วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - อะเราะฟะฮ์ และ อีดิลอัฎฮา - ซุฟอัม อุษมาน

 



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 
 
หรือบน SoundCloud

พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์รักและเมตตาทุกท่าน

อัลหัมดุลิลลาฮ์ รู้สึกยินดีและชุโกรเป็นอย่างยิ่ง ที่เราทุกคนได้มีชีวิตมาจนถึงเดือนซุลหิจญะฮ์ เมื่อซุลหิจญะฮ์มาเยือน เราทุกคนต่างก็รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของอิสลาม ความยิ่งใหญ่ของศาสนาที่อัลลอฮ์ให้มาเป็นของขวัญสำหรับมวลมนุษย์ ความยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับเทศกาลแห่งการทำความดี นั่นคือสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮ์ ความยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับภาพการรวมตัวกันของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก ณ ดินแดนอันบริสุทธิ์ที่มหานครมักกะฮ์  ความยิ่งใหญ่ของอิสลามที่มาพร้อมกับวันอะเราะฟะฮ์ และวันอีดิลอัฎฮา

อะเราะฟะฮ์ คือวันรวมตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวมุสลิม ณ ทุ่งอะเราะฟาต คือภาพที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวซึ่งเกิดขึ้นเพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น ในขณะที่อีดิลอัฎฮา คือ อีดใหญ่ เพราะเราจะไม่ฉลองอีดแค่วันเดียว แต่เราจะร่วมเฉลิมฉลองอีดถึงสี่วัน คือ วันนะหร์(วันเชือดกุรบ่านวันแรก)และวันตัชรีกอีกสามวัน เป็นวันอีดที่เราสามารถจะเชือดกุรบ่านได้ทั้งสี่วัน

 

พี่น้องครับ  

ทั้งวันอะเราะฟะฮ์และอีดิลอัฎฮานั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจด้วยกันทั้งสิ้น เป็นเรื่องราวสำคัญสำหรับมุสลิมทุกคนในการที่จะเรียนรู้และนำมาใช้เป็นบทเรียนภาคปฏิบัติในชีวิตของเรา

ประการที่หนึ่ง วันอะเราะฟะฮ์ คือวันที่อัลลอฮ์ได้ประกาศถึงความสมบูรณ์ของศาสนาอิสลาม มีปรากฏในหะดีษของท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ว่า

عن عمر بن الخطاب رضي الله عنه- : أنَّ رَجُلًا مِنَ اليَهُودِ قالَ له: يا أمِيرَ المُؤْمِنِينَ، آيَةٌ في كِتَابِكُمْ تَقْرَؤُونَهَا، لو عَلَيْنَا مَعْشَرَ اليَهُودِ نَزَلَتْ، لَاتَّخَذْنَا ذلكَ اليومَ عِيدًا. قالَ: أيُّ آيَةٍ؟ قالَ: ﴿ٱلۡيَوۡمَ أَكۡمَلۡتُ لَكُمۡ دِينَكُمۡ وَأَتۡمَمۡتُ عَلَيۡكُمۡ نِعۡمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلۡإِسۡلَٰمَ دِينٗاۚ﴾ [المائدة: 3] قَالَ عُمَرُ: قدْ عَرَفْنَا ذلكَ اليَومَ، والمَكانَ الذي نَزَلَتْ فيه علَى النبيِّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ، وهو قَائِمٌ بعَرَفَةَ يَومَ جُمُعَةٍ. [البخاري 45، مسلم 3017]

ความว่า มีชายชาวยิวคนหนึ่งมาหาท่านแล้วกล่าวว่า โอ้ อะมีรุลมุอ์มินีน มีอายะฮ์หนึ่งในคัมภีร์ของพวกท่านที่พวกท่านอ่านกัน ถ้าหากมันถูกประทานลงมาแก่พวกเราชาวยิวแล้วละก็ แน่นอนเราจะยึดเอาวันดังกล่าวเป็นวันอีดเฉลิมฉลอง ท่านอุมัรถามว่าอายะฮ์ไหน? ชายคนนั้นตอบว่า

﴿ٱلۡيَوۡمَ أَكۡمَلۡتُ لَكُمۡ دِينَكُمۡ وَأَتۡمَمۡتُ عَلَيۡكُمۡ نِعۡمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلۡإِسۡلَٰمَ دِينٗاۚ﴾ [المائدة: 3]

ความหมาย “วันนี้ข้าได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แล้ว ข้าได้เติมเต็มความโปรดปรานของข้าแก่พวกเจ้า และข้าพอใจให้อิสลามเป็นศาสนาแก่พวกเจ้า” (อัล-มาอิดะฮ์ 3)

ท่านอุมัรกล่าวว่า เรารู้ว่าวันดังกล่าวคือวันไหน และรู้จักสถานที่ที่มันลงมายังท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วย มันคือวันอะเราะฟะฮ์ ในขณะที่ท่านนบียืนวุกูฟที่ทุ่งอะเราะฟาต ซึ่งมันตรงกับวันศุกร์ (อัล-บุคอรีย์ 45 และมุสลิม 3017)

 

พี่น้องครับ

วันอะเราะฟะฮ์มีความประเสริฐมากมายตามที่ถูกระบุไว้ในหะดีษต่างๆ ในจำนวนนั้นก็คือหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«ما من يومٍ أكثرُ من أن يعتِقَ اللهُ فيه عبيدًا من النَّارِ من يومِ عرفةَ، وأنه لَيدنو ثم يباهي بهم الملائكةَ فيقول: ما أراد هؤلاءِ؟ اشهَدوا ملائكتي أني قد غفرتُ لهم». [صحيح الترغيب والترهيب للألباني 1154، وأخرجه مسلم 1348 باختلاف يسير]

ความว่า “ไม่มีวันใดที่อัลลอฮ์ทรงปลดปล่อยบ่าวของพระองค์ให้พ้นจากนรกจำนวนมากที่สุด มากไปกว่าในวันอะเราะฟะฮ์ พระองค์จะเข้ามาใกล้พวกเขาและอวดพวกเขากับบรรดามะลาอิกะฮ์และตรัสว่า ดูสิพวกเขาต้องการอะไร? (ถึงได้มาชุมนุมกัน ณ อะเราะฟะฮ์ นอกเสียจากต้องการความโปรดปรานและการอภัยจากอัลลอฮ์) จงเป็นพยานเถิดโอ้เหล่ามะลาอิกะฮ์ของข้า ว่าแท้จริงข้าได้อภัยให้กับพวกเขาแล้ว” (เศาะฮีห์ อัต-ตัรฆีบของอัล-อัลบานีย์ 1154 และมุสลิม 1348 ด้วยสำนวนที่ต่างกันเล็กน้อย)

นอกจากจะเป็นวันแห่งการอภัยโทษและปลดปล่อยจากไฟนรกแล้ว วันอะเราะฟะฮ์ยังเป็นวันที่ดีที่สุดในการขอดุอาอ์ รายงานจากอัมร์ บิน ชุอัยบ์ จากบิดาของท่าน เล่าจากปู่ของท่าน (คืออับดุลลอฮ์ บิน อัมร์ บิน อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา) เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«خَيْرُ الدُّعَاءِ دُعَاءُ يَوْمِ عَرَفَةَ، وَخَيْرُ مَا قُلْتُ أَنَا وَالنَّبِيُّونَ مِنْ قَبْلِي: لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيكَ لَهُ، لَهُ الْمُلْكُ وَلَهُ الْحَمْدُ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ» [الترمذي 3585، صحيح الترغيب للألباني 1536، حسن لغيره]

ความว่า “ดุอาอ์ที่ดีที่สุดคือดุอาอ์ในวันอะเราะฟะฮ์ และคำกล่าวที่ดีที่สุดที่ฉันและบรรดานบีก่อนหน้าฉันได้กล่าววิงวอนต่ออัลลอฮ์ก็คือ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ วะห์ดะฮู ลาชะรีกะละฮ์, ละฮุลมุลก์ วะ ละฮุลหัมด์, วะฮุวะ อะลา กุลลิชัยอิน เกาะดีร (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮ์พระองค์เดียวเท่านั้น ผู้ทรงอำนาจและผู้ทรงยิ่งด้วยการสรรเสริญสดุดี พระองค์ผู้ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ 3585 ดูเศาะฮีห์ อัต-ตัรฆีบ ของ อัล-อัลบานีย์ 1536 เป็นหะดีษหะสันลิฆ็อยริฮ์)

การขอดุอาอ์ในวันอะเราะฟะฮ์ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้คนที่กำลังวุกูฟ ณ ทุ่งอะเราะฟาตเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมมุสลิมทุกคนไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ มุมไหนของโลก ทุกคนล้วนสามารถมีส่วนร่วมในการขอดุอาอ์ในวันนี้ด้วยเช่นกัน มีคำพูดจากท่านอะฏออ์ บิน อบีเราะบาห์ กล่าวว่า

إِنِ اسْتَطَعْتَ أَنْ تَخْلُوَ بِنَفْسِكَ عَشِيَّةَ عَرَفَةَ، فَافْعَلْ.

ความว่า “ถ้าท่านสามารถที่จะปลีกตัว(เพื่อทำอิบาดะฮ์และขอดุอาอ์)ในช่วงเย็นของวันอะเราะฟะฮ์ได้ ก็จงทำ” (อัล-บิดายะฮ์ วะ อัน-นิฮายะฮ์ 9/319 ดู  t.ly/BJG1b)

เศาะหาบะฮ์บางท่านเช่นท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เมื่อถึงช่วงเวลาเย็นของวันอะเราะฟะฮ์ก็จะปลีกตัวอยู่ในมัสยิดเพื่อมุ่งมั่นขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา  (ดู t.ly/fqGvM)

ดังนั้น ในวันอะเราะฟะฮ์ให้เราเตรียมตัวอย่างจริงจังในการขอดุอาอ์เหมือนกับที่เราตั้งใจขอดุอาอ์ในลัยละตุลก็อดร์ ซึ่งการขอดุอาอ์ในวันอะเราะฟะฮ์นั้นเรารู้ชัดเจนกว่าลัยละตุลก็อดร์ว่าตรงกับวันไหน จึงมีสิทธิแห่งการตอบรับและคู่ควรกว่าที่เราจะมุ่งมั่นในการขอดุอาอ์อย่างเต็มเปี่ยมที่สุด

นอกจากการขอดุอาอ์แล้ว ยังมีสุนนะฮ์ให้ถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮ์ด้วย สำหรับคนที่ไม่ได้ไปทำหัจญ์ ซึ่งปรากฏในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

«صِيَامُ يَومِ عَرَفَةَ، أَحْتَسِبُ علَى اللهِ أَنْ يُكَفِّرَ السَّنَةَ الَّتي قَبْلَهُ، وَالسَّنَةَ الَّتي بَعْدَهُ» [مسلم 1162]

ความว่า “การถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮ์นั้น ฉันคาดหวังจากอัลลอฮ์ว่าจะทรงตอบแทนด้วยการอภัยโทษให้หนึ่งปีที่ผ่านมาและอีกหนึ่งปีหลังจากนี้” (บันทึกโดย มุสลิม 1162)

 

พี่น้องครับ

ประการที่สอง วันอีดิลอัฎฮา หรือวันอีดที่มีการเชือดสัตว์กุรบ่านเพื่ออัลลอฮ์ การกุรบ่านหรืออุฎหิยะฮ์เป็นสัญลักษณ์แห่งการประกาศความเสียสละเพื่ออัลลอฮ์พระองค์เดียวโดยไม่ตั้งภาคีใดๆ กับพระองค์

การเชือดกุรบ่านนั้นมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของท่านนบี อิบรอฮีม และนบี อิสมาอีล อะลัยฮิมัสสลาม ที่ได้เสียสละอย่างสูงส่งเพื่อสนองรับบัญชาของอัลลอฮ์โดยไร้ข้อกังขาและไม่มีความลังเลใดๆ ทั้งสิ้น อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ว่า  

﴿فَلَمَّا بَلَغَ مَعَهُ ٱلسَّعۡيَ قَالَ يَٰبُنَيَّ إِنِّيٓ أَرَىٰ فِي ٱلۡمَنَامِ أَنِّيٓ أَذۡبَحُكَ فَٱنظُرۡ مَاذَا تَرَىٰۚ قَالَ يَٰٓأَبَتِ ٱفۡعَلۡ مَا تُؤۡمَرُۖ سَتَجِدُنِيٓ إِن شَآءَ ٱللَّهُ مِنَ ٱلصَّٰبِرِينَ 102 فَلَمَّآ أَسۡلَمَا وَتَلَّهُۥ لِلۡجَبِينِ 103 وَنَٰدَيۡنَٰهُ أَن يَٰٓإِبۡرَٰهِيمُ 104 قَدۡ صَدَّقۡتَ ٱلرُّءۡيَآۚ إِنَّا كَذَٰلِكَ نَجۡزِي ٱلۡمُحۡسِنِينَ 105 إِنَّ هَٰذَا لَهُوَ ٱلۡبَلَٰٓؤُاْ ٱلۡمُبِينُ 106 وَفَدَيۡنَٰهُ بِذِبۡحٍ عَظِيمٖ 107﴾ [الصافات: 102،  107] 

ความว่า “ครั้นเมื่อเขา(อิสมาอีล)เติบโตขึ้นไปไหนมาไหนกับเขา(อิบรอฮีม)ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวขึ้นว่า โอ้ลูกเอ๋ย ! แท้จริงพ่อได้เห็นในขณะฝันว่า พ่อได้เชือดเจ้า จงคิดดูซิว่าเจ้าจะเห็นเป็นอย่างไร? เขากล่าวว่า โอ้พ่อจ๋า! พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่า ฉันอยู่ในหมู่ผู้มีความอดทน ครั้นเมื่อทั้งสอง(พ่อและลูก)ได้ยอมมอบตน(แด่อัลลอฮ์) อิบรอฮีมได้ให้อีสมาอีลคว่ำหน้าลงกับพื้น และเราได้เรียกเขาว่า โอ้ อิบรอฮีม เอ๋ย! แน่นอน เจ้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามฝันแล้ว แท้จริง เช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผู้กระทำความดีทั้งหลาย แท้จริง นั่นคือ การทดสอบที่ชัดแจ้งแน่นอน และเราได้ให้ค่าไถ่ตัวเขาด้วยสัตว์เชือดพลีอันยิ่งใหญ่” (อัศ-ศอฟฟาต 102-107)

อัลลอฮ์ได้ทดแทนการเสียสละของสองพ่อลูกด้วยแกะจากสวรรค์ เพื่อเป็นสัตว์พลีแทนการเชือดบุตรของนบีอิบรอฮีม ดังนั้น การที่เราได้กุรบ่านในวันอีดิลอัฎฮา ก็คือการระลึกถึงความเสียสละของครอบครัวนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ซึ่งเป็นครอบครัวตัวอย่างให้กับมุสลิมทั้งมวลถึงการยอมมอบตนและเสียสละเพื่ออัลลอฮ์ และน้อมรับคำบัญชาของพระองค์โดยบริสุทธิ์ใจ

เรายังได้ขอบคุณอัลลอฮ์ที่ได้ให้ปัจจัยดำรงชีพต่างๆ อย่างมากมาย พร้อมกับการกล่าวซิกิรต่อพระองค์ในวันเหล่านี้ ทั้งวันอะเราะฟะฮ์ วันอีด และวันตัชรีกทั้งสามวัน ล้วนเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง วันแห่งการซิกิร และวันแห่งการดื่มกินภายใต้คำสอนอันสวยงามของบทบัญญัติอิสลาม

มีรายงานจากอุกบะฮ์ บิน อามิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إنَّ يومَ عرفةَ ويومَ النَّحرِ وأيَّامَ التَّشريقِ عيدُنا أَهْلَ الإسلامِ، وَهيَ أيَّامُ أَكْلٍ وشربٍ» [صحيح النسائي للألباني، 3004]

ความว่า “แท้จริงแล้ว วันอะเราะฟะฮ์ วันเชือดสัตว์ และวันตัชรีก เป็นวันอีดของพวกเราประชาชาติอิสลาม เป็นวันแห่งการดื่มกิน” (เศาะฮีห์ อัน-นะสาอีย์ ของอัล-อัลบานีย์ 3004)

วันแห่งการดื่มกินหมายถึงวันอีดและวันตัชรีก ส่วนวันอะเราะฟะฮ์นั้นสำหรับผู้ที่อยู่ในพิธีหัจญ์ก็ถือว่าเป็นวันแห่งการดื่มกินเช่นกัน เพื่อให้พวกเขามีแรงที่จะปฏิบัติภารกิจ ณ ทุ่งอะเราะฟาตอย่างเต็มที่ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ไปทำหัจญ์ก็ส่งเสริมให้เขาถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮ์ตามที่กล่าวมาแล้วในหะดีษก่อนหน้านี้

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน

ทั้งอะเราะฟะฮ์และอีดิลอัฎฮานั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับรุก่นอิสลามข้อที่ห้า นั่นคือการทำหัจญ์ อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿إِنَّ أَوَّلَ بَيۡتٖ وُضِعَ لِلنَّاسِ لَلَّذِي بِبَكَّةَ مُبَارَكٗا وَهُدٗى لِّلۡعَٰلَمِينَ 96 فِيهِ ءَايَٰتُۢ بَيِّنَٰتٞ مَّقَامُ إِبۡرَٰهِيمَۖ وَمَن دَخَلَهُۥ كَانَ ءَامِنٗاۗ وَلِلَّهِ عَلَى ٱلنَّاسِ حِجُّ ٱلۡبَيۡتِ مَنِ ٱسۡتَطَاعَ إِلَيۡهِ سَبِيلٗاۚ وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ ٱللَّهَ غَنِيٌّ عَنِ ٱلۡعَٰلَمِينَ 97﴾ [آل عمران: 96،  97] 

ความว่า “แท้จริงบ้านหลังแรกที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์(เพื่อการอิบาดะฮ์) นั้นคือบ้านที่มักกะฮ์ โดยเป็นที่ที่ถูกให้มีความจำเริญ และเป็นที่แนะนำแก่ประชาชาติทั้งหลาย ในบ้านนั้น มีหลายสัญญาณที่ชัดแจ้ง(ส่วนหนึ่งนั้น)คือมะกอมอิบรอฮีม และผู้ใดได้เข้าไปในบ้านนั้น เขาก็เป็นผู้ปลอดภัย และสิทธิของอัลลอฮ์ที่มีเหนือมวลมนุษย์นั้น คือการมุ่งสู่บ้านหลังนั้นเพื่อทำหัจญ์ อันได้แก่ผู้ที่สามารถหาทางไปยังบ้านหลังนั้นได้ และผู้ใดปฏิเสธ แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงมั่งมีโดยไม่ต้องพึ่งสรรพสิ่งทั้งปวง” (อาล อิมรอน 96-97)

จะเห็นได้ว่า เมื่ออัลลอฮ์พูดถึงหัจญ์พระองค์ก็จะพูดถึงท่านนบี อิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ทั้งนี้เพราะท่านคือผู้ประกาศบัญชาของอัลลอฮ์ให้มนุษยชาติทั้งมวลได้มาทำหัจญ์ และทุกส่วนในการประกอบพิธีหัจญ์ก็มีเรื่องราวที่เป็นร่องรอยของท่านนบี อิบรอฮีม และการเสียสละของครอบครัวของท่านแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเฏาะวาฟรอบกะอฺบะฮ์ การสะแอระหว่างเศาะฟาและมัรวะฮ์ การพักที่มินา การไปที่ทุ่งอะเราะฟาต การขว้างเสาหิน และการเชือดสัตว์พลี บรรดามุสลิมที่ได้ไปทำหัจญ์ก็จะได้เรียนรู้และซึมซับเรื่องราวต่างๆ ดังที่อัลลอฮ์ได้กล่าวไว้ในอัลกุรอานทั้งที่เป็นการชื่นชมและการกระตุ้นให้เราได้ดำเนินตามตัวอย่างการเป็นบ่าวที่ดีของอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ในฐานะมุสลิมผู้ภักดีต่ออัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว


เนื่องในวันอะเราะฟะฮ์และอีดิลอัฎฮานี้ มาเถิด เรามาขอดุอาอ์ให้พี่น้องที่อยู่ในพิธีหัจญ์ได้รับความสำเร็จลุล่วงในการประกอบศาสนกิจนี้ และขอดุอาอ์ให้เราทุกคนได้มีโอกาสไปแสวงบุญด้วยการทำหัจญ์สักครั้งหนึ่งในชีวิต อามีน ยาร็อบบัลอาละมีน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น