วันพุธที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566

คุฏบะฮ์ - ดีทั้งดุนยาและอาคิเราะฮ์ - ซุฟอัม อุษมาน

 



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

หรือบน SoundCloud 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์รักทุกท่าน

ผู้คนส่วนใหญ่ที่มีชีวิตในโลกนี้มีเป้าหมายต้องการแค่ดุนยา แสวงหาแต่สิ่งที่ปรนเปรอความสุขตอนมีชีวิต โดยไม่เคยคิดถึงอีกโลกหนึ่งที่พวกเขาจะต้องเจอหลังจากตายไปแล้ว

แต่สำหรับมุสลิมผู้ศรัทธา เรามีชีวิตอยู่เพื่อสองโลก ไม่ใช่แค่โลกเดียว สองโลกคือชีวิตปัจจุบันในดุนยา และอีกชีวิตหลังจากตายไปแล้วและฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในอาคิเราะฮ์ อัลลอฮ์ได้พูดถึงคนสองประเภทนี้ว่า

﴿فَمِنَ ٱلنَّاسِ مَن يَقُولُ رَبَّنَآ ءَاتِنَا فِي ٱلدُّنۡيَا وَمَا لَهُۥ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ مِنۡ خَلَٰقٖ 200 وَمِنۡهُم مَّن يَقُولُ رَبَّنَآ ءَاتِنَا فِي ٱلدُّنۡيَا حَسَنَةٗ وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِ حَسَنَةٗ وَقِنَا عَذَابَ ٱلنَّارِ 201 أُوْلَٰٓئِكَ لَهُمۡ نَصِيبٞ مِّمَّا كَسَبُواْۚ وَٱللَّهُ سَرِيعُ ٱلۡحِسَابِ 202﴾ [البقرة: 200-202] 

ความว่า “มนุษย์บางส่วนนั้นจะกล่าววิงวอนขอว่า โอ้ พระผู้อภิบาลของเรา ขอพระองค์ประทานสิ่งดีๆ ให้กับเราใน
ดุนยานี้ด้วยเถิด แต่ในวันอาคิเราะฮ์เขาจะไม่ได้รับส่วนดีใดๆ เลย แต่ในจำนวนมนุษย์อีกบางส่วนนั้นเขาจะกล่าววิงวอนขอว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเรา ขอพระองค์ประทานความดีงามแก่เราในดุนยา และขอความดีงามในอาคิเราะฮ์ด้วย ขอพระองค์ปกป้องให้เรารอดพ้นจากนรกด้วยเถิด คนเหล่านี้แหละที่จะได้รับส่วนผลตอบแทนตามที่พวกเขาแสวงหาปฏิบัติ และอัลลอฮ์นั้นทรงรวดเร็วในการคิดบัญชีไต่สวน” (อัล-บะเกาะเราะฮ์
200-202)

رَبَّنَآ ءَاتِنَا فِي ٱلدُّنۡيَا حَسَنَةٗ وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِ حَسَنَةٗ وَقِنَا عَذَابَ ٱلنَّارِ.

ดุอาอ์นี้เป็นดุอาอ์ที่เราคุ้นเคยกันดี เป็นดุอาอ์ที่เราใช้ขอให้ได้รับสิ่งที่ดีทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์

การขอแบบนี้เป็นการขอดุอาอ์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ
อะลัยฮิวะสัลลัม ทำอยู่เสมอ และสอดคล้องกับที่อัลกุรอานได้ชี้แนะเรา

มีรายงานท่านเกาะตาดะฮ์ ท่านได้ถามอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ซึ่งเป็นเศาะหาบะฮ์ที่ใกล้ชิดท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากที่สุด รายงานมีดังนี้

سَأَلَ قَتَادَةُ أَنَسًا: أَيُّ دَعْوَةٍ كانَ يَدْعُو بهَا النَّبيُّ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ أَكْثَرَ؟ قالَ: كانَ أَكْثَرُ دَعْوَةٍ يَدْعُو بهَا يَقُولُ: اللَّهُمَّ آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً، وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً، وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ. [رواه مسلم، رقم: 2690]

ความว่า เกาะตาดะฮ์ถามท่านอะนัสว่า ดุอาอ์บทใดที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ใช้มากที่สุดในการขอ
ดุอาอ์ อะนัสตอบว่า คือดุอาอ์นี้

اللَّهُمَّ آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً، وَفِي الآخِرَةِ حَسَنَةً، وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ.

 

ในอัลกุรอานใช้คำว่า “ร็อบบะนา อาตินา” ในหะดีษ ใช้คำว่า “อัลลอฮุมมะ อาตินา” แต่ความหมายใกล้เคียงกันหรืออันเดียวกัน ใช้อันไหนก็ได้ เพราะมีปรากฏทั้งในอัลกุรอานและในหะดีษ

เพราะฉะนั้นพี่น้องครับ ใครที่ไม่จำดุอาอ์นี้เขาย่อมขาดทุนเหลือเกิน ขอให้จำและตระหนักทุกครั้งที่เราขอดุอาอ์นี้ว่า เรากำลังแสวงหาทั้งสองโลก เราไม่ได้แสวงหาแค่ดุนยา แต่เราแสวงหาอาคิเราะฮ์ก่อนดุนยาด้วยซ้ำไป

มีระบุเพิ่มเติมในตอนท้ายของหะดีษที่เรายกมาข้างต้นว่า

وَكانَ أَنَسٌ إذَا أَرَادَ أَنْ يَدْعُوَ بدَعْوَةٍ دَعَا بهَا، فَإِذَا أَرَادَ أَنْ يَدْعُوَ بدُعَاءٍ دَعَا بهَا فِيهِ.

ความหมายว่า ทุกครั้งที่อะนัสขอดุอาอ์อื่นๆ ท่านก็จะขอดุอาอ์นี้ตามไปด้วยเสมอ หรือจะต้องมีดุอาอ์นี้ร่วมอยู่ด้วยทุกครั้งไป (บันทึกโดยมุสลิม 2690)

ในขณะที่ อิบนุล ก็อยยิม (ดูใน มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 2/274-280) มีความเห็นว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เองก็จะอ่านดุอาอ์นี้ทุกครั้ง แม้ว่าท่านจะขอดุอาอ์อื่นๆ ด้วยก็ตาม  

كَانَ لَا يَدَعُهُ: وَإِنْ دَعَا بِدُعَاءٍ أَرْدَفَهُ إِيَّاهُ. 

ดุอาอ์ ร็อบบะนา อาตินา ฟิด ดุนยา หะสะนะฮ์ วะฟิล อาคิเราะติ หะสะนะฮ์ จะอยู่กับท่านนบีตลอด แม้ว่าท่านจะอ่านดุอาอ์อื่นๆ มาก่อนก็ตาม ท่านก็จะตามด้วยดุอาอ์นี้ตอนท้ายทุกครั้ง  

 

พี่น้องครับ

อะไรคือความดีงามในดุนยา ตามที่ปรากฏในดุอาอ์นี้ บรรดาอุละมาอ์ได้ให้คำอธิบายไว้ เช่น

قال الإمام ابن كثير رحمه الله: فَجَمَعَتْ هَذِهِ الدَّعْوَةُ كُلَّ خَيْرٍ فِي الدُّنْيَا ، وَصَرَفَتْ كُلَّ شَرٍّ ، فَإِنَّ الْحَسَنَةَ فِي الدُّنْيَا تَشْمَلُ كُلَّ مَطْلُوبٍ دُنْيَوِيٍّ ، مِنْ عَافِيَةٍ ، وَدَارٍ رَحْبَةٍ ، وَزَوْجَةٍ حَسَنَةٍ ، وَرِزْقٍ وَاسِعٍ ، وَعِلْمٍ نَافِعٍ ، وَعَمَلٍ صَالِحٍ ، وَمَرْكَبٍ هَنِيءٍ ، وَثَنَاءٍ جَمِيلٍ ، إِلَى غَيْرِ ذَلِكَ مِمَّا اشْتَمَلَتْ عَلَيْهِ عِبَارَاتُ الْمُفَسِّرِينَ ، وَلَا مُنَافَاةَ بَيْنَهَا ، فَإِنَّهَا كُلَّهَا مُنْدَرِجَةٌ فِي الْحَسَنَةِ فِي الدُّنْيَا. 

ท่านอิบนุ กะษีร ได้กล่าวว่า ดุอาอ์นี้ได้รวบรวมความดีงามทุกชนิดในดุนยา และปกป้องให้พ้นจากความชั่วร้ายทั้งหมด ความดีในดุนยานั้นครอบคลุมทั่วถึงทุกอย่างที่จำเป็นตั้งแต่สุขภาพดี ที่อยู่อาศัยกว้างขวาง คู่ชีวิตที่ดี ริสกีที่ล้นหลาม ความรู้ที่เป็นประโยชน์ อะมัลที่ศอลิห์ พาหนะที่สะดวก คำสรรเสริญที่งดงาม และอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในอรรถาธิบายของบรรดาอุละมาอ์ตัฟซีร ซึ่งแม้จะมีสำนวนต่างกันแต่ความหมายไม่ได้ขัดแย้งกันเลย ทั้งหมดนั้นล้วนรวมอยู่ในนิยามของคำว่าความดีงามใน
ดุนยาทั้งสิ้น (ตัฟซีร อิบนุ กะษีร
1/558)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่มีประโยชน์และอะมัลที่ศอลิห์ ตามที่อิบนุลก็อยยิมเคยกล่าวไว้ (ดูใน มิฟตาห์ ดาร์ อัส-สะอาดะฮ์ 1/121)

فإِنّ أَجَلَّ حَسَنَاتِ الدُّنْيَا الْعِلْمُ النَافِعُ وَالْعَمَلُ الصَّالحُ.

ความรู้และอะมัลศอลิห์ เป็นความดีงามที่ดีที่สุดในโลกดุนยาที่เราต้องขอจากอัลลอฮ์ ไม่ใช่ขอแต่ริสกี เราขอริสกีเพื่อเอาไปใช้ในการหาความรู้และทำอะมัลศอลิห์ต่ออัลลอฮ์ นี่คือหะสะนะฮ์สำหรับชีวิตในโลกดุนยา

 

พี่น้องครับ

แล้วหะสะนะฮ์/ความดีงามในโลกอาคิเราะฮ์ คืออะไรบ้าง?

หะสะนะฮ์ในดุนยานั้นถือว่าดีแล้ว แต่ถ้าเราเอาไปเทียบกับหะสะนะฮ์ในอาคิเราะฮ์แล้วไม่สามารถจะเทียบเคียงได้เลย

وَأَمَّا الْحَسَنَةُ فِي الْآخِرَةِ فَأَعْلَى ذَلِكَ دُخُولُ الْجَنَّةِ وَتَوَابِعُهُ مِنَ الْأَمْنِ مِنَ الْفَزَعِ الْأَكْبَرِ فِي الْعَرَصَاتِ، وَتَيْسِيرِ الْحِسَابِ وَغَيْرِ ذَلِكَ مِنْ أُمُورِ الْآخِرَةِ الصَالِحٍةِ.

ความว่า ความดีงามในอาคิเราะฮ์นั้น ที่สูงส่งที่สุดก็คือ การได้เข้าสวรรค์ และความสุขอื่นๆ ที่รวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยจากสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวอันใหญ่หลวง ณ สถานที่แห่งการสอบสวนพิพากษา การคิดบัญชีอย่างง่ายดาย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องความดีงามในอาคิเราะฮ์ (ตัฟซีร อิบนุ กะษีร 1/558)

การได้เข้าสวรรค์คือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเรา ไม่มีเป้าหมายอื่นใดที่จะสูงส่งยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีก เพราะฉะนั้น การได้เข้าสวรรค์คือหะสะนะฮ์ที่เราทุกคนต้องการ รวมถึงความง่ายดายอื่นๆ ก่อนที่จะได้เข้าสวรรค์ ไม่ใช่ได้เข้าสวรรค์แต่ต้องผ่านการลงโทษก่อน ซึ่งเราไม่ต้องการเช่นนั้น

 

พี่น้องทุกท่าน

ส่วนท่อนสุดท้ายในดุอาอ์ที่กล่าวถึงการรอดพ้นจากนรกนั้นหมายถึงว่า

 وَأَمَّا النَّجَاةُ مِنَ النَّارِ فَهُوَ يَقْتَضِي تَيْسِيرَ أَسْبَابِهِ فِي الدُّنْيَا، مِنَ اجْتِنَابِ الْمَحَارِمِ وَالْآثَامِ وَتَرْكِ الشُّبَهَاتِ وَالْحَرَامِ.

ความว่า การรอดพ้นจากนรกนั้น หมายรวมถึงการที่อัลลอฮ์ทำให้มีสาเหตุต่างๆ ที่เป็นปัจจัยให้เรารอดพ้นจากนรก ตั้งแต่ตอนที่เรามีชีวิตในดุนยา เช่น การที่เราหลีกเลี่ยงห่างไกลจากการประพฤติบาป ไม่กระทำสิ่งต้องห้าม และการที่เราละทิ้งสิ่งคลุมเครือและสิ่งที่หะรอม (ตัฟซีร อิบนุ กะษีร 1/558)

หมายถึง ตอนที่เรามีชีวิตในดุนยานี้ เราขอจากอัลลอฮ์ว่า อย่าให้เราเข้าไปคลุกคลีเข้าไปเผชิญอยู่กับอบายมุขทั้งหลาย อะไรก็ตามที่เป็นสาเหตุทำให้คนผู้หนึ่งต้องเป็นชาวนรก ขอให้อัลลอฮ์ช่วยปกป้องเราอย่าให้เราไปทำสิ่งเหล่านั้น

ด้วยความสำคัญของดุอาอ์นี้ ดังนั้นเราจะเห็นบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็อ่านดุอาอ์นี้อย่างแข็งขันไม่ต่างกันเลย

ครั้งหนึ่ง ท่านอับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เดินเฏาะวาฟรอบกะอฺบะฮ์ แล้วก็มีคนเดินตามท่านเพื่อที่จะพยายามสังเกตว่าท่านอ่านดุอาอ์อะไรบ้างเพื่อที่จะได้อ่านตาม ปรากฏว่าเมื่อเฏาะวาฟเสร็จชายคนนั้นก็พูดกับท่านอับดุรเราะห์มานว่า ฉันได้ยินท่านอ่านแต่ดุอาอ์ว่า ร็อบบะนา อาตินา ฟิด ดุนยา หะสะนะฮ์ วะฟิล อาคิเราะติ หะสะนะฮ์  

ท่านอับดุรเราะห์มานกล่าวแก่ชายคนนั้นว่า ก็เพราะ
ดุอาอ์นี้มันรวมความดีทุกประการไว้แล้วทั้งหมดมิใช่หรือ? (บันทึกโดย อัฏ-เฏาะบะรอนีย์)
[1]

เช่นเดียวกับท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ที่อ่านดุอาอ์นี้ในเฏาะวาฟของท่าน (บันทึกโดย อิบนุ อบี ชัยบะฮ์) [2]

ในขณะที่ ชาวบัศเราะฮ์ ได้มาหาท่าน อะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เพื่อให้ท่านขอดุอาอ์ ท่านก็ขอดุอาอ์นี้ให้กับพวกเขา ท่านบอกว่า ถ้าพวกเจ้าได้ตามดุอาอ์นี้พวกเจ้าก็ได้ความดีทั้งหมดในดุนยาและอาคิเราะฮ์แล้ว[3]

ท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้สอนผู้คนให้อ่าน
ดุอาอ์นี้ก่อนที่จะให้สลามในละหมาด
[4]

เพราะเหตุใดที่บรรดาให้ความสำคัญกับดุอาอ์นี้ เนื่องจากมันสั้นมากแต่มีความหมายที่ครบทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิตของเราจริงๆ

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

เราอาจจะเคยได้ยินกับคนที่สิ้นหวังกับชีวิตดุนยา แสวงหาดุนยาแล้วไม่ได้ตามที่หวัง เรื่องดังกล่าวนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และมุ่งหาแต่ความสุขทางโลกอย่างเดียว แน่นอนว่านี่คือพฤติกรรมที่ผิด

อย่างไรก็ตาม การสิ้นหวังกับชีวิตในดุนยานั้นว่าหนักแล้ว แต่การสิ้นหวังกับชีวิตในอาคิเราะฮ์นั้นหนักหนายิ่งกว่า สิ้นหวังกับอาคิเราะฮ์คือการที่เรามองว่าตัวเองหมดหนทางจะเป็นคนดี ไม่มีทางที่จะเข้าสวรรค์ ก็เลยปล่อยตัวเลยตามเลย จะเกิดอะไรก็ให้เกิด อัลลอฮ์จะลงโทษเราอย่างไรก็ปล่อยไปตามยถากรรม ซึ่งไม่ควรจะมีความคิดแบบนี้โดยเด็ดขาด

มีรายงานจากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า

أنَّ رَسولَ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ عَادَ رَجُلًا مِنَ المُسْلِمِينَ قدْ خَفَتَ فَصَارَ مِثْلَ الفَرْخِ، فَقالَ له رَسولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ: هلْ كُنْتَ تَدْعُو بشَيءٍ، أَوْ تَسْأَلُهُ إيَّاهُ؟ قالَ: نَعَمْ؛ كُنْتُ أَقُولُ: اللَّهُمَّ ما كُنْتَ مُعَاقِبِي به في الآخِرَةِ، فَعَجِّلْهُ لي في الدُّنْيَا، فَقالَ رَسولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ: سُبْحَانَ اللهِ! لا تُطِيقُهُ -أَوْ لا تَسْتَطِيعُهُ- أَفلَا قُلْتَ: اللَّهُمَّ آتِنَا في الدُّنْيَا حَسَنَةً، وفي الآخِرَةِ حَسَنَةً، وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ، قالَ: فَدَعَا اللهَ له، فَشَفَاهُ. [رواه مسلم: 2688]

ความว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ไปเยี่ยมชายมุสลิมคนหนึ่งที่ป่วยจนหมดแรงมีสภาพอ่อนแอเหมือนลูกนก ท่านนบีถามเขาว่า ท่านเคยขอดุอาอ์หรือขออะไรไว้บ้างหรือเปล่า? เขาตอบว่า ฉันเคยขอดุอาอ์ว่า โอ้ อัลลอฮ์ ถ้ามีบาปใดที่พระองค์จะลงโทษฉันในอาคิเราะฮ์ ก็ขอให้พระองค์เร่งลงโทษในขณะที่ฉันมีชีวิตในดุนยานี้เลย ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า สุบหานัลลอฮ์ ท่านไม่สามารถทนการลงโทษของอัลลอฮ์ในดุนยานี้ได้หรอก ท่านน่าจะขอดุอาอ์นี้แทนว่า 

اللَّهُمَّ آتِنَا في الدُّنْيَا حَسَنَةً، وفي الآخِرَةِ حَسَنَةً، وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ.

จากนั้นท่านนบีก็ขอดุอาอ์ให้เขา จนเขาหายจากอาการป่วยดังกล่าว (บันทึกโดยมุสลิม 2688)

การขอดุอาอ์แบบที่เศาะหาบะฮ์คนนี้ได้ขอไว้ เป็นการขอดุอาอ์ที่ไม่ถูกต้อง อย่าขอดุอาอ์ให้อัลลอฮ์ลงโทษเราในดุนยาแทนการลงโทษในนรก อย่าทำตัวเหมือนสิ้นหวังกับอาคิเราะฮ์ แต่ให้ขอดุอาอ์ตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนไว้ นั่นคือขอให้ได้รับทั้งความดีงามทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์ และขอให้รอดพ้นจากนรก

ดุอาอ์นี้เป็นกำลังใจ หากเราไม่ได้รับสิ่งดีในดุนยา เรารู้สึกท้อถอย เราก็ขอต่ออัลลอฮ์กับดุอาอ์นี้ได้ หากในอาคิเราะฮ์เราไม่แน่ใจว่าจะได้รับอะไรบ้าง เราอยากจะได้สิ่งที่ดีในวันนั้นดุอาอ์นี้ก็อยู่กับเรา และแน่นอนที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการที่เราได้รอดพ้นจากสาเหตุที่ทำให้เราต้องกลายเป็นชาวนรก



[1] قال عطاء: "طاف عبد الرحمن بن عوف -رضي الله عنه-، فاتَّبعه رجل ليسمع ما يقول، فإذا هو يقول: (ربَّنا آتنا في الدنيا حسنة وفي الآخرة حسنة، وقِنا عذاب النار) حتى فرغ، فقال له الرجل: أصلحك الله اتَّبعتُك فلم أسمعك تزيد على كذا وكذا، فقال: أو ليس ذلك كلَّ الخير؟!"(رواه الطبراني في الدعاء.

[2] قال حبيب بن صهبان: "سمعت عمر بن الخطاب -رضي الله عنهم- وهو يطوف حول البيت وليس له هِجِّيرَى (أي: دأب وعادة، كثر كلام)، إلا هؤلاء الكلمات: "ربنا آتنا في الدنيا حسنة وفي الآخرة حسنة وقِنا عذاب النار"(رواه ابن أبي شيبة.

[3] قيل لأنس بن مالك -رضي الله عنه-: "إن إخوانك أتوك من البصرة لتدعو الله لهم، قال: اللهم اغفر لنا وارحمنا، وآتنا في الدنيا حسنة وفي الآخرة حسنة وقنا عذاب النار، فاستزادوه؛ فقال مثلها، فقال: "إن أوتيتم هذا فقد أوتيتم خير الدنيا والآخرة"(رواه البخاري في الأدب المفرد وصحَّحه الألباني.

[4] وكان ابن مسعود -رضي الله عنه- يعلِّم الناس أن يدعوا بهذه الدعوة قبيل السلام في الصلاة (رواه ابن أبي شيبة).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น