วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551

หิกมะฮฺ, เมาอิเซาะฮฺ และมุญาดะละฮฺ ในมุมมอง อัล-ก็อรฎอวีย์

«ادْعُ إِلِى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَادِلْهُم بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ» (النحل : 125 )

ความว่า จงเชิญชวนสู่เส้นทางแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วย "หิกมะฮฺ" วิทยปัญญา และ "เมาอิเซาะฮฺ หะสะนะฮฺ" การตักเตือนที่ดี และจง "มุญาดะละฮฺ" โต้แย้งกับพวกเขาด้วยวิธีการที่ดีที่สุด

วิธีการแบบ "หิกมะฮฺ" เป็นการสื่อสารไปยังปัญญา ในขณะที่ "เมาอิเซาะฮฺ" นั้นสื่อสารไปยังหัวใจและสะกิดความรู้สึก เพราะมนุษย์ไม่ได้มีปัญญาล้วนๆ แต่มีทั้งปัญญาและอารมณ์

มีคนบางกลุ่มที่เราจำเป็นต้องสื่อไปยังปัญญาหรือความคิดของเขา คนที่คิดเป็น คนที่ใช้ชีวิตท่ามกลางความรู้และวัฒนธรรม และมีคนอีกหลายพวกที่เราต้องสื่อไปยังความรู้สึกของเขา แล้วก็มีคนบางกลุ่มที่เราต้องใช้วิธีการรวมๆ ต้องสื่อไปทั้งความคิดและความรู้สึกพร้อมๆ กัน

นี่คือ "เมาอิเซาะฮฺ" หรือการตักเตือน แต่อัลกุรอานไม่ได้บอกว่าเป็น "เมาอิเซาะฮฺ" หรือการตักเตือนเฉยๆ แต่เป็น "เมาอิเซาะฮฺ หะสะนะฮฺ" หรือการตักเตือนที่ดี จงตักเตือนพวกเขาด้วยการตักเตือนที่ดี

การตักเตือนที่ดีอาจจะเป็นด้วยวิธีการที่ดี ยอดเยี่ยม ดึงดูด นำเสนอด้วยภาพที่งดงาม อย่างอัลกุรอานที่เพียบพร้อมด้วยความมหัศจรรย์ที่งดงามด้านวาทศิลป์ เพราะฉะนั้นจำเป็นที่เราต้องนำเสนอด้วยวิธีการที่สวยและดึงดูด ไม่ใช่ว่ากระทำไปเหมือนขว้างหินใส่คนอื่นเขา แบบนี้ไม่ใช่การตักเตือนที่ดี

การตักเตือนที่ดีอาจจะอยู่ที่การเลือกสถานที่และดูเวลาที่เหมาะสมด้วย

เมื่อใดที่ใช้วิธี "มุญาดะละฮฺ"

เรามี "ดะอฺวะฮฺ" หรือการเชิญชวนสำหรับมุสลิมด้วยกัน และมี "มุญาดะละฮฺ" หรือการโต้แย้งกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม คนที่ยอมรับเราให้ใช้วิธีดะอฺวะฮฺเชิญชวน ส่วนคนที่ขัดแย้งกับเราให้เราใช้วิธีการโต้ หรือที่เรียกกันในภาษาปัจจุบันว่า "หิวารฺ" หรือการสนทนา

อัลกุรอานกล่าวว่า

«قَدْ سَمِعَ اللَّهُ قَوْلَ الَّتِي تُجَادِلُكَ فِي زَوْجِهَا وَتَشْتَكِي إِلَى اللَّهِ وَاللَّهُ يَسْمَعُ تَحَاوُرَكُمَا» (المجادلة : 1)

ความว่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงรับฟังคำพูดของสตรีที่โต้แย้งกับเจ้า (มุญาดะละฮฺ) ว่าด้วยเรื่องสามีของนาง นางได้ร้องต่ออัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงฟังการสนทนา(ตะหาวุร หรือ หิวารฺ) ของเจ้าทั้งสองคน

เพราะฉะนั้นการ "มุญาดะละฮฺ" หรือการโต้แย้ง ก็คือ "หิวารฺ" หรือการสนทนาประการหนึ่งนั่นเอง พวกเราถูกบัญชาให้สนทนากับผู้ที่ขัดแย้งกับเรา ถ้าหากการดะอฺวะฮฺเชิญชวนเป็นสิ่งที่วาญิบ การสนทนาก็วาญิบเช่นกัน

สิ่งที่น่าประหลาดก็คือ อัลกุรอานบอกว่า ให้เราโต้ด้วยสิ่งที่ดีกว่าหรือที่ดีที่สุด

กับประโยค "เมาอิเซาะฮฺ" หรือการตักเตือน อัลกุรอานแค่ใช้คำว่า "เมาอิเซาะฮฺ หะสะนะฮฺ" หรือการตักเตือนที่ดี แต่กับประโยค "มุญาดะละฮฺ" หรือการโต้แย้ง อัลกุรอานกลับใช้คำว่า "บิลละตี ฮิยะ อะห์สัน" หมายถึงต้องดีกว่าหรือดีที่สุดจริงๆ เท่านั้น

หมายถึงว่า ถ้าหากเรามีวิธีอยู่สองทางในการสนทนาและโต้แย้ง วิธีหนึ่งดีและเยี่ยม ส่วนอีกวิธีดีกว่าและเยี่ยมกว่า สิ่งที่ต้องทำก็คือ เราต้องเลือกใช้วิธีที่ดีกว่าและเยี่ยมกว่าในการสนทนา

อัลกุรอานได้ยกตัวอย่างบางประการ ให้เราทราบวิธีใช้คำในการสนทนากับเหล่ามุชริกีน เช่น

«وَإِنَّا أَوْ إِيَّاكُمْ لَعَلَى هُدًى أَوْ فِي ضَلَالٍ مُّبِينٍ» (سبأ : 24)

ความว่า และแท้จริง ไม่พวกเราก็พวกท่าน ที่อยู่บนทางนำหรืออยู่ในความหลงทางอันชัดแจ้ง

จากอายะฮฺนี้ เราเข้าใจว่าอัลลอฮฺต้องการสร้างความเคลือบแคลงให้กับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กระนั้นหรือ ว่าท่านอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ ? ไม่ใช่ .. มันไม่ใช่เช่นนั้น แต่ที่พระองค์ให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวเช่นนี้ เพื่อให้สามารถดึงดูดหัวใจของพวกเขา ให้มีความรู้สึกใกล้เคียง และรู้สึกเป็นกันเองมากขึ้น

ที่เหนือไปกว่านั้น ในอายะฮฺถัดไป อัลลอฮฺตรัสว่า

«قُل لَّا تُسْأَلُونَ عَمَّا أَجْرَمْنَا وَلَا نُسْأَلُ عَمَّا تَعْمَلُونَ» (سبأ : 25)

ความว่า จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) พวกเจ้าจะไม่ถูกถามในสิ่งที่เราก่ออาชญากรรม และเราจะไม่ถูกถามที่ในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ

อันที่จริงสำนวนที่น่าจะให้เสมอกันก็คือ "พวกเจ้าจะไม่ถูกถามในสิ่งที่เราก่ออาชญากรรม และเราจะไม่ถูกถามที่ในสิ่งที่พวกเจ้าก่ออาชญากรรม" คือน่าจะใช้คำว่า "อาชญากรรม" กับทั้งสองฝ่าย แต่พระองค์ไม่ทรงให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ใช้คำนี้ แต่กลับให้ใช้คำว่าอาชญากรรมกับฝ่ายตัวเอง และไม่ชอบให้พาดพิงคำว่าอาชญากรรมกับพวกมุชริกีน แต่ใช้เพียงสำนวนว่า "สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ" เฉยๆ กับพวกเขาเท่านั้น

อะไรที่จะนิ่มนวลไปกว่านี้ อะไรที่จะเป็นวิธีการที่ดีกว่านี้อีก ?

จึงนับว่าจำเป็นที่เราจักต้องศึกษาจากอัลกุรอานและทางนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถึงวิธีการที่เราจะใช้สนทนากับผู้อื่น ...

...................................


ถอดย่อความจากเทปของ ดร.ยูสุฟ อัล-ก็อรฎอวีย์ ในหัวข้อ "วาทะอิสลามของเราในยุคสมัยปัจจุบัน" เผยแพร่โดย โครงการรางวัลนานาชาติของอะมีร นายิฟ บิน อับดุลอะซีซ อาลสะอูด เพื่อซุนนะฮฺและอิสลามศึกษาร่วมสมัย www.naifprize.org.sa

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น