วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - บั้นปลายสุดท้าย - ซุฟอัม อุษมาน


ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 

 
หรือบน SoundCloud
 

พี่น้องผู้ร่วมศรัทธาที่อัลลอฮ์รักทุกท่าน

ชีวิตของเราวนเวียนอยู่กับการสิ้นสุดและเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ ทุกวันจะมีการสิ้นสุดของวันและเริ่มต้นวันใหม่ ทุกเดือนก็มีสิ้นเดือนและเริ่มต้นเดือนใหม่ เช่นเดียวกับปีแต่ละปีที่จะมีช่วงเวลาสิ้นปีและเริ่มต้นปีใหม่ ในระหว่างการสิ้นสุดและการเริ่มต้นใหม่ของทุกครั้ง อาจจะดูเหมือนไม่มีอะไรสำคัญ แต่บางทีก็แฝงไว้ด้วยบทเรียนมากมายสำหรับใครที่รู้จักพิจารณาและไตร่ตรอง

ก่อนจะเริ่มต้นใหม่ด้วยความรู้สึกใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ แผนการใหม่ๆ เราจะต้องสรุปทบทวนสิ่งที่ผ่านไปก่อนแล้วด้วย เพื่อจะดูว่าที่ผ่านมาผลงานที่เราทำไปมันดีมากน้อยแค่ไหน อันไหนที่เราทำมันอย่างดีแล้วก็ทำให้ดีและพัฒนาให้มันดียิ่งขึ้นต่อไป อันไหนที่ยังไม่ดีหรืออันไหนที่เป็นข้อผิดพลาดก็ต้องหาทางแก้ไขปรับปรุงให้กลับมาดีขึ้นในอนาคต นี่คือธรรมชาติของการสิ้นสุดและการเริ่มต้นใหม่

 

พี่น้องครับ

ในโลกดุนยานี้ การสิ้นสุดและการเริ่มต้นใหม่ อาจจะเกิดขึ้นได้ซ้ำๆ หลายครั้ง หมดปีเก่าขึ้นปีใหม่ หมดวันเก่าขึ้นวันใหม่ หมดสัปดาห์เก่าขึ้นสัปดาห์ใหม่ เกิดขึ้นหมุนเวียนไปเรื่อยๆ แต่ทว่ามีการสิ้นสุดหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว การสิ้นสุดที่ว่านี้จะไม่มีโอกาสให้เราได้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือปรับปรุงสิ่งไม่ดีขอเราอีก ถ้าปีเก่าผ่านไปปีใหม่ผ่านมาเราก็ยังมีโอกาสที่จะแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ในปีที่ผ่านมาได้ แต่การสิ้นสุดที่ว่านี้ไม่มีโอกาสที่เราจะได้แก้ไขอีกแล้ว ผิดแล้วผิดเลย พลาดแล้วพลาดเลย การสิ้นสุดที่ว่าก็คือการสิ้นชีวิต การจากไปโดยไม่มีวันหวนคืน หรือที่เรียกว่า อัล-คอติมะฮ์ บั้นปลายสุดท้ายในชีวิตของการเป็นมนุษย์

จุดสิ้นสุด บั้นปลายสุดท้ายในชีวิต คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่เราจะต้องระวังและต้องตระหนักอยู่เสมอว่าบั้นปลายของเราจะเป็นอย่างไร

มีตัวอย่างเรื่องราวของผู้คนในอดีตเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเรื่องราวของสุฟยาน อัษ-เษารีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.161)

بَكَى سُفْيَانُ الثَّوْرِيُّ لَيْلَةً إِلَى الصَّبَاحِ، فَلَمَّا أَصْبَحَ قِيلَ لَهُ: كُلُّ هَذَا خَوْفًا مِنَ الذُّنُوبِ؟، فَأَخَذَ تِبْنَةً مِنَ الْأَرْضِ، وَقَالَ: "الذُّنُوبُ أَهْوَنُ مِنْ هَذَا، وَإِنَّمَا أَبْكِي مِنْ خَوْفِ سُوءِ الْخَاتِمَةِ".. 

ความว่า คืนหนึ่ง สุฟยาน อัษ-เษารีย์ ร้องไห้จนถึงเช้า พอถึงเช้าก็มีคนถามท่านว่า ที่ร้องไห้ทั้งหมดนี้เพราะกลัวบาปใช่หรือไม่? ท่านสุฟยานก็เลยหยิบดินขึ้นมากำหนึ่งแล้วพูดว่า บาปนั้นเล็กน้อยกว่าดินนี้ (หมายถึงถ้ามันมีก็สามารถลบล้างได้ด้วยการอิสติฆฟารหรือขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ เพราะพระองค์นั้นทรงมีความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ต่อปวงบ่าว) แต่ที่ฉันร้องไห้ก็เพราะความกลัวและกังวลต่อบั้นปลายที่เลวร้ายต่างหาก ..

อิบนุล ก็อยยิม ได้พูดถึงคำพูดนี้ของท่านสุฟยาน อัษ-เษารีย์ว่า

قَالَ ابنُ القَيِّمِ -رَحِمَهُ اللهُ-: "وَهَذَا مِنْ أَعْظَمِ الْفِقْهِ: أَنْ يَخَافَ الرَّجُلُ أَنْ تَخْذُلَهُ ذُنُوبُهُ عِنْدَ الْمَوْتِ، فَتَحُولُ بَيْنَهُ وَبَيْنَ الْخَاتِمَةِ الْحُسْنَى". [الجواب الكافي ص 167] 

ความว่า และนี่คือความเข้าใจที่ยิ่งใหญ่มากประการหนึ่ง คือการที่คนผู้หนึ่งเกรงกลัวว่าบาปของเขาจะมาสร้างความล้มเหลวให้เขาเมื่อถึงเวลาที่วิญญาณจะออกจากร่าง เพราะบาปจะมากีดกันเขาไม่ให้เจอกับบั้นปลายที่ดี (ดู อัล-ญะวาบ อัล-กาฟีย์ หน้า 167, อ้างถึง t.ly/4vw74)

 

พี่น้องครับ

ในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีหะดีษที่เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยของท่าน จากบรรดาเศาะหาบะฮ์หลายๆ ท่าน ในจำนวนนั้นคือท่านสะฮ์ลฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

عَنْ سَهْلٍ -رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ- قَالَ: الْتَقَى النَّبِيُّ -صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ- وَالْمُشْرِكُونَ فِي بَعْضِ مَغَازِيهِ، فَاقْتَتَلُوا فَمَالَ كُلُّ قَوْمٍ إِلَى عَسْكَرِهِمْ، وَفِي الْمُسْلِمِينَ رَجُلٌ لَا يَدَعُ مِنْ الْمُشْرِكِينَ شَاذَّةً وَلَا فَاذَّةً إِلَّا اتَّبَعَهَا فَضَرَبَهَا بِسَيْفِهِ: فَقِيلَ: يَا رَسُولَ اللَّهِ مَا أَجْزَأَ أَحَدٌ مَا أَجْزَأَ فُلَانٌ، فَقَالَ: "إِنَّهُ مِنْ أَهْلِ النَّارِ"، فَقَالُوا: أَيُّنَا مِنْ أَهْلِ الْجَنَّةِ إِنْ كَانَ هَذَا مِنْ أَهْلِ النَّارِ، فَقَالَ رَجُلٌ مِنْ الْقَوْمِ: لَأَتَّبِعَنَّهُ فَإِذَا أَسْرَعَ وَأَبْطَأَ كُنْتُ مَعَهُ، حَتَّى جُرِحَ فَاسْتَعْجَلَ الْمَوْتَ فَوَضَعَ نِصَابَ سَيْفِهِ بِالْأَرْضِ وَذُبَابَهُ بَيْنَ ثَدْيَيْهِ، ثُمَّ تَحَامَلَ عَلَيْهِ فَقَتَلَ نَفْسَهُ، فَجَاءَ الرَّجُلُ إِلَى النَّبِيِّ -صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ- فَقَالَ: أَشْهَدُ أَنَّكَ رَسُولُ اللَّهِ، فَقَالَ: "وَمَا ذَاكَ"، فَأَخْبَرَهُ، فَقَالَ: "إِنَّ الرَّجُلَ لَيَعْمَلُ بِعَمَلِ أَهْلِ الْجَنَّةِ فِيمَا يَبْدُو لِلنَّاسِ، وَإِنَّهُ لَمِنْ أَهْلِ النَّارِ، وَيَعْمَلُ بِعَمَلِ أَهْلِ النَّارِ فِيمَا يَبْدُو لِلنَّاسِ، وَهُوَ مِنْ أَهْلِ الْجَنَّةِ". [البخاري، 4207] وفي رواية: وإنما الأعمال بالخواتيم. [الدارقطني 55/416]

ความว่า ท่านสะฮ์ลฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปะทะกับพวกมุชริกีนในสงครามหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันจนกระทั่งล่าถอยไปยังที่ตั้งกองกำลังของแต่ละฝั่ง และในฝั่งของกองทัพมุสลิมนั้นมีชายคนหนึ่งที่สู้รบไม่หยุด เขาตามไปสังหารศัตรูทุกคนที่เห็นด้วยดาบของเขา ก็เลยมีคนพูดกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า ไม่มีใครที่กล้าหาญชาญชัยและมีผลงานมากกว่าไปกว่าผู้ชายคนนี้อีกแล้ว แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พูดว่า “เขาเป็นชาวนรก” บรรดาเศาะหาบะฮ์ต่างแปลกใจและพูดว่า ใครที่จะเป็นชาวสวรรค์ได้อีกถ้าผู้ชายคนนี้เป็นชาวนรก? จากนั้นก็เศาะหาบะฮ์คนหนึ่งก็พูดว่า ฉันจะตามไปดูเขาเอง ไม่ว่าเขาจะไปไหนก็จะติดตามดูอยู่ไม่ให้คลาดสายตา ในที่สุดก็เห็นผู้ชายคนนั้นได้รับบาดเจ็บจนเขาทนต่อบาดแผลไม่ไหวจึงปักดาบของตัวเองบนพื้นและให้ปลายดาบอยู่ระหว่างหน้าอก จากนั้นก็ปล่อยให้ตัวเองทับทิ่มลงไปจนตัวเองสิ้นใจ เศาะหาบะฮ์ที่ติดตามอยู่จึงกลับมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วกล่าวว่า ฉันขอเป็นพยานว่าท่านคือศาสนทูตของอัลลอฮ์ ท่านนบีถามว่า “เกิดอะไรขึ้น?” เขาก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า “ชายคนหนึ่งอาจจะทำงานบางอย่างที่เป็นพฤติกรรมของชาวสวรรค์ในสายตาของผู้คนทั่วไป ในขณะที่เขาเป็นชาวนรก และชายคนหนึ่งอาจจะทำเรื่องบางอย่างที่เป็นพฤติกรรมของชาวนรก ในขณะที่เขาเป็นชาวสวรรค์” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 4207) ในบางรายงานมีว่า “แท้จริง การงานต่างๆ นั้นดูที่บั้นปลายของมัน” (บันทึกโดย อัด-ดาเราะกุฏนีย์ 55/416)

การฆ่าตัวตายเป็นบาปใหญ่ ซึ่งในอะกีดะฮ์ของอะฮ์ลุสสุนนะฮ์เชื่อว่าในวันกิยามะฮ์เขาอาจจะได้รับโทษหรือได้รับการอภัยจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ก็เป็นได้ วัลลอฮุอะอฺลัม แต่การฆ่าตัวตายหลังจากที่ทำดีมามากมายถือเป็นการทำบาปในบั้นปลายสุดท้าย สุบหานัลลอฮ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะทำเป็นเรื่องเล็กๆ จะบอกว่าไม่น่าห่วงหรือไม่น่ากลัว ย่อมทำไม่ได้ การที่เราทำอะมัลของชาวสวรรค์อยู่ดีๆ แต่พอใกล้สิ้นชีวิตกลับหันเหเปลี่ยนไปทำบาปจนตายไปด้วยพฤติกรรมชั่วนั้น เป็นสิ่งที่น่ากลัว วัลอิยาซุบิลลาฮ์ มินซาลิก เช่นเดียวกับคนที่ทำผิดทำบาปมาตลอด แต่อัลลอฮ์อาจจะเปิดใจเขาในตอนท้าย จนเขามีความจริงจังที่จะเตาบัตและทำความดี สุดท้ายก็ตายด้วยการกลับตัว ก็จะได้เป็นชาวสวรรค์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้บอกว่า เกณฑ์ชี้วัดให้ดูบั้นปลายสุดท้ายว่าจบลงอย่างไร

 

พี่น้องครับ

หะดีษนี้มีประโยชน์ทั้งกับคนดีและคนชั่ว กับคนที่ทำดีมันจะช่วยเตือนว่าอย่าลำพองตน เพราะเกณฑ์ชี้วัดในการทำอะมัลไม่ใช่สิ่งที่เปิดเผยให้เห็นต่อหน้าผู้คน ดังนั้นเราอย่าลำพองตนกับอะมัลและความดีที่เราทำไปอย่างผิวเผินต่อหน้าคนอื่น ให้เช็คหัวใจตัวเองให้ดีว่า ที่เราทำความดีลงไป เราทำเพื่ออัลลอฮ์ หรือทำให้คนอื่นเห็นให้คนอื่นสรรเสริญหรือเปล่า เพราะหัวใจคือสถานที่ที่อัลลอฮ์ใช้พิจารณาว่าเราเป็นของแท้หรือของปลอม

สำหรับคนชั่ว หะดีษนี้มีประโยชน์และเป็นข่าวดีที่จะบอกกับเขาว่า คุณยังมีโอกาสที่จะพบกับความรอดพ้น แม้ว่าวันนี้คุณยังขลุกอยู่ในความชั่วและบาปที่คุณทำ แต่ถ้าคุณยังรู้สึกตัวว่าสิ่งที่ทำไปมันเป็นบาป คุณไม่ได้ยินยอม แต่บางทีชัยฏอนมันล่อลวงและลากคุณไปตกหลุมพรางของมัน คุณยังคงเสียใจ และยังอยากจะกลับตัว โอกาสแห่งการเจอจุดจบที่ดีก็ยังคงมีเสมอ อินชาอ์อัลลอฮ์

เพราะฉะนั้น อายะฮ์ที่เราได้ยินทุกวันศุกร์เวลาฟังคุฏบะฮ์ คือ สิ่งที่คอยกำชับให้เราต้องระวังตัวเองอยู่เสมอ ให้ดูแลบั้นปลายของเราให้ดี ให้มันเป็นบั้นปลายที่ดีและงดงาม

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِۦ وَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنتُم مُّسۡلِمُونَ 102 ﴾ [آل عمران: 102] 

ความว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธา จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ด้วยความยำเกรงที่แท้จริง และอย่าได้เสียชีวิตเว้นแต่ในสภาพที่พวกเจ้าเป็นมุสลิม” (อาล อิมรอน 102)

อิบนุ กะษีร อธิบายอายะฮ์นี้ว่า

أي: حافظوا على الإسلام في حال صحتكم وسلامتكم لتموتوا عليه، فإن الكريم قد أجرى عادته بكرمه أنه من عاش على شيء مات عليه، ومن مات على شيء بعث عليه، فعياذًا بالله من خلاف ذلك. [تفسير ابن كثير].

ความว่า จงรักษาดูแลอิสลามให้ดี ตอนที่ท่านยังมีสุขภาพดีและปลอดภัยดี เพื่อที่ท่านจะได้ตายด้วยสภาพที่มีอิสลาม เพราะอัลลอฮ์ผู้ทรงการุณย์ได้กำหนดเป็นกฎทั่วไปแล้วว่า ใครที่มีชีวิตอยู่กับสิ่งใดเขาก็จะตายกับสิ่งนั้น ใครที่ตายกับสิ่งใดก็จะถูกให้ฟื้นคืนชีพกับสิ่งนั้น ดังนั้น ขอให้อัลลอฮ์คุ้มครองเราให้พ้นจากสิ่งที่ตรงกันข้ามกับบั้นปลายที่ดีด้วยเทอญ (ตัฟซีร อิบนุ กะษีร)

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน

มาใช้โอกาสในการเริ่มต้นช่วงเวลาใหม่ของเรา ด้วยการตั้งปณิธานว่าตลอดชีวิตนี้จะทำความดีตลอดไปเพื่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ขอดุอาอ์ให้เราได้ทำดีตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราไม่ได้ทำดีเพื่อโอ้อวดผู้อื่น เราทำความดีเพื่อเป็นเสบียงให้กับตัวเอง ขอดุอาอ์ให้การงานทุกอย่างที่เราทำเป็นงานที่จะนำไปสู่บั้นปลายที่ดีและเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงพอพระทัย

عن أنس بن مالك عن النبي صلى الله عليه وسلم: «إذا أرادَ اللَّهُ بعبدٍ خيرًا استعملَهُ». فقيلَ: كيفَ يستعملُهُ يا رسولَ اللَّهِ؟ قالَ: «يوفِّقُهُ لعملٍ صالحٍ قبلَ الموتِ». [أخرجه الترمذي 2142، حسن صحيح]

ความว่า จากท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “เมื่อใดที่อัลลอฮ์ประสงค์ให้บ่าวประสบกับความดี พระองค์ก็จะใช้งานเขา” มีคนถามว่า พระองค์จะใช้งานเขาอย่างไร โอ้รอซูลของอัลลอฮ์? ท่านตอบว่า “พระองค์จะประทานเตาฟีกอำนวยความสะดวกให้เขาทำอะมัลศอลิห์ที่เป็นความดีก่อนที่เขาจะตาย” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ 2142, หะสัน เศาะฮีห์)

เมื่อบ่าวรู้สึกปรารถนาที่จะทำงานเพื่อรับใช้อัลลอฮ์ เพื่อรับใช้ศาสนาของพระองค์ นั่นเป็นสัญญาณว่าเขาจะได้รับสิ่งดีๆ และจะได้เจอกับบั้นปลายที่ดี อินชาอ์อัลลอฮ์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น