วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สิทธิในการให้อภัยความผิดพลาดของมิตรสหาย




สิทธิประการหนึ่งของมิตรสหายและพี่น้องก็คือการให้อภัยความผิดพลาด นี่คือประเด็นที่กว้างมาก เป็นเรื่องใหญ่ เพราะในสังคมของการการอยู่ร่วมกัน การเป็นเพื่อน มิตรสหายและพี่น้อง หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการผิดพลาดระหว่างกันบ้าง ฝ่ายหนึ่งเห็นข้อผิดพลาดของอีกฝ่าย อีกฝ่ายก็เห็นข้อผิดพลาดของคู่กรณีเช่นกัน ต้องมีคำพูดที่พลาดพลั้งออกมาเป็นเรื่องปกติ เพราะเราทุกคนเป็นมนุษย์และมนุษย์นั้นหนีไม่พ้นจากความผิดพลาด “ลูกหลานของอาดัมทุกคนย่อมผิดพลาด และคนผิดพลาดที่ดีที่สุดคือผู้ที่กลับตัวกลับใจ” (เศาะฮีฮ์ อัล-ญามิอฺ 4515) จึงเป็นสิทธิของพี่น้องที่จะต้องให้อภัยซึ่งกันและกันในสิ่งที่แต่ละคนผิดพลาดไป



ความผิดพลาดมีสองประเภท: ผิดพลาดในเรื่องศาสนาและผิดพลาดในสิทธิของเรา หมายถึง เพื่อนของเราอาจจะทำผิดพลาดในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของอัลลอฮ์ หรือเขาอาจจะทำผิดพลาดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเอง



หนึ่ง ถ้าเป็นความผิดพลาดในเรื่องศาสนา​ เช่น การที่เขาละทิ้งสิ่งที่วาญิบหรือฝ่าฝืนสิ่งต้องห้าม จุดยืนในการให้อภัยของเราก็คือไม่ใช่ประจานเขา แต่ต้องพยายามแก้ไขปรับปรุง เพราะเรารักเขาเพื่ออัลลอฮ์ ถ้าเรารักเขาเพื่อพระองค์ก็ต้องช่วยทำให้เขากลับมาสู่บทบัญญัติชะรีอะฮ์ของอัลลอฮ์ ช่วยให้เขายืนหยัดในการอิบาดะฮ์เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ นี่คือนัยแห่งความรักที่เรามีต่อพี่น้องและมิตรสหาย



ดังนั้นหากเป็นเรื่องศาสนา เราต้องพยายามทุ่มเทในสิ่งที่จำเป็นต้องทำด้วยการแก้ไขข้อผิดพลาดนั้น ถ้าแนะนำตักเตือนเขาแล้วได้ผลก็ให้ตักเตือนไป หรือถ้าพิจารณาแล้วว่าต้องละวางจากเขาสักระยะหนึ่งเพื่อให้เขาได้คิดก็ให้ออกห่างจากเขาไป​ และการออกห่างตามที่เราเคยเรียนมาก่อนหน้านี้มีสองประเภท​ คือ ออกห่างเพื่อสั่งสอนให้เขาได้คิด และการออกห่างเพื่อลงโทษเขา บางทีเราออกห่างจากเขาเพื่อประโยชน์ของตัวเรา และบางทีเราก็ออกห่างจากเขาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเขาเอง ดังนั้นให้พิจารณาดูว่าถ้าออกห่างจากเขาแล้วเกิดประโยชน์กับตัวเขาก็ให้ทำ ถ้าคนสองคนเป็นเพื่อนกันมาและมีมิตรภาพที่ขาดกันไม่ได้มาตลอด แล้ววันหนึ่งเขาเห็นว่าเพื่อนของเขาทำผิดใหญ่หลวงต่ออัลลอฮ์ ถ้าเขาชั่งดูแล้วว่าการที่เขาออกห่างจากเพื่อนสักระยะหนึ่ง ไม่เจอเขา ไม่ตอบรับเขา ไม่คุยด้วย หรือเวลาเจอกันแล้วก็ทำตัวด้วยสีหน้าที่ไม่เหมือนเดิม จะทำให้เพื่อนของเขารู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำผิดอยู่จนสำนึกผิดต่อบาปที่เขาทำเพราะเพื่อนคนนั้นเคยสนิทกันจนขาดเขาไม่ได้ ถ้ามีผลบวกเช่นนี้ก็ให้เขาพยายามทำดูตามที่พิจารณาแล้วว่าได้ผล เพราะการออกห่างในรูปแบบนี้มีผลดีที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ แต่ถ้าหากผลออกมาในทางกลับกันก็ไม่ควรทำ เนื่องจากการออกห่างมีจุดประสงค์เพื่อสอนและปรับปรุง เราจะเห็นว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีวิธีการรับมือและสั่งสอนคนที่ทำผิดหลากหลายรูปแบบ คนที่ทำบาปบางคนบางทีท่านก็ออกห่างไม่สนใจเขา แต่บางคนท่านก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น บรรดาอุละมาอ์จึงมีความเห็นว่า วิธีการออกห่างนั้นให้ใช้กับคนที่ใช้แล้วได้ผลเป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง ถ้าไม่เป็นผลดีก็ห้ามใช้วิธีนี้กับเขา



สอง ความผิดพลาดในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของเรา กรณีนี้ต้องคำนึงถึงสิทธิของความเป็นพี่น้องก่อนเสมอ คือเราต้องไม่ขยายความผิดพลาดนั้นให้ใหญ่โต เพราะชัยฏอนจะเข้ามายุแยงในหัวใจ มันจะเริ่มตอกย้ำคำนี้กับเขาซ้ำ ๆ ตอกย้ำความผิดนี้กับเขาจนขยายเป็นเรื่องใหญ่ เลยเถิดจนทำลายและตัดสายสัมพันธ์แห่งความรักและความเป็นพี่น้อง หลังจากที่เคยรักและมีไมตรีที่ดีกันมาก่อน กลับกลายเป็นการละทิ้งและตัดขาดกันด้วยเหตุผลทางโลก ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพราะบทบัญญัติของอัลลอฮ์อีกต่อไป วิธีแก้ไขก็คือ เราต้องคำนึงถึงความดีงามของเขาให้มาก ลองพูดกับตัวเองว่า เขาทำผิดกับฉัน ครั้งนี้เขาพลาดไป เขาพูดไม่ดีกับฉัน อาจจะต่อหน้าหรือลับหลัง แต่ให้เราดูสิ่งดี ๆ ที่เขาเคยทำไว้ ดูความสัมพันธ์ของเขากับเรา ดูความซื่อสัตย์ที่เขาให้เราในรอบหลายปีที่ผ่านมา หรือในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ล่วงเลยมาในอดีต เพื่อขยายความดีนั้นให้ใหญ่ขึ้นมากลบความผิดพลาดของเขา จนกระทั่งสายใยแห่งความเป็นพี่น้องระหว่างเรากับเขาได้ยืนหยัดมั่นคง และความรักระหว่างเรากับเขาไม่ถูกตัดขาดหรือพรากไป


------------
แปลจากบทความของ เชค ศอลิห์ บิน อับดุลอะซีซ อาล อัช-ชัยค์
ที่มา https://ar.islamway.net/article/37123