วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - พลังของดุอาอ์ - ซุฟอัม อุษมาน




ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - พลังของดุอาอ์ - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - พลังของดุอาอ์ - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องมุสลิมที่อัลลอฮ์รักทุกท่าน

อัลลอฮ์ ผู้ทรงอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่ง ผู้ทรงสร้างทุกอย่างมาด้วยอำนาจและการกำหนดตามเกาะฎออ์เกาะดัรของพระองค์ ทรงกำหนดทุกอย่างให้ดำรงไปตามพระประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตนี้ล้วนอยู่ในกำหนดของพระองค์ทั้งสิ้น พระองค์บอกให้เรารู้ว่าปัญหาในชีวิตของเราคืออะไร แล้วพระองค์ก็บอกวิธีการแก้ปัญหานั้นๆ ด้วยเหตุดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่ ปัญหาส่วนตัว ปัญหาสังคม ปัญหาในระดับโลก ปัญหาระหว่างมุสลิมกับอริศัตรูที่เป็นปฏิปักษ์กับเขา ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามที่อัลลอฮ์ทรงลิขิตไว้ทั้งสิ้น

﴿ إِنَّا كُلَّ شَيۡءٍ خَلَقۡنَٰهُ بِقَدَرٖ 49 ﴾ [القمر: 49] 

ความว่า “แท้จริงทุก ๆ สิ่งนั้นเราสร้างมันด้วยเกาะดัร” (อัล-เกาะมัร 49)

เกาะดัรของอัลลอฮ์คือกำหนดสภาวการณ์ที่พระองค์บันทึกเอาไว้แล้วทั้งสิ้น

 

พี่น้องครับ

ดังนั้น ทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่เลวร้ายที่ประชาชาติมุสลิมต้องเจอล้วนมาจากการกำหนดของอัลลอฮ์ทั้งสิ้น คำถามของเราก็คือ เวลาที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตและปัญหาต่างๆ ที่อัลลอฮ์กำหนดมาเราจะต้องทำอย่างไร? แน่นอนว่า เมื่อมีปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นเราก็ต้องแก้ ปัญหามาจากกำหนดของอัลลอฮ์และวิธีแก้ก็มาจากกำหนดของอัลลอฮ์

 ตามวิถีทางที่อัลลอฮ์กำหนดมาเป็น สุนนะตุลลอฮ์ จะแก้ปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาแล้ว เราจะต้องมีปัจจัยหรือมูลเหตุ ที่ภาษาอาหรับเรียกมันว่า “อัสบาบ” มีปัญหาใดเกิดขึ้นเราต้องหามูลเหตุที่จะใช้แก้ปัญหานั้น เหมือนที่อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้พูดถึง ซุลก็อร์นัยน์ ว่า 

 ﴿ إِنَّا مَكَّنَّا لَهُۥ فِي ٱلۡأَرۡضِ وَءَاتَيۡنَٰهُ مِن كُلِّ شَيۡءٖ سَبَبٗا 84 فَأَتۡبَعَ سَبَبًا 85 ﴾ [الكهف: 84،  85] 

ความว่า “แท้จริงเราได้ให้อำนาจแก่เขาในแผ่นดิน และเราประทานปัจจัยมูลเหตุ(สะบับ)ในทุกๆ สิ่งที่เขากระทำ ดังนั้น เขาจึงทำตามมูลเหตุที่รับมาจากพระองค์” (อัล-กะฮ์ฟฺ 84-85)

อัลลอฮ์ประทานความรู้ที่เป็นอัสบาบให้กับซุลก็อรนัยน์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ศอลิห์ มีอำนาจปกครองแผ่นดินจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก สามารถดูแลความเรียบร้อยในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ได้ด้วยความรู้ ด้วยมูลเหตุที่อัลลอฮ์ประทานให้กับท่าน

ดังนั้น เรื่องใดๆ ก็ตามที่เราต้องการจัดการและแก้ปัญหา เราจะต้องหาอัสบาบของมันให้เจอ และต้องจำไว้ว่า ตัวของอัสบาบเองก็เป็นมูลเหตุที่อยู่ในกรอบและกฎเกณฑ์ของเกาะฎออ์เกาะดัรของอัลลอฮ์เช่นเดียวกัน

 قال ابن تيمية: فليس في الدنيا والآخرة شيء بلا سبب. والله تعالى خالق الأسباب والمسببات. [مجموع الفتاوى 8/70]

ความว่า ไม่มีสิ่งใดไม่ว่าในดุนยาหรืออาคิเราะฮ์ที่เกิดขึ้นโดยไร้มูลเหตุ อัลลอฮ์เป็นผู้สร้างทั้งตัว อัสบาบ(มูลเหตุ)และมุสับบะบาต(ผลของมูลเหตุนั้น)

อย่างไรก็ตาม บางทีเราอาจจะไม่รู้ว่า อัสบาบ หรือ มูลเหตุ ที่จะใช้แก้ปัญหานั้น มันมีอยู่สองประเภทด้วยกัน

ประเภทที่หนึ่ง อัสบาบ เกานียะฮ์ คือ มูลเหตุที่เราสัมผัสได้หรือเข้าใจวิธีการทำงานของมันได้ เช่น เมื่อหิวก็ต้องกินเพื่อให้หายหิว การหาอาหารมากินเป็นอัสบาบเกานียะฮ์ หรือเมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเยียวยารักษา การใช้ยาเพื่อจะได้หายจากการเจ็บป่วยก็คืออัสบาบเกานียะฮ์ และเมื่อถูกทำร้ายก็ต้องป้องกันตัวเองจะได้ปลอดภัย เวลาต่อสู้ในสมรภูมิก็ต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ มีการวางแผนตามพิชัยสงคราม เหล่านี้ถือเป็นอัสบาบเกานียะฮ์ อย่างนี้เป็นต้น เช่นที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿وَأَعِدُّواْ لَهُم مَّا ٱسۡتَطَعۡتُم مِّن قُوَّةٖ وَمِن رِّبَاطِ ٱلۡخَيۡلِ تُرۡهِبُونَ بِهِۦ عَدُوَّ ٱللَّهِ وَعَدُوَّكُمۡ﴾ [الأنفال: 60] 

ความว่า “พวกเจ้าจงเตรียมความพร้อมตามที่พวกเจ้ามีความสามารถเพื่อรับมือพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นสรรพกำลังใด และเตรียมม้าไว้ เพื่อที่พวกเจ้าจะทำให้ศัตรูของอัลลอฮ์และศัตรูของพวกเจ้าหวั่นเกรง” (อัล-อันฟาล 60)

ประเภทที่สอง อัสบาบ ชัรอียะฮ์ คือ มูลเหตุที่อัลลอฮ์มีคำสั่งใช้ให้เราทำ แม้ว่าดูผิวเผินเราสัมผัสมันไม่ได้โดยตรง หรือบางทีเราไม่เข้าใจวิธีการทำงานของมัน แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นบทบัญญัติของอัลลอฮ์และแบบอย่างเราะสูลของพระองค์

ถ้าเราทานข้าวเพื่อหายหิวเราเข้าใจได้ว่ามันคืออัสบาบเกานียะฮ์ แต่พร้อมๆ กับการทานข้าวเราขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ด้วย ตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สอนให้เราอ่าน เราไม่เข้าใจว่ามันมีผลอย่างไรก็จริง แต่เมื่ออัลลอฮ์และเราะสูลบอกให้เราทำย่อมต้องมีผลต่อตัวของเราอย่างแน่นอน จึงเรียกมันว่า อัสบาบชัรอียะฮ์

เวลาป่วยก็เช่นกัน พร้อมๆ กับการเยียวยารักษา เราก็ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ให้โรคป่วยหายไป หรือเวลาที่อยู่ในสมรภูมิสงครามนอกจากต้องมีการเตรียมตัวและสรรพกำลังต่างๆ ให้พร้อมแล้ว อัลลอฮ์ก็ยังสั่งให้มุสลิมขอดุอาอ์และรำลึกถึงพระองค์ให้มากๆ ด้วย พระองค์บอกว่ามันคือมูลเหตุและปัจจัยที่จะทำให้พวกเราได้รับชัยชนะ

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِذَا لَقِيتُمۡ فِئَةٗ فَٱثۡبُتُواْ وَٱذۡكُرُواْ ٱللَّهَ كَثِيرٗا لَّعَلَّكُمۡ تُفۡلِحُونَ 45﴾ [الأنفال: 45] 

ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! เมื่อพวกเจ้าปะทะกับศัตรูคู่สงครามใดๆ ก็จงยืนหยัดเถิด และจงรำลึกถึงอัลลอฮ์ให้มาก ๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (อัล-อันฟาล 45)

 

พี่น้องครับ

            การซิกิรต่ออัลลอฮ์ในขณะที่ประจัญบานกับศัตรูมันเป็นมูลเหตุแห่งชัยชนะได้อย่างไร? ในความคิดของเรามันแทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการแพ้ชนะในการต่อสู้กับศัตรู แต่อัลลอฮ์สั่งให้ซิกิรต่อพระองค์ให้มากในเวลาสุ่มเสี่ยงแบบนั้น เพราะมันเป็นอัสบาบชัรอียะฮ์ บางทีเราอาจจะยึดโยงอยู่กับอัสบาบเกานียะฮ์มากจนเกินไป จนทำให้เราไม่สนใจกับอัสบาบชัรอียะฮ์ ทั้งๆ ที่สองอย่างนั้นก็เป็นมูลเหตุเหมือนกัน และบางทีอัสบาบชัรอียะฮ์อาจจะมีพลังมากกว่าอัสบาบเกานียะฮ์ด้วยซ้ำไป

และในจำนวนอัสบาบชัรอียะฮ์ ก็คือ การขอดุอาอ์

ทุกวันนี้เวลาที่เราลำบากเรามักจะได้ยินคำแนะนำว่า ขอดุอาอ์ให้มาก แต่เรากลับรู้สึกว่า แค่ดุอาอ์หรือ ? เราดูแคลนการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ ทั้งๆ ที่มันเป็นมูลเหตุสำคัญที่จะคลี่คลายปัญหาเราได้ เราไม่มั่นใจในพลังของดุอาอ์ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่า ที่เราไม่มั่นใจในดุอาอ์ เป็นเพราะตัวดุอาอ์ไม่มีพลัง หรือเพราะเราเองไม่มีพลังเวลาขอดุอาอ์

เหมือนที่อิบนุล ก็อยยิม ได้อธิบายว่า

قال ابن القيم: والدعاء من أنفع الأدوية، وهو عدو البلاء يدفعه ويعالجه ويمنع نزوله ويرفعه أن يخففه إذا نزل، وهو سلاح المؤمن، وله مع البلاء ثلاث مقامات:

أحدها: أن يكون أقوى من البلاء فيدفعه.

الثاني: أن يكون أضعف من البلاء فيقوى عليه البلاءُ فيصاب به العبد ولكن قد يخففه وإن كان ضعيفًا.

الثالث: أن يتقاوما ويمنع كل واحد منهما صاحبه.

[الداء والدواء ص11]

ความว่า ดุอาอ์นั้นเป็นสิ่งที่ใช้เยียวยาแก้ปัญหาได้อย่างดีที่สุด ดุอาอ์เป็นคู่ปรับของบะลาอ์/บททดสอบ มันจะจัดการและขัดขวางไม่ให้บะลาอ์ลงมา ถ้าลงมาแล้วก็จะขจัดให้มันหมดไป หรือช่วยทุเลาให้มันเบาลงได้ ดุอาอ์เป็นอาวุธของผู้ศรัทธา สถานะของมันในการจัดการบะลาอ์นั้นมีอยู่สามแบบ คือ

หนึ่ง ดุอาอ์มีความแข็งแกร่งกว่าบะลาอ์ มันจึงสามารถรับมือได้

สอง ดุอาอ์อ่อนแอกว่าบะลาอ์ ดังนั้น บะลาอ์จึงมีผลเกิดขึ้นกับบ่าวได้ แต่ดุอาอ์ก็ยังช่วยทุเลาความหนักหน่วงของบะลาอ์แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม

สาม ทั้งดุอาอ์และบะลาอ์มีความแข็งแกร่งเท่ากัน เมื่อนั้นทั้งสองก็จะดันกันไปมาไม่มีใครเหนือกว่าใคร (ดูเพิ่มเติมใน อัด-ดาอ์ วะ อัด-ดะวาอ์ หน้า 11)

 

พี่น้องครับ

ดุอาอ์ เป็นเรื่องเล็กน้อยที่สุดแล้วในความสามารถของเราทุกคนที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยแรงอะไรให้สิ้นเปลืองมากมายเลย แต่ผลของมันนั้นยิ่งใหญ่เหลือคณา ดังนั้น ดุอาอ์จึงใช้แรงน้อย แต่มีผลอันยิ่งใหญ่

ในสงครามบะดัร ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รับข่าวแล้วท่านจะได้รับชัยชนะ แต่ท่านก็ยังขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์อย่างหนักแน่นและเข้มข้น ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้เล่าว่า

إنَّ رَسولَ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ كانَ يُرِينَا مَصَارِعَ أَهْلِ بَدْرٍ بالأمْسِ، يقولُ: هذا مَصْرَعُ فُلَانٍ غَدًا، إنْ شَاءَ اللَّهُ. قالَ: فَقالَ عُمَرُ: فَوَالَّذِي بَعَثَهُ بالحَقِّ، ما أَخْطَؤُوا الحُدُودَ الَّتي حَدَّ رَسولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ. [حديث عمر بن الخطاب، رواه مسلم 2873]

ความว่า แท้จริงแล้ว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ชี้สถานที่จบชีวิตของศัตรูในสงครามบะดัรก่อนจะเกิดสงครามจริงหนึ่งวัน ท่านบอกว่า “ตรงนี้คือที่ตายของคนนี้ ตรงนั้นคือที่ตายของคนนั้นในวันพรุ่งนี้ อินชาอ์อัลลอฮ์” ท่านอุมัร เล่าต่อไปว่า ขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ผู้ทรงแต่งตั้งท่านนบีด้วยความสัจจริง วันรุ่งขึ้น พวกเขาตาย ณ สถานที่ดังกล่าวไม่ผิดไปจากที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ชี้ไว้เลยแม้แต่น้อย” (หะดีษบันทึกโดย มุสลิม 2873)

ในอีกรายงานหนึ่งมีเพิ่มเติมว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ขอดุอาอ์อย่างยาวนานเพื่อให้อัลลอฮ์ช่วยเหลือชาวมุสลิม แม้ว่าท่านจะได้รับข่าวดีแล้วก็ตาม ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เป็นผู้รายงานว่า

لَمَّا كانَ يَوْمُ بَدْرٍ نَظَرَ رَسولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وَسَلَّمَ إلى المُشْرِكِينَ وَهُمْ أَلْفٌ، وَأَصْحَابُهُ ثَلَاثُ مِائَةٍ وَتِسْعَةَ عَشَرَ رَجُلًا، فَاسْتَقْبَلَ نَبِيُّ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وَسَلَّمَ القِبْلَةَ، ثُمَّ مَدَّ يَدَيْهِ، فَجَعَلَ يَهْتِفُ برَبِّهِ: اللَّهُمَّ أَنْجِزْ لي ما وَعَدْتَنِي، اللَّهُمَّ آتِ ما وَعَدْتَنِي، اللَّهُمَّ إنْ تُهْلِكْ هذِه العِصَابَةَ مِن أَهْلِ الإسْلَامِ لا تُعْبَدْ في الأرْضِ، فَما زَالَ يَهْتِفُ برَبِّهِ، مَادًّا يَدَيْهِ مُسْتَقْبِلَ القِبْلَةِ، حتَّى سَقَطَ رِدَاؤُهُ عن مَنْكِبَيْهِ، فأتَاهُ أَبُو بَكْرٍ فأخَذَ رِدَاءَهُ، فألْقَاهُ علَى مَنْكِبَيْهِ، ثُمَّ التَزَمَهُ مِن وَرَائِهِ، وَقالَ: يا نَبِيَّ اللهِ، كَفَاكَ مُنَاشَدَتُكَ رَبَّكَ؛ فإنَّه سَيُنْجِزُ لكَ ما وَعَدَكَ. [حديث عمر بن الخطاب، رواه مسلم 1763]

ความว่า ในวันที่เกิดสงครามบะดัร ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มองไปยังศัตรูแล้วเห็นพวกเขาเป็นพัน ในขณะที่เศาะหาบะฮ์ของท่านมีเพียงสามร้อยสิบเก้าคน ท่านนบีจึงหันไปทางกิบละฮ์ ยกมือขึ้น และขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ขอทรงทำให้สัญญาที่พระองค์ให้ไว้กับฉันเป็นจริงด้วยเถิด โอ้อัลลอฮ์ มอบสัญญาที่พระองค์บอกไว้กับฉันให้เกิดขึ้นจริงด้วยเถิด โอ้อัลลอฮ์ หากพระองค์ทำให้ชาวมุสลิมกลุ่มนี้สูญสิ้นไปก็จะไม่มีผู้ใดเหลือให้อิบาดะฮ์ต่อพระองค์อีกแล้ว” ท่านพร่ำวอนเรียกร้องขอต่ออัลลอฮ์อย่างถึงที่สุด ด้วยการยกมือขึ้นและหันไปทางกิบละฮ์ จนกระทั่งผ้าคลุมหลุดออกไปจากบ่า ท่านอบู บักร์เห็นดังนั้นก็รีบมาหยิบผ้าและคลุมบ่าให้ท่าน คอยดูแลท่านอยู่ด้านหลัง พร้อมกับกล่าวกับท่านนบีว่า โอ้ นบีของอัลลอฮ์ พอแล้ว ท่านขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์มากพอแล้ว พระองค์จะทำให้สิ่งที่สัญญาไว้กับท่านเป็นจริงอย่างแน่นอน (บันทึกโดยมุสลิม 1763)

สุบหานัลลอฮ์ ทั้งที่พระองค์แจ้งข่าวดีเกี่ยวกับชัยชนะของสงครามบะดัรไว้แล้ว แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ไม่ละเลยและเฉยเมยต่อการแสวงหาอัสบาบ ด้วยการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์อย่างแน่วแน่และไม่ย่อท้อ

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

โศกนาฏกรรมในดินแดนปาเลสไตน์ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและยาวนาน พี่น้องของเราต้องพบกับความยากลำบากที่ไม่อาจจะสาธยายได้ ความช่วยเหลือยังคงเป็นสิ่งจำเป็น จึงขอเชิญชวนให้หยิบยื่นการบริจาคตามกำลังความสามารถผ่านองค์กรความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมที่เชื่อถือได้ และอย่าหยุดที่จะขอดุอาอ์ให้พี่น้องเราที่ปาเลสไตน์ จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ความปลอดภัยโดยแท้จริง

اللَّهُمَّ أنْجِ المُسْتَضْعَفِينَ مِنَ المُؤْمِنِينَ فِيْ فِلَسْطِيْنَ، اللَّهُمَّ اشْدُدْ وَطْأَتَكَ علَى الصَّهَايِنَةِ، اللَّهُمَّ اجْعَلْهَا عَلَيْهِمْ سِنِينَ كَسِنِي يُوسُفَ.

โอ้อัลลอฮ์ ของทรงพิทักษ์ผู้ศรัทธาทั้งหลายที่ถูกข่มเหงในดินแดนปาเลสไตน์ให้พวกเขาปลอดภัย ขอพระองค์ลงโทษให้หนักแก่บรรดาไซออนิสต์ ขอให้พวกเขาประสบกับภัยพิบัติเหมือนในยุคของนบียูซุฟ[1]

อามีน ยา ร็อบบัล อาละมีน



[1] ปรับมาจากดุอาอ์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยใช้ขอดุอาอ์เป็นกุนูตนาซิละฮ์เพื่อให้อัลลอฮ์จัดการพวกกุเรชที่รังแกผู้ศรัทธาในสมัยของท่าน (รายงานโดยอบู ฮุร็อยเราะฮ์ บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 6393)

أنَّ النَّبيَّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ كانَ إذَا قَالَ: سَمِعَ اللَّهُ لِمَن حَمِدَهُ، في الرَّكْعَةِ الآخِرَةِ مِن صَلَاةِ العِشَاءِ؛ قَنَتَ: اللَّهُمَّ أنْجِ عَيَّاشَ بنَ أبِي رَبِيعَةَ، اللَّهُمَّ أنْجِ الوَلِيدَ بنَ الوَلِيدِ، اللَّهُمَّ أنْجِ سَلَمَةَ بنَ هِشَامٍ، اللَّهُمَّ أنْجِ المُسْتَضْعَفِينَ مِنَ المُؤْمِنِينَ، اللَّهُمَّ اشْدُدْ وَطْأَتَكَ علَى مُضَرَ، اللَّهُمَّ اجْعَلْهَا عليهم سِنِينَ كَسِنِي يُوسُفَ. [حديث أبي هريرة، رواه البخاري 6393]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น