วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - สิ่งที่ท่านนบีกังวล - ซุฟอัม อุษมาน



 ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - สิ่งที่ท่านนบีกังวล - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ร่วมละหมาดที่อัลลอฮ์รักและเมตตาทุกท่าน

อัลหัมดุลิลลาฮ์ ชุโกรต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ท่ามกลางปัญหาและความท้าทายต่างๆ ในชีวิตเรายังคงอยู่ภายใต้ความเมตตาของพระองค์อัลลอฮ์ การดำรงชีวิตในดุนยาในยุคปัจจุบัน มีเรื่องมากมายให้เราต้องขบคิด มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เราต้องยุ่งและเกี่ยวข้อง มีทั้งความหวัง มีทั้งอุปสรรคและปัญหา เรื่องราวต่างๆ ของเรา มันเอาเวลาในแต่ละวันของเราไปมากเท่าไร พี่น้องเคยฉุกคิดสักครั้งไหมว่า เรื่องที่เราเป็นห่วงและกังวลในแต่ละวัน จริงๆ แล้วคือเรื่องอะไรกันแน่

ความกังวลของเรามักจะเป็นความกังวลที่มีผลต่ออนาคตระยะสั้นๆ เช่น กลัวว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร กลัวว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร กลัวว่าครอบครัวจะมีอะไรกิน กลัวว่าลูกหลานจะเติบโตขึ้นมาในวิถีชีวิตแบบไหน สิ่งเหล่านี้เป็นความกังวลปกติในโลกดุนยาที่ไม่ได้ผิดแปลกอะไร แต่พี่น้องครับ คำถามก็คือว่า ในจำนวนความกังวลที่เรามีในชีวิตของเรา เรามีความกังวลต่ออนาคตอันยาวนานในโลกหน้า ในวันอาคิเราะฮ์ด้วยหรือไม่? ดุนยานี้เราจะกังวลกับปัญหาต่างๆ ก็ไม่ว่ากัน แต่เราจะต้องรู้ว่าเรายังมีอาคิเราะฮ์ด้วย ยังมีเรื่องที่เราต้องกังวลในวันข้างหน้าด้วยเช่นกัน

 

พี่น้องครับ

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นผู้ที่อัลลอฮ์
สุบหานะฮูวะตะอาลา บอกว่าเป็นบุคคลที่เป็นห่วงและกังวลต่อประชาชาติของท่านอย่างที่สุด

﴿لَقَدۡ جَآءَكُمۡ رَسُولٞ مِّنۡ أَنفُسِكُمۡ عَزِيزٌ عَلَيۡهِ مَا عَنِتُّمۡ حَرِيصٌ عَلَيۡكُم بِٱلۡمُؤۡمِنِينَ رَءُوفٞ رَّحِيمٞ 128﴾ [التوبة: 128] 

ความว่า “แท้จริงมีเราะสูลคนหนึ่งจากพวกท่านเองได้มาหาพวกท่านแล้ว เป็นที่ลำบากใจแก่เขาในสิ่งที่พวกท่านได้รับความทุกข์ยาก เป็นผู้ห่วงใย เป็นผู้เมตตา ผู้กรุณาสงสารต่อบรรดาผู้ศรัทธา” (อัต-เตาบะฮ์ 128)

สุบหานัลลอฮ์ นี่คือบุคคลที่ห่วงใยและกังวลต่อเรามากที่สุด

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในหะดีษหลายบทของท่าน ได้เผยถึงความกังวลที่ท่านกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับประชาชาติของท่านที่เป็นอุมมะฮ์ในยุคสุดท้าย มีหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ

หนึ่ง การริยาอ์/การโอ้อวด รายงานจาก มะห์มูด บิน ละบีด พาดพิงไปยังท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

«إنَّ أخْوَفَ ما أخافُ عليكم الشِّركُ الأصْغَرُ»، قالوا: وما الشِّركُ الأصْغَرُ يا رسولَ اللهِ؟ قال: «الرِّياءُ». [رواه أحمد 23630، صححه الألباني في صحيح الترغيب 32]

ความว่า “แท้จริงแล้ว สิ่งที่ฉันกลัวที่สุดว่าจะเกิดกับพวกท่านก็คือ ชิริกเล็ก” พวกเขาถามว่าอะไรคือ ชิริกเล็ก โอ้เราะสูลของอัลลอฮ์? ท่านตอบว่า “มันคือริยาอ์/การโอ้อวด” (บันทึกโดยอะห์มัด 23630 อัล-อัลบานีย์กล่าวว่าเศาะฮีห์ ในเศาะฮีห์ อัต-ตัรฆีบ 32)

เราทราบดีว่าการตั้งภาคีคือชิริกใหญ่ ซึ่งเราต่างระมัดระวังตัวเองอย่างดี แต่ชิริกเล็กที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กลัวว่าจะเกิดขึ้นกับเรา ก็คือการทำความดีเพื่อโอ้อวดให้คนอื่นเห็น หะดีษนี้มีคำอธิบายเพิ่มเติมในหะดีษอีกบทหนึ่ง จากอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ พาดพิงถึงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

«ألَا أُخبركم بما هو أخوفُ عليكم عندي من المسيحِ الدجالِ؟»، قال: قلنا: بلى، فقال: «الشركُ الخفيُّ أن يقومَ الرجلُ يُصلي فيُزيِّنُ صلاتَه لما يرى من نظرِ رجلٍ». [صحيح ابن ماجه للألباني، 3408: حسن]

ความว่า “เอาไหมที่ฉันจะบอกพวกท่านถึงสิ่งที่น่ากลัวสำหรับพวกท่านมากกว่าดัจญาลผู้ตาบอด?” พวกเขาตอบว่าอยากรู้ แล้วท่านก็กล่าวว่า “มันคือชิริกแฝง คือการที่คนผู้หนึ่งละหมาด แล้วทำท่าทางให้ละหมาดของเขาดูดี ตั้งใจให้คนอื่นดูเพราะเขารู้ว่ามีคนมองเขาอยู่” (เศาะฮีห์ อิบนิ มาญะฮ์ ของ อัล-อัลบานีย์ 3408 เป็นหะดีษหะสัน)

สุบหานัลลอฮ์ ดัจญาล คือบททดสอบที่น่ากลัวที่สุดแล้วสำหรับประชาชาติในยุคสุดท้าย แต่ก็มีสิ่งอื่นที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กลัวมากกว่า และเป็นห่วงว่าจะเกิดขึ้นกับประชาชาติของท่าน นั่นก็คือชิริกแฝงหรือชิริกแบบลับ หมายถึงการริยาอ์ การทำอะมัลความดีต่างๆ เพื่อจุดประสงค์ให้คนอื่นเห็นและชื่นชม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยกตัวอย่างคนละหมาดที่ทำท่าทางให้ดูสวยเพื่อให้สายตาคนอื่นจ้องมองเขา การทำอิบาดะฮ์อื่นๆ ก็เช่นกัน ระวังความรู้สึกนี้อย่าให้เกิดขึ้นในหัวใจของเรา อย่าทำอิบาดะฮ์เพื่อหวังให้คนอื่นชมหรือต้องการให้คนอื่นพูดว่าเราทำอิบาดะฮ์ได้ดี วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก

สอง ดุนยาและความเพริศแพร้วของมัน รายงานจากท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

أنَّ النبيَّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ جَلَسَ ذَاتَ يَومٍ علَى المِنْبَرِ وجَلَسْنَا حَوْلَهُ، فَقَالَ: «إنِّي ممَّا أخَافُ علَيْكُم مِن بَعْدِي، ما يُفْتَحُ علَيْكُم مِن زَهْرَةِ الدُّنْيَا وزِينَتِهَا». [البخاري 1465، مسلم 1052]

ความว่า ครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั่งอยู่บนมินบัรและเราก็นั่งล้อมรอบๆ ท่าน แล้วท่านก็กล่าวขึ้นมาว่า “แท้จริงแล้ว ฉันกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพวกท่านหลังจากที่ฉันเสียชีวิตแล้ว คือการที่ความเพริศแพร้วและความมั่งคั่งอันงดงามของดุนยาจะถูกเปิดแก่พวกท่าน” (อัล-บุคอรีย์ 1465 มุสลิม 1052)

บททดสอบที่เกี่ยวข้องกับดุนยาและความเจริญทางวัตถุ มันอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด แต่เป็นบททดสอบที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นห่วงและกังวลว่าเราจะตกหลุมพรางของมันจนโงหัวหรือเอาตัวรอดไม่ได้ ในหะดีษบทอื่นท่านนบีสั่งให้เราระวังดุนยา ต้องระวังอย่าให้มันมาครอบงำหัวใจของเราจนกระทั่งเราลืมความกังวลของเราในวันอาคิเราะฮ์

สาม นิฟาก/การกลับกลอก คือหนึ่งในจำนวนสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กลัวว่าจะเกิดขึ้นกับประชาชาติของท่าน  เล่าจากอุมรอน บิน หุศ็อยน์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«أخوف ما أخاف عليكم جدال المنافق عليم اللسان» [رواه ابن حبان 1/281]

ความว่า “สิ่งที่ฉันกลัวที่สุดว่าจะเกิดขึ้นกับพวกท่านก็คือ การโต้เถียงของมุนาฟิกที่มีวาทะฉะฉาน” (อิบนุ หิบบาน 1/281)

มุนาฟิกที่มีวาทะฉะฉานและโวหารน่าฟังแต่กลับซุกซ่อนกุฟร์/การปฏิเสธศรัทธาไว้ภายใน ทำให้คนอื่นติดตามและเชื่อใจ เป็นการบ่อนทำลายที่คนไม่รู้อาจจะไม่ทันได้ระวังตัว เป็นคนที่คอยสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมมุสลิม แม้ว่าตัวเองจะบอกว่าเป็นมุสลิมก็ตาม นะอูซุบิลลาฮ์มินซาลิก

จริงๆ แล้วระหว่างดุนยากับนิฟาก บางครั้งมันก็อยู่ด้วยกันจนแยกไม่ออก ในหะดีษบทหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พูดถึงสองอย่างนี้ไว้ด้วยกัน เล่าจากท่านอุกบะฮ์ บิน อามิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إنِّي أخاف على أُمَّتي اثنَتَيْن: القرآنَ واللَّبَن، أما اللَّبَن فيَبْتَغُون الرِّيفَ ويتَّبِعون الشَّهَوَاتِ ويَتْركون الصلوات، وأما القرآن فيتعلَّمه المنافقون فيُجادِلون به المؤمنين». [رواه أحمد 17318، السلسلة الصحيحة للألباني 2778].

ความว่า “แท้จริงแล้ว ฉันกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นประชาชาติของฉันสองประการ คือ อัลกุรอานและนม กล่าวคือ นมทำให้พวกเขาแสวงหาทุ่งหญ้าตามชนบท ตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ และละทิ้งการละหมาด ส่วนอัลกุรอานนั้นหมายถึงการที่พวกมุนาฟิกเรียนอัลกุรอานแล้วเอามาใช้โต้เถียงสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้ศรัทธา” (บันทึกโดยอะห์มัด 17318 อัส-สิลสิละฮ์ อัศ-เศาะฮีหะฮ์ ของอัล-อัลบานีย์ 2778)

นม หมายถึง การที่ผู้คนแสวงหาดุนยา ชาวอาหรับในสมัยก่อนหาเลี้ยงชีพด้วยการรีดนมเพื่อใช้กินและขาย ต้องออกไปเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้า ย้ายไปเรื่อยๆ ตามฤดูกาลที่หญ้างอกขึ้นมา จนบางครั้งทำให้ละทิ้งการละหมาดญะมาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ เพราะง่วนอยู่กับดุนยาและไม่สามารถจัดการเวลาเพื่ออาคิเราะฮ์ของตัวเอง ไล่ตามดุนยาจนลืมที่แสวงหาศาสนาและอาคิเราะฮ์ ซึ่งอาจจะใช้เป็นตัวเทียบและเป็นบทเรียนกับการแสวงหาดุนยาของเราตามบริบทในปัจจุบันดูได้

ส่วนอัลกุรอาน หมายถึงการที่คนเรียนอัลกุรอานไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ต้องการทางนำ แต่มีเป้าหมายแฝงคือต้องการใช้อัลกุรอานมาสร้างความเคลือบแคลงแก่บรรดาผู้ศรัทธา เป็นนิสัยมุนาฟิกที่คิดแต่จะสร้างความปั่นป่วนในสังคม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวนมและอัลกุรอาน ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ตัวปัญหาคือพฤติกรรมของคนที่ใช้สองอย่างนี้ในทางที่ไม่ถูกต้อง[1]

 

พี่น้องครับ

สิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีความกังวลอีกประการหนึ่ง ประการที่สี่ บรรดาผู้นำแห่งความหลงผิด มีรายงานเษาบาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إنَّما أخافُ علَى أمَّتي الأئمَّةَ المضلِّينَ» [صحيح الترمذي للألباني، 2229]

ความว่า “แท้จริงแล้ว สิ่งที่ฉันกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับประชาชาติของฉัน คือ บรรดาผู้นำที่สร้างความหลงผิด” (เศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ 2229)

บรรดาคนที่เป็นผู้นำ คนที่มีอิทธิพล และชักจูงคนอื่นให้ตามลัทธิหรือแนวความคิดพิศดารที่ไม่ได้มาจากอัลลอฮ์และเราะสูลของพระองค์ ทำให้ออกห่างจากศาสนาของพระองค์ สิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้จากกิตาบุลลอฮ์และไม่ได้จากสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะพาให้เราหลงทางได้ จึงจำเป็นจะต้องระวังอย่างยิ่ง

 

พี่น้องครับ

อัลกุรอานได้กำชับให้ผู้ศรัทธาทุกคนตระหนักถึงวันอาคิเราะฮ์ ให้มีความกังวลและเป็นห่วงถึงบั้นปลายที่จะต้องเจอหลังจากความตาย อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา บอกให้เราระวังการล่อลวงของปัจจัยทางโลกดุนยา และระวังอุบายของชัยฏอน

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ ٱتَّقُواْ رَبَّكُمۡ وَٱخۡشَوۡاْ يَوۡمٗا لَّا يَجۡزِي وَالِدٌ عَن وَلَدِهِۦ وَلَا مَوۡلُودٌ هُوَ جَازٍ عَن وَالِدِهِۦ شَيۡ‍ًٔاۚ إِنَّ وَعۡدَ ٱللَّهِ حَقّٞۖ فَلَا تَغُرَّنَّكُمُ ٱلۡحَيَوٰةُ ٱلدُّنۡيَا وَلَا يَغُرَّنَّكُم بِٱللَّهِ ٱلۡغَرُورُ 33 ﴾ [لقمان: 33] 

ความว่า “โอ้มนุษย์เอ๋ย พวกเจ้าจงยำเกรงพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าเถิด และจงกลัววันหนึ่ง ที่พ่อไม่อาจจะช่วยลูกของเขาได้ และลูกก็ไม่อาจจะช่วยพ่อของเขาได้แต่อย่างใด แท้จริงสัญญาของอัลลอฮ์นั้นเป็นความจริง ดังนั้นอย่าให้การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ล่อลวงพวกเจ้า และอย่าให้หัวหน้าพวกล่อลวง (ชัยฏอน) มาหลอกลวงพวกเจ้าเกี่ยวกับอัลลอฮ์เป็นอันขาด” (ลุกมาน 33)

 

พี่น้องที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

เราต้องมีชีวิตอยู่แบบคนรู้ตัวว่าอนาคตเราต้องเจอกับอะไร แน่นอนว่าผู้ที่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรมีแต่อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น ในอัลกุรอานมีอายะฮ์มากมายบอกกับเราว่าหลังจากความตายเราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

นอกจากนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็มีหะดีษมากมายที่บอกเราให้ทราบว่ามีสัญญาณอะไรบ้างที่เป็นสัญญาณของวันกิยามะฮ์ ให้เราได้เตรียมตัวล่วงหน้า เพราะฉะนั้นมุอ์มินจะต้องเรียนรู้ว่าอนาคตของเราจะต้องเจอกับอะไร ด้วยการศึกษาเรียนรู้อัลกุรอานและหะดีษอย่างสม่ำเสมอ

พร้อมกันนั้นก็ต้องขอดุอาอ์ให้ปลอดภัยจากสิ่งที่เราจะต้องเจอในอนาคต ที่เป็นความกังวลของพวกเราทุกคน

عن أبي هُرَيْرَةَ رضي الله عنه قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم: «إِذَا تَشَهَّدَ أَحَدُكُمْ فَلْيَسْتَعِذْ باللَّهِ مِن أَرْبَعٍ يقولُ: اللَّهُمَّ إنِّي أَعُوذُ بِكَ مِن عَذَابِ جَهَنَّمَ، وَمِنْ عَذَابِ القَبْرِ، وَمِنْ فِتْنَةِ المَحْيَا وَالْمَمَاتِ، وَمِنْ شَرِّ فِتْنَةِ المَسِيحِ الدَّجَّالِ». [البخاري 1377، مسلم 588]

ความว่า จากอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “เมื่อพวกท่านตะชะฮ์ฮุดเสร็จแล้ว ให้ขอดุอาอ์ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ให้ปลอดภัยจากสี่ประการ ให้กล่าวว่า อัลลอฮุมมะ อินนี อะอูซุบิกะ มิน อะซาบิ ญะฮันนัม วะมิน อะซาบิลก็อบร์ วะมิน ฟิตนะติล มะห์ยา วัล มะมาต วะมิน ชัรริ ฟิตนะติล มะสีหิดดัจญาล ความหมายคือ โอ้อัลลอฮ์ ข้าขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากการลงโทษในนรกญะฮันนัม จากการลงโทษในหลุมฝังศพ จากบททดสอบในชีวิตและความตาย และจากบททดสอบของดัจญาลผู้ตาบอด” (อัล-บุคอรีย์ 1377 มุสลิม 588)

หวังว่าพวกเราทุกคนจะได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากสิ่งต่างๆ ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แสดงความเป็นห่วงและกังวลแก่ประชาชาติของท่าน



[1] ดูการอธิบายใน t.ly/rm-v1


วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - หิกมะฮ์ในการใช้ชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 


หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - หิกมะฮ์ในการใช้ชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องมุสลิมีนที่อัลลอฮ์รักและเมตตาทุกท่าน

การยำเกรงต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา คือกุญแจที่จะนำความดีมาให้แก่เราในทุกๆ เรื่อง ในจำนวนความดีงามที่พระองค์เตรียมไว้ให้กับบรรดาผู้ที่มีความยำเกรงก็คือ ความรู้ และความเข้าใจในศาสนา

﴿وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۖ وَيُعَلِّمُكُمُ ٱللَّهُۗ وَٱللَّهُ بِكُلِّ شَيۡءٍ عَلِيمٞ 282﴾ [البقرة: 282]

ความว่า “พวกเจ้าจงพึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และอัลลอฮ์นั้นทรงให้ความรู้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 282)

ในจำนวนความรู้ที่เป็นความดีงามจากอัลลอฮ์ ก็คือ
“อัล-หิกมะฮ์” หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำนี้ แต่ทราบหรือไม่ว่าข้อเท็จจริงของมันคืออะไรและมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนสำหรับผู้ศรัทธา

อันที่จริงแล้ว หิกมะฮ์ คือสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก เหมือนคำพูดที่กล่าวกันว่า

الحِكْمَةُ ضَالَّةُ الْـمُؤْمِنِ، فَحَيْثُ وَجَدَهَا فَهُوَ أَحَقُّ بِهَا.

“หิกมะฮ์นั้นคือของที่หล่นหายสำหรับมุอ์มินผู้ศรัทธา ไม่ว่าเขาเจอมันที่ไหน เขาก็คู่ควรที่จะหยิบฉวยมันมา”

คำพูดนี้ไม่ใช่หะดีษ แต่ความหมายของมันนั้นถูกต้องตามความเห็นของบรรดานักวิชาการ ประเด็นของมันก็คือผู้ศรัทธาต้องรู้ว่าอะไรคือ หิกมะฮ์ และต้องพยายามแสวงหามันอย่างสม่ำเสมอ

 

พี่น้องครับ

ในอัลกุรอานเราจะพบคำว่า อัล-หิกมะฮ์ และคำที่เกี่ยวข้องกันเยอะมาก นับตั้งแต่ ตัวอย่างเช่น

ประการแรก พระนามอันงดงามของอัลลอฮ์ สุบหานะฮู
วะตะอาลา “อัล-หะกีม” พระนาม อัล-หะกีม หมายถึงผู้ทรงสร้างและกำหนดทุกอย่างมาด้วยหิกมะฮ์ ผู้เป็นเจ้าของหิกมะฮ์อย่างแท้จริง

ตัวอย่างอัลกุรอานที่พูดถึงพระนามอัล-หะกีม ก็คือตอนที่อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสถามมะลาอิกะฮ์เกี่ยวกับความรู้ต่างๆ บรรดามะลาอิกะฮ์ก็กล่าวตอบพระองค์ว่า

﴿وَعَلَّمَ ءَادَمَ ٱلۡأَسۡمَآءَ كُلَّهَا ثُمَّ عَرَضَهُمۡ عَلَى ٱلۡمَلَٰٓئِكَةِ فَقَالَ أَنۢبِ‍ُٔونِي بِأَسۡمَآءِ هَٰٓؤُلَآءِ إِن كُنتُمۡ صَٰدِقِينَ 31 قَالُواْ سُبۡحَٰنَكَ لَا عِلۡمَ لَنَآ إِلَّا مَا عَلَّمۡتَنَآۖ إِنَّكَ أَنتَ ٱلۡعَلِيمُ ٱلۡحَكِيمُ 32﴾ [البقرة: 31،  32]    

ความว่า “และพระองค์ได้ทรงสอนบรรดานามของสรรพสิ่งทั้งปวงให้แก่อาดัม ภายหลังได้ทรงแสดงสิ่งเหล่านั้นแก่มะลาอิกะฮ์ แล้วตรัสว่า จงบอกบรรดาชื่อของสิ่งเหล่านั้นแก่ข้า หากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง พวกเขา(บรรดามะลาอิกะฮ์)ทูลว่า พระองค์ทรงบริสุทธิ์ยิ่ง ไม่มีความรู้ใดๆ แก่พวกข้าพระองค์นอกจากสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนพวกข้าพระองค์เท่านั้น แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 31-32)

ยังมีหลายที่หลายอายะฮ์ในอัลกุรอานที่กล่าวถึงพระนาม อัล-หะกีม เช่น

﴿شَهِدَ ٱللَّهُ أَنَّهُۥ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ وَٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ وَأُوْلُواْ ٱلۡعِلۡمِ قَآئِمَۢا بِٱلۡقِسۡطِۚ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ ٱلۡعَزِيزُ ٱلۡحَكِيمُ 18
[آل عمران: 18] 

ความว่า “อัลลอฮ์ทรงยืนยันว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าที่คู่ควรแก่การเคารพสักการะใดๆ นอกจากพระองค์เท่านั้น บรรดามะลาอิกะฮ์และผู้มีความรู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมนั้น ก็ยืนยันด้วยว่าไม่มีผู้ที่ควรได้รับการเคารพสักการะใดๆ นอกจากพระองค์ผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณเท่านั้น” (อาล
อิมรอน
18)

ดังนั้น ให้เราทราบว่า อัล-หะกีม คือพระนามของอัลลอฮ์ที่เชื่อมโยงกับคำว่า อัล-หิกมะฮ์

 

ประการที่สอง อัลลอฮ์ได้บอกว่าพระองค์ประทาน
อัล-หิกมะฮ์ ให้กับบรรดานบีของพระองค์ และมีบัญชาให้บรรดานบีสอนสั่งประชาชาติของพวกเขาด้วยหิกมะฮ์ที่พระองค์ประทานให้ ตัวอย่างอายะฮ์อัลกุรอานในเรื่องนี้ เช่น

ครอบครัวของนบี อิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม

﴿فَقَدۡ ءَاتَيۡنَآ ءَالَ إِبۡرَٰهِيمَ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡحِكۡمَةَ وَءَاتَيۡنَٰهُم مُّلۡكًا عَظِيمٗا 54﴾ [النساء: 54] 

ความว่า “แท้จริง พระองค์ได้ประทานคัมภีร์และหิกมะฮ์ให้แก่วงศ์วานของอิบรอฮีมมาแล้ว และได้ทรงมอบอำนาจอันยิ่งใหญ่แก่พวกเขา” (อัน-นิสาอ์ 54)

นบี ดาวูด อะลัยฮิสสลาม

﴿وَقَتَلَ دَاوُۥدُ جَالُوتَ وَءَاتَىٰهُ ٱللَّهُ ٱلۡمُلۡكَ وَٱلۡحِكۡمَةَ وَعَلَّمَهُۥ مِمَّا يَشَآءُۗ﴾ [البقرة: 251]

ความว่า “ดาวูดได้ฆ่าญาลูต และอัลลอฮ์ได้ประทานอำนาจและหิกมะฮ์ให้แก่เขา และทรงสอนเขาจากสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 251)  

นบี อีซา อะลัยฮิสสลาม

﴿وَلَمَّا جَآءَ عِيسَىٰ بِٱلۡبَيِّنَٰتِ قَالَ قَدۡ جِئۡتُكُم بِٱلۡحِكۡمَةِ وَلِأُبَيِّنَ لَكُم بَعۡضَ ٱلَّذِي تَخۡتَلِفُونَ فِيهِۖ فَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُونِ 63﴾ [الزخرف: 63] 

ความว่า “และเมื่ออีซาได้มาพร้อมด้วยหลักฐานทั้งหลายอันชัดแจ้ง เขากล่าวว่า แน่นอนฉันได้มาหาพวกท่านพร้อมด้วยหิกมะฮ์ และเพื่อฉันจะได้ชี้แจงแก่พวกท่านให้กระจ่างแจ้งในบางเรื่องที่พวกท่านขัดแย้งกัน ดังนั้นพวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮ์และเชื่อฟังปฏิบัติตามฉันเถิด” (อัซ-ซุครุฟ 63)

และท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ของเรา อัลลอฮ์ได้ประทานอัล-หิกมะฮ์ให้กับท่าน

﴿وَأَنزَلَ ٱللَّهُ عَلَيۡكَ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡحِكۡمَةَ وَعَلَّمَكَ مَا لَمۡ تَكُن تَعۡلَمُۚ وَكَانَ فَضۡلُ ٱللَّهِ عَلَيۡكَ عَظِيمٗا 113﴾ [النساء: 113] 

ความว่า “และอัลลอฮ์ได้ประทานคัมภีร์ลงมาแก่เจ้า และประทานหิกมะฮ์ด้วย และได้ทรงสอนเจ้าในสิ่งที่เจ้าไม่เคยรู้มาก่อน และความกรุณาของอัลลอฮ์ที่มีแก่เจ้านั้นใหญ่หลวงนัก” (อัน-นิสาอ์ 113)

คำว่าหิกมะฮ์ที่พูดถึงบรรดานบีส่วนใหญ่จะหมายถึงการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาจากอัลลอฮ์และการที่พระองค์แต่งตั้งพวกเขาให้เป็นนบีของพระองค์บนผืนแผ่นดินในแต่ละยุคสมัย

ประการที่สาม  นอกจากบรรดานบีแล้ว คนทั่วไปจะได้รับหิกมะฮ์จากอัลลอฮ์ได้หรือไม่? แน่นอน คนทั่วไปก็สามารถได้รับหิกมะฮ์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะบรรดาคนศอลิห์/ผู้คนที่มีคุณธรรม ตัวอย่างเช่น ลุกมาน อัล-หะกีม ที่อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้กล่าวถึงเขาว่า

﴿وَلَقَدۡ ءَاتَيۡنَا لُقۡمَٰنَ ٱلۡحِكۡمَةَ أَنِ ٱشۡكُرۡ لِلَّهِۚ وَمَن يَشۡكُرۡ فَإِنَّمَا يَشۡكُرُ لِنَفۡسِهِۦۖ وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ ٱللَّهَ غَنِيٌّ حَمِيدٞ 12﴾ [لقمان: 12] 

ความว่า “และแท้จริงแล้ว เราได้ให้หิกมะฮ์แก่ลุกมานว่า จงขอบคุณต่ออัลลอฮ์เถิด และหากผู้ใดขอบคุณแท้จริงเขาก็ขอบคุณเพื่อตัวของเขาเอง และหากผู้ใดปฏิเสธแท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงมั่งมีและทรงยิ่งด้วยเกียรติแห่งการสดุดี” (ลุกมาน 12)

 

หรือคนอื่นๆ คนทั่วไปอย่างเราๆ ก็สามารถรับหิกมะฮ์ได้เช่นเดียวกัน และใครก็ตามที่ได้รับหิกมะฮ์ นั่นแสดงว่าเขาได้รับความดีงามอันมากมายจากพระองค์อัลลอฮ์

﴿يُؤۡتِي ٱلۡحِكۡمَةَ مَن يَشَآءُۚ وَمَن يُؤۡتَ ٱلۡحِكۡمَةَ فَقَدۡ أُوتِيَ خَيۡرٗا كَثِيرٗاۗ﴾ [البقرة: 269]

ความว่า “พระองค์จะประทานหิกมะฮ์ให้แก่ผู้ที่ทรงประสงค์ และผู้ใดที่ได้รับหิกมะฮ์ แน่นอนเขาก็ได้รับความความดีอันมากมาย” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 269)

 

พี่น้องครับ

เราฟังตัวอย่างอัลกุรอานมาหลายอายะฮ์ที่ได้กล่าวถึง อัล-หิกมะฮ์ สรุปแล้วมันคืออะไร? และมันมีความสำคัญอย่างไรในชีวิตของเรา?

อัล-หิกมะฮ์ ในการให้ความหมายของบรรดาอุละมาอ์ ก็ คือ

الإِصَابَةُ في القَوْلِ وَالفِعْلِ.

หมายถึง การพูดและการทำได้อย่างถูกต้อง (ดูตัฟซีร อัฏ-เฏาะบะรีย์)

บางคนก็อธิบายว่า หิกมะฮ์ คือการทำได้อย่างถูกต้อง ทั้งการพูด การทำ การเลือกใช้วิธีการตามบริบทและวาระที่เหมาะสม ตามกาลเทศะและเป้าหมายที่ถูกต้อง ทุกอย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็น

สุบหานัลลอฮ์ ความพิเศษนี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับ บางคนอาจจะพูดถูกและมีความตั้งใจดีแต่พูดด้วยสำนวนที่รับฟังไม่ได้ หรือบางคนอาจจะพูดดีแต่ไม่ถูกกาลเทศะ ตัวอย่างเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่หิกมะฮ์นั่นเอง

เพราะฉะนั้น การที่คนผู้หนึ่งรู้ว่าเขาควรจะพูดอะไร กับใคร วิธีไหน หรือรู้ว่าควรจะต้องทำอะไร เวลาไหน แบบไหนที่เหมาะสม นั่นคือ หิกมะฮ์

หิกมะฮ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราทุกคนทั้งในเวลาปกติ และยิ่งจำเป็นมากขึ้นไปอีกถ้าอยู่ในภาวะที่เราเจอกับปัญหาและวิกฤต ในช่วงที่เราเจอกับปัญหาต่อหน้า เวลาที่เราเจอสถานการณ์ที่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ไม่รู้จะเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างไร จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องอาศัยการจัดการอย่างถูกต้องหรือมีหิกมะฮ์ในการเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น

ในจำนวนตัฟซีรหรือการอธิบายคำว่า อัล-หิกมะฮ์ ที่บรรดาสลัฟได้ให้ไว้ก็คือ

อัล-หิกมะฮ์ คือ القُرْآنُ وَالفِقْهُ بِهِ อัลกุรอานและการเข้าใจเนื้อหามัน แน่นอนที่สุด แหล่งข้อมูลแรกที่เราจะใช้เป็นที่ตักตวงหิกมะฮ์ และทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เรื่องราวในครอบครัว เรื่องราวในสังคม สถานการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นในสังคมมนุษย์ คัมภีร์ที่สามารถให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นได้ก็คือ อัลกุรอาน ดังนั้นผู้ที่อ่านและศึกษาอัลกุรอานก็คือผู้ที่จะได้รับหิกมะฮ์ คนที่เรียนอัลกุรอานคือคนที่กำลังแสวงหาอัล-หิกมะฮ์ จากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

บ้างก็บอกว่า อัล-หิกมะฮ์ คือ العِلْمُ بِالدِّيْنِ การเรียนรู้ศาสนา บ้างก็บอกว่า อัล-หิกมะฮ์ คือ  الفَهْمُความเข้าใจ แน่นอนว่าความหมายทั้งหมดนั้นไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่มันส่งเสริมซึ่งกันและกัน[1] นักตัฟซีรอย่างอิมาม อัฏ-เฏาะบะรีย์ จึงได้อธิบายสรุปมีใจความว่า หิกมะฮ์คือการที่อัลลอฮ์ประทานความถูกต้องทั้งในการพูดและการกระทำแก่บ่าวที่พระองค์ประสงค์ และใครก็ตามที่ได้รับการอำนวยความถูกต้องในเรื่องดังกล่าว แน่นอนว่าเขาย่อมได้รับความดีงามอันมากมายแล้ว[2] (ตัฟซีร อัฏ-เฏาะบะรีย์)

หิกมะฮ์ เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก บางทีในสถานการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เราอาจจะไม่รู้ว่าควรจัดการอย่างไร หรือในยามที่เราเจอปัญหาในครอบครัวและไม่รู้จะแก้ปัญหาแบบไหน สำหรับคนที่มีหิกมะฮ์เขาจะรู้ว่าควรรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร การที่มีหิกมะฮ์จะทำให้เราไม่หุนหันพลันแล่นตัดสินใจทำอะไรลงไปแล้วเกิดความเสียใจในภายหลัง ความเสียใจมักจะเกิดขึ้นเพราะเราตัดสินใจทำอะไรลงไปโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาและสถานการณ์นั้นๆ  

 

พี่น้องครับ

แหล่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะแสวงหาและตักตวงหิกมะฮ์ ก็คือ อัลกุรอาน เพราะอัลลอฮ์ให้คุณลักษณะอัลกุรอานว่าเป็น
อัลกุรอาน อัล-หะกีม

﴿وَٱلۡقُرۡءَانِ ٱلۡحَكِيمِ 2﴾ [يس: 2] 

ความว่า “ขอสาบานด้วยอัลกุรอาน อัล-หะกีม
(อัลกุรอานที่เปี่ยมด้วยหิกมะฮ์)” (ยาซีน
2)

และ อัล-กิตาบ อัล-หะกีม

﴿الٓرۚ تِلۡكَ ءَايَٰتُ ٱلۡكِتَٰبِ ٱلۡحَكِيمِ 1﴾ [يونس: 1] 

ความว่า “อลิฟ ลาม รออ์ นั่นคือโองการแห่ง อัล-กิตาบ อัล-หะกีม (คัมภีร์ที่เปี่ยมด้วยหิกมะฮ์)” (ยูนุส 1)

นอกจากนี้ อัลลอฮ์ยังได้สั่งให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สอนอัลกุรอานแก่ประชาชาติของท่าน และให้สอนอัล-หิกมะฮ์พร้อมๆ กันด้วย

ถ้าเราอ่านอัลกุรอานแล้วเจอคำว่า อัล-หิกมะฮ์ มาแบบคำเดียวโดดๆ นั่นแสดงว่ามันอาจจะหมายถึงความหมายได้หลายอย่าง แต่ถ้าหากคำว่า อัล-หิกมะฮ์ มาพร้อมกับคำว่า อัล-กิตาบ นั่นแปลว่ามันหมายถึง อัส-สุนนะฮ์ เช่นในอายะฮ์ที่อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿هُوَ ٱلَّذِي بَعَثَ فِي ٱلۡأُمِّيِّ‍ۧنَ رَسُولٗا مِّنۡهُمۡ يَتۡلُواْ عَلَيۡهِمۡ ءَايَٰتِهِۦ وَيُزَكِّيهِمۡ وَيُعَلِّمُهُمُ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡحِكۡمَةَ وَإِن كَانُواْ مِن قَبۡلُ لَفِي ضَلَٰلٖ مُّبِينٖ 2﴾ [الجمعة: 2] 

ความว่า “พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งรอซูลขึ้นคนหนึ่งในหมู่ผู้ไม่รู้หนังสือจากพวกเขาเอง เพื่อสาธยายโองการต่างๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และให้เขาขัดเกลาพวกเขาจนผุดผ่อง และให้เขาสอนคัมภีร์และหิกมะฮ์แก่พวกเขา และแท้จริงก่อนหน้านี้พวกเขาอยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้ง” (อัล-ญุมุอะฮ์ 2)

อัล-หิกมะฮ์ในที่นี้ก็คือ สุนนะฮ์ ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพราะอุละมาอ์อย่างอิมาม อัช-ชาฟิอีย์และอีกหลายท่านกล่าวว่า ทุกครั้งที่คำว่าอัล-หิกมะฮ์อยู่กับอัล-กิตาบ ความหมายของมันก็คือสุนนะฮ์นั่นเอง

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นอัลกุรอาน และไม่ว่าจะเป็นสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งสองอย่างนี้คือแหล่งที่เต็มไปด้วยความรู้และอัล-หิกมะฮ์ที่จะให้เราตักตวงและแสวงหาเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและที่เกิดขึ้นกับโลกนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

เหตุใดที่เราต้องพูดเรื่อง อัล-หิกมะฮ์​? คำตอบก็คือเพราะมันมีความสำคัญมาก ดังที่อัลลอฮ์บอกแล้วว่าใครก็ตามที่ได้รับของขวัญชิ้นนี้เขาก็คือผู้ที่โชคดีที่สุดในชีวิต แล้วเราอยากจะเป็นผู้ที่โชคดีไหม? เราอยากจะทำอะไรแล้วได้กำไรในชีวิตไหม? ถ้าเป็นเรื่องดุนยาเราทำมาค้าขายแล้วอยากได้กำไรอยากจะประสบความสำเร็จ แล้วถ้าหากเป็นเรื่องอาคิเราะฮ์บ้างเราอยากจะได้กำไรและอยากจะประสบความสำเร็จหรือไม่?

การจะที่เราจะประสบความสำเร็จในดุนยาและ
อาคิเราะฮ์ จำเป็นต้องอาศัยการปฏิบัติที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของอิสลาม เราจึงเป็นต้องเรียนรู้อัล-หิกมะฮ์ จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอัลกุรอานและสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม​

ต้องขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ให้เราได้รับหิกมะฮ์จากพระองค์ ขอตรงๆ จากอัลลอฮ์ว่า ขอพระองค์ประทานหิกมะฮ์ให้กับฉันด้วยเถิด เพื่อให้เราทำทุกอย่างได้ถูกต้อง และไม่ออกไปจากเส้นทางที่เที่ยงตรง ไม่ว่าจะเป็นการคิด การพูด และการทำ หรืออาจจะขอด้วยสำนวนแบบอื่น ตามที่มีรายงานในหะดีษว่า

عن علي بن أبي طالب قالَ لي رَسولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وَسَلَّمَ: قُلِ: اللَّهُمَّ اهْدِنِي وَسَدِّدْنِي، وَاذْكُرْ بالهُدَى هِدَايَتَكَ الطَّرِيقَ، وَالسَّدَادِ سَدَادَ السَّهْمِ. [وفي رواية]: قُلِ: اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ الهُدَى والسَّدادَ. [رواه مسلم 2725]

ความว่า จากท่านอะลีย์ บิน อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวกันฉัน “จงขอดุอาอ์เถิดว่า อัลลอฮุมมะ อิฮ์ดิ นี วะ ซัดดิด นี (โอ้ อัลลอฮ์ขอทรงนำทางฉัน ขอทรงทำให้ฉันประพฤติอย่างถูกต้องแม่นยำ) ให้ระลึกว่าทางนำก็เหมือนกับการที่ท่านเดินทางอย่างไรไม่ให้หลง และความแม่นยำก็เหมือนกับการที่ยิงธนูได้ตรงเป้า”

ในบางสำนวนท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สอน ว่า “จงขอว่า อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุกัล-ฮุดา วัซ-ซะดาด (โอ้ อัลลอฮ์ ข้าพระองค์ขอทางนำและความถูกต้องแม่นยำด้วยเถิด)” (บันทึกโดย มุสลิม 2725)

หวังว่าพวกเราจะได้รับความดีงามอันมากมายจากการที่อัลลอฮ์ประทานหิกมะฮ์ให้กับชีวิตของเรา อามีน



[1] وإذا كان ذلك كذلك معناه، كان جميع الأقوال التي قالها القائلون الذين ذكرنا قولهم في ذلك داخلا فيما قلنا من ذلك، لأن الإصابة في الأمور إنما تكون عن فهم بها وعلم ومعرفة. وإذا كان ذلك كذلك، كان المصيب عن فهم منه بمواضع الصواب في أموره مفهما خاشيا لله فقيها عالما، وكانت النبوة من أقسامه0 [تفسير الطبري]

[2] يؤتي الله الإصابة في القول والفعل من يشاء من عباده، ومن يؤت الإصابة في ذلك منهم، فقد أوتي خيرا كثيرا.