วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559

ว่าด้วยการอ่านอัลกุรอาน


บทความนี้แปลจาก : 
كتاب تلاوة القرآن من كتاب الأذكار للنووي
กิตาบว่าด้วยการอ่านอัลกุรอาน จากหนังสือ อัล-อัซการ ของอิมาม อัน-นะวะวีย์ 
ตัครีจญ์และตะอฺลีก โดย อัลดุลกอดิรฺ อัล-อัรนาอูฏ


-----------------------------



พึงทราบเถิดว่า การอ่านอัลกุรอานเป็นการซิกิร(กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ)ที่ประเสริฐที่สุด และสิ่งที่จำเป็นในการอ่านก็คืออ่านด้วยการตะดับบุร(ค่อยๆ อ่านอย่างตั้งใจเพื่อซึมซับความหมาย)

การอ่านอัลกุรอานนั้นมีมารยาทและจุดประสงค์ต่างๆ อยู่ด้วย แท้จริงมีการเรียบเรียงตำรับตำราว่าด้วยเรื่องดังกล่าวมากมายแล้ว เช่นตำราว่าด้วยมารยาทของนักอ่านและการอ่านอัลกุรอาน คุณลักษณะของการอ่านและสิ่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เป็นการควรที่ผู้ศึกษาอัลกุรอานจะไม่รู้ในเรื่องดังกล่าว ทว่าในหนังสือนี้ข้าพเจ้าต้องการจะชี้ให้เห็นถึงจุดหมายเหล่านั้นอย่างย่อๆ และข้าพเจ้าได้กล่าวอธิบายอย่างยืดยาวและชัดเจนแล้วในที่อื่น (อัน-นะวะวีย์ ได้เรียบเรียงหนังสือเฉพาะอีกเล่มว่าด้วยมารยาทของผู้ที่ต้องการศึกษาอัลกุรอานมีชื่อว่า อัต-ติบยาน ฟี อาดาบ หะมะละติล กุรอาน – ผู้แปล) ขออัลลอฮฺประทานเตาฟีก


ควรอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นอ่านอัลกุรอานทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งในยามเดินทางหรือยามพำนักกับที่พักอาศัย

บรรดากัลยาณชนรุ่นแรก (สะลัฟศอลิหฺ) นั้น มีความแตกต่างกันระหว่างพวกเขาในเรื่องจำนวนวันที่พวกเขา เคาะตัม อัลกุรอาน (หมายถึงอ่านอัลกุรอานจบเล่ม) บางท่านอ่านจบเล่มครั้งหนึ่งภายในสองเดือน บางท่านภายในเดือนเดียว บางท่านจบภายในสิบคืน บางท่านก็แปดคืน บางท่านเจ็ดคืน และนี่เป็นกิจวัตรของคนส่วนใหญ่ในหมู่สะลัฟ (หมายถึงจบเล่มภายในเจ็ดคืน) บางท่านจบเล่มภายในหกคืน บางท่านก็ห้าคืน บางท่านสี่คืน และหลายท่านที่อ่านจบภายในสามคืน ยังมีหลายท่านเช่นกันที่อ่านจบเล่มภายในหนึ่งวันหนึ่งคืนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีบางท่านที่อ่านสองจบภายในหนึ่งวันหนึ่งคืน บางท่านอ่านสามจบภายในหนึ่งวันหนึ่งคืน และบางท่านอ่านได้ถึงแปดจบภายในหนึ่งวันหนึ่งคืน คืออ่านกลางวันสี่จบและกลางคืนอีกสี่จบ ในบรรดาผู้ที่อ่านกลางวันสี่จบและกลางคืนสี่จบ คือ อิบนุ อัล-กาติบ อัศ-ศูฟีย์[1] ขออัลลอฮฺโปรดปรานท่าน และนี่คือจำนวนการอ่านที่มากที่สุดในแต่ละวันตามที่เราทราบมา

อะห์มัด อัด-เดาเราะกีย์ ได้รายงานด้วยสายรายงานของท่านเอง จากมันศูร บิน ซาดาน หนึ่งในตะบีอีนผู้เคร่งในอิบาดะฮฺ –ขออัลลอฮฺโปรดปรานพวกเขา- ว่าเขา(มันศูร บิน ซาดาน)ได้อ่านอัลกุรอานจบเล่มระหว่างเวลาซุฮร์กับอัศร์ และอ่านจบเล่มระหว่างเวลามัฆริบกับอิชาอ์ ในขณะที่ในเดือนเราะมะฎอนเขาจะอ่านจบเล่มสองครั้งและเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยระหว่างมัฆริบกับอิชาอ์ โดยที่จะละหมาดอิชาอ์ให้ล่าไปจนถึงหนึ่งส่วนสี่ของกลางคืนเสียหน่อยหนึ่ง

อิบนุ อบี ดาวูด ได้รายงายด้วยสายรายงานของท่านว่า ท่านมุญาฮิด เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้อ่านอัลกุรอานจบเล่มระหว่างเวลามัฆริบกับอิชาอ์ในเดือนเราะมะฎอน

ส่วนบรรดาผู้ที่อ่านอัลกุรอานจบเล่มในร็อกอัตละหมาดเพียงแค่หนึ่งร็อกอัตนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน อาทิเช่น อุษมาน บิน อัฟฟาน, ตะมีม อัด-ดารีย์ และ สะอีด บิน ญุบัยร์

ทัศนะที่คัดสรร ก็คือ สิ่งนี้แตกต่างกันไปตามความสามารถของแต่ละคน ใครที่ใช้ความคิดใคร่ครวญอัลกุรอานแล้วสามารถถอดบทเรียนและเกร็ดต่างๆ ได้ เขาก็จงใช้เวลาเพียงแค่เท่าที่ก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างสมบูรณ์ต่อสิ่งที่ตนอ่าน เช่นเดียวกับบรรดาคนที่ต้องยุ่งอยู่กับการเผยแพร่ความรู้ หรือผู้ที่ต้องคอยรับหน้าที่พิพากษาคดีความระหว่างชาวมุสลิม หรือคนอื่นๆ ที่มีหน้าที่ตามความรับผิดชอบเกี่ยวกับศาสนาหรือประโยชน์สุขของประชาชนชาวมุสลิมทั่วไป ก็จงให้เวลาตามสมควร ที่ไม่เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่หรือเสียความสมบูรณ์ของภารกิจที่ทำอยู่ แต่ผู้ใดก็ตามที่ไม่ได้มีความรับผิดชอบดังที่กล่าวมา เขาก็จงอ่านให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยต้องไม่นำไปสู่ความเบื่อหน่ายหรืออ่านแบบรีบเร่งให้จบ




[1] อิบนุ อัล-อัลลาน กล่าวไว้ใน ชัรหุล อัซการ ว่า อิบนุ อัล-กาติบ นี้ เชคอัล-กุชัยรีย์ได้พูดถึงในหนังสือของท่าน ชื่อเต็มก็คือ หุสัยน์ บิน อะห์มัด มีกุนยะฮฺว่า อบู อะลี และได้จดบันทึกวันมรณภาพของท่านว่าเสียชีวิตหลังปีที่สามร้อยสี่สิบฮิจญ์เราะฮฺศักราช อัล-หาฟิซ (อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์) ได้กล่าวว่ารายงานนี้เล่าโดย อบู อับดิรเราะห์มาน อัส-สุละมีย์ ใน เฏาะบะกอต อัศ-ศูฟียะฮฺ จากอบู อุษมาน สะอีด อัล-มัฆริบีย์ จากนั้นก็กล่าวถึง อิบนุ อัล-กาติบ เช่นที่กล่าวมาข้างต้น