วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - อะมัลในเดือนชะอฺบาน - ซุฟอัม อุษมาน

    



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - อะมัลในเดือนชะอฺบาน - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - อะมัลในเดือนชะอฺบาน - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


อัลหัมดุลิลลาฮ์ เราทุกคนขอบคุณชุโกรต่ออัลลอฮ์ และยินดีอย่างมากมายที่ชีวิตของเราได้เดินทางมาสู่เดือนชะอฺบาน เดือนที่ถือว่าเป็นประตูสู่เดือนเราะมะฎอน เป็นช่วงแห่งการเตรียมตัวต้อนรับฤดูกาลแห่งอิบาดะฮ์ที่เข้มข้นมากขึ้นไปอีก ตั้งแต่เดือนเราะญับที่ผ่านมาแล้ว เราได้บอกให้พี่น้องตื่นตัวในเรื่องนี้ เหมือนที่คนในอดีตเขาพูดกันว่า เราะญับคือเดือนแห่งการเพาะปลูก ชะอฺบานคือเดือนแห่งการรดน้ำ และเราะมะฎอนคือเดือนแห่งการเก็บเกี่ยว[1]

นี่คือความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแสวงหาและทุ่มเทเพื่ออะมัลอิบาดะฮ์ ก่อนหน้านี้เราอาจจะเข้าใจว่าต้องรอให้ถึงเราะมะฎอนก่อนแล้วค่อยลงมือทุ่มเท ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วเราจะไปเก็บเกี่ยวตอนไหนหากเราไม่ได้เตรียมตัวก่อนหน้าที่จะเข้าสู่เราะมะฎอน

 

พี่น้องครับ

วันนี้ มาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งกับพวกเราทุกคน ทั้งผู้พูดและผู้ฟังถึงอะมัลต่างๆ ที่สมควรทำในเดือนนี้ เป็นเสมือนการอุ่นเครื่องก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเดือนเราะมะฎอนที่ประเสริฐที่สุดในรอบปี เดือนชะอฺบานนี้มีสุนนะฮ์อะไรบ้างหรือภารกิจอะไรบ้างที่เราต้องให้ความสำคัญ

ประการที่หนึ่ง ขอย้ำสำหรับผู้ที่ยังมีหนี้การถือศีลอดที่ยังไม่ได้ชดใช้สำหรับใครที่ยังมีค้างอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดามุสลิมะฮ์ทั้งหลาย ให้รีบใช้โอกาสในเดือนนี้เพื่อถือศีลอดชดใช้ให้หมดเสียก่อน อย่าประวิงเวลาหรือละเลยจนรอให้ถึงเราะมะฎอนโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าถึงเราะมะฎอนใหม่ในขณะที่ของเก่ายังค้างอยู่ มันจะมีปัญหาใหม่เข้ามา นั่นก็คือ นอกจากจะต้องชดใช้ของเก่าต่อไปหลังเราะมะฎอนแล้ว เขายังต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮ์ด้วยการจ่ายอาหารให้คนยากจนหนึ่งคนต่อหนึ่งวันที่ยังค้างของรอบที่แล้ว เช่นใครที่ยังค้างอยู่หนึ่งวันสองวันหรือกี่วันก็ตามแต่ยังไม่ได้ถือชดใช้ พอเราะมะฎอนใหม่มาถึงเขาก็ต้องถือศีลอดอันใหม่ก่อน และเมื่อเราะมะฎอนออกไปแล้วก็ต้องไปชดใช้ของเก่าที่เหลืออีก พร้อมกับจ่ายกัฟฟาเราะฮ์ตามจำนวนวันที่ค้างเนื่องจากปล่อยให้เราะมะฎอนใหม่เข้ามาทั้งที่ยังชดใช้ของเก่าไม่หมด นี่เป็นเรื่องสำคัญมากที่จำเป็นต้องทราบ

ประการที่สอง การถือศีลอดสุนัตในเดือนชะอฺบาน เป็นอะมัลที่สนับสนุนและส่งเสริมอย่างยิ่ง มีหะดีษหลายหะดีษด้วยกันที่พูดถึงการอุ่นเครื่องก่อนถึงเราะมะฎอนด้วยการถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน

รายงานจากท่านอุซามะฮ์ บิน ซัยด์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมากล่าวว่า ฉันได้พูดกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า โอ้เราะสูลของอัลลอฮฺ ฉันไม่เคยเห็นท่านขยันถือศีลอดในเดือนหนึ่งเดือนใดเหมือนที่ท่านถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน (ในบางรายงานอย่างของท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา บอกว่าไม่เคยเห็นท่านนบีถือศีลอดสุนัตในเดือนอื่นมากไปกว่าถือศีลอดสุนัตในเดือนชะอฺบาน[2]) ท่านนบีจึงตอบซัยด์ว่า

«ذلِكَ شَهْرٌ يغْفُلُ النَّاسُ فِيهِ عَنْهُ، بَيْنَ رَجَبٍ وَرَمَضَانَ، وَهُوَ شَهْرٌ تُرْفَعُ فِيْهِ الأَعْمَالُ إِلَى رَبِّ الْعَالَمِيْنَ، وَأُحِبُّ أَنْ يُرْفَعُ عَمَلِي وَأَنَا صَاِئم». [صحيح النسائي للألباني، 2356، حديث حسن]

ความว่า “นั่นเป็นเดือนที่ผู้คนละเลยหลงลืม เพราะมันอยู่ระหว่างเราะญับและเราะมะฎอน เป็นเดือนที่อะมัลต่างๆ จะถูกยกขึ้นไปยังพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก และฉันก็รักที่จะให้อะมัลของฉันถูกยกไปในขณะที่ฉันถือศีลอดอยู่” (เศาะฮีห์ อัน-นะสาอีย์ ของอัล-อัลบานีย์ 2356 เป็นหะดีษหะสัน)

คนอาหรับในอดีตจะให้ความสำคัญกับเดือนเราะญับเพราะเป็นเดือนต้องห้าม ส่วนเดือนเราะมะฎอนก็เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมให้ความสำคัญ ทำให้เดือนชะอฺบานที่อยู่ตรงกลางไม่มีใครให้ความสนใจและถูกหลงลืม ในขณะที่เดือนนี้เป็นเดือนสำคัญเพราะอัลลอฮ์จะรวบรวมอะมัลของบ่าวในรอบปีเพื่อยกขึ้นไปยังพระองค์ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็บอกหิกมะฮ์หรือเหตุผลที่ท่านถือศีลอดอย่างมากมายในเดือนนี้เนื่องจากต้องการให้อะมัลของท่านถูกยกขึ้นไปในขณะที่ท่านอยู่ในสภาพของคนถือศีลอด ซึ่งเป็นสภาพที่ดีตลอดทั้งวัน ไม่ว่าอะมัลจะถูกยกไปเวลาไหนท่านก็อยู่ในสภาพที่ดีอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้นจึงอยากเรียกร้องเชิญชวนให้ลองถือศีลอดในเดือนนี้ดู มันไม่ได้ยากมาก และไม่ได้บอกให้เราถือศีลอดทั้งเดือน เอาเท่าที่ทำได้ ให้เราลองเลือกดูเองว่าสามารถทำได้กี่วันตามความรู้สึก ความปรารถนา และความสะดวกของเรา ให้เราได้เอาสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มาปฏิบัติใช้บ้าง อินชาอัลลอฮ์

อย่างไรก็ตาม อนุญาตให้ใครที่ต้องการถือศีลอดชะอฺบานทั้งเดือนได้ยกเว้นสองสามวันก่อนจะหมดเดือน หรือที่เรียกว่า “เยามุชชักก์” เป็นวันที่สงสัยว่าจะเข้าเดือนใหม่นั่นเอง[3]

 

พี่น้องครับ

ประการที่สาม ขณะที่มีหะดีษเศาะฮีห์พูดถึงการถือศีลอดเดือนชะอฺบาน ในทางตรงกันข้ามก็มีหะดีษเฎาะอีฟที่มีสายรายงานอ่อน และหะดีษเมาฎูอฺที่เป็นหะดีษปลอมมากมายพูดถึงความประเสริฐของเดือนชะอฺบาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องระวังและหลีกห่างให้มาก ตัวอย่างเช่น หะดีษที่พูดถึงนิศฟูชะอฺบาน ซึ่งไม่ปรากฏสายรายงานที่เศาะฮีห์ใดๆ เลยในเรื่องนี้[4] พฤติกรรมบางอย่างที่ถูกทำในคืนนี้อาจจะเป็นบิดอะฮ์/อุตริกรรมในศาสนา ซึ่งอุละมาอ์อย่างท่านอิมาม อัน-นะวาวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮ์ ก็ได้เตือนไว้แล้วว่าให้ระวังการทำอุตริกรรมในเดือนนี้ เช่นการละหมาดเราะฆออิบในคืนนิศฟูชะอฺบาน[5]  

  

พี่น้องครับ

เพียงพอแล้วที่เราจะปฏิบัติตามสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในการทำอะมัลอิบาดะฮ์ต่างๆ นอกเหนือจากการถือศีลอดแล้วก็สามารถทำอิบาดะฮ์อื่นๆ ได้ตามกรอบของสุนนะฮ์ เช่นการอ่านอัลกุรอาน การบริจาค การซิกรุลลอฮ์ เป็นต้น ให้เป็นเหมือนการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่โหมดเราะมะฎอนอย่างเต็มที่ ด้วยความตั้งใจที่ดี การฝึกฝนทางร่างกาย การจัดวางตารางที่เหมาะสมสำหรับการทำอะมัลอิบาดะฮ์ต่างๆ ให้เต็มที่กับเดือนเราะมะฎอน ที่เป็นเสมือนฤดูกาลแห่งการตักตวงอาคิเราะฮ์อันยิ่งใหญ่ของเราในรอบปี อินชาอัลลอฮ์

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน

ตลอดทั้งปีเรามุ่งมั่นอย่างเข้มข้นกับการแสวงหาดุนยาไม่หยุดไม่หย่อน ดังนั้น เมื่อฤดูกาลแห่งการทำความดีมาถึงก็ขอให้เราได้ทบทวนอาคิเราะฮ์อย่างทุ่มเทด้วย ดุนยาที่เราแสวงหาอัลลอฮ์ได้ให้กับเราตามที่เราต้องการแล้ว แต่อย่าแสวงหาดุนยาจนลืมอาคิเราะฮ์เพราะนั่นคือสัญญาณไม่ดี เป็นสัญญาณว่าเรากำลังจะขาดทุนหนัก อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيۡهِمۡ أَعۡمَٰلَهُمۡ فِيهَا وَهُمۡ فِيهَا لَا يُبۡخَسُونَ 15 أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ لَيۡسَ لَهُمۡ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ إِلَّا ٱلنَّارُۖ وَحَبِطَ مَا صَنَعُواْ فِيهَا وَبَٰطِلٞ مَّا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 16﴾ [هود: 15،  16] 

ความว่า “ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมันอย่างเดียว เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วน เฉพาะการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในสิ่งนั้นแต่อย่างใด ชนเหล่านั้น พวกเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนอันใดในโลกอาคิเราะฮ์นอกจากไฟนรก สิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ในโลกดุนยาก็จะไร้ผล และสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ก็จะสูญเสียไปหมดสิ้น” (ฮูด 15-16)

การที่คนเรามุ่งมั่นทำแต่ดุนยาอย่างเดียว ทำให้เขาเสี่ยงที่จะขาดทุนในอาคิเราะฮ์ ตรงกันข้ามกับคนที่ทำอะมัลเพื่ออาคิเราะฮ์ ซึ่งอัลลอฮ์จะทรงตอบแทนให้เขาในดุนยาโดยปริยายด้วย

﴿مَنۡ عَمِلَ صَٰلِحٗا مِّن ذَكَرٍ أَوۡ أُنثَىٰ وَهُوَ مُؤۡمِنٞ فَلَنُحۡيِيَنَّهُۥ حَيَوٰةٗ طَيِّبَةٗۖ وَلَنَجۡزِيَنَّهُمۡ أَجۡرَهُم بِأَحۡسَنِ مَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 97﴾ [النحل: 97]    

ความว่า “ผู้ใดที่ทำอะมัลศอลิห์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอน เราจะตอบแทนพวกเขาด้วยรางวัลที่ดียิ่งที่สุดตามที่พวกเขาได้ปฏิบัติมา” (อัน-นะห์ลฺ 97)

การทำอะมัลศอลิห์เพื่ออัลลอฮ์ด้วยความศรัทธาอย่างบริสุทธิ์ใจจะทำให้ได้รับชีวิตที่ดีตั้งแต่ยังอยู่ในดุนยา และเมื่อกลับไปสู่อาคิเราะฮ์ก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากยิ่งกว่าที่เคยได้รับในดุนยาอีก

เพราะฉะนั้น เมื่อถึงวันเวลาและฤดูกาลแห่งการทำดี เราจึงต้องพยายามทุ่มเทเพื่อจะตักตวง และเตรียมตัวในการทำให้ตัวเองเป็นบ่าวผู้แสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์ โดยไม่ละเลยและหลงลืม ขออัลลอฮ์ประทานเตาฟิก อามีน



[1] رَجَبٌ شَهْرُ الْبَذْرِ، وَشَعْبَانُ شَهْرُ السَّقْيِ، وَرَمَضَانُ شَهْرُ الْحَصَادِ.

[2] عَنْ عَائِشَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهَا، قَالَتْ: كانَ رَسولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ يَصُومُ حتَّى نَقُولَ: لا يُفْطِرُ، ويُفْطِرُ حتَّى نَقُولَ: لا يَصُومُ، فَما رَأَيْتُ رَسولَ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ اسْتَكْمَلَ صِيَامَ شَهْرٍ إلَّا رَمَضَانَ، وما رَأَيْتُهُ أكْثَرَ صِيَامًا منه في شَعْبَانَ. [البخاري 1969]

[3] «لَا تَقَدَّمُوا رَمَضانَ بصَوْمِ يَومٍ ولا يَومَيْنِ إلَّا رَجُلٌ كانَ يَصُومُ صَوْمًا، فَلْيَصُمْهُ». [رواه مسلم عن أبي هريرة، 1082]

[4] ดูเพิ่มเติมที่ t.ly/4Afj1

[5] قال النووي رحمه الله في "المجموع" (3/548) : " الصلاة المعروفة بصلاة الرغائب , وهي ثنتا عشرة ركعة تصلى بين المغرب والعشاء ليلة أول جمعة في رجب , وصلاة ليلة نصف شعبان مائة ركعة وهاتان الصلاتان بدعتان ومنكران قبيحتان ولا يغتر بذكرهما في كتاب قوت القلوب , وإحياء علوم الدين , ولا بالحديث المذكور فيهما فإن كل ذلك باطل ، ولا يغتر ببعض من اشتبه عليه حكمهما من الأئمة فصنف ورقات في استحبابهما فإنه غالط في ذلك , وقد صنف الشيخ الإمام أبو محمد عبد الرحمن بن إسماعيل المقدسي كتابا نفيسا في إبطالهما فأحسن فيه وأجاد رحمه الله" انتهى .


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น