วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - เริ่มด้วยความตั้งใจที่ดี - ซุฟอัม อุษมาน






ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

หรือบน SoundCloud 


พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์รักและเมตตาทุกท่าน

เวลาจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง อิสลามให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเรียกว่า “อัน-นียะฮ์” หมายถึงเนียต เจตนา หรือความตั้งใจจากข้างใน เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทบทวนอยู่ตลอดอย่างสม่ำเสมอ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إنَّ اللَّهَ لا يَنْظُرُ إِلى صُوَرِكُمْ وأَمْوالِكُمْ، ولَكِنْ يَنْظُرُ إِلى قُلُوبِكُمْ وأَعْمالِكُمْ. » [رواه مسلم: 2564] 

ความว่า “แท้จริงแล้ว อัลลอฮ์จะไม่ทรงพิจารณาดูที่รูปร่างหรือทรัพย์สินของพวกท่าน แต่พระองค์จะพิจารณาจากหัวใจและการกระทำของพวกท่าน” (รายงานโดยมุสลิม 2564, จาก อบู ฮุร็อยเราะฮ์)

เพราะฉะนั้น หัวใจจะดีไม่ได้ถ้าอะมัลไม่ดี และอะมัลจะดีไม่ได้ถ้าความตั้งใจหรือเนียตไม่ดี[1]

ในตำราของบรรดาอุละมาอ์ อย่างเศาะฮีห์ อิมาม อัล-
บุคอรีย์ ตำราหะดีษอันดับหนึ่งที่ประชาชาติอิสลามให้การยอมรับ รวมถึงตำราหะดีษอย่าง ริยาฎุศศอลิฮีนและหะดีษ อัล-อัรบาอีน ของอิมามอัน-นะวะวีย์ ที่เรารู้จักกันดี อุละมาอ์เหล่านี้จะเริ่มต้นในการรวบรวมหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยหะดีษที่เกี่ยวข้องกับการตั้งใจหรือการเนียตมาเป็นลำดับแรก

นั่นก็คือหะดีษที่รายงานโดยท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إنَّمَا الأَعْمَالُ بالنِّيَّاتِ وإنَّما لِكلِّ امْرِئٍ مَا نَوَى...» [البخاري: 1 ومسلم: 1907].

ความว่า “แท้จริงแล้ว ทุกๆ งานที่เราทำ ขึ้นอยู่กับเจตนาหรือเนียต/ความตั้งใจ ใครเจตนาอย่างไรเขาก็จะได้ตามที่เจตนานั้น” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 1 และมุสลิม 1907)

เป็นหะดีษที่ยิ่งใหญ่มาก นักวิชาการบอกว่า เนื้อหาของบทบัญญัติอิสลามทั้งหมดล้วนยึดโยงอยู่กับหะดีษนี้ เป็นหนึ่งส่วนสามของความรู้ที่มุสลิมจำเป็นต้องเรียนรู้ การเนียตที่ดีคือเมล็ดพันธุ์แห่งความดีทั้งปวง เป็นต้นกล้าแห่งการตอบรับอะมัล ความดีของมนุษย์ขึ้นอยู่กับเจตนาที่ดีของเขา[2]

หัวใจของเราจะดีได้เมื่อเราทำความดี ถ้าเราทำความชั่วมันก็จะส่งผลสะท้อนไปที่หัวใจให้สะสมความชั่ว ดังนั้น หากจะให้หัวใจของเราเป็นหัวใจที่ดีก็จะต้องเป็นคนที่ใฝ่หาความดี แต่ความดีของเราจะไม่เกิดผลถ้าหากความตั้งใจของเราหรือ
เนียตของเราเป็นความตั้งใจที่ชั่วร้าย

 

พี่น้องครับ

มีหะดีษมากมายที่พูดถึงความประเสริฐของการตั้งใจที่ดี

 การที่คนคนหนึ่งมีความตั้งใจที่ดี ยังทำไม่ได้แต่ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะทำสิ่งดีๆ ตามที่อัลลอฮ์สั่งให้เราทำ ยังไม่มีความสามารถที่จะทำ ยังไม่มีโอกาสที่จะทำ แต่หัวใจมีความตั้งใจและปรารถนาที่จะทำเหมือนกับที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ
อะลัยฮิวะสัลลัม ได้กระตุ้นและสนับสนุนให้เราคิดดีก่อนที่เราจะทำดี ตัวอย่างเช่น

«مَنْ أَتَى فِرَاشَهُ وَهُوَ يَنْوِى أَنْ يَقُومَ يُصَلِّى مِنَ اللَّيْلِ فَغَلَبَتْهُ عَيْنَاهُ حَتَّى أَصْبَحَ، كُتِبَ لَهُ مَا نَوَى وَكَانَ نَوْمُهُ صَدَقَةً عَلَيْهِ مِنْ رَبِّهِ عَزَّ وَجَلَّ» [النسائي 1787]

ความว่า “ใครก็ตามที่เข้านอนโดยที่มีความตั้งใจว่าจะลุกขึ้นมาละหมาดกลางคืน แต่เขาหลับจนกระทั่งรุ่งอรุณ เขาจะได้รับผลบุญตามที่เขาเจตนาไว้ การหลับของเขาเป็น
เศาะดะเกาะฮ์ที่อัลลอฮ์ประทานให้กับเขา” (บันทึกโดยอัน-นะสาอีย์
1787)

เราเข้านอนด้วยความตั้งใจที่จะลุกขึ้นมาละหมาดในเวลากลางคืน ยังไม่รู้ว่าจะตื่นหรือไม่ สุดท้ายกลับง่วงนอนหลับไม่ตื่นจนกระทั่งศุบห์ อัลลอฮ์ก็จะให้ผลบุญตามที่เราเนียตมา บันทึกไว้ให้เราแล้ว นี่คืออานุภาพของการเนียตที่จะทำความดี

«إِنَّكَ لَنْ تُنْفِقَ نَفَقَةً تَبْتَغِى بِهَا وَجْهَ اللَّهِ إِلاَّ أُجِرْتَ عَلَيْهَا، حَتَّى مَا تَجْعَلُ فِي فَمِ امْرَأَتِكَ» [البخاري: 56]

ความว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ท่านใช้จ่ายออกไปจากทรัพย์สินของท่านเป็นนะฟะเกาะฮ์ ด้วยความตั้งใจเนียตเพื่ออัลลอฮ์ เว้นแต่ท่านจะได้รับผลบุญจากการใช้จ่ายนั้น แม้กระทั่งสิ่งที่ท่านป้อนเข้าไปในปากของภรรยาก็ตามที” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 56)

สิ่งที่เราจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว ให้กับลูก ใช้จ่ายออกไปด้วยความตั้งใจว่าเป็นหน้าที่ เป็นคำสั่งของอัลลอฮ์ที่เราปฏิบัติ และหวังว่าพระองค์จะประทานผลตอบแทนให้กับเรา พระองค์ก็จะให้ผลบุญอีกเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งอาหารที่เราป้อนใส่ปากภรรยาของเราเอง

 

พี่น้องครับ

อานุภาพของความตั้งใจที่ดีและการทำให้เนียตของเราทั้งหมดเป็นไปตามที่อัลลอฮ์พอพระทัยจะมีผลบุญทั้งหมดเลย การกระทำใดๆ ที่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องธรรมดา เช่น การให้อาหารสัตว์ การเอาขยะหรือสิ่งกีดขวางออกจากเส้นทางที่ผู้คนเดินผ่านไปมา ฯลฯ ล้วนมีผลบุญทั้งสิ้น แต่ต้องเราเนียตให้เป็น

เพราะฉะนั้น ต้องฝึกฝนตัวเองให้คุ้นชินกับความตั้งใจที่ดี ความอิคลาศบริสุทธิ์ใจในการทำความดีเพื่ออัลลอฮ์ ไม่ว่าจะทำอะไร หรือจะละทิ้งสิ่งใด จะทำแบบเปิดเผยหรือลับๆ ทำคนเดียวหรือทำหลายคน ให้ตั้งใจว่าทำเพื่ออัลลอฮ์

ไม่ว่าเราจะค้าขาย ผลิตสินค้า ทำงานฝีมือ ทำเกษตร หรือไม่ว่าจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้เราตั้งใจว่านี่คือการทำหน้าที่ตามที่อัลลอฮ์สั่ง เป็นการรับใช้ตามคำสั่งของอัลลอฮ์ในการดูแลตัวเอง หาริซกีเพื่อครอบครัว เพื่อคนอื่น เพื่อสังคม ทุกอย่างที่เราทำและตั้งใจได้ถูกต้องเพื่ออัลลอฮ์ พระองค์จะให้เป็นผลบุญทั้งสิ้น อินชาอัลลอฮ์

 

พี่น้องครับ

นี่คือความลับของศาสนาอิสลาม นี่คือความยิ่งใหญ่ที่มหัศจรรย์ของบทบัญญัติแห่งอัลลอฮ์ ที่เราสามารถปรับและทำเรื่องดุนยาให้เป็นเรื่องอาคิเราะฮ์ได้ ปรับเรื่องดุนยาในแต่ละวันให้เป็นเรื่องอาคิเราะฮ์ให้หมดสิ้น เรื่องนี้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายแต่ก็ทำยากมาก การทำเรื่องดุนยาให้มีเป้าประสงค์เพื่ออาคิเราะฮ์เราจะต้องเรียนรู้และฝึกฝนอยู่เสมอ

บางที เรื่องเดียวกันแต่ถ้าตั้งใจไม่เหมือนกันผลลัพธ์ที่ได้ย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนสองคนทำเรื่องเดียวกัน คนหนึ่งอาจจะได้เฉพาะดุนยา ในขณะที่อีกคนได้ทั้งดุนยาและ
อาคิเราะฮ์

ประเด็นนี้ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นสงครามอุหุด อัลลอฮ์ตรัสถึงเศาะหาบะฮ์สองกลุ่มว่า

﴿مِنكُم مَّن يُرِيدُ ٱلدُّنۡيَا وَمِنكُم مَّن يُرِيدُ ٱلۡأٓخِرَةَۚ ﴾ [آل عمران: 152]

ความว่า “พวกเจ้าบางส่วนปรารถนาที่จะได้ประโยชน์ในดุนยา และพวกเจ้าอีกบางส่วนหวังในการตอบแทนในวัน
อาคิเราะฮ์” (อาล อิมรอน
152)

ท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า

مَا عَلِمْنَا أَنَّ أَحَدًا مِنْ أَصْحَابِ رَسُولِ اللهِ صَلّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم كَانَ يُرِيْدُ الدُّنْيَا وَعَرَضَهَا، حَتَّى كَانَ يَوْمَئِذٍ. [تفسير الطبري]

ความว่า เราไม่เคยรู้ว่าในหมู่เศาะหาบะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีคนใดที่หวังในดุนยา จนกระทั่งวันที่มีโองการนี้ลงมา (ดู ตัฟซีร อัฏ-เฏาะบะรีย์)

สุบหานัลลอฮ์ ! แม้กระทั่งเศาะหาบะฮ์เอง อัลลอฮ์ก็ต้องขัดเกลาหัวใจของพวกเขาในช่วงแรกของอิสลาม เพราะอีมานที่ยังไม่เข้มแข็ง ทำเรื่องเดียวกัน ออกไปทำสงคราม คนหนึ่งต้องการทรัพย์เชลยที่ได้จากสงคราม แต่อีกคนหนึ่งต้องการผลบุญจากอัลลอฮ์ นี่ช่างเป็นความแตกต่างที่มากเหลือเกิน

ดังนั้น ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ บางทีดูเหมือนเป็นเรื่องดุนยาเฉยๆ แต่ถ้าเราเนียตดี เราเนียตได้ถูกต้อง เราจะได้ทั้ง
อาคิเราะฮ์และดุนยา ให้อาคิเราะฮ์เป็นเป้าหมายหลัก ส่วนสิ่งที่ได้รับในดุนยาคือผลพลอยได้ที่อัลลอฮ์ประทานให้เป็นรางวัลแก่เราเท่านั้นเอง อินชาอัลลอฮ์

 

พี่น้องที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

การดูแลหัวใจของเราให้รู้จักเนียตและมีความตั้งใจเพื่ออัลลอฮ์อยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ยากมาก เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความพยายามและฝึกฝนอย่างหนักสม่ำเสมอ

บรรดาอุละมาอ์ในอดีตได้ให้คำแนะนำกับเราไว้แล้ว เช่น   

قال سفيان الثوري [تابعي التابعين]: مَا عَالَجْتُ شَيْئًا أَشَدَّ عَلَيَّ مِنْ نِيَّتِيْ، إِنَّهَا تَقَلَّبُ عَلَيَّ. (فقه النفس 77).

สุฟยาน อัษ-เษารีย์ กล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่ฉันจัดการรักษาดูแลได้ยากยิ่งไปกว่าการเนียต/เจตนาของฉันเอง เพราะมันมักจะกลับไปกลับมาอยู่เสมอ (ฟิกฮ์ อัน-นัฟส์ หน้า 77)

 

أحمد بن حنبل: أَوْصَى ابْنَهُ عَبْدَ اللهِ: يَا بُنَيَّ انْوِ الْخَيْرَ، فَإِنَّكَ لَا تَزَالُ بِخَيْرٍ مَا نَوَيْتَ الْخَيْرَ. (فقه النفس 79)

ท่านอิมามอะห์มัด บิน หันบัล ได้สั่งเสียอับดุลลอฮ์ บุตรชายท่านว่า ลูกเอ๋ย จงมีความตั้งใจที่ดี เพราะเจ้าจะได้รับสิ่งดีตลอดชีวิต ตราบใดที่เจ้ามีความตั้งใจที่ดี (ฟิกฮ์ อัน-นัฟส์ หน้า 79)

 

قال ابن رجب: اعْبُدِ اللهَ لِـمُرَادِهِ مِنْكَ، لَا لـِمُرَادِكَ مِنْهُ. (فقه النفس 80).

อิบนุ เราะญับ ได้กล่าวว่า จงอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ด้วยความต้องการของอัลลอฮ์ต่อตัวเรา ไม่ใช่ด้วยความต้องการของเราต่ออัลลอฮ์ (ฟิกฮ์ อัน-นัฟส์ หน้า 80)

ความหมายคือให้เราทำดีเพราะอัลลอฮ์สั่งให้เราทำดี ไม่ใช่ทำดีเพราะเราอยากได้อะไรบางอย่างจากพระองค์ เป็นความลึกล้ำในการอธิบายของบรรดาอุละมาอ์ในอดีต

แน่นอนว่า บางครั้งเราก็ต้องขอดุอาอ์ให้มีความอิคลาศในการทำดี ให้พระองค์ดูแลหัวใจของเราอย่าให้มีความตั้งใจที่ผิด ขอให้มีความตั้งใจดีอยู่ตลอดเวลาอย่าให้หันเหไปที่สิ่งอื่นนอกจากพระองค์ เหมือนดุอาอ์ของท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ที่ว่า

اللّهُمَّ اجْعَلْ عَمَلَنَا كُلَّهُ صَالِحاً، وَاجْعَلْهُ لِوَجْهِكَ خَالِصاً، وَلَا تَجْعَلْ لِأَحَدٍ مِنْ خَلْقِكَ فِيْهِ شَيْئاً.

ความว่า โอ้ อัลลอฮ์ ขอพระองค์ทำให้อะมัลความดีของเราทั้งหมดเป็นอะมัลที่ดี/ที่ศอลิห์ ขอให้อะมัลความดีทั้งหมดของเราบริสุทธิ์เพื่อพระองค์เท่านั้น และขออย่าให้คนอื่นมีส่วนหรือภาคีในความดีของเรา อย่าให้เรามีชิริกในการทำความดีของเราเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากมัคลูกของพระองค์เลยแม้แต่นิดเดียว



[1] صلاح القلب بصلاح العمل، وصلاح العمل بصلاح النية. [المنجد: t.ly/cueKI]

[2] يدور الدين عليه، وهو ثلث العلم، وهذه النية نواة الصلاح، وبذرة القبول، وأعمال العباد مرهونة بصلاح النوايا. [المنجد: t.ly/cueKI]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น