วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - รีบเร่งสู่ความดี - ซุฟอัม อุษมาน




 ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - รีบเร่งสู่ความดี - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - รีบเร่งสู่ความดี - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

ในแต่ละช่วงเวลาของปี อัลลอฮ์ได้กำหนดให้มีวันเวลาบางวาระที่พิเศษกว่าช่วงอื่นๆ เช่น เดือนเราะมะฎอน เดือนต้องห้ามทั้งสี่เดือน (เราะญับ, ซุลเกาะอฺดะฮ์, ซุลหิจญะฮ์, มุหัรร็อม) ซึ่งมีความประเสริฐและมีการส่งเสริมให้มุสลิมผู้ศรัทธาปฏิบัติความดี/อะมัลศอลิห์ต่างๆ ให้มาก ผู้ศรัทธาจะต้องกระตือรือร้นอยู่เสมอในการที่จะรีบรุดสู่การเข้าใกล้ชิดอัลลอฮ์ด้วยอะมัลต่างๆ ที่อิสลามเชิญชวนและเรียกร้องให้ทำและตักตวงความดีตามโอกาสพิเศษเหล่านั้น

ในช่วงเวลาเช่นนี้ จึงอยากจะเชิญชวนให้พวกเราเตรียมตัวสู่ฤดูกาลแห่งความดี ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมหัวใจ เตรียมร่างกาย และเตรียมวัตถุปัจจัยอื่นๆ เพื่อต้อนรับช่วงเวลาในการทำอิบาดะฮ์อย่างเข้มข้นเมื่อวันเวลาเหล่านั้นมาถึงจริงๆ

 

พี่น้องครับ

ในอัลกุรอานมีอายะฮ์มากมายที่เชิญชวนสู่ความดี ให้รีบแข่งขันสู่ความโปรดปรานของอัลลอฮ์ แข่งขันกันเพื่อความสุขของเราเองในวันอาคิเราะฮ์ เช่น พระดำรัสของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา 

﴿۞وَسَارِعُوٓاْ إِلَىٰ مَغۡفِرَةٖ مِّن رَّبِّكُمۡ وَجَنَّةٍ عَرۡضُهَا ٱلسَّمَٰوَٰتُ وَٱلۡأَرۡضُ أُعِدَّتۡ لِلۡمُتَّقِينَ 133﴾ [آل عمران: 133] 

ความว่า “และพวกเจ้าจงรีบเร่งไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้าและรีบเร่งไปสู่สวรรค์ ความกว้างของมันนั้นประหนึ่งความกว้างของบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน ซึ่งถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง” (อาล อิมรอน 133)

 

﴿سَابِقُوٓاْ إِلَىٰ مَغۡفِرَةٖ مِّن رَّبِّكُمۡ وَجَنَّةٍ عَرۡضُهَا كَعَرۡضِ ٱلسَّمَآءِ وَٱلۡأَرۡضِ أُعِدَّتۡ لِلَّذِينَ ءَامَنُواْ بِٱللَّهِ وَرُسُلِهِۦۚ﴾ [الحديد: 21]   

ความว่า “จงเร่งรีบไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และรีบเร่งสู่สวนสวรรค์ซึ่งความกว้างของมันประหนึ่งความกว้างของชั้นฟ้าและแผ่นดิน ถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และบรรดารอซูลของพระองค์” (อัล-หะดีด 21)

 

﴿فَٱسۡتَبِقُواْ ٱلۡخَيۡرَٰتِۚ إِلَى ٱللَّهِ مَرۡجِعُكُمۡ جَمِيعٗا فَيُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمۡ فِيهِ تَخۡتَلِفُونَ 48 ﴾ [المائدة: 48]

ความว่า “ดังนั้นพวกเจ้าจงแข่งขันกันในความดีเถิด ยังอัลลอฮ์นั้นคือการกลับไปของพวกเจ้าทั้งหมด แล้วพระองค์จะทรงแจ้งให้พวกเจ้าทราบในสิ่งที่พวกเจ้ากำลังขัดแย้งกัน” (อัล-มาอิดะฮ์ 48)

อัลลอฮ์เรียกร้องให้พวกเรารีบเร่งและรุดหน้าไปสู่การอภัยโทษและสวรรค์ของพระองค์ ซึ่งพระองค์เตรียมไว้ให้กับเรา หากรู้แล้วว่าสิ่งที่ทรงเตรียมไว้มีคุณค่ามหาศาลแค่ไหนแล้ว เหตุใดจึงยังชักช้าอยู่ แน่นอนเราจะต้องรีบกระตือรือร้นเพื่อขวนขวายสิ่งเหล่านั้น เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์เตรียมไว้ให้กับเราโดยเฉพาะ

 

พี่น้องครับ

โดยทั่วไป ผู้ศรัทธาเองก็ไม่เหมือนกัน ในอัลกุรอานแบ่งระดับผู้ศรัทธาออกเป็นสามกลุ่มหรือสามแบบ อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ ثُمَّ أَوۡرَثۡنَا ٱلۡكِتَٰبَ ٱلَّذِينَ ٱصۡطَفَيۡنَا مِنۡ عِبَادِنَاۖ فَمِنۡهُمۡ ظَالِمٞ لِّنَفۡسِهِۦ وَمِنۡهُم مُّقۡتَصِدٞ وَمِنۡهُمۡ سَابِقُۢ بِٱلۡخَيۡرَٰتِ بِإِذۡنِ ٱللَّهِۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡفَضۡلُ ٱلۡكَبِيرُ 32 ﴾ [فاطر: 32]

ความว่า “และเราได้ให้คัมภีร์เป็นมรดกสืบทอดแก่บรรดาผู้ที่เราคัดเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเอง และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้ก้ำกึ่ง และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้รุดหน้าในการทำความดีทั้งหลายด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ นั่นคือความโปรดปรานอันใหญ่หลวง” (ฟาฏิร 32)

พระองค์อัลลอฮ์ทรงคัดเลือกให้เราเป็นผู้ศรัทธา แต่ในระหว่างผู้ที่ถูกคัดเลือกนี้แล้วก็ยังแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม

หนึ่ง กลุ่มที่อธรรมต่อตัวเอง (ซอลิมุน ลิ นัฟสิห์) เป็นบรรดาคนแถวหลังสุดที่อธรรมกับตัวเองด้วยการทำบาปและละเลยในการทำความดีตามคำสั่งของอัลลอฮ์

สอง กลุ่มที่ทำความดีแต่ไม่ได้มุ่งมั่นทุ่มเท (มุกตะศิด) เป็นคนแถวกลางที่ทำความดีบ้าง อาจจะละทิ้งบางอย่างที่เป็นอะมัลศอลิห์ หรืออาจจะยังแพ้ต่อการชักจูงของชัยฏอนและอารมณ์ใฝ่ต่ำในบางครั้ง และกระทำสิ่งที่เป็นเรื่องมักรูฮ์น่ารังเกียจในบางเวลา

สาม กลุ่มที่รีบรุดมุ่งมั่นสู่การทำความดีเพื่ออัลลอฮ์ (ซาบิกุน บิล ค็อยรอต) เป็นกลุ่มคนแถวแรกที่ดีที่สุด เพราะกระตือรือร้นและทุ่มเททำความดีในชีวิตอยู่เสมอ ด้วยเตาฟิกและการอำนวยจากอัลลอฮ์ คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับความกรุณาอย่างยิ่งใหญ่จากพระองค์อัลลอฮ สุบหานะฮูวะตะอาลา[1] 

แน่นอนว่า เราต้องพยายามที่จะผลักดันตัวเอง พัฒนาให้ตัวเองขยับไปอยู่แถวหน้าสุดให้ได้ ถ้ารู้ตัวเองว่าเราอยู่หลังสุด ต้องพยายามฝึกฝนปรับปรุงตัวเองให้ขยับมาอยู่แถวกลางก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ทำ และเพิ่มความพยายามให้เข้ามาอยู่แถวหน้าให้ได้ในที่สุด ผู้ศรัทธาต้องไม่อยู่กับที่ ต้องมีความกระตือรือร้นอยู่เสมอว่าจะเป็นผู้ที่รีบรุดสู่ความดีให้ได้สักวันหนึ่ง อินชาอัลลอฮ์

 

พี่น้องครับ

การรีบรุดและมุ่งมั่นในการทำความดีนั้นเป็นวิสัยและนิสัยของคนศอลิห์ ไม่ใช่เฉพาะในยุคของประชาชาติท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เท่านั้น แม้กระทั่งในประชาชาติก่อนหน้านี้ อัลลอฮ์ก็ยังได้เรียกบรรดาอะฮ์ลุลกิตาบในสมัยอดีตที่มุ่งมั่นในการทำความดีว่าเป็นคนศอลิห์

﴿مِّنۡ أَهۡلِ ٱلۡكِتَٰبِ أُمَّةٞ قَآئِمَةٞ يَتۡلُونَ ءَايَٰتِ ٱللَّهِ ءَانَآءَ ٱلَّيۡلِ وَهُمۡ يَسۡجُدُونَ 113 يُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِ وَيَأۡمُرُونَ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَيَنۡهَوۡنَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ وَيُسَٰرِعُونَ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ مِنَ ٱلصَّٰلِحِينَ 114 ﴾ [آل عمران: 113،  114]

ความว่า “ในบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์นั้นมีกลุ่มชนหนึ่งที่เที่ยงธรรม พวกเขาอ่านบรรดาโองการของอัลลอฮ์ในยามค่ำคืน และพร้อมกันนั้น พวกเขาก็สุญุด ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันปรโลก พวกเขาใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบและห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่ชั่วร้าย พวกเขารีบเร่งกันในการทำความดี ชนเหล่านี้แหละอยู่ในหมู่ศอลิฮีน/บรรดาผู้มีคุณธรรม” (อาล อิมรอน 113-114)

เราในฐานะที่เป็นอุมมะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อย่าให้แพ้ประชาชาติก่อนหน้านี้ เราจะต้องเป็นคนที่ชอบจะทำความดีและรีบเร่งสู่ความโปรดปรานของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ด้วยเช่นกัน

และแน่นอนที่สุด ในบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็มีตัวอย่างมากมายของคนที่รีบรุดและมุ่งมั่นในการทำความดีให้เราได้ศึกษา ชื่นชม และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม

ในหะดีษที่รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ บทหนึ่งเล่าว่า

أَنَّهُ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ: «مَنْ أصْبَحَ مِنْكُمُ اليومَ صائِمًا؟» قالَ أبو بَكْرٍ: أنا، قالَ: «فمَن تَبِعَ مِنْكُمُ اليومَ جِنازَةً؟» قالَ أبو بَكْرٍ: أنا، قالَ: «فمَن أطْعَمَ مِنكُمُ اليومَ مِسْكِينًا؟» قالَ أبو بَكْرٍ: أنا، قالَ: «فمَن عادَ مِنْكُمُ اليومَ مَرِيضًا؟» قالَ أبو بَكْرٍ: أنا، فقالَ رَسولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ: «ما اجْتَمَعْنَ في امْرِئٍ إلَّا دَخَلَ الجَنَّةَ». [رواه مسلم 1028]

ความว่า วันหนึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถามขึ้นมา “วันนี้ใครถือศีลอดบ้าง?” ท่านอบู บักร์ ก็ตอบว่า ฉัน ท่านนบีถามต่อไปอีกว่า “วันนี้ใครตามไปส่งศพคนตายบ้าง?” ท่านอบู บักร์ก็ตอบว่า ฉัน ท่านนบีถามอีกว่า “วันนี้ใครเลี้ยงอาหารคนยากจนบ้าง?” ท่านอบู บักร์ก็ตอบว่า ฉัน ท่านนบีก็ถามอีกครั้งว่า “วันนี้ใครไปเยี่ยมคนป่วยบ้าง?” ท่านอบู บักร์ก็ตอบว่า ฉัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้กล่าวว่า “คุณลักษณะเหล่านี้ถ้าหากรวมอยู่ในบุคคลใดหนึ่งคน เขาย่อมจะต้องได้เข้าสวรรค์” (บันทึกโดยมุสลิม 1028)

อีกหะดีษหนึ่งที่รายงานจากอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

أَمَرَنا رَسُولُ اللَّهِ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ يَوْمًا أَنْ نَتَصَدَّقَ، فَوَافَقَ ذَلِكَ مَالًا عِنْدِيْ، فَقُلْتُ : اليَوْمَ أَسْبِقُ أَبَا بَكْرٍ إِنْ سَبَقْتُهُ يومًا ، فَجِئْتُ بنصفِ مالي، فقالَ رسولُ اللَّهِ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ : «ما أبقيتَ لأَهْلِكَ ؟» ، قلتُ : مثلَهُ ، قالَ : وأتى أبو بَكْرٍ رضيَ اللَّهُ عنهُ بِكُلِّ ما عندَهُ ، فقالَ لَهُ رسولُ اللَّهِ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ : «ما أبقَيتَ لأَهْلِكَ ؟» قالَ : أبقَيتُ لَهُمُ اللَّهَ ورسولَهُ ، قلتُ : لا أسابقُكَ إلى شيءٍ أبدًا. [رواه أبو داود والترمذي، صحيح أبي داود للألباني 1678، صحيح الترمذي للألباني 3675]

ความว่า ครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เชิญชวนให้เราบริจาค และตอนนั้นเป็นช่วงที่ฉันมีทรัพย์สินอยู่พอดี ฉันจึงพูดกับตัวเองว่า ถ้าฉันจะเอาชนะอบู บักร์ได้สักวันหนึ่งก็เป็นวันนี้แหละ ฉันจึงเอาทรัพย์สินครึ่งหนึ่งมาบริจาค ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถามว่า “ท่านเหลืออะไรไว้ให้กับครอบครัวบ้าง?” อุมัรตอบว่า ฉันเหลือไว้อีกครึ่งหนึ่งเหมือนกับที่เอามาบริจาค ต่อมาอบู บักร์ก็เอาทรัพย์สินทั้งหมดของท่านมาบริจาค ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถามท่านอบู บักร์ว่า “ท่านเหลืออะไรไว้ให้กับครอบครัวท่านบ้าง?” ท่านอบู บักร์ตอบว่า ฉันเหลืออัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์ไว้ให้กับพวกเขาแล้ว ท่านอุมัรได้ยินดังนั้นจึงกล่าวกับท่านอบู บักร์ว่า หลังจากนี้ฉันจะไม่แข่งอะไรกับท่านอีกต่อไป (บันทึกโดยอบู ดาวูด และ อัต-ติรมิซีย์ ดู เศาะฮีห์ อบี ดาวูด ของ อัล-อัลบานีย์ 1678 และ เศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ ของ อัล-อัลบานีย์ 3675)

ท่านอุมัรยังได้เล่าในอีกหะดีษหนึ่งว่า

مَرَّ رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ وأنا معه وأبو بَكْرٍ، على عبدِ اللهِ بنِ مسعودٍ وهو يَقرأُ، فقام فتَسمَّعَ قراءتَه، ثمَّ ركَعَ عبدُ اللهِ، وسجَدَ، قال: فقال رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ: سَلْ تُعطَهْ، سَلْ تُعطَهْ، قال: ثمَّ مضَى رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ وقال: «مَن سَرَّهُ أنْ يَقرأَ القُرآنَ غَضًّا كما أُنزِلَ، فلْيَقرأْهُ مِن ابنِ أُمِّ عبدٍ»، قال: فأدلَجتُ إلى عبدِ اللهِ بنِ مسعودٍ لأُبشِّرَه بما قال رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ، قال: فلمَّا ضرَبتُ البابَ -أو قال: لمَّا سَمِع صوتي- قالما جاء بك هذه الساعةَ؟ قلتُ: جِئتُ لأُبشِّرَك بما قال رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ، قال: قد سبَقَك أبو بَكْرٍ، قلتُ: إن يَفعَلْ فإنَّه سَبَّاقٌ بالخيراتِ، ما استبَقْنا خيرًا قطُّ إلَّا سبَقَنا إليه أبو بَكْرٍ. [مسند الإمام أحمد 265 بتخريج شعيب الأرناؤوط: إسناده صحيح]

 

ความว่า ครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันและอบู บักร์ ได้เดินผ่านอับดุลลอฮ์ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ในขณะที่ท่านกำลังอ่านอัลกุรอานในละหมาด ท่านนบีก็ยืนฟังที่เขาอ่าน จนกระทั่งเขาได้รุกูอฺและสุญูด ท่านนบีก็พูดกับอิบนุ มัสอูดว่า “จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับมัน จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับมัน” แล้วท่านนบีก็เดินจากไป สักพักท่านก็กล่าวขึ้นมาว่า “ใครที่ปรารถนาจะอ่านอัลกุรอานอย่างถูกต้องเหมือนดังที่มันถูกประทานลงมา ก็ให้เขาเรียนอ่านจากอิบนุ อุมมี อับด์ (หมายถึงอับดุลลอฮ์ บิน มัสอูด)” อุมัรเล่าว่า ฉันจึงแอบไปหาอับดุลลอฮ์ บิน มัสอูด ตอนหัวรุ่งเพื่อแจ้งข่าวดีให้กับเขา เมื่อฉันไปเคาะประตูบ้านและเขาได้ยินเสียงฉัน เขาก็ถามว่า อะไรเป็นเหตุให้ท่านต้องมาหาฉันเวลานี้? ฉันบอกเขาว่า ฉันมาแจ้งข่าวดีตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกไว้ ได้ยินเช่นนั้นเขาก็ตอบฉันว่า อบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้ล่วงหน้ามาแจ้งก่อนท่านแล้ว อุมัรได้แต่พูดว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นอบู บักร์เป็นบุคคลที่ชนะในการทำความดีทั้งหลายทั้งปวงจริงๆ ไม่ว่าพวกเราจะรีบรุดทำความดีอะไร ท่านอบู บักร์ก็นำหน้าเราเสมอทุกครั้ง (บันทึกโดยอะห์มัด ในอัล-มุสนัด ตรวจทานโดยชุอัยบ์ อัล-อัรนาอูฏ 265 สายรายงานเศาะฮีห์)

มาชาอัลลอฮ์ นี่คือท่านอบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ บุคคลตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่รีบเร่งและรุดหน้าในการทำความดีงามทั้งหลาย

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

หลายครั้งเมื่อถึงฤดูกาลตักตวงดุนยา เช่น ช่วงขาขึ้นของการทำมาหากินและหาเลี้ยงชีพ คนส่วนใหญ่ก็จะรีบเร่งแสวงหา และเข้าใจว่าอัลลอฮ์ใจดีเปิดดุนยาให้เรา แท้จริงแล้ว สิ่งนี้อาจจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้อง เพราะความดีงามที่แท้จริงคือคนที่ใช้โอกาสเพื่อเข้าใกล้อัลลอฮ์ และยำเกรงต่อพระองค์  

﴿ أَيَحۡسَبُونَ أَنَّمَا نُمِدُّهُم بِهِۦ مِن مَّالٖ وَبَنِينَ 55 نُسَارِعُ لَهُمۡ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِۚ بَل لَّا يَشۡعُرُونَ 56 إِنَّ ٱلَّذِينَ هُم مِّنۡ خَشۡيَةِ رَبِّهِم مُّشۡفِقُونَ 57 وَٱلَّذِينَ هُم بِ‍َٔايَٰتِ رَبِّهِمۡ يُؤۡمِنُونَ 58 وَٱلَّذِينَ هُم بِرَبِّهِمۡ لَا يُشۡرِكُونَ 59 وَٱلَّذِينَ يُؤۡتُونَ مَآ ءَاتَواْ وَّقُلُوبُهُمۡ وَجِلَةٌ أَنَّهُمۡ إِلَىٰ رَبِّهِمۡ رَٰجِعُونَ 60 أُوْلَٰٓئِكَ يُسَٰرِعُونَ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِ وَهُمۡ لَهَا سَٰبِقُونَ 61 ﴾ [المؤمنون: 55،  61]

ความว่า “พวกเขาคิดหรือว่า แท้จริงสิ่งที่เราได้ให้แก่พวกเขา เช่น ทรัพย์สมบัติ และลูกหลานนั้นคือการที่เราได้รีบเร่งให้ความดีต่าง ๆ แก่พวกเขาใช่หรือไม่? เปล่าเลย แต่ทว่าพวกเขาไม่รู้ตัว แท้จริงบรรดาผู้ที่มีจิตใจยำเกรงเนื่องจากกลัวต่อพระเจ้าของพวกเขา และศรัทธาต่อสัญญาณต่าง ๆ แห่งพระเจ้าของพวกเขา และไม่ตั้งภาคีต่อพระเจ้าของพวกเขา และบริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มา โดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมได้ด้วยความหวั่นเกรงว่าแท้จริงพวกเขาต้องกลับไปหาพระเจ้าของพวกเขา ชนเหล่านั้น คือคนที่รีบเร่งในการประกอบความดีทั้งหลาย และพวกเขาเป็นผู้นำหน้าในการทำดี” (อัล-มุอ์มินูน 55-61)

เราทุกคนเข้าใจว่าการที่อัลลอฮ์ให้ริซกีมากมายคือความโปรดปรานอย่างหนึ่ง แต่นั่นอาจจะยังไม่ใช่ความโปรดปรานที่แท้จริง บางทีมันจะเป็นการยื่นให้เพื่อปล่อยให้เราระเริงจนลืมตัว วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก ในขณะที่ความโปรดปรานที่แท้จริง คือการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ การห่างไกลจากชิริก การทำความดีเพื่อหวังผลตอบแทนในวันอาคิเราะฮ์ข้างหน้าเมื่อเรากลับไปหาอัลลอฮ์

ดังนั้น จึงอยากให้เรามุ่งมั่นแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์ และความสำเร็จในอาคิเราะฮ์ อย่างน้อยก็อย่าให้ด้อยกว่าที่เราแสวงหาดุนยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลแห่งความดีที่อัลลอฮ์ได้กำหนดไว้ตามวาระต่างๆ ตลอดทั้งปี



[1] ดูเพิ่มเติมใน ตัฟซีร อิบนุ กะษีร

(فمنهم ظالم لنفسه) وهو : المفرط في فعل بعض الواجبات ، المرتكب لبعض المحرمات(ومنهم مقتصد) وهو : المؤدي للواجبات ، التارك للمحرمات ، وقد يترك بعض المستحبات ، ويفعل بعض المكروهات. (ومنهم سابق بالخيرات بإذن الله( وهو: الفاعل للواجبات والمستحبات، التارك للمحرمات والمكروهات وبعض المباحات .[تفسير ابن كثير]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น