สรุปหลักการตะดับบุรอัลกุรอาน จาก อัล-เกาะวาอิด อัล-ฮิสาน ของ อัส-สะอฺดีย์
ความสำคัญของการอรรถาธิบายอัลกุรอาน
การอรรถาธิบายอัลกุรอาน หรือการตัฟซีร ถือเป็นศาสตร์ที่ทรงคุณค่า จำเป็น และสำคัญที่สุดในศาสนาอิสลาม เพราะเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจพระดำรัสของอัลลอฮ์ ซึ่งมีเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาสตร์นี้มีคุณค่า ได้แก่:
1. อัลลอฮ์ทรงสั่งให้ ตะดับบุร พิจารณาและไตร่ตรองทำความเข้าใจความหมายของอัลกุรอาน และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต
2. อัลลอฮ์ทรงยกย่องผู้ที่เรียนรู้และใช้ชีวิตตามทางนำของอัลกุรอาน พระองค์สัญญาที่จะมอบรางวัลอันสูงส่งที่สุด
3. การเรียนรู้อัลกุรอานช่วยให้มนุษย์เปี่ยมได้ด้วยด้วยแสงแห่งทางนำ ความดี และความเมตตา อัลลอฮ์จะทรงเตรียมให้ผู้ที่เข้าใจอัลกุรอานจะได้รับชีวิตที่ดีงามและเต็มไปด้วยบุญกุศลที่ยั่งยืนถาวร
กฎข้อที่หนึ่ง: วิธีสืบทอดการเรียนรู้ตัฟซีร
เราควรเรียนรู้และทำความเข้าใจความหมายพระดำรัสของอัลลอฮ์ เช่นเดียวกับที่บรรดาเศาะหาบะฮ์ได้เรียนรู้ โดยที่พวกเขาจะศึกษาอัลกุรอานทีละสิบอายะฮ์ อาจจะมากหรือน้อยกว่านั้นเล็กน้อย และไม่ก้าวข้ามไปจนกว่าจะเข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้ รวมถึงประยุกต์ใช้ในด้านศรัทธา วิชาความรู้ และการปฏิบัติ ดังนี้:
1. ตระหนักว่าอัลกุรอานเป็นพระดำรัสจากองค์ผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทั้งที่เปิดเผยและเร้นลับ ที่ส่งตรงมาให้พวกเขา สั่งให้พวกเขาทำความเข้าใจความหมาย และดำเนินชีวิตตามสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ ในอัลกุรอานมีเนื้อหาที่สาธยายให้ความชัดเจนเกี่ยวกับทุกสิ่ง รับประกันถึงผลประโยชน์และคุณค่าต่างๆ ไว้หมดแล้ว รวมทั้งยับยั้งสิ่งที่เป็นโทษและอันตรายต่อชีวิตมนุษย์
2. ศรัทธาในเนื้อหาของอัลกุรอาน ทั้งสิ่งที่เป็นหลักความเชื่อและเรื่องราวที่ถูกเล่าในอัลกุรอาน
3. ปฏิบัติตามคำสั่งและข้อห้ามในอัลกุรอาน ดำเนินชีวิตตามแนวทางที่อัลลอฮ์บัญญัติ
4. ประพฤติตนด้วยนิสัยและมารยาทตามหลักคำสอนอัลกุรอาน
5. นำหลักการจากอัลกุรอานมาประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์ในชีวิตจริง วิเคราะห์และประยุกต์ใช้หลักคำสอนกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่พบเจอทั้งกับตัวเองและผู้อื่น
6. ประเมินตนเอง
ก. ตรวจสอบว่าตนเองปฏิบัติตามหลักคำสอนของอัลกุรอานได้เต็มที่หรือขาดตกบกพร่องไหม?
ข. มีวิธีการหรือแนวทางอย่างไรเพื่อให้ยืนหยัดบนผลงานที่ดี และแก้ไขสิ่งที่บกพร่อง?
ค. จะทำอย่างไรเพื่อขจัดสิ่งที่ชั่วร้ายเป็นอันตรายออกไปจากชีวิต?
กฎข้อที่สอง: การเข้าใจหลักการ “อุมูม” (สำนวนที่ให้ความหมายที่ครอบคลุมทั่วไป)
เมื่อมีคำสั่งหรือข้อกำหนดใด ๆ ควรตรวจสอบความหมายและดูว่าสิ่งใดที่รวมอยู่และสิ่งใดที่ไม่รวมอยู่ในคำสั่งนั้น ด้วยเหตุนี้ การเข้าใจขอบเขตหรือบทบัญญัติของสิ่งที่อัลลอฮ์ประทานลงมาแก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงเป็นพื้นฐานของความดีและความสำเร็จ ขณะที่ความไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นรากฐานของความชั่วร้ายและความขาดทุน
ตัวอย่างของหลักการ “อุมูม” หรือสำนวนที่ให้ความหมายครอบคลุม อาทิ:
1. อักษร "อัล" (الألف واللام) ที่ใช้ในการอธิบายคุณลักษณะ
- เช่น ในพระดำรัสของอัลลอฮ์:
﴿العليم﴾
(ผู้ทรงรอบรู้)
- หรือ
﴿وَتَعَاوَنُوا عَلَى الْبِرِّ وَالتَّقْوَى وَلا تَعَاوَنُوا عَلَى الْإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ﴾
(จงช่วยเหลือกันในความดีและการยำเกรง และอย่าได้ช่วยกันในบาปและความเป็นศัตรู)
2. เมื่อคำนามไม่มีการระบุชัดเจน (นะกิเราะฮ์) และอยู่ในบริบทของการปฏิเสธ การห้าม เงื่อนไข หรือคำถาม เช่น
﴿وَاعْبُدُوا اللَّهَ وَلا تُشْرِكُوا بِهِ شَيْئاً﴾
(จงเคารพสักการะอัลลอฮ์ และอย่าได้ตั้งภาคีใด ๆ กับพระองค์)
- หรือ
﴿يَوْمَ لا تَمْلِكُ نَفْسٌ لِنَفْسٍ شَيْئاً﴾
(ในวันนั้น ไม่มีชีวิตใดสามารถครอบครองสิ่งใดเพื่ออีกชีวิตหนึ่งได้)
3. การใช้คำนามเอกพจน์ที่ถูกนำไปเชื่อมต่อ (มุฟร็อด มุฎอฟ)
- เช่น
﴿أُولَئِكَ الَّذِينَ هَدَى اللَّهُ فَبِهُدَاهُمُ اقْتَدِهْ﴾
(เหล่านี้คือผู้ที่อัลลอฮ์ทรงชี้แนะ จงเดินตามทางนำของพวกเขา)
4. การละเว้นส่วนที่เกี่ยวข้องในประโยค (หัซฟ์ อัล-มุตะอัลลัก) เพื่อขยายความหมายให้ครอบคลุม
- เช่น
﴿أَلْهَاكُمُ التَّكَاثُرُ﴾
(การแย่งชิงเพื่อเพิ่มพูนทำให้พวกเจ้าหลงลืม) ซึ่งในโองการนี้ไม่ได้ระบุว่าแย่งชิงในเรื่องอะไร จึงครอบคลุมความหมายการแย่งชิงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สิน ลูกหลาน ตำแหน่ง และอื่นๆ เป็นต้น
กฎข้อที่สาม: การพิจารณาความหมายโดยนัย ความหมายโดยตรง และความหมายผูกพัน
เมื่อทำการตีความอัลกุรอาน นักอรรถาธิบายต้องคำนึงถึงความหมายที่ตรงกับคำศัพท์ (ดะลาละฮ์ อัล-มุฏอบะเกาะฮ์) ความหมายโดยนัย (ดะลาละฮ์ อัฏ-ฏะฎ็อมมุน) และความหมายผูกพัน (ดะลาละฮ์ อัล-อิลติซาม) ที่นำไปสู่ความเข้าใจเพิ่มเติมแม้จะไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง หลักการนี้เป็นหนึ่งในกฎสำคัญของการตัฟซีร ต้องใช้ความคิดเชิงลึกและการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
วิธีการพิจารณาหลักการนี้:
1. เข้าใจความหมายของคำที่ใช้ในอัลกุรอาน
2. เมื่อรู้ความหมายแล้ว ให้ไตร่ตรององค์ประกอบที่จำเป็นต้องมีของความหมายเหล่านั้น รวมถึงเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากปราศจากองค์ประกอบหรือเงื่อนไขดังกล่าวอาจจะทำให้ความหมายที่ว่าไม่สมบูรณ์
3. หลังจากนั้นให้พิจารณาผลพวง ข้อปลีกย่อย และข้อสรุปที่งอกเงยออกมาบนพื้นฐานของความหมายดังกล่าว ให้ฝึกฝนวิธีการคิดไตร่ตรองในรูปแบบนี้จนกลายเป็นทักษะที่มีความชำนาญ
ตัวอย่างของหลักการนี้ เช่น
ก. พระนามของอัลลอฮ์ เช่น "อัร-เราะห์มาน" และ "อัร-เราะฮีม" พระนามทั้งสองนี้ความหมายโดยตรงก็คือพระเมตตาอันกว้างขวางของพระองค์ และยังสื่อในความหมายโดยนัยถึงความสมบูรณ์ของพระองค์ในชีวิต พระเดชานุภาพ และพระปรีชาญาณของพระองค์ด้วย เพราะความเมตตาไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ สุดท้ายก็ยังมีความหมายผูกพันที่ชี้ให้เห็นว่าความเมตตาของพระองค์ทำให้ทุกบทบัญญัติที่ทรงกำหนดเปี่ยมไปด้วยแสงสว่างและความเมตตาด้วยนั่นเอง
ข. ตัวอย่างคำพูดของบรรดาผู้ที่ต่อต้านท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในโองการที่ว่า
﴿وَقَالُوا إِنْ نَتَّبِعِ الْهُدَى مَعَكَ نُتَخَطَّفْ مِنْ أَرْضِنَا﴾
ความว่า “พวกเขากล่าวว่า หากเราตามทางนำพร้อมกับเจ้า(โอ้มุหัมมัด) เราก็จะถูกโจมตีออกมาจากแผ่นดินของเรา”
โองการนี้มีความหมายโดยนัยที่แสดงถึงการคิดในแง่ลบของพวกเขาต่ออัลลอฮ์ โดยคิดว่าพระองค์จะไม่ช่วยเหลือศาสนาของพระองค์และไม่ทำให้พระดำรัสของพระองค์สมบูรณ์
กฎข้อที่สี่: อัลลอฮ์ทรงปิดท้ายอายะฮ์ด้วยพระนามอันวิสุทธิ์ของพระองค์ (อัล-อัสมาอ์ อัล-หุสนา)
เพื่อชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ถูกกล่าวถึงในโองการนั้นมีความเกี่ยวข้องกับพระนามนั้น
ตัวอย่างเช่น:
- โองการเกี่ยวกับพระเมตตา มักถูกปิดท้ายด้วยพระนามที่แสดงถึงความเมตตาของพระองค์
- โองการเกี่ยวกับการลงโทษ มักถูกปิดท้ายด้วยพระนามที่เกี่ยวกับความเกรียงไกร เดชานุภาพ ปรีชาญาณ ความรอบรู้ และการควบคุม
- พระนามที่สื่อถึงความยิ่งใหญ่ ความเกรียงไกร และพระอำนาจ จะทำให้หัวใจเปี่ยมไปด้วยความเคารพและยำเกรงต่ออัลลอฮ์
- พระนามที่สื่อถึงความเมตตา ความอารี และความโปรดปราน กระตุ้นหัวใจให้มีความหวังและพึ่งพิงในพระเมตตาของพระองค์
- พระนามที่สื่อถึงความรักและความสมบูรณ์แบบของอัลลอฮ์ ทำให้หัวใจเต็มไปด้วยความรัก การศิโรราบ และการมอบตัวต่อพระองค์
- พระนามที่แสดงถึงความรอบรู้และการเข้าถึงอย่างถี่ถ้วนของอัลลอฮ์ ทำให้มนุษย์มีความตระหนักในการเฝ้าดูของพระองค์ และมีความละอายต่อพระองค์
ตัวอย่างจากอัลกุรอาน: เมื่ออัลลอฮ์ตรัสถึงการ "نسخ" (การยกเลิกคำสั่งเดิมและแทนที่ด้วยคำสั่งใหม่) พระองค์ทรงยืนยันถึงอำนาจและความเป็นเจ้าของสูงสุดของพระองค์ ด้วยโองการ:
﴿أَلَمْ تَعْلَمْ أَنَّ اللَّهَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ * أَلَمْ تَعْلَمْ أَنَّ اللَّهَ لَهُ مُلْكُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ﴾
นี่เป็นการโต้แย้งผู้ที่ปฏิเสธหลักการนี้เช่นพวกยิว โดยแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่พระองค์ทรงกระทำเป็นผลมาจากเดชานุภาพและการปกครองที่สมบูรณ์ของพระองค์ เพราะพระองค์คือผู้ทรงควบคุมจัดการบ่าวพระองค์ ทรงตัดสินระหว่างพวกเขาด้วยการตัดสินตามที่พระองค์กำหนดและด้วยบทบัญญัติของพระองค์ จึงไม่มีสิ่งใดที่จะกีดขวางพระองค์ได้
ความรู้สึกทางใจเช่นนี้คือสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งมนุษย์ควรฝึกฝนตนเองให้มีความรู้สึกเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งจิตใจและจิตวิญญาณของเขาโน้มนำไปสู่การศิโรราบต่ออัลลอฮ์อย่างสมบูรณ์ และด้วยการพัฒนาจิตใจและความรู้สึกทางใจเช่นนี้แหละที่จะเป็นมูลเหตุทำให้พฤติกรรมทางกายของมนุษย์สมบูรณ์ตามไปด้วย
กฎข้อที่ห้า: เป้าหมายของอุปมานิทัศน์ในอัลกุรอาน
พระเจ้าทรงใช้อุปมานิทัศน์ (อัล-มะษัล) ในอัลกุรอานเพื่ออธิบายแนวคิดสำคัญ เช่น การยืนยันความเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์ (เตาฮีด) สภาพของผู้ศรัทธาและผู้ตั้งภาคี ตลอดจนการกระทำอันยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงใช้การเปรียบเทียบความหมายเหล่านี้กับสิ่งที่สัมผัสได้หรือเห็นได้ชัด เพื่อให้หัวใจของมนุษย์สามารถเข้าใจได้เหมือนกับการเห็นด้วยตาตนเอง
ตัวอย่างจากอัลกุรอาน:
1. อัลลอฮ์ทรงเปรียบเทียบวะห์ยู (วิวรณ์) และความรู้ที่พระองค์ประทานแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กับสายฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้าสู่ผืนดิน หัวใจของมนุษย์เปรียบเสมือนแผ่นดินและหุบเขา ซึ่งรับเอาความรู้และวะห์ยูไว้เช่นเดียวกับดินที่ดูดซับน้ำ
2. เปรียบเทียบอะมัลของมนุษย์กับสวนผลไม้ สวนผลไม้เจริญงอกงามด้วยน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และตำแหน่งที่เหมาะสม ในทำนองเดียวกัน อะมัลของมนุษย์เติบโตและก่อให้เกิดผลได้ ด้วยวะห์ยูที่หล่อเลี้ยงหัวใจให้มีชีวิต เมื่อบ่าวทำอะมัลด้วยการรวบรวมเงื่อนไขทั้งหมดที่จะทำให้อะมัลนั้นถูกตอบรับ เช่น ความพยายาม ความอิคลาศ และการปฏิบัติตามสุนนะฮ์ เขาก็จะได้รับผลลัพธ์ที่งดงามเช่นเดียวกับสวนผลไม้นั้น
ขอสดุดีแด่อัลลอฮ์ ผู้ที่ด้วยพระมหากรุณาของพระองค์ การงานอันดีงามจึงลุล่วงสำเร็จ
-----------------------------------
แปลจากต้นฉบับ t.ly/uhqVE
مختصر قواعد تدبر القرآن مهذبة من القواعد الحسان لابن سعدي
إعداد: د. طالب بن عمر الكثيري
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น