วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

สรุปเนื้อหาตัฟซีร สูเราะฮฺ อัล-หะดีด


ฟังทาง SoundCloud ที่นี่


ตอนที่ 1 - 2018-10-25
- ชุโกรต่ออัลลอฮฺที่ได้ตัฟซีรจนครบสามญุซอ์สุดท้ายของอัลกุรอาน
- ฝากให้พี่น้องเรียนเพิ่มเติม และขอดุอาอ์ให้เราได้เรียนอัลกุรอานจนจบเล่ม
- อัลกุรอานเป็นอิลฮามและแรงบันดาลใจไม่สิ้นสุด
- ไม่ว่าเราจะเปิดอ่านหน้าไหนอายะฮฺไหน ก็ได้รับกำลังใจจากอัลกุรอานได้เสมอ
- ทุกครั้งที่เราหมดต้นทุนในการใช้ชีวิต เมื่อหันกลับมาอ่านอัลกุรอานก็ได้รับพลังเหมือนจุดไฟอีกครั้งหนึ่ง
- ความสำคัญของการทบทวนความรู้ศาสนา รู้จักใช้เครื่องมือและโอกาสเพื่อเรียนรู้ศาสนาอย่างสม่ำเสมอ
- การเรียนรู้ศาสนามีทั้งมิติของความรู้และบะเราะกะฮฺผลบุญจากอัลลอฮฺ
- บทนำสูเราะฮฺ อัล-หะดีด ชื่อสูเราะฮฺที่แค่ชื่อก็สร้างความตื่นเต้นและความรู้สึกสวยงามแก่ผู้อ่านได้แล้ว
- ความสำคัญของเหล็กต่อโลกนี้ทั้งใบ ความมหัศจรรย์เชิงวิทยาศาสตร์ที่น่าฉงนเกี่ยวกับประโยชน์ของเหล็ก
- เหตุใดที่อัลลอฮฺต้องการให้ผู้ศรัทธาเรียนรู้เรื่องเหล็กด้วย ?
- การประทานสูเราะฮฺ และเนื้อหาโดยรวมของสูเราะฮฺ
- เนื้อหาสรุป เป็นการเรียกร้องให้ผู้ศรัทธาทบทวนว่าควรใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อให้ตัวเองเข้มแข็งและมีคุณค่า
- เป็นสูเราะฮฺที่เริ่มต้นด้วยการตัสบีห์
- อธิบายความหมายของคำว่า ตัสบีห์
- ข้อคิดบทเรียนจากพระนาม อัล-อะซีซ และ อัล-หะกีม ของอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า
- การตัสบีห์ของมัคลูกต่ออัลลอฮฺ สำคัญและเกิดขึ้นได้อย่างไร
- ระหว่างการฟิกิร(การใคร่ครวญ)และการซิกิร(การรำลึกถึงอัลลอฮฺ)

ตอนที่ 2 - 2018-11-1
- เริ่มต้นสูเราะฮฺด้วยการยืนยันประเด็นเรื่องอะกีดะฮฺ อาทิ พระนามและคุณลักษณะต่างๆ ของอัลลอฮฺ
- อธิบายคุณลักษณะบางประการ เช่น อำนาจ ความปรีชาญาณ การครอบครองเป็นเจ้าของ การให้ชีวิต การให้ตาย
- อธิบายพระนาม อัล-เอาวัล, อัล-อาคิร, อัล-ซอฮิร, อัล-บาฏิน
- แนะนำดุอาอ์ก่อนนอนสำหรับปลดความทุกข์ โดยเฉพาะคนที่เป็นหนี้เป็นสิน
- แนะนำดุอาอ์เมื่อเกิดความรู้สึกคลางแคลงสงสัยในการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ
- บางครั้งเหมือนเราบอกว่าตัวเองรู้จักอัลลอฮฺแล้ว แต่กลับมีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่ได้รู้จักพระองค์จริงๆ
- การรู้จักอัลลอฮฺผ่านพระนามของพระองค์

ตอนที่ 3 - 2018-11-8
- อธิบายการสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดินในหกวัน และทำไมที่อัลลอฮฺต้องกำหนดวันในการสร้างของพระองค์
- อธิบายความหมายของคำว่า อิสติวาอ์ ในบริบทต่างๆ ของภาษาอาหรับ
- กฎแห่งการศรัทธาต่อคุณลักษณะของอัลลอฮฺ ระหว่าง ตันซีฮ์ และ อิษบาต
- ทรัพย์ในดินที่อัลลอฮฺสร้างมา กับสิ่งที่พระองค์ประทานลงมาจากท้องฟ้า
- ความหมายของการที่อัลลอฮฺทรงอยู่กับบ่าวของพระองค์ หมายถึงอะไร
- หลากหลายความมหัศจรรย์ที่อัลลอฮฺสร้างตามที่พระองค์พูดถึงในอายาตเหล่านี้
- บางทีเราไม่รู้จักใจตัวเอง แต่อัลลอฮฺทรงรู้ว่าใจเราคิดอะไรอยู่
- เพิ่มอีมานของเราด้วยการรู้จักอัลลอฮฺ

ตอนที่ 4 - 2018-12-6
- เริ่มต้นคำสั่งของอัลลอฮฺในสูเราะฮฺ อัล-หะดีด หลังจากการเกริ่นนำด้วยการยืนยันอะกีดะฮฺต่ออัลลอฮฺ
- ผู้ศรัทธาที่เชื่อในอัลลอฮฺแล้ว จะรับคำสั่งให้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺในรูปแบบใดและอย่างไร
- ผู้ที่ศรัทธาแล้ว รับคำสั่งให้ศรัทธาเพื่อให้พวกเขายืนหยัด และพิสูจน์การศรัทธาด้วยภารกิจภาคปฏิบัติ
- การบริจาคและใช้จ่ายในหนทางของอัลลอฮฺเป็นเครื่องยืนยันความศรัทธาและทำให้มันสมบูรณ์
- คำพูดของอัลหะสัน อัลบัศรี ว่าด้วยการศรัทธาที่แท้จริง
- ทรัพย์สมบัติของเรา แท้จริงแล้วเป็นของใคร? และสมบัติส่วนไหนที่เป็นของเราจริงๆ?
- หะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวถึงกลุ่มผู้ศรัทธารุ่นหลังที่น่าฉงนและแปลกใจ เพราะพวกเขาไม่เคยเห็นท่านนบีมาก่อน
- การรักษาสัญญาที่ได้ให้ไว้กับอัลลอฮฺ ว่าจะศรัทธาต่อพระองค์จนสิ้นชีวิต
- มนุษย์เคยรู้จักอัลลอฮฺมาก่อน และพระองค์ได้สร้างปัจจัยต่างๆ ให้มนุษย์พร้อมที่จะรู้จักพระองค์
- อะไรคือเหตุผลของผู้ที่ไม่ยอมศรัทธาต่ออัลลอฮฺ? ลองทบทวนตัวเองอย่างบริสุทธิ์ใจ เผื่อจะได้คำตอบว่าจริงๆ แล้วเราไม่อาจปฏิเสธการศรัทธาได้
- ระหว่างความมืดมนและแสงสว่าง อะไรคือข้อสังเกตที่อัลลอฮฺพูดถึงสองอย่างนี้
- ความมืดมนเป็นพหูพจน์ เพื่อบอกว่ามันมีหลายประการเหลือเกิน แต่แสงสว่างที่เป็นทางออกนั้นมีแค่ทางเดียวเท่านั้น
- คำสั่งที่บอกให้มนุษย์ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ แท้จริงแล้วเป็นความเมตตาจากพระองค์ เป็นประโยชน์ต่อตัวมนุษย์เอง
- ความเมตตาของอัลลอฮฺ เป็นสิ่งจำเป็นและความต้องการของเราโดยกำเนิด
- เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะใช้ชีวิตหากไม่มีความเมตตาจากอัลลอฮฺ
- จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง กับครอบครัว กับเพื่อนฝูง กับทุกคนรอบตัวเรา หากไม่มีความเมตตาจากอัลลอฮฺ
- เราจะหาความเมตตาของอัลลอฮฺได้จากที่ไหน ? อายะฮฺนี้คือคำตอบ

ตอนที่ 5 - 2018-12-6
- คำสั่งให้อินฟาก (การใช้จ่ายทรัพย์สินเพื่ออัลลอฮฺ) เป็นภาคปฏิบัติที่จะพิสูจน์การศรัทธา
- สิ่งที่เป็นทรัพย์สินของเราจริงๆ มีสามอย่าง สิ่งที่เรากิน สิ่งที่เราสวมใส่ และสิ่งที่เราบริจาค
- ความแตกต่างระหว่างคำว่า เราะอูฟ และ เราะฮีม ซึ่งแปลว่าความเมตตาทั้งสิ้น
- อัลลอฮฺไม่ต้องการให้เราเจอกับสิ่งที่ไม่ดี และต้องการให้เราเจอแต่สิ่งที่ดีๆ เป็นที่สุดแห่งความเมตตาจากพระองค์
- พระองค์ตั้งคำถามให้เราฉุกคิดว่าเหตุใดที่เราจะไม่บริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ ? ด้วยการอธิบายคำตอบต่างๆให้เราคิดตาม
- อะไรคือสาเหตุหลักๆ ที่เราเกี่ยงจะบริจาค ?
- ระดับความศรัทธาและการบริจาคของเราไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดที่แต่ละคนมุ่งมั่นและรีบเร่งเพื่อจะทำความดีแต่ละอย่าง
- คนที่บริจาคตอนแรกๆ กับคนที่บริจาคตอนหลังแล้วย่อมไม่เหมือนกัน
- อายะฮฺนี้ชี้ชัดถึงความประเสริฐของบรรดาเศาะหาบะฮฺรุ่นแรกทีร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
- ความหมายของพระนามของอัลลอฮฺ อัล-เคาะบีร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริจาค
- การบริจาคในแบบเปิดเผย และบริจาคในแบบปกปิด ทั้งสองแบบนี้มีความพิเศษแตกต่างกันอย่างไร
- อัลลอฮฺเปรียบเทียบการบริจาคเหมือนการให้พระองค์ยืม เหตุใดจึงเปรียบเทียบเช่นนี้
- การยืม อย่างไรเสียก็ต้องได้คืน เสมือนเป็นการประกันว่าการบริจาคของเรา อัลลอฮฺจะคืนให้เราอย่างแน่นอน
- เวลาที่อัลลอฮฺคืนเรา พระองค์ย่อมจะต้องคืนมากกว่าที่เราให้พระองค์ยืมอย่างแน่นอน
- วิธีการกระตุ้นให้ผู้ศรัทธาบริจาคอย่างสนิทใจไม่ลังเล
- ผลตอบแทนที่มีค่าที่สุด ที่เราจะได้จากการบริจาค

ตอนที่ 6 - 2018-12-3
- ประเภทของความยะกีนทั้งสามประเภท อิลมุลยะกีน, อัยนุลยะกีน และ หักกุลยะกีน
- ยะกีนทั้งสามประเภทอาจจะมีสภาพจริงๆ ให้เห็นก่อนถึงอาคิเราะฮฺด้วยซ้ำ
- แสงสว่างของผู้ศรัทธาในวันอาคิเราะฮฺที่จะคอยส่องทางให้กับพวกเขา
- บรรดามลาอิกะฮฺจะคอยกล่าวต้อนรับให้ความรู้สึกดีๆ แก่พวกเขา
- ความสุขในสวรรค์ที่ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงทางการได้ยินเสียงที่ทำให้เบิกบานใจ
- ระดับความสว่างของผู้ศรัทธาในวันอาคิเราะฮฺจะแตกต่างกัน ตามระดับความดีที่พวกเขาทำ
- บรรดามุนาฟิกจะมีสภาพที่โดนทิ้งให้อยู่ในความมืด และไม่สามารถตามผู้ศรัทธาไปได้
- มุนาฟิกจะร้องขอความเห็นใจจากผู้ศรัทธา แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น
- วันอาคิเราะฮฺจะไม่มีสิทธิไถ่ตัวเองอีกแล้ว มนุษย์ต้องไถ่ตัวเองตั้งแต่อยู่ในดุนยาเท่านั้น
- ดูเผินๆ พวกมุนาฟิกนั้นอยู่กับผู้ศรัทธา แต่ในความเป็นจริงพวกเขากลับอยู่กับบรรดากาฟิร
- ข้อสังเกตเกี่ยวกับอายะฮฺนี้ในประเด็นของการใช้จ่ายและบริจาคที่พวกมุนาฟิกเคยมีพฤติกรรมในดุนยา
- การฝึกเพื่อ "อินฟาก" บางครั้งอาจจะยากกว่าการฝึกฝนทำอิบาดะฮฺอื่นๆ
- บางคนสามารถทำอิบาดะฮฺอื่นๆได้ทั้งหมด แต่ไม่ยอมจ่ายซะกาต
- มุสลิมต้องทบทวนให้ตัวเองรักษาอะมัลต่างๆ ให้ครบ ไม่ใช่ทำแค่อย่างใดอย่างหนึ่งและละเลยอย่างอื่น

ตอนที่ 7 - 2018-12-20
- จุดประสงค์ของสูเราะฮฺ คือการสร้างผู้ศรัทธาที่แข็งแกร่ง จากภายในและเห็นร่องรอยสู่ภายนอก
- คำถามจากอัลลอฮฺที่แทงใจดำผู้ศรัทธาเพื่อเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาทบทวนตัวเอง
- เมื่อไรจะถึงเวลาสักที? นี่คือคำถาม
- พฤติกรรมการไม่คุชูอฺ และผัดวันประกันพรุ่งในการยอมรับความจริง เป็นนิสัยของชาวคัมภีร์ก่อนหน้านี้
- โดยธรรมชาติของดุนยามันพาให้เราลืมอัลลอฮฺอยู่แล้ว เมื่อมีชัยฏอนเข้ามาเกี่ยวข้องก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก
- หากฟังคำเตือนจากอายะฮฺนี้แล้วไม่รู้สึกอะไร แสดงว่าหัวใจของเราแข็งกระด้างไปแล้วหรือเปล่า
- ทางออกสำหรับคนที่มีหัวใจแข็งกระด้าง อัลลอฮฺบอกว่าอย่ายอมแพ้ที่จะสู้เพื่อดึงหัวใจกลับคืนมาอีกครั้ง
- ทางชัยฏอนไม่เคยยอมแพ้ที่จะล่อลวงมนุษย์ เราก็อย่ายอมแพ้ที่จะสู้เพื่อหัวใจตัวเอง
- การใช้ปัญญาเพื่อเข้าถึงบทเรียนที่อัลลอฮฺสอนจากเรื่องราวต่างๆ ในอัลกุรอานและในชีวิตจริง
- คำอธิบายของเชคอัส-สะอฺดีย์เกี่ยวกับอายะฮฺนี้
- อธิบายความหมายของ คุชูอฺ จากหนังสือ มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน ของอิบนุล ก็อยยิม
- ถ้าหัวใจไม่แข็งแกร่ง อย่าหวังว่าข้างนอกจะแข็งแกร่ง
- คำพูดของบรรดาเศาะหาบะฮฺและสะลัฟว่าด้วยความคุชูอฺ
- ระดับของความคุชูอฺ ตามการอธิบายของหนังสือมะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน
- ที่สุดของที่สุดของความคุชูอฺ คือการที่คนคนหนึ่งคุชูอฺ แต่คนอื่นไม่เห็นว่าตนเป็นคนคุชูอฺ

ตอนที่ 8 - 2018-12-27
- นะศีหัตก่อนขึ้นปีใหม่
- ประเด็นสืบเนื่องจากเรื่องคุชูอฺของตอนที่แล้ว
- สิ่งแรกที่จะถูกยกออกไปจากเราคือการคุชูอฺ
- การคุชูอฺในละหมาด ถ้าไม่คุชูอฺจะใช้ได้ไหม
- คุชูอฺในละหมาดถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ศรัทธา
- การทวนคำสั่งและกระตุ้นให้มีการบริจาคอีกครั้งหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้
- คำว่า ศรัทธา แท้จริงแล้วครอบคลุมทั้งภายในและภายนอก และการบริจาคก็คือบทพิสูจน์ของหนึ่งของมัน
- การเสียสละเพื่อช่วยศาสนาของอัลลอฮฺคือบทพิสูจน์อีมานของพวกเรา
- บรรดาผู้ศรัทธาและเสียสละด้วยการบริจาค พวกเขาจะอยู่ในกลุ่มบรรดา อัศ-ศิดดีก
- อธิบายความหมายของคำว่า อัศ-ศิดดีก
- ระดับของ อัศ-ศิดดีก สูงกว่าระดับ ชะฮีด
- การศรัทธา (ตัศดีก) การบริจาค (ตะศ็อดดุก) ผู้สัจจริง (ศิดดีก) มาจากรากศัพท์เดียวกัน คือ  صدق
- ข้อสังเกตที่ถอดบทเรียนได้ก็คือ อิสลามต้องมีความคลุมทั้งหมดในชีวิตของมนุษย์
- ความจำเป็นที่มนุษย์ต้องใช้อิสลาม เพราะบทบัญญัติของอิสลามครอบคลุมวิถีชีวิตของเขาทุกมิติ
- อธิบายความคลุมของอิสลามโดยวิเคราะห์ตัวอย่างจากหลักการอิสลามทั้งห้า
- คนที่ผ่านการพิสูจน์ตัวเอง สุดท้ายพวกเขาจะได้อยู่ร่วมกับบรรดาศิดดีกูนและชุฮะดาอ์
- ตรงข้ามกับบรรดาผู้ศรัทธาก็คือบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่จะตกรับการลงโทษในนรก
- พิสูจน์อะไร ไม่ยากเท่ากับพิสูจน์ตัวเอง ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง ไม่มีใครที่จะมารับผิดชอบแทนเราได้

ตอนที่ 9 - 2019-1-3
- ทบทวนชีวิตหลังปีใหม่
- ชีวิตในโลกดุนยามีธาตุแท้เป็นอย่างไร เหตุใดจึงยากเหลือเกินที่เราจะตัดออกจากชีวิต
- ทำไมเราไม่ยอมที่จะตัดส่วนหนึ่งของดุนยาเพื่อฝากไว้กับอาคิเราะฮฺ
- อัลลอฮฺเปรียบเทียบดุนยากับสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ต้องรู้ตัว
- อธิบายการเปรียบเทียบดุนยาด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จากคำพูดของอัส-สะอฺดีย์
- การเรียงลำดับแต่ละอย่างที่อัลลอฮฺเปรียบเทียบดุนยามีความสอดคล้องกับลำดับอายุของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย
- อายะฮฺนี้อธิบายได้อย่างเห็นภาพ เหมือนการเปิดเผยความลับที่อัลลอฮฺฉายให้เห็นดุนยาแก่มนุษย์อย่างเข้าใจง่ายที่สุด
- อะไรคือความหมายของคำสั่งว่า จงกลัวดุนยา
- ดุนยาเปรียบเหมือนฝนที่หลั่งลงมาแล้วทำให้ต้นไม้งอกเงยขึ้นมาสร้างความยินดีแก่ผู้ปลูกจากนั้นมันก็จะเหี่ยวแห้งและสลายไปในที่สุด
- ในอาคิเราะฮฺนั้นมีทางเลือกแค่สองด้าน คือ การอภัยโทษและเข้าสวรรค์ หรือ ต้องรับโทษในนรก
- อัลลอฮฺสรุปสั้นๆ ว่า ชีวิตในดุนยานั้นมิใช่สิ่งใดเลย นอกจากเป็นความสุขที่หลอกลวง
- เราจะบาล้านซ์ชีวิตอย่างไรให้สมดุลระหว่างการมีชีวิตในดุนยาและการมุ่งหาอาคิเราะฮฺ
- แต่ละคนมีความแตกต่างในการบริหารจัดการและจัดสมดุลชีวิตในการใช้ประโยชน์จากดุนยาเพื่อมุ่งสู่อาคิเราะฮฺ
- ทุกคนจะต้องมีการทบทวนและวางแผนให้ดีว่าตนจะใช้ดุนยาเป็นทุนไปสู่อาคิเราะฮฺในระดับไหน
- ต้องรู้จักตั้งใจและเจตนาให้ถูก เพราะสิ่งที่เราใช้จ่ายออกไปในดุนยาจะได้กลายเป็นกำไรสำหรับอาคิเราะฮฺด้วย
- สิ่งที่ทำปกติในแต่ละวัน สามารถแปลงเป็นผลบุญได้ ถ้าหากรู้จักตั้งเจตนาให้ดี
- เวลาที่อัลลอฮฺห้ามสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พระองค์ก็จะมีสิ่งอื่นมาทดแทนให้ทันที เป็นการแนะนำสิ่งที่ดีกว่า
- คำสั่งแรกให้รู้จักดุนยา คำสั่งต่อไปให้เรารีบเร่งแข่งขันเพื่อกลับไปสู่อาคิเราะฮฺ
- เราแข่งกันในเรื่องดุนยา แต่อัลลอฮฺต้องการให้เราแข่งขันในเรื่องอาคิเราะฮฺ
- ถ้าคนอื่นแข่งกับเราในเรื่องดุนยา ให้เราแข่งกับเขาในเรื่องอาคิเราะฮฺแทน

ตอนที่ 10 - 2019-1-10
- คำสั่งของอัลลอฮฺให้รีบเร่งมุ่งสู่อาคิเราะฮฺ เหมือนกำลังแข่งขันกัน
- ใครที่แข่งกับเราในเรื่องดุนยา ให้เราแข่งกับเขาในเรื่องอาคิเราะฮฺ
- การอภัยโทษมาก่อนการเข้าสวรรค์เสมอ
- เงื่อนไขของการเข้าสวรรค์ คือ การศรัทธาที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ลมปาก
- อุปสรรคในการก้าวข้ามบททดสอบในดุนยา ยากที่จะขจัดให้หมดสิ้นง่ายๆ
- เมื่อไรที่เราสู้เพื่ออาคิเราะฮฺ บททดสอบก็จะมาทันที
- อัลลอฮฺกำกับหัวใจของเราให้สามารถผ่านบททดสอบได้ด้วยการอธิบายหลักศรัทธาต่อเกาะฎออ์และเกาะดัร
- บันไดของการศรัทธาต่อเกาะฎออ์และเกาะดัร
- เมื่อรู้กฎที่ว่าด้วยเกาะฎออ์และเกาะดัรแล้ว ก็พึงต้องระวังตัวเอง อย่าแสดงสันดานด้านลบของเราออกมา
- ชีวิตที่สมดุล คือการรู้จักมองโลก มุอ์มินรู้จักที่จะมองโลกให้ถูก
- ทุกอย่างที่ผ่านโปรเซสของผู้ศรัทธาย่อมต้องมีเอาท์พุทที่ดีเสมอ
- โรคเศร้าเป็นกับดักของชัยฏอน อัลลอฮฺต้องการให้เราใช้อัลกุรอานช่วยรักษาความเศร้า
- ไม่ให้เราเสียใจจนเป็นเหยื่อชัยฏอน และไม่ให้เราดีใจเกินตัวจนลืมอัลลอฮฺ
- ความสบายอาจจะเป็นบททดสอบที่หนักกว่าความทุกข์ในบางกรณี
- การอินฟาก คือหนึ่งในบทพิสูจน์สำคัญสำหรับหัวใจ ว่าเราสามารถผ่านบททดสอบในดุนยาได้หรือไม่
- การไม่ยอมอินฟาก หรือความตระหนี่ถี่เหนียว สะท้อนการไม่เชื่อมั่นในเกาะฎออ์และเกาะดัรของอัลลอฮฺ
- การลำดับโองการในสูเราะฮฺอัล-หะดีดเป็นอะไรที่สวยงาม เพื่อให้ผู้ศรัทธาพร้อมที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้มั่นคง

ตอนที่ 11 - 2019-1-17
- อายะฮฺก่อนจบสูเราะฮฺ อัล-หะดีด
- ปัจจุบันเป็นยุคแห่งข้อมูลที่ล้น จนบางครั้งเราหยิบใช้ไม่ถูก
- ชีวิตท่ามกลางโลกแบบนี้ เราจำเป็นต้องมีไกด์ไลน์ เพื่อจะช่วยคัดกรองและเลือกให้กับเรา
- ในสูเราะฮฺ อัล-หะดีด เหมือนว่าอัลลอฮฺได้กำหนดไกด์ไลน์ให้เราแล้ว ด้วยการสร้างความแข็งแกร่งภายในและภายนอก
- เมื่ออัลลอฮฺให้ไกด์ไลน์มาแล้ว พระองค์ก็พูดถึงโมเดล หรือตัวอย่างจากบุคคลที่ให้เราได้เห็นภาคปฏิบัติในการใช้ชีวิต
- ไกด์ไลน์และโมเดล คือ สองประการที่มุสลิมต้องรู้จักใช้เพื่อดำรงชีวิตในดุนยาให้ปลอดภัย
- อัลลอฮฺประทานทั้งคัมภีร์ และตาชั่งอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรมที่มนุษย์ล้วนยอมรับ
- คัมภีร์คือวะห์ยู ตาชั่งเกี่ยวข้องกับสติปัญญา ระหว่างวะห์ยูและสติปัญญามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
- สองปัจจัยนี้เป็นประการสำคัญที่จะทำให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ด้วยความมั่นคงและความเจริญมีเสถียรภาพ
- ความแตกต่างระหว่างคำว่า "อัดล์" และ "กิสฏ์" ที่หมายถึงยุติธรรมทั้งสองคำ
- ตัวอย่างการใช้คำทั้งสองนี้ในภาษาอาหรับ
- การประทานเหล็ก อันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่มนุษย์ใช้ในการปกป้องตัวเองและป้องกันศัตรู
- อำนาจของอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกยุคสมัยตั้งแต่อดีตใช้กัน ไม่เว้นแม้กระทั่งบรรดานบีของบนีอิสรออีล
- เมื่อมีมนุษย์สร้างความเสียหายบนโลก ก็จำเป็นต้องมีอำนาจที่จะมาควบคุม แก้ไข และจำกัดความเสียหายเหล่านี้
- หากไม่มีการจัดการความเสียหาย ก็ย่อมเกิดผลเสียต่อบรรดาคนดีและศาสนสถานที่พวกเขาใช้ประกอบศาสนกิจ
- ประโยชน์ของเหล็กมีมากมายมหาศาล เป็นความมหัศจรรย์ตามที่อัลลอฮฺได้บอกให้มนุษย์ทราบในอายะฮฺนี้
- ทั้งคัมภีร์ ความยุติธรรม อำนาจของอาวุธหรือประโยชน์จากเหล็ก อัลลอฮฺต้องการเห็นเราใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อศาสนาของพระองค์
- อย่าลืมที่จะใช้ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เพื่อช่วยอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์

ตอนที่ 12 - 2019-1-24
- อัลลอฮฺต้องการเห็นคนที่นำสิ่งอำนวยความสะดวกที่พระองค์ประทานให้ในการรับใช้ศาสนาของพระองค์
- มุสลิมจะละเลยหน้าที่ในการใช้ประโยชน์สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ เพราะเป็นการปล่อยให้คนอื่นเอาไปใช้ในทางที่ผิด ก่อความเสียหายแก่แผ่นดิน
- อำนาจทางธรรมและอำนาจทางวัตถุ ต้องดำรงอยู่ด้วยกัน
- เจาะจงระบุนูห์และอิบรอฮีมเพราะสองท่านนี้เป็นต้นตระกูลของเหล่านบี
- คุณลักษณะเฉพาะของสาวกผู้ติดตามนบีอีซาอะลัยฮิสสลาม
- ความแตกต่างระหว่าง เราะอ์ฟะฮ์ และ เราะห์มะฮ์
- บิดอะฮ์ในศาสนาของผู้ติดตามอีซา อะลัยฮิสสลาม
- ชาวนะศอรอกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นมาเอง โดยที่อัลลอฮฺไม่ได้บังคับ แต่สุดท้ายพวกเขาก็แพ้ตัวเองและละเลยต่อกฎเกณฑ์ที่ตนคิดขึ้นมา
- ปิดท้ายสูเราะฮฺอัล-หะดีดด้วยคำสั่งตักวา
- ตักวาคือคำสั่งเสียของผู้ศรัทธาสำหรับทุกโอกาส
- อัลลอฮฺสั่งให้เราดูแลความศรัทธาอย่างต่อเนื่อง เสมอต้นเสมอปลาย
- อัลลอฮฺจะประทานผลบุญสองส่วนแก่บรรดาผู้ศรัทธา เหมือนกับที่พระองค์เคยบอกว่าจะประทานแก่ชาวคัมภีร์สองส่วนหากพวกเขาศรัทธาต่ออิสลาม
- นูร แสงสว่างที่อัลลอฮฺประทานให้ผู้ศรัทธาในดุนยาคืออัลกุรอาน และนูรในอาคิเราะฮฺคือแสงสว่างที่ผู้ศรัทธาจะใช้เดินไปสู่สวรรค์
- อัลลอฮฺคือผู้ควบคุมอำนาจ พระองค์จะให้หรือจะห้าม ล้วนเป็นเอกสิทธิ์ของพระองค์ผู้เดียว
- สูเราะฮฺนี้เริ่มต้นด้วยการกำชับเรื่องอะกีดะฮฺ และปิดท้ายด้วยการตอกย้ำเรื่องอะกีดะฮฺอีกครั้ง
- ทุกอย่างถูกเตรียมไว้สำหรับเรา รอเพียงว่าเราพร้อมที่จะดำเนินตามสิ่งที่ถูกเตรียมไว้หรือไม่แค่นั้นเอง