วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

สรุปเนื้อหา ตัฟซีร สูเราะฮฺ อัล-มุรสะลาต



อธิบายสูเราะฮฺ อัล-มุรสะลาต และบทเรียนต่างๆ ที่ถอดได้จากสูเราะฮฺ ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมดสี่ตอน เป็นอีกหนึ่งสูเราะฮฺที่นำเสนอหลักความเชื่อเกี่ยวกับวันอาคิเราะฮฺ โดยยกอุทาหรณ์จากหลักฐานต่างๆ มากมายให้มนุษย์ได้สำนึกและหวนกลับมาทบทวนสิ่งที่พวกเขาต้องพบอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เป็นสูเราะฮฺสั้นๆ ที่เน้นประเด็นเรื่องการศรัทธาต่อโลกหน้าอย่างกระชับ รวมทั้งเรียกร้องให้ไตร่ตรองคำสอนของอัลกุรอานอย่างตรงไปตรงมา

รับฟังและดาวน์โหลดได้จากเว็บอิสลามเฮ้าส์ 

หรือฟังผ่านแอปพลิเคชั่น SoundCloud บนมือถือของคุณ
https://soundcloud.com/e-daiyah/sets/th_sufum_tafseer_surah_almursalat


สรุปเนื้อหา

ตอนที่ 1
  • บทนำว่าด้วยสูเราะฮฺ อัล-มุรสะลาตที่อัลลอฮฺได้ใช้สำนวนการสาบานในการเริ่มต้นสูเราะฮฺ
  • อะไรคือการสาบานทั้งห้าประการที่อัลลอฮฺใช้สาบาน
  • ความเห็นหรือทัศนะที่ต่างกันในการอธิบายการสาบานทั้งห้า
  • หน้าที่ของอัลกุรอานที่อัลลอฮฺกล่าวถึงในสูเราะฮฺ อัล-มุรสะลาต 
  • อัลกุรอานคือหลักฐานที่จะลบล้างข้ออ้างของมนุษย์ในวันอาคิเราะฮฺ
  • อัลกุรอานคือการเตือนสำทับให้มนุษย์ระวังตนในการใช้ชีวิต และหลีกห่างจากสาเหตุที่จะทำให้เขาถูกลงโทษในวันอาคิเราะฮฺ
  • อัลกุรอานเตือนมนุษย์เพราะอะไร ? เพราะเกลียดหรือเพราะรัก (นาที 33 เป็นต้นไป)
  • อัลลอฮฺได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันสิ้นโลก หลังจาก
  • ปัญหาเรื่องความเห็นต่างและความไม่ลงรอยกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องสนุก แต่เป็นเรื่องที่ควรเลี่ยง (นาที 42.30)
  • ทุกปัญหาความขัดแย้ง อัลลอฮฺจะทรงพิพากษาอย่างยุติธรรมแม้กระทั่งสัตว์เองก็ตาม 
  • ดุอาอ์อิสติฟตาห์เพื่อใช้ป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้ง 

ตอนที่ 2
  • ไม่มีบทบัญญัติในอิสลามเกี่ยวกับการต้อนรับปีใหม่ แต่มุสลิมสามารถใช้ปีใหม่เพื่อเป็นบทเรียนในการวางแผนต่างๆ ได้
  • มุสลิมได้รับบทเรียนจากบทบัญญัติต่างๆ ในศาสนาเพื่อเอามาใช้บริหารจัดการชีวิตในโลกดุนยาได้
  • ความแตกต่างระหว่างคนผู้โกหกเอง(กัซซาบ) กับคนที่อ้างว่าคนอื่นผู้โกหก(มุกัซซิบ)
  • พวกมุชริกีนคือพวกที่กล่าวหาว่าท่านนบีผู้โกหก
  • อัลลอฮฺยกอุทาหรณ์เกี่ยวกับชนที่ถูกทำลายก่อนหน้านี้ เพื่อให้พวกเขาสำนึกจากพฤติกรรมชั่วร้ายที่ปฏิบัติต่อท่านนบีและไม่ศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺ
  • หลังจากนั้น อัลลอฮฺได้สะกิดให้มนุษย์ระลึกถึงการกำเนิดของตัวเอง ถ้าหากเขายังดื้อด้านที่จะปฏิเสธวันอาคิเราะฮฺ
  • พระองค์ยังเรียกร้องให้มนุษย์ที่ปฏิเสธวันอาคิเราะฮฺได้คิดและมองดูความมหัศจรรย์ต่างๆ รอบตัว เพราะจะทำให้เกิดการยอมรับในความสามารถของพระองค์ได้
ตอนที่ 3
  • ทบทวนการใช้ชีวิตแบบมีความตระหนักและมีสติ
  • วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตมีเหตุผลของมัน แม้ว่าเราจะมองว่ามันเลวร้ายแต่ก็ย่อมมีเรื่องดีๆ แฝงอยู่ เพียงแต่เราอาจจะไม่รู้
  • เรื่องไม่ดีในทัศนะของเรา แต่มันมีสิ่งดีในมุมมองของอัลลอฮฺ เพียงแต่เรามองไม่เห็นเพราะไม่ผ่านบททดสอบของพระองค์
  • ชีวิตคนที่มีอัลลอฮฺ จะมองวิกฤตมีแต่สิ่งดีๆ ให้เราเสมอ หนำซ้ำเรื่องดีๆ เรายังกลับมองว่าเป็นสิ่งไม่ไดีอยู่เลย
  • แนะนำหนังสือเชค สะอฺดีย์ 21 วิธีทำชีวิตให้มีความสุข (นาที 12.45)
  • เพิ่มความรู้เกี่ยวกับอิสลามด้วยการโดดออกจากโหลแก้วไปสู่สระ หรือจะให้ดีก็ออกไปว่ายในมหาสมุทร
  • กลุ่มอายะฮฺที่กล่าวถึงการตอบแทนบรรดาผู้ปฏิเสธวันอาคิเราะฮฺ
  • การลงโทษในนรกที่เจ็บปวดใต้กลุ่มควันของไฟนรก
  • เปลวไฟในนรถใหญ่โตเสมือนอาคารสูงหลายชั้น
  • เปรียบลักษณะของไฟนรกเหมือนอูฐ 
  • ชาวนรกจะไม่ได้รับอนุญาตให้พูดใดๆ และไม่สามารถจะกล่าวอ้างใดๆ ได้อีก
  • ไม่มีข้ออ้างในวันอาคิเราะฮฺ ถ้าจะอ้างให้อ้างในดุนยาและรีบจัดการข้ออ้างให้จบก่อนตาย
  • วันอาคิเราะฮฺคือวันแห่งการจำแนกระหว่างบ่าวที่เลือกทางถูกหรือเลือกทางผิด
  • ในดุนยาเราไม่อาจจะคาดคั้นว่าใครถูกผิด คำตอบที่สุดของที่สุดจะมีในวันอาคิเราะฮฺวันเดียวเท่านั้น
  • อย่าให้ตัวเราข้ามไปสู่ฝั่งการลงโทษในวันอาคิเราะฮฺ เพราะเมื่ออัลลอฮฺลงโทษก็จะลงโทษจริงๆ ไม่มีการผ่อนปรนอีกต่อไป
  • ทุกคนต่างต้องรับผิดชอบตัวเองต่อหน้าอัลลอฮฺ เรามีความสามารถแค่บอกให้รู้เท่านั้น ท้ายที่สุดแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง

ตอนที่ 4
  • ภาพสะท้อนอันงดงามที่เกิดจากวิกฤตในบางครั้ง
  • ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ แต่จะจัดการอย่างไรไม่เราอยู่กับที่เพราะมัน
  • อย่าฉุดรั้งอุมมะฮฺให้นิ่งหยุด และหยุดการพัฒนาในระดับมหภาค เพราะความขัดแย้งของพวกเรา
  • สิ่งที่ต้องทบทวนเร่งด่วนที่สุด คือ ตักวาในตัวเราเอง คอมเม้นท์ตัวเองก่อนที่จะคอมเม้นท์คนอื่น
  • ทุกคนตรวจสอบตักวาของตัวเอง นั่นแหละคือพลัง 
  • กล่าวถึงผลตอบแทนของชาวสวรรค์ที่อัลลอฮฺเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ตักวา
  • นิอฺมัตในสวรรค์หลากหลายทุกประสาทสัมผัส ทั้งการลิ้มลอง การมองเห็น การได้ยิน 
  • ผู้ที่ได้รับการลงโทษในนรกจะถูกประชดประชัดให้กินดื่มอาหารและเครื่องดื่มในโลกดุนยา เพราะพวกเขาจะไม่ได้กินดื่มอย่างมีความสุขในวันอาคิเราะฮฺอีก
  • เตือนสติให้อดทนและระงับใจ ไม่หลงตามกระแสการบริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นนิสัยที่ค้านกับคุณลักษณะของผู้ที่จะได้เข้าสวรรค์
  • อดทนกับสิ่งล่อลวงของชัยฏอน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งล่อลวงขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม
  • หนึ่งในลักษณะของผู้ที่ต้องรับโทษในนรกคือผู้ที่ไม่ละหมาด
  • สุดท้ายอัลลอฮฺตั้งคำถามกับผู้ปฏิเสธศรัทธากับอัลกุรอานว่า ถ้าพวกเขาไม่ยอมศรัทธาต่ออัลกุรอาน ยังมีหนังสือเล่มอื่นที่ดีกว่าอัลกุรอานอีกหรือ
  • ถ้าอัลกุรอานยังไม่สามารถทำให้พวกเขาศรัทธาได้ นึกหรือว่าจะมีอย่างอื่นทำให้พวกศรัทธาได้
  • สิ่งที่เรากลัว คือการที่เขาไม่ยอมฟังอัลกุรอานต่างหาก ถ้าเขาฟังอัลกุรอานอย่างจริงใจหัวใจย่อมต้องเปิดรับศรัทธาแน่นอน
  • ทำอย่างไรดี เพื่อลดพฤติกรรมชาวนรกและเพิ่มคุณลักษณะแห่งชาวสรรค์ในตัวเองให้คุกรุ่นอยู่เสมอ
  • เมื่อไรก็ตามที่หัวใจอ่อนแอที่จะครองตนเป็นชาวสวรรค์ ให้รีบกลับไปหาอัลกุรอานเพื่อเพิ่มพลังอีมานให้กลับคืนมาอีกครั้ง


บทใคร่ครวญถึงหน้าที่ของดาอีย์


ในสูเราะฮฺ อัล-ญุมุอะฮฺ อายะฮฺที่ 2 อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
(هُوَ الَّذِي بَعَثَ فِي الْأُمِّيِّينَ رَسُولاً مِّنْهُمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِهِ وَيُزَكِّيهِمْ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَإِن كَانُوا مِن قَبْلُ لَفِي ضَلَالٍ مُّبِينٍ) (الجمعة : 2 )
ความว่า พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งรอซูลขึ้นคนหนึ่ง ในหมู่ผู้ไม่รู้จักหนังสือจากพวกเขาเองเพื่อให้อ่านโองการต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และเพื่อขัดเกลาพวกเขาและเพื่อสอนคัมภีร์และหิกมะฮฺแก่พวกเขา และแท้จริง ก่อนหน้านี้พวกเขาอยู่ในความหลงทางอย่างชัดเจน
ความหมายที่เหมือนกันกับอายะฮฺข้างต้น ปรากฏในสูเราะฮฺ อาล อิมรอน อายะฮฺที่ 164 อีกด้วย นั่นคือดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
(لَقَدْ مَنَّ اللّهُ عَلَى الْمُؤمِنِينَ إِذْ بَعَثَ فِيهِمْ رَسُولاً مِّنْ أَنفُسِهِمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِهِ وَيُزَكِّيهِمْ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَإِن كَانُواْ مِن قَبْلُ لَفِي ضَلالٍ مُّبِينٍ) (آل عمران : 164 )
ความว่า แท้จริง อัลลอฮฺได้ประทานคุณแก่บรรดามุอ์มิน(ผู้ศรัทธา) ด้วยการที่พระองค์ทรงแต่งตั้งรอซูลขึ้นคนหนึ่งในหมู่พวกเขาเอง เพื่อให้อ่านโองการต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และเพื่อขัดเกลาพวกเขา และเพื่อสอนคัมภีร์และหิกมะฮฺแก่พวกเขา และแท้จริง ก่อนหน้านี้พวกเขาอยู่ในความหลงทางอย่างชัดเจน
อายะฮฺนี้ระบุถึงหน้าที่ หรืองานเผยแผ่อิสลามของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งก็คือหน้าที่ของบรรดาผู้เผยแผ่อิสลาม(ดาอีย์) ในหมู่ประชาชาติของท่านทุกคนเช่นกัน
หน้าที่หรืองานเหล่านั้นคือ
หนึ่ง อ่านอัลกุรอานให้ฟัง
สอง ขัดเกลาให้เป็นคนดี
สาม สอนอัลกุรอานและหิกมะฮฺ (นักอรรถาธิบายหลายท่านให้ความหมาย หิกมะฮฺซุนนะฮฺ หรือแนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่นำไปสู่การปฏิบัติตามอัลกุรอานนั่นเอง) ในอายะฮฺนี้ว่าหมายถึง
การอ่านอัลกุรอาน หรือพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าให้มวลมนุษย์ฟังเป็นงานหลักพื้นฐานของบรรดารอซูล ถ้าเป็นก่อนสมัยท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็คือคัมภีร์อื่นๆ นอกจากอัลกุรอาน
เช่นที่มีปรากฏในสูเราะฮฺ อัล-เกาะศ็อศ อายะฮฺที่ 59 ว่า
(وَمَا كَانَ رَبُّكَ مُهْلِكَ الْقُرَى حَتَّى يَبْعَثَ فِي أُمِّهَا رَسُولاً يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِنَا وَمَا كُنَّا مُهْلِكِي الْقُرَى إِلَّا وَأَهْلُهَا ظَالِمُونَ) (القصص : 59 )
ความว่า และพระผู้อภิบาลของเจ้ามิได้เป็นผู้ทำลายเมืองทั้งหลาย จนกว่าจะทรงแต่งตั้งรอซูลขึ้นในเมืองแม่ของมัน โดยให้เขาอ่านโองการทั้งหลายของเราแก่พวกเขา และเรามิได้เป็นผู้ทำลายเมืองทั้งหลาย เว้นแต่ชาวเมืองนั้นเป็นผู้อธรรม
และแม้แต่การบังเกิดขึ้นของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เพื่อให้เป็นศาสนทูตแก่ประชาชาติยุคสุดท้าย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงจากคำขอพรของท่านนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีล อะลัยฮิมัสสลาม ที่ได้ขอจากอัลลอฮฺให้มีรอซูลผู้มาทำหน้าที่ดังกล่าวบังเกิดขึ้นในหมู่ลูกหลานของท่านทั้งสอง และบุคคลผู้นั้นก็คือท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั่นเอง อัลลอฮฺได้ตรัสถึงดุอาอ์ของทั้งสองว่า
(رَبَّنَا وَابْعَثْ فِيهِمْ رَسُولاً مِّنْهُمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِكَ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَيُزَكِّيهِمْ إِنَّكَ أَنتَ العَزِيزُ الحَكِيمُ) (البقرة : 129 )
ความว่า โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งเรา ขอทรงแต่งตั้งรอซูลคนหนึ่งให้มีขึ้นในหมู่พวกเขา เพื่อให้อ่านโองการต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และเพื่อสอนคัมภีร์และหิกมะฮฺแก่พวกเขา และเพื่อขัดเกลาพวกเขา แท้จริงพระองค์นั้นทรงเปี่ยมยิ่งด้วยเดชานุภาพและความปรีชา
ในเชิงปฏิบัติ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำตัวอย่างไว้อย่างแจ่มแจ้งในกระบวนการดะอฺวะฮฺของท่าน หากทบทวนประวัติศาสตร์การเผยแพร่อิสลาม เราจะพบว่าท่านนบีมักจะเริ่มด้วยการอ่านอัลกุรอานให้ มัดอูว์ (ผู้ฟัง ผู้ถูกเชิญชวน) ได้ฟังก่อน บ่อยครั้งท่านตอบโต้กับพวกมุชริกีนด้วยการอ่านอัลกุรอานให้ฟังโดยไม่ได้พูดพร่ำถ้อยคำอื่นใดให้ยืดยาว เศาะหาบะฮฺหลายท่านถูกส่งไปยังเมืองต่างๆ ในฐานะดาอีย์ของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม โดยรับคำสั่งให้ทำหน้าที่อ่านอัลกุรอาน ขัดเกลาผู้คน และสอนอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ตามที่มีระบุในอายะฮฺเหล่านี้
เพราะฉะนั้น ผู้ทำหน้าที่ดะอฺวะฮฺที่มุ่งมั่นทำงานเพื่ออิสลามจึงต้องคำนึงถึงหน้าที่เหล่านี้ ให้สมกับการเป็น ดาอีย์ ผู้ตามแนวทางของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตามที่อัลกุรอานได้สั่งในท่านรอซูลประกาศว่า
(قُلْ هَـذِهِ سَبِيلِي أَدْعُو إِلَى اللّهِ عَلَى بَصِيرَةٍ أَنَاْ وَمَنِ اتَّبَعَنِي وَسُبْحَانَ اللّهِ وَمَا أَنَاْ مِنَ الْمُشْرِكِينَ) (يوسف : 108 )
ความว่า จงกล่าวเถิด(โอ้ มุหัมมัด นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺบนความประจักษ์แจ้ง ทั้งตัวฉันและผู้ติดตามฉัน และมหาบริสุทธิ์เถิดพระองค์อัลลอฮฺ ฉันมิได้อยู่ในหมู่ตั้งภาคี
มีเกียรติอันใดจะประเสริฐเท่ากับการได้ชื่อว่า "เป็นผู้ติดตาม" ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ศาสนทูตอันเป็นที่รักของเรา
วัลลอฮุ อะอฺลัม ..