วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - ซื่อสัตย์ในศรัทธา - ซุฟอัม อุษมาน




   ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - ซื่อสัตย์ในศรัทธา - ซุฟอัม อุษมาน (youtube.com)

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - ซื่อสัตย์ในศรัทธา - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

อัลหัมดุลิลลาฮ์ ชุโกรต่ออัลลอฮ์ เรายังคงรักษาความเป็นผู้ศรัทธา จนกระทั่งทุกลมหายใจของเรา ความศรัทธาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตการเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

ชีวิตของเราถ้าไม่มีความศรัทธาต่ออัลลอฮ์จะเป็นชีวิตที่ไม่มีความหมาย ชีวิตที่ไม่ศรัทธาเมื่อไปถึงวันอาคิเราะฮ์จะสูญเปล่าไม่มีอะไรเหลือ ดังนั้น รักษาความศรัทธาของเรายิ่งกว่าชีวิต ให้ความศรัทธาของเราเป็นความศรัทธาที่สัจจริงต่ออัลลอฮ์ แล้วมันจะเกิดผลทั้งในดุนยานี้และในอาคิเราะฮ์

การที่เราจะมีความสุขในดุนยาและประสบความสำเร็จในวันอาคิเราะฮ์ ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ในการศรัทธาของเราต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَكُونُواْ مَعَ ٱلصَّٰدِقِينَ 119﴾ [التوبة: 119]

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และจงอยู่ในบรรดาคนที่มีความซื่อสัตย์” (อัต-เตาบะฮ์ 119)

ทำไมเราบอกว่าต้องมีความซื่อสัตย์ในการศรัทธา? เพราะบางคนที่ปากพูดว่ามีความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา แต่ในใจกลับปฏิเสธและไม่มีความศรัทธาอย่างแท้จริง

การซื่อสัตย์ในศรัทธาเป็นหนึ่งในจำนวนเงื่อนไขของกะลิมะฮ์ ชะฮาดะฮ์ การปฏิญาณตนเป็นมุสลิม “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์” ในเมื่อเราได้ปฏิญาณตนแล้วว่ายอมรับในการเป็นพระเจ้าของอัลลอฮ์ ก็ต้องให้เป็นการปฏิญาณตนที่มีความบริสุทธิ์ใจ มีความซื่อสัตย์ต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

เงื่อนไขของชะฮาดะฮ์หรือคำปฏิญาณนั้นรวมอยู่ในคำพูดที่ว่า

علمٌ يقينٌ وإخلاص وصدقك # مع محبة وانقياد والقبول لها

وزيد ثامنها الكفران منك بما # سوى الإله من الأوثان قد أُلِّهَا

ประกอบด้วย:

1) อิลม์/ความรู้ 2) ยะกีน/ความมั่นใจ 3) อิคลาศ/ความบริสุทธิ์ใจ 4) ศิดก์/ความซื่อสัตย์ 5) มะหับบะฮ์/ความรัก 6) อินกิยาด/การสยบศิโรราบ 7) เกาะบูล/การยอมรับปฏิบัติตามคำสั่ง 8) การปฏิเสธสิ่งเคารพอื่นที่เป็นภาคี นอกจากอัลลอฮ์พระเจ้าที่แท้จริงพระองค์เดียวเท่านั้น

ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่าเรามีความซื่อสัตย์ต่ออัลลอฮ์ในการศรัทธาของเราหรือไม่

 

พี่น้องครับ

อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงชื่นชมบรรดาคนที่มีความซื่อสัตย์ในการศรัทธา มีใครบ้าง? แน่นอนว่า กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มีความซื่อสัตย์ในการศรัทธาก็คือบรรดานบี ตั้งแต่ยุคก่อนหน้าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น

นบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม  

﴿وَٱذۡكُرۡ فِي ٱلۡكِتَٰبِ إِبۡرَٰهِيمَۚ إِنَّهُۥ كَانَ صِدِّيقٗا نَّبِيًّا 41﴾ [مريم: 41] 

ความว่า “และจงกล่าวถึงเรื่องของอิบรอฮีมที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นนบี” (มัรยัม 41)

นบีอิสมาอีล อะลัยฮิสสลาม

﴿وَٱذۡكُرۡ فِي ٱلۡكِتَٰبِ إِسۡمَٰعِيلَۚ إِنَّهُۥ كَانَ صَادِقَ ٱلۡوَعۡدِ وَكَانَ رَسُولٗا نَّبِيّٗا 54﴾ [مريم: 54] 

ความว่า “และจงกล่าวถึงเรื่องของอิสมาอีลที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้ซื่อสัตย์ในการทำตามสัญญา เป็นเราะสูล และ เป็นนบี” (มัรยัม 54)

นบีอิดรีส อะลัยฮิสสลาม

﴿وَٱذۡكُرۡ فِي ٱلۡكِتَٰبِ إِدۡرِيسَۚ إِنَّهُۥ كَانَ صِدِّيقٗا نَّبِيّٗا 56﴾ [مريم: 56] 

ความว่า “และจงกล่าวถึงเรื่องของอิบรอฮีมที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นนบี” (มัรยัม 56)

 

พี่น้องครับ

ไม่ใช่เฉพาะบรรดานบีเท่านั้น แม้แต่เศาะหาบะฮ์ของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้รับคำชื่นชมจากอัลลอฮ์เช่นเดียวกัน ว่าเป็นคนที่มีความสัตย์จริงในการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

﴿ مِّنَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ رِجَالٞ صَدَقُواْ مَا عَٰهَدُواْ ٱللَّهَ عَلَيۡهِۖ فَمِنۡهُم مَّن قَضَىٰ نَحۡبَهُۥ وَمِنۡهُم مَّن يَنتَظِرُۖ وَمَا بَدَّلُواْ تَبۡدِيلٗا 23 ﴾ [الأحزاب: 23] 

ความว่า “ในหมู่ผู้ศรัทธานั้นมีบุรุษที่ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่พวกเขาได้สัญญาต่ออัลลอฮ์เอาไว้ ดังนั้นในระหว่างพวกเขามีผู้ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้วตามสัญญาที่ให้ไว้กับอัลลอฮ์ และในหมู่พวกเขามีผู้ที่ยังคอย(การตายชะฮีด) และพวกเขามิได้เปลี่ยนแปลงปณิธานแต่อย่างใด” (อัล-อะห์ซาบ 23)

นี่คือประกาศจากอัลลอฮ์ที่กล่าวถึงความซื่อสัตย์ในการศรัทธาของบรรดาเศาะหาบะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม พวกเขาสัญญาว่าจะช่วยเหลือศาสนาของอัลลอฮ์และพวกเขาก็ทำตามสัญญา พวกเขาสัญญาว่าจะปกป้องท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พวกเขาก็ได้ทำตามที่สัญญาไว้จริงๆ บางคนก็เสียชีวิตก่อน ในขณะที่คนที่เหลืออยู่ก็ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ คนเหล่านี้อัลลอฮ์จะเตรียมผลบุญการตอบแทนที่งดงามอันเนื่องจากความซื่อสัตย์ของพวกเขา ส่วนคนที่ไม่ซื่อสัตย์อย่างพวกมุนาฟิก ปากว่าศรัทธาแต่หัวใจซ่อนการปฏิเสธไว้ อัลลอฮ์จะทรงลงโทษพวกเขาหากพระองค์ไม่อภัยให้

 

พี่น้องครับ

ความศรัทธาเป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่บรรทัดฐานของมันจริงๆ ต้องใช้เกณฑ์วัดที่หัวใจ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความศรัทธาของเราจริงแท้แค่ไหน จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราถูกทดสอบจากอัลลอฮ์ เมื่อไรที่ที่เราเจอปัญหาชีวิต บททดสอบที่เราเจอจะเป็นตัวคัดกรองความศรัทธาของเราว่าเป็นความศรัทธาที่แท้จริงหรือศรัทธาที่ยังไม่เที่ยงแท้พอ อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿أَحَسِبَ ٱلنَّاسُ أَن يُتۡرَكُوٓاْ أَن يَقُولُوٓاْ ءَامَنَّا وَهُمۡ لَا يُفۡتَنُونَ 2 وَلَقَدۡ فَتَنَّا ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِهِمۡۖ فَلَيَعۡلَمَنَّ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ صَدَقُواْ وَلَيَعۡلَمَنَّ ٱلۡكَٰذِبِينَ 3﴾ [العنكبوت: 2،  3] 

ความว่า “มนุษย์คิดหรือว่าพวกเขาจะถูกปล่อยให้กล่าวว่า เราศรัทธาแล้ว โดยที่พวกเขาจะไม่ถูกทดสอบใดกระนั้นหรือ   แท้จริง เราได้ทดสอบบรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเขา ดังนั้น อัลลอฮ์จะทรงจำแนกให้รู้แจ้งถึงบรรดาผู้สัตย์จริง และจะทรงจำแนกให้รู้แจ้งถึงบรรดาผู้กล่าวเท็จ” (อัล-อันกะบูต 2-3)

 

พี่น้องครับ

ตัวอย่างที่เราทุกคนรู้จักดีที่สุดในหมู่เศาะหาบะฮ์ที่มีความซื่อสัตย์ในการศรัทธา ก็คือ ท่านอบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ท่านได้รับฉายาว่า “อัศ-ศิดดีก” ผู้ซื่อสัตย์อย่างแท้จริง รู้ไหมว่าท่านได้รับฉายานี้ด้วยสาเหตุอะไร? เพราะท่านเป็นผู้ที่ศรัทธาอย่างซื่อสัตย์และไม่คลางแคลงสงสัยใดๆ ต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

ฉายานี้เกิดขึ้นตอนที่พวกมุชริกีนมาพูดกับท่านว่า มุหัมมัดเพื่อนของเจ้าอ้างว่าตัวเองเดินทางไปยังบัยตุลมักดิสและขึ้นไปยังท้องฟ้าในเหตุการณ์อิสรออ์มิอฺรอจญ์ ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นภายในคืนเดียว พวกมุชริกีนตั้งตาเฝ้ารอว่าอบู บักร์จะว่าอย่างไร พวกเขาคาดว่าครั้งนี้อบู บักร์จะต้องไม่เชื่อแน่ๆ สุดท้าย พวกเขาต้องหน้าแตกกลับไป เพราะคำตอบของท่านอบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ นั้นหนักแน่นมาก ท่านตอบว่า

"لَئِنْ كَانَ قَاْلَ ذَلِكَ فَقَدْ صَدَقَ" [السلسلة الصحيحة للألباني 306]

ความหมายว่า หากมุหัมมัดพูดอย่างนั้น แสดงว่ามันก็ย่อมเป็นความจริงอย่างแน่นอน (ดู อัซ-ซิลซิละฮ์ อัศ-เศาะฮีหะฮ์ ของ อัล-อัลบานีย์ 306)

นี่คือตัวอย่างแห่งความสัจจริงในการศรัทธา ที่ไม่ได้ทำง่ายๆ แต่ต้องอาศัยความพยายามอย่างยิ่งใหญ่ในการยอมรับและเชื่อฟังอัลลอฮ์และเราะสูลของพระองค์อย่างแน่วแน่ไม่คลางแคลงใจ แน่นอนว่าผลตอบแทนของความซื่อสัตย์นี้ก็ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿وَمَن يُطِعِ ٱللَّهَ وَٱلرَّسُولَ فَأُوْلَٰٓئِكَ مَعَ ٱلَّذِينَ أَنۡعَمَ ٱللَّهُ عَلَيۡهِم مِّنَ ٱلنَّبِيِّ‍ۧنَ وَٱلصِّدِّيقِينَ وَٱلشُّهَدَآءِ وَٱلصَّٰلِحِينَۚ وَحَسُنَ أُوْلَٰٓئِكَ رَفِيقٗا 69﴾ [النساء: 69] 

ความว่า “ผู้ใดที่เชื่อฟังอัลลอฮ์และเราะสูล ชนเหล่านี้จะอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮ์ทรงกรุณาเมตตาพวกเขา อันได้แก่บรรดานบี บรรดาศิดดีกีนผู้ที่มีความซื่อสัตย์ในการศรัทธา บรรดาชุฮาดาอ์ผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม และบรรดาศอลิฮีนผู้ที่มีคุณธรรมประพฤติดี ชนเหล่านี้แหละเป็นมิตรที่ดีที่สุด” (อัน-นิสาอ์ 69)

คนเหล่านี้คือคนกลุ่มที่ดีที่สุด ขอให้เราได้เป็นหนึ่งในจำนวนคนเหล่านี้ด้วยเถิด อามีน ยาร็อบบัลอาละมีน

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน

มีเรื่องราวอีกตัวอย่างหนึ่งที่กล่าวถึงความซื่อสัตย์ในการศรัทธาของเศาะหาบะฮ์ จากหะดีษที่รายงานโดยชั๊ดดาด บิน อัล-ฮาด อัล-ลัยษีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า มีชายเบดูอินคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบอกกับท่านว่าเขาต้องการอพยพไปพร้อมกับท่าน ท่านนบีก็รับเขาและฝากฝังไว้กับเศาะหาบะฮ์บางท่าน เมื่อถึงสงครามหนึ่งชายเบดูอินคนนี้ก็ไม่ร่วมสงครามด้วย ถึงเวลาแบ่งทรัพย์เชลยที่ได้มาจากสงครามท่านนบีก็แบ่งให้เขาเช่นกัน แต่เขากลับพูดว่า “ฉันไม่ได้ตามท่านเพราะสิ่งนี้ ฉันตามท่านเพื่อที่ฉันจะได้ถูกยิงตรงนี้ (พลางชี้ไปที่คอของตัวเองกับลูกธนูดอกหนึ่ง) แล้วฉันก็จะได้ตายชะฮีดและได้เข้าสวรรค์”  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตอบกับเขาว่า

«إن تَصْدُقِ اللهَ يَصْدُقْكَ»

ความว่า “ถ้าท่านซื่อสัตย์กับอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทำให้มันเป็นจริง”

แล้วพวกเขาก็กลับไปต่อสู้ในสมรภูมิต่อ จนกระทั่งเมื่อสงครามจบลง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ถามหาชายเบดูอินคนนั้น บรรดาเศาะหาบะฮ์ก็ออกไปหาและพบเขาเสียชีวิต จึงนำศพเขามาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ปรากฏว่าเขาโดยลูกธนูยิงตรงจุดที่เขาเคยชี้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “เป็นเขาใช่ไหม? คนผู้นี้ซื่อสัตย์กับอัลลอฮ์ พระองค์จึงทำให้สิ่งที่เขาปรารถนากลายเป็นจริง” (ดูใน เศาะฮีห์ อัน-นะสาอีย์ ของ อัล-อัลบานีย์ 1952)[1]

มาชาอ์อัลลอฮ์ นี่คือความศรัทธาอย่างจริงใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนต้องสำรวจตัวเองกับอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา โดยที่คนอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด คนอื่นไม่สามารถจะระบุให้กับเราได้ว่าเราจริงใจแค่ไหนกับพระองค์อัลลอฮ์ มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะต้องตรวจสอบเอง ดังนั้นรักษาดูแลอีมานของเราให้ดี ขอดุอาอ์ให้ทุกย่างก้าวของเรา ทุกคำพูดของเรา ทุกการกระทำของเรา เป็นสิ่งที่สะท้อนความซื่อสัตย์ในการศรัทธาของเราต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างแท้จริง

﴿وَقُل رَّبِّ أَدۡخِلۡنِي مُدۡخَلَ صِدۡقٖ وَأَخۡرِجۡنِي مُخۡرَجَ صِدۡقٖ وَٱجۡعَل لِّي مِن لَّدُنكَ سُلۡطَٰنٗا نَّصِيرٗا 80﴾ [الإسراء: 80] 

ความว่า “จงกล่าวเถิดมุหัมมัด “ข้าแต่พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ ได้โปรดนำข้าพระองค์เข้าสู่ทางเข้าอันสัจจริง และได้โปรดนำข้าพระองค์ออกตามทางออกอันสัจจริง และโปรดประทานหลักฐานอันเข้มแข็งจากพระองค์ และเป็นผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์ด้วยเถิด”” (อัล-อิสรออ์ 80)



[1] ตัวบทภาษาอาหรับ

أنَّ رجلًا مِنَ الأعرابِ جاءَ إلى النَّبيِّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ فآمنَ بِهِ واتَّبعَهُ، ثمَّ قالَ: أُهاجرُ معَكَ، فأوصى بِهِ النَّبيُّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ بعضَ أصحابِهِ، فلمَّا كانَت غزوةٌ غنمَ النَّبيُّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ سبيًا، فقسمَ وقسمَ لَهُ، فأعطى ما قسمَ لَهُ، وَكانَ يرعى ظَهْرَهُم، فلمَّا جاءَ دفعوهُ إليهِ، فقالَ: ما هذا؟ قالوا: قَسمٌ قَسمَهُ لَكَ النَّبيُّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ، فأخذَهُ فجاءَ بِهِ إلى النَّبيِّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ، فقالَ: ما هذا؟ قالَ: قَسمتُهُ لَكَ، قالَ: ما علَى هذا اتَّبعتُكَ، ولَكِنِّي اتَّبعتُكَ على أن أرمى إلى ههُنا، وأشارَ إلى حَلقِهِ بسَهْمٍ، فأموتَ فأدخلَ الجنَّةَ فقالَ: إن تَصدقِ اللَّهَ يَصدقكَ، فلبِثوا قليلًا ثمَّ نَهَضوا في قتالِ العدوِّ، فأتيَ بِهِ النَّبيُّ يحملُ قَد أصابَهُ سَهْمٌ حيثُ أشارَ، فقالَ النَّبيُّ: أَهوَ هوَ؟ قالوا: نعَم، قالَ: صدقَ اللَّهَ فصدقَهُ، ثمَّ كفَّنَهُ النَّبيُّ في جبَّةِ النَّبيِّ، ثمَّ قدَّمَهُ فصلَّى علَيهِ، فَكانَ فيما ظَهَرَ من صلاتِهِ: اللَّهمَّ هذا عبدُكَ خرجَ مُهاجِرًا في سبيلِكَ فقُتلَ شَهيدًا أَنا شَهيدٌ على ذلِكَ. [عن شداد بن الهاد الليثي، صحيح النسائي للألباني 1952].


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น