วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - พึงดูแลตัวเอง - ซุฟอัม อุษมาน

 


ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

หรือบน SoundCloud 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

ชีวิตของเราเป็น “อะมานะฮ์” ที่อัลลอฮ์มอบให้เราดูแล ใครที่ดูแลตัวเอง ดูแลหัวใจ ดูแลอะมัล ดูแลแม้กระทั่งร่างกายของตัวเองนั่นแสดงว่าเขาได้ทำหน้าที่ของเขาตามที่อัลลอฮ์สั่งแล้ว ในขณะที่คนที่ละเลย ใช้ชีวิตโดยไม่รู้จักตัวเอง ไม่ได้ให้สิทธิต่างๆ ที่จำเป็นกับชีวิตของตัวเอง เขาก็อาจจะต้องพบกับความล้มเหลวและหายนะในดุนยานี้

ส่วนคนที่ทุ่มเทและต่อสู้เพื่อดูแลชีวิตที่ได้รับอะมานะฮ์มา อัลลอฮ์ก็จะประทานความช่วยเหลือให้แก่เขา มีอายะฮ์หลายที่ในอัลกุรอานที่อัลลอฮ์ตรัสไว้ว่าใครมุ่งมั่นแสวงหาความดี เขาก็จะได้รับผลดีสะท้อนกลับมาที่ตัวเองด้วยความช่วยเหลือของพระองค์

﴿ وَمَن جَٰهَدَ فَإِنَّمَا يُجَٰهِدُ لِنَفۡسِهِۦٓۚ إِنَّ ٱللَّهَ لَغَنِيٌّ عَنِ ٱلۡعَٰلَمِينَ 6 ﴾ [العنكبوت: 6]

ความว่า “ใครก็ตามที่ทุ่มเทต่อสู้นั่นก็แสดงว่าเขาได้ทำเพื่อตัวเอง แท้จริงอัลลอฮ์ทรงมั่งมีโดยไม่ต้องพึ่งสรรพสิ่งในโลกทั้งหลาย” (อัล-อันกะบูต 6)

หมายถึงใครที่ญิฮาดกับตัวเอง ต่อสู้เพื่อให้ตัวเองเจอกับความดี แสดงว่าเขาได้รับผิดชอบต่อตัวเขาเอง เขากำลังทำให้กับตัวเอง อัลลอฮ์สั่งให้เราทุ่มเทเพื่อความดีก็จริงแต่พระองค์ไม่ได้มีความจำเป็นต้องพึ่งพิงหรืออาศัยความดีที่เราทำลงไป  แต่ทว่าผลตอบแทนแห่งความดีทั้งหมดจะสะท้อนกลับมาที่เราเอง

﴿ مَنۡ عَمِلَ صَٰلِحٗا فَلِنَفۡسِهِۦۖ وَمَنۡ أَسَآءَ فَعَلَيۡهَاۖ ثُمَّ إِلَىٰ رَبِّكُمۡ تُرۡجَعُونَ 15 ﴾ [الجاثية: 15]

ความว่า “ใครก็ตามที่ทำอะมัลศอลิห์/ทำความดี ผลดีก็จะกลับมาที่เขา ใครก็ตามที่ทำความชั่ว ผลร้ายก็จะเกิดขึ้นกับเขาเอง แล้วพวกเจ้าก็จะถูกนำกลับไปยังพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าในโลกหน้า” (อัล-ญาษิยะฮ์ 15)

เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง ดูแลตัวเอง เพราะเป็นอะมานะฮ์ที่อัลลอฮ์ฝากเอาไว้ให้เราเป็นหน้าที่และสิทธิที่เราต้องทำ

 

พี่น้องครับ

เราจะดูแลตัวเองอย่างไร? มีหน้าที่อะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องเอาใจใส่? มีสิทธิอะไรในหัวใจของเราและในตัวของเรา หรือในภาพรวมทั้งหมดที่เราต้องทำให้กับตัวเอง?

ประการแรก ต้องขัดเกลาตัวเองให้เป็นคนดี โดยเฉพาะหัวใจของเรา เราไม่สามารถที่จะละเลยให้ตัวเองจมอยู่ท่ามกลางกระแสต่างๆ ที่มันพัดพาเราไปสู่อารมณ์ใฝ่ต่ำ ไปสู่คำเรียกร้องของชัยฏอน ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยปัจจัยต่างๆ ซึ่งทำให้เราหันเหไปจากเส้นทางที่เที่ยงตรง หรืออาจจะทำให้หัวใจของเราสกปรกคลุกคลีอยู่กับสิ่งโสมม เราทุกคนมีหน้าที่จะต้อง “ตัซกิยะฮ์” ขัดเกลาตัวเอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นมารับผิดชอบ เพราะการขัดเกลาตัวเองเป็นอะมานะฮ์ของเราเอง[1]

มุอ์มินผู้ศรัทธานั้นมีระดับหลายชั้น ระดับที่สูงสุดคือระดับ “อิห์สาน” ดังนั้นเราจะต้องไม่อยู่กับที่ในเรื่องของการปรับปรุงตัวเองให้ดีจนเป็นที่พอพระทัยของอัลลอฮ์และบรรลุถึงระดับอิห์สาน อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ قَدۡ أَفۡلَحَ مَن زَكَّىٰهَا 9 وَقَدۡ خَابَ مَن دَسَّىٰهَا 10 ﴾ [الشمس: 9،  10] 

ความว่า “ผู้ที่ขัดเกลาจิตใจตัวเองย่อมประสบความสำเร็จแล้ว และผู้ที่ทำให้จิตใจตัวเองสกปรกย่อมหายนะแล้ว” (อัช-ชัมส์ 9-10)

อย่างที่เราทราบกันดีว่า อารมณ์หรือนัฟซูของเรานั้นมีสามระดับ นัฟซู อัมมาเราะฮ์ (อารมณ์ที่คอยสั่งให้ทำชั่ว), นัฟซู เลาวามะฮ์ (อารมณ์ที่สั่งให้ทำดีบ้างทำชั่วบ้างสลับกัน) และ นัฟซู มุฏมะอินนะฮ์ (อารมณ์ที่นิ่งและรักษาการทำความดีสม่ำเสมอ) เราต้องพยายามขัดเกลาตัวเองอยู่เสมอเพื่อย้ายจากสภาพของนัฟซูระดับล่างๆ ให้กลายนัฟซู มุฏมะอินนะฮ์ให้ได้[2]

ประการที่สอง การทบทวนตัวเอง[3] ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَلۡتَنظُرۡ نَفۡسٞ مَّا قَدَّمَتۡ لِغَدٖۖ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۚ إِنَّ ٱللَّهَ خَبِيرُۢ بِمَا تَعۡمَلُونَ 18﴾ [الحشر: 18] 

ความว่า “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และจงพิจารณาดูว่าได้เตรียมอะไรไว้สำหรับวันพรุ่งนี้บ้าง จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรู้ดีถึงการกระทำของพวกเจ้า” (อัล-หัชร์ 18)

เราต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรแล้ว ตอนนี้เราทำอะไรบ้าง และได้เตรียมตัวอะไรไว้บ้างสำหรับวันที่เราจะกลับไปเจอกับอัลลอฮ์ในวันพรุ่งนี้นั่นก็คือวันกิยามะฮ์ ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้กล่าวว่า จงสอบสวนตัวเองก่อนที่พวกเจ้าจะถูกสอบสวน[4]

ประการที่สาม ปลดตัวเองจากสิทธิที่เกี่ยวโยงกับคนอื่น[5] กล่าวคือต้องระวังอย่าให้เรามีภาระผูกพันกับสิทธิของคนอื่นที่มีอยู่เหนือเรา โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินและหนี้สินที่ยังไม่ได้จัดการให้เสร็จสิ้น ต้องรีบดำเนินการเคลียร์ทุกอย่างให้สิ้นสุดภาระผูกพันก่อนจะหมดลมหายใจ มิเช่นนั้นแล้วอาจจะไม่ได้เข้าสวรรค์ คนที่เป็นหนี้เป็นสินและไม่พยายามที่จะจ่ายหนี้เขาจะเสี่ยงอย่างมาก แม้กระทั่งคนที่ตายชะฮีดซึ่งมีผลบุญที่สูงสุดแล้วก็ตาม รายงานจากอับดุลลอฮ์ บิน อัมร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«يُغْفَرُ لِلشَّهِيدِ كُلُّ ذَنْبٍ إلَّا الدَّيْنَ» [مسلم 1886]

ความว่า “บาปของผู้ที่ตายชะฮีดจะถูกอภัยทั้งหมด ยกเว้นหนี้สิน” (บันทึกโดยมุสลิม 1886 จากอับดุลลอฮ์ บิน อัมร์)

ประการที่สี่ อย่าทำร้ายหรือทำลายตัวเองในโลก
ดุนยา
[6] ต้องดูแลตัวเองอย่าให้มีปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่การทำลายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมเสี่ยงหรือโรคร้ายต่างๆ ต้องไม่นำตัวเองเข้าไปสู่สาเหตุที่จะก่อให้เกิดความหายนะ บาดเจ็บ และคร่าชีวิต ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่นการใช้ยาเสพติดหรือฆ่าตัวตาย เป็นต้น อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿وَلَا تُلۡقُواْ بِأَيۡدِيكُمۡ إِلَى ٱلتَّهۡلُكَةِ﴾ [البقرة: 195] 

ความว่า “อย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความหายนะ” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 195)

 

﴿وَلَا تَقۡتُلُوٓاْ أَنفُسَكُمۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ كَانَ بِكُمۡ رَحِيمٗا 29﴾ [النساء: 29] 

ความว่า “อย่าได้ฆ่าตัวเอง แท้จริงแล้วอัลลอฮ์นั้นทรงเมตตาต่อพวกเจ้าอย่างที่สุด” (อัน-นิสาอ์ 29)

ประการที่ห้า[7] ป้องกันอย่าให้ตัวเองโดนลงโทษในวันอาคิเราะฮ์[8] เป็นข้อที่สำคัญที่สุด ให้สำรวจตัวเองเลยว่าตอนนี้มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่เราทำอยู่จะเป็นสาเหตุนำไปสู่การเป็นชาวนรก วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก ให้เรารีบละทิ้งละเลิกและเตาบัตกลับตัว

มนุษย์บางคนตอนมีชีวิตในโลกดุนยาทำทุกอย่างเพื่อให้มีความสุข ปรนเปรอความต้องการของตัวเอง แต่ลืมไปว่าสิ่งที่ตัวเองทำและแสวงหาอยู่นั้นเป็นเหตุให้เขาต้องเจอกับความหายนะในวันอาคิเราะฮ์ และต้องตกอยู่ในการลงโทษของไฟนรก เพราะฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังให้มาก อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا﴾ [التحريم: 6] 

ความว่า “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงป้องกันตัวเองและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก” (อัต-ตะห์รีม 6)

 

พี่น้องครับ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราจะต้องทบทวน อัลลอฮ์สร้างเรามาให้เป็นมัคลูกที่มีเกียรติที่สุดถ้าหากเราเป็นผู้ศรัทธา อัลลอฮ์ต้องการให้เราได้รับสิ่งที่ดีสุด ดังนั้นเราจะต้องไม่ลืมว่าอัลลอฮ์สร้างเรามาเพื่ออะไร ต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเอง ดูแลอะมานะฮ์ที่อัลลอฮ์ให้มาให้ดีที่สุด สุดท้ายเราก็จะกลับไปรับผลตอบแทนอย่างงดงามและดีเลิศที่สุดจากพระองค์ในวันอาคิเราะฮ์ นั่นคือสวนสวรรค์อันสถาพรและนิรันดร

 

 พี่น้องทั้งหลายครับ

อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿وَنَفۡسٖ وَمَا سَوَّىٰهَا 7 فَأَلۡهَمَهَا فُجُورَهَا وَتَقۡوَىٰهَا 8﴾ [الشمس: 7،  8] 

ความว่า “ขอสาบานด้วยชีวิตจิตใจและธรรมชาติที่พระองค์ได้สร้างไว้ให้มันอย่างเที่ยงตรง แล้วพระองค์ก็ชี้ให้เห็นทั้งทางที่ชั่วร้ายและทางแห่งความยำเกรงของมัน” (อัช-ชัมส์ 7-8)

อัลลอฮ์ทรงสาบานกับชีวิตของเรา เพื่อบอกว่ามันสำคัญมาก พระองค์ได้บอกเส้นทางแห่งทางนำและเส้นทางแห่งหายนะไว้ให้กับเราแล้วอย่างชัดเจน ดังนั้นเราต้องเลือกให้ดีว่าจะเดินไปบนเส้นทางไหน

มีรายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า

 كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا تَلَا هَذِهِ الْآيَةَ ﴿وَنَفۡسٖ وَمَا سَوَّىٰهَا 7 فَأَلۡهَمَهَا فُجُورَهَا وَتَقۡوَىٰهَا 8وَقَفَ، ثُمَّ قَالَ: «اللَّهُمَّ آتِ نَفْسِي تَقْوَاهَا أَنْتَ وَلِيُّهَا وَمَوْلَاهَا وَخَيْرُ مَنْ زَكَّاهَا». [ذكره ابن كثير في تفسيره]

ความว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่ออ่านถึงอายะฮ์นี้ ท่านจะหยุดชั่วครู่ แล้วกล่าวขอดุอาอ์ว่า

«اللَّهُمَّ آتِ نَفْسِي تَقْوَاهَا أَنْتَ وَلِيُّهَا وَمَوْلَاهَا وَخَيْرُ مَنْ زَكَّاهَا».

โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานให้หัวใจฉันมีความยำเกรงด้วยเถิด พระองค์เป็นผู้ดูแลมันและเป็นเจ้าของมัน พระองค์เป็นผู้ที่ดีที่สุดในการขัดเกลามันให้บริสุทธิ์ (เป็นรายงานที่อิบนุ กะษีรได้นำมาระบุไว้ในตัฟซีรของท่าน)

 

นี่เป็นดุอาอ์ที่เราใช้ขอเพื่อให้อัลลอฮ์ช่วยเหลือเราในการทำหน้าที่ดูแลตัวเอง ดูแลอะมานะฮ์ที่อัลลอฮ์มอบให้เรารับผิดชอบอย่างดีที่สุด จนกว่าชีวิตของเราจะหาไม่และได้กลับไปหาอัลลอฮ์ในที่สุด อินชาอัลลอฮ์



[1] تَزْكِية النفس: والتَّزكية: هي تطهيرُ النفس من نزغات الشر والإثم، وتنميةُ فطرة الخير فيها، مما يؤدي إلى استقامتها، وبلوغها درجةَ الإحسان.

[2] والنَّفسُ لها ثلاثةُ أحوال: النفس الأمارة بالسوء، والنفس اللوامة، والنفس المطمئنة. والعاقل هو الذي يجتهد -بالليل والنهار- في تزكية نفسه؛ لِيَرْتَقِيَ بها من النفس الأمارة بالسوء إلى النفس المطمئنة.

[3] محاسبة النفس.

[4] قال عمر بن الخطاب رضي الله عنه: "حَاسِبُوا أَنْفُسَكُمْ قَبْلَ أَنْ تُحَاسَبُوا".

[5] تَخْلِيصُها مِنْ حُقُوقِ النَّاسِ.

[6] وِقَايَتُها مِنْ الهَلاَكِ في الدُّنْيَا.

[7] وِقَايَتُها مِنْ الهَلاَكِ في الدُّنْيَا.

[8] وِقَايَتُها مِنْ العَذَابِ فِي الآخِرَةِ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น