎอนใหม่มาถึงเขาก็ต้องถือศีลอดอันใหม่ก่อน และเมื่อเราะมะฎอนออกไปแล้วก็ต้องไปชดใช้ของเก่าที่เหลืออีก พร้อมกับจ่ายกัฟฟาเราะฮ์ตามจำนวนวันที่ค้างเนื่องจากปล่อยให้เราะมะฎอนใหม่เข้ามาทั้งที่ยังชดใช้ของเก่าไม่หมด นี่เป็นเรื่องสำคัญมากที่จำเป็นต้องทราบ

ประการที่สอง การถือศีลอดสุนัตในเดือนชะอฺบาน เป็นอะมัลที่สนับสนุนและส่งเสริมอย่างยิ่ง มีหะดีษหลายหะดีษด้วยกันที่พูดถึงการอุ่นเครื่องก่อนถึงเราะมะฎอนด้วยการถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน

รายงานจากท่านอุซามะฮ์ บิน ซัยด์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมากล่าวว่า ฉันได้พูดกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า โอ้เราะสูลของอัลลอฮฺ ฉันไม่เคยเห็นท่านขยันถือศีลอดในเดือนหนึ่งเดือนใดเหมือนที่ท่านถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน (ในบางรายงานอย่างของท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา บอกว่าไม่เคยเห็นท่านนบีถือศีลอดสุนัตในเดือนอื่นมากไปกว่าถือศีลอดสุนัตในเดือนชะอฺบาน[2]) ท่านนบีจึงตอบซัยด์ว่า

«ذلِكَ شَهْرٌ يغْفُلُ النَّاسُ فِيهِ عَنْهُ، بَيْنَ رَجَبٍ وَرَمَضَانَ، وَهُوَ شَهْرٌ تُرْفَعُ فِيْهِ الأَعْمَالُ إِلَى رَبِّ الْعَالَمِيْنَ، وَأُحِبُّ أَنْ يُرْفَعُ عَمَلِي وَأَنَا صَاِئم». [صحيح النسائي للألباني، 2356، حديث حسن]

ความว่า “นั่นเป็นเดือนที่ผู้คนละเลยหลงลืม เพราะมันอยู่ระหว่างเราะญับและเราะมะฎอน เป็นเดือนที่อะมัลต่างๆ จะถูกยกขึ้นไปยังพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก และฉันก็รักที่จะให้อะมัลของฉันถูกยกไปในขณะที่ฉันถือศีลอดอยู่” (เศาะฮีห์ อัน-นะสาอีย์ ของอัล-อัลบานีย์ 2356 เป็นหะดีษหะสัน)

คนอาหรับในอดีตจะให้ความสำคัญกับเดือนเราะญับเพราะเป็นเดือนต้องห้าม ส่วนเดือนเราะมะฎอนก็เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมให้ความสำคัญ ทำให้เดือนชะอฺบานที่อยู่ตรงกลางไม่มีใครให้ความสนใจและถูกหลงลืม ในขณะที่เดือนนี้เป็นเดือนสำคัญเพราะอัลลอฮ์จะรวบรวมอะมัลของบ่าวในรอบปีเพื่อยกขึ้นไปยังพระองค์ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็บอกหิกมะฮ์หรือเหตุผลที่ท่านถือศีลอดอย่างมากมายในเดือนนี้เนื่องจากต้องการให้อะมัลของท่านถูกยกขึ้นไปในขณะที่ท่านอยู่ในสภาพของคนถือศีลอด ซึ่งเป็นสภาพที่ดีตลอดทั้งวัน ไม่ว่าอะมัลจะถูกยกไปเวลาไหนท่านก็อยู่ในสภาพที่ดีอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้นจึงอยากเรียกร้องเชิญชวนให้ลองถือศีลอดในเดือนนี้ดู มันไม่ได้ยากมาก และไม่ได้บอกให้เราถือศีลอดทั้งเดือน เอาเท่าที่ทำได้ ให้เราลองเลือกดูเองว่าสามารถทำได้กี่วันตามความรู้สึก ความปรารถนา และความสะดวกของเรา ให้เราได้เอาสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มาปฏิบัติใช้บ้าง อินชาอัลลอฮ์

อย่างไรก็ตาม อนุญาตให้ใครที่ต้องการถือศีลอดชะอฺบานทั้งเดือนได้ยกเว้นสองสามวันก่อนจะหมดเดือน หรือที่เรียกว่า “เยามุชชักก์” เป็นวันที่สงสัยว่าจะเข้าเดือนใหม่นั่นเอง[3]

 

พี่น้องครับ

ประการที่สาม ขณะที่มีหะดีษเศาะฮีห์พูดถึงการถือศีลอดเดือนชะอฺบาน ในทางตรงกันข้ามก็มีหะดีษเฎาะอีฟที่มีสายรายงานอ่อน และหะดีษเมาฎูอฺที่เป็นหะดีษปลอมมากมายพูดถึงความประเสริฐของเดือนชะอฺบาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องระวังและหลีกห่างให้มาก ตัวอย่างเช่น หะดีษที่พูดถึงนิศฟูชะอฺบาน ซึ่งไม่ปรากฏสายรายงานที่เศาะฮีห์ใดๆ เลยในเรื่องนี้[4] พฤติกรรมบางอย่างที่ถูกทำในคืนนี้อาจจะเป็นบิดอะฮ์/อุตริกรรมในศาสนา ซึ่งอุละมาอ์อย่างท่านอิมาม อัน-นะวาวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮ์ ก็ได้เตือนไว้แล้วว่าให้ระวังการทำอุตริกรรมในเดือนนี้ เช่นการละหมาดเราะฆออิบในคืนนิศฟูชะอฺบาน[5]  

  

พี่น้องครับ

เพียงพอแล้วที่เราจะปฏิบัติตามสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในการทำอะมัลอิบาดะฮ์ต่างๆ นอกเหนือจากการถือศีลอดแล้วก็สามารถทำอิบาดะฮ์อื่นๆ ได้ตามกรอบของสุนนะฮ์ เช่นการอ่านอัลกุรอาน การบริจาค การซิกรุลลอฮ์ เป็นต้น ให้เป็นเหมือนการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่โหมดเราะมะฎอนอย่างเต็มที่ ด้วยความตั้งใจที่ดี การฝึกฝนทางร่างกาย การจัดวางตารางที่เหมาะสมสำหรับการทำอะมัลอิบาดะฮ์ต่างๆ ให้เต็มที่กับเดือนเราะมะฎอน ที่เป็นเสมือนฤดูกาลแห่งการตักตวงอาคิเราะฮ์อันยิ่งใหญ่ของเราในรอบปี อินชาอัลลอฮ์

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน

ตลอดทั้งปีเรามุ่งมั่นอย่างเข้มข้นกับการแสวงหาดุนยาไม่หยุดไม่หย่อน ดังนั้น เมื่อฤดูกาลแห่งการทำความดีมาถึงก็ขอให้เราได้ทบทวนอาคิเราะฮ์อย่างทุ่มเทด้วย ดุนยาที่เราแสวงหาอัลลอฮ์ได้ให้กับเราตามที่เราต้องการแล้ว แต่อย่าแสวงหาดุนยาจนลืมอาคิเราะฮ์เพราะนั่นคือสัญญาณไม่ดี เป็นสัญญาณว่าเรากำลังจะขาดทุนหนัก อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيۡهِمۡ أَعۡمَٰلَهُمۡ فِيهَا وَهُمۡ فِيهَا لَا يُبۡخَسُونَ 15 أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ لَيۡسَ لَهُمۡ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ إِلَّا ٱلنَّارُۖ وَحَبِطَ مَا صَنَعُواْ فِيهَا وَبَٰطِلٞ مَّا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 16﴾ [هود: 15،  16] 

ความว่า “ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมันอย่างเดียว เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วน เฉพาะการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในสิ่งนั้นแต่อย่างใด ชนเหล่านั้น พวกเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนอันใดในโลกอาคิเราะฮ์นอกจากไฟนรก สิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ในโลกดุนยาก็จะไร้ผล และสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ก็จะสูญเสียไปหมดสิ้น” (ฮูด 15-16)

การที่คนเรามุ่งมั่นทำแต่ดุนยาอย่างเดียว ทำให้เขาเสี่ยงที่จะขาดทุนในอาคิเราะฮ์ ตรงกันข้ามกับคนที่ทำอะมัลเพื่ออาคิเราะฮ์ ซึ่งอัลลอฮ์จะทรงตอบแทนให้เขาในดุนยาโดยปริยายด้วย

﴿مَنۡ عَمِلَ صَٰلِحٗا مِّن ذَكَرٍ أَوۡ أُنثَىٰ وَهُوَ مُؤۡمِنٞ فَلَنُحۡيِيَنَّهُۥ حَيَوٰةٗ طَيِّبَةٗۖ وَلَنَجۡزِيَنَّهُمۡ أَجۡرَهُم بِأَحۡسَنِ مَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 97﴾ [النحل: 97]    

ความว่า “ผู้ใดที่ทำอะมัลศอลิห์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอน เราจะตอบแทนพวกเขาด้วยรางวัลที่ดียิ่งที่สุดตามที่พวกเขาได้ปฏิบัติมา” (อัน-นะห์ลฺ 97)

การทำอะมัลศอลิห์เพื่ออัลลอฮ์ด้วยความศรัทธาอย่างบริสุทธิ์ใจจะทำให้ได้รับชีวิตที่ดีตั้งแต่ยังอยู่ในดุนยา และเมื่อกลับไปสู่อาคิเราะฮ์ก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากยิ่งกว่าที่เคยได้รับในดุนยาอีก

เพราะฉะนั้น เมื่อถึงวันเวลาและฤดูกาลแห่งการทำดี เราจึงต้องพยายามทุ่มเทเพื่อจะตักตวง และเตรียมตัวในการทำให้ตัวเองเป็นบ่าวผู้แสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์ โดยไม่ละเลยและหลงลืม ขออัลลอฮ์ประทานเตาฟิก อามีน



[1] رَجَبٌ شَهْرُ الْبَذْرِ، وَشَعْبَانُ شَهْرُ السَّقْيِ، وَرَمَضَانُ شَهْرُ الْحَصَادِ.

[2] عَنْ عَائِشَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهَا، قَالَتْ: كانَ رَسولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ يَصُومُ حتَّى نَقُولَ: لا يُفْطِرُ، ويُفْطِرُ حتَّى نَقُولَ: لا يَصُومُ، فَما رَأَيْتُ رَسولَ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ اسْتَكْمَلَ صِيَامَ شَهْرٍ إلَّا رَمَضَانَ، وما رَأَيْتُهُ أكْثَرَ صِيَامًا منه في شَعْبَانَ. [البخاري 1969]

[3] «لَا تَقَدَّمُوا رَمَضانَ بصَوْمِ يَومٍ ولا يَومَيْنِ إلَّا رَجُلٌ كانَ يَصُومُ صَوْمًا، فَلْيَصُمْهُ». [رواه مسلم عن أبي هريرة، 1082]

[4] ดูเพิ่มเติมที่ t.ly/4Afj1

[5] قال النووي رحمه الله في "المجموع" (3/548) : " الصلاة المعروفة بصلاة الرغائب , وهي ثنتا عشرة ركعة تصلى بين المغرب والعشاء ليلة أول جمعة في رجب , وصلاة ليلة نصف شعبان مائة ركعة وهاتان الصلاتان بدعتان ومنكران قبيحتان ولا يغتر بذكرهما في كتاب قوت القلوب , وإحياء علوم الدين , ولا بالحديث المذكور فيهما فإن كل ذلك باطل ، ولا يغتر ببعض من اشتبه عليه حكمهما من الأئمة فصنف ورقات في استحبابهما فإنه غالط في ذلك , وقد صنف الشيخ الإمام أبو محمد عبد الرحمن بن إسماعيل المقدسي كتابا نفيسا في إبطالهما فأحسن فيه وأجاد رحمه الله" انتهى .


วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - ซื่อสัตย์ในศรัทธา - ซุฟอัม อุษมาน




   ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - ซื่อสัตย์ในศรัทธา - ซุฟอัม อุษมาน (youtube.com)

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - ซื่อสัตย์ในศรัทธา - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

อัลหัมดุลิลลาฮ์ ชุโกรต่ออัลลอฮ์ เรายังคงรักษาความเป็นผู้ศรัทธา จนกระทั่งทุกลมหายใจของเรา ความศรัทธาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตการเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

ชีวิตของเราถ้าไม่มีความศรัทธาต่ออัลลอฮ์จะเป็นชีวิตที่ไม่มีความหมาย ชีวิตที่ไม่ศรัทธาเมื่อไปถึงวันอาคิเราะฮ์จะสูญเปล่าไม่มีอะไรเหลือ ดังนั้น รักษาความศรัทธาของเรายิ่งกว่าชีวิต ให้ความศรัทธาของเราเป็นความศรัทธาที่สัจจริงต่ออัลลอฮ์ แล้วมันจะเกิดผลทั้งในดุนยานี้และในอาคิเราะฮ์

การที่เราจะมีความสุขในดุนยาและประสบความสำเร็จในวันอาคิเราะฮ์ ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ในการศรัทธาของเราต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَكُونُواْ مَعَ ٱلصَّٰدِقِينَ 119﴾ [التوبة: 119]

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และจงอยู่ในบรรดาคนที่มีความซื่อสัตย์” (อัต-เตาบะฮ์ 119)

ทำไมเราบอกว่าต้องมีความซื่อสัตย์ในการศรัทธา? เพราะบางคนที่ปากพูดว่ามีความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา แต่ในใจกลับปฏิเสธและไม่มีความศรัทธาอย่างแท้จริง

การซื่อสัตย์ในศรัทธาเป็นหนึ่งในจำนวนเงื่อนไขของกะลิมะฮ์ ชะฮาดะฮ์ การปฏิญาณตนเป็นมุสลิม “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์” ในเมื่อเราได้ปฏิญาณตนแล้วว่ายอมรับในการเป็นพระเจ้าของอัลลอฮ์ ก็ต้องให้เป็นการปฏิญาณตนที่มีความบริสุทธิ์ใจ มีความซื่อสัตย์ต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

เงื่อนไขของชะฮาดะฮ์หรือคำปฏิญาณนั้นรวมอยู่ในคำพูดที่ว่า

علمٌ يقينٌ وإخلاص وصدقك # مع محبة وانقياد والقبول لها

وزيد ثامنها الكفران منك بما # سوى الإله من الأوثان قد أُلِّهَا

ประกอบด้วย:

1) อิลม์/ความรู้ 2) ยะกีน/ความมั่นใจ 3) อิคลาศ/ความบริสุทธิ์ใจ 4) ศิดก์/ความซื่อสัตย์ 5) มะหับบะฮ์/ความรัก 6) อินกิยาด/การสยบศิโรราบ 7) เกาะบูล/การยอมรับปฏิบัติตามคำสั่ง 8) การปฏิเสธสิ่งเคารพอื่นที่เป็นภาคี นอกจากอัลลอฮ์พระเจ้าที่แท้จริงพระองค์เดียวเท่านั้น

ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่าเรามีความซื่อสัตย์ต่ออัลลอฮ์ในการศรัทธาของเราหรือไม่

 

พี่น้องครับ

อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงชื่นชมบรรดาคนที่มีความซื่อสัตย์ในการศรัทธา มีใครบ้าง? แน่นอนว่า กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มีความซื่อสัตย์ในการศรัทธาก็คือบรรดานบี ตั้งแต่ยุคก่อนหน้าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น

นบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม  

﴿وَٱذۡكُرۡ فِي ٱلۡكِتَٰبِ إِبۡرَٰهِيمَۚ إِنَّهُۥ كَانَ صِدِّيقٗا نَّبِيًّا 41﴾ [مريم: 41] 

ความว่า “และจงกล่าวถึงเรื่องของอิบรอฮีมที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นนบี” (มัรยัม 41)

นบีอิสมาอีล อะลัยฮิสสลาม

﴿وَٱذۡكُرۡ فِي ٱلۡكِتَٰبِ إِسۡمَٰعِيلَۚ إِنَّهُۥ كَانَ صَادِقَ ٱلۡوَعۡدِ وَكَانَ رَسُولٗا نَّبِيّٗا 54﴾ [مريم: 54] 

ความว่า “และจงกล่าวถึงเรื่องของอิสมาอีลที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้ซื่อสัตย์ในการทำตามสัญญา เป็นเราะสูล และ เป็นนบี” (มัรยัม 54)

นบีอิดรีส อะลัยฮิสสลาม

﴿وَٱذۡكُرۡ فِي ٱلۡكِتَٰبِ إِدۡرِيسَۚ إِنَّهُۥ كَانَ صِدِّيقٗا نَّبِيّٗا 56﴾ [مريم: 56] 

ความว่า “และจงกล่าวถึงเรื่องของอิบรอฮีมที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นนบี” (มัรยัม 56)

 

พี่น้องครับ

ไม่ใช่เฉพาะบรรดานบีเท่านั้น แม้แต่เศาะหาบะฮ์ของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้รับคำชื่นชมจากอัลลอฮ์เช่นเดียวกัน ว่าเป็นคนที่มีความสัตย์จริงในการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

﴿ مِّنَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ رِجَالٞ صَدَقُواْ مَا عَٰهَدُواْ ٱللَّهَ عَلَيۡهِۖ فَمِنۡهُم مَّن قَضَىٰ نَحۡبَهُۥ وَمِنۡهُم مَّن يَنتَظِرُۖ وَمَا بَدَّلُواْ تَبۡدِيلٗا 23 ﴾ [الأحزاب: 23] 

ความว่า “ในหมู่ผู้ศรัทธานั้นมีบุรุษที่ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่พวกเขาได้สัญญาต่ออัลลอฮ์เอาไว้ ดังนั้นในระหว่างพวกเขามีผู้ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้วตามสัญญาที่ให้ไว้กับอัลลอฮ์ และในหมู่พวกเขามีผู้ที่ยังคอย(การตายชะฮีด) และพวกเขามิได้เปลี่ยนแปลงปณิธานแต่อย่างใด” (อัล-อะห์ซาบ 23)

นี่คือประกาศจากอัลลอฮ์ที่กล่าวถึงความซื่อสัตย์ในการศรัทธาของบรรดาเศาะหาบะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม พวกเขาสัญญาว่าจะช่วยเหลือศาสนาของอัลลอฮ์และพวกเขาก็ทำตามสัญญา พวกเขาสัญญาว่าจะปกป้องท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พวกเขาก็ได้ทำตามที่สัญญาไว้จริงๆ บางคนก็เสียชีวิตก่อน ในขณะที่คนที่เหลืออยู่ก็ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ คนเหล่านี้อัลลอฮ์จะเตรียมผลบุญการตอบแทนที่งดงามอันเนื่องจากความซื่อสัตย์ของพวกเขา ส่วนคนที่ไม่ซื่อสัตย์อย่างพวกมุนาฟิก ปากว่าศรัทธาแต่หัวใจซ่อนการปฏิเสธไว้ อัลลอฮ์จะทรงลงโทษพวกเขาหากพระองค์ไม่อภัยให้

 

พี่น้องครับ

ความศรัทธาเป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่บรรทัดฐานของมันจริงๆ ต้องใช้เกณฑ์วัดที่หัวใจ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความศรัทธาของเราจริงแท้แค่ไหน จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราถูกทดสอบจากอัลลอฮ์ เมื่อไรที่ที่เราเจอปัญหาชีวิต บททดสอบที่เราเจอจะเป็นตัวคัดกรองความศรัทธาของเราว่าเป็นความศรัทธาที่แท้จริงหรือศรัทธาที่ยังไม่เที่ยงแท้พอ อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿أَحَسِبَ ٱلنَّاسُ أَن يُتۡرَكُوٓاْ أَن يَقُولُوٓاْ ءَامَنَّا وَهُمۡ لَا يُفۡتَنُونَ 2 وَلَقَدۡ فَتَنَّا ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِهِمۡۖ فَلَيَعۡلَمَنَّ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ صَدَقُواْ وَلَيَعۡلَمَنَّ ٱلۡكَٰذِبِينَ 3﴾ [العنكبوت: 2،  3] 

ความว่า “มนุษย์คิดหรือว่าพวกเขาจะถูกปล่อยให้กล่าวว่า เราศรัทธาแล้ว โดยที่พวกเขาจะไม่ถูกทดสอบใดกระนั้นหรือ   แท้จริง เราได้ทดสอบบรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเขา ดังนั้น อัลลอฮ์จะทรงจำแนกให้รู้แจ้งถึงบรรดาผู้สัตย์จริง และจะทรงจำแนกให้รู้แจ้งถึงบรรดาผู้กล่าวเท็จ” (อัล-อันกะบูต 2-3)

 

พี่น้องครับ

ตัวอย่างที่เราทุกคนรู้จักดีที่สุดในหมู่เศาะหาบะฮ์ที่มีความซื่อสัตย์ในการศรัทธา ก็คือ ท่านอบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ท่านได้รับฉายาว่า “อัศ-ศิดดีก” ผู้ซื่อสัตย์อย่างแท้จริง รู้ไหมว่าท่านได้รับฉายานี้ด้วยสาเหตุอะไร? เพราะท่านเป็นผู้ที่ศรัทธาอย่างซื่อสัตย์และไม่คลางแคลงสงสัยใดๆ ต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

ฉายานี้เกิดขึ้นตอนที่พวกมุชริกีนมาพูดกับท่านว่า มุหัมมัดเพื่อนของเจ้าอ้างว่าตัวเองเดินทางไปยังบัยตุลมักดิสและขึ้นไปยังท้องฟ้าในเหตุการณ์อิสรออ์มิอฺรอจญ์ ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นภายในคืนเดียว พวกมุชริกีนตั้งตาเฝ้ารอว่าอบู บักร์จะว่าอย่างไร พวกเขาคาดว่าครั้งนี้อบู บักร์จะต้องไม่เชื่อแน่ๆ สุดท้าย พวกเขาต้องหน้าแตกกลับไป เพราะคำตอบของท่านอบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ นั้นหนักแน่นมาก ท่านตอบว่า

"لَئِنْ كَانَ قَاْلَ ذَلِكَ فَقَدْ صَدَقَ" [السلسلة الصحيحة للألباني 306]

ความหมายว่า หากมุหัมมัดพูดอย่างนั้น แสดงว่ามันก็ย่อมเป็นความจริงอย่างแน่นอน (ดู อัซ-ซิลซิละฮ์ อัศ-เศาะฮีหะฮ์ ของ อัล-อัลบานีย์ 306)

นี่คือตัวอย่างแห่งความสัจจริงในการศรัทธา ที่ไม่ได้ทำง่ายๆ แต่ต้องอาศัยความพยายามอย่างยิ่งใหญ่ในการยอมรับและเชื่อฟังอัลลอฮ์และเราะสูลของพระองค์อย่างแน่วแน่ไม่คลางแคลงใจ แน่นอนว่าผลตอบแทนของความซื่อสัตย์นี้ก็ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿وَمَن يُطِعِ ٱللَّهَ وَٱلرَّسُولَ فَأُوْلَٰٓئِكَ مَعَ ٱلَّذِينَ أَنۡعَمَ ٱللَّهُ عَلَيۡهِم مِّنَ ٱلنَّبِيِّ‍ۧنَ وَٱلصِّدِّيقِينَ وَٱلشُّهَدَآءِ وَٱلصَّٰلِحِينَۚ وَحَسُنَ أُوْلَٰٓئِكَ رَفِيقٗا 69﴾ [النساء: 69] 

ความว่า “ผู้ใดที่เชื่อฟังอัลลอฮ์และเราะสูล ชนเหล่านี้จะอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮ์ทรงกรุณาเมตตาพวกเขา อันได้แก่บรรดานบี บรรดาศิดดีกีนผู้ที่มีความซื่อสัตย์ในการศรัทธา บรรดาชุฮาดาอ์ผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม และบรรดาศอลิฮีนผู้ที่มีคุณธรรมประพฤติดี ชนเหล่านี้แหละเป็นมิตรที่ดีที่สุด” (อัน-นิสาอ์ 69)

คนเหล่านี้คือคนกลุ่มที่ดีที่สุด ขอให้เราได้เป็นหนึ่งในจำนวนคนเหล่านี้ด้วยเถิด อามีน ยาร็อบบัลอาละมีน

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน

มีเรื่องราวอีกตัวอย่างหนึ่งที่กล่าวถึงความซื่อสัตย์ในการศรัทธาของเศาะหาบะฮ์ จากหะดีษที่รายงานโดยชั๊ดดาด บิน อัล-ฮาด อัล-ลัยษีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า มีชายเบดูอินคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบอกกับท่านว่าเขาต้องการอพยพไปพร้อมกับท่าน ท่านนบีก็รับเขาและฝากฝังไว้กับเศาะหาบะฮ์บางท่าน เมื่อถึงสงครามหนึ่งชายเบดูอินคนนี้ก็ไม่ร่วมสงครามด้วย ถึงเวลาแบ่งทรัพย์เชลยที่ได้มาจากสงครามท่านนบีก็แบ่งให้เขาเช่นกัน แต่เขากลับพูดว่า “ฉันไม่ได้ตามท่านเพราะสิ่งนี้ ฉันตามท่านเพื่อที่ฉันจะได้ถูกยิงตรงนี้ (พลางชี้ไปที่คอของตัวเองกับลูกธนูดอกหนึ่ง) แล้วฉันก็จะได้ตายชะฮีดและได้เข้าสวรรค์”  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตอบกับเขาว่า

«إن تَصْدُقِ اللهَ يَصْدُقْكَ»

ความว่า “ถ้าท่านซื่อสัตย์กับอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทำให้มันเป็นจริง”

แล้วพวกเขาก็กลับไปต่อสู้ในสมรภูมิต่อ จนกระทั่งเมื่อสงครามจบลง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ถามหาชายเบดูอินคนนั้น บรรดาเศาะหาบะฮ์ก็ออกไปหาและพบเขาเสียชีวิต จึงนำศพเขามาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ปรากฏว่าเขาโดยลูกธนูยิงตรงจุดที่เขาเคยชี้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “เป็นเขาใช่ไหม? คนผู้นี้ซื่อสัตย์กับอัลลอฮ์ พระองค์จึงทำให้สิ่งที่เขาปรารถนากลายเป็นจริง” (ดูใน เศาะฮีห์ อัน-นะสาอีย์ ของ อัล-อัลบานีย์ 1952)[1]

มาชาอ์อัลลอฮ์ นี่คือความศรัทธาอย่างจริงใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนต้องสำรวจตัวเองกับอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา โดยที่คนอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด คนอื่นไม่สามารถจะระบุให้กับเราได้ว่าเราจริงใจแค่ไหนกับพระองค์อัลลอฮ์ มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะต้องตรวจสอบเอง ดังนั้นรักษาดูแลอีมานของเราให้ดี ขอดุอาอ์ให้ทุกย่างก้าวของเรา ทุกคำพูดของเรา ทุกการกระทำของเรา เป็นสิ่งที่สะท้อนความซื่อสัตย์ในการศรัทธาของเราต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างแท้จริง

﴿وَقُل رَّبِّ أَدۡخِلۡنِي مُدۡخَلَ صِدۡقٖ وَأَخۡرِجۡنِي مُخۡرَجَ صِدۡقٖ وَٱجۡعَل لِّي مِن لَّدُنكَ سُلۡطَٰنٗا نَّصِيرٗا 80﴾ [الإسراء: 80] 

ความว่า “จงกล่าวเถิดมุหัมมัด “ข้าแต่พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ ได้โปรดนำข้าพระองค์เข้าสู่ทางเข้าอันสัจจริง และได้โปรดนำข้าพระองค์ออกตามทางออกอันสัจจริง และโปรดประทานหลักฐานอันเข้มแข็งจากพระองค์ และเป็นผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์ด้วยเถิด”” (อัล-อิสรออ์ 80)



[1] ตัวบทภาษาอาหรับ

أنَّ رجلًا مِنَ الأعرابِ جاءَ إلى النَّبيِّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ فآمنَ بِهِ واتَّبعَهُ، ثمَّ قالَ: أُهاجرُ معَكَ، فأوصى بِهِ النَّبيُّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ بعضَ أصحابِهِ، فلمَّا كانَت غزوةٌ غنمَ النَّبيُّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ سبيًا، فقسمَ وقسمَ لَهُ، فأعطى ما قسمَ لَهُ، وَكانَ يرعى ظَهْرَهُم، فلمَّا جاءَ دفعوهُ إليهِ، فقالَ: ما هذا؟ قالوا: قَسمٌ قَسمَهُ لَكَ النَّبيُّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ، فأخذَهُ فجاءَ بِهِ إلى النَّبيِّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ، فقالَ: ما هذا؟ قالَ: قَسمتُهُ لَكَ، قالَ: ما علَى هذا اتَّبعتُكَ، ولَكِنِّي اتَّبعتُكَ على أن أرمى إلى ههُنا، وأشارَ إلى حَلقِهِ بسَهْمٍ، فأموتَ فأدخلَ الجنَّةَ فقالَ: إن تَصدقِ اللَّهَ يَصدقكَ، فلبِثوا قليلًا ثمَّ نَهَضوا في قتالِ العدوِّ، فأتيَ بِهِ النَّبيُّ يحملُ قَد أصابَهُ سَهْمٌ حيثُ أشارَ، فقالَ النَّبيُّ: أَهوَ هوَ؟ قالوا: نعَم، قالَ: صدقَ اللَّهَ فصدقَهُ، ثمَّ كفَّنَهُ النَّبيُّ في جبَّةِ النَّبيِّ، ثمَّ قدَّمَهُ فصلَّى علَيهِ، فَكانَ فيما ظَهَرَ من صلاتِهِ: اللَّهمَّ هذا عبدُكَ خرجَ مُهاجِرًا في سبيلِكَ فقُتلَ شَهيدًا أَنا شَهيدٌ على ذلِكَ. [عن شداد بن الهاد الليثي، صحيح النسائي للألباني 1952].