วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - แรงบันดาลใจสู่ อะมัล ศอลิห์ - ซุฟอัม อุษมาน




  ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - บันดาลใจสู่ อะมัล ศอลิห์ - ซุฟอัม อุษมาน (youtube.com)

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - บันดาลใจสู่อะมัลศอลิห์ - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์รักและเมตตาทุกท่าน

อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ประทานนิอฺมัตให้กับเราหลายประการ โดยเฉพาะนิอฺมัตการเป็นมุสลิม นิอฺมัตการมีสุขภาพที่ดี นิอฺมัตการได้มีโอกาสหวนคืนสู่วันเวลาแห่งความดี หรือเทศกาลแห่งความโปรดปรานและความเมตตาจากอัลลอฮ์ที่มีมากกว่าในทุกๆ เดือน (ไม่ว่าจะเป็นเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ ที่มีบัญญัติสนับสนุนให้กระทำความดีให้มาก)

พึงชุโกร/ขอบคุณต่ออัลลอฮ์เถิดที่ทำให้ชีวิตเรายืนยาวมาถึงฤดูกาลแห่งความดีงามเหล่านี้ เมื่อถึงช่วงเวลาที่อัลลอฮ์เตรียมเอาไว้ให้มุสลิมทำความดี (ไม่ว่าจะเป็นช่วงเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ) เราจะตักตวงโอกาสนี้อย่างไรเพื่อให้สามารถทำความดีได้มากที่สุด ไม่มีอะไรที่เราสมควรจะทำมากไปกว่าการให้ความสำคัญกับการทำอะมัลศอลิห์ให้ดีที่สุด ทำไมเราจะต้องแสวงหาอะมัลศอลิห์? ในฐานะมุสลิม ทำไมเราต้องทำความดีต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ด้วย?

 

พี่น้องครับ

อะมัลศอลิห์ เป็นเป้าหมายแห่งการทดสอบจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา พระองค์สร้างชีวิตให้เรา เป้าหมายแห่งชีวิตในโลกนี้ก็คือพระองค์ต้องการเห็นว่าใครในระหว่างพวกเราที่จะสะสมความดีไว้อย่างเลิศหรูและงดงามที่สุด พระองค์ประทานทุกอย่างให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ริซกี และปัจจัยต่างๆ ในโลกดุนยานี้ ให้ทั้งหมดทุกอย่างกับเราเพื่อให้เราใช้มันทำอะมัลศอลิห์ พระองค์ตรัสว่า

﴿إِنَّا جَعَلۡنَا مَا عَلَى ٱلۡأَرۡضِ زِينَةٗ لَّهَا لِنَبۡلُوَهُمۡ أَيُّهُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗا 7﴾ [الكهف: 7] 

ความว่า “แท้จริง เราได้ทำให้สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินเป็นสิ่งประดับประดาสำหรับมัน เพื่อเราจะทดสอบพวกเขาว่า ผู้ใดในหมู่พวกเขาจะปฏิบัติอะมัลได้อย่างดีเยี่ยม” (อัล-กะฮ์ฟฺ 7)

การที่พระองค์ประทานปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดให้กับมนุษย์ เป็นการทดสอบว่า ในระหว่างพวกเขามีใครบ้างที่จะใช้ปัจจัยต่างๆ ที่รับมาแล้วแปลงให้มันเป็นอะมัลศอลิห์ ใครที่จะสามารถระงับใจระงับความรู้สึกไม่หลงระเริงอยู่กับความงามของดุนยา แล้วหันไปเชื่อฟังอัลลอฮ์ให้มากที่สุด

﴿ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلۡمَوۡتَ وَٱلۡحَيَوٰةَ لِيَبۡلُوَكُمۡ أَيُّكُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗاۚ﴾ [الملك: 2] 

ความว่า “พระองค์ผู้ทรงบันดาลความตายและการมีชีวิตเพื่อทดสอบพวกเจ้าว่า ใครในระหว่างพวกเจ้าที่จะปฏิบัติอะมัลอย่างงดงามที่สุด” (อัล-มุลก์ 2)

อัลลอฮ์สร้างชีวิตและความตายให้กับมนุษย์เพื่อให้พวกเขาพิสูจน์ตัวเองว่าใครที่จะทำอะมัลศอลิห์ได้อย่างงดงามที่สุด

อะห์สะนู อะมะลา คือ อะมัลที่ดีและงดงามที่สุด อะไรคืออะมัลที่งดงามที่สุดนี้ ? อัล-ฟุฎ็อยล์ บิน อิยาฎ อธิบายว่า คือ อัลละศูฮู วะ อัศวะบูฮู

-          อัคละศูฮู หมายถึง มีความอิคลาศบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์มากที่สุด

-          อัศวะบูฮู หมายถึง ถูกต้องตรงตามแนวทางสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากที่สุด

ท่านยังบอกว่า อะมัลใดก็ตามจะไม่ถูกตอบรับจนกว่าจะต้องบริสุทธิ์และถูกต้อง บริสุทธิ์คือทำเพื่ออัลลอฮ์ ถูกต้องคือทำตามแบบอย่างของสุนนะฮ์[1]

 

พี่น้องครับ

อะมัลศอลิห์อะไรบ้างที่เราจะต้องทำ? ถ้าเราจะแบ่งประเภทอะมัลหรือความดีต่างๆ ก็อาจจะแบ่งได้ตามระดับที่เราสามารถทำได้สะดวกที่สุดดังนี้

หนึ่ง อะมัลที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ หรือที่เรียกว่า อะอฺมาล อัล-กุลูบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ มาเกี่ยวข้องให้วุ่นวายแต่อย่างใด อยู่เฉยๆ หรืออยู่กับที่ ก็สามารถฟื้นฟูอะมัลเหล่านี้ได้ ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงมันสามารถเป็นความดีที่สะสมให้กับเราได้ อะมัลที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ตัวอย่างเช่น อีมาน/การศรัทธาต่ออัลลอฮ์ อิคลาศ/การดูแลให้หัวใจบริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮ์ ยะกีน/ความมั่นใจ ตะฟักกุร/การคิดใคร่ครวญ ตะดับบุร/การตรึกตรองความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ คุชูอฺ/การมีจิตใจสงบและมีสมาธิอย่างนอบน้อม เตาบะฮ์/การกลับใจต่ออัลลอฮ์ ตะวักกุล/การมอบหมายพึ่งพิงอัลลอฮ์ เคาฟ์/ความหวั่นเกรงต่ออัลลอฮ์ เราะญาอ์/ความหวังต่ออัลลอฮ์ เป็นต้น

สอง อะมัลที่เกี่ยวข้องกับลิ้น หรือ อะอฺมาล อัล-ลิซาน เป็นความดีที่ต้องอาศัยลิ้นในการกล่าวหรือการพูดออกมา ตัวอย่างเช่น ซิกิร/กล่าวระลึกถึงอัลลอฮ์ ติลาวะฮ์ อัลกุรอาน/การอ่านอัลกุรอาน อิสติฆฟาร/การกล่าวอัสตัฆฟิรุลลอฮ์ ตัสบีห์/การกล่าวสุบหานัลลอฮ์ ตะห์มีด/การกล่าวอัลหัมดุลิลลาฮ์ ตักบีร/การกล่าวอัลลอฮุอักบัร ตะฮ์ลีล/การกล่าวลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ การสั่งสอนให้โอวาทเพื่อให้ทำความดีและพูดหักห้ามไม่ให้ทำความชั่ว การพูดให้กำลังใจคนที่กำลังมีความทุกข์โศก เป็นต้น

สาม อะมัลที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะในร่างกาย หรือ อะอฺมาล อัล-ญะวาริห์ คืออะมัลที่ต้องอาศัยหรือขยับเขยื้อนอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเพื่อให้ทำความดีทั้งหลายได้อย่างลุล่วงจนสำเร็จ เช่น การละหมาด การถือศีลอด การเศาะดะเกาะฮ์ การทำหัจญ์ การแสวงหาความรู้ การทำดีต่อบิดามารดา การเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ การช่วยเหลือคนอื่น การสงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้น

ในหะดีษบทหนึ่งที่รายงานจากท่าน มุอาซ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

كُنْتُ معَ النَّبيِّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ في سَفَرٍ، فَأَصْبَحْتُ يَوْمًا قَرِيْبًا مِّنْهُ وَنَحْنُ نَسِيْرُ، فَقُلْتُ: يا رَسُوْلَ اللَّهِ أَخْبِرْنِيْ بِعَمَلٍ يُدْخِلُنِي الْجَنَّةَ وَيُبَاْعِدُنِيْ مِنَ النَّارِ، قَاْلَ : لَقَدْ سَأَلْتَنِيْ عَنْ عَظِيْمٍ، وإنَّهُ لَيَسِيْرٌ عَلَى مَنْ يَسَّرَهُ اللَّهُ عَلَيهِ: تَعْبُدُ اللَّهَ وَلَا تُشْرِكُ بِهِ شَيْئًا، وَتُقِيْمُ الصَّلَاةَ، وَتُؤْتِيْ الزَّكَاةَ، وَتَصُوْمُ رَمَضَانَ، وَتَحُجُّ الْبَيْتَ، ثُمَّ قَالَ: أَلَا أَدُلُّكَ عَلَى أَبْوَابِ الْخَيْرِ: الصَّوْمُ جُنَّةٌ، وَالصَّدَقَةُ تُطْفِيْ الْخَطِيْئَةَ كَمَا يُطْفِئُ الْـمَاءُ النَّارَ، وَصَلَاةُ الرَّجُلِ مِنْ جَوْفِ اللَّيْلِ، قالَ : ثُمَّ تَلَا ﴿تَتَجَافَى جُنُوبُهُمْ عَنِ الْمَضَاجِعِ يَدْعُونَ رَبَّهُمْ ...﴾، حتَّى بلغَ ﴿...يَعْمَلُونَ﴾، ثُمَّ قَالَ: أَلَا أُخْبِرُكَ بِرَأسِ الْأَمْرِ كُــلِّهِ وَعَمُوْدِهِ، وذِرْوَةِ سَنَامِهِ؟، قُلْتُ: بَلَى يَا رَسُوْلَ اللَّهِ، قَاْلَ: رَأْسُ الْأَمْرِ الْإِسْلَامُ، وَعَمُوْدُهُ الصَّلَاةُ، وَذِرْوَةُ سَنامِهِ الْجِهَادُ، ثُمَّ قَاْلَ : أَلَاْ أُخْبِرُكَ بِمَلَاكِ ذَلِكَ كلِّهِ؟ قُلتُ : بَلَى يَا رَسُوْلَ اللَّهِ، قَالَ: فَأَخَذَ بِلِسَانِهِ، قَاْلَ : كُفَّ عَلَيْكَ هَذَا، فَقُلْتُ: يَا نَبِيَّ اللَّهِ، وَإِنَّا لَـمُؤَاخَذُوْنَ بِمَا نَتَكَلَّمُ بِهِ؟ فقالَ : ثَكِلَتْكَ أُمُّكَ يَا مُعَاذُ ، وَهَلْ يَكُبُّ النَّاسَ فِيْ النَّارِ عَلَى وُجُوْهِهِم أَوْ عَلَى مَنَاخِرِهِم إلَّا حَصَائِدُ أَلْسِنَتِهِم». [صحيح الترمذي للألباني، 2616، وانظر الأربعين النووية رقم 29]

ความว่า ครั้งหนึ่ง ฉันได้เดินทางกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และมีโอกาสได้อยู่ใกล้ท่านในขณะที่เรากำลังเดินทางกันอยู่ ฉันได้ถามท่านนบีว่า: “โอ้เราะสูลุลลอฮฺ โปรดบอกฉันซึ่งการงานหนึ่งที่ทำให้ฉันได้เข้าสวรรค์ และทำให้ฉันห่างไกลจากไฟนรกด้วยเถิด ท่านตอบว่า: “แท้จริงท่านได้ถามเรื่องที่ยิ่งใหญ่นัก แต่ทว่ามันเป็นเรื่องง่าย สำหรับผู้ที่อัลลอฮ์จะประทานความง่ายดายแก่เขา คำตอบก็คือให้ท่านอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ โดยที่ท่านไม่ตั้งภาคีใดๆ กับพระองค์ ท่านละหมาด ท่านจ่ายซะกาต ท่านถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ท่านประกอบพิธีหัจญ์ ณ บัยติลลาฮฺ” หลังจากนั้น ท่านได้กล่าวว่า : “เอาไหมฉันจะบอกแก่ท่านซึ่งบรรดาประตูของความดีงามทั้งหลาย? นั่นคือ การถือศีลอดซึ่งเป็นเกราะกำบัง และการบริจาคทาน(เศาะดะเกาะฮ์)สามารถลบล้างความผิดได้เสมือนกับน้ำที่ดับไฟ และการละหมาดของคนๆ หนึ่งในยามค่ำคืน”  หลังจากนั้นท่านก็อ่านอายะฮ์

﴿تَتَجَافَىٰ جُنُوبُهُمۡ عَنِ ٱلۡمَضَاجِعِ يَدۡعُونَ رَبَّهُمۡ خَوۡفٗا وَطَمَعٗا وَمِمَّا رَزَقۡنَٰهُمۡ يُنفِقُونَ 16 فَلَا تَعۡلَمُ نَفۡسٞ مَّآ أُخۡفِيَ لَهُم مِّن قُرَّةِ أَعۡيُنٖ جَزَآءَۢ بِمَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 17﴾ [السجدة: 16،  17] 

หลังจากนั้นท่านได้กล่าวอีกว่า : “เอาไหมฉันจะบอกแก่ท่านซึ่งอะมัลที่เป็นหัวหลักของมัน เสาของมัน และจุดสุดยอดของมัน? ฉันตอบว่า: “เอาสิ โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ” ท่านกล่าวว่า: “หัวหลักของกิจการนั้นคืออิสลาม เสาของมันคือการละหมาด และจุดสุดยอดของมันคือการญิฮาด”

หลังจากนั้นท่านได้กล่าวอีกว่า : “เอาไหมฉันจะบอกแก่ท่านซึ่งสิ่งที่ครอบคลุมของทั้งหมดที่กล่าวมา? “ฉันตอบว่า”: “เอาสิ โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮ์” แล้วท่านก็จับลิ้นของท่าน และกล่าวว่า: “ท่านจงระงับสิ่งนี้” ฉันจึงกล่าวว่า: “โอ้นบีของอัลลอฮ์ พวกเราจะถูกไต่สวนในสิ่งที่เราได้พูดด้วยกระนั้นหรือ?” ท่านตอบว่า: “แม่ของท่านได้เสียท่านแล้ว[2] โอ้ มุอาซเอ๋ย แล้วที่มนุษย์ต้องถลำหน้าหรือจมูกเข้าไปในไฟนรกมิใช่เพราะผลจากลิ้นดอกหรือ?”” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ ดูในเศาะฮีห์ สุนัน อัต-ติรมิซีย์ ของอัล-อัลบานีย์ 2616 และสี่สิบหะดีษอิมามอัน-นะวาวีย์ 29)

นี่เป็นหนึ่งในหะดีษที่กล่าวถึงตัวอย่างของอะมัลต่างๆ อันหลากหลายในอิสลาม ซึ่งมีทั้งอะมัลวาญิบที่เราต้องไม่ละเลย และอะมัลสุนัตที่เราสามารถเลือกทำได้อย่างสะดวกในเวลาต่างๆ รวมถึงอะมัลที่ได้รับการเน้นย้ำให้ทำอย่างดีที่สุด ทั้งหมดทั้งปวงนั้นจะเป็นการสะสมความดีให้กับเราได้รับผลตอบแทนเป็นสวนสวรรค์และรอดพ้นห่างไกลจากไฟนรกได้

 

พี่น้องที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

เมื่อถึงฤดูกาลแห่งความดีแต่เรากลับเฉยเมยที่จะตักตวงความดีและทำอะมัลศอลิห์ ไม่ให้ความสำคัญกับการแสวงหาเสบียงให้เราได้เป็นชาวสวรรค์ในวันอาคิเราะฮ์ แล้วเราจะรอให้ถึงฤดูกาลไหนอีก

การทำอะมัลศอลิห์ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะในวันอาคิเราะฮ์เท่านั้น แต่อัลลอฮ์จะให้เราได้ผลแห่งความดีตั้งแต่อยู่ในดุนยาแล้ว ส่วนในวันอาคิเราะฮ์ก็มีผลบุญอีกมากมายรอเราอยู่อย่างแน่นอน

 พระองค์ตรัสว่า

﴿مَنۡ عَمِلَ صَٰلِحٗا مِّن ذَكَرٍ أَوۡ أُنثَىٰ وَهُوَ مُؤۡمِنٞ فَلَنُحۡيِيَنَّهُۥ حَيَوٰةٗ طَيِّبَةٗۖ وَلَنَجۡزِيَنَّهُمۡ أَجۡرَهُم بِأَحۡسَنِ مَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 97﴾ [النحل: 97] 

ความว่า “ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้มีการดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาด้วยรางวัลที่ดีที่สุดยิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้” (อัน-นะห์ลฺ 97)

มีอายะฮ์อัลกุรอานมากมายที่พูดถึงผลบุญของผู้ศรัทธาที่ประกอบความดีว่าพวกเขาจะได้ผลตอบแทนอันสวยงามทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์ ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากจะทำความดีและสะสมเสบียงสู่อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา แต่หากยังมีความรู้สึกว่าเฉื่อยชาและอ่อนแอในการทำความดี ให้เราหาตัวช่วยหรือสิ่งที่จะกระตุ้นเราให้อยากทำความดีให้มาก เช่น

หนึ่ง การตระหนักอยู่เสมอว่า ความดีเพียงแค่เล็กน้อยก็มีผลบุญ ดังนั้นอย่าได้มองข้าม ไม่ว่าจะซิกิรเพียงเล็กน้อยก็ต้องคิดเสมอว่าอัลลอฮ์ได้เตรียมผลบุญให้กับเราอย่างแน่นอน

﴿فَمَن يَعۡمَلۡ مِثۡقَالَ ذَرَّةٍ خَيۡرٗا يَرَهُۥ 7﴾ [الزلزلة: 7] 

ความว่า “ดังนั้น ใครก็ตามที่ทำความดีเล็กน้อยมีน้ำหนักเท่าผงธุลีเขาก็จะได้เห็นมัน” (อัซ-ซัลซะละฮ์ 7)

 

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ إِنَّا لَا نُضِيعُ أَجۡرَ مَنۡ أَحۡسَنَ عَمَلًا 30 ﴾ [الكهف: 30] 

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย เราจะไม่ละเลยให้การตอบแทนของผู้กระทำความดีสูญหายอย่างแน่นอน” (อัล-กะฮ์ฟฺ 30)

สอง คิดถึงความตายและการหมดโอกาสเมื่อต้องตายอย่างกะทันหัน คนที่ทำความดีได้คือคนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ถ้าตายไปเมื่อไรจะกลับมาแค่นาทีเดียวก็ไม่มีสิทธิ และคำพูดอันน่าเสียดายของคนตายนั้นเป็นคำพูดของคนที่ไม่เอาใจใส่ตอนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น นั่นก็คือบรรดาคนกาฟิร วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก อัลลอฮ์ตรัสถึงคนเหล่านี้ว่า

﴿ حَتَّىٰٓ إِذَا جَآءَ أَحَدَهُمُ ٱلۡمَوۡتُ قَالَ رَبِّ ٱرۡجِعُونِ 99 لَعَلِّيٓ أَعۡمَلُ صَٰلِحٗا فِيمَا تَرَكۡتُۚ كَلَّآۚ إِنَّهَا كَلِمَةٌ هُوَ قَآئِلُهَاۖ وَمِن وَرَآئِهِم بَرۡزَخٌ إِلَىٰ يَوۡمِ يُبۡعَثُونَ 100 ﴾ [المؤمنون: 99،  100] 

ความว่า “จนกระทั่งเมื่อความตายได้มาหาคนใดในพวกเขา เขาก็จะกล่าวขึ้นว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์กลับไปมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งเถิด เพื่อข้าพระองค์จะได้กระทำความดีในสิ่งที่ข้าพระองค์ปล่อยทิ้งไว้ เปล่าเลย ! มันเป็นเพียงถ้อยคำที่เขากล่าวมันไว้เท่านั้น และเบื้องหน้าของพวกเขานั้นมีโลกบัรซัคที่คอยปิดกั้นเขา จนกระทั่งถึงวันที่พวกเขาจะถูกฟื้นคืนชีพขึ้นมา” (อัล-มุอ์มินูน 99-100)

สาม ขอดุอาอ์ให้อัลลอฮ์ประทานความง่ายดายและใช้งานเราเพื่อทำความดี ในหะดีษของท่านอะนัส บิน มาลิก รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

«إِذَا أَرَادَ اللهُ بِعَبْدٍ خَيْرًا اِسْتَعْمَلَهُ، فَقِيْلَ: كَيْفَ يَسْتَعْمِلُهُ يَا رَسُوْلَ اللهِ؟ قَاْلَ: يُوَفِّقُهُ لِعَمَلٍ صَالِحٍ قَبْلَ الـْمَوْتِ» [صحيح الترمذي للألباني، 2142]

 

ความว่า “หากอัลลอฮ์ประสงค์ให้บ่าวได้รับความดีพระองค์ก็ใช้งานเขา” มีคนถามว่า พระองค์ใช้งานเขาอย่างไร โอ้ ท่านรอซูลุลลอฮ์? ท่านตอบว่า “พระองค์จะประทานเตาฟีก/ความง่ายดายให้เขาทำอะมัลศอลิห์ก่อนที่เขาจะตาย” (ดูในเศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ ของอัล-อัลบานีย์ 2142)

ดังนั้นให้จำเอาไว้ว่า ถ้าเราขี้เกียจทำความดีนั่นแสดงว่าอัลลอฮ์ไม่ได้ใช้งานเราให้เราทำความดี เราจะไม่มีสิ่งดีๆ ในชีวิต หากเราทำความดีนั่นคือประจักษ์พยานว่าอัลลอฮ์ได้ใช้งานเราให้ทำความดี เป็นความประสงค์ให้เราได้รับสิ่งดีๆ จากพระองค์

ดังนั้นขอดุอาอ์ทุกครั้งให้เราได้ทำความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฤดูกาลแห่งความดีได้มาถึงเราแล้ว



[1] ดูในตัฟซีร อัล-บะเฆาะวีย์

قال الفضيل بن عياض: "أحسن عملا" أخلصه وأصوبه. وقال: العمل لا يقبل حتى يكون خالصا صوابا، الخالص: إذا كان لله، والصواب: إذا كان على السنة. [تفسير البغوي].

 

[2] นี่เป็นสำนวนการประชดประชันแบบหนึ่งของชาวอาหรับ เพื่อเป็นการเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องที่พูด ไม่ใช่เป็นการขอดุอาอ์ให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น