วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - อัลกุรอานกับเราะมะฎอน - ซุฟอัม อุษมาน

 



 ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - อัลกุรอานกับเราะมะฎอน - ซุฟอัม อุษมาน (youtube.com)

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - อัลกุรอานกับเราะมะฎอน - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องมุสลิมผู้ร่วมละหมาดวันศุกร์ที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

เวลานี้คงไม่มีคำกล่าวใดจะเหมาะสมมากไปกว่าการแสดงความยินดีกับบรรดาผู้ศรัทธาทุกคนที่เดือนเราะมะฎอนเดินทางมาถึงแล้ว เราได้ร่วมต้อนรับเดือนอันประเสริฐยิ่งในรอบปี อะฮ์ลัน เราะมะฎอน, อะฮ์ลัน ชะฮ์ร็อลกุรอาน แสดงความยินดีที่เราได้ต้อนรับเดือนเราะมะฎอนที่คิดถึง เดือนแห่งการประทานอัลกุรอาน เดือนแห่งความบะเราะกะฮ์อันเปี่ยมล้น

 

พี่น้องครับ

ทำไมผู้ศรัทธามีความยินดีเมื่อได้ยินข่าวเราะมะฎอนมาถึง ทำไมเรารู้สึกดีใจและรู้สึกตื่นเต้นเมื่อรู้ว่าเราะมะฎอนใกล้เข้าแล้ว แน่นอนที่สุด สำหรับคนที่รู้และเข้าใจ เขาจะรู้ดีว่าเราะมะฎอนมีคุณค่ามากที่สุดสำหรับชีวิตของเขา นั่นคือเหตุที่ทำให้เขารู้สึกยินดีและอยากจะเจอกับเดือนเราะมะฎอน

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เองก็มีความยินดีเมื่อเราะมะฎอนมาถึง ท่านเองได้บอกข่าวแก่บรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่าน แจ้งข่าวดีนี้ให้กับประชาชาติของท่านได้ร่วมแสดงความยินดีในการต้อนรับเดือนอันประเสริฐนี้

หะดีษที่รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

«إِذا جَاءَ رَمَضَانُ، فُتِّحَتْ أَبْوَابُ الجنَّةِ، وغُلِّقَت أَبْوَابُ النَّارِ، وصُفِّدتِ الشياطِينُ». [البخاري 3277 ومسلم 1079]

ความว่า “เมื่อเราะมะฎอนมาถึง ประตูสวรรค์จะถูกเปิดอย่างกว้างขวาง ประตูนรกจะถูกปิดมิดชิด และชัยฏอนจะถูกล่ามโซ่ตรวน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และ มุสลิม)

ประตูสวรรค์ถูกเปิด สวรรค์ที่มีทุกอย่างที่มนุษย์ปรารถนาอยู่ในนั้น สวรรค์ที่เป็นจุดหมายปลายทางของหัวใจผู้ศรัทธาทุกคนที่ล้วนถวิลหาการกลับไปยังสถานที่อันบรมสุขแห่งนั้น สวรรค์ที่ไม่มีความทุกข์ ไม่มีบททดสอบ ไม่มีภยันตรายใดๆ ทั้งคำพูด ทั้งวาจา ทั้งใจ ทั้งกาย ทุกการกระทำในสวรรค์คือสิ่งที่เราทุกคนแสวงหาทั้งสิ้น เมื่อเราะมะฎอนมาถึง ประตูสวรรค์ทั้งหมดจะถูกเปิด ไม่มีบานใดที่ปิดเลย อัลลอฮุอักบัร !

ในขณะที่ประตูนรกนั้นถูกปิดหมด ไม่ให้มีเรื่องราวที่จะทำร้ายความรู้สึกและกำลังใจผู้ศรัทธาในการปฏิบัติความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัตรูตัวฉกาจของพวกเขา นั่นคือ ชัยฏอน ที่คอยทำลายความตั้งใจและอะมัลของพวกเขา อัลลอฮ์จะล่ามชัยฏอนไม่ให้มีความอิสระในการฉุดรั้งความดีของผู้ศรัทธาในเดือนเราะมะฎอน

นี่คือคุณค่าที่เราทุกคนทราบดี และมีคุณค่าอีกมากมายที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แจ้งให้เราทราบผ่านหะดีษของท่าน คำถามก็คือ เราเคยสงสัยไหมว่าเหตุใดเราะมะฎอนจึงมีคุณค่ามากมายเพียงนี้? คุณค่าเป็นสิบเป็นร้อยในเดือนเราะมะฎอนทำไมถึงไม่ปรากฏในเดือนอื่น ทำไมถึงมีเฉพาะในเดือนเราะมะฎอน แน่นอนมันย่อมต้องมีสาเหตุที่ทำให้มันประเสริฐขนาดนี้ และสาเหตุดังกล่าวนั้นคงอยู่ไม่ไกลถ้าหากเราจะบอกว่า นี่แหละคือต้นตอที่ทำให้เราะมะฎอนมีคุณค่ามีความประเสริฐมากมายเหลือเกิน

นั่นเป็นเพราะว่า เราะมะฎอน มีค่ำคืนหนึ่งที่มีความพิเศษกว่าค่ำคืนทั้งมวล เป็นค่ำคืนที่มีเหตุการณ์ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น ค่ำคืนที่อัลลอฮ์ได้บอกกับเราว่า

﴿ إِنَّآ أَنزَلۡنَٰهُ فِي لَيۡلَةِ ٱلۡقَدۡرِ 1 ﴾ [القدر: 1] 

ความว่า “แท้จริงแล้ว เราได้ประทานมัน(อัลกุรอาน)ลงมาในค่ำคืนลัยละตุลก็อดร์” (อัล-ก็อดร์  1)

ค่ำคืนที่คัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานลงมาในคืนนั้น คือค่ำคืนที่อยู่ในเดือนเราะมะฎอน และเป็นค่ำคืนแห่งความบะเราะกะฮ์มีความประเสริฐอันมากมาย

﴿ إِنَّآ أَنزَلۡنَٰهُ فِي لَيۡلَةٖ مُّبَٰرَكَةٍۚ إِنَّا كُنَّا مُنذِرِينَ 3 ﴾ [الدخان: 3] 

ความว่า “แท้จริงแล้ว เราได้ประทานมัน(อัลกุรอาน)ลงมาในค่ำคืนหนึ่งที่ล้นยิ่งด้วยบะเราะกะฮ์ แท้จริงแล้ว เราเป็นผู้ให้ข่าวตักเตือน” (อัด-ดุคอน 3)

ตัวอัลกุรอานเองนั้นเป็นคัมภีร์ที่เต็มไปด้วยบะเราะกะฮ์ อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ كِتَٰبٌ أَنزَلۡنَٰهُ إِلَيۡكَ مُبَٰرَكٞ لِّيَدَّبَّرُوٓاْ ءَايَٰتِهِۦ وَلِيَتَذَكَّرَ أُوْلُواْ ٱلۡأَلۡبَٰبِ 29 ﴾ [ص: 29] 

ความว่า “คัมภีร์ที่เราประทานลงมาแก่เจ้านั้นเป็นคัมภีร์ที่เปี่ยมยิ่งด้วยบะเราะกะฮ์ เพื่อให้พวกเขาได้พินิจใคร่ครวญโองการของมัน และเพื่อให้บรรดาผู้มีปัญญาได้ระลึกถึงบทเรียน” (ศอด 29)

คัมภีร์ที่บะเราะกะฮ์ ถูกประทานลงมาในค่ำคืนที่บะเราะกะฮ์ เพราะฉะนั้นเราจึงเรียกเดือนเราะมะฎอน เดือนแห่งการประทานอัลกุรอานว่า เราะมะฎอน มุบาร็อก เราะมะฎอนที่เปี่ยมไปด้วยบะเราะกะฮ์ ซึ่งเราอาจจะพูดได้ว่าสาเหตุที่ทำให้เราะมะฎอนเปี่ยมไปด้วยบะเราะกะฮ์ก็เพราะอัลกุรอานุลกะรีม

 

พี่น้องครับ

อัลกุรอานคือเหตุที่เราควรจะต้องยินดีและเบิกบานใจ หากมีเหตุใดเหตุหนึ่งที่ผู้ศรัทธาจะต้องรู้สึกปลื้มปิติอย่างล้นหลามด้วยแล้ว ย่อมต้องเป็นอัลกุรอานนี่แหละที่พวกเขาจะต้องรู้สึกยินดีเป็นที่สุดในชีวิต ไม่มีสิ่งใดที่เราจะต้องดีใจมากไปกว่าการที่เราได้รับอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาเป็นของขวัญให้กับมนุษยชาติทั้งปวง อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ قَدۡ جَآءَتۡكُم مَّوۡعِظَةٞ مِّن رَّبِّكُمۡ وَشِفَآءٞ لِّمَا فِي ٱلصُّدُورِ وَهُدٗى وَرَحۡمَةٞ لِّلۡمُؤۡمِنِينَ 57 قُلۡ بِفَضۡلِ ٱللَّهِ وَبِرَحۡمَتِهِۦ فَبِذَٰلِكَ فَلۡيَفۡرَحُواْ هُوَ خَيۡرٞ مِّمَّا يَجۡمَعُونَ 58 ﴾ [يونس: 57،  58] 

ความว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงโอวาทจากพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าได้มาถึงยังพวกเจ้าแล้ว มันเป็นโอสถเยียวยาให้แก่สิ่งที่อยู่ในหัวอก เป็นทางนำและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮ์และความเมตตาของพระองค์นั้นให้พวกเขาได้แสดงความยินดีปรีดา มันย่อมดีกว่าสิ่งที่พวกเขาแสวงหารวบรวม” (ยูนุส 57-58)

ในสองอายะฮ์นี้ อัลลอฮ์เรียกมนุษย์ทุกคน ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ศรัทธา เป็นอายะฮ์ที่ให้คุณลักษณะของอัลกุรอานได้อย่างงดงามมาก อัลกุรอานคือคำพูดดีๆ ที่เตือนใจซึ่งมาจากพระผู้เป็นเจ้า เป็นสารมาจากอัลลอฮ์ ไม่ใช่คำพูดของสิ่งถูกสร้างที่ต่ำต้อยที่ไหน แต่เป็นคำพูดของพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

อัลกุรอานเป็นโอสถเยียวยาที่ชโลมหัวใจซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ เวลาที่หัวใจของเราห่อเหี่ยวหดหู่เรามักจะหาคำพูดดีๆ ของผู้อื่นมาสร้างกำลังใจ แต่เราเคยคิดไหมว่ามีคำพูดของใครที่จะดีไปกว่าคำพูดของอัลลอฮ์ผู้ทรงสร้างหัวใจให้กับเรา แน่นอน อัลกุรอานยังเป็นทางนำและความเมตตาสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา

อัลลอฮ์สั่งให้เรายินดีกับความเมตตานี้ของพระองค์ ยินดีกับการที่เราได้รับอัลกุรอานและเราได้เป็นผู้ที่ใช้อัลกุรอานในชีวิตของเรา[1] หากมีอะไรที่เราจะพูดกล่าวแสดงความยินดีแก่กันไม่มีอะไรที่สมควรแก่การแสดงความยินดีมากไปกว่าการที่เราได้รับของขวัญนี้ นั่นคืออัลกุรอานที่เป็นทางนำในการดำรงชีวิต นี่คือสิ่งที่มีค่ามากกว่าทรัพย์สินทั้งหมดที่เราแสวงหาและสะสมเก็บไว้ในโลกดุนยานี้

 

พี่น้องครับ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราะมะฎอนเดือนแห่งอัลกุรอานมาถึง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจะกำหนดภารกิจของท่านกับอัลกุรอานในเดือนเราะมะฎอน รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า

«كَانَ النبيُّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ أجْوَدَ النَّاسِ بالخَيْرِ، وكانَ أجْوَدُ ما يَكونُ في رَمَضَانَ حِينَ يَلْقَاهُ جِبْرِيلُ، وكانَ جِبْرِيلُ عليه السَّلَامُ يَلْقَاهُ كُلَّ لَيْلَةٍ في رَمَضَانَ، حتَّى يَنْسَلِخَ، يَعْرِضُ عليه النبيُّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ القُرْآنَ، فَإِذَا لَقِيَهُ جِبْرِيلُ عليه السَّلَامُ، كانَ أجْوَدَ بالخَيْرِ مِنَ الرِّيحِ المُرْسَلَةِ» [البخاري 1902 ومسلم 2308]

ความว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่สุดในการบริจาคทาน และท่านยังเป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างที่สุดในเดือนเราะมะฎอนเมื่อท่านได้พบกับญิบรีล ซึ่งญิบรีลจะพบกับท่านนบีทุกค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนจนกว่ามันจะจบเดือน เพื่อสอนทบทวนอัลกุรอาน แท้จริงแล้วท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อญิบรีลพบกับท่านนั้น ท่านจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการให้บริจาคยิ่งกว่าลมที่พัดแรงเสียอีก” (อัล-บุคอรีย์ 1902 และมุสลิม 2308)

หะดีษนี้สอนให้เราทราบว่า การให้ความสำคัญกับอัลกุรอานในเดือนเราะมะฎอนเป็นแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยการร่วมกันศึกษาอัลกุรอานระหว่างผู้ศรัทธาด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในค่ำคืนแห่งเราะมะฎอน เพราะนี่คือเดือนแห่งอัลกุรอาน ถ้าสมมติว่าชีวิตของเราในเราะมะฎอนไม่ได้มีอะไรเตรียมที่จะให้เวลากับอัลกุรอานเลยนั่นแสดงว่าเราไม่ได้เข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของเดือนเราะมะฎอน

ดังนั้น มาช่วยกันคิดว่าจะวางแผนอย่างไรให้ทั้งสามสิบวันของเราะมะฎอนนี้ เราจะได้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่ากับคัมภีร์อัลกุรอาน เราจะได้ยินดีและมีความสุขกับการต้อนรับของขวัญจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ในเดือนที่เวียนมาบรรจบแค่ปีละครั้งเท่านั้น

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

ในหะดีษของอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ข้างต้น อุละมาอ์อย่างท่านอิบนุ เราะญับ ได้เอามาถอดบทเรียนให้เราใช้ปฏิบัติว่า

قال ابن رجب -رحمه الله-: "دل الحديث على استحباب دراسة القرآن في رمضان والاجتماع على ذلك، وعرض القرآن على من هو أحفظ له، وفيه دليل على استحباب الإكثار من تلاوة القرآن في شهر رمضان وخاصة ليلا؛ لأن في حديث ابن عباس -رضي الله عنهما- أن المدارسة كانت ليلا، ولأن الليل تنقطع فيه الشواغل ويجتمع فيه الهم، ويتواطأ فيه القلب واللسان على التدبر، كما قال -تعالى-: {إِنَّ نَاشِئَةَ اللَّيْلِ هِيَ أَشَدُّ وَطْئًا وَأَقْوَمُ قِيلا} [المزمل:6]". أهـ بتصرف من لطائف المعارف ص246.

رابط المادة: http://iswy.co/evo2n

ข้อสรุปของบทเรียนจากหะดีษนี้ก็คือ ส่งเสริมให้มีการนั่งศึกษาอัลกุรอานร่วมกัน และอ่านอัลกุรอานให้ฟังกับคนที่มีความรู้มากกว่าเราเพื่อให้เขาช่วยแก้ไขปรับปรุงการอ่านของเราให้ถูกต้อง และส่งเสริมให้อ่านอัลกุรอานให้มากในเดือนเราะมะฎอน โดยเฉพาะในยามค่ำคืน เพราะในหะดีษบอกว่าท่านนบีอ่านอัลกุรอานกับญิบรีลในเวลากลางคืน ซึ่งกลางคืนเป็นเวลาที่สงบกว่าและหัวใจนิ่งกว่าในการซึมซาบความหมายของอัลกุรอานในขณะที่เปล่งเสียงอ่านออกมา

เดือนเราะมะฎอนกับอัลกุรอานนั้นมีความสัมพันธ์แนบแน่น หากเราะมะฎอนของเราไร้การเข้าใกล้อัลกุรอานก็ย่อมไม่มีคุณค่าที่แท้จริง นอกจากนี้ แม้ว่าอัลกุรอานคือทางนำชี้ทางสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากมัน ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากอัลกุรอานก็คือบรรดาผู้ที่มีความตักวา/ยำเกรงต่ออัลลอฮ์เท่านั้น แน่นอนว่าเราะมะฎอนมาพร้อมกับอัลกุรอานที่เป็นทางนำ หรือ ฮิดายะฮ์ อิรชาด หมายถึงแจกแจงและชี้ให้เห็นถึงความดีงามต่างๆ ให้แก่มนุษย์ แต่บางคนก็ไม่พร้อมที่จะรับทางนำจากอัลกุรอานจึงไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ได้เลย ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากอัลกุรอานต้องมี ทางนำ ที่เรียกว่า ฮิดายะฮ์ เตาฟีก จากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ซึ่งการเตาฟีกดังกล่าวพระองค์จะให้กับบรรดาคนที่มีใจพร้อมด้วยความยำเกรงต่อพระองค์เท่านั้น[2]

พระองค์ตรัสว่า

﴿ ذَٰلِكَ ٱلۡكِتَٰبُ لَا رَيۡبَۛ فِيهِۛ هُدٗى لِّلۡمُتَّقِينَ 2 ﴾ [البقرة: 2] 

ความว่า “คัมภีร์เล่มนั้นไม่มีความคลางแคลงใดๆ ในนั้น เป็นทางนำแก่บรรดาผู้ที่มีความตักวา” (อัล-บะเกาะเราะฮ์  2)

ลองถามตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไรกับอัลกุรอาน โดยเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนนี้ เราได้วางแผนอย่างไรบ้างที่จะให้ชีวิตของเราใกล้ชิดกับอัลกุรอาน ให้ตั้งเป้าหมายเราะมะฎอนของเราที่จะใช้ชีวิตกับอัลกุรอาน ทั้งฟัง อ่าน เรียน ตะดับบุร ทำความเข้าใจ ฝึกฝน ทำตามให้มากที่เพื่อบรรลุระดับแห่งความตักวาอันเป็นตำแหน่งและมาตรฐานที่อัลลอฮ์ใช้วัดคุณค่าที่แท้จริงของบ่าวทุกคน และเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากอัลกุรอานอย่างเต็มเปี่ยม อินชาอ์อัลลอฮ์



[1] ดูการอธิบายเพิ่มเติมในตัฟสีรอัฏ-เฏาะบะรีย์

[2] ดูการอธิบายเพิ่มเติมในตัฟสีรอัส-สะอฺดีย์ อายะฮ์ที่ 2 จากสูเราะฮ์ อัล-บะเกาะเราะฮ์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น