วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อัคลาก ระหว่างรากฐานหลักและสาขาปลีกย่อย



อัคลาก หรือหลักจริยธรรมในอิสลามนั้นมีการแบ่งประเภทต่าง ๆ ตามมุมมองและมิติที่ต่างกัน บางครั้งอาจจะแบ่งประเภทตามลักษณะเนื้อแท้ที่เป็นรากฐานหลักหรือสาขาปลีกย่อย บางครั้งก็อาจจะแบ่งตามความสัมพันธ์ของบุคคลหรือผู้เกี่ยวข้องกับการใช้จริยธรรมนั้น ๆ หรือบางทีก็อาจจะแบ่งตามสถานะของมนุษย์ในสังคมแต่ละแห่งที่มีการใช้หลักจริยธรรมดังกล่าว ในที่นี้จะหยิบยกคำอธิบายที่ว่าด้วยการแบ่งประเภทอัคลากตามลักษณะการเป็นรากฐานหลักหรือสาขาปลีกย่อยของมันมาพอสังเขป 



รากฐานหลักและสาขาปลีกย่อยของอัคลาก

อัคลาก มีส่วนที่เป็นรากฐานหลักและสาขาปลีกย่อย ซึ่งกล่าวได้ว่าอัคลากที่ดีมีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องหลักและที่เป็นเรื่องปลีกย่อย เช่นเดียวกับอัคลากที่เลวทรามก็มีทั้งที่เป็นเรื่องหลักและเป็นเรื่องย่อย ผู้ใดก็ตามที่พยายามอุตสาหะฝึกฝนตัวเองให้มีรากฐานทางอัคลากหรือจริยธรรมที่ดี ก็ย่อมเป็นการง่ายสำหรับเขาที่จะฝึกฝนจริยธรรมปลีกย่อยอื่น ๆ ตามมาด้วย 

มีทัศนะเกี่ยวกับการกำหนดรากฐานของอัคลากที่ดีค่อนข้างหลากหลาย เราคัดมาเฉพาะทัศนะที่แบ่งรากฐานของอัคลากเหล่านี้ออกเป็นเก้าประการ ซึ่งแต่ละข้อก็จะมีคู่ตรงข้ามเป็นรากฐานของอัคลากที่เลวทรามขนานกันไป 

รากฐานของอัคลากที่ดี 9 ข้อ คือ

1. รักความจริงและให้ความสำคัญกับเรื่องที่ถูกต้อง (ตรงกันข้ามกันคือ ไม่ยอมรับความจริง บิดเบือน)

2. ความเมตตากรุณา (ตรงข้ามกับความทารุณ ไร้เมตตา)

3. ความมุ่งมาดปรารถนาอย่างแรงกล้า (ตรงข้ามกับความเฉื่อยชา ขี้เกียจ)

4. จิตสำนึกสาธารณะ (ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัว)

5. ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น (ตรงข้ามกับความอิจฉาริษยา)

6. ความอดทนอดกลั้น (ตรงข้ามกับความย่อท้อ ตีโพยตีพาย)

7. รักการให้และแบ่งปัน (ตรงข้ามกับความตระหนี่ถี่เหนียว)

8. ความใจกว้าง ให้อภัย (ตรงข้ามกับความใจแคบ)

9. มีความทะเยอทะยานและความตั้งใจที่สูงส่ง (ตรงข้ามกับความอ่อนแอ ไร้วิสัยทัศน์)

ตัวอย่างของรากฐานในข้อแรกก็คือ การรักความจริงและให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ซึ่งจากรากฐานหลักในข้อนี้ก็จะมีจรรยามารยาทปลีกย่อยที่รวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน อาทิ การยอมรับความจริง ความซื่อสัตย์ ความเชื่อใจ การรักษาสัญญา ความยุติธรรม การหวนกลับสู่ความถูกต้องถ้าหากมีข้อพิพาทหรือความขัดแย้งกัน 

ในสาขาปลีกย่อยของการยอมรับความจริงก็อาจจะยกตัวอย่างเพิ่มเติมได้ เช่น การยอมรับด้วยใจเป็นธรรมถึงข้อดีของผู้ที่มีบุญคุณไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม ตรงกันข้ามกับบุคคลที่มีหัวใจผิดเพี้ยนไม่เห็นคุณความดีของคนอื่น ซึ่งเป็นคุณลักษณะของอัคลากที่น่าตำหนิยิ่ง เช่น บุคคลที่ไม่ยอมรับคุณความดีของบุพการี ไม่เชื่อฟังท่านทั้งสองและไม่ทำหน้าที่ตามที่ควรต้องทำต่อทั้งสองท่าน 

หากการไม่เชื่อฟังพ่อแม่ทั้งสองถือว่าน่าตำหนิมากแล้ว แน่นอนสิ่งที่น่าตำหนิและน่ารังเกียจมากไปกว่านั้นอีกก็คือการไม่ยอมรับในบุญคุณของพระผู้อภิบาลเจ้า ไม่ศรัทธาและไม่เชื่อฟังพระองค์ ปฏิเสธสารและศาสนทูตของพระองค์ ทั้งที่มีหลักฐานมากมายแสดงให้เห็นถึงความสัจจริงปรากฏต่อหน้าแล้ว มีสิ่งใดที่บิดเบือนรากฐานแห่งจริยธรรมได้น่าเกลียดมากไปกว่าการปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้าอีกเล่า 

การปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า การไม่ยอมรับในคุณลักษณะและพระนามอันงดงามของพระองค์ ไม่สำนึกในความเมตตาและความกรุณาที่ทรงให้แก่สรรพสิ่งทั้งมวล ย่อมเป็นความสามานย์และความตกต่ำทางคุณธรรมอย่างที่สุด เพราะเป็นการปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการมีอยู่ เป็นการปฏิเสธผู้ให้ชีวิต ให้ปัญญา ให้ความรู้สึก และทุกอย่างที่หลอมรวมเป็นชีวิตของเรา เป็นการปฏิเสธผู้ที่จะทรงตอบแทนเราด้วยรางวัลอันยิ่งใหญ่สำหรับผู้ศรัทธาและเชื่อฟังพระองค์ เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงการหลุดลุ่ยและล่มสลายทางคุณธรรมอย่างน่าอนาถ 

การรักความจริงและให้ความสำคัญกับความถูกต้องยังมีระดับที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการปฏิเสธความจริงก็มีระดับแตกต่างกัน ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคนด้วย 

ในขณะเดียวกัน ความจริงและสัจธรรมที่เราจำเป็นต้องยอมรับ มอบความรัก และให้ความสำคัญก็ยังมีระดับที่ต่างกันอีก ความจริงสูงสุดที่เราทุกคนจำเป็นต้องยอมรับและให้ความรักก็คือ “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์, มุฮัมมัด เราะซูลุลลอฮ์” หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยบทบัญญัติปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องโยงใยกับสองคำปฏิญาณนี้ ตามระดับของความสำคัญในแต่ละชั้นของภาคปฏิบัติในชีวิตของมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นการทำดีต่อผู้ที่ควรต้องทำดี การเมตตาต่อผู้ที่เราควรเมตตา การมอบสิทธิต่อทุกคนที่ควรจะได้รับสิทธิจากเรา 

เมื่อไรก็ตามที่เราปฏิเสธรากฐานหลักในข้อนี้ นั่นแสดงว่าเรากำลังทำในสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้าม คือการไม่ยอมรับความจริง ไม่ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง และโยงใยถึงข้อปลีกย่อยที่รวมอยู่ในข้อนี้ อาทิ การปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ การอกตัญญูต่อบุพการี การโกหก การทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ ความอยุติธรรม ไร้เมตตา กลับกลอก ละเลยสิทธิของผู้อื่น ตลอดจนมารยาทเลวทรามอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกับรากฐานหลักในข้อนี้ 


------------
หมายเหตุ 
แปลโดยคัดย่อจากงานของ ศ.ดร.อับดุลลอฮ์ บิน ฎ็อยฟุลลอฮ์ อัร-รุหัยลีย์, เกาะวาอิดุล อัคลาก อัลฟาฎิละฮ์ วะ มุนเฏาะละกอต ลิกติสาบิฮา, หน้า 79-83