วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - หิกมะฮ์ในการใช้ชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 


หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - หิกมะฮ์ในการใช้ชีวิต - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud


พี่น้องมุสลิมีนที่อัลลอฮ์รักและเมตตาทุกท่าน

การยำเกรงต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา คือกุญแจที่จะนำความดีมาให้แก่เราในทุกๆ เรื่อง ในจำนวนความดีงามที่พระองค์เตรียมไว้ให้กับบรรดาผู้ที่มีความยำเกรงก็คือ ความรู้ และความเข้าใจในศาสนา

﴿وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۖ وَيُعَلِّمُكُمُ ٱللَّهُۗ وَٱللَّهُ بِكُلِّ شَيۡءٍ عَلِيمٞ 282﴾ [البقرة: 282]

ความว่า “พวกเจ้าจงพึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และอัลลอฮ์นั้นทรงให้ความรู้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 282)

ในจำนวนความรู้ที่เป็นความดีงามจากอัลลอฮ์ ก็คือ
“อัล-หิกมะฮ์” หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำนี้ แต่ทราบหรือไม่ว่าข้อเท็จจริงของมันคืออะไรและมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนสำหรับผู้ศรัทธา

อันที่จริงแล้ว หิกมะฮ์ คือสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก เหมือนคำพูดที่กล่าวกันว่า

الحِكْمَةُ ضَالَّةُ الْـمُؤْمِنِ، فَحَيْثُ وَجَدَهَا فَهُوَ أَحَقُّ بِهَا.

“หิกมะฮ์นั้นคือของที่หล่นหายสำหรับมุอ์มินผู้ศรัทธา ไม่ว่าเขาเจอมันที่ไหน เขาก็คู่ควรที่จะหยิบฉวยมันมา”

คำพูดนี้ไม่ใช่หะดีษ แต่ความหมายของมันนั้นถูกต้องตามความเห็นของบรรดานักวิชาการ ประเด็นของมันก็คือผู้ศรัทธาต้องรู้ว่าอะไรคือ หิกมะฮ์ และต้องพยายามแสวงหามันอย่างสม่ำเสมอ

 

พี่น้องครับ

ในอัลกุรอานเราจะพบคำว่า อัล-หิกมะฮ์ และคำที่เกี่ยวข้องกันเยอะมาก นับตั้งแต่ ตัวอย่างเช่น

ประการแรก พระนามอันงดงามของอัลลอฮ์ สุบหานะฮู
วะตะอาลา “อัล-หะกีม” พระนาม อัล-หะกีม หมายถึงผู้ทรงสร้างและกำหนดทุกอย่างมาด้วยหิกมะฮ์ ผู้เป็นเจ้าของหิกมะฮ์อย่างแท้จริง

ตัวอย่างอัลกุรอานที่พูดถึงพระนามอัล-หะกีม ก็คือตอนที่อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสถามมะลาอิกะฮ์เกี่ยวกับความรู้ต่างๆ บรรดามะลาอิกะฮ์ก็กล่าวตอบพระองค์ว่า

﴿وَعَلَّمَ ءَادَمَ ٱلۡأَسۡمَآءَ كُلَّهَا ثُمَّ عَرَضَهُمۡ عَلَى ٱلۡمَلَٰٓئِكَةِ فَقَالَ أَنۢبِ‍ُٔونِي بِأَسۡمَآءِ هَٰٓؤُلَآءِ إِن كُنتُمۡ صَٰدِقِينَ 31 قَالُواْ سُبۡحَٰنَكَ لَا عِلۡمَ لَنَآ إِلَّا مَا عَلَّمۡتَنَآۖ إِنَّكَ أَنتَ ٱلۡعَلِيمُ ٱلۡحَكِيمُ 32﴾ [البقرة: 31،  32]    

ความว่า “และพระองค์ได้ทรงสอนบรรดานามของสรรพสิ่งทั้งปวงให้แก่อาดัม ภายหลังได้ทรงแสดงสิ่งเหล่านั้นแก่มะลาอิกะฮ์ แล้วตรัสว่า จงบอกบรรดาชื่อของสิ่งเหล่านั้นแก่ข้า หากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง พวกเขา(บรรดามะลาอิกะฮ์)ทูลว่า พระองค์ทรงบริสุทธิ์ยิ่ง ไม่มีความรู้ใดๆ แก่พวกข้าพระองค์นอกจากสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนพวกข้าพระองค์เท่านั้น แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 31-32)

ยังมีหลายที่หลายอายะฮ์ในอัลกุรอานที่กล่าวถึงพระนาม อัล-หะกีม เช่น

﴿شَهِدَ ٱللَّهُ أَنَّهُۥ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ وَٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ وَأُوْلُواْ ٱلۡعِلۡمِ قَآئِمَۢا بِٱلۡقِسۡطِۚ لَآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ ٱلۡعَزِيزُ ٱلۡحَكِيمُ 18
[آل عمران: 18] 

ความว่า “อัลลอฮ์ทรงยืนยันว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าที่คู่ควรแก่การเคารพสักการะใดๆ นอกจากพระองค์เท่านั้น บรรดามะลาอิกะฮ์และผู้มีความรู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมนั้น ก็ยืนยันด้วยว่าไม่มีผู้ที่ควรได้รับการเคารพสักการะใดๆ นอกจากพระองค์ผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณเท่านั้น” (อาล
อิมรอน
18)

ดังนั้น ให้เราทราบว่า อัล-หะกีม คือพระนามของอัลลอฮ์ที่เชื่อมโยงกับคำว่า อัล-หิกมะฮ์

 

ประการที่สอง อัลลอฮ์ได้บอกว่าพระองค์ประทาน
อัล-หิกมะฮ์ ให้กับบรรดานบีของพระองค์ และมีบัญชาให้บรรดานบีสอนสั่งประชาชาติของพวกเขาด้วยหิกมะฮ์ที่พระองค์ประทานให้ ตัวอย่างอายะฮ์อัลกุรอานในเรื่องนี้ เช่น

ครอบครัวของนบี อิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม

﴿فَقَدۡ ءَاتَيۡنَآ ءَالَ إِبۡرَٰهِيمَ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡحِكۡمَةَ وَءَاتَيۡنَٰهُم مُّلۡكًا عَظِيمٗا 54﴾ [النساء: 54] 

ความว่า “แท้จริง พระองค์ได้ประทานคัมภีร์และหิกมะฮ์ให้แก่วงศ์วานของอิบรอฮีมมาแล้ว และได้ทรงมอบอำนาจอันยิ่งใหญ่แก่พวกเขา” (อัน-นิสาอ์ 54)

นบี ดาวูด อะลัยฮิสสลาม

﴿وَقَتَلَ دَاوُۥدُ جَالُوتَ وَءَاتَىٰهُ ٱللَّهُ ٱلۡمُلۡكَ وَٱلۡحِكۡمَةَ وَعَلَّمَهُۥ مِمَّا يَشَآءُۗ﴾ [البقرة: 251]

ความว่า “ดาวูดได้ฆ่าญาลูต และอัลลอฮ์ได้ประทานอำนาจและหิกมะฮ์ให้แก่เขา และทรงสอนเขาจากสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 251)  

นบี อีซา อะลัยฮิสสลาม

﴿وَلَمَّا جَآءَ عِيسَىٰ بِٱلۡبَيِّنَٰتِ قَالَ قَدۡ جِئۡتُكُم بِٱلۡحِكۡمَةِ وَلِأُبَيِّنَ لَكُم بَعۡضَ ٱلَّذِي تَخۡتَلِفُونَ فِيهِۖ فَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُونِ 63﴾ [الزخرف: 63] 

ความว่า “และเมื่ออีซาได้มาพร้อมด้วยหลักฐานทั้งหลายอันชัดแจ้ง เขากล่าวว่า แน่นอนฉันได้มาหาพวกท่านพร้อมด้วยหิกมะฮ์ และเพื่อฉันจะได้ชี้แจงแก่พวกท่านให้กระจ่างแจ้งในบางเรื่องที่พวกท่านขัดแย้งกัน ดังนั้นพวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮ์และเชื่อฟังปฏิบัติตามฉันเถิด” (อัซ-ซุครุฟ 63)

และท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ของเรา อัลลอฮ์ได้ประทานอัล-หิกมะฮ์ให้กับท่าน

﴿وَأَنزَلَ ٱللَّهُ عَلَيۡكَ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡحِكۡمَةَ وَعَلَّمَكَ مَا لَمۡ تَكُن تَعۡلَمُۚ وَكَانَ فَضۡلُ ٱللَّهِ عَلَيۡكَ عَظِيمٗا 113﴾ [النساء: 113] 

ความว่า “และอัลลอฮ์ได้ประทานคัมภีร์ลงมาแก่เจ้า และประทานหิกมะฮ์ด้วย และได้ทรงสอนเจ้าในสิ่งที่เจ้าไม่เคยรู้มาก่อน และความกรุณาของอัลลอฮ์ที่มีแก่เจ้านั้นใหญ่หลวงนัก” (อัน-นิสาอ์ 113)

คำว่าหิกมะฮ์ที่พูดถึงบรรดานบีส่วนใหญ่จะหมายถึงการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาจากอัลลอฮ์และการที่พระองค์แต่งตั้งพวกเขาให้เป็นนบีของพระองค์บนผืนแผ่นดินในแต่ละยุคสมัย

ประการที่สาม  นอกจากบรรดานบีแล้ว คนทั่วไปจะได้รับหิกมะฮ์จากอัลลอฮ์ได้หรือไม่? แน่นอน คนทั่วไปก็สามารถได้รับหิกมะฮ์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะบรรดาคนศอลิห์/ผู้คนที่มีคุณธรรม ตัวอย่างเช่น ลุกมาน อัล-หะกีม ที่อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้กล่าวถึงเขาว่า

﴿وَلَقَدۡ ءَاتَيۡنَا لُقۡمَٰنَ ٱلۡحِكۡمَةَ أَنِ ٱشۡكُرۡ لِلَّهِۚ وَمَن يَشۡكُرۡ فَإِنَّمَا يَشۡكُرُ لِنَفۡسِهِۦۖ وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ ٱللَّهَ غَنِيٌّ حَمِيدٞ 12﴾ [لقمان: 12] 

ความว่า “และแท้จริงแล้ว เราได้ให้หิกมะฮ์แก่ลุกมานว่า จงขอบคุณต่ออัลลอฮ์เถิด และหากผู้ใดขอบคุณแท้จริงเขาก็ขอบคุณเพื่อตัวของเขาเอง และหากผู้ใดปฏิเสธแท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงมั่งมีและทรงยิ่งด้วยเกียรติแห่งการสดุดี” (ลุกมาน 12)

 

หรือคนอื่นๆ คนทั่วไปอย่างเราๆ ก็สามารถรับหิกมะฮ์ได้เช่นเดียวกัน และใครก็ตามที่ได้รับหิกมะฮ์ นั่นแสดงว่าเขาได้รับความดีงามอันมากมายจากพระองค์อัลลอฮ์

﴿يُؤۡتِي ٱلۡحِكۡمَةَ مَن يَشَآءُۚ وَمَن يُؤۡتَ ٱلۡحِكۡمَةَ فَقَدۡ أُوتِيَ خَيۡرٗا كَثِيرٗاۗ﴾ [البقرة: 269]

ความว่า “พระองค์จะประทานหิกมะฮ์ให้แก่ผู้ที่ทรงประสงค์ และผู้ใดที่ได้รับหิกมะฮ์ แน่นอนเขาก็ได้รับความความดีอันมากมาย” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 269)

 

พี่น้องครับ

เราฟังตัวอย่างอัลกุรอานมาหลายอายะฮ์ที่ได้กล่าวถึง อัล-หิกมะฮ์ สรุปแล้วมันคืออะไร? และมันมีความสำคัญอย่างไรในชีวิตของเรา?

อัล-หิกมะฮ์ ในการให้ความหมายของบรรดาอุละมาอ์ ก็ คือ

الإِصَابَةُ في القَوْلِ وَالفِعْلِ.

หมายถึง การพูดและการทำได้อย่างถูกต้อง (ดูตัฟซีร อัฏ-เฏาะบะรีย์)

บางคนก็อธิบายว่า หิกมะฮ์ คือการทำได้อย่างถูกต้อง ทั้งการพูด การทำ การเลือกใช้วิธีการตามบริบทและวาระที่เหมาะสม ตามกาลเทศะและเป้าหมายที่ถูกต้อง ทุกอย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็น

สุบหานัลลอฮ์ ความพิเศษนี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับ บางคนอาจจะพูดถูกและมีความตั้งใจดีแต่พูดด้วยสำนวนที่รับฟังไม่ได้ หรือบางคนอาจจะพูดดีแต่ไม่ถูกกาลเทศะ ตัวอย่างเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่หิกมะฮ์นั่นเอง

เพราะฉะนั้น การที่คนผู้หนึ่งรู้ว่าเขาควรจะพูดอะไร กับใคร วิธีไหน หรือรู้ว่าควรจะต้องทำอะไร เวลาไหน แบบไหนที่เหมาะสม นั่นคือ หิกมะฮ์

หิกมะฮ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราทุกคนทั้งในเวลาปกติ และยิ่งจำเป็นมากขึ้นไปอีกถ้าอยู่ในภาวะที่เราเจอกับปัญหาและวิกฤต ในช่วงที่เราเจอกับปัญหาต่อหน้า เวลาที่เราเจอสถานการณ์ที่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ไม่รู้จะเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างไร จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องอาศัยการจัดการอย่างถูกต้องหรือมีหิกมะฮ์ในการเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น

ในจำนวนตัฟซีรหรือการอธิบายคำว่า อัล-หิกมะฮ์ ที่บรรดาสลัฟได้ให้ไว้ก็คือ

อัล-หิกมะฮ์ คือ القُرْآنُ وَالفِقْهُ بِهِ อัลกุรอานและการเข้าใจเนื้อหามัน แน่นอนที่สุด แหล่งข้อมูลแรกที่เราจะใช้เป็นที่ตักตวงหิกมะฮ์ และทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เรื่องราวในครอบครัว เรื่องราวในสังคม สถานการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นในสังคมมนุษย์ คัมภีร์ที่สามารถให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นได้ก็คือ อัลกุรอาน ดังนั้นผู้ที่อ่านและศึกษาอัลกุรอานก็คือผู้ที่จะได้รับหิกมะฮ์ คนที่เรียนอัลกุรอานคือคนที่กำลังแสวงหาอัล-หิกมะฮ์ จากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

บ้างก็บอกว่า อัล-หิกมะฮ์ คือ العِلْمُ بِالدِّيْنِ การเรียนรู้ศาสนา บ้างก็บอกว่า อัล-หิกมะฮ์ คือ  الفَهْمُความเข้าใจ แน่นอนว่าความหมายทั้งหมดนั้นไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่มันส่งเสริมซึ่งกันและกัน[1] นักตัฟซีรอย่างอิมาม อัฏ-เฏาะบะรีย์ จึงได้อธิบายสรุปมีใจความว่า หิกมะฮ์คือการที่อัลลอฮ์ประทานความถูกต้องทั้งในการพูดและการกระทำแก่บ่าวที่พระองค์ประสงค์ และใครก็ตามที่ได้รับการอำนวยความถูกต้องในเรื่องดังกล่าว แน่นอนว่าเขาย่อมได้รับความดีงามอันมากมายแล้ว[2] (ตัฟซีร อัฏ-เฏาะบะรีย์)

หิกมะฮ์ เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก บางทีในสถานการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เราอาจจะไม่รู้ว่าควรจัดการอย่างไร หรือในยามที่เราเจอปัญหาในครอบครัวและไม่รู้จะแก้ปัญหาแบบไหน สำหรับคนที่มีหิกมะฮ์เขาจะรู้ว่าควรรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร การที่มีหิกมะฮ์จะทำให้เราไม่หุนหันพลันแล่นตัดสินใจทำอะไรลงไปแล้วเกิดความเสียใจในภายหลัง ความเสียใจมักจะเกิดขึ้นเพราะเราตัดสินใจทำอะไรลงไปโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาและสถานการณ์นั้นๆ  

 

พี่น้องครับ

แหล่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะแสวงหาและตักตวงหิกมะฮ์ ก็คือ อัลกุรอาน เพราะอัลลอฮ์ให้คุณลักษณะอัลกุรอานว่าเป็น
อัลกุรอาน อัล-หะกีม

﴿وَٱلۡقُرۡءَانِ ٱلۡحَكِيمِ 2﴾ [يس: 2] 

ความว่า “ขอสาบานด้วยอัลกุรอาน อัล-หะกีม
(อัลกุรอานที่เปี่ยมด้วยหิกมะฮ์)” (ยาซีน
2)

และ อัล-กิตาบ อัล-หะกีม

﴿الٓرۚ تِلۡكَ ءَايَٰتُ ٱلۡكِتَٰبِ ٱلۡحَكِيمِ 1﴾ [يونس: 1] 

ความว่า “อลิฟ ลาม รออ์ นั่นคือโองการแห่ง อัล-กิตาบ อัล-หะกีม (คัมภีร์ที่เปี่ยมด้วยหิกมะฮ์)” (ยูนุส 1)

นอกจากนี้ อัลลอฮ์ยังได้สั่งให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สอนอัลกุรอานแก่ประชาชาติของท่าน และให้สอนอัล-หิกมะฮ์พร้อมๆ กันด้วย

ถ้าเราอ่านอัลกุรอานแล้วเจอคำว่า อัล-หิกมะฮ์ มาแบบคำเดียวโดดๆ นั่นแสดงว่ามันอาจจะหมายถึงความหมายได้หลายอย่าง แต่ถ้าหากคำว่า อัล-หิกมะฮ์ มาพร้อมกับคำว่า อัล-กิตาบ นั่นแปลว่ามันหมายถึง อัส-สุนนะฮ์ เช่นในอายะฮ์ที่อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿هُوَ ٱلَّذِي بَعَثَ فِي ٱلۡأُمِّيِّ‍ۧنَ رَسُولٗا مِّنۡهُمۡ يَتۡلُواْ عَلَيۡهِمۡ ءَايَٰتِهِۦ وَيُزَكِّيهِمۡ وَيُعَلِّمُهُمُ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡحِكۡمَةَ وَإِن كَانُواْ مِن قَبۡلُ لَفِي ضَلَٰلٖ مُّبِينٖ 2﴾ [الجمعة: 2] 

ความว่า “พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งรอซูลขึ้นคนหนึ่งในหมู่ผู้ไม่รู้หนังสือจากพวกเขาเอง เพื่อสาธยายโองการต่างๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และให้เขาขัดเกลาพวกเขาจนผุดผ่อง และให้เขาสอนคัมภีร์และหิกมะฮ์แก่พวกเขา และแท้จริงก่อนหน้านี้พวกเขาอยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้ง” (อัล-ญุมุอะฮ์ 2)

อัล-หิกมะฮ์ในที่นี้ก็คือ สุนนะฮ์ ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพราะอุละมาอ์อย่างอิมาม อัช-ชาฟิอีย์และอีกหลายท่านกล่าวว่า ทุกครั้งที่คำว่าอัล-หิกมะฮ์อยู่กับอัล-กิตาบ ความหมายของมันก็คือสุนนะฮ์นั่นเอง

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นอัลกุรอาน และไม่ว่าจะเป็นสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งสองอย่างนี้คือแหล่งที่เต็มไปด้วยความรู้และอัล-หิกมะฮ์ที่จะให้เราตักตวงและแสวงหาเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและที่เกิดขึ้นกับโลกนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

เหตุใดที่เราต้องพูดเรื่อง อัล-หิกมะฮ์​? คำตอบก็คือเพราะมันมีความสำคัญมาก ดังที่อัลลอฮ์บอกแล้วว่าใครก็ตามที่ได้รับของขวัญชิ้นนี้เขาก็คือผู้ที่โชคดีที่สุดในชีวิต แล้วเราอยากจะเป็นผู้ที่โชคดีไหม? เราอยากจะทำอะไรแล้วได้กำไรในชีวิตไหม? ถ้าเป็นเรื่องดุนยาเราทำมาค้าขายแล้วอยากได้กำไรอยากจะประสบความสำเร็จ แล้วถ้าหากเป็นเรื่องอาคิเราะฮ์บ้างเราอยากจะได้กำไรและอยากจะประสบความสำเร็จหรือไม่?

การจะที่เราจะประสบความสำเร็จในดุนยาและ
อาคิเราะฮ์ จำเป็นต้องอาศัยการปฏิบัติที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของอิสลาม เราจึงเป็นต้องเรียนรู้อัล-หิกมะฮ์ จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอัลกุรอานและสุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม​

ต้องขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ให้เราได้รับหิกมะฮ์จากพระองค์ ขอตรงๆ จากอัลลอฮ์ว่า ขอพระองค์ประทานหิกมะฮ์ให้กับฉันด้วยเถิด เพื่อให้เราทำทุกอย่างได้ถูกต้อง และไม่ออกไปจากเส้นทางที่เที่ยงตรง ไม่ว่าจะเป็นการคิด การพูด และการทำ หรืออาจจะขอด้วยสำนวนแบบอื่น ตามที่มีรายงานในหะดีษว่า

عن علي بن أبي طالب قالَ لي رَسولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وَسَلَّمَ: قُلِ: اللَّهُمَّ اهْدِنِي وَسَدِّدْنِي، وَاذْكُرْ بالهُدَى هِدَايَتَكَ الطَّرِيقَ، وَالسَّدَادِ سَدَادَ السَّهْمِ. [وفي رواية]: قُلِ: اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ الهُدَى والسَّدادَ. [رواه مسلم 2725]

ความว่า จากท่านอะลีย์ บิน อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวกันฉัน “จงขอดุอาอ์เถิดว่า อัลลอฮุมมะ อิฮ์ดิ นี วะ ซัดดิด นี (โอ้ อัลลอฮ์ขอทรงนำทางฉัน ขอทรงทำให้ฉันประพฤติอย่างถูกต้องแม่นยำ) ให้ระลึกว่าทางนำก็เหมือนกับการที่ท่านเดินทางอย่างไรไม่ให้หลง และความแม่นยำก็เหมือนกับการที่ยิงธนูได้ตรงเป้า”

ในบางสำนวนท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สอน ว่า “จงขอว่า อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุกัล-ฮุดา วัซ-ซะดาด (โอ้ อัลลอฮ์ ข้าพระองค์ขอทางนำและความถูกต้องแม่นยำด้วยเถิด)” (บันทึกโดย มุสลิม 2725)

หวังว่าพวกเราจะได้รับความดีงามอันมากมายจากการที่อัลลอฮ์ประทานหิกมะฮ์ให้กับชีวิตของเรา อามีน



[1] وإذا كان ذلك كذلك معناه، كان جميع الأقوال التي قالها القائلون الذين ذكرنا قولهم في ذلك داخلا فيما قلنا من ذلك، لأن الإصابة في الأمور إنما تكون عن فهم بها وعلم ومعرفة. وإذا كان ذلك كذلك، كان المصيب عن فهم منه بمواضع الصواب في أموره مفهما خاشيا لله فقيها عالما، وكانت النبوة من أقسامه0 [تفسير الطبري]

[2] يؤتي الله الإصابة في القول والفعل من يشاء من عباده، ومن يؤت الإصابة في ذلك منهم، فقد أوتي خيرا كثيرا.


วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - เราะมะฎอน ปลดปล่อยจากนรก - ซุฟอัม อุษมาน


 ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube

คุฏบะฮ์ - เราะมะฎอน ปลดปล่อยจากนรก - ซุฟอัม อุษมาน - YouTube

หรือบน SoundCloud

Stream คุฏบะฮ์ - เราะมะฎอน ปลดปล่อยจากนรก - ซุฟอัม อุษมาน by e-Daiyah | Listen online for free on SoundCloud



พี่น้องผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์รักทุกท่าน

เราอยู่ในเดือนเราะมะฎอน ตลอดทั้งเดือนอัลลอฮ์มีคำสั่งให้เราถือศีลอด ซึ่งมีเป้าหมายของมัน เดือนเราะมะฎอนมีเป้าหมายหลายประการที่อัลลอฮ์ต้องการให้เราซึมซับในชีวิตของเรา ยิ่งเข้าใกล้ช่วงสุดท้ายของเดือนก็ยิ่งต้องตรวจสอบตัวเองดูว่าเราได้บรรลุเป้าหมายอะไรไปบ้างแล้วกี่อย่าง ตรวจสอบเป้าหมายของเราะมะฎอนตามที่ระบุจากหลักฐานต่างๆ ทั้งในอัลกุรอานและหะดีษ

ในอัลกุรอาน อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ 183 ﴾ [البقرة: 183] 

ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเจ้ามาก่อน เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 183)

อัลลอฮ์สั่งให้เราถือศีลอดเพื่อให้เราเป็นผู้ที่มีความยำเกรง มีความตักวา นี่คือเป้าหมายหนึ่งที่ระบุอยู่ในอัลกุรอาน

ถ้าในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็มีกล่าวไว้ด้วย เช่น

«مَن صَامَ رَمَضَانَ، إيمَانًا واحْتِسَابًا، غُفِرَ له ما تَقَدَّمَ مِن ذَنْبِهِ». [الراوي: أبو هريرة، البخاري 38، مسلم 760]

ความว่า “ผู้ใดที่ถือศีลอดเราะมะฎอน ด้วยความศรัทธาและบริสุทธิ์ใจหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮ์ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปที่ผ่านมา” (รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮ์ บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 38 และมุสลิม 760)

ในหะดีษนี้บอกว่า ใครที่ถือศีลอดด้วยความศรัทธาและอิคลาศเพื่อความโปรดปรานและผลบุญจากอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะอภัยโทษให้กับเขา นี่ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งในเดือนเราะมะฎอน

 

พี่น้องครับ

ยังมีเป้าหมายอื่นๆ อีกหลายประการ มีทั้งเป้าหมายรวมและเป้าหมายย่อย เป้าหมายรวมก็คือเพื่อจะได้มีความตักวา ส่วนเป้าหมายย่อยก็อาจจะกล่าวได้ว่าเพื่อลบบาป เพื่อศึกษาอัลกุรอาน เพื่อปรับสมดุลร่างกายให้มีสุขภาพที่ดี เพื่อร่วมสร้างสังคมที่สันติสุขด้วยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพื่อขอสิ่งที่ตัวเองปรารถนาในคืนลัยละตุลก็อดร์ซึ่งเป็นคืนที่ดีที่สุดประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ คือ เป้าหมายต่างๆ ที่มีอยู่ในเดือนเราะมะฎอน แต่ยังมีเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญมากและไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ เป้าหมายในการปลดตัวเองให้พ้นจากการเป็นชาวนรก เพราะเป้าหมายนี้ก็ถูกพูดถึงในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เช่นเดียวกันว่า

«وَلِلَّهِ عُتَقَاءُ مِنَ النَّارِ وَذَلِكَ فِي كُلِّ لَيْلَةٍ» [الراوي: أبوهريرة، أخرجه الترمذي 682، وابن ماجه 1642، صححه الألباني في صحيح ابن ماجه واللفظ له]

ความว่า “สำหรับอัลลอฮ์นั้น มีผู้ที่พระองค์ปลดปล่อยพวกเขาให้พ้นจากนรก ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกคืนของเราะมะฎอน” (รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮ์ บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ 682 และ อิบนุ มาญะฮ์ 1642 อัล-อัลบานีย์วินิจฉัยว่าเศาะฮีห์ นี่เป็นสำนวนของอิบนุ มาญะฮ์)

อัลลอฮ์จะทรงปลดปล่อยบ่าวของพระองค์ในทุกค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนให้พ้นจากนรก นี่ต้องเป็นเป้าหมายหนึ่งของเรา ต้องมีความหวังว่าในจำนวนรายชื่อที่อัลลอฮ์จะลบออกจากรายชื่อชาวนรกนั้นต้องมีชื่อของเราด้วย ตั้งไว้เป็นเป้าหมายสำหรับเดือนเราะมะฎอนนี้

ในรายงานอื่นที่เล่าจาก อบู อุมามะฮ์ และ ญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา มีสำนวนว่า

«إنَّ للهِ تعالى عند كلِّ فطرٍ عُتَقاءَ من النارِ، وذلك في كلِّ ليلةٍ» [صحيح الجامع الصغير 2170، حديث حسن]

ความว่า “แท้จริงแล้ว สำหรับอัลลอฮ์นั้น ณ เวลาละศีลอดทุกครั้ง จะมีผู้ที่พระองค์ปลดปล่อยให้พ้นจากนรก และมันจะเกิดขึ้นทุกๆ คืนของเราะมะฎอน” (เศาะฮีห์ อัล-ญามิอฺ 2170 หะดีษหะสัน)

 

พี่น้องครับ

หากมีอะไรหลายๆ อย่างที่เราอยากจะขอและปรารถนาอยากจะได้ในเดือนเราะมะฎอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดุนยา หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง กับครอบครัว กับลูกหลาน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับริซกี อาชีพหรือธุรกิจ และกำไรอื่นๆ ในดุนยานี้ ได้โปรดให้มีอีกอย่างหนึ่ง ให้มีเป้าหมายในการขอเพื่อให้เรารอดพ้นจากการเป็นชาวนรกอีกหนึ่งอย่างด้วย ซึ่งนี่คือเป้าหมายสูงสุดเหนือเป้าหมายอื่นๆ ทั้งหมดที่เราขอก่อนหน้านี้

เหตุใดที่เราต้องขอให้พ้นจากนรก เพราะมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่มีใครที่สามารถทนทานต่อการลงโทษของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ในนรกได้ เราไม่สามารถขอร้องจากอัลลอฮ์เพื่อที่จะพักโทษในนรกได้แม้แต่นาทีเดียวก็ตาม ขอลดการลงโทษก็ทำไม่ได้ หรือจะขอตายไปเลยให้มันสิ้นซากจะได้จบๆ จากการลงโทษที่เจ็บปวดทรมานก็ยังทำไม่ได้ ใครที่เป็นชาวนรกโดยเฉพาะผู้ที่ต้องรับโทษในนรกตลอดกาล พวกเขาจะไม่มีวันตายและไม่มีวันลดโทษ พระองค์อัลลอฮ์ตรัสว่า

﴿ وَٱلَّذِينَ كَفَرُواْ لَهُمۡ نَارُ جَهَنَّمَ لَا يُقۡضَىٰ عَلَيۡهِمۡ فَيَمُوتُواْ وَلَا يُخَفَّفُ عَنۡهُم مِّنۡ عَذَابِهَاۚ كَذَٰلِكَ نَجۡزِي كُلَّ كَفُورٖ 36 ﴾ [فاطر: 36] 

ความว่า “ส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาจะได้รับไฟนรกญะฮันนัม (เป็นการตอบแทน) โทษนั้นจะไม่จัดการจนพวกเขาตาย ขณะเดียวกันมันก็จะไม่ถูกลดหย่อนแก่พวกเขาแม้แต่น้อย เช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผู้ปฏิเสธศรัทธาทุกคน” (ฟาฏิร 36)

รูปแบบต่างๆ ของการลงโทษในนรกนั้นสามารถที่จะทำให้คนผู้หนึ่งตายได้เลยในวินาทีนั้น แต่พระองค์ไม่ให้เขาตาย เพื่อที่เขาจะได้รับการทรมานอย่างไม่สิ้นสุดซ้ำแล้วซ้ำอีกวนเวียนไปไม่จบสิ้น วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก

 

﴿ وَقَالَ ٱلَّذِينَ فِي ٱلنَّارِ لِخَزَنَةِ جَهَنَّمَ ٱدۡعُواْ رَبَّكُمۡ يُخَفِّفۡ عَنَّا يَوۡمٗا مِّنَ ٱلۡعَذَابِ 49 ﴾ [غافر: 49]   

ความว่า “และบรรดาผู้ที่ทรมานอยู่ในนรกจะกล่าวแก่ยามเฝ้าประตูนรกว่า โปรดช่วยวิงวอนขอต่อพระเจ้าของพวกท่านให้ทรงลดหย่อนการลงโทษแก่เราสักวันหนึ่งเถิด” (ฆอฟิร 49)

ดังนั้น สิ่งที่เราต้องกำหนดเป็นเป้าหมายก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ฉันไม่ขอเป็นชาวนรก ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เราได้รับการลบชื่อออกจากการเป็นชาวนรก ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นทุกค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอน

 

พี่น้องครับ

การปลดปล่อยจากนรกในทุกค่ำคืนของเราะมะฎอนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? มีคำอธิบายจากบรรดาอุละมาอ์ว่า การปลดปล่อยจากนรก คือการที่อัลลอฮ์อภัยโทษให้กับพวกเขา ตอบรับอะมัลอิบาดะฮ์ของพวกเขา ปกป้องพวกเขาไม่ให้ทำความผิดที่เป็นสาเหตุของการได้รับโทษในนรก ดังนั้น จึงสนับสนุนให้มุ่งมั่นทำความดีต่างๆ อย่างตั้งใจเพื่อจะได้เป็นผู้ที่บรรลุเป้าหมายความสำเร็จให้เป็นชาวสรรค์และพ้นจากการเป็นชาวนรก[1]

 จะเห็นได้ว่า เหตุแห่งการพ้นจากนรกในเดือนเราะมะฎอนนั้นมีมากมายเหลือเกิน อิบาดะฮ์ต่างๆ ที่เราทำทั้งหมดคือมูลเหตุดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอด การละหมาดยามค่ำคืน การอ่านอัลกุรอาน การบริจาคทาน การขอดุอาอ์ ฯลฯ อะมัลต่างๆ ที่เราทำในเดือนเราะมะฎอน คือปัจจัยที่อัลลอฮ์จะลบบาปของเรา และตราบใดที่เราไม่มีบาปเราก็จะไม่ใช่ชาวนรกอีกต่อไป

รวมถึงการที่เราสามารถรักษาตัวเองไม่ให้ทำผิดบาปต่ออัลลอฮ์ในเดือนเราะมะฎอน ด้วยบรรยากาศของเดือนนี้ที่ทำให้เรามีความตระหนักอย่างบริสุทธิ์ใจที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำบาป ทำให้บาปของเราลดลงอย่างมาก นี่คือสภาพอันสวยงามของเดือนเราะมะฎอนที่พร้อมจะให้เราได้ประพฤติตนเป็นผู้รอดพ้นจากนรก

แม้กระทั่ง ความประเสริฐของตัวการถือศีลอดเอง ก็มีอานิสงค์โดยตรงต่อการป้องกันตัวเองให้พ้นจากไฟนรก ในหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَن صامَ يَوْمًا في سَبيلِ اللَّهِ، بَعَّدَ اللَّهُ وجْهَهُ عَنِ النَّارِ سَبْعِينَ خَرِيفًا» [الراوي: أبو سعيد الخدري، البخاري ،2840، مسلم، 1153]

ความว่า “ผู้ใดก็ตามที่ถือศีลอดหนึ่งวันในหนทางของอัลลอฮ์ พระองค์จะทำให้ใบหน้าของเขาห่างไกลจากไฟนรกถึงเจ็ดสิบปี” (รายงานจากอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 2840 และ มุสลิม 1153)

การถือศีลอดเพื่อหนทางของอัลลอฮ์ในที่นี้ หมายถึง ด้วยความอิคลาศบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์ เป็นการเชื่อฟังต่อคำสั่งของอัลลอฮ์ ไม่ใช่เพื่อโอ้อวดหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด[2] อัลลอฮ์จะให้เขาห่างไกลจากนรกถึงเจ็ดสิบปีต่อหนึ่งวันที่เขาถือศีลอด อัลลอฮุอักบัร!

เรามีความจำเป็นต้องทำอะมัลอิบาดะฮ์ และทุกครั้งที่เราทำความดีใดๆ ขอให้ตระหนักอยู่เสมอว่า สิ่งที่เราทำขอให้มันเป็นปัจจัยเพื่อให้เราพ้นจากนรก แม้กระทั่งแค่การบริจาคเล็กๆ น้อยๆ เท่ากับซีกเดียวของผลอินทผลัมก็ตาม ในหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พูดถึงวันกิยามะฮ์ที่บ่าวจะต้องเจอกับอัลลอฮ์โดยไม่มีล่ามแปล พระองค์ถามเขาว่าเหตุใดบ่าวจึงไม่บริจาค ทั้งๆ ที่พระองค์ประทานความมั่งคั่งให้มากมายจนสุดท้ายเขาต้องเข้านรก ในตอนท้ายหะดีษท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงสั่งให้บรรดาเศาะหาบะฮ์หมั่นบริจาคเพื่อให้ตัวเองพ้นจากนรกแม้ด้วยซีกเดียวของอินทผลัมก็ตาม

«اتَّقُوا النَّارَ ولو بشِقَّةِ تَمْرَةٍ، فمَن لَمْ يَجِدْ شِقَّةَ تَمْرَةٍ فَبِكَلِمَةٍ طَيِّبَةٍ» [الراوي: عدي بن حاتم، البخاري، 3595، مسلم، 1016]

ความว่า “จงป้องกันตัวเองจากนรกแม้ด้วยการบริจาคอินทผลัมแค่ซีกเดียว ใครที่ไม่มีอินผลัมแค่ซีกเดียวก็จงให้ทานด้วยคำพูดที่ดี” (รายงานจากอะดีย์ บิน หาติม บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 3595 และมุสลิม 1016)[3]

การบริจาคด้วยอินทผลัมแค่ซีกเดียวก็เป็นเหตุให้ป้องกันจากไฟนรกได้ มาชาอ์อัลลอฮ์

ในวันกิยามะฮ์มนุษย์จะต้องเดินข้ามสะพานศิรอฏที่พาดผ่านนรก แต่ละคนจะมีสภาพการเดินผ่านที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระดับอะมัลความดีที่ได้ทำไว้ บางคนผ่านไปได้เร็วดั่งสายฟ้าแลบ บางคนเหมือนขี่ม้า บางคนต้องเดิน บางคนต้องคลาน และบางคนก็ไม่รอด เพราะนรกจะคอยตะครุบคนที่เดินผ่านจากบรรดาคนที่ต้องรับโทษให้ตกลงไปจากสะพาน ดังนั้น การป้องกันตัวเองให้พ้นจากนรกจึงเป็นภารกิจที่สำคัญมากสำหรับพวกเราทุกคน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงสั่งเสียให้ป้องกันตัวเองนรก แม้ด้วยการบริจาคเพียงแค่อินผลัมครึ่งเม็ด

มีความหมายเพิ่มเติมที่สามารถขยายความได้ จากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา วันหนึ่ง มีผู้หญิงยากจนคนหนึ่งมาขอรับอาหารที่บ้านของนาง มาพร้อมกับลูกสาวสองคน ท่านหญิงให้อินทผลัมไปคนละเม็ด ลูกสาวสองคนเมื่อกินอินทผลัมของตนหมดแล้วยังไม่พอ ผู้เป็นแม่ที่กำลังจะหยิบอินทผลัมเข้าปากของตัวเอง จำใจต้องแบ่งลูกสุดท้ายที่เหลือเป็นสองซีกมอบให้กับลูกสาวทั้งสองคนละซีก ท่านหญิงอาอิชะฮ์รู้สึกตื้นตันใจที่ได้เห็น และเล่าเรื่องนี้ให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รับฟัง ท่านนบีบอกกับนางว่า

«إنَّ اللَّهَ قدْ أَوْجَبَ لَهَا بهَا الجَنَّةَ، أَوْ أَعْتَقَهَا بهَا مِنَ النَّارِ» [الراوي: عائشة أم المؤمنين، مسلم 2630]

ความว่า “แท้จริงแล้ว อัลลอฮ์ได้กำหนดสวรรค์ไว้ให้แก่นางแล้ว หรือพระองค์ได้ปลดปล่อยนางให้พ้นจากนรกแล้ว” (บันทึกโดยมุสลิม 2630)

มาชาอ์อัลลอฮ์ การทำเรื่องที่ดูเล็กๆ น้อยๆ นี้ แต่ยิ่งใหญ่เหลือเกินในสายตาของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

นี่คือตัวอย่างที่เราทำได้ แน่นอนที่สุด ในเดือนเราะมะฎอนมีอะมัลมากมายที่เราทำได้เพื่อเข้าหาอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา และเป็นเหตุให้เราได้รอดพ้นจากไฟนรกในวันอาคิเราะฮ์ อามีน ยาร็อบบัลอาละมีน

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน

ในก็ตามที่มีคำปฏิญาณ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ เขาก็จะได้เป็นชาวสวรรค์ อินชาอ์อัลลอฮ์ แม้ว่าบางคนอาจจะต้องผ่านนรกก่อนก็ตาม วัลอิยาซุบิลลาฮ์มินซาลิก นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เราต้องให้สมดุลระหว่างความหวังและความกลัว

ความหวังก็คือ ทุกคนที่มีคำปฏิญาณ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ จะได้เข้าสวรรค์ ความกลัวก็คือ บางทีเราอาจจะต้องเข้านรกก่อนเพราะบาปที่เราทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ เราไม่เอาสภาพที่ต้องเข้านรกก่อนที่จะเข้าสวรรค์ เราขอให้ได้เข้าสวรรค์เลยโดยไม่ต้องผ่านนรก

เพราะฉะนั้น อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้สอนเราให้ขอดุอาอ์ มีดุอาอ์อะไรบ้างที่จะทำให้เรานั้นพ้นจากนรก? มีเยอะแยะมากมาย และบางทีหากเราไม่รู้ดุอาอ์ที่เป็นตัวบทภาษาอาหรับ เราก็ยังสามารถขอด้วยภาษาที่เราเข้าใจเองได้ เมื่อรู้แล้วว่าพระองค์อัลลอฮ์จะปลดปล่อยบ่าวของพระองค์ให้พ้นจากนรกทุกวันของเดือนเราะมะฎอน เราก็ขอจากพระองค์ได้เลยด้วยภาษาที่เราเข้าใจว่า โอ้ อัลลอฮ์ ได้โปรดให้ฉันพ้นจากนรกด้วยเถิด ได้โปรดปลดปล่อยพ่อแม่ของฉัน ครอบครัวของฉัน ลูกหลานของฉัน ให้พ้นจากไฟนรกด้วยเถิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาละศีลอดตามที่ปรากฏในหะดีษก่อนหน้านี้

และหนึ่งในดุอาอ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ ดุอาอ์ที่ปรากฏในอัลกุรอานว่า

﴿رَبَّنَآ ءَاتِنَا فِي ٱلدُّنۡيَا حَسَنَةٗ وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِ حَسَنَةٗ وَقِنَا عَذَابَ ٱلنَّارِ 201﴾ [البقرة: 201] 

ความว่า “โอ้ พระผู้อภิบาลของเรา ได้โปรดประทานความดีงามแก่เราในโลกดุนยานี้ และประทานความดีงามแก่เราในวันอาคิเราะฮ์ และขอทรงปกป้องเราให้พ้นจากนรกด้วยเถิด” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 201)

เพราะฉะนั้น พี่น้องครับ ได้โปรดเป็นห่วงตัวเอง เป็นห่วงคนที่เรารักด้วยการขอดุอาอ์ให้เราทุกคนปลอดภัยจากนรก ในเดือนเราะมะฎอน ในช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุดของปี



[1] ดูเพิ่มเติมจาก t.ly/Swl-S

[2] ดูเพิ่มเติมจาก t.ly/qD_Am และ t.ly/gm4c2

[3] ดูหะดีษฉบับเต็มได้จาก t.ly/5GUOO