วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - แรงบันดาลใจสู่ อะมัล ศอลิห์ - ซุฟอัม อุษมาน




  ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - บันดาลใจสู่ อะมัล ศอลิห์ - ซุฟอัม อุษมาน (youtube.com)

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - บันดาลใจสู่อะมัลศอลิห์ - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์รักและเมตตาทุกท่าน

อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ประทานนิอฺมัตให้กับเราหลายประการ โดยเฉพาะนิอฺมัตการเป็นมุสลิม นิอฺมัตการมีสุขภาพที่ดี นิอฺมัตการได้มีโอกาสหวนคืนสู่วันเวลาแห่งความดี หรือเทศกาลแห่งความโปรดปรานและความเมตตาจากอัลลอฮ์ที่มีมากกว่าในทุกๆ เดือน (ไม่ว่าจะเป็นเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ ที่มีบัญญัติสนับสนุนให้กระทำความดีให้มาก)

พึงชุโกร/ขอบคุณต่ออัลลอฮ์เถิดที่ทำให้ชีวิตเรายืนยาวมาถึงฤดูกาลแห่งความดีงามเหล่านี้ เมื่อถึงช่วงเวลาที่อัลลอฮ์เตรียมเอาไว้ให้มุสลิมทำความดี (ไม่ว่าจะเป็นช่วงเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ) เราจะตักตวงโอกาสนี้อย่างไรเพื่อให้สามารถทำความดีได้มากที่สุด ไม่มีอะไรที่เราสมควรจะทำมากไปกว่าการให้ความสำคัญกับการทำอะมัลศอลิห์ให้ดีที่สุด ทำไมเราจะต้องแสวงหาอะมัลศอลิห์? ในฐานะมุสลิม ทำไมเราต้องทำความดีต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ด้วย?

 

พี่น้องครับ

อะมัลศอลิห์ เป็นเป้าหมายแห่งการทดสอบจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา พระองค์สร้างชีวิตให้เรา เป้าหมายแห่งชีวิตในโลกนี้ก็คือพระองค์ต้องการเห็นว่าใครในระหว่างพวกเราที่จะสะสมความดีไว้อย่างเลิศหรูและงดงามที่สุด พระองค์ประทานทุกอย่างให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ริซกี และปัจจัยต่างๆ ในโลกดุนยานี้ ให้ทั้งหมดทุกอย่างกับเราเพื่อให้เราใช้มันทำอะมัลศอลิห์ พระองค์ตรัสว่า

﴿إِنَّا جَعَلۡنَا مَا عَلَى ٱلۡأَرۡضِ زِينَةٗ لَّهَا لِنَبۡلُوَهُمۡ أَيُّهُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗا 7﴾ [الكهف: 7] 

ความว่า “แท้จริง เราได้ทำให้สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินเป็นสิ่งประดับประดาสำหรับมัน เพื่อเราจะทดสอบพวกเขาว่า ผู้ใดในหมู่พวกเขาจะปฏิบัติอะมัลได้อย่างดีเยี่ยม” (อัล-กะฮ์ฟฺ 7)

การที่พระองค์ประทานปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดให้กับมนุษย์ เป็นการทดสอบว่า ในระหว่างพวกเขามีใครบ้างที่จะใช้ปัจจัยต่างๆ ที่รับมาแล้วแปลงให้มันเป็นอะมัลศอลิห์ ใครที่จะสามารถระงับใจระงับความรู้สึกไม่หลงระเริงอยู่กับความงามของดุนยา แล้วหันไปเชื่อฟังอัลลอฮ์ให้มากที่สุด

﴿ٱلَّذِي خَلَقَ ٱلۡمَوۡتَ وَٱلۡحَيَوٰةَ لِيَبۡلُوَكُمۡ أَيُّكُمۡ أَحۡسَنُ عَمَلٗاۚ﴾ [الملك: 2] 

ความว่า “พระองค์ผู้ทรงบันดาลความตายและการมีชีวิตเพื่อทดสอบพวกเจ้าว่า ใครในระหว่างพวกเจ้าที่จะปฏิบัติอะมัลอย่างงดงามที่สุด” (อัล-มุลก์ 2)

อัลลอฮ์สร้างชีวิตและความตายให้กับมนุษย์เพื่อให้พวกเขาพิสูจน์ตัวเองว่าใครที่จะทำอะมัลศอลิห์ได้อย่างงดงามที่สุด

อะห์สะนู อะมะลา คือ อะมัลที่ดีและงดงามที่สุด อะไรคืออะมัลที่งดงามที่สุดนี้ ? อัล-ฟุฎ็อยล์ บิน อิยาฎ อธิบายว่า คือ อัลละศูฮู วะ อัศวะบูฮู

-          อัคละศูฮู หมายถึง มีความอิคลาศบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์มากที่สุด

-          อัศวะบูฮู หมายถึง ถูกต้องตรงตามแนวทางสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากที่สุด

ท่านยังบอกว่า อะมัลใดก็ตามจะไม่ถูกตอบรับจนกว่าจะต้องบริสุทธิ์และถูกต้อง บริสุทธิ์คือทำเพื่ออัลลอฮ์ ถูกต้องคือทำตามแบบอย่างของสุนนะฮ์[1]

 

พี่น้องครับ

อะมัลศอลิห์อะไรบ้างที่เราจะต้องทำ? ถ้าเราจะแบ่งประเภทอะมัลหรือความดีต่างๆ ก็อาจจะแบ่งได้ตามระดับที่เราสามารถทำได้สะดวกที่สุดดังนี้

หนึ่ง อะมัลที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ หรือที่เรียกว่า อะอฺมาล อัล-กุลูบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ มาเกี่ยวข้องให้วุ่นวายแต่อย่างใด อยู่เฉยๆ หรืออยู่กับที่ ก็สามารถฟื้นฟูอะมัลเหล่านี้ได้ ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงมันสามารถเป็นความดีที่สะสมให้กับเราได้ อะมัลที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ตัวอย่างเช่น อีมาน/การศรัทธาต่ออัลลอฮ์ อิคลาศ/การดูแลให้หัวใจบริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮ์ ยะกีน/ความมั่นใจ ตะฟักกุร/การคิดใคร่ครวญ ตะดับบุร/การตรึกตรองความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ คุชูอฺ/การมีจิตใจสงบและมีสมาธิอย่างนอบน้อม เตาบะฮ์/การกลับใจต่ออัลลอฮ์ ตะวักกุล/การมอบหมายพึ่งพิงอัลลอฮ์ เคาฟ์/ความหวั่นเกรงต่ออัลลอฮ์ เราะญาอ์/ความหวังต่ออัลลอฮ์ เป็นต้น

สอง อะมัลที่เกี่ยวข้องกับลิ้น หรือ อะอฺมาล อัล-ลิซาน เป็นความดีที่ต้องอาศัยลิ้นในการกล่าวหรือการพูดออกมา ตัวอย่างเช่น ซิกิร/กล่าวระลึกถึงอัลลอฮ์ ติลาวะฮ์ อัลกุรอาน/การอ่านอัลกุรอาน อิสติฆฟาร/การกล่าวอัสตัฆฟิรุลลอฮ์ ตัสบีห์/การกล่าวสุบหานัลลอฮ์ ตะห์มีด/การกล่าวอัลหัมดุลิลลาฮ์ ตักบีร/การกล่าวอัลลอฮุอักบัร ตะฮ์ลีล/การกล่าวลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ การสั่งสอนให้โอวาทเพื่อให้ทำความดีและพูดหักห้ามไม่ให้ทำความชั่ว การพูดให้กำลังใจคนที่กำลังมีความทุกข์โศก เป็นต้น

สาม อะมัลที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะในร่างกาย หรือ อะอฺมาล อัล-ญะวาริห์ คืออะมัลที่ต้องอาศัยหรือขยับเขยื้อนอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเพื่อให้ทำความดีทั้งหลายได้อย่างลุล่วงจนสำเร็จ เช่น การละหมาด การถือศีลอด การเศาะดะเกาะฮ์ การทำหัจญ์ การแสวงหาความรู้ การทำดีต่อบิดามารดา การเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ การช่วยเหลือคนอื่น การสงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้น

ในหะดีษบทหนึ่งที่รายงานจากท่าน มุอาซ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

كُنْتُ معَ النَّبيِّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ في سَفَرٍ، فَأَصْبَحْتُ يَوْمًا قَرِيْبًا مِّنْهُ وَنَحْنُ نَسِيْرُ، فَقُلْتُ: يا رَسُوْلَ اللَّهِ أَخْبِرْنِيْ بِعَمَلٍ يُدْخِلُنِي الْجَنَّةَ وَيُبَاْعِدُنِيْ مِنَ النَّارِ، قَاْلَ : لَقَدْ سَأَلْتَنِيْ عَنْ عَظِيْمٍ، وإنَّهُ لَيَسِيْرٌ عَلَى مَنْ يَسَّرَهُ اللَّهُ عَلَيهِ: تَعْبُدُ اللَّهَ وَلَا تُشْرِكُ بِهِ شَيْئًا، وَتُقِيْمُ الصَّلَاةَ، وَتُؤْتِيْ الزَّكَاةَ، وَتَصُوْمُ رَمَضَانَ، وَتَحُجُّ الْبَيْتَ، ثُمَّ قَالَ: أَلَا أَدُلُّكَ عَلَى أَبْوَابِ الْخَيْرِ: الصَّوْمُ جُنَّةٌ، وَالصَّدَقَةُ تُطْفِيْ الْخَطِيْئَةَ كَمَا يُطْفِئُ الْـمَاءُ النَّارَ، وَصَلَاةُ الرَّجُلِ مِنْ جَوْفِ اللَّيْلِ، قالَ : ثُمَّ تَلَا ﴿تَتَجَافَى جُنُوبُهُمْ عَنِ الْمَضَاجِعِ يَدْعُونَ رَبَّهُمْ ...﴾، حتَّى بلغَ ﴿...يَعْمَلُونَ﴾، ثُمَّ قَالَ: أَلَا أُخْبِرُكَ بِرَأسِ الْأَمْرِ كُــلِّهِ وَعَمُوْدِهِ، وذِرْوَةِ سَنَامِهِ؟، قُلْتُ: بَلَى يَا رَسُوْلَ اللَّهِ، قَاْلَ: رَأْسُ الْأَمْرِ الْإِسْلَامُ، وَعَمُوْدُهُ الصَّلَاةُ، وَذِرْوَةُ سَنامِهِ الْجِهَادُ، ثُمَّ قَاْلَ : أَلَاْ أُخْبِرُكَ بِمَلَاكِ ذَلِكَ كلِّهِ؟ قُلتُ : بَلَى يَا رَسُوْلَ اللَّهِ، قَالَ: فَأَخَذَ بِلِسَانِهِ، قَاْلَ : كُفَّ عَلَيْكَ هَذَا، فَقُلْتُ: يَا نَبِيَّ اللَّهِ، وَإِنَّا لَـمُؤَاخَذُوْنَ بِمَا نَتَكَلَّمُ بِهِ؟ فقالَ : ثَكِلَتْكَ أُمُّكَ يَا مُعَاذُ ، وَهَلْ يَكُبُّ النَّاسَ فِيْ النَّارِ عَلَى وُجُوْهِهِم أَوْ عَلَى مَنَاخِرِهِم إلَّا حَصَائِدُ أَلْسِنَتِهِم». [صحيح الترمذي للألباني، 2616، وانظر الأربعين النووية رقم 29]

ความว่า ครั้งหนึ่ง ฉันได้เดินทางกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และมีโอกาสได้อยู่ใกล้ท่านในขณะที่เรากำลังเดินทางกันอยู่ ฉันได้ถามท่านนบีว่า: “โอ้เราะสูลุลลอฮฺ โปรดบอกฉันซึ่งการงานหนึ่งที่ทำให้ฉันได้เข้าสวรรค์ และทำให้ฉันห่างไกลจากไฟนรกด้วยเถิด ท่านตอบว่า: “แท้จริงท่านได้ถามเรื่องที่ยิ่งใหญ่นัก แต่ทว่ามันเป็นเรื่องง่าย สำหรับผู้ที่อัลลอฮ์จะประทานความง่ายดายแก่เขา คำตอบก็คือให้ท่านอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ โดยที่ท่านไม่ตั้งภาคีใดๆ กับพระองค์ ท่านละหมาด ท่านจ่ายซะกาต ท่านถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ท่านประกอบพิธีหัจญ์ ณ บัยติลลาฮฺ” หลังจากนั้น ท่านได้กล่าวว่า : “เอาไหมฉันจะบอกแก่ท่านซึ่งบรรดาประตูของความดีงามทั้งหลาย? นั่นคือ การถือศีลอดซึ่งเป็นเกราะกำบัง และการบริจาคทาน(เศาะดะเกาะฮ์)สามารถลบล้างความผิดได้เสมือนกับน้ำที่ดับไฟ และการละหมาดของคนๆ หนึ่งในยามค่ำคืน”  หลังจากนั้นท่านก็อ่านอายะฮ์

﴿تَتَجَافَىٰ جُنُوبُهُمۡ عَنِ ٱلۡمَضَاجِعِ يَدۡعُونَ رَبَّهُمۡ خَوۡفٗا وَطَمَعٗا وَمِمَّا رَزَقۡنَٰهُمۡ يُنفِقُونَ 16 فَلَا تَعۡلَمُ نَفۡسٞ مَّآ أُخۡفِيَ لَهُم مِّن قُرَّةِ أَعۡيُنٖ جَزَآءَۢ بِمَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 17﴾ [السجدة: 16،  17] 

หลังจากนั้นท่านได้กล่าวอีกว่า : “เอาไหมฉันจะบอกแก่ท่านซึ่งอะมัลที่เป็นหัวหลักของมัน เสาของมัน และจุดสุดยอดของมัน? ฉันตอบว่า: “เอาสิ โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ” ท่านกล่าวว่า: “หัวหลักของกิจการนั้นคืออิสลาม เสาของมันคือการละหมาด และจุดสุดยอดของมันคือการญิฮาด”

หลังจากนั้นท่านได้กล่าวอีกว่า : “เอาไหมฉันจะบอกแก่ท่านซึ่งสิ่งที่ครอบคลุมของทั้งหมดที่กล่าวมา? “ฉันตอบว่า”: “เอาสิ โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮ์” แล้วท่านก็จับลิ้นของท่าน และกล่าวว่า: “ท่านจงระงับสิ่งนี้” ฉันจึงกล่าวว่า: “โอ้นบีของอัลลอฮ์ พวกเราจะถูกไต่สวนในสิ่งที่เราได้พูดด้วยกระนั้นหรือ?” ท่านตอบว่า: “แม่ของท่านได้เสียท่านแล้ว[2] โอ้ มุอาซเอ๋ย แล้วที่มนุษย์ต้องถลำหน้าหรือจมูกเข้าไปในไฟนรกมิใช่เพราะผลจากลิ้นดอกหรือ?”” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ ดูในเศาะฮีห์ สุนัน อัต-ติรมิซีย์ ของอัล-อัลบานีย์ 2616 และสี่สิบหะดีษอิมามอัน-นะวาวีย์ 29)

นี่เป็นหนึ่งในหะดีษที่กล่าวถึงตัวอย่างของอะมัลต่างๆ อันหลากหลายในอิสลาม ซึ่งมีทั้งอะมัลวาญิบที่เราต้องไม่ละเลย และอะมัลสุนัตที่เราสามารถเลือกทำได้อย่างสะดวกในเวลาต่างๆ รวมถึงอะมัลที่ได้รับการเน้นย้ำให้ทำอย่างดีที่สุด ทั้งหมดทั้งปวงนั้นจะเป็นการสะสมความดีให้กับเราได้รับผลตอบแทนเป็นสวนสวรรค์และรอดพ้นห่างไกลจากไฟนรกได้

 

พี่น้องที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

เมื่อถึงฤดูกาลแห่งความดีแต่เรากลับเฉยเมยที่จะตักตวงความดีและทำอะมัลศอลิห์ ไม่ให้ความสำคัญกับการแสวงหาเสบียงให้เราได้เป็นชาวสวรรค์ในวันอาคิเราะฮ์ แล้วเราจะรอให้ถึงฤดูกาลไหนอีก

การทำอะมัลศอลิห์ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะในวันอาคิเราะฮ์เท่านั้น แต่อัลลอฮ์จะให้เราได้ผลแห่งความดีตั้งแต่อยู่ในดุนยาแล้ว ส่วนในวันอาคิเราะฮ์ก็มีผลบุญอีกมากมายรอเราอยู่อย่างแน่นอน

 พระองค์ตรัสว่า

﴿مَنۡ عَمِلَ صَٰلِحٗا مِّن ذَكَرٍ أَوۡ أُنثَىٰ وَهُوَ مُؤۡمِنٞ فَلَنُحۡيِيَنَّهُۥ حَيَوٰةٗ طَيِّبَةٗۖ وَلَنَجۡزِيَنَّهُمۡ أَجۡرَهُم بِأَحۡسَنِ مَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 97﴾ [النحل: 97] 

ความว่า “ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้มีการดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาด้วยรางวัลที่ดีที่สุดยิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้” (อัน-นะห์ลฺ 97)

มีอายะฮ์อัลกุรอานมากมายที่พูดถึงผลบุญของผู้ศรัทธาที่ประกอบความดีว่าพวกเขาจะได้ผลตอบแทนอันสวยงามทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์ ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากจะทำความดีและสะสมเสบียงสู่อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา แต่หากยังมีความรู้สึกว่าเฉื่อยชาและอ่อนแอในการทำความดี ให้เราหาตัวช่วยหรือสิ่งที่จะกระตุ้นเราให้อยากทำความดีให้มาก เช่น

หนึ่ง การตระหนักอยู่เสมอว่า ความดีเพียงแค่เล็กน้อยก็มีผลบุญ ดังนั้นอย่าได้มองข้าม ไม่ว่าจะซิกิรเพียงเล็กน้อยก็ต้องคิดเสมอว่าอัลลอฮ์ได้เตรียมผลบุญให้กับเราอย่างแน่นอน

﴿فَمَن يَعۡمَلۡ مِثۡقَالَ ذَرَّةٍ خَيۡرٗا يَرَهُۥ 7﴾ [الزلزلة: 7] 

ความว่า “ดังนั้น ใครก็ตามที่ทำความดีเล็กน้อยมีน้ำหนักเท่าผงธุลีเขาก็จะได้เห็นมัน” (อัซ-ซัลซะละฮ์ 7)

 

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ إِنَّا لَا نُضِيعُ أَجۡرَ مَنۡ أَحۡسَنَ عَمَلًا 30 ﴾ [الكهف: 30] 

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย เราจะไม่ละเลยให้การตอบแทนของผู้กระทำความดีสูญหายอย่างแน่นอน” (อัล-กะฮ์ฟฺ 30)

สอง คิดถึงความตายและการหมดโอกาสเมื่อต้องตายอย่างกะทันหัน คนที่ทำความดีได้คือคนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ถ้าตายไปเมื่อไรจะกลับมาแค่นาทีเดียวก็ไม่มีสิทธิ และคำพูดอันน่าเสียดายของคนตายนั้นเป็นคำพูดของคนที่ไม่เอาใจใส่ตอนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น นั่นก็คือบรรดาคนกาฟิร วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก อัลลอฮ์ตรัสถึงคนเหล่านี้ว่า

﴿ حَتَّىٰٓ إِذَا جَآءَ أَحَدَهُمُ ٱلۡمَوۡتُ قَالَ رَبِّ ٱرۡجِعُونِ 99 لَعَلِّيٓ أَعۡمَلُ صَٰلِحٗا فِيمَا تَرَكۡتُۚ كَلَّآۚ إِنَّهَا كَلِمَةٌ هُوَ قَآئِلُهَاۖ وَمِن وَرَآئِهِم بَرۡزَخٌ إِلَىٰ يَوۡمِ يُبۡعَثُونَ 100 ﴾ [المؤمنون: 99،  100] 

ความว่า “จนกระทั่งเมื่อความตายได้มาหาคนใดในพวกเขา เขาก็จะกล่าวขึ้นว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์กลับไปมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งเถิด เพื่อข้าพระองค์จะได้กระทำความดีในสิ่งที่ข้าพระองค์ปล่อยทิ้งไว้ เปล่าเลย ! มันเป็นเพียงถ้อยคำที่เขากล่าวมันไว้เท่านั้น และเบื้องหน้าของพวกเขานั้นมีโลกบัรซัคที่คอยปิดกั้นเขา จนกระทั่งถึงวันที่พวกเขาจะถูกฟื้นคืนชีพขึ้นมา” (อัล-มุอ์มินูน 99-100)

สาม ขอดุอาอ์ให้อัลลอฮ์ประทานความง่ายดายและใช้งานเราเพื่อทำความดี ในหะดีษของท่านอะนัส บิน มาลิก รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

«إِذَا أَرَادَ اللهُ بِعَبْدٍ خَيْرًا اِسْتَعْمَلَهُ، فَقِيْلَ: كَيْفَ يَسْتَعْمِلُهُ يَا رَسُوْلَ اللهِ؟ قَاْلَ: يُوَفِّقُهُ لِعَمَلٍ صَالِحٍ قَبْلَ الـْمَوْتِ» [صحيح الترمذي للألباني، 2142]

 

ความว่า “หากอัลลอฮ์ประสงค์ให้บ่าวได้รับความดีพระองค์ก็ใช้งานเขา” มีคนถามว่า พระองค์ใช้งานเขาอย่างไร โอ้ ท่านรอซูลุลลอฮ์? ท่านตอบว่า “พระองค์จะประทานเตาฟีก/ความง่ายดายให้เขาทำอะมัลศอลิห์ก่อนที่เขาจะตาย” (ดูในเศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ ของอัล-อัลบานีย์ 2142)

ดังนั้นให้จำเอาไว้ว่า ถ้าเราขี้เกียจทำความดีนั่นแสดงว่าอัลลอฮ์ไม่ได้ใช้งานเราให้เราทำความดี เราจะไม่มีสิ่งดีๆ ในชีวิต หากเราทำความดีนั่นคือประจักษ์พยานว่าอัลลอฮ์ได้ใช้งานเราให้ทำความดี เป็นความประสงค์ให้เราได้รับสิ่งดีๆ จากพระองค์

ดังนั้นขอดุอาอ์ทุกครั้งให้เราได้ทำความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฤดูกาลแห่งความดีได้มาถึงเราแล้ว



[1] ดูในตัฟซีร อัล-บะเฆาะวีย์

قال الفضيل بن عياض: "أحسن عملا" أخلصه وأصوبه. وقال: العمل لا يقبل حتى يكون خالصا صوابا، الخالص: إذا كان لله، والصواب: إذا كان على السنة. [تفسير البغوي].

 

[2] นี่เป็นสำนวนการประชดประชันแบบหนึ่งของชาวอาหรับ เพื่อเป็นการเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องที่พูด ไม่ใช่เป็นการขอดุอาอ์ให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ


วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2567

สรุปเนื้อหาตัฟซีร สูเราะฮ์ อัฏ-เฏาะลาก - ซุฟอัม อุษมาน



ฟังทาง SoundCloud ที่นี่


ตอนที่ 1 
- ชวนคิดถึงเหตุผลที่ว่าอัลกุรอานต้องมีสูเราะฮฺหนึ่งที่ว่าด้วยการหย่าร้าง
- อิสลามสนับสนุนให้ผู้ปกครองจัดการแต่งงานลูกสาวลูกบ่าวของตน
- ตรงกันข้ามกับการแต่งงานคือการหย่าร้าง 
- การหย่าร้างเป็นหนึ่งในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความต้องการและความจำเป็นของมนุษย์
- ฟิฏเราะฮฺของมนุษย์ว่าด้วยการมีคู่
- บทบัญญัติว่าด้วยการหย่าร้างควบคู่กับการแต่งงาน เพื่อตอบสนองความเป็นจริงในการใช้ชีวิตของมนุษย์
- โดยดั้งเดิมแล้วการหย่าร้างเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺรังเกียจ แต่พระองค์ก็ทรงบัญญัติมันเพราะเวลาถึงคราวที่จำเป็นมนุษย์ต้องใช้มัน
- ชัยฏอนต้องการให้มนุษย์แตกแยก รวมทั้งการหย่าร้างระหว่างสามีภรรยา
- สาเหตุอะไรบ้างที่มนุษย์เกิดการหย่าร้างระหว่างสามีภรรยา
- หิกมะฮฺหรือเหตุผลที่อัลกุรอานบอกว่าอัลลอฮฺสร้างทั้งความรักและความเมตตาในตัวสามีภรรยา
- เมื่อความรักเหือดแห้ง ความเมตตายังคงต้องมีไว้
- สิทธิการหย่าเป็นของผู้ชาย เขาจึงต้องมีสติและควบคุมตัวเองให้อยู่
- อายะฮฺแรกของสูเราะฮฺสื่อถึงการต้องมีสติและไม่ผลีผลามที่จะหย่าร้างภรรยา
- การหย่าร้างต้องกระทำในช่วงเวลาที่ถูกต้อง 
- การหย่าร้างมีสองประเภท คือ เฏาะลากแบบสุนนะฮฺ และ เฏาะลากแบบบิดอะฮฺ
- ช่วงเวลาที่อนุญาตให้เฏาะลาก หรือเฏาะลากสุนนะฮฺ คือ 
- หนึ่ง การเฏาะลากตอนที่ภรรยาปราศจากประจำเดือนและสามียังไม่ได้ร่วมหลับนอนกับนางในช่วงนั้น
- สอง การเฏาะลากเมื่อทราบชัดเจนว่าภรรยาตั้งครรภ์ 
- เฏาะลากบิดอะฮฺ เป็นเฏาะลากที่ใช้ได้แต่เป็นพฤติกรรมที่หะรอม
- อัลลอฮฺห้ามการเฏาะลากพร่ำเพรื่อ
- คำสั่งตักวาต่ออัลลอฮฺเห็นชัดเจนมากในประเด็นเรื่องการหย่าร้าง
- พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นก่อน และทำให้ช่องทางการหย่าร้างเป็นช่องทางที่เล็กมาก
- เหตุใดที่ห้ามเฏาะลากในช่วงที่ภรรยามีประจำเดือน
- การห้ามหย่าตอนผู้หญิงมีประจำเดือน เพื่อเป็นการให้เกียรติสูงสุดต่อสตรี 
- เมื่อหย่าแล้วก็ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงออกจากบ้านจนกว่าจะหมดอิดดะฮฺ
- อายะฮฺนี้จบท้ายด้วยการให้กำลังใจ หลังจากที่ได้อธิบายบทบัญญัติที่เข้มงวดเกี่ยวกับการหย่าก่อนหน้านี้
- นะศีหะฮฺปิดท้าย เป็นเกร็ดให้ชีวิตคู่อยู่กันอย่างราบรื่นตลอดไป 
- ความสัมพันธ์ระหว่างอะกีดะฮฺ ตักวา วะลาอ์บะรออ์ และการเฏาะลาก

ตอนที่ 2
- การหย่าร้างและภาพของความรุนแรงในมุมหนึ่งที่อิสลามพยายามจำกัดกรอบของมันให้แคบที่สุด
- รายละเอียดอายะฮฺที่พูดถึงการคืนดีก่อนที่จะหมดอิดดะฮฺในการหย่าร้าง
- หากจะคืนดีก็ต้องทำด้วยดี หรือหากจะหย่าร้างตัดขาดก็ต้องกระทำด้วยดี
- ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นถ้าทบทวนกันจริงๆ เนื่องจากเราไม่ได้ใช้บัญญัติของอัลลอฮฺ
- ประเด็นการให้มีพยานในการคืนดี การหย่า และรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- หุกมของการให้มีพยานในการหย่าร้าง
- การมีหรือไม่มีพยานไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จะถือว่าการหย่านั้นใช้ได้หรือไม่ เพราะทั้งสองกรณีถือว่าการหย่านั้นได้เกิดขึ้นแล้ว
- เหตุผลที่ต้องให้มีพยานในการคืนดีและการหย่า
- ความสัมพันธ์ของอีมานกับการสนองต่อคำสั่งของอัลลอฮฺและอื่นๆ ในชีวิตของผู้ศรัทธา
- การมีอีมานจะทำให้เราได้รับบทเรียนและรู้จักเรียงลำดับวิธีแก้ปัญหา
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอายะฮฺ 1000 ดีนาร์
- ตักวา คือตัวแปรต้นสำหรับทางออกทุกเรื่องในชีวิตของเรา
- ความสำคัญและความประเสริฐของอายะฮฺ "ผู้ใดที่ตักวาต่ออัลลอฮฺ พระองค์จะทรงทำให้เขามีทางออก"
- หะดีษว่าด้วยเคล็ดลับการหาทางออกให้กับปัญหาของชีวิต
- อัลลอฮฺทรงพอแล้วสำหรับเรา หมายถึงอะไร
- อัลลอฮฺกำหนดทุกอย่างไว้แล้วหมายถึงอะไร

ตอนที่ 3
- ต้อนรับ 10 วันแรกเดือนซุลหิจญะฮฺ
- สาเหตุที่ผู้คนปัจจุบันไม่เห็นความสำคัญของสิบวันแรกซุลหิจญะฮฺ
- การกุรบ่านหรือการอุฎหิยะฮฺ กับเรื่องราวของนบีอิบรอฮีม
- หัวใจของนบีอิบรอฮีม บทเรียนที่ประชาชาติอิสลามต้องทบทวน
- ครอบครัวของอิบรอฮีมทั้งพ่อแม่ลูก ในการเสียสละเพื่ออัลลอฮฺ
- อิดดะฮฺของหญิงถูกหย่าที่ไม่มีประจำเดือนแล้ว หญิงสาวที่ยังไม่มีประจำเดือน และหญิงที่ตั้งครรภ์
- คำสั่งตักวาที่คอยกำกับทั้งก่อนหย่า ระหว่างหย่างและหลังจากการหย่าร้างไปแล้ว
- หย่าร้างแบบตักวา ไม่ใช่หย่าร้างแบบฮาวานัฟซู
- คำสั่งและบทบัญญัติของอิสลามหลังจากมีการหย่าร้างกันแล้ว
- ห้ามสร้างความเดือนร้อนแก่ภรรยาที่ถูกหย่า ในระหว่างที่นางพำนักอยู่ในบ้านของเขา
- สามีต้องออกค่าใช้จ่ายให้กับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ที่เขาหย่า
- หากแม่ของเด็กต้องการให้นมลูกเอง สามีต้องออกค่าใช้จ่ายให้นางด้วย
- คำแนะนำของอัลลอฮฺแก่ครอบครัวที่หย่าร้างและมีภาระต้องเลี้ยงดูลูก แต่ไม่สามารถตกลงกันได้
- ความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย
- ถ้าผู้หญิงทำหน้าที่แม่อย่างเต็มที่นางจะดีกว่าผู้ชาย จะได้รับสิทธิความกตัญญูมากกว่าผู้ชายสองเท่า
- ในขณะที่ผู้ชายมีระดับที่ดีกว่าหนึ่งขั้น ถ้าเขาทำหน้าที่เลี้ยงดูและปกป้องดูแลครอบครัวอย่างดี
- อัลกุรอานกระตุ้นให้สามีออกค่าใช้จ่ายอย่างสมบูรณ์ตามที่เขามี และถ้าไม่มีก็ให้ออกตามความสามารถ
- ทัศนะของอิสลามว่าด้วยความยากและความง่าย
- บางครั้งอัลกุรอานก็บอกว่า พร้อมๆ กับความยากนั้นก็มีความง่ายอยู่
- และบางครั้งอัลกุรอานก็บอกว่าหลังจากความยากนั้นก็มีความง่ายตามมา
- สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การออกแรงที่เป็นอัสบาบจากฝั่งเรา
- ในขณะที่อายะฮฺกำลังพูดถึงความตึงเครียดของปัญหาการหย่าร้าง อัลกุรอานก็ยังมีช่องให้กำลังใจแก่ผู้ศรัทธาทุกคน

ตอนที่ 4
- ตอนสุดท้ายของสูเราะฮฺมาเพื่อตอกย้ำให้เราเอาใจใส่ต่อบทบัญญัติและปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ
- ยกอุทาหรณ์ด้วยสภาพของประชาชาติก่อนหน้านี้ ที่ละเมิดคำสั่งของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์
- การลงโทษของอัลลอฮฺนั้นหนักหน่วงยิ่ง ผู้ที่ฝ่าฝืนอัลลอฮฺจะมีแต่ความขาดทุน
- การขาดทุนที่น่ากลัวและชัดเจนที่สุดคือขาดทุนในอาคิเราะฮฺ
- เราลงทุนทุุกอย่างเพื่อครอบครัวแต่ถ้าหากมันไม่ได้ช่วยอะไรในอาคิเราะฮฺ จะมีอะไรที่ถือว่าขาดทุนมากกว่านี้อีก
- การลงโทษผู้ปฏิเสธอัลลอฮฺจะไม่จบเฉพาะในดุนยาเท่านั้น
- ถ้าสมมุติว่าคนที่ดื้อด้านกับอัลลอฮฺต้องเจอทั้งบทลงโทษในดุนยาและอาคิเราะฮฺ เราก็ควรคิดได้แล้ว กลับตนสู่อัลลอฮฺได้แล้ว
- ระหว่างปัญญากับหัวใจมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
- อุลุลอัลบาบ ผู้มีปัญญาที่สามารถรับการศรัทธาต่ออัลลอฮฺได้
- เรื่องบางอย่างเราสามารถเข้าถึงได้ด้วยปัญญา ไม่จำเป็นต้องทดลองเอง
- ตัวอย่างเรื่องราวต่างๆ ในอดีตย่อมต้องเป็นบทเรียนแก่ผู้มีปัญญา แต่เราเองที่ไม่ยอมใช้ปัญญา
- สนามแห่งการใช้ปัญญา คือ การใช้ปัญญาใคร่ครวญอัลกุรอาน
- ใช้ปัญญาบวกกับหัวใจ ในการเรียนอัลกุรอาน
- อัลกุรอานและเราะสูล อัลลอฮฺส่งมาเพื่อนำมนุษยชาติออกจากความมืดสู่แสงสว่าง
- ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ของชาวถ้ำ เรื่องราวต่างๆ ของชาวถ้ำในอิสลาม
- อัลกุรอานถูกประทานครั้งแรกในถ้ำ นูรของอัลลอฮฺลงมายังท่านนบีในถ้ำ
- ชีวิตที่ไม่มีศรัทธาต่ออัลลอฮฺอยู่ในความมืดมิดหลายชั้น ทั้้งในเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ประชาชาติ
- นูร หรือแสงสว่างที่จะขจัดความมืดนั้นมีอันเดียวเท่านั้น คือนูรของอัลลอฮฺ
- ใครที่รับนูรของอัลลอฮฺและเป็นผู้ศรัทธาเขาจะได้เข้าสวรรค์
- ริสกีของอัลลอฮฺที่ดีที่สุดคือการตอบแทนในสวรรค์
- ริสกีความหมายของมันกว้างกว่าคำว่าเงิน แต่หมายถึงทุกอย่างที่มนุษย์ได้รับประโยชน์จากมัน
- จบอายะฮฺในสูเราะฮฺนี้ด้วยการอธิบายคุณลักษณะแห่งความสมบูรณ์ของอัลลอฮฺ
- เพราะอัลลอฮฺทรงเปี่ยมด้วยคุณลักษณะอันสมบูรณ์นี้เองเพราะจึงสร้างมัคลูกทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์ และบัญญัติคำสั่งต่างๆ ที่สมบูรณ์เช่นกัน
- ที่ทรงสร้างชั้นฟ้ามา และทรงบัญญัติต่างๆ มา เพื่อให้เรียนรู้เกี่ยวกับอัลลอฮฺและยอมรับศรัทธาต่อพระองค์
- เพื่อให้เรารู้ว่าอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพและทรงรอบรู้ทุกอย่าง
- เหตุผลหรือหิกมะฮฺที่อายะฮฺนี้มากำกับหลังจากพูดถึงบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าร้าง
- เมื่อรู้จักอัลลอฮฺแล้ว ผ่านคุณลักษณะและพระนามต่างๆ ของพระองค์ จนนำไปสู่การมอบตนต่ออัลลอฮฺ นั่นแหละคือจุดประสงค์สุดท้ายที่อัลลอฮฺต้องการ
- แม้กระทั่งบทบัญญัติที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการหย่าร้างยังเกี่ยวข้องกับการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ นับประสาอะไรกับเรื่องราวอื่นๆ ที่สำคัญกว่านี้ เรายิ่งจำเป็นต้องใช้คำสั่งของอัลลอฮฺ
- ถ้าถ้ำในใจของเรามีทางออกเป็นนูรของอัลลอฮฺ เราก็หวังว่าถ้ำของประชาชาติทุกวันนี้ก็ย่อมมีทางออกเป็นนูรของพระองค์เช่นกัน

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - รีบเร่งสู่ความดี - ซุฟอัม อุษมาน




 ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - รีบเร่งสู่ความดี - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - รีบเร่งสู่ความดี - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

ในแต่ละช่วงเวลาของปี อัลลอฮ์ได้กำหนดให้มีวันเวลาบางวาระที่พิเศษกว่าช่วงอื่นๆ เช่น เดือนเราะมะฎอน เดือนต้องห้ามทั้งสี่เดือน (เราะญับ, ซุลเกาะอฺดะฮ์, ซุลหิจญะฮ์, มุหัรร็อม) ซึ่งมีความประเสริฐและมีการส่งเสริมให้มุสลิมผู้ศรัทธาปฏิบัติความดี/อะมัลศอลิห์ต่างๆ ให้มาก ผู้ศรัทธาจะต้องกระตือรือร้นอยู่เสมอในการที่จะรีบรุดสู่การเข้าใกล้ชิดอัลลอฮ์ด้วยอะมัลต่างๆ ที่อิสลามเชิญชวนและเรียกร้องให้ทำและตักตวงความดีตามโอกาสพิเศษเหล่านั้น

ในช่วงเวลาเช่นนี้ จึงอยากจะเชิญชวนให้พวกเราเตรียมตัวสู่ฤดูกาลแห่งความดี ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมหัวใจ เตรียมร่างกาย และเตรียมวัตถุปัจจัยอื่นๆ เพื่อต้อนรับช่วงเวลาในการทำอิบาดะฮ์อย่างเข้มข้นเมื่อวันเวลาเหล่านั้นมาถึงจริงๆ

 

พี่น้องครับ

ในอัลกุรอานมีอายะฮ์มากมายที่เชิญชวนสู่ความดี ให้รีบแข่งขันสู่ความโปรดปรานของอัลลอฮ์ แข่งขันกันเพื่อความสุขของเราเองในวันอาคิเราะฮ์ เช่น พระดำรัสของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา 

﴿۞وَسَارِعُوٓاْ إِلَىٰ مَغۡفِرَةٖ مِّن رَّبِّكُمۡ وَجَنَّةٍ عَرۡضُهَا ٱلسَّمَٰوَٰتُ وَٱلۡأَرۡضُ أُعِدَّتۡ لِلۡمُتَّقِينَ 133﴾ [آل عمران: 133] 

ความว่า “และพวกเจ้าจงรีบเร่งไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้าและรีบเร่งไปสู่สวรรค์ ความกว้างของมันนั้นประหนึ่งความกว้างของบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน ซึ่งถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง” (อาล อิมรอน 133)

 

﴿سَابِقُوٓاْ إِلَىٰ مَغۡفِرَةٖ مِّن رَّبِّكُمۡ وَجَنَّةٍ عَرۡضُهَا كَعَرۡضِ ٱلسَّمَآءِ وَٱلۡأَرۡضِ أُعِدَّتۡ لِلَّذِينَ ءَامَنُواْ بِٱللَّهِ وَرُسُلِهِۦۚ﴾ [الحديد: 21]   

ความว่า “จงเร่งรีบไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และรีบเร่งสู่สวนสวรรค์ซึ่งความกว้างของมันประหนึ่งความกว้างของชั้นฟ้าและแผ่นดิน ถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และบรรดารอซูลของพระองค์” (อัล-หะดีด 21)

 

﴿فَٱسۡتَبِقُواْ ٱلۡخَيۡرَٰتِۚ إِلَى ٱللَّهِ مَرۡجِعُكُمۡ جَمِيعٗا فَيُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمۡ فِيهِ تَخۡتَلِفُونَ 48 ﴾ [المائدة: 48]

ความว่า “ดังนั้นพวกเจ้าจงแข่งขันกันในความดีเถิด ยังอัลลอฮ์นั้นคือการกลับไปของพวกเจ้าทั้งหมด แล้วพระองค์จะทรงแจ้งให้พวกเจ้าทราบในสิ่งที่พวกเจ้ากำลังขัดแย้งกัน” (อัล-มาอิดะฮ์ 48)

อัลลอฮ์เรียกร้องให้พวกเรารีบเร่งและรุดหน้าไปสู่การอภัยโทษและสวรรค์ของพระองค์ ซึ่งพระองค์เตรียมไว้ให้กับเรา หากรู้แล้วว่าสิ่งที่ทรงเตรียมไว้มีคุณค่ามหาศาลแค่ไหนแล้ว เหตุใดจึงยังชักช้าอยู่ แน่นอนเราจะต้องรีบกระตือรือร้นเพื่อขวนขวายสิ่งเหล่านั้น เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์เตรียมไว้ให้กับเราโดยเฉพาะ

 

พี่น้องครับ

โดยทั่วไป ผู้ศรัทธาเองก็ไม่เหมือนกัน ในอัลกุรอานแบ่งระดับผู้ศรัทธาออกเป็นสามกลุ่มหรือสามแบบ อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ ثُمَّ أَوۡرَثۡنَا ٱلۡكِتَٰبَ ٱلَّذِينَ ٱصۡطَفَيۡنَا مِنۡ عِبَادِنَاۖ فَمِنۡهُمۡ ظَالِمٞ لِّنَفۡسِهِۦ وَمِنۡهُم مُّقۡتَصِدٞ وَمِنۡهُمۡ سَابِقُۢ بِٱلۡخَيۡرَٰتِ بِإِذۡنِ ٱللَّهِۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡفَضۡلُ ٱلۡكَبِيرُ 32 ﴾ [فاطر: 32]

ความว่า “และเราได้ให้คัมภีร์เป็นมรดกสืบทอดแก่บรรดาผู้ที่เราคัดเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเอง และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้ก้ำกึ่ง และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้รุดหน้าในการทำความดีทั้งหลายด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ นั่นคือความโปรดปรานอันใหญ่หลวง” (ฟาฏิร 32)

พระองค์อัลลอฮ์ทรงคัดเลือกให้เราเป็นผู้ศรัทธา แต่ในระหว่างผู้ที่ถูกคัดเลือกนี้แล้วก็ยังแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม

หนึ่ง กลุ่มที่อธรรมต่อตัวเอง (ซอลิมุน ลิ นัฟสิห์) เป็นบรรดาคนแถวหลังสุดที่อธรรมกับตัวเองด้วยการทำบาปและละเลยในการทำความดีตามคำสั่งของอัลลอฮ์

สอง กลุ่มที่ทำความดีแต่ไม่ได้มุ่งมั่นทุ่มเท (มุกตะศิด) เป็นคนแถวกลางที่ทำความดีบ้าง อาจจะละทิ้งบางอย่างที่เป็นอะมัลศอลิห์ หรืออาจจะยังแพ้ต่อการชักจูงของชัยฏอนและอารมณ์ใฝ่ต่ำในบางครั้ง และกระทำสิ่งที่เป็นเรื่องมักรูฮ์น่ารังเกียจในบางเวลา

สาม กลุ่มที่รีบรุดมุ่งมั่นสู่การทำความดีเพื่ออัลลอฮ์ (ซาบิกุน บิล ค็อยรอต) เป็นกลุ่มคนแถวแรกที่ดีที่สุด เพราะกระตือรือร้นและทุ่มเททำความดีในชีวิตอยู่เสมอ ด้วยเตาฟิกและการอำนวยจากอัลลอฮ์ คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับความกรุณาอย่างยิ่งใหญ่จากพระองค์อัลลอฮ สุบหานะฮูวะตะอาลา[1] 

แน่นอนว่า เราต้องพยายามที่จะผลักดันตัวเอง พัฒนาให้ตัวเองขยับไปอยู่แถวหน้าสุดให้ได้ ถ้ารู้ตัวเองว่าเราอยู่หลังสุด ต้องพยายามฝึกฝนปรับปรุงตัวเองให้ขยับมาอยู่แถวกลางก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ทำ และเพิ่มความพยายามให้เข้ามาอยู่แถวหน้าให้ได้ในที่สุด ผู้ศรัทธาต้องไม่อยู่กับที่ ต้องมีความกระตือรือร้นอยู่เสมอว่าจะเป็นผู้ที่รีบรุดสู่ความดีให้ได้สักวันหนึ่ง อินชาอัลลอฮ์

 

พี่น้องครับ

การรีบรุดและมุ่งมั่นในการทำความดีนั้นเป็นวิสัยและนิสัยของคนศอลิห์ ไม่ใช่เฉพาะในยุคของประชาชาติท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เท่านั้น แม้กระทั่งในประชาชาติก่อนหน้านี้ อัลลอฮ์ก็ยังได้เรียกบรรดาอะฮ์ลุลกิตาบในสมัยอดีตที่มุ่งมั่นในการทำความดีว่าเป็นคนศอลิห์

﴿مِّنۡ أَهۡلِ ٱلۡكِتَٰبِ أُمَّةٞ قَآئِمَةٞ يَتۡلُونَ ءَايَٰتِ ٱللَّهِ ءَانَآءَ ٱلَّيۡلِ وَهُمۡ يَسۡجُدُونَ 113 يُؤۡمِنُونَ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِ وَيَأۡمُرُونَ بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَيَنۡهَوۡنَ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ وَيُسَٰرِعُونَ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ مِنَ ٱلصَّٰلِحِينَ 114 ﴾ [آل عمران: 113،  114]

ความว่า “ในบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์นั้นมีกลุ่มชนหนึ่งที่เที่ยงธรรม พวกเขาอ่านบรรดาโองการของอัลลอฮ์ในยามค่ำคืน และพร้อมกันนั้น พวกเขาก็สุญุด ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันปรโลก พวกเขาใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบและห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่ชั่วร้าย พวกเขารีบเร่งกันในการทำความดี ชนเหล่านี้แหละอยู่ในหมู่ศอลิฮีน/บรรดาผู้มีคุณธรรม” (อาล อิมรอน 113-114)

เราในฐานะที่เป็นอุมมะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อย่าให้แพ้ประชาชาติก่อนหน้านี้ เราจะต้องเป็นคนที่ชอบจะทำความดีและรีบเร่งสู่ความโปรดปรานของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ด้วยเช่นกัน

และแน่นอนที่สุด ในบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็มีตัวอย่างมากมายของคนที่รีบรุดและมุ่งมั่นในการทำความดีให้เราได้ศึกษา ชื่นชม และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม

ในหะดีษที่รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ บทหนึ่งเล่าว่า

أَنَّهُ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ: «مَنْ أصْبَحَ مِنْكُمُ اليومَ صائِمًا؟» قالَ أبو بَكْرٍ: أنا، قالَ: «فمَن تَبِعَ مِنْكُمُ اليومَ جِنازَةً؟» قالَ أبو بَكْرٍ: أنا، قالَ: «فمَن أطْعَمَ مِنكُمُ اليومَ مِسْكِينًا؟» قالَ أبو بَكْرٍ: أنا، قالَ: «فمَن عادَ مِنْكُمُ اليومَ مَرِيضًا؟» قالَ أبو بَكْرٍ: أنا، فقالَ رَسولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ: «ما اجْتَمَعْنَ في امْرِئٍ إلَّا دَخَلَ الجَنَّةَ». [رواه مسلم 1028]

ความว่า วันหนึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถามขึ้นมา “วันนี้ใครถือศีลอดบ้าง?” ท่านอบู บักร์ ก็ตอบว่า ฉัน ท่านนบีถามต่อไปอีกว่า “วันนี้ใครตามไปส่งศพคนตายบ้าง?” ท่านอบู บักร์ก็ตอบว่า ฉัน ท่านนบีถามอีกว่า “วันนี้ใครเลี้ยงอาหารคนยากจนบ้าง?” ท่านอบู บักร์ก็ตอบว่า ฉัน ท่านนบีก็ถามอีกครั้งว่า “วันนี้ใครไปเยี่ยมคนป่วยบ้าง?” ท่านอบู บักร์ก็ตอบว่า ฉัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้กล่าวว่า “คุณลักษณะเหล่านี้ถ้าหากรวมอยู่ในบุคคลใดหนึ่งคน เขาย่อมจะต้องได้เข้าสวรรค์” (บันทึกโดยมุสลิม 1028)

อีกหะดีษหนึ่งที่รายงานจากอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

أَمَرَنا رَسُولُ اللَّهِ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ يَوْمًا أَنْ نَتَصَدَّقَ، فَوَافَقَ ذَلِكَ مَالًا عِنْدِيْ، فَقُلْتُ : اليَوْمَ أَسْبِقُ أَبَا بَكْرٍ إِنْ سَبَقْتُهُ يومًا ، فَجِئْتُ بنصفِ مالي، فقالَ رسولُ اللَّهِ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ : «ما أبقيتَ لأَهْلِكَ ؟» ، قلتُ : مثلَهُ ، قالَ : وأتى أبو بَكْرٍ رضيَ اللَّهُ عنهُ بِكُلِّ ما عندَهُ ، فقالَ لَهُ رسولُ اللَّهِ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ : «ما أبقَيتَ لأَهْلِكَ ؟» قالَ : أبقَيتُ لَهُمُ اللَّهَ ورسولَهُ ، قلتُ : لا أسابقُكَ إلى شيءٍ أبدًا. [رواه أبو داود والترمذي، صحيح أبي داود للألباني 1678، صحيح الترمذي للألباني 3675]

ความว่า ครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เชิญชวนให้เราบริจาค และตอนนั้นเป็นช่วงที่ฉันมีทรัพย์สินอยู่พอดี ฉันจึงพูดกับตัวเองว่า ถ้าฉันจะเอาชนะอบู บักร์ได้สักวันหนึ่งก็เป็นวันนี้แหละ ฉันจึงเอาทรัพย์สินครึ่งหนึ่งมาบริจาค ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถามว่า “ท่านเหลืออะไรไว้ให้กับครอบครัวบ้าง?” อุมัรตอบว่า ฉันเหลือไว้อีกครึ่งหนึ่งเหมือนกับที่เอามาบริจาค ต่อมาอบู บักร์ก็เอาทรัพย์สินทั้งหมดของท่านมาบริจาค ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถามท่านอบู บักร์ว่า “ท่านเหลืออะไรไว้ให้กับครอบครัวท่านบ้าง?” ท่านอบู บักร์ตอบว่า ฉันเหลืออัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์ไว้ให้กับพวกเขาแล้ว ท่านอุมัรได้ยินดังนั้นจึงกล่าวกับท่านอบู บักร์ว่า หลังจากนี้ฉันจะไม่แข่งอะไรกับท่านอีกต่อไป (บันทึกโดยอบู ดาวูด และ อัต-ติรมิซีย์ ดู เศาะฮีห์ อบี ดาวูด ของ อัล-อัลบานีย์ 1678 และ เศาะฮีห์ อัต-ติรมิซีย์ ของ อัล-อัลบานีย์ 3675)

ท่านอุมัรยังได้เล่าในอีกหะดีษหนึ่งว่า

مَرَّ رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ وأنا معه وأبو بَكْرٍ، على عبدِ اللهِ بنِ مسعودٍ وهو يَقرأُ، فقام فتَسمَّعَ قراءتَه، ثمَّ ركَعَ عبدُ اللهِ، وسجَدَ، قال: فقال رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ: سَلْ تُعطَهْ، سَلْ تُعطَهْ، قال: ثمَّ مضَى رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ وقال: «مَن سَرَّهُ أنْ يَقرأَ القُرآنَ غَضًّا كما أُنزِلَ، فلْيَقرأْهُ مِن ابنِ أُمِّ عبدٍ»، قال: فأدلَجتُ إلى عبدِ اللهِ بنِ مسعودٍ لأُبشِّرَه بما قال رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ، قال: فلمَّا ضرَبتُ البابَ -أو قال: لمَّا سَمِع صوتي- قالما جاء بك هذه الساعةَ؟ قلتُ: جِئتُ لأُبشِّرَك بما قال رسولُ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ، قال: قد سبَقَك أبو بَكْرٍ، قلتُ: إن يَفعَلْ فإنَّه سَبَّاقٌ بالخيراتِ، ما استبَقْنا خيرًا قطُّ إلَّا سبَقَنا إليه أبو بَكْرٍ. [مسند الإمام أحمد 265 بتخريج شعيب الأرناؤوط: إسناده صحيح]

 

ความว่า ครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันและอบู บักร์ ได้เดินผ่านอับดุลลอฮ์ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ในขณะที่ท่านกำลังอ่านอัลกุรอานในละหมาด ท่านนบีก็ยืนฟังที่เขาอ่าน จนกระทั่งเขาได้รุกูอฺและสุญูด ท่านนบีก็พูดกับอิบนุ มัสอูดว่า “จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับมัน จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับมัน” แล้วท่านนบีก็เดินจากไป สักพักท่านก็กล่าวขึ้นมาว่า “ใครที่ปรารถนาจะอ่านอัลกุรอานอย่างถูกต้องเหมือนดังที่มันถูกประทานลงมา ก็ให้เขาเรียนอ่านจากอิบนุ อุมมี อับด์ (หมายถึงอับดุลลอฮ์ บิน มัสอูด)” อุมัรเล่าว่า ฉันจึงแอบไปหาอับดุลลอฮ์ บิน มัสอูด ตอนหัวรุ่งเพื่อแจ้งข่าวดีให้กับเขา เมื่อฉันไปเคาะประตูบ้านและเขาได้ยินเสียงฉัน เขาก็ถามว่า อะไรเป็นเหตุให้ท่านต้องมาหาฉันเวลานี้? ฉันบอกเขาว่า ฉันมาแจ้งข่าวดีตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกไว้ ได้ยินเช่นนั้นเขาก็ตอบฉันว่า อบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้ล่วงหน้ามาแจ้งก่อนท่านแล้ว อุมัรได้แต่พูดว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นอบู บักร์เป็นบุคคลที่ชนะในการทำความดีทั้งหลายทั้งปวงจริงๆ ไม่ว่าพวกเราจะรีบรุดทำความดีอะไร ท่านอบู บักร์ก็นำหน้าเราเสมอทุกครั้ง (บันทึกโดยอะห์มัด ในอัล-มุสนัด ตรวจทานโดยชุอัยบ์ อัล-อัรนาอูฏ 265 สายรายงานเศาะฮีห์)

มาชาอัลลอฮ์ นี่คือท่านอบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ บุคคลตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่รีบเร่งและรุดหน้าในการทำความดีงามทั้งหลาย

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

หลายครั้งเมื่อถึงฤดูกาลตักตวงดุนยา เช่น ช่วงขาขึ้นของการทำมาหากินและหาเลี้ยงชีพ คนส่วนใหญ่ก็จะรีบเร่งแสวงหา และเข้าใจว่าอัลลอฮ์ใจดีเปิดดุนยาให้เรา แท้จริงแล้ว สิ่งนี้อาจจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้อง เพราะความดีงามที่แท้จริงคือคนที่ใช้โอกาสเพื่อเข้าใกล้อัลลอฮ์ และยำเกรงต่อพระองค์  

﴿ أَيَحۡسَبُونَ أَنَّمَا نُمِدُّهُم بِهِۦ مِن مَّالٖ وَبَنِينَ 55 نُسَارِعُ لَهُمۡ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِۚ بَل لَّا يَشۡعُرُونَ 56 إِنَّ ٱلَّذِينَ هُم مِّنۡ خَشۡيَةِ رَبِّهِم مُّشۡفِقُونَ 57 وَٱلَّذِينَ هُم بِ‍َٔايَٰتِ رَبِّهِمۡ يُؤۡمِنُونَ 58 وَٱلَّذِينَ هُم بِرَبِّهِمۡ لَا يُشۡرِكُونَ 59 وَٱلَّذِينَ يُؤۡتُونَ مَآ ءَاتَواْ وَّقُلُوبُهُمۡ وَجِلَةٌ أَنَّهُمۡ إِلَىٰ رَبِّهِمۡ رَٰجِعُونَ 60 أُوْلَٰٓئِكَ يُسَٰرِعُونَ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِ وَهُمۡ لَهَا سَٰبِقُونَ 61 ﴾ [المؤمنون: 55،  61]

ความว่า “พวกเขาคิดหรือว่า แท้จริงสิ่งที่เราได้ให้แก่พวกเขา เช่น ทรัพย์สมบัติ และลูกหลานนั้นคือการที่เราได้รีบเร่งให้ความดีต่าง ๆ แก่พวกเขาใช่หรือไม่? เปล่าเลย แต่ทว่าพวกเขาไม่รู้ตัว แท้จริงบรรดาผู้ที่มีจิตใจยำเกรงเนื่องจากกลัวต่อพระเจ้าของพวกเขา และศรัทธาต่อสัญญาณต่าง ๆ แห่งพระเจ้าของพวกเขา และไม่ตั้งภาคีต่อพระเจ้าของพวกเขา และบริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มา โดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมได้ด้วยความหวั่นเกรงว่าแท้จริงพวกเขาต้องกลับไปหาพระเจ้าของพวกเขา ชนเหล่านั้น คือคนที่รีบเร่งในการประกอบความดีทั้งหลาย และพวกเขาเป็นผู้นำหน้าในการทำดี” (อัล-มุอ์มินูน 55-61)

เราทุกคนเข้าใจว่าการที่อัลลอฮ์ให้ริซกีมากมายคือความโปรดปรานอย่างหนึ่ง แต่นั่นอาจจะยังไม่ใช่ความโปรดปรานที่แท้จริง บางทีมันจะเป็นการยื่นให้เพื่อปล่อยให้เราระเริงจนลืมตัว วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก ในขณะที่ความโปรดปรานที่แท้จริง คือการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ การห่างไกลจากชิริก การทำความดีเพื่อหวังผลตอบแทนในวันอาคิเราะฮ์ข้างหน้าเมื่อเรากลับไปหาอัลลอฮ์

ดังนั้น จึงอยากให้เรามุ่งมั่นแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์ และความสำเร็จในอาคิเราะฮ์ อย่างน้อยก็อย่าให้ด้อยกว่าที่เราแสวงหาดุนยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลแห่งความดีที่อัลลอฮ์ได้กำหนดไว้ตามวาระต่างๆ ตลอดทั้งปี



[1] ดูเพิ่มเติมใน ตัฟซีร อิบนุ กะษีร

(فمنهم ظالم لنفسه) وهو : المفرط في فعل بعض الواجبات ، المرتكب لبعض المحرمات(ومنهم مقتصد) وهو : المؤدي للواجبات ، التارك للمحرمات ، وقد يترك بعض المستحبات ، ويفعل بعض المكروهات. (ومنهم سابق بالخيرات بإذن الله( وهو: الفاعل للواجبات والمستحبات، التارك للمحرمات والمكروهات وبعض المباحات .[تفسير ابن كثير]