วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ความเสียหายบนแผ่นดิน ... ภาวะของสภาพไร้ศรัทธา

فَلَوْلاَ كَانَ مِنَ الْقُرُونِ مِن قَبْلِكُمْ أُوْلُواْ بَقِيَّةٍ يَنْهَوْنَ عَنِ الْفَسَادِ فِي الأَرْضِ إِلاَّ قَلِيلاً مِّمَّنْ أَنجَيْنَا مِنْهُمْ وَاتَّبَعَ الَّذِينَ ظَلَمُواْ مَا أُتْرِفُواْ فِيهِ وَكَانُواْ مُجْرِمِينَ ،ـ سورة هود : 116

ความว่า "ดังนั้น ในศตวรรษก่อนจากพวกเจ้า น่าจะมีปัญญาชนช่วยกันห้ามปรามการบ่อนทำลาย(สร้างความเสียหาย)ในแผ่นดิน เว้นแต่จำนวนน้อยเท่านั้น(คือคนที่ทำหน้าที่เช่นนั้นมีอยู่แต่ไม่มาก) จากผู้ที่เราได้ช่วยพวกเขาให้รอดพ้น และบรรดาผู้อธรรมได้ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาถูกให้อยู่ในความสำราญ พวกเขาจึงเป็นผู้กระทำผิด"

อายะฮฺนี้คือบทสรุปที่สำคัญข้อหนึ่งของ "หน้าที่ของบรรดานบี" ซึ่งถูกกล่าวถึงหลายท่านในสูเราะฮฺฮูด ...

นบี ทุกคนถูกส่งให้มีหน้าที่ ห้ามปรามการสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดินของอัลลอฮฺ และเราก็จะพบว่า ประชาชาติของนบีแต่ละท่านนั้นสร้างความเสียหายบนแผ่นดินในรูปแบบที่หลากหลาย แตกต่างกัน แต่จุดกำเนิดของความเสียหายเหล่านั้นมาจากจุดเดียวกันคือ "การไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ"

เมื่อ ไม่ศรัทธา บางพวกจึงทำตนโอหัง(เช่นพวกอ๊าดประชาชาติของนบีฮูด และฟิรเอา์น์ในยุคของนบีมูซา) บางพวกจึงสมสู่ผิดเพศ(พวกของนบีลูฏ)เป็นความเสียหายด้านจริยธรรมที่หนักหนา ยิ่ง บางพวกจึงกล้าโกงตาชั่ง(พวกของนบีชุอัยบ์)สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ

เพราะฉะนั้น สารแห่งการเชิญชวนเรียกร้องของบรรดานบีทั้งหมดจึงโฟกัสที่ เรียกร้องให้ประชาชาติทั้งหมดศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เพราะด้วยแรงศรัทธาหรืออีมานเท่านั้นที่สามารถควบคุมมนุษย์ไม่ให้สร้างความ เสียหายบนหน้าแผ่นดินได้

เฉกเช่นเดียวกับปัจจุบันนี้ ความเสียหายทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะผู้คนไร้ศรัทธา เมื่อไร้ศรัทธาจึงไม่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ไม่นึกถึงโลกหน้าอีกโลกหนึ่ง ชีวิตมีเพียงโลกนี้ จึงพร่ำหาความสุขสบายทุกอย่างที่หาได้โดยไม่คำนึงถึงสิ่งใดอื่นอีกแล้ว มนุษย์ที่เมื่อถูกวัตถุนิยมและบริโภคนิยมเข้าครอบงำ ย่อมทำได้ทุกอย่างเพื่อความสำราญของอารมณ์ดิบและความต้องการของแรงตัณหา ... การต้านทานสิ่งเหล่านี้มีอยู่หนทางเดียว คือ กลับไปหาอัลลอฮฺ

สารแห่งดะอฺวะฮฺของเราจึงชัดเจนยิ่งว่า "เราต้องเรียกร้องและเชิญชวนให้มนุษย์กลับไปหาอัลลอฮฺ"
หากไม่ต้องการเห็นความเสียหายระบาดไปทั่วแผ่นดินเยี่ยงที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ...

วัลลอฮฺ อะอฺลัม ..

หมายเหตุ เรื่องราวการดะอฺวะฮฺของบรรดานบี ถูกกล่าวถึงอย่างน้อยในสามสูเราะฮฺหลักๆ คือ สูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ, สูเราะฮฺ ฮูด และสูเราะฮฺ อัช-ชุอะรออ์

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2551

บทใคร่ครวญถึงหน้าที่ของดาอีย์


ในสูเราะฮฺ อัล-ญุมุอะฮฺ อายะฮฺที่ 2 อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

(هُوَ الَّذِي بَعَثَ فِي الْأُمِّيِّينَ رَسُولاً مِّنْهُمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِهِ وَيُزَكِّيهِمْ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَإِن كَانُوا مِن قَبْلُ لَفِي ضَلَالٍ مُّبِينٍ) (الجمعة : 2 )

ความว่า พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งรอซูลขึ้นคนหนึ่ง ในหมู่ผู้ไม่รู้จักหนังสือจากพวกเขาเองเพื่อให้อ่านโองการต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และเพื่อขัดเกลาพวกเขา และเพื่อสอนคัมภีร์และหิกมะฮฺแก่พวกเขา และแท้จริง ก่อนหน้านี้พวกเขาอยู่ในความหลงทางอย่างชัดเจน

ความหมายที่เหมือนกันกับอายะฮฺข้างต้น ปรากฏในสูเราะฮฺ อาล อิมรอน อายะฮฺที่ 164 อีกด้วย นั่นคือดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

(لَقَدْ مَنَّ اللّهُ عَلَى الْمُؤمِنِينَ إِذْ بَعَثَ فِيهِمْ رَسُولاً مِّنْ أَنفُسِهِمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِهِ وَيُزَكِّيهِمْ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَإِن كَانُواْ مِن قَبْلُ لَفِي ضَلالٍ مُّبِينٍ) (آل عمران : 164 )

ความว่า แท้จริง อัลลอฮฺได้ประทานคุณแก่บรรดามุอ์มิน(ผู้ศรัทธา) ด้วยการที่พระองค์ทรงแต่งตั้งรอซูลขึ้นคนหนึ่งในหมู่พวกเขาเอง เพื่อให้อ่านโองการต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และเพื่อขัดเกลาพวกเขา และเพื่อสอนคัมภีร์และหิกมะฮฺแก่พวกเขา และแท้จริง ก่อนหน้านี้พวกเขาอยู่ในความหลงทางอย่างชัดเจน

อายะฮฺนี้ระบุถึงหน้าที่ หรืองานเผยแผ่อิสลามของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งก็คือหน้าที่ของบรรดาผู้เผยแผ่อิสลาม(ดาอีย์) ในหมู่ประชาชาติของท่านทุกคนเช่นกัน

หน้าที่หรืองานเหล่านั้นคือ

หนึ่ง อ่านอัลกุรอานให้ฟัง

สอง ขัดเกลาให้เป็นคนดี

สาม สอนอัลกุรอานและหิกมะฮฺ (นักอรรถาธิบายหลายท่านให้ความหมาย หิกมะฮฺ ในอายะฮฺนี้ว่าหมายถึงซุนนะฮฺ หรือแนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่นำไปสู่การปฏิบัติตามอัลกุรอานนั่นเอง)

การอ่านอัลกุรอาน หรือพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าให้มวลมนุษย์ฟัง เป็นงานหลักพื้นฐานของบรรดารอซูล ถ้าเป็นก่อนสมัยท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็คือคัมภีร์อื่นๆ นอกจากอัลกุรอาน

เช่นที่มีปรากฏในสูเราะฮฺ อัล-เกาะศ็อศ อายะฮฺที่ 59 ว่า

(وَمَا كَانَ رَبُّكَ مُهْلِكَ الْقُرَى حَتَّى يَبْعَثَ فِي أُمِّهَا رَسُولاً يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِنَا وَمَا كُنَّا مُهْلِكِي الْقُرَى إِلَّا وَأَهْلُهَا ظَالِمُونَ) (القصص : 59 )

ความว่า และพระผู้อภิบาลของเจ้ามิได้เป็นผู้ทำลายเมืองทั้งหลาย จนกว่าจะทรงแต่งตั้งรอซูลขึ้นในเมืองแม่ของมัน โดยให้เขาอ่านโองการทั้งหลายของเราแก่พวกเขา และเรามิได้เป็นผู้ทำลายเมืองทั้งหลาย เว้นแต่ชาวเมืองนั้นเป็นผู้อธรรม

และแม้แต่การบังเกิดขึ้นของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เพื่อให้เป็นศาสนทูตแก่ประชาชาติยุคสุดท้าย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงจากคำขอพรของท่านนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีล อะลัยฮิมัสสลาม ที่ได้ขอจากอัลลอฮฺให้มีรอซูลผู้มาทำหน้าที่ดังกล่าวบังเกิดขึ้น ในหมู่ลูกหลานของท่านทั้งสอง และบุคคลผู้นั้นก็คือท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั่นเอง อัลลอฮฺได้ตรัสถึงดุอาอ์ของทั้งสองว่า

(رَبَّنَا وَابْعَثْ فِيهِمْ رَسُولاً مِّنْهُمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِكَ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَيُزَكِّيهِمْ إِنَّكَ أَنتَ العَزِيزُ الحَكِيمُ) (البقرة : 129 )

ความว่า โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งเรา ขอทรงแต่งตั้งรอซูลคนหนึ่งให้มีขึ้นในหมู่พวกเขา เพื่อให้อ่านโองการต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และเพื่อสอนคัมภีร์และหิกมะฮฺแก่พวกเขา และเพื่อขัดเกลาพวกเขา แท้จริงพระองค์นั้นทรงเปี่ยมยิ่งด้วยเดชานุภาพและความปรีชา

ในเชิงปฏิบัติ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำตัวอย่างไว้อย่างแจ่มแจ้งในกระบวนการดะอฺวะฮฺของท่าน หากทบทวนประวัติศาสตร์การเผยแพร่อิสลาม เราจะพบว่าท่านนบีมักจะเริ่มด้วยการอ่านอัลกุรอานให้ มัดอูว์ (ผู้ฟัง ผู้ถูกเชิญชวน) ได้ฟังก่อน บ่อยครั้งท่านตอบโต้กับพวกมุชริกีนด้วยการอ่านอัลกุรอานให้ฟัง โดยไม่ได้พูดพร่ำถ้อยคำอื่นใดให้ยืดยาว เศาะหาบะฮฺหลายท่านถูกส่งไปยังเมืองต่างๆ ในฐานะดาอีย์ของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม โดยรับคำสั่งให้ทำหน้าที่อ่านอัลกุรอาน ขัดเกลาผู้คน และสอนอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ตามที่มีระบุในอายะฮฺเหล่านี้

เพราะฉะนั้น ผู้ทำหน้าที่ดะอฺวะฮฺที่มุ่งมั่นทำงานเพื่ออิสลามจึงต้องคำนึงถึงหน้าที่เหล่านี้ ให้สมกับการเป็น ดาอีย์ ผู้ตามแนวทางของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตามที่อัลกุรอานได้สั่งในท่านรอซูลประกาศว่า

(قُلْ هَـذِهِ سَبِيلِي أَدْعُو إِلَى اللّهِ عَلَى بَصِيرَةٍ أَنَاْ وَمَنِ اتَّبَعَنِي وَسُبْحَانَ اللّهِ وَمَا أَنَاْ مِنَ الْمُشْرِكِينَ) (يوسف : 108 )

ความว่า จงกล่าวเถิด(โอ้ มุหัมมัด) นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺบนความประจักษ์แจ้ง ทั้งตัวฉันและผู้ติดตามฉัน และมหาบริสุทธิ์เถิดพระองค์อัลลอฮฺ ฉันมิได้อยู่ในหมู่ตั้งภาคี


มีเกียรติอันใดจะประเสริฐเท่ากับการได้ชื่อว่า "เป็นผู้ติดตาม" ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ศาสนทูตอันเป็นที่รักของเรา


วัลลอฮุ อะอฺลัม ..

วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2551

ความแตกต่างระหว่าง ฟะห์ชาอ์ และ มุงกัร


والمنكر كل فعل تحكم العقول الصحيحة بقبحه، أو تتوقف في استقباحه واستحسانه العقول فتحكم بقبحه الشريعة

มุงกัร คือ การกระทำทุกอย่าง ที่ปัญญาอันเที่ยงธรรมวินิจฉัยว่าเป็นสิ่งที่เลว หรือ สิ่งที่จำแนกว่าดีหรือชั่วได้ด้วยสติปัญญา แล้วศาสนาก็ให้หุก่มว่าเลวตามนั้น (นั่นคือศาสนาวินิจฉัยว่าเลว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของปัญญา)

(อ้างถึง : อัล-อัศฟะฮานีย์ ใน เฆาะรีบ อัล-กุรอาน 1:505 หมวด نكر)

فحش: الفحش والفحشاء والفاحشة ما عظم قبحه من الافعال والاقوال

ฟะหะชะ : ฟุห์ชฺ, ฟะห์ชาอ์, ฟาหิชะฮฺ คือ การกระทำหรือคำพูดที่เลวทรามอย่างใหญ่หลวง

(อัล-อัศฟะฮานีย์ ใน เฆาะรีบ อัล-กุรอาน 1:373 หมวด فحش)

สรุป

มุงกัร คือ พฤติกรรมที่เป็นความผิดในภาพรวม เป็นพฤติกรรมที่แม้แต่สติปัญญาของคนทั่วไปก็รับไม่ได้ ในขณะที่ ฟะห์ชาอ์ คือพฤติกรรมเลวทรามที่มีระดับความน่าเกลียด และโสมมมากกว่าความผิดทั่วๆ ไป

อย่างไรก็ตาม นิยามข้างต้นเป็นเพียงความหมายคร่าวๆ ในเชิงภาษา เพื่อให้สามารถจำแนกได้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ทว่ายังมีการให้นิยามที่ละเอียดและหลากหลายกว่านี้ ในหมู่นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน .. วัลลอฮุอะอฺลัม

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551

หิกมะฮฺ, เมาอิเซาะฮฺ และมุญาดะละฮฺ ในมุมมอง อัล-ก็อรฎอวีย์

«ادْعُ إِلِى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَادِلْهُم بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ» (النحل : 125 )

ความว่า จงเชิญชวนสู่เส้นทางแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วย "หิกมะฮฺ" วิทยปัญญา และ "เมาอิเซาะฮฺ หะสะนะฮฺ" การตักเตือนที่ดี และจง "มุญาดะละฮฺ" โต้แย้งกับพวกเขาด้วยวิธีการที่ดีที่สุด

วิธีการแบบ "หิกมะฮฺ" เป็นการสื่อสารไปยังปัญญา ในขณะที่ "เมาอิเซาะฮฺ" นั้นสื่อสารไปยังหัวใจและสะกิดความรู้สึก เพราะมนุษย์ไม่ได้มีปัญญาล้วนๆ แต่มีทั้งปัญญาและอารมณ์

มีคนบางกลุ่มที่เราจำเป็นต้องสื่อไปยังปัญญาหรือความคิดของเขา คนที่คิดเป็น คนที่ใช้ชีวิตท่ามกลางความรู้และวัฒนธรรม และมีคนอีกหลายพวกที่เราต้องสื่อไปยังความรู้สึกของเขา แล้วก็มีคนบางกลุ่มที่เราต้องใช้วิธีการรวมๆ ต้องสื่อไปทั้งความคิดและความรู้สึกพร้อมๆ กัน

นี่คือ "เมาอิเซาะฮฺ" หรือการตักเตือน แต่อัลกุรอานไม่ได้บอกว่าเป็น "เมาอิเซาะฮฺ" หรือการตักเตือนเฉยๆ แต่เป็น "เมาอิเซาะฮฺ หะสะนะฮฺ" หรือการตักเตือนที่ดี จงตักเตือนพวกเขาด้วยการตักเตือนที่ดี

การตักเตือนที่ดีอาจจะเป็นด้วยวิธีการที่ดี ยอดเยี่ยม ดึงดูด นำเสนอด้วยภาพที่งดงาม อย่างอัลกุรอานที่เพียบพร้อมด้วยความมหัศจรรย์ที่งดงามด้านวาทศิลป์ เพราะฉะนั้นจำเป็นที่เราต้องนำเสนอด้วยวิธีการที่สวยและดึงดูด ไม่ใช่ว่ากระทำไปเหมือนขว้างหินใส่คนอื่นเขา แบบนี้ไม่ใช่การตักเตือนที่ดี

การตักเตือนที่ดีอาจจะอยู่ที่การเลือกสถานที่และดูเวลาที่เหมาะสมด้วย

เมื่อใดที่ใช้วิธี "มุญาดะละฮฺ"

เรามี "ดะอฺวะฮฺ" หรือการเชิญชวนสำหรับมุสลิมด้วยกัน และมี "มุญาดะละฮฺ" หรือการโต้แย้งกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม คนที่ยอมรับเราให้ใช้วิธีดะอฺวะฮฺเชิญชวน ส่วนคนที่ขัดแย้งกับเราให้เราใช้วิธีการโต้ หรือที่เรียกกันในภาษาปัจจุบันว่า "หิวารฺ" หรือการสนทนา

อัลกุรอานกล่าวว่า

«قَدْ سَمِعَ اللَّهُ قَوْلَ الَّتِي تُجَادِلُكَ فِي زَوْجِهَا وَتَشْتَكِي إِلَى اللَّهِ وَاللَّهُ يَسْمَعُ تَحَاوُرَكُمَا» (المجادلة : 1)

ความว่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงรับฟังคำพูดของสตรีที่โต้แย้งกับเจ้า (มุญาดะละฮฺ) ว่าด้วยเรื่องสามีของนาง นางได้ร้องต่ออัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงฟังการสนทนา(ตะหาวุร หรือ หิวารฺ) ของเจ้าทั้งสองคน

เพราะฉะนั้นการ "มุญาดะละฮฺ" หรือการโต้แย้ง ก็คือ "หิวารฺ" หรือการสนทนาประการหนึ่งนั่นเอง พวกเราถูกบัญชาให้สนทนากับผู้ที่ขัดแย้งกับเรา ถ้าหากการดะอฺวะฮฺเชิญชวนเป็นสิ่งที่วาญิบ การสนทนาก็วาญิบเช่นกัน

สิ่งที่น่าประหลาดก็คือ อัลกุรอานบอกว่า ให้เราโต้ด้วยสิ่งที่ดีกว่าหรือที่ดีที่สุด

กับประโยค "เมาอิเซาะฮฺ" หรือการตักเตือน อัลกุรอานแค่ใช้คำว่า "เมาอิเซาะฮฺ หะสะนะฮฺ" หรือการตักเตือนที่ดี แต่กับประโยค "มุญาดะละฮฺ" หรือการโต้แย้ง อัลกุรอานกลับใช้คำว่า "บิลละตี ฮิยะ อะห์สัน" หมายถึงต้องดีกว่าหรือดีที่สุดจริงๆ เท่านั้น

หมายถึงว่า ถ้าหากเรามีวิธีอยู่สองทางในการสนทนาและโต้แย้ง วิธีหนึ่งดีและเยี่ยม ส่วนอีกวิธีดีกว่าและเยี่ยมกว่า สิ่งที่ต้องทำก็คือ เราต้องเลือกใช้วิธีที่ดีกว่าและเยี่ยมกว่าในการสนทนา

อัลกุรอานได้ยกตัวอย่างบางประการ ให้เราทราบวิธีใช้คำในการสนทนากับเหล่ามุชริกีน เช่น

«وَإِنَّا أَوْ إِيَّاكُمْ لَعَلَى هُدًى أَوْ فِي ضَلَالٍ مُّبِينٍ» (سبأ : 24)

ความว่า และแท้จริง ไม่พวกเราก็พวกท่าน ที่อยู่บนทางนำหรืออยู่ในความหลงทางอันชัดแจ้ง

จากอายะฮฺนี้ เราเข้าใจว่าอัลลอฮฺต้องการสร้างความเคลือบแคลงให้กับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กระนั้นหรือ ว่าท่านอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ ? ไม่ใช่ .. มันไม่ใช่เช่นนั้น แต่ที่พระองค์ให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวเช่นนี้ เพื่อให้สามารถดึงดูดหัวใจของพวกเขา ให้มีความรู้สึกใกล้เคียง และรู้สึกเป็นกันเองมากขึ้น

ที่เหนือไปกว่านั้น ในอายะฮฺถัดไป อัลลอฮฺตรัสว่า

«قُل لَّا تُسْأَلُونَ عَمَّا أَجْرَمْنَا وَلَا نُسْأَلُ عَمَّا تَعْمَلُونَ» (سبأ : 25)

ความว่า จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) พวกเจ้าจะไม่ถูกถามในสิ่งที่เราก่ออาชญากรรม และเราจะไม่ถูกถามที่ในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ

อันที่จริงสำนวนที่น่าจะให้เสมอกันก็คือ "พวกเจ้าจะไม่ถูกถามในสิ่งที่เราก่ออาชญากรรม และเราจะไม่ถูกถามที่ในสิ่งที่พวกเจ้าก่ออาชญากรรม" คือน่าจะใช้คำว่า "อาชญากรรม" กับทั้งสองฝ่าย แต่พระองค์ไม่ทรงให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ใช้คำนี้ แต่กลับให้ใช้คำว่าอาชญากรรมกับฝ่ายตัวเอง และไม่ชอบให้พาดพิงคำว่าอาชญากรรมกับพวกมุชริกีน แต่ใช้เพียงสำนวนว่า "สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ" เฉยๆ กับพวกเขาเท่านั้น

อะไรที่จะนิ่มนวลไปกว่านี้ อะไรที่จะเป็นวิธีการที่ดีกว่านี้อีก ?

จึงนับว่าจำเป็นที่เราจักต้องศึกษาจากอัลกุรอานและทางนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถึงวิธีการที่เราจะใช้สนทนากับผู้อื่น ...

...................................


ถอดย่อความจากเทปของ ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวีย์ ในหัวข้อ "วาทะอิสลามของเราในยุคสมัยปัจจุบัน" เผยแพร่โดย โครงการรางวัลนานาชาติของอะมีร นายิฟ บิน อับดุลอะซีซ อาลสะอูด เพื่อซุนนะฮฺและอิสลามศึกษาร่วมสมัย www.naifprize.org.sa

วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551

บทเรียนบางประการจากสูเราะฮฺ อัล-มุดดัษษิร

หนึ่ง ดะอฺวะฮฺต้องมีหลักการ
  • (อายะฮฺที่ 1-7) หลักสูตรดะอฺวะฮฺบทแรกในชีวิตของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สอนให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้รู้จักคุณลักษณะพื้นฐานของดาอีย์ เป็นสิ่งที่ต้องมีในตัวของดาอีย์ทุกคน
  • การที่อัลลอฮฺสอนเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ดะอฺวะฮฺไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้กฎเกณฑ์และวิธีการ ดะอฺวะฮฺไม่ใช่เรื่องของ "การเล่นขายของ" แต่เป็นเรื่องของการวางแผน มีระเบียบขั้นตอน และต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ในเชิงปฏิบัติ
  • การดะอฺวะฮฺโดยไม่เรียนรู้แนวทางและวิธีการไม่ใช่สิ่งที่ทำไม่ได้โดยสิ้นเชิง แต่การดะอฺวะฮฺโดยไม่รู้หลักการ อาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในด้านลบมากกว่าด้านบวก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

สอง วิถีของผู้ต่อต้าน
  • (อายะฮฺที่ 24-25) การต่อต้านมีมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นในอดีตแล้ว มีวิธีการต่อต้านหลากหลายรูปแบบที่ถูกนำมาใช้ หลักๆ ก็คือความพยายามทำร้ายท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาผู้ศรัทธา ถ้าทำไม่ได้ก็หาวิธีใส่ร้าย เสียดสี เหยียดหยาม ฯลฯ เพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อการดะอฺวะฮฺ หรือเพื่อสร้างความคลอนแคลนต่อความถูกต้องของดะอฺวะฮฺนั้นเสียเอง รูปแบบการต่อต้านเช่นเดียวกันนี้มีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน
  • (อายะฮฺที่ 11) อัลลอฮฺทรงรับเป็นผู้ปกป้องท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่เรื่องที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ต้องกังวลมากมาย ถ้าหากต้องเผชิญกับการทำร้ายหรือดูถูกเหยียดหยาม ไม่ว่าความเดือดร้อนนั้นจะหนักหน่วงแค่ไหน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็จะยังคงอยู่ภายใต้การพิทักษ์ดูแลของพระองค์อัลลอฮฺ ความหมายเดียวกันนี้ปรากฏใน (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ : 67) และ (สูเราะฮฺ อัล-หิจญ์รฺ : 95)

สาม การตอบโต้ผู้ต่อต้าน
  • การตอบโต้ทางจิตวิทยา อาจจะมีผลที่ร้ายกาจต่อผู้ต่อต้าน มากกว่าการใช้วิธีรุนแรง (ตั้งแต่อายะฮฺที่ 8-31 มีนัยยะทางจิตวิทยาในการตอบโต้แฝงอยู่อย่างเห็นได้ชัด) ในเมื่อมีวิธีมากมายที่สามารถใช้ตอบโต้ได้ ดาอีย์ควรเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุด ตามที่อัลกุรอานกำชับ เพราะจุดประสงค์ในการตอบโต้ไม่ใช้เพื่อทำร้ายอีกฝ่าย แต่เพื่อให้เขาหยุดพฤติกรรมต่อต้าน และหวังว่าเขาจะตอบรับการดะอฺวะฮฺ (ดู สูเราะฮฺ ฟุศศิลัต : 34) หากคิดใช้แต่วิธีรุนแรงอาจจะไม่ได้ผลตามจุดประสงค์ดังกล่าว หนำซ้ำยังอาจจะเป็นต้นเหตุแห่งผลเสียที่ร้ายแรงกว่าในภายหลัง ไม่ว่าผลเสียนั้นจะเกี่ยวกับดะอฺวะฮฺหรือตัวดาอีย์เอง

สี่ ความชัดเจนของดะอฺวะฮฺ
  • (อายะฮฺที่ 32 จนจบสูเราะฮฺ) ดะอฺวะฮฺอิสลามคือการเรียกร้องสู่คุณธรรมพื้นฐาน ที่กมลสันดานและสติปัญญาของมนุษย์พึงรับได้ สัจธรรมที่อิสลามเชิญชวนมีเครื่องหมายและหลักฐานที่ชัดเจนรับรอง หน้าที่ของดาอีย์คือการนำเสนออย่างชัดเจน อย่าให้คลุมเครือ อย่าให้เหลือความสงสัย ส่วนการตอบรับหรือไม่นั้น อยู่นอกเหนือขอบเขตภาระของดาอีย์ ไม่จำเป็นต้องบังคับข่มขู่ให้ใครเชื่อ ถ้าหากสิ่งที่นำเสนอนั้นมีความชัดเจนภายในตัว ผู้ที่มีสติปัญญาย่อมรู้เองและรับเองได้ ปัญหาก็คือดาอีย์สามารถนำเสนอให้มันชัดเจนแก่ผู้ที่เขาเชิญชวนหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2551

ตอบโต้ผู้ไร้มารยาทด้วยการไม่ใส่ใจ


บางครั้งที่ดาอีย์และนักทำงานต้องเผชิญกับปัญหาคำพูด หรือพฤติกรรมไร้มารยาทของคู่สนทนา อัลลอฮฺได้ทรงชี้ทางออกด้วยวิธีการที่พระองค์ตรัสว่า

«وَاصْبِرْ عَلَى مَا يَقُولُونَ وَاهْجُرْهُمْ هَجْراً جَمِيلاً» (المزّمِّل : 10)

ความว่า จงอดทนต่อสิ่งที่พวกเขาพูด และจงละจากพวกเขาด้วยการละจากที่ดี


"นี่คือคำสั่งให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม อดทนต่อสิ่งที่ผู้ดื้อดึงทั้งหลายกล่าวร้ายแก่ท่านและด่าทอท่าน รวมถึงคำสอนของท่าน เพื่อให้ท่านดำเนินต่อไปบนเส้นทางของอัลลอฮฺ โดยไม่ยอมอ่อนข้อต่อผู้ที่ขัดขวางและผู้ต่อต้าน และสั่งให้ท่านปลีกไปจากพวกเขาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ในการแยกจากไป ที่ไม่ก่อความเดือดร้อน นั่นคือให้ท่านตอบโต้พวกเขาด้วยการละทิ้ง และไม่ใส่ใจพวกเขาและคำพูดของพวกเขา และสั่งให้ท่านโต้ตอบพวกเขาด้วยการโต้เถียงที่ดีกว่าที่สุด" (ตัฟซีร อัส-สะอฺดีย์)


"ความหมายก็คือ โอ้มุหัมมัด จงทำให้การยึดเหนี่ยวและการพึ่งพิงของเจ้าอยู่กับข้าเพียงผู้เดียว จงอดทนต่อสิ่งที่ศัตรูของเจ้าได้โกหกและปรักปรำเจ้า และจงแยกไปจากพวกเขาด้วยดี หมายถึงปลีกไปจากพวกเขาและจงห่างไกลจากพวกเขา และตัดสัมพันธ์กับพวกเขาด้วยดี คือด้วยการที่เจ้าไม่ตอบโต้ความเลวด้วยสิ่งที่เลวเหมือนกัน และอย่าได้เพิ่มเติมในการตัดสัมพันธ์ของเจ้าด้วยการด่าทอพวกเขา หรือโยนคำพูดอันสกปรกแก่พวกเขา"
(ดู มุหัมมัด สัยยิด อัต-ฏ็อนฏอวีย์ ใน อัต-ตัฟซีร อัล-วะสีฏ)


"จงอดทนต่อสิ่งที่พวกเขากล่าว" คือสิ่งที่ก่อให้เกิดความโกรธและความขึ้งเคียด "และจงละจากพวกเขาไปด้วยละจากที่ดี" คือไม่มีการด่าทอทิ้งท้าย ไม่โกรธแค้น ..." (สัยยิด กุฏบ์ ใน ฟี ซิลาลิลกุรอาน)


มีโองการที่มีแนวทางคล้ายๆ กันนี้ในดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺว่า

«خُذِ الْعَفْوَ وَأْمُرْ بِالْعُرْفِ وَأَعْرِضْ عَنِ الْجَاهِلِينَ» (الأعراف : 199)

ความว่า จงนำการอภัยมาใช้ จงสั่งด้วยสิ่งที่ดี และจงหันไปจากบรรดาผู้โฉดเขลา


"และหากหลีกเลี่ยงไม่พ้นจากการทำร้ายและความเดือนร้อนของผู้ที่โฉดเขลา อัลลอฮฺก็สั่งให้เผชิญพวกเขาด้วยการไม่ใส่ใจ และไม่ตอบกลับด้วยพฤติกรรมเลวทรามในทำนองเดียวกัน ดังนั้น หากใครที่ทำร้ายเจ้าด้วยคำพูดหรือการกระทำของเขา เจ้าก็อย่าทำร้ายเขากลับ ใครที่ปิดกั้นเจ้า เจ้าก็อย่าปิดกั้นเขา ใครที่ตัดสัมพันธ์กับเจ้า เจ้าก็จงผูกสัมพันธ์กับเขา ใครที่อยุติธรรมกับเจ้า เจ้าจำเป็นต้องยุติธรรมกับเขา"
(ตัฟซีร อัส-สะอฺดีย์)


"จงหัน(อย่าใส่ใจ)จากเหล่าอวิชชา(คนโฉดเขลา) คือบรรดาผู้ที่ไม่รู้เรื่องและเขลาต่อคุณค่าของสิ่งต่างๆ ไม่รู้จักเคารพคนอื่น ไม่รู้จักใช้คำพูดที่ออกมาจากพวกเขา ซึ่งมีทั้งการใช้ถ้อยคำที่เขลาขลาดและการสร้างความเดือนร้อน เพราะการโต้ตอบและเสวนากับคนเหล่านี้มิได้นำไปสู่ความดีงามใดเลย และมันจะไม่จบด้วยผลลัพธ์ใดๆ การนิ่งเฉยเสียจึงเป็นการให้เกียรติแก่ตัวและวาจาของเราเอง การไม่ใส่ใจพวกเขาอาจจะสร้างความรู้สึกต่ำต้อยแก่ตัวพวกเขา และทำให้พวกเขาอ่อนทิฐิลงได้" (ตัฟซีร อัต-ฏ็อนฏอวีย์)


อาจจะศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันจากโองการเหล่านี้

«اتَّبِعْ مَا أُوحِيَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ لا إِلَـهَ إِلاَّ هُوَ وَأَعْرِضْ عَنِ الْمُشْرِكِينَ» (الأنعام : 106)

«فَاصْدَعْ بِمَا تُؤْمَرُ وَأَعْرِضْ عَنِ الْمُشْرِكِينَ» (الحجر : 94)

«فَأَعْرِضْ عَنْهُمْ وَانتَظِرْ إِنَّهُم مُّنتَظِرُونَ» (السجدة : 30)


วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

พวกเราทุกคนเป็นดาอีย์

"จงเผยแพร่จากฉัน แม้เพียงแค่โองการเดียวก็ตาม" (ความหมายหะดีษที่บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)