วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - ให้ความรักนำทาง - ซุฟอัม อุษมาน




ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 

หรือบน SoundCloud


พี่น้องมุสลิมที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

เราทุกคนกำลังเดินทางกลับไปหาอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา กลับไปสู่อาคิเราะฮ์ จุดหมายสุดท้ายในชีวิตของพวกเราทุกคน สิ่งที่ควรคิดก็คือเราจะเดินทางไปหาอัลลอฮ์อย่างไรหากไม่มีความรักต่อพระองค์? และเราจะทำอย่างไรให้อัลลอฮ์รักเรา?

อิบนุล ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮ์ ได้กล่าวเอาไว้ เป็นเกร็ดและเคล็ดลับในการดำรงชีวิตของเราในการเดินทางกลับไปหาอัลลอฮ์ ท่านกล่าวว่า

القَلبُ في سَيرِهِ إلى الله عَزَّ وجَلَّ بِمَنْزِلة الطَّائر؛ فَالمَحَبّة رَأْسُهُ والخَوفُ والرَّجَاءُ جَنَاحَاه. [مدارج السالكين 1/513]

ความหมาย หัวใจที่กำลังเดินทางกลับไปสู่อัลลอฮ์นั้น เปรียบเสมือนนกที่โบยบิน มีความรักเป็นหัว มีความกลัวและความหวังเป็นปีกทั้งสองข้าง (มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 1/513)

 

พี่น้องครับ

ความรักคือเข็มทิศสำหรับหัวใจของเราในการเดินทางกลับไปหาอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา 

ทุกวันนี้ เราได้ยินผู้คนมากมายพูดถึงความรักในนิยามของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพวกที่ชื่นชอบนิทรรศการแห่งความรัก วันแห่งความรัก สัญลักษณ์แห่งความรัก เทพแห่งความรัก บูชาความรัก ฯลฯ อีกสารพัดอย่างที่คนบนโลกนี้เอาความรักมาใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความหมายให้กับชีวิตของตัวเอง  

แต่เราไม่ค่อยจะได้ยินการพูดถึงความรักอีกแบบหนึ่ง ไม่ค่อยมีข้อมูลหรือไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความรักในนิยามของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ความรักที่อัลกุรอานพูดถึง มีทั้งความรักที่ดีและไม่ดี มีความรักที่จะนำเรากลับไปสู่สวรรค์ของอัลลอฮ์ และเช่นเดียวกัน ยังมีความรักที่จะนำมนุษย์กลับไปสู่การลงโทษในนรก วัลอิยาซุบิลลาฮ์ มิน ซาลิก

ในอัลกุรอาน อัลลอฮ์ได้พูดถึงความรักของคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือคนที่รักสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ และอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่รักอัลลอฮ์มากกว่าสิ่งอื่นใด พระองค์ตรัสว่า

﴿وَمِنَ ٱلنَّاسِ مَن يَتَّخِذُ مِن دُونِ ٱللَّهِ أَندَادٗا يُحِبُّونَهُمۡ كَحُبِّ ٱللَّهِۖ وَٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَشَدُّ حُبّٗا لِّلَّهِۗ﴾ [البقرة: 165] 

ความว่า “และในหมู่มนุษย์นั้น มีผู้ที่ยึดถือบรรดาภาคี อื่นจากอัลลอฮ์ ซึ่งพวกเขารักภาคีเหล่านั้นเช่นเดียวกับรักอัลลอฮ์ แต่บรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นผู้ที่รักอัลลอฮ์มากยิ่งกว่า” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 165)

หมายความว่า มนุษย์กลุ่มหนึ่งยึดเอาบางสิ่งนอกจากอัลลอฮ์มาเป็นที่รักและบูชามันเยี่ยงสถานะของพระเจ้า มอบตัวและถวายหัวใจให้อย่างเบ็ดเสร็จ ในขณะที่บรรดาผู้ศรัทธานั้นจะมอบความรักเช่นนี้ให้กับอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่มั่นคงมากกว่าที่ผู้ตั้งภาคีมอบให้กับสิ่งที่พวกเขาชิริก

 

พี่น้องครับ

ระวังการรักสิ่งอื่นมากกว่าอัลลอฮ์ คนที่รักสิ่งอื่นมาเป็นภาคีเทียบเคียงกับอัลลอฮ์ พอถึงวันกิยามะฮ์ตัวเขาเองจะเป็นผู้เรียกร้องเพื่อขอตัดความสัมพันธ์กับสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคีและเคยมอบความรักให้ในโลกดุนยานี้ แม้กระทั่งสิ่งที่ถูกบูชาก็จะเรียกร้องขอตัดความสัมพันธ์กับผู้คนที่รักและบูชาพวกเขา

﴿إِذۡ تَبَرَّأَ ٱلَّذِينَ ٱتُّبِعُواْ مِنَ ٱلَّذِينَ ٱتَّبَعُواْ وَرَأَوُاْ ٱلۡعَذَابَ وَتَقَطَّعَتۡ بِهِمُ ٱلۡأَسۡبَابُ 166 ﴾ [البقرة: 166]

ความว่า “ขณะที่บรรดาผู้ถูกตามได้ปัดป้องปลีกตัวออกจากบรรดาผู้ตาม พวกเขาได้เห็นการลงโทษ และสัมพันธภาพที่มีต่อกันได้ขาดสะบั้นลง” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 166)

สมมุติว่าในโลกนี้ใครที่บูชาสิ่งใดก็จะมอบความรักให้ แต่พอถึงวันอาคิเราะฮ์ สิ่งที่ถูกบูชาเหล่านั้นก็จะปัดป้องว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับผู้คนที่บูชาเขาตอนมีชีวิตในโลกดุนยา

เพราะฉะนั้น มุอ์มินที่เป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เรามีอะกีดะฮ์เตาฮีด เป็นความเชื่อในการเป็นเอกะหนึ่งเดียวของอัลลอฮ์ ความรักของเราต่อพระองค์วางอยู่บนพื้นฐานนี้ นั่นคือความเชื่อว่าเราเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น ไม่มีความรักแบบชิริก เพราะชิริกจะทำให้มนุษย์สับสน ไม่สามารถเดินทางกลับไปหาอัลลอฮ์ได้ ความรักหนึ่งเดียวที่จะนำเรากลับไปหาอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้คือความรักบนพื้นฐานแห่งอะกีดะฮ์เตาฮีดเท่านั้น

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

มุอ์มินที่รักอัลลอฮ์ย่อมปรารถนาที่จะให้อัลลอฮ์รักเขา ใครที่รักอัลลอฮ์เขาก็อยากจะให้อัลลอฮ์รักเขาเช่นเดียวกันอย่างแน่แท้ คำถามก็คือ จะทำอย่างไรให้อัลลอฮ์รักเรา? คนแบบไหนเป็นบุคคลที่อัลลอฮ์รัก?

ถ้าเราไปค้นหาอายะฮ์อัลกุรอานที่พูดถึงความรัก คีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญที่เราเจอเกี่ยวกับบุคคลที่อัลลอฮ์รัก จะพบว่ามีไม่กี่คำ เราจะเจอกับลักษณะเหล่านี้ที่อัลลอฮ์พูดถึงในคัมภีร์ของพระองค์ไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น

หนึ่ง บรรดาผู้ที่ความตักวา ยำเกรงอัลลอฮ์

﴿بَلَىٰۚ مَنۡ أَوۡفَىٰ بِعَهۡدِهِۦ وَٱتَّقَىٰ فَإِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُتَّقِينَ 76﴾ [آل عمران: 76]

ความว่า “มิใช่นั้นดอก ผู้ใดที่รักษาสัญญาของเขาโดยครบถ้วน และยำเกรง(อัลลอฮ์)แล้ว แน่นอนอัลลอฮ์ทรงชอบผู้ที่ยำเกรงทั้งหลาย” (อาล อิมรอน 76)

สอง บรรดามุห์สินีน ผู้กระทำความดีอย่างงดงาม

﴿وَأَحۡسِنُوٓاْۚ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُحۡسِنِينَ 195﴾ [البقرة: 195] 

ความว่า “และจงทำดีเถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงชอบผู้กระทำดีทั้งหลาย” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 195)

สาม บรรดาผู้กลับตัว และผู้ชำระตัวเองให้สะอาด

﴿إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلتَّوَّٰبِينَ وَيُحِبُّ ٱلۡمُتَطَهِّرِينَ 222﴾ [البقرة: 222] 

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงชอบบรรดาผู้สำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัว และทรงชอบบรรดาผู้ที่ทำตนให้สะอาด” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 222)

สี่ บรรดาผู้ที่มีความอดทน

﴿وَٱللَّهُ يُحِبُّ ٱلصَّٰبِرِينَ 146﴾ [آل عمران: 146] 

ความว่า “และอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้อดทน” (อาล อิมรอน 146)

ห้า บรรดาผู้ที่ตะวักกัล มอบหมายต่ออัลลอฮ์

﴿فَإِذَا عَزَمۡتَ فَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِۚ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُتَوَكِّلِينَ 159﴾ [آل عمران: 159] 

ความว่า “ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย” (อาล อิมรอน 159)

หก บรรดาผู้ที่ยุติธรรม

﴿وَإِنۡ حَكَمۡتَ فَٱحۡكُم بَيۡنَهُم بِٱلۡقِسۡطِۚ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُقۡسِطِينَ 42﴾ [المائدة: 42] 

ความว่า “และหากเจ้าตัดสินชี้ขาด ก็จงตัดสินระหว่างพวกเขาด้วยความยุติธรรม แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ยุติธรรม” (อัล-มาอิดะฮ์ 42)

 

พี่น้องครับ

ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องราวที่พูดถึงปัจจัยที่จะทำให้อัลลอฮ์รัก ปรากฏในหะดีษกุดสีย์ที่เล่าโดยอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إنَّ اللَّهَ قالَ: مَن عادَى لي وَلِيًّا فقَدْ آذَنْتُهُ بالحَرْبِ، وما تَقَرَّبَ إلَيَّ عَبْدِي بشَيءٍ أحَبَّ إلَيَّ ممَّا افْتَرَضْتُ عليه، وما يَزالُ عَبْدِي يَتَقَرَّبُ إلَيَّ بالنَّوافِلِ حتَّى أُحِبَّهُ، فإذا أحْبَبْتُهُ، كُنْتُ سَمْعَهُ الَّذي يَسْمَعُ به، وبَصَرَهُ الَّذي يُبْصِرُ به، ويَدَهُ الَّتي يَبْطِشُ بها، ورِجْلَهُ الَّتي يَمْشِي بها، وإنْ سَأَلَنِي لَأُعْطِيَنَّهُ، ولَئِنِ اسْتَعاذَنِي لَأُعِيذَنَّهُ، وما تَرَدَّدْتُ عن شَيءٍ أنا فاعِلُهُ تَرَدُّدِي عن نَفْسِ المُؤْمِنِ؛ يَكْرَهُ المَوْتَ، وأنا أكْرَهُ مَساءَتَهُ». [البخاري 6502]

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ได้ตรัสว่า ผู้ใดเป็นศัตรูกับวะลีย์ผู้เป็นที่รักของข้า ข้าก็จะประกาศสงครามกับเขา ไม่มีอะมัลใดที่บ่าวของข้าทำเพื่อใกล้ชิดข้า ที่ข้าจะรักมากไปกว่าการที่เขาทำอะมัลฟัรฎู และเมื่อบ่าวของข้าทำอะมัลสุนัตอย่างสม่ำเสมอข้าก็จะรักเขา และเมื่อข้ารักเขาแล้ว ข้าก็จะเป็นเหมือนหูที่เขาใช้ฟัง เป็นเหมือนตาที่เขาใช้มอง เป็นเหมือนมือที่ใช้เขาหยิบจับ และเป็นเหมือนเท้าที่เขาใช้เดิน (หมายถึงพระองค์ทรงปกป้องอวัยวะต่างๆ ของบ่าวไม่ให้กระทำสิ่งที่ผิด แต่จะอำนวยให้มันทำกระทำแต่สิ่งที่พระองค์พอพระทัยเท่านั้น[1]) และถ้าหากเขาขออะไรจากข้า ข้าก็จะให้เขาอย่างแน่นอน ถ้าหากเขาขอความคุ้มครองต่อข้า ข้าก็จะให้ความคุ้มครองเขา ไม่มีสิ่งใดที่ข้าเป็นห่วงเป็นกังวลในการกระทำใดๆ มากไปกว่าการเอาชีวิตบ่าวผู้ศรัทธา เพราะเขารังเกียจความตายและข้าก็ไม่ชอบที่จะทำร้ายเขาด้วยการเอาชีวิตเขา(แต่ความตายเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ตามกำหนดของอัลลอฮ์)” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 6502, อ้างจาก t.ly/WWtyu)

ข้อคิดจากหะดีษนี้ก็คือ ปัจจัยที่จะทำให้เราได้รับความรักจากอัลลอฮ์ก็คือการเชื่อฟังและทำตามคำสั่งของพระองค์ เริ่มด้วยการอะมัลต่างๆ ที่เป็นฟัรฎูให้ครบ เช่นการละหมาดห้าเวลา บางคนอาจจะชอบความดีอื่นๆ เยอะแยะมากมายแต่ไม่ได้ละหมาดห้าเวลาให้ครบ ถามว่าเขาคู่ควรกับการได้รับความรักจากอัลลอฮ์หรือไม่? แน่นอนว่าไม่มีทาง ดังนั้นฟัรฎูต้องมาก่อน ต้องทำให้ครบ และสิ่งที่เป็นฟัรฎูเองก็ไม่ได้มีเยอะ ในแต่ละวันมีฟัรฎูเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นที่เราต้องทำ

เมื่อทำฟัรฎูได้อย่างสมบูรณ์แล้วจึงเสริมด้วยอะมัลสุนัตต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำให้บุคคลผู้นั้นจะได้บรรลุเป็นที่รักของอัลลอฮ์เมื่อเขาทำอะมัลสุนัตอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ที่อัลลอฮ์รัก แน่นอนว่าจะได้รับสิทธิพิเศษจากพระองค์ ได้รับการปกป้องจากสิ่งต่างๆ ที่เลวร้าย พระองค์จะคอยดูแลไม่ให้เขาทำผิด จะอำนวยให้เขากระทำแต่สิ่งที่ถูกต้องตามที่ทรงพอใจ บ่าวขอสิ่งใดพระองค์ก็จะให้ แม้กระทั่งในวินาทีที่เขาจะเสียชีวิตพระองค์ก็ยังเปี่ยมล้นด้วยความเมตตาและเป็นห่วงผู้ศรัทธาในการที่จะเอาชีวิตเขาไป เพราะพระองค์รู้ดีว่ามนุษย์ทุกคนนั้นรังเกียจความตาย และพระองค์ก็ไม่อยากจะทำให้คนที่พระองค์รักต้องประสบกับสิ่งที่พวกเขารังเกียจ แต่ความตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเลี่ยงพ้นได้ สุบหานัลลอฮ์

นี่คือผลแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว เมื่อคนผู้หนึ่งได้รับความรักจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เป็นอานิสงค์ที่จะได้รับทั้งในดุนยาและในวันอาคิเราะฮ์

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

ความรักระหว่างมัคลูกด้วยกันก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์แล้ว เวลาที่เรารักใครสักคนก็จะมีความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นมามากมายในชีวิตของเรา ดังนั้น ลองจินตนาการดูว่าขนาดความรักที่เกิดขึ้นระหว่างมัคลูกด้วยกันยังสามารถสร้างความสุขได้เช่นนี้ แล้วความรักที่อัลลอฮ์มอบให้เราจะสร้างความสุขและสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับชีวิตได้มากขนาดไหน ความรักระหว่างบ่าวกับอัลลอฮ์จะยิ่งเป็นเท่าทวีคูณมากกว่าขนาดไหนกัน อัลลอฮุอักบัร

ความรักแรกที่เราจะต้องแสวงหาคือความรักจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา เวลาที่เรารักมัคลูกเราพยายามที่จะแสวงหาความพอใจจากเขา ดังนั้นเวลาที่เรารักอัลลอฮ์ก็จะต้องแสวงหาความพอใจจากพระองค์เช่นกัน ใครจะรักเราหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่าอัลลอฮ์รักเราหรือยัง?

การแสวงหาความรักจากอัลลอฮ์ต้องมีตัวช่วย การทำความดีทั้งฟัรฎูและสุนัตต่างๆ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญแล้ว แต่ยังมีตัวช่วยอื่นที่เป็นดุอาอ์ตามที่มีรายงานจากอบู อัด-ดัรดาอ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«كانَ مِن دُعاءِ دَاوُدَ صَلّى اللهُ عَلَيْهِ وسَلَّم: «اللَّهمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ حُبَّكَ، وَحُبَّ مَنْ يُحِبُّكَ، وَالعمَل الَّذِي يُبَلِّغُني حُبَّكَ، اللَّهُمَّ اجْعل حُبَّكَ أَحَبَّ إِلَيَّ مِن نَفسي، وأَهْلي، ومِن الماءِ البارِدِ» [رواه الترمذي وقال حديث حسن‏، رياض الصالحين 1490]

ความว่า “ในจำนวนดุอาอ์ของนบีดาวูด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็คือ

อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุกะ หุบบัก, วะหุบบะ มัน ยุหิบบุก, วัล อะมะลัล ละซี ยุบัลลิฆุนี หุบบัก, อัลลอฮุมมัจญ์อัล หุบบะกะ อะหับบะ อิลัยยะ มิน นัฟซี วะ อะฮ์ลี, วะ มินัล มาอิล บาริด

ความหมาย โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานให้ข้าพระองค์รักพระองค์ และรักผู้ที่รักพระองค์ และรักอะมัลที่จะทำให้บรรลุถึงความรักของพระองค์ โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดทำให้ความรักของข้าที่มีต่อพระองค์เป็นที่รักมากยิ่งกว่าที่ข้าพระองค์รักตัวเอง มากกว่าที่รักครอบครัว และมากกว่าที่ข้าพระองค์รักน้ำเย็นด้วยเถิด” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ เป็นหะดีษหะสัน ดูในริยาฎ อัศ-ศอลิฮีน 1490)

มาเถิด มาขอดุอาอ์อยู่เสมอให้เรารักอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ให้พระองค์รักเรา ให้พระองค์ตกแต่งหัวใจของเราด้วยอีมาน ด้วยความศรัทธา ให้หัวใจของเราโหยหาความรักที่ถูกต้องและดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางแห่งอีมาน อย่าให้หัวใจของเราแสวงหาความรักที่ผิดเพี้ยนหรือบิดเบือนจนนำไปสู่การชิริก หรือความรักที่เป็นสาเหตุแห่งหายนะทั้งในโลกนี้และโลกหน้า วัลอิยาซุบิลลาฮิ มิน ซาลิก



[1] ดู t.ly/Y_aXC


วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - ซุลเกาะอฺดะฮ์ เดือนต้องห้าม - ซุฟอัม อุษมาน

 

ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 

หรือบน SoundCloud


 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่านครับ

อัลฮัมดุลิลลาฮ์ เข้าสู่เดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ เป็นหนึ่งในเดือนที่ได้ชื่อ الأشهر الحرم อัล-อัชฮุร อัล-หุรุม เดือนต้องห้ามในอิสลาม ตามที่ปรากฏหลักฐานจากอัลกุรอานและหะดีษ พวกเราในฐานะมุสลิมผู้ศรัทธา เรามาทำความรู้จักกับเดือนต้องห้ามเหล่านี้ว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง? โดยเฉพาะเดือนที่เรากำลังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ นั่นคือเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์

อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿إِنَّ عِدَّةَ ٱلشُّهُورِ عِندَ ٱللَّهِ ٱثۡنَا عَشَرَ شَهۡرٗا فِي كِتَٰبِ ٱللَّهِ يَوۡمَ خَلَقَ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضَ مِنۡهَآ أَرۡبَعَةٌ حُرُمٞۚ ذَٰلِكَ ٱلدِّينُ ٱلۡقَيِّمُۚ فَلَا تَظۡلِمُواْ فِيهِنَّ أَنفُسَكُمۡۚ﴾ [التوبة: 36] 

ความว่า ““แท้จริง จำนวนเดือน ณ อัลลอฮ์นั้นมีสิบสองเดือน ในบันทึกของอัลลอฮ์ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน ในจำนวนเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือนเป็นเดือนที่ต้องห้าม นั่นคือบัญญัติอันเที่ยงตรง ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าอธรรม แก่ตัวของพวกเจ้าเองในเดือนเหล่านั้น” (อัต-เตาบะฮ์ 36)

พระองค์อัลลอฮ์ได้กำหนดไว้แล้วในบันทึก อัล-เลาห์ อัล-มะห์ฟูซ ตั้งแต่วันที่ทรงสร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน ว่าเดือนทั้งหมดนั้นมีสิบสองเดือน และในจำนวนนั้นมีสี่เดือนที่เป็นเดือนต้องห้าม เป็นการกำหนดจากอัลลอฮ์และเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติศาสนกิจและการวางตัวของผู้ศรัทธาในเดือนต้องห้ามเหล่านี้

 

พี่น้องครับ

ในอัลกุรอานไม่ได้บอกว่าเดือนต้องห้ามทั้งสี่เดือนนี้คือเดือนอะไรบ้าง แต่มีปรากฏในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในหัจญ์วะดาอฺ หัจญ์ครั้งสุดท้ายของท่าน ท่านนบีได้กล่าวว่า

«الزَّمانُ قَدِ اسْتَدارَ كَهَيْئَةِ يَومَ خَلَقَ السَّمَواتِ والأرْضَ؛ السَّنَةُ اثْنا عَشَرَ شَهْرًا، مِنْها أرْبَعَةٌ حُرُمٌ، ثَلاثَةٌ مُتَوالِياتٌ: ذُو القَعْدَةِ، وذُو الحِجَّةِ، والمُحَرَّمُ، ورَجَبُ مُضَرَ الذي بيْنَ جُمادَى وشَعْبانَ...» [البخاري 4406، مسلم 1679]

ความว่า “วันเวลาได้หมุนเวียนเหมือนวันแรกที่สร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน ปีหนึ่งมีสิบสองเดือน ในจำนวนนั้นมีสี่เดือนที่เป็นเดือนต้องห้าม สามเดือนอยู่เรียงติดกัน คือ ซุลเกาะอฺดะฮ์ ซุลหิจญะฮ์ และ มุหัรร็อม อีกเดือนหนึ่งคือเราะญับ เดือนของเผ่ามุฎ็อร ที่อยู่ระหว่างญุมาดาและชะอฺบาน” (อัล-บุคอรีย์ 4406, มุสลิม 1679)

นี่คือชื่อเดือนต้องห้ามทั้งสี่ ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อธิบายขยายความจากอัลกุรอานข้างต้น

ในเดือนทั้งสี่นี้มีบทบัญญัติอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง และมีสิ่งใดที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้และปฏิบัติตาม

อันดับแรก การห้ามทำสงครามในเดือนต้องห้าม ยกเว้นในกรณีที่โดนรุกรานโจมตี บทบัญญัติข้อนี้อัลลอฮ์ได้กำหนดเอาไว้ในพระดำรัสของพระองค์ว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَا تُحِلُّواْ شَعَٰٓئِرَ ٱللَّهِ وَلَا ٱلشَّهۡرَ ٱلۡحَرَامَ﴾ [المائدة: 2] 

ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่าปล่อยให้เป็นที่อนุมัติ ซึ่งบรรดาเครื่องหมายแห่งศาสนาของอัลลอฮ์ และเดือนที่ต้องห้าม” (อัล-มาอิดะฮ์ 2)

บรรดานักตัฟซีรอธิบายว่า หมายถึง อย่าได้ละเมิดเดือนต้องห้ามด้วยการริเริ่มทำสงครามในช่วงเดือนเหล่านี้ และระมัดระวังที่จะก่อความผิดบาปต่างๆ ในเดือนต้องห้าม (ดู ตัฟซีร อิบนิ กะษีร)[1]

มีรายงานจากท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

 ‏لَمْ يَكُنْ رَسُولُ اللَّهِ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏يَغْزُو فِي الشَّهْرِ الْحَرَامِ إِلَّا أَنْ ‏ ‏يُغْزَى ‏ ‏أَوْ يُغْزَوْا، ‏ ‏فَإِذَا حَضَرَهُ أَقَامَ حَتَّى ‏ ‏يَنْسَلِخَ. [رواه أحمد 14713، بإسناد صحيح]

ความว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยทำสงครามในเดือนต้องห้าม เว้นแต่ในกรณีที่ถูกบุกโจมตีก่อน เมื่อเดือนต้องห้ามมาถึงท่านจะพำนักอยู่กับภูมิลำเนาจนกระทั่งสิ้นเดือนนั้น (บันทึกโดยอะห์มัด 14713 ด้วยสายรายงานที่เศาะฮีห์)

ไม่ใช่เฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับเดือนต้องห้ามเหล่านี้ แม้กระทั่งชาวอาหรับในสมัยอดีตก่อนอิสลามเองก็ยังเข้มงวดและให้ความสำคัญกับเดือนเหล่านี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮ์ชอบทำสงครามระหว่างเผ่ากันมาก แต่พวกเขากลับยกย่องให้เกียรติเดือนต้องห้ามอย่างยิ่ง พวกเขาจะห้ามทำสงครามในช่วงเดือนเหล่านี้[2]

 

พี่น้องครับ

ประการที่สอง ห้ามการฝ่าฝืนและการทำบาป ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ในเดือนต้องห้ามมีโทษที่หนักหนาสาหัสกว่าเดือนทั่วไป เหมือนที่อัลลอฮ์ได้สั่งห้ามไว้ในอายะฮ์แรกที่เรากล่าวมาแล้ว

﴿فَلَا تَظۡلِمُواْ فِيهِنَّ أَنفُسَكُمۡۚ﴾ [التوبة: 36] 

ความว่า “อย่าได้ ซอลิม ก่ออธรรมหรือละเมิดต่อตัวพวกเจ้าเองในเดือนเหล่านั้น” (อัต-เตาบะฮ์ 36)

การละเมิดที่ว่านี้หมายถึง การฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์และไม่เชื่อฟังพระองค์ แม้ว่าความผิดต่างๆ ที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์จะเป็นบาปที่ห้ามทำทุกเดือน แต่ทว่าการทำบาปที่ฝ่าฝืนในช่วงเดือนต้องห้ามเหล่านี้ มีผลเสียและการลงโทษที่ร้ายแรงยิ่งกว่าในเดือนอื่นๆ มากขึ้นไปอีก (ดู ตัฟซีร อัฏ-เฏาะบะรีย์)[3]

 

พี่น้องครับ

เดือนซุลเกาะอฺดะฮ์เองเป็นเดือนแรกจากเหล่าเดือนต้องห้าม ที่ได้ชื่อนี้เพราะคนอาหรับจะเก็บตัวอยู่กับบ้านไม่ทำสงคราม และปล่อยให้ผู้คนเดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์ได้อย่างปลอดภัย

ซุลเกาะอฺดะฮฺ ยังเป็นเดือนที่สองของเดือนแห่งการทำหัจญ์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เชาวาลเป็นต้นมา ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿ٱلۡحَجُّ أَشۡهُرٞ مَّعۡلُومَٰتٞۚ ﴾ [البقرة: 197] 

ความว่า “หัจญ์นั้นมีเดือนที่ระบุจำเพาะเจาะจง” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 197)

เดือนที่เริ่มให้มีการเนียตอิห์รอมเพื่อทำหัจญ์ได้คือ เชาวาล ซุลเกาะอฺดะฮ์ และสิบวันแรกของซุลหิจญะฮ์ ท่านอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า

الحَجُّ أَشْهُرٌ مَعْلُوْمَاتٌ قَالَ: شَوَّالٌ، وَذُو القَعْدَةِ، وَعَشْرُ ذِي الحِجَّة .[تفسير الطبري]

ความว่า หัจญ์นั้นมีเดือนที่ระบุจำเพาะเจาะจง นั่นคือ เชาวาล ซุลเกาะอฺดะฮ์ และสิบวันแรกซุลหิจญะฮ์ (ตัฟซีร อัฏ-เฏาะบะรีย์)

และท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ก็ได้กล่าวว่า

مِنَ السُّنَّةِ: أَنْ لاَ يُحْرِمَ بِالحَجِّ إِلَّا فِي أَشْهُرِ الحَجِّ. [تفسير ابن كثير]

ความว่า ในจำนวนสุนนะฮ์ก็คือ ต้องไม่ครองอิห์รอมหัจญ์นอกจากในเดือนหัจญ์เท่านั้น (ตัฟซีร อิบนิ กะษีร)

 

พี่น้องครับ

เดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ยังเป็นเดือนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำอุมเราะฮ์ถึงสามครั้ง มีรายงานว่าอุมเราะฮ์ทั้งหมดของท่านนบีนั้นมีสี่ครั้งและมันเกิดขึ้นในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ถึงสามครั้งด้วยกัน จากท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

اعْتَمَرَ رَسولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ أرْبَعَ عُمَرٍ، كُلَّهُنَّ في ذِي القَعْدَةِ، إلَّا الَّتي كَانَتْ مع حَجَّتِهِ: عُمْرَةً مِنَ الحُدَيْبِيَةِ في ذِي القَعْدَةِ، وعُمْرَةً مِنَ العَامِ المُقْبِلِ في ذِي القَعْدَةِ، وعُمْرَةً مِنَ الجِعْرَانَةِ، حَيْثُ قَسَمَ غَنَائِمَ حُنَيْنٍ في ذِي القَعْدَةِ، وعُمْرَةً مع حَجَّتِهِ. [البخاري 4148]

ความว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำอุมเราะฮ์สี่ครั้ง ทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ยกเว้นครั้งเดียวที่เป็นอุมเราะฮ์ในปีที่ท่านทำหัจญ์ด้วย สี่ครั้งนี้คือ อุมเราะฮ์ในเหตุการณ์หุดัยบียะฮ์ซึ่งเกิดขึ้นในซุลเกาะอฺดะฮ์ อุมเราะฮ์ปีถัดมาในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ อุมเราะฮ์จากญิอฺรอนะฮ์ที่ท่านนบีแบ่งทรัพย์เชลยของสงครามหุนัยน์ในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ และอุมเราะฮ์ในปีที่ท่านทำหัจญ์ (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 4148)

 

พี่น้องครับ

อีกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ นั่นก็คือ สนธิสัญญาหุดัยบียะฮ์ ในปีที่ 6 ฮิจญ์เราะฮ์ศักราช จากเป้าหมายที่แค่ต้องการทำอุมเราะฮ์แต่สุดท้ายกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญนำไปสู่การขยายอิสลามสู่ดินแดนต่างๆ และนำไปสู่การพิชิตมักกะฮ์ในเวลาต่อมา อัลกุรอานพูดถึงสนธิสัญญานี้ว่า ฟัตฮัน มุบีนา หมายถึงการพิชิตอันชัดเจน ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

 ﴿ إِنَّا فَتَحۡنَا لَكَ فَتۡحٗا مُّبِينٗا 1 ﴾ [الفتح: 1]   

ความว่า “แท้จริงแล้ว เราได้พิชิตให้กับเจ้าด้วยการพิชิตอย่างชัดเจนแล้ว” (อัล-ฟัตห์ 1)

บรรดาเศาะหาบะฮ์และนักตัฟซีรหลายคนให้ความหมายมันว่าคือวันแห่งหุดัยบียะฮ์ ซึ่งเกิดขึ้นในซุลเกาะอฺดะฮ์นั่นเอง เพราะหลังจากที่ท่านนบีกลับจากหุดัยบียะฮ์ก็ได้ส่งหนังสือไปยังผู้นำและกษัตริย์ทั่วแว่นแคว้น ทั้งคาบสมุทรอาหรับ โรมัน และเปอร์เซีย เชิญชวนพวกเขาสู่อิสลาม เป็นการประกาศขยายสัจธรรมจนนำไปสู่การรับอิสลามของผู้คนอย่างมากมายหลังจากสนธิสัญญาหุดัยบียะฮ์ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้

นี่คือเรื่องราวต่างๆ ที่เราได้เห็นจากเดือนต้องห้ามและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนซุลเกาะอฺดะฮ์ เพื่อให้เรามีกำลังใจในการที่จะครองตนเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ ภายใต้คำสอนอิสลามอันงดงามทั้งในการปฏิบัติอิบาดะฮ์และการใช้ชีวิตในสังคมตามครรลองแห่งศาสนาของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

 

พี่น้องที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

ช่วงนี้เป็นฤดูกาลแห่งการเตรียมพร้อมที่จะเดินทางไปทำหัจญ์ ณ เมืองมักกะฮ์ ซึ่งเป็นรุก่นอิสลามข้อสุดท้ายที่สำคัญมาก เราจะเห็นว่าอิสลามมีองค์ประกอบต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกความต้องการของมนุษย์โดยฟิฏเราะฮ์หรือธรรมชาติแรกเริ่มตามที่อัลลอฮ์สร้างเขามา อิสลามได้กำหนดระบอบชีวิตให้กับมนุษย์อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน สังเกตได้จากรุก่นอิสลามทั้งห้าข้อ ตั้งแต่

1) การกล่าวปฏิญาณตนด้วยสองคำปฏิญาณซึ่งเป็นความต้องการด้านอะกีดะฮ์/หลักความเชื่อที่ชัดเจน เป็นที่ยึดเหนี่ยวของหัวใจ  

2) การละหมาด เป็นความต้องการด้านพิธีกรรม เป็นการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งรวมถึงการวิงวอนขอต่อพระองค์และการอิบาดะฮ์ต่อพระองค์

3) การถือศีลอด ที่ถือเป็นแม่บทด้านศีลธรรม เป็นความต้องการในด้านการควบคุมจิตใจ ช่วยกดอารมณ์ใฝ่ต่ำให้อยู่ภายใต้คำสอนของอัลลอฮ์ ขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยมารยาทที่ดีงามทั้งปวง

4) การจ่ายซะกาต เป็นความต้องการในเรื่องของฐานแห่งระบอบเศรษฐกิจในอิสลาม ครอบคลุมและเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติเกี่ยวกับธุรกรรมต่างๆ เช่นการค้าขาย การทำเกษตรกรรม ฯลฯ ที่เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตที่มนุษย์จำเป็นต้องมี

5) การทำหัจญ์ เป็นความต้องการด้านการรับผิดชอบต่อสังคม การได้ทำความรู้จักกับผู้คนที่หลากหลายจากทั่วโลกทำให้ตระหนักถึงความเป็นสากลของอิสลาม เป็นการสะท้อนภาพตัวแทนด้านการเมืองการปกครองที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของอิสลาม

นี่คือความสมบูรณ์อันสวยงามของอิสลาม ที่อัลลอฮ์ได้ประกาศชัดในวันที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำหัจญ์ ด้วยอายะฮ์ที่ประทานลงมาว่า

﴿ٱلۡيَوۡمَ أَكۡمَلۡتُ لَكُمۡ دِينَكُمۡ وَأَتۡمَمۡتُ عَلَيۡكُمۡ نِعۡمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلۡإِسۡلَٰمَ دِينٗاۚ﴾ [المائدة: 3] 

ความว่า “”

อายะฮ์นี้ถูกประทานลงมาในวันอะเราะฟะฮ์ ในขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กำลังวุกูฟอยู่ในการทำหัจญ์ของท่าน

เพราะฉะนั้น ขอให้เราตั้งใจว่าจะปฏิบัตตนให้เป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ครบทุกอย่าง แม้ว่าวันนี้เรายังไม่มีความสามารถ แต่ขอให้เนียตและตั้งใจ ทุ่มเททั้งความรู้และการปฏิบัติเพื่อให้ได้เป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ที่สุดในทุกด้านสักวันหนึ่ง อินชาอ์อัลลอฮ์



[1] يعني بذلك تحريمه والاعتراف بتعظيمه ، وترك ما نهى الله عن تعاطيه فيه من الابتداء بالقتال، وتأكيد اجتناب المحارم [تفسير ابن كثير].

[2] ดูเพิ่มเติมใน t.ly/aXdeD

يقول البيهقي: "وكان أهل الجاهلية يعظمون هذه الأشهر... فكانوا لا يقاتلون فيهن"(فضائل الأوقات للبيهقي)

[3] عن قتادة: أما قوله: (فلا تظلموا فيهن أنفسكم)، فإن الظلم في الأشهر الحرم أعظم خطيئةً ووِزْرًا، من الظلم فيما سواها، وإن كان الظلم على كل حال عظيمًا، ولكن الله يعظِّم من أمره ما شاء. [تفسير الطبري]