วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - ทำดีต้องวางแผน - ซุฟอัม อุษมาน




 ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - ทำดีต้องวางแผน - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - ทำดีต้องวางแผน - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องมุสลิมที่อัลลอฮ์รักทุกท่าน

เหลือเวลาอีกไม่นาน เราะมะฎอนก็จะมาหาเราแล้ว ก่อนที่เราะมะฎอนจะมาถึงมีอะไรบ้างที่เราต้องคุยเพื่อปรับตัว ปรับใจ ปรับความรู้สึก เพิ่มความรู้ความเข้าใจต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเตรียมตัวเข้าสู่โหมดเราะมะฎอน เป็นการวางแผนก่อนที่จะทำความดี เพื่อให้ผลของการทำอิบาดะฮ์ของเราออกมาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

พี่น้องครับ

การวางแผนเพื่ออิบาดะฮ์ เราอาจจะไม่เคยทำ เราอาจจะไม่คุ้นชินกับเรื่องนี้ เราคุ้นชินกับการวางแผนเพื่อดุนยา เพื่อธุรกิจ เพื่อการงานของเรา แต่เมื่อพูดถึงการวางแผนเพื่ออาคิเราะฮ์ เหมือนกับว่าเราไม่ได้ฝึกให้เคยชินกับการวางแผนเพื่ออาคิเราะฮ์บ้าง

อันที่จริงแล้ว ในภาพรวม อัลกุรอานสอนให้เราดูอนาคต สอนให้เรามองไปข้างหน้า ดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา มองไปยังวันพรุ่งนี้ ซึ่งหมายถึงวันอาคิเราะฮ์ 

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَلۡتَنظُرۡ نَفۡسٞ مَّا قَدَّمَتۡ لِغَدٖۖ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۚ إِنَّ ٱللَّهَ خَبِيرُۢ بِمَا تَعۡمَلُونَ 18﴾ [الحشر: 18] 

ความว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด แต่ละชีวิตจงพิจารณาดูว่าอะไรบ้างที่ตนได้เตรียมไว้สำหรับพรุ่งนี้ (วันกิยามะฮ์) และจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงรู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (อัล-หัชร์ 18)

อัลกุรอานเชิญชวนเรียกร้องให้เราทำความดีเพื่อโลกหน้า เพื่อการอภัยโทษของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เพื่อสวรรค์ที่พำนักอันถาวรของเรา

﴿ سَابِقُوٓاْ إِلَىٰ مَغۡفِرَةٖ مِّن رَّبِّكُمۡ وَجَنَّةٍ عَرۡضُهَا كَعَرۡضِ ٱلسَّمَآءِ وَٱلۡأَرۡضِ أُعِدَّتۡ لِلَّذِينَ ءَامَنُواْ بِٱللَّهِ وَرُسُلِهِۦۚ ذَٰلِكَ فَضۡلُ ٱللَّهِ يُؤۡتِيهِ مَن يَشَآءُۚ وَٱللَّهُ ذُو ٱلۡفَضۡلِ ٱلۡعَظِيمِ 21﴾ [الحديد: 21] 

ความว่า “จงเร่งรีบไปสู่การขออภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และสวนสวรรค์ ซึ่งความกว้างของมันประหนึ่งความกว้างของชั้นฟ้าและแผ่นดิน (ซึ่งสวรรค์นั้น) ถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และบรรดาเราะสูลของพระองค์ นั่นคือความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ซึ่งพระองค์จะประทานมันให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และอัลลอฮ์นั้นทรงเปี่ยมด้วยโปรดปรานอันใหญ่หลวงนัก” (อัล-หะดีด 21)

 

﴿۞وَسَارِعُوٓاْ إِلَىٰ مَغۡفِرَةٖ مِّن رَّبِّكُمۡ وَجَنَّةٍ عَرۡضُهَا ٱلسَّمَٰوَٰتُ وَٱلۡأَرۡضُ أُعِدَّتۡ لِلۡمُتَّقِينَ 133﴾ [آل عمران: 133] 

ความว่า “พวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ ซึ่งความกว้างของมันนั้นเสมือนความกว้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง” (อาล อิมรอน 133)

ดังนั้น จำเป็นที่เราต้องคิดสักนิดหนึ่ง ก่อนที่เราะมะฎอนจะมาถึง เดือนเราะมะฎอนมาพร้อมกับความดีงามมากมายแต่เราไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับความประเสริฐต่างๆ ที่อัลลอฮ์จะมอบให้เราในเดือนอันบะเราะกะฮ์นี้

 

พี่น้องครับ

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็มีแบบอย่างและคำสอนในเรื่องการวางแผนเพื่อทำอิบาดะฮ์ เช่นในหะดีษที่รายงานโดยอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์

«إنَّ الدِّينَ يُسْرٌ، ولَنْ يُشَادَّ الدِّينَ أحَدٌ إلَّا غَلَبَهُ، فَسَدِّدُوا وقَارِبُوا، وأَبْشِرُوا، واسْتَعِينُوا بالغَدْوَةِ والرَّوْحَةِ وشيءٍ مِنَ الدُّلْجَةِ». [عن أبي هريرة، رواه البخاري]

ความว่า “ศาสนานั้นเป็นเรื่องง่าย ไม่มีใครที่เข้มงวดเกินเลยในเรื่องศาสนาเว้นแต่เขาจะต้องแพ้ให้กับศาสนา ดังนั้น พวกท่านจงปรับการปฏิบัติให้ถูกต้องที่สุด ให้ใกล้เคียงที่สุด จงมีกำลังใจ จงใช้เวลาตอนหัวรุ่ง หัวค่ำ และส่วนท้ายของกลางคืนเป็นตัวช่วยในการทำอิบาดะฮ์” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)

ความหมายของหะดีษนี้ก็คือ ให้พยายามเลือกทำอะมัลอิบาดะฮ์ที่ตนสามารถรักษาได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ให้พอดีๆ ไม่สุดโต่งและไม่หย่อนยาน พยายามค่อยๆ ปรับระดับการทำอะมัลอิบาดะฮ์ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะทำเพียงทีละเล็กน้อยก็ตามก็ต้องมีกำลังใจในการทำอิบาดะฮ์ และให้รู้จักใช้เวลาที่ร่างกายมีความกระปรี้กระเปร่าและความกระฉับกระเฉงในการทำอะมัล เช่น ช่วงเช้า ช่วงเย็น หรือช่วงท้ายๆ ของกลางคืน

 

พี่น้องครับ

อิบาดะฮ์ฟัรฎูเช่นละหมาดห้าเวลา เป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่แล้วโดยอาจจะไม่ต้องวางแผนอะไรให้มากมาย แต่อิบาดะฮ์สุนนะฮ์ที่มีความประเสริฐยิ่งใหญ่อื่นๆ เช่น การกิยามุลลัยล์ บางทีหากเราไม่วางแผนก็ยากมากที่จะลุกขึ้นมาปฏิบัติได้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยแนะนำตัวช่วยในการกิยามุลลัยล์เอาไว้ในหะดีษที่เล่าจากอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า

«استعينوا بقائلة النهار على قيام الليل». [رواه ابن ماجه والحاكم والطبراني في الكبير/ 11460]

ความว่า “จงใช้การนอนงีบกลางวัน เป็นตัวช่วยสำหรับการตื่นขึ้นมากิยามุลลัยล์” (บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮ์, อัล-หากิม และ อัฏ-เฏาะบะรอนีย์ ในอัล-กะบีร 11460)

หรือแม้กระทั่งคนที่เกรงว่าจะไม่ตื่นขึ้นมาช่วงท้ายของกลางคืนก็อาจจะละหมาดวิติรก่อนนอนได้เช่นกัน หะดีษจากญาบิร บิน อับดุลลอฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

«مَن خَافَ أَنْ لا يَقُومَ مِن آخِرِ اللَّيْلِ فَلْيُوتِرْ أَوَّلَهُ، وَمَن طَمِعَ أَنْ يَقُومَ آخِرَهُ فَلْيُوتِرْ آخِرَ اللَّيْلِ؛ فإنَّ صَلَاةَ آخِرِ اللَّيْلِ مَشْهُودَةٌ، وَذلكَ أَفْضَلُ». [رواه مسلم 755]

ความว่า “ใครที่เกรงว่าจะไม่ตื่นขึ้นมาช่วงท้ายกลางคืน ให้เขาละหมาดวิติรช่วงแรกของคืน(ก่อนนอน) ส่วนใครที่ตั้งใจจะตื่นอย่างแน่วแน่ก็ให้ละหมาดวิติรในช่วงท้ายของคืน เพราะการละหมาดในช่วงท้ายคืนนั้นมีมลาอิกะฮ์มาเป็นสักขีพยาน และมันประเสริฐกว่า” (บันทึกโดยมุสลิม 755)

การวางแผนทำอิบาดะฮ์ให้มีความสุขเป็นวิถีปกติของมุสลิม แต่เราจะทำอิบาดะฮ์ให้มีความสุขไม่ได้ถ้าหากเราไม่รู้จักวางแผนให้การทำอิบาดะฮ์ของเราอย่างต่อเนื่อง อิบาดะฮ์ไม่ได้ยาก แต่ก็ทำไม่ได้ง่ายถ้าหากเราละเลยที่จะคิดวางแผนแค่เล็กๆ น้อยๆ ให้มีความชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง

 

พี่น้องครับ

มีอะไรบ้างที่เราต้องวางแผนเมื่อเราะมะฎอนใกล้เข้ามา? เริ่มจากการเรียงลำดับว่าในเดือนเราะมะฎอนมีอะไรบ้างที่เราต้องให้ความสำคัญ นั่นก็คือ

- การถือศีลอดในตอนกลางวัน จะทำอย่างไรที่จะถือศีลอดให้สมบูรณ์ที่สุด ด้วยมารยาทต่างๆ ที่ต้องระวัง และมีสุนนะฮ์อะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง เช่น การทานสะหูรให้ล่าช้า การละศีลอดให้เร็ว เป็นต้น

- การละหมาดตะรอวีห์ทุกค่ำคืน พร้อมๆ กับอิมามนำละหมาด

- การมีส่วนร่วมในการอิฟฏอรให้อาหารละศีลอด

- การเตรียมดุอาอ์ที่จะใช้ในการขอตามช่วงเวลาต่างๆ ที่อัลลอฮ์ตอบรับแต่ละวันของเราะมะฎอน และโดยเฉพาะในคืนลัยละตุลก็อดร์

- การอ่านอัลกุรอานให้เป็นประจำในแต่ละวันของเราะมะฎอนตามจำนวนที่เราสามารถทำได้จนจบเดือน หรือจะกำหนดสูเราะฮ์อะไรในการที่จะตะดับบุรเพื่อถอดบทเรียนมาใช้ศึกษาในเดือนเราะมะฎอน

- การบริจาคในทุกๆ คืนของเดือนเราะมะฎอนเพื่อกระจายความดีให้ทั่วถึง

- การวางแผนที่จะอิอฺติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้าย

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

ก่อนเราะมะฎอนจะมาถึง สิ่งที่บรรดาอุละมาอ์เน้นกำชับมากคือ การเตาบะฮ์และการอิสติฆฟาร เพื่อชำระจิตใจให้สะอาด ตั้งใจให้บริสุทธิ์ จะได้ทำอิบาดะฮ์อย่างเต็มอิ่มและได้รับเตาฟีกความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ให้ทำอิบาดะฮ์อย่างราบรื่น การมีบาปอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่คอยฉุดรั้งและขัดขวางไม่ให้เรากระตือรือร้นในการทำอิบาดะฮ์หรือการเข้าหาอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้

บรรดาอุละมาอ์ในอดีตเคยพูดถึงกรณีที่บาปมีผลต่อการทำอิบาดะฮ์ของเราได้อย่างไร เช่น

قال الفضيل بن عياض -رحمه الله-: إني لأعصي الله، فأعرف ذلك في خُلُق حماري وخادمي وامرأتي وفأرِ بيتي. [البداية والنهاية 10/215]

อัล-ฟุฎ็อยล์ บิน อิยาฎ กล่าวว่า ยามใดที่ฉันทำผิดต่ออัลลอฮ์ ฉันจะเห็นร่องรอยบาปนั้นจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลาฉัน หรือคนใช้ของฉัน หรือภรรยาของฉัน หรือแม้แต่หนูในบ้านของฉัน (อัล-บิดายะฮ์ วะ อัน-นิฮายะฮ์ 10/215)

 

قال رجل للحسن البصري: يا أبا سعيد إنّي أبيت معافى، وأحب قيام اللّيل وأعد طهوري فما بالي لا أقوم؟ فقال: ذنوبك قيدتك.

มีผู้ชายคนหนึ่งถาม อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ว่า โอ้ อบู สะอีด เวลากลางคืนฉันนอนในสภาพที่สุขภาพดีทุกประการ และฉันก็หวังที่จะลุกขึ้นมาละหมาดกลางคืน ฉันเตรียมน้ำละหมาดไว้พร้อมแล้ว แต่ทำไมฉันจึงไม่สามารถตื่นขึ้นมาได้? ท่านหะสันตอบว่า บาปของท่านนั่นแหละที่คอยฉุดรั้งท่านไว้ไม่ให้ลุกขึ้นมา

 

قال سفيان الثوري -رحمه الله: حرمت قيام الليل خمسة أشهر بذنب أذنبته. قيل: وما ذاك الذنب؟ قال: رأيت رجلاً يبكي فقلت في نفسي: هذا مراءٍ. [إحياء علوم الدين2/200]

สุฟยาน อัษ-เษารีย์ กล่าวว่า ฉันไม่ได้รับเตาฟีกให้กิยามุลลัยล์เป็นเวลาห้าเดือน เพราะบาปเดียวที่ฉันทำ มีคนถามว่า บาปใดเล่าที่ท่านพูดถึง? ท่านสุฟยานตอบว่า ฉันเห็นชายคนหนึ่งร้องไห้ แล้วฉันก็คิดในใจว่า คนผู้นี้กำลังเสแสร้งอยู่ (อิห์ยาอ์ อุลูม อัด-ดีน 2/200)

สุบหานัลลอฮ์ เพียงแค่บาปเล็กๆ ก็อาจจะส่งผลที่ทำให้การทำอิบาดะฮ์ของเราบกพร่องได้ถึงเพียงนี้ ดังนั้น จงอิสติฆฟารให้มากเพื่อที่จะได้รับเตาฟีกจากอัลลอฮ์ให้การทำอะมัลอิบาดะฮ์ของเราสมบูรณ์ที่สุด และได้รับผลบุญที่ดีที่สุด อินชาอ์อัลลอฮ์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น