วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - ซุลเกาะอฺดะฮ์ เดือนต้องห้าม - ซุฟอัม อุษมาน

 

ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 

หรือบน SoundCloud


 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่านครับ

อัลฮัมดุลิลลาฮ์ เข้าสู่เดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ เป็นหนึ่งในเดือนที่ได้ชื่อ الأشهر الحرم อัล-อัชฮุร อัล-หุรุม เดือนต้องห้ามในอิสลาม ตามที่ปรากฏหลักฐานจากอัลกุรอานและหะดีษ พวกเราในฐานะมุสลิมผู้ศรัทธา เรามาทำความรู้จักกับเดือนต้องห้ามเหล่านี้ว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง? โดยเฉพาะเดือนที่เรากำลังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ นั่นคือเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์

อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿إِنَّ عِدَّةَ ٱلشُّهُورِ عِندَ ٱللَّهِ ٱثۡنَا عَشَرَ شَهۡرٗا فِي كِتَٰبِ ٱللَّهِ يَوۡمَ خَلَقَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ مِنۡهَآ أَرۡبَعَةٌ حُرُمٞۚ ذَٰلِكَ ٱلدِّينُ ٱلۡقَيِّمُۚ فَلَا تَظۡلِمُواْ فِيهِنَّ أَنفُسَكُمۡۚ﴾ [التوبة: 36] 

ความว่า ““แท้จริง จำนวนเดือน ณ อัลลอฮ์นั้นมีสิบสองเดือน ในบันทึกของอัลลอฮ์ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน ในจำนวนเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือนเป็นเดือนที่ต้องห้าม นั่นคือบัญญัติอันเที่ยงตรง ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าอธรรม แก่ตัวของพวกเจ้าเองในเดือนเหล่านั้น” (อัต-เตาบะฮ์ 36)

พระองค์อัลลอฮ์ได้กำหนดไว้แล้วในบันทึก อัล-เลาห์ อัล-มะห์ฟูซ ตั้งแต่วันที่ทรงสร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน ว่าเดือนทั้งหมดนั้นมีสิบสองเดือน และในจำนวนนั้นมีสี่เดือนที่เป็นเดือนต้องห้าม เป็นการกำหนดจากอัลลอฮ์และเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติศาสนกิจและการวางตัวของผู้ศรัทธาในเดือนต้องห้ามเหล่านี้

 

พี่น้องครับ

ในอัลกุรอานไม่ได้บอกว่าเดือนต้องห้ามทั้งสี่เดือนนี้คือเดือนอะไรบ้าง แต่มีปรากฏในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในหัจญ์วะดาอฺ หัจญ์ครั้งสุดท้ายของท่าน ท่านนบีได้กล่าวว่า

«الزَّمانُ قَدِ اسْتَدارَ كَهَيْئَةِ يَومَ خَلَقَ السَّمَواتِ والأرْضَ؛ السَّنَةُ اثْنا عَشَرَ شَهْرًا، مِنْها أرْبَعَةٌ حُرُمٌ، ثَلاثَةٌ مُتَوالِياتٌ: ذُو القَعْدَةِ، وذُو الحِجَّةِ، والمُحَرَّمُ، ورَجَبُ مُضَرَ الذي بيْنَ جُمادَى وشَعْبانَ...» [البخاري 4406، مسلم 1679]

ความว่า “วันเวลาได้หมุนเวียนเหมือนวันแรกที่สร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน ปีหนึ่งมีสิบสองเดือน ในจำนวนนั้นมีสี่เดือนที่เป็นเดือนต้องห้าม สามเดือนอยู่เรียงติดกัน คือ ซุลเกาะอฺดะฮ์ ซุลหิจญะฮ์ และ มุหัรร็อม อีกเดือนหนึ่งคือเราะญับ เดือนของเผ่ามุฎ็อร ที่อยู่ระหว่างญุมาดาและชะอฺบาน” (อัล-บุคอรีย์ 4406, มุสลิม 1679)

นี่คือชื่อเดือนต้องห้ามทั้งสี่ ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อธิบายขยายความจากอัลกุรอานข้างต้น

ในเดือนทั้งสี่นี้มีบทบัญญัติอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง และมีสิ่งใดที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้และปฏิบัติตาม

อันดับแรก การห้ามทำสงครามในเดือนต้องห้าม ยกเว้นในกรณีที่โดนรุกรานโจมตี บทบัญญัติข้อนี้อัลลอฮ์ได้กำหนดเอาไว้ในพระดำรัสของพระองค์ว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَا تُحِلُّواْ شَعَٰٓئِرَ ٱللَّهِ وَلَا ٱلشَّهۡرَ ٱلۡحَرَامَ﴾ [المائدة: 2] 

ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่าปล่อยให้เป็นที่อนุมัติ ซึ่งบรรดาเครื่องหมายแห่งศาสนาของอัลลอฮ์ และเดือนที่ต้องห้าม” (อัล-มาอิดะฮ์ 2)

บรรดานักตัฟซีรอธิบายว่า หมายถึง อย่าได้ละเมิดเดือนต้องห้ามด้วยการริเริ่มทำสงครามในช่วงเดือนเหล่านี้ และระมัดระวังที่จะก่อความผิดบาปต่างๆ ในเดือนต้องห้าม (ดู ตัฟซีร อิบนิ กะษีร)[1]

มีรายงานจากท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

 ‏لَمْ يَكُنْ رَسُولُ اللَّهِ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏يَغْزُو فِي الشَّهْرِ الْحَرَامِ إِلَّا أَنْ ‏ ‏يُغْزَى ‏ ‏أَوْ يُغْزَوْا، ‏ ‏فَإِذَا حَضَرَهُ أَقَامَ حَتَّى ‏ ‏يَنْسَلِخَ. [رواه أحمد 14713، بإسناد صحيح]

ความว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยทำสงครามในเดือนต้องห้าม เว้นแต่ในกรณีที่ถูกบุกโจมตีก่อน เมื่อเดือนต้องห้ามมาถึงท่านจะพำนักอยู่กับภูมิลำเนาจนกระทั่งสิ้นเดือนนั้น (บันทึกโดยอะห์มัด 14713 ด้วยสายรายงานที่เศาะฮีห์)

ไม่ใช่เฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับเดือนต้องห้ามเหล่านี้ แม้กระทั่งชาวอาหรับในสมัยอดีตก่อนอิสลามเองก็ยังเข้มงวดและให้ความสำคัญกับเดือนเหล่านี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮ์ชอบทำสงครามระหว่างเผ่ากันมาก แต่พวกเขากลับยกย่องให้เกียรติเดือนต้องห้ามอย่างยิ่ง พวกเขาจะห้ามทำสงครามในช่วงเดือนเหล่านี้[2]

 

พี่น้องครับ

ประการที่สอง ห้ามการฝ่าฝืนและการทำบาป ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ในเดือนต้องห้ามมีโทษที่หนักหนาสาหัสกว่าเดือนทั่วไป เหมือนที่อัลลอฮ์ได้สั่งห้ามไว้ในอายะฮ์แรกที่เรากล่าวมาแล้ว

﴿فَلَا تَظۡلِمُواْ فِيهِنَّ أَنفُسَكُمۡۚ﴾ [التوبة: 36] 

ความว่า “อย่าได้ ซอลิม ก่ออธรรมหรือละเมิดต่อตัวพวกเจ้าเองในเดือนเหล่านั้น” (อัต-เตาบะฮ์ 36)

การละเมิดที่ว่านี้หมายถึง การฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์และไม่เชื่อฟังพระองค์ แม้ว่าความผิดต่างๆ ที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์จะเป็นบาปที่ห้ามทำทุกเดือน แต่ทว่าการทำบาปที่ฝ่าฝืนในช่วงเดือนต้องห้ามเหล่านี้ มีผลเสียและการลงโทษที่ร้ายแรงยิ่งกว่าในเดือนอื่นๆ มากขึ้นไปอีก (ดู ตัฟซีร อัฏ-เฏาะบะรีย์)[3]

 

พี่น้องครับ

เดือนซุลเกาะอฺดะฮ์เองเป็นเดือนแรกจากเหล่าเดือนต้องห้าม ที่ได้ชื่อนี้เพราะคนอาหรับจะเก็บตัวอยู่กับบ้านไม่ทำสงคราม และปล่อยให้ผู้คนเดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์ได้อย่างปลอดภัย

ซุลเกาะอฺดะฮฺ ยังเป็นเดือนที่สองของเดือนแห่งการทำหัจญ์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เชาวาลเป็นต้นมา ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿ٱلۡحَجُّ أَشۡهُرٞ مَّعۡلُومَٰتٞۚ ﴾ [البقرة: 197] 

ความว่า “หัจญ์นั้นมีเดือนที่ระบุจำเพาะเจาะจง” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 197)

เดือนที่เริ่มให้มีการเนียตอิห์รอมเพื่อทำหัจญ์ได้คือ เชาวาล ซุลเกาะอฺดะฮ์ และสิบวันแรกของซุลหิจญะฮ์ ท่านอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า

الحَجُّ أَشْهُرٌ مَعْلُوْمَاتٌ قَالَ: شَوَّالٌ، وَذُو القَعْدَةِ، وَعَشْرُ ذِي الحِجَّة .[تفسير الطبري]

ความว่า หัจญ์นั้นมีเดือนที่ระบุจำเพาะเจาะจง นั่นคือ เชาวาล ซุลเกาะอฺดะฮ์ และสิบวันแรกซุลหิจญะฮ์ (ตัฟซีร อัฏ-เฏาะบะรีย์)

และท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ก็ได้กล่าวว่า

مِنَ السُّنَّةِ: أَنْ لاَ يُحْرِمَ بِالحَجِّ إِلَّا فِي أَشْهُرِ الحَجِّ. [تفسير ابن كثير]

ความว่า ในจำนวนสุนนะฮ์ก็คือ ต้องไม่ครองอิห์รอมหัจญ์นอกจากในเดือนหัจญ์เท่านั้น (ตัฟซีร อิบนิ กะษีร)

 

พี่น้องครับ

เดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ยังเป็นเดือนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำอุมเราะฮ์ถึงสามครั้ง มีรายงานว่าอุมเราะฮ์ทั้งหมดของท่านนบีนั้นมีสี่ครั้งและมันเกิดขึ้นในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ถึงสามครั้งด้วยกัน จากท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

اعْتَمَرَ رَسولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ أرْبَعَ عُمَرٍ، كُلَّهُنَّ في ذِي القَعْدَةِ، إلَّا الَّتي كَانَتْ مع حَجَّتِهِ: عُمْرَةً مِنَ الحُدَيْبِيَةِ في ذِي القَعْدَةِ، وعُمْرَةً مِنَ العَامِ المُقْبِلِ في ذِي القَعْدَةِ، وعُمْرَةً مِنَ الجِعْرَانَةِ، حَيْثُ قَسَمَ غَنَائِمَ حُنَيْنٍ في ذِي القَعْدَةِ، وعُمْرَةً مع حَجَّتِهِ. [البخاري 4148]

ความว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำอุมเราะฮ์สี่ครั้ง ทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ยกเว้นครั้งเดียวที่เป็นอุมเราะฮ์ในปีที่ท่านทำหัจญ์ด้วย สี่ครั้งนี้คือ อุมเราะฮ์ในเหตุการณ์หุดัยบียะฮ์ซึ่งเกิดขึ้นในซุลเกาะอฺดะฮ์ อุมเราะฮ์ปีถัดมาในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ อุมเราะฮ์จากญิอฺรอนะฮ์ที่ท่านนบีแบ่งทรัพย์เชลยของสงครามหุนัยน์ในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ และอุมเราะฮ์ในปีที่ท่านทำหัจญ์ (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 4148)

 

พี่น้องครับ

อีกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ นั่นก็คือ สนธิสัญญาหุดัยบียะฮ์ ในปีที่ 6 ฮิจญ์เราะฮ์ศักราช จากเป้าหมายที่แค่ต้องการทำอุมเราะฮ์แต่สุดท้ายกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญนำไปสู่การขยายอิสลามสู่ดินแดนต่างๆ และนำไปสู่การพิชิตมักกะฮ์ในเวลาต่อมา อัลกุรอานพูดถึงสนธิสัญญานี้ว่า ฟัตฮัน มุบีนา หมายถึงการพิชิตอันชัดเจน ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

 ﴿ إِنَّا فَتَحۡنَا لَكَ فَتۡحٗا مُّبِينٗا 1 ﴾ [الفتح: 1]   

ความว่า “แท้จริงแล้ว เราได้พิชิตให้กับเจ้าด้วยการพิชิตอย่างชัดเจนแล้ว” (อัล-ฟัตห์ 1)

บรรดาเศาะหาบะฮ์และนักตัฟซีรหลายคนให้ความหมายมันว่าคือวันแห่งหุดัยบียะฮ์ ซึ่งเกิดขึ้นในซุลเกาะอฺดะฮ์นั่นเอง เพราะหลังจากที่ท่านนบีกลับจากหุดัยบียะฮ์ก็ได้ส่งหนังสือไปยังผู้นำและกษัตริย์ทั่วแว่นแคว้น ทั้งคาบสมุทรอาหรับ โรมัน และเปอร์เซีย เชิญชวนพวกเขาสู่อิสลาม เป็นการประกาศขยายสัจธรรมจนนำไปสู่การรับอิสลามของผู้คนอย่างมากมายหลังจากสนธิสัญญาหุดัยบียะฮ์ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้

นี่คือเรื่องราวต่างๆ ที่เราได้เห็นจากเดือนต้องห้ามและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ เพื่อให้เรามีกำลังใจในการที่จะครองตนเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ ภายใต้คำสอนอิสลามอันงดงามทั้งในการปฏิบัติอิบาดะฮ์และการใช้ชีวิตในสังคมตามครรลองแห่งศาสนาของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

 

พี่น้องที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

ช่วงนี้เป็นฤดูกาลแห่งการเตรียมพร้อมที่จะเดินทางไปทำหัจญ์ ณ เมืองมักกะฮ์ ซึ่งเป็นรุก่นอิสลามข้อสุดท้ายที่สำคัญมาก เราจะเห็นว่าอิสลามมีองค์ประกอบต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกความต้องการของมนุษย์โดยฟิฏเราะฮ์หรือธรรมชาติแรกเริ่มตามที่อัลลอฮ์สร้างเขามา อิสลามได้กำหนดระบอบชีวิตให้กับมนุษย์อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน สังเกตได้จากรุก่นอิสลามทั้งห้าข้อ ตั้งแต่

1) การกล่าวปฏิญาณตนด้วยสองคำปฏิญาณซึ่งเป็นความต้องการด้านอะกีดะฮ์/หลักความเชื่อที่ชัดเจน เป็นที่ยึดเหนี่ยวของหัวใจ  

2) การละหมาด เป็นความต้องการด้านพิธีกรรม เป็นการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งรวมถึงการวิงวอนขอต่อพระองค์และการอิบาดะฮ์ต่อพระองค์

3) การถือศีลอด ที่ถือเป็นแม่บทด้านศีลธรรม เป็นความต้องการในด้านการควบคุมจิตใจ ช่วยกดอารมณ์ใฝ่ต่ำให้อยู่ภายใต้คำสอนของอัลลอฮ์ ขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยมารยาทที่ดีงามทั้งปวง

4) การจ่ายซะกาต เป็นความต้องการในเรื่องของฐานแห่งระบอบเศรษฐกิจในอิสลาม ครอบคลุมและเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติเกี่ยวกับธุรกรรมต่างๆ เช่นการค้าขาย การทำเกษตรกรรม ฯลฯ ที่เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตที่มนุษย์จำเป็นต้องมี

5) การทำหัจญ์ เป็นความต้องการด้านการรับผิดชอบต่อสังคม การได้ทำความรู้จักกับผู้คนที่หลากหลายจากทั่วโลกทำให้ตระหนักถึงความเป็นสากลของอิสลาม เป็นการสะท้อนภาพตัวแทนด้านการเมืองการปกครองที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของอิสลาม

นี่คือความสมบูรณ์อันสวยงามของอิสลาม ที่อัลลอฮ์ได้ประกาศชัดในวันที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำหัจญ์ ด้วยอายะฮ์ที่ประทานลงมาว่า

﴿ٱلۡيَوۡمَ أَكۡمَلۡتُ لَكُمۡ دِينَكُمۡ وَأَتۡمَمۡتُ عَلَيۡكُمۡ نِعۡمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلۡإِسۡلَٰمَ دِينٗاۚ﴾ [المائدة: 3] 

ความว่า “”

อายะฮ์นี้ถูกประทานลงมาในวันอะเราะฟะฮ์ ในขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กำลังวุกูฟอยู่ในการทำหัจญ์ของท่าน

เพราะฉะนั้น ขอให้เราตั้งใจว่าจะปฏิบัตตนให้เป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ครบทุกอย่าง แม้ว่าวันนี้เรายังไม่มีความสามารถ แต่ขอให้เนียตและตั้งใจ ทุ่มเททั้งความรู้และการปฏิบัติเพื่อให้ได้เป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ที่สุดในทุกด้านสักวันหนึ่ง อินชาอ์อัลลอฮ์



[1] يعني بذلك تحريمه والاعتراف بتعظيمه ، وترك ما نهى الله عن تعاطيه فيه من الابتداء بالقتال، وتأكيد اجتناب المحارم [تفسير ابن كثير].

[2] ดูเพิ่มเติมใน t.ly/aXdeD

يقول البيهقي: "وكان أهل الجاهلية يعظمون هذه الأشهر... فكانوا لا يقاتلون فيهن"(فضائل الأوقات للبيهقي)

[3] عن قتادة: أما قوله: (فلا تظلموا فيهن أنفسكم)، فإن الظلم في الأشهر الحرم أعظم خطيئةً ووِزْرًا، من الظلم فيما سواها، وإن كان الظلم على كل حال عظيمًا، ولكن الله يعظِّم من أمره ما شاء. [تفسير الطبري]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

- สงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นใดๆ ก็ตามที่พิจารณาว่าไม่เหมาะควร -

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น