วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - บาปของบ่าว การอภัยของอัลลอฮ์ - ซุฟอัม อุษมาน

 



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - บาปของบ่าว การอภัยของอัลลอฮ์ - ซุฟอัม อุษมาน (youtube.com)

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ บาปของบ่าว การอภัยของอัลลอฮ์ - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์รักทุกท่าน

อัลหัมดุลิลลาฮ์ ชุโกรต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ทำให้เราได้มีชีวิตอยู่ภายใต้การดูแลของพระองค์ แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะเจอกับบททดสอบบ้าง ผิดพลาดบ้าง พลาดพลั้งบ้าง จนออกนอกลู่นอกทางจากที่พระองค์ได้กำชับและสั่งเสียเรามา

ในหะดีษบทหนึ่งรายงานท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

سَمِعْتُ رَسُوْلَ اللهِ ﷺ يَقُوْلُ: «قَالَ اللهُ تَعَالَى :"يَا ابْنَ آدَمَ ! إِنَّكَ مَا دَعَوْتَنِيْ وَرَجَوْتَنِيْ غَفَرْتُ لَكَ عَلَى مَا كَانَ مِنْكَ وَلَا اُبَالِي.

يَا ابْنَ آدَمَ! لَوْ بَلَغَتْ ذُنُوْبُكَ عَنَانَ السَّمَاءِ ثُمَّ اسْتَغْفَرْتَنِيْ غَفَرْتُ لَكَ.

يَا ابْنَ آدَمَ! إِنَّكَ لَوْ أَتَيْتَنِيْ بِقُرَابِ الأَرْضِ خَطَايَا ثُمَّ لَقِيْتَنِيْ لَا تُشْرِكُ ِبْي شَيْئاً لَأَتَيْتُكَ بِقُرَابِهَا مَغْفِرَةً"»

رَوَاهُ التِّرْمِذِيُّ، وَقَالَ: حَدِيْثٌ حَسَنٌ صَحِيْحٌ. [الأربعين النووية برقم42].

ความว่า : จากท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า: ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า: อัลลอฮ์พระผู้สูงส่ง ตรัสว่า: “โอ้ลูกหลานอาดัม (มวลมนุษย์) เอ๋ย! ตราบใดที่สูเจ้าวิงวอน (ดุอาอ์) และฝากความหวังไว้กับข้าตราบนั้น ข้าจะอภัยในความผิดที่สูเจ้าได้กระทำ และข้าก็จะไม่สนใจมันอีก โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ย! แม้ว่าความผิดของสูเจ้าจะสูงเทียมฟ้า แล้วเจ้าได้ขออภัยโทษต่อข้า ข้าก็จะให้อภัยแก่เจ้า โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ย! ถ้าหากสูเจ้ามาหาข้า พร้อมด้วยบาปที่เต็มแน่นเท่าผืนพิภพ แล้วเจ้าได้มาพบกับข้าโดยที่สูเจ้าไม่ได้ตั้งภาคีใด ๆ กับข้า แน่นอน ! ข้าก็จะให้อภัยแก่สูเจ้าเท่าผืนพิภพเช่นเดียวกัน” (หะดีษบันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ และท่านกล่าวว่า เป็นหะดีษอยู่ในระดับหะสัน เศาะหีฮ์ ดูใน สี่สิบหะดีษนะวะวีย์ บทที่ 42)

เป็นหะดีษกุดสีย์อีกหะดีษหนึ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เล่าให้ฟังถึงคำพูดของอัลลอฮ์ ว่าตราบใดที่เรายังคงวิงวอนขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์และมอบความหวังกลับไปยังพระองค์ แม้ว่าบาปที่เราทำจะมากมายแค่ไหน พระองค์ก็จะทรงอภัยให้โดยไม่สนใจว่าบาปดังกล่าวจะเป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่ตราบใดที่ไม่ใช่บาปชิริกเท่านั้น

และแม้ว่ามนุษย์จะทำบาปซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลังจากขออภัยโทษแล้ว รู้สึกเสียใจแล้ว แต่ทนการยั่วยวนไม่ไหว แพ้การล่อลวงของชัยฏอน จนหันกลับไปทำบาปอีกครั้ง จากนั้นก็สำนึกอีกและขออภัยโทษอีก พระองค์ก็จะทรงอภัยอย่างไม่มีวันเบื่อหน่ายในการให้อภัยโทษต่อบ่าวของพระองค์

บางคนทำบาปมาตลอดชีวิต ถูกชัยฏอนจูงจมูกให้ทำแต่บาป ไม่เคยทำความดี จนความผิดสะสมท่วมหัวเปรียบเสมือนกองภูเขาที่สูงเทียมฟ้า หรือเต็มเท่ากับผืนแผ่นดินที่อาศัยอยู่ แต่ถ้าเขาไม่ได้ชิริก/ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ เขากลับมาขออภัยโทษต่อพระองค์ เขายังมีความหวังที่จะได้รับการอภัยโทษจากพระองค์อยู่เสมอ

 

พี่น้องครับ

ในยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อบายมุขมีอยู่ทุกที่และมากมายทุกรูปแบบ ยั่วยวนและล่อลวงเราให้เราละเมิดคำสั่งของอัลลอฮ์อย่างหนักหน่วง มนุษย์ในยุคนี้ที่เกลือกกลั้วอยู่กับบาปจนบั่นทอนความรู้สึกและทำให้หมดกำลังใจที่จะเป็นคนดี  บางทีคนที่ทำดีอยู่แล้วก็หมดกำลังใจเมื่อเห็นคนทำชั่วเต็มบ้านเต็มเมือง นาอูซุบิลลาฮ์มินซาลิก

เพราะฉะนั้น การเตือนตัวเองด้วยคำสอนจากหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่มีความหมายอย่างนี้จะทำให้เรามีความหวังมากขึ้น

ชัยฏอนมันมีหน้าที่ในการพยายามล่อลวงลูกหลานอาดัม มันประกาศมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะหลอกลวงไม่ว่าจากข้างหน้าข้างหลังและด้านขวาด้านซ้าย มันต้องการให้ลูกหลานอาดัมกลายเป็นชาวนรกเช่นเดียวกับมัน ดังนั้นการที่มนุษย์ทำบาปไม่เว้นในแต่ละวัน ผิดพลาดไปทำสิ่งที่ขัดกับคำสั่งของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างมากมายต่างๆ นานา เหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับที่ชัยฏอนประกาศเอาไว้ทั้งสิ้น มันต้องการให้เราหมดความรู้สึกที่ดี หมดหวังต่อการอภัยของอัลลอฮ์

เพราะเหตุนี้ ได้โปรดอย่าตกเป็นทาสของชัยฏอนสองครั้ง เราตกเป็นทาสของมันแล้วครั้งแรกด้วยการพลั้งพลาดไปทำบาป แล้วเราก็ตกเป็นทาสของมันครั้งที่สองด้วยการไม่ยอมเตาบัตกลับตัวและขออภัยโทษจากอัลลอฮ์ นี่เป็นการถูกชัยฏอนหลอกซ้ำสอง ซึ่งน่ากลัวที่สุด

 

พี่น้องครับ

อัลลอฮ์เรียกบรรดาคนที่คลุกอยู่กับบาป พระองค์เรียกให้พวกเขาตื่นจากสภาพที่ดำดิ่งอยู่ในความผิด ให้รีบกลับไปหาด้วยความหวังในการอภัยโทษของพระองค์ อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿۞قُلۡ يَٰعِبَادِيَ ٱلَّذِينَ أَسۡرَفُواْ عَلَىٰٓ أَنفُسِهِمۡ لَا تَقۡنَطُواْ مِن رَّحۡمَةِ ٱللَّهِۚ إِنَّ ٱللَّهَ يَغۡفِرُ ٱلذُّنُوبَ جَمِيعًاۚ إِنَّهُۥ هُوَ ٱلۡغَفُورُ ٱلرَّحِيمُ 53﴾ [الزمر: 53]    

ความว่า “จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ปวงบ่าวของข้าเอ๋ย! บรรดาผู้ละเมิดต่อตัวของพวกเขาเอง พวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อความเมตตาของอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงอภัยในความผิดทั้งหลายทั้งมวล แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัซ-ซุมัร 53)  

อายะฮ์นี้ นักตัฟซีรบอกว่าจริงๆ แล้วกำลังพูดถึงคนที่ทำบาปชิริกด้วยซ้ำ[1] คนที่จมปลักอยู่ในบาปชิริกที่ไม่มีวันได้รับการอภัยหากพวกเขาไม่ศรัทธาและเตาบัตตัว พวกเขาอาจจะหมดหวังว่าจะศรัทธาได้อย่างไรในเมื่อชีวิตที่ผ่านมาทำบาปชิริกมาตลอด แต่อัลลอฮ์ก็บอกพวกเขาว่าอย่าได้หมดหวัง ในโลกนี้ไม่มีบาปอะไรที่ใหญ่หลวงไปกว่าการทำบาปชิริกอีกแล้ว กระนั้นพระองค์ก็ยังเรียกให้คนเหล่านี้กลับมาศรัทธาต่อพระองค์ได้ แล้วนับประสาอะไรกับคนที่มีบาปอื่นที่ไม่ได้ถึงขั้นบาปชิริก แน่นอนว่าพวกเขาสามารถได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮ์อย่างไม่ต้องสงสัย หากว่าพวกเขากลับตัวกลับใจและหันมาขออภัยโทษจากพระองค์อย่างจริงจังและจริงใจ

 

พี่น้องครับ

จากหะดีษที่เราอ่านเมื่อสักครู่นี้ให้บทเรียนกับเราอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ประการแรก อัลลอฮ์ให้เกียรติมนุษย์ เราลองคิดดูว่าอัลลอฮ์คือใครและมนุษย์คือใคร? สถานะของพระองค์กับบ่าวต่างกันและห่างกันมากแค่ไหน สุบหานัลลอฮ์ แต่พระองค์ก็ยังเรียกมนุษย์อย่างเราด้วยความเอ็นดูเมตตาว่าيَا ابْنَ آدَمَ !  “โอ้ ลูกหลานอาดัมเอ๋ย” และไม่ได้เรียกแค่ครั้งเดียว พระองค์เรียกทวนซ้ำไม่รู้กี่ครั้ง ถ้าไม่พระองค์ไม่ให้เกียรติเราพระองค์จะเรียกเราทำไม พระองค์อาจจะปล่อยให้เราหลงทางอยู่ในความผิด ไม่ให้เรากลับตัวสู่พระองค์ก็ย่อมได้ แต่พระองค์ก็เรียกเรา ไม่ให้เราหมดหวัง ให้เรามีกำลังใจต่อพระองค์อยู่เสมอ

ประการที่สอง การที่เราต้องขอดุอาอ์และมีความหวังอยู่เสมอ ดุอาอ์ด้วยหัวใจที่เปี่ยมหวัง دَعَوْتَنِيْ وَرَجَوْتَنِيْ คนบาปก็ต้องขอดุอาอ์ อย่าปล่อยให้แค่คนดีเท่านั้นที่ขอดุอาอ์ คนที่มีความผิดบาปยิ่งต้องขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์และยิ่งต้องมีความหวังต่ออัลลอฮ์ เพราะเขาต้องการให้อัลลอฮ์อภัยโทษมากกว่าคนที่ไม่มีบาป เพราะฉะนั้นอย่าลืมที่จะขอดุอาอ์ เรียนรู้วิธีการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ ดุอาอ์เป็นอิบาดะฮ์ที่ง่ายที่สุดแล้ว มนุษย์คนไหนที่ขอดุอาอ์ไม่เป็นแสดงว่าเขาเป็นบ่าวที่ไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับอัลลอฮ์ เป็นคนที่น่าสงสารที่สุดแล้ว ถ้าไม่รู้จักที่จะเข้าหาอัลลอฮ์และมีความหวังต่อความเมตตาของพระองค์

ประการที่สาม อัลลอฮ์จะอภัยโทษให้กับทุกความผิดแม้ว่ามันจะใหญ่โตแค่ไหนก็ตาม ตราบใดที่บ่าวขออภัยโทษด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตามเงื่อนไขของการเตาบัตกลับตัว นั่นก็คือ ต้องอิคลาศ/จริงใจในการเตาบัต ต้องเสียใจในบาปที่เคยทำ ต้องละทิ้งบาปที่ทำอยู่ ต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่กลับไปทำบาปนั้นอีก การกลับตัวจะต้องทำก่อนหมดเวลาที่พระองค์จะให้อภัย เช่น การเตาบัตก่อนตาย ก่อนที่ลมหายใจจะถึงลูกกระเดือก

ประการที่สี่ คุณค่าของเตาฮีดและอันตรายของชิริก เตาฮีดหรือการศรัทธามั่นต่อเอกภาพของอัลลอฮ์คือมูลเหตุแห่งการอภัยโทษ ในขณะที่ชิริกคือสาเหตุที่ปิดกั้นไม่ให้เราได้รับการอภัยจากอัลลอฮ์ ชีวิตที่ไม่มีชิริกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าให้มีชิริก เพราะบาปใหญ่ทั้งหมดแม้ว่าเราจะทำบาปมากแค่ไหนก็ยังมีโอกาสที่จะได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ในขณะที่ใครก็ตามตายในสภาพมีชิริกติดตัวและไม่ได้เตาบัตก่อนตาย เขาก็หมดสิทธิที่จะได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮ์แล้ว

﴿إِنَّهُۥ مَن يُشۡرِكۡ بِٱللَّهِ فَقَدۡ حَرَّمَ ٱللَّهُ عَلَيۡهِ ٱلۡجَنَّةَ وَمَأۡوَىٰهُ ٱلنَّارُۖ ﴾ [المائدة: 72] 

ความว่า “แท้จริงผู้ใดชิริก/ตั้งภาคีกับอัลลอฮ์ แน่นอนอัลลอฮ์จะทำให้สวรรค์เป็นที่ต้องห้ามแก่เขา และที่พำนักของเขานั้นคือนรก” (อัล-มาอิดะฮ์ 72)

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน

เราทุกคนจะต้องเจอกับอัลลอฮ์ในวันกิยามะฮ์ วินาทีที่เรากลับไปหาอัลลอฮ์ ลองคิดดูว่าเราจะเอาอะไรกลับไปหาพระองค์ ใครที่หวังอยากจะเจอกับอัลลอฮ์ พระองค์ก็อยากจะเจอกับเขา ใครที่ดีใจที่จะได้เจอกับอัลลอฮ์ พระองค์ก็ดีใจที่จะได้เจอกับเขา ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวที่จะกลับไปพบกับอัลลอฮ์ในวันอาคิเราะฮ์ด้วยความมุ่งหวังที่แท้จริง

﴿ قُلۡ إِنَّمَآ أَنَا۠ بَشَرٞ مِّثۡلُكُمۡ يُوحَىٰٓ إِلَيَّ أَنَّمَآ إِلَٰهُكُمۡ إِلَٰهٞ وَٰحِدٞۖ فَمَن كَانَ يَرۡجُواْ لِقَآءَ رَبِّهِۦ فَلۡيَعۡمَلۡ عَمَلٗا صَٰلِحٗا وَلَا يُشۡرِكۡ بِعِبَادَةِ رَبِّهِۦٓ أَحَدَۢا 110﴾ [الكهف: 110]   

ความว่า “จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด แท้จริง ฉันเป็นเพียงสามัญชนคนหนึ่งเยี่ยงพวกท่าน มีวิวรณ์/วะห์ยูมาแก่ฉันว่าแท้จริง พระเจ้าของพวกท่านนั้นคือพระเจ้าองค์เดียว ดังนั้น ผู้ใดหวังที่จะพบพระผู้เป็นเจ้าของเขา ก็ให้เขาประกอบการงานที่ดี และอย่าตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขา” (อัล-กะฮ์ฟฺ 110)

เพื่อกลับไปหาอัลลอฮ์ พระองค์สั่งให้เราทำอะมัลความดีด้วยการอิบาดะฮ์ต่อพระองค์และละทิ้งการตั้งภาคี เพราะการที่เรากลับไปหาอัลลอฮ์ในสภาพที่เราตั้งภาคีกับอัลลอฮ์ พระองค์จะไล่ให้เราไปอยู่กับสิ่งที่เราตั้งภาคีนั้นเสียเอง ถ้าเราชิริกกับต้นไม้ก็จะไปอยู่กับต้นไม้ ถ้าตั้งภาคีกับก้อนหินก็จะถูกไล่ให้ไปอยู่กับก้อนหิน ถ้าชิริกกับกุโบร์ก็จะไล่ให้ไปอยู่กับกุโบร์ ตั้งภาคีกับสิ่งใดก็จะต้องอยู่กับสิ่งนั้น วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก

นี่คือสิ่งที่จำเป็นจะต้องตระหนักตลอดชีวิตของเรา อัลลอฮ์สร้างมนุษย์มาในสภาพที่มีอาจจะมีความอ่อนแอต่อสิ่งปลุกเร้าและความยั่วยวนต่างๆ ที่นำเราไปสู่การทำบาปได้ แต่พระองค์ก็มีประตูแห่งอภัยโทษให้กับเรา อย่าปิดประตูเตาบัตของตัวเอง ประตูแห่งการเตาบัตที่อัลลอฮ์เปิดอยู่เสมอ ตราบใดที่ดวงอาทิตย์ไม่ขึ้นทางทิศตะวันตก ตราบใดที่ลมหายใจของเราไม่ถึงคอหอย ตราบใดที่ยังไม่มีสัญญาณใหญ่ของวันกิยามะฮ์เกิดขึ้น เรายังมีโอกาสที่จะเตาบัตตัวต่ออัลลอฮ์อยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความผิดบาปให้ชัยฏอนจูงจมูกอยู่ร่ำไป จนกระทั่งวันที่เราเสียชีวิตกลับไปหาอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เราย่อมหมดโอกาสและไม่สามารถจะกลับตัวได้อีก

ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ให้เราเป็นคนที่ชอบจะเตาบัต ชอบที่จะขออภัยโทษต่อพระองค์อยู่เสมอ อินชาอัลลอฮ์ เราจะกลับไปหาพระองค์ในสภาพที่ได้รับการอภัยโทษและได้เป็นชาวสรรค์อย่างถาวรในวันอาคิเราะฮ์ อามีน ยาร็อบบัลอาละมีน



[1] ดูตัฟซีร อัฏ-เฏาบะรีย์

عني بها أهل الشرك، قالوا لما دعوا إلى الإيمان بالله: كيف نؤمن وقد أشركنا وزنينا، وقتلنا النفس التي حرّم الله، والله يعد فاعل ذلك النار، فما ينفعنا مع ما قد سلف منا الإيمان، فنـزلت هذه الآية. [تفسير الطبري].


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น