วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - ความดี ทวีคูณ - ซุฟอัม อุษมาน


ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - ความดี ทวีคูณ - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - ความดีทวีคูณ - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud

 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์รักทุกท่าน

อัลหัมดุลิลลาฮ์ เรายังมีเวลาที่จะทำความดีต่ออัลลอฮ์เพื่อเอาไว้เป็นเสบียงสำหรับการเดินทางกลับไปสู่อาคิเราะฮ์ มีหะดีษบทหนึ่งซึ่งเป็นกำลังใจให้กับพวกเราอย่างดีมาก หะดีษนี้ท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์ ได้นำใส่ไว้ในสี่สิบหะดีษของท่านด้วย เป็นหะดีษเศาะฮีห์ที่รายงานโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม จากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา     

عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ رضي اللهُ عنهما، عن رسولِ اللهِ صلى الله عليه وسلم فِيْمَا يَرْوِيهِ عَنْ رَبِّهِ تَبَارَكَ وَتَعَالَى قَالَ:

«إِنَّ اللهَ كَتَبَ الْحَسَنَاتِ وَالسَّـيِّئَاتِ ثُمَّ بَيَّنَ ذَلِكَ: فَمَنْ هَمَّ بِحَسَنَةٍ فَلَمْ يَعْمَلْهَا كَتَبَهَا اللهُ عِنْدَهُ حَسَنةً كَامِلَةً، وَإِنْ هَمَّ بِهَا فَعَمِلَهَا كَتَبَهَا اللهُ عِنْدَهُ عَشْرَ حَسَنَاتٍ إِلَى سَبْعِ مِئَةِ ضِعْفٍ إِلَى أَضْعَافٍ كَثِيْرَةٍ، وَإِنْ هَمَّ بِسَيِّـئَةٍ فَلَمْ يَعْمَلْهَا كَتَبَهَا اللهُ عِنْدَهُ حَسَنَةً كَامِلَةً، وَإِنْ هَمَّ بِهَا فَعَمِلَهَا كَتَبَهَا اللهُ سَيَّـئَةً وَاحِدَةً» [رَواهُ البُخارِيُّ ومُسلمٌ في صحيحيهما بهذه الحروف، الأربعين النووية برقم37].

ความว่า: จากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา จากท่านเราะสูลุลลอฮ์ ท่านได้รายงานจากพระผู้อภิบาลของท่าน ผู้ทรงจำเริญและผู้ทรงสูงส่ง พระองค์ได้ตรัสว่า: “แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงบันทึกความดีและความชั่วทั้งหลาย แล้วพระองค์ได้ทรงชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า ใครก็ตามที่ปรารถนาจะทำความดีอย่างหนึ่ง แต่แล้วเขาไม่ได้ทำ อัลลอฮ์จะทรงบันทึก ณ พระองค์ซึ่งหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์ และหากเขาปรารถนาที่จะทำมัน แล้วเขาก็ได้ลงมือทำ อัลลอฮ์จะทรงบันทึก ณ พระองค์ให้เป็นสิบความดี และพระองค์จะทรงเพิ่มพูนอีกถึงเจ็ดร้อยเท่า และอาจจะเพิ่มทวีคูณอย่างมากมาย และหากเขาปรารถนาที่จะทำความชั่วอย่างหนึ่ง แต่แล้วเขาไม่ได้ทำ อัลลอฮ์จะทรงบันทึก ณ พระองค์เป็นหนึ่งความดีอย่างสมบูรณ์ และหากเขาปรารถนาที่จะทำมัน แล้วเขาก็ได้ลงมือทำ พระองค์จะทรงบันทึก ณ พระองค์แค่หนึ่งความผิดเท่านั้น” (หะดีษบันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิมในหนังสือเศาะฮีห์ของท่านทั้งสองด้วยถ้อยสำนวนนี้, ดูใน 40 หะดีษนะวะวีย์ บทที่ 37)

เป็นหะดีษกุดสีย์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้พาดพิงไปยังคำพูดของอัลลอฮ์ ว่าพระองค์ได้กำหนดไว้แล้วว่ามนุษย์แต่ละคนจะทำความดีหรือความชั่วมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่พระองค์ไม่ได้เปิดเผยให้เรารู้ พระองค์ไม่ได้บอกเราล่วงหน้าว่าเราจะทำความดีหรือความชั่วมากหรือน้อยเท่าใด เราทำทั้งหมดนี้ด้วยการเลือกของเราแต่ไม่ได้ออกไปจากสิ่งที่พระองค์กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

หลังจากนั้นพระองค์แจกแจงสภาพการทำดีหรือทำชั่วของเราว่ามีสถานะอยู่สี่แบบ คือ

1. คนที่ตั้งใจจะทำความดี แต่ไม่ได้ทำ อัลลอฮ์จะบันทึกความดีให้เขาเป็นหนึ่งความดี ดังนั้นให้เราคิดดีอยู่เสมอ แม้ว่าจะยังไม่มีโอกาสได้ทำความดีนั้นจริงๆ ก็ตาม

2. คนที่ตั้งใจจะทำความดี และได้ทำจริงๆ อัลลอฮ์จะบันทึกความดีให้เป็นทวีคูณตั้งแต่สิบขึ้นไป

3. คนที่ตั้งใจจะทำความชั่ว แต่ล้มเลิกความคิดไม่ได้ทำความชั่วดังกล่าว อัลลอฮ์จะบันทึกให้เป็นความดีหนึ่งความดีแทน

4. คนที่ตั้งใจจะทำความชั่ว และได้ทำจริงๆ อัลลอฮ์จะบันทึกว่าเป็นหนึ่งความชั่วเท่านั้น


พี่น้องครับ

เป็นอีกหนึ่งหะดีษที่ยิ่งใหญ่มาก ให้กำลังใจกับผู้ศรัทธาในการปรับความคิดและพฤติกรรม เพื่อให้ตัวเองใช้ชีวิตด้วยคุณธรรมความดี เป็นหะดีษที่ชี้ให้เห็นถึงความเมตตาอันยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ พระองค์ผู้ทรงเป็น อัร-เราะห์มาน เปิดโอกาสให้เราได้สะสมความดีด้วยหนทางที่ง่ายดายกว่าการทำความชั่ว ถ้าไม่มีความลับนี้เราคงจะเจอกับความหายนะอย่างแน่แท้ และคงไม่มีใครได้เข้าสวรรค์อย่างง่ายดายเพราะความชั่วของเรามีเยอะเหลือเกิน แต่ด้วยความเมตตาของอัลลอฮ์ พระองค์ทำให้ความดีเพิ่มพูนเป็นทวีคูณ ในขณะที่ความชั่วนั้นพระองค์พยายามลดปัจจัยที่จะทำให้เป็นบาปแก่เรามากที่สุด มาชาอัลลอฮ์

เมื่อเราทำความดีใดๆ ก็ตาม ความดีนั้นจะถูกคูณอย่างน้อยสิบเท่า อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿مَن جَآءَ بِٱلۡحَسَنَةِ فَلَهُۥ عَشۡرُ أَمۡثَالِهَاۖ وَمَن جَآءَ بِٱلسَّيِّئَةِ فَلَا يُجۡزَىٰٓ إِلَّا مِثۡلَهَا وَهُمۡ لَا يُظۡلَمُونَ 160﴾ [الأنعام: 160] 

ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่นำความดีมาเขาจะได้รับผลตอบแทนสิบเท่าของมัน และผู้ใดก็ตามที่นำความชั่วมา เขาจะไม่ถูกตอบแทนนอกจากเท่ากับที่เขาทำชั่วนั้น พวกเขาจะไม่ถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม” (อัล-อันอาม 160)  

ความดีบางอย่างเช่นการบริจาคถูกเพิ่มให้เป็นทวีคณูถึงเจ็ดร้อยเท่า หรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำ อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿مَّثَلُ ٱلَّذِينَ يُنفِقُونَ أَمۡوَٰلَهُمۡ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ كَمَثَلِ حَبَّةٍ أَنۢبَتَتۡ سَبۡعَ سَنَابِلَ فِي كُلِّ سُنۢبُلَةٖ مِّاْئَةُ حَبَّةٖۗ وَٱللَّهُ يُضَٰعِفُ لِمَن يَشَآءُۚ وَٱللَّهُ وَٰسِعٌ عَلِيمٌ 261﴾ [البقرة: 261] 

ความว่า “เปรียบเทียบผู้ที่บริจาคทรัพย์สินของพวกเขาในหนทางของอัลลอฮ์นั้น เหมือนเมล็ดที่งอกออกมาเป็นเจ็ดกิ่ง ในแต่ละกิ่งมีเมล็ดออกมาร้อยเมล็ด อัลลอฮ์ทรงเพิ่มพูนเป็นทวีคูณให้แก่ผู้ที่ทรงประสงค์ อัลลอฮ์ทรงกว้างขวางและรอบรู้ยิ่ง” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 261)

 

พี่น้องครับ

หะดีษนี้ยังแสดงให้เห็นความสำคัญของ “การงานของหัวใจ” หรือ อะมาล อัล-กุลูบ หมายถึงการเนียต การที่สิ่งที่หัวใจคิดและปรารถนาด้วยความตั้งใจจริง ก็มีผลต่อบุญและบาปเช่นเดียวกัน

ในหะดีษนี้เราจะเห็นว่าโอกาสแห่งการทำดีมีมากมายเหลือเกิน และช่องทางที่จะเลิกจากความชั่วก็เปิดกว้างอยู่เสมอ

ข้อสังเกตก็คือว่าการเลิกทำชั่วนั้นต้องเนียตเพื่ออัลลอฮ์ถึงจะได้บุญ หมายถึงต้องเลิกทำความชั่วเพราะกลัวอัลลอฮ์ ไม่ใช่ล้มเลิกการทำชั่วด้วยเหตุผลอื่น เช่น อยากจะทำชั่วแต่มีอุปสรรคบางอย่างทำให้ความชั่วนั้นไม่สำเร็จในขณะที่หัวใจยังอยากจะทำความชั่วนั้นอยู่ดี กรณีแบบนี้จะไม่ได้รับผลบุญจากอัลลอฮ์แต่อย่างใด

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน

มีช่องทางที่สะสมความดีให้มากได้อย่างไรบ้าง? บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่ามีความดีเยอะเหลือเกินจนจับต้นชนปลายไม่ถูก ความรู้สึกนี้บรรดาเศาะหาบะฮ์เองก็เคยถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เช่นกัน

عن عبد الله بن بسر رضي الله أن رجُلًا قال: يا رَسولَ اللهِ، إنَّ شَرائِعَ الإسلامِ قد كَثُرَت عليَّ، فأخبِرْني بشيءٍ أتشَبَّثُ به، فقال: «لَا يَزَالُ لِسانُكَ رَطْبًا مِنْ ذِكْرِ اللهِ». [صحيح الترمذي، للألباني برقم 3375]  

 

ความว่า อับดุลลอฮ์ บิน บุสร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า มีชายคนหนึ่งพูดกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า โอ้ เราะสูลุลลอฮ์ แท้จริงแล้วบทบัญญัติอิสลามนั้นมีมากมายเหลือเกินสำหรับฉัน (หมายถึงมีอิบาดะฮ์สุนนะฮ์มากมายให้ทำหลังจากอะมัลฟัรฎูจนไม่รู้ว่าจะทำอันใดก่อนดีให้ได้สม่ำเสมอและครบถ้วนทั้งหมด) ขอให้ท่านนบีได้บอกฉันด้วยเถิดว่าจะให้ฉันทำสิ่งใดที่สามารถยึดปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ตอบว่า “จงทำให้ลิ้นของท่านเปียกชุ่มอยู่เสมอด้วยการซิกิรรำลึกถึงอัลลอฮ์” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ ดูใน เศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ ของอัล-อัลบานีย์ หมายเลข 3375)

ดังนั้น อะมัลความดีที่ง่ายที่สุดแล้ว คือ การซิกิรรำลึกถึงอัลลอฮ์ ซึ่งสามารถทำได้ทุกที่ทุกแห่ง ไม่ได้จำกัดว่าต้องที่มัสยิดหรือเฉพาะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น การซิกิรต่ออัลลอฮ์ทำได้ทุกโอกาส ตอนที่เราอยู่บ้าน อยู่ที่ทำงาน ระหว่างการนั่งสนทนา ระหว่างที่รอทำธุระกับผู้อื่น ฯลฯ นี่เป็นความดีที่เราหลายคนพลาดไป แค่การเอ่ยปากกล่าวว่า สุบหานัลลอฮ์, อัลหัมดุลิลลาฮ์, อัสตัฆฟิรุลลอฮ์, ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ ฯลฯ แค่นี้ก็มีผลบุญและอานิสงค์มากมายให้กับผู้ศรัทธาแล้ว

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«والحمدُ للَّهِ تملأُ الميزانَ، وَسُبْحَانَ اللهِ والْحَمْدُ للهِ تَمْلَآنِ - أَوْ تَمْلَأُ-  مَا بَيْنَ السَّمَوَاتِ وَالْأَرْضِ» [مسلم 223]

ความว่า “การกล่าว สุบหานัลลอฮ์ มีผลบุญทำให้เติมเต็มตาชั่งในวันกิยามะฮ์ การกล่าว สุบหานัลลอฮ์ วัลหัมดุลิลลาฮ์ มีผลบุญเต็มเท่ากับพื้นที่ระหว่างชั้นฟ้าทั้งหลายกับแผ่นดิน” (บันทึกโดยมุสลิม 223)

อัลลอฮุอักบัร มาชาอัลลอฮ์ ดังนั้น นี่เป็นตัวอย่างความดีทวีคูณที่เราทุกคนสามารถทำได้ และต้องพยายามอย่างที่สุดเพื่อปรับความคิดและนิสัยของตัวเองให้รู้จักสะสมความดีไม่ว่าจะเป็นความดีของหัวใจ ความดีของลิ้น ความดีที่ทำกับร่างกาย เพื่อจะได้กลับไปรับผลตอบแทนกับอัลลอฮ์ในวันที่เรากลับไปหาพระองค์ อินชาอัลลอฮ์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น