วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - ทรัพย์สินที่หะรอม - ซุฟอัม อุษมาน

 




ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

หรือบน SoundCloud


อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ชุโกรขอบคุณต่ออัลลอฮ์สำหรับทุกอย่างที่พระองค์ให้กับเราในชีวิต สำหรับริซกีทั้งที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เป็นผู้ประทานและกำหนดมันให้กับเรามาทั้งสิ้น

มีหะดีษบทหนึ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับเราในสังคมที่เราต้องวุ่นวายกับการแสวงหาริซกีในสภาวะปัจจุบัน เป็นหะดีษที่รายงานโดยอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَيَأْتِيَنَّ عَلَى النَّاسِ زَمانٌ، لَا يُبَالِي المَرْءُ بِمَا أخَذَ الـمَالَ، أَمِنْ حَلَالٍ أَمْ مِنْ حَرَامٍ» [البخاري، رقم: 2083]

ความว่า “จะมียุคสมัยหนึ่งมาถึงผู้คน บุคคลหนึ่งจะไม่สนใจว่าเขาได้ทรัพย์สินมาด้วยวิธีไหน ได้มาจากสิ่งที่หะลาลหรือได้มาจากสิ่งที่หะรอม” (อัล-บุคอรีย์ 2083)

นี่เป็นหนึ่งในสัญญาณวันกิยามะฮ์ ที่คนจะไม่สนใจวิธีการแสวงหาริซกีและการหาเงิน หะลาลก็เอาหะรอมก็เอา ปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยที่เราเห็นทุกวันนี้ ไม่มีบิดเบี้ยวไปจากหะดีษข้างบนเลยแม้แต่น้อย สุบหานัลลอฮ์  

 

พี่น้องครับ

จริงๆ แล้ว เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์กำหนดไว้แล้วตั้งแต่เรายังไม่เกิด ดังนั้น จึงอย่าได้มีความรู้สึกว่าทำไมเรามีทรัพย์สินน้อยเหลือเกิน ทำไมเราได้ริซกีล่าช้า แล้วเราก็พยายามที่จะรีบร้อนหาเงินและริซกีด้วยวิธีการต่างๆ โดยไม่สนใจว่ามันจะเป็นวิธีการที่ถูกหรือผิด

ในอีกหะดีษหนึ่งที่รายงานโดยญาบิร บิน อับดุลลอฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา

«لَا تَسْتَبْطِئُوْا الرِّزْقَ، فَإِنَّهُ لَنْ يَمُوْتَ الْعَبْدُ حَتَّى يَبْلُغَهُ آخِرُ رِزْقٍ هُوَ لَهُ، فَأَجْمِلُوْا فِـيْ الطَّلَبِ: أَخْذِ الْحَلَاْلِ وَتَرْكِ الْحَرَامِ» [تخريج صحيح ابن حبان، رقم: 3239، صححه الأرناؤوط على شرط مسلم]

ความว่า “อย่าได้รู้สึกว่าริซกีนั้นมาช้า เพราะบ่าวคนหนึ่งจะไม่มีวันเสียชีวิต จนกว่าริซกีอันสุดท้ายที่เป็นของเขาจะมาให้เขาได้ใช้ ดังนั้น จงแสวงหาริซกีให้ดี ด้วยการรับเอาสิ่งที่หะลาล และละทิ้งสิ่งที่หะรอม” (ตัครีจญ์ เศาะฮีห์ อิบนุ หิบบาน 3239 เป็นหะดีษเศาะฮีห์ตามเงื่อนไขของมุสลิม)

ตราบใดที่ริซกีของเรายังไม่หมด ชีวิตของเราก็จะไม่มีวันสิ้นสุดไปจากโลกนี้ เราทุกคนจะได้ใช้ริซกีที่อัลลอฮ์กำหนดมาให้เราหมดจนชิ้นสุดท้ายไม่เหลือไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตจากดุนยานี้ไป

ดังนั้น หน้าที่ของเราก็คือแสวงหามันด้วยวิธีที่ถูกต้อง ด้วยวิธีการที่หะลาล อย่าแหกกฎในการแสวงหาริซกีด้วยวิธีการที่หะรอม รับริซกีเฉพาะที่หะลาล อะไรที่หะรอมต้องเอาออกไป

พี่น้องครับ

ริซกี ทรัพย์สิน และเงินทอง ที่หะรอมอันตรายอย่างไรสำหรับเรา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« لا يدخُلُ الجنَّةَ لَحْمٌ نَبَتَ من سُحْتٍ؛ النَّارُ أَوْلى به» [الكبائر للذهبي، رقم 223، صحيح على شرط الشيخين]

ความว่า “จะไม่ได้เข้าสวรรค์ เลือดเนื้อที่เติบโตเกิดมาจากการบริโภคสิ่งที่หะรอม นรกนั้นย่อมคู่ควรกับเขามากกว่า” (อัล-กะบาอิร ของ อัซ-ซะฮะบีย์ 223 หะดีษเศาะฮีห์ตามเงื่อนไขอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

นี่คืออันตรายของการใช้ทรัพย์สินที่หะรอมในการดำรงชีวิต ในหะดีษอีกบทหนึ่ง รายงานโดยท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนผู้คนไว้ว่า

«أَيُّها النَّاسُ، إنَّ اللهَ طَيِّبٌ لَا يَقْبَلُ إلَّا طَيِّبًا، وإنَّ اللهَ أمَرَ المُؤْمِنِينَ بِمَا أمَرَ بِهِ الـْمُرْسَلِينَ، فَقَالَ: ﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلرُّسُلُ كُلُواْ مِنَ ٱلطَّيِّبَٰتِ وَٱعۡمَلُواْ صَٰلِحًاۖ إِنِّي بِمَا تَعۡمَلُونَ عَلِيمٞ 51﴾ [المؤمنون: 51]  ، وَقَالَ: ﴿كُلُواْ مِن طَيِّبَٰتِ مَا رَزَقۡنَٰكُمۡۚ﴾ [البقرة: 57]، ثُمَّ ذَكَرَ الرَّجُلَ يُطِيلُ السَّفَرَ أشْعَثَ أغْبَرَ، يَمُدُّ يَدَيْهِ إِلَى السَّمَاءِ، يَا رَبِّ، يَا رَبِّ، وَمَطْعَمُهُ حَرَامٌ، ومَشْرَبُهُ حَرَامٌ، ومَلْبَسُهُ حَرَامٌ، وغُذِيَ بِالْحَرَامِ، فَأَنَّى يُسْتَجَابُ لِذَلِكَ؟!» [مسلم رقم: 1015]

ความว่า “ผู้คนทั้งหลาย แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเป็นเลิศพระองค์จะรับเฉพาะสิ่งที่ดีเท่านั้น พระองค์สั่งบรรดาผู้ศรัทธาเหมือนกับที่เคยสั่งบรรดาศาสนทูตมาก่อนแล้ว พระองค์ตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلرُّسُلُ كُلُواْ مِنَ ٱلطَّيِّبَٰتِ وَٱعۡمَلُواْ صَٰلِحًاۖ إِنِّي بِمَا تَعۡمَلُونَ عَلِيمٞ 51﴾ [المؤمنون: 51] 

ความหมาย “โอ้ ศาสนทูตทั้งหลาย จงบริโภคจากสิ่งดีๆ และจงประกอบการงานที่ดี แท้จริงแล้วข้ารู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (อัล-มุอ์มินูน 51)

และยังตรัสอีกว่า

﴿كُلُواْ مِن طَيِّبَٰتِ مَا رَزَقۡنَٰكُمۡۚ﴾ [البقرة: 57]

ความหมาย “จงบริโภคจากสิ่งที่ดีซึ่งเราได้ประทานให้กับพวกเจ้า” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 57)

หลังจากนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้เอ่ยถึงผู้ชายคนหนึ่งที่เดินทางรอนแรมมายาวนาน ผมเผ้ายุ่งเหยิงเนื้อตัวเต็มไปด้วยฝุ่น เขายกสองมือขอดุอาอ์ไปยังฟ้าเบื้องบนว่า ยา ร็อบบี ยา ร็อบบี (โอ้ พระเจ้าของฉัน โอ้ พระเจ้าของฉัน) ในขณะที่อาหารของเขานั้นหะรอม เครื่องดื่มของเขาก็หะรอม เสื้อผ้าของเขาก็หะรอม เขาเติบโตมาด้วยของหะรอม แล้วดุอาอ์ของเขาจะถูกตอบรับจากอัลลอฮ์ได้อย่างไร?” (มุสลิม 1015)

ผู้ชายคนนี้มีปัจจัยที่อัลลอฮ์จะตอบรับดุอาอ์อยู่ในตัวเขา นั่นคือ เป็นคนเดินทาง เป็นคนยากจนข้นแค้น ยกมือไปยังอัลลอฮ์บนฟ้า และยังร้องขอว่า ยา ร็อบบี แต่ว่าปัจจัยทั้งหมดนั้นไม่มีประโยชน์สำหรับเขา เพราะมีอุปสรรค์กีดขวางการตอบรับดุอาอ์อยู่ นั่นก็คือการบริโภคสิ่งที่หะรอม สาเหตุข้อนี้ลบปัจจัยการตอบรับดุอาอ์ข้างต้นจนหมดสิ้น วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก

นี่เป็นอันตรายของทรัพย์สินและเงินทองที่หะรอม

 

พี่น้องครับ

ทรัพย์สินที่หะรอมในอิสลาม จะย้อนกลับไปที่รากฐานสามข้อ ตามที่นักวิชาการมุสลิมได้ประมวลเอาไว้ ดังนี้ (ดูการอ้างอิงได้จาก bit.ly/42ui610)

หนึ่ง ทรัพย์สินที่ได้มาจากของหะรอมตามบทบัญญัติ เช่น การขายเหล้าเบียร์ สุกร เลือด หรือได้มาจากพฤติกรรมที่หะรอมเช่น ลักขโมย ปล้น หรือได้มาจากธุรกรรมต้องห้าม เช่น การซื้อขายในมัสยิด การขายตัดราคา การขายสินค้าที่กักตุนโดยไม่เป็นธรรม เป็นต้น 

สอง ทรัพย์สินที่ได้มาจากการหลอกลวงหรือที่เรียกว่า “เฆาะร็อร” มีความไม่ชัดเจน มีลักษณะคล้ายการเสี่ยงทาย การสุ่มสินค้า การพนันได้เสีย การโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง สินค้าไม่ตรงปก เป็นต้น

สาม ทรัพย์สินที่ได้มาจากดอกเบี้ยและธุรกรรมปลีกย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

พี่น้องทุกท่าน

มีคำพูดจากอุละมาอ์ในอดีตเช่นท่าน มาลิก บิน ดีนาร์ ท่านกล่าวว่า

"لَأَنْ يَتْرُكَ الرَّجُلُ دِرْهَمًا حَرَامًا خَيْرٌ لَهُ مِنْ أَنْ يَتَصَدَّقَ بِمِئَةِ أَلْفِ دِرْهَم". [المجالسة وجواهر العلم: 5/126]

ความหมายก็คือ การที่บุคคลละทิ้งหนึ่งดิรฮัมที่หะรอม ก็ยังดีกว่าการที่เขาบริจาคแสนดิรฮัมที่หะลาล (อัล-มุญาละสะฮ์ วะ ญะวาฮิร อัล-อิลม์ 5/126)

สุบหานัลลอฮ์ ระหว่างการบริจาคเป็นแสนเป็นล้านจากเงินที่หะลาลซึ่งได้รับผลบุญจากอัลลอฮ์ แต่กลับบริโภคสิ่งที่หะรอมแค่เล็กน้อยก็ยังน่ากลัวกว่า ดังนั้น การละทิ้งสิ่งที่หะรอมแค่ชิ้นเดียวยังสำคัญกว่า เพราะในที่สุดแล้ว สิ่งที่หะรอมก็จะกลายเป็นเหตุให้ต้องรับโทษในไฟนรก วัลอิยาซุบิลลาฮ์

เพราะฉะนั้น จำเป็นที่เราต้องเอาสิ่งที่หะรอมออกไปจากตัวเราก่อน พร้อมๆ กับการที่เราพยายามแสวงหาสิ่งที่หะลาลมาใช้เป็นริซกีของเรา

عَنْ أَبِي بَرْزَةَ الأَسْلَمِيِّ، قَالَ: قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «لَا تَزُوْلُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ القِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ فِيمَ فَعَلَ، وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَ أَنْفَقَهُ، وَعَنْ جِسْمِهِ فِيمَ أَبْلَاهُ» [رواه الترمذي، رقم: 2417، وقال: هَذَا حَدِيثٌ حَسَنٌ صَحِيحٌ].

ความว่า จากอบู บัรซะฮ์ อัล-อัสละมีย์ เล่าว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “สองเท้าของบ่าวจะไม่เขยื้อนไปไหนในวันกิยามะฮ์ จนกว่าเขาจะถูกสอบสวนด้วยคำถามสี่ข้อ คือ อายุในการมีชีวิตของเขาใช้ทำอะไรบ้าง? ความรู้ที่เขาเรียนมาใช้ทำอะไรบ้าง? ทรัพย์สินของเขาได้มาจากไหนและใช้จ่ายไปเพื่ออะไรบ้าง? และร่างกายของเขาถูกใช้เพื่อเรื่องใดบ้าง?” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ 2417 เป็นหะดีษ หะสัน เศาะฮีห์)

พึงตระหนักเสมอว่า ทรัพย์สินของเราไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือมากมาย ทั้งหะลาลและหะรอม จะต้องถูกสอบสวนจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างไม่มีวันหลีกพ้นได้

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

พึงตักวาต่ออัลลอฮ์เถิด จงแสวงหาริซกีที่ดีและพยายามหลีกเลี่ยงริซกีที่หะรอม ต้องเรียนรู้ว่าอะไรคือริซกีที่หะลาลและอะไรคือริซกีที่หะรอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่อะไรๆ ก็อยู่ในโลกออนไลน์ มีทั้งสินเชื่อออนไลน์ กู้เงินออนไลน์ ชิงโชคออนไลน์ พนันออนไลน์ ลงทุนออนไลน์ หวยออนไลน์ ฯลฯ ยุคของเทคโนโลยีที่ทำให้การกระจายของเงินหะรอมรวดเร็วเหลือเกิน สารพัดออนไลน์ในชีวิตที่บางครั้งเราตามไม่ทันและมาหาเราเองโดยไม่ต้องออกไปหาข้างนอก มันเด้งเข้ามาเองในโทรศัพท์ของเราหรืออุปกรณ์ของเรา โดยไม่ทันรู้ตัว

 

ถ้าหากเรามีความรู้สึกว่าริซกีที่หะลาลมีน้อยเหลือเกิน มาช้าเหลือเกิน ในขณะที่ริซกีหะรอมมันยั่วเราเหลือเกิน มันมีเยอะเหลือเกิน มันพร้อมที่จะให้เราเข้าไปเอาไปใช้ได้ทุกเมื่อ ขอให้เราได้ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ทันที มีดุอาอ์ที่ช่วยให้เราได้ตระหนักในการแสวงหาริซกีที่หะลาลและหลีกเลี่ยงริซกีที่หะรอม เป็นหะดีษที่รายงานโดยอะลีย์ บิน ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า

أنَّ مُكَاتِبًا جَاءَهُ فَقَالَ: إنِّي قَدْ عَجِزْتُ عَنْ مُكَاتَبَتِيْ فَأَعِنِّيْ، قالَ: أَلَا أُعَلِّمُكَ كَلِمَاتٍ عَلَّمَنِيْهِنَّ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَوْ كَاْنَ عَلَيْكَ مِثْلُ جَبَلِ صِيْرٍ دَيْنًا أَدَّاْهُ اللَّهُ عَنكَ، قالَ: قُل: «اللَّهُمَّ اكْفِنِيْ بِحَلَالِكَ عَنْ حَرَامِكَ، وَأَغْنِنِيْ بِفَضْلِكَ عَمَّنْ سَوَاكَ». [صحيح الترمذي للألباني: 3563، حديث حسن]

ความว่า มีทาสที่กำลังทำงานไถ่ตัวเองคนหนึ่งมาหาท่านอะลีย์และพูดกับท่านว่า ฉันรู้สึกอ่อนแอในการที่จะหาเงินมาไถ่ตัวเองจากเจ้านาย ขอท่านได้โปรดช่วยฉันหน่อยเถิด ท่านอะลีย์พูดกับเขาว่า เอาไหมถ้าหากฉันจะบอกดุอาอ์ให้ เป็นดุอาอ์ที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยสอนฉัน แม้นว่าท่านจะมีหนี้เป็นกองพะเนินเท่ากับภูเขา “ศีร” (แห่งเมืองฏ็อยย์หรือเมืองเยเมน) อัลลอฮ์ก็จะช่วยให้ท่านมีทางออกได้รับริซกีที่จะใช้หนี้นั้นให้หมดไป ท่านจงกล่าวดุอาอ์นี้เถิด

«اللَّهُمَّ اكْفِنِيْ بِحَلَالِكَ عَنْ حَرَامِكَ، وَأَغْنِنِيْ بِفَضْلِكَ عَمَّنْ سَوَاكَ»

คำอ่าน อัลลอฮุมักฟินี บิหะลาลิกะ อัน หะรอมิก, วะ อัฆนินี บิฟัฎลิกะ อัมมัน สิวากะ

ความหมาย โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานปัจจัยของพระองค์ที่หะลาลอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งสิ่งที่หะรอมอีก ขอพระองค์ทำให้ฉันได้รับความมั่งมีของพระองค์โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นอีกเลย (รายงานโดยอัต-ติรมิซีย์ และอัล-อัลบานีย์วินิจฉัยว่าเป็นหะดีษหะสัน ในเศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ 3563)

ดังนั้น หากจะหนีจากสิ่งหะรอมก็ให้เราขอสิ่งที่หะลาลจากอัลลอฮ์ จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และแสวงหาริซกีที่หะลาลด้วยวิธีการที่ถูกต้อง แล้วเราจะปลอดภัยทั้งในดุนยานี้และอาคิเราะฮ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น