วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - บทเรียนจากฮิจญ์เราะฮ์ - ซุฟอัม อุษมาน

 



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 
 
หรือบน SoundCloud


พี่น้องมุสลิมที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

พูดถึงฮิจญ์เราะฮ์ แน่นอนว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อิสลาม บรรดาเศาะหาบะฮ์ในอดีตได้นำเอาเหตุการณ์นี้มาเป็นจุดเริ่มต้นนับปฏิทินอิสลาม ดังที่ได้เกิดขึ้นในยุคสมัยของท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เนื่องจากการฮิจญ์เราะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นเหตุการณ์ที่แยกสภาพการเปลี่ยนแปลงของชาวมุสลิมอย่างชัดเจน จากสภาพที่ชาวมุสลิมถูกกดขี่ข่มเหงอย่างสาหัสในมักกะฮ์ สู่การได้แสดงตนในฐานะประชาคมมุสลิมอย่างชัดเจน ได้จัดการเรื่องราวต่างๆ ในอิสลามอย่างเห็นภาพชัดและโดดเด่นเป็นประจักษ์ที่สุดในประวัติศาสตร์อิสลาม

ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการเริ่มต้นปีใหม่ฮิจญ์เราะฮ์ศักราช เราจึงควรใช้โอกาสทบทวนบทเรียนต่างๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนชีวิต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นทุกวัน และความท้าทายใหม่ๆ ที่เราต้องเผชิญในโลกยุคนี้ แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแต่แรงบันดาลใจจากอดีตยังคงมีความหมายอยู่เสมอ อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿وَهُوَ ٱلَّذِي جَعَلَ ٱلَّيۡلَ وَٱلنَّهَارَ خِلۡفَةٗ لِّمَنۡ أَرَادَ أَن يَذَّكَّرَ أَوۡ أَرَادَ شُكُورٗا 62﴾ [الفرقان: 62] 

ความว่า “และพระองค์คือผู้ทรงบันดาลให้มีกลางคืนและกลางวัน หมุนเวียนแทนที่กัน สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะใคร่ครวญบทเรียนหรือปรารถนาจะขอบคุณ” (อัล-ฟุรกอน 62)

 

พี่น้องครับ

ถ้าจะให้นิยามฮิจญ์เราะฮ์ในแง่ของการให้บทเรียน เราสามารถวิเคราะห์ได้หลายแง่มุมมาก ฮิจญ์เราะฮ์คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เป็นจุดพลิกผันของสถานะประชาชาติมุสลิมและจุดกำเนิดรัฐอิสลาม

ฮิจญ์เราะฮ์อาจจะเป็นภาพแห่งความเจ็บปวดและยุ่งยาก ในขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดเริ่มต้นแห่งเกียรติยศและความสูงส่งของประชาชาติมุสลิม

มีภาพต่างๆ อันงดงามมากมายซุกซ่อนอยู่ในเหตุการณ์อันยากลำบากที่เป็นเครื่องหมายแห่งความมั่นคงของอีมาน ความรักที่มีต่ออิสลาม และความช่วยเหลือของอัลลอฮ์ที่ทรงมีต่อบ่าวของพระองค์ ภาพเหล่านี้ยังคงเป็นกำลังใจให้แก่คนรุ่นหลังได้สืบต่อภารกิจสารแห่งริสาละฮ์อิสลามตลอดไป เพื่อให้อิสลามโดดเด่นอย่างมั่นคงจนถึงวันกิยามะฮ์ อินชาอัลลอฮ์

บางภาพที่สามารถสะท้อนได้จากเหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อเป็นการตอกย้ำหัวใจของพวกเราให้ยืนหยัดอยู่บนอิสลาม อย่างน้อยก็สามประการนี้

 

หนึ่ง ภาพแห่งความอดทนและมั่นคงในอีมาน

13 ปีที่มักกะฮ์ ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ฮิจญ์เราะฮ์ ชาวมุสลิมต้องอยู่ด้วยความลำบาก ท่ามกลางการต่อต้านและกดขี่ข่มเหงของพวกกุร็อยช์ในเมืองมักกะฮ์ เรื่องราวการทรมานของเศาะหาบะฮ์บางท่าน เช่น บิลาล, ครอบครัวอัมมาร์ บิน ยาสิร, มุศอับ บิน อุมัยร์, สะอัด บิน อบีวักกอศ, ค็อบบาบ บิน อัล-อะร็อต เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ล้วนแล้วฉายให้เห็นถึงความเจ็บปวดที่ต้องอาศัยความอดทนอย่างสูงล้นในการฟันฝ่าอุปสรรคและประคับประคองหัวใจให้อยู่ในความศรัทธาได้อย่างมั่นคง บรรดาเศาะหาบะฮ์กี่ท่านที่ต้องสละชีวิตและลมหายใจ ต้องทิ้งฐานบ้านเกิดและทุกอย่างที่เคยมี เพียงเพื่อรักษาอิสลามไว้ให้คงอยู่จนถึงมือเรา

แม้แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เองก็ตาม ยังถูกทำร้ายและถูกรังแกไม่แพ้บรรดาเศาะหาบะฮ์ ถึงขั้นถูกปองร้ายถึงชีวิตจนต้องตัดสินใจอพยพออกมาจากดินแดนบ้านเกิดอันเป็นที่รักที่สุดของท่าน เหตุการณ์ต่างๆ ในมักกะฮ์ก่อนการฮิจญ์เราะฮ์เป็นช่วงเวลาที่ให้อุทาหรณ์อันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับความมั่นคงในอีมานของบรรพบุรุษอิสลามผู้เป็นกัลยาณชนรุ่นแรก

شكى خباب إلى النبي صلى الله عليه وسلم فقال: شَكَوْنَا إِلَى رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَهُوَ مُتَوَسِّدٌ بُرْدَةً لَهُ فِي ظِلِّ الْكَعْبَةِ، قُلْنَا لَهُ: أَلَا تَسْتَنْصِرُ لَنَا؟ أَلَا تَدْعُو اللَّهَ لَنَا؟ قَالَ : «كَانَ الرَّجُلُ فِيمَنْ قَبْلَكُمْ يُحْفَرُ لَهُ فِي الْأَرْضِ فَيُجْعَلُ فِيهِ فَيُجَاءُ بِالْمِنْشَارِ فَيُوضَعُ عَلَى رَأْسِهِ فَيُشَقُّ بِاثْنَتَيْنِ وَمَا يَصُدُّهُ ذَلِكَ عَنْ دِينِهِ، وَيُمْشَطُ بِأَمْشَاطِ الْحَدِيدِ مَا دُونَ لَحْمِهِ مِنْ عَظْمٍ أَوْ عَصَبٍ وَمَا يَصُدُّهُ ذَلِكَ عَنْ دِينِهِ، وَاللَّهِ لَيُتِمَّنَّ هَذَا الْأَمْرَ حَتَّى يَسِيرَ الرَّاكِبُ مِنْ صَنْعَاءَ إِلَى حَضْرَمَوْتَ لَا يَخَافُ إِلَّا اللَّهَ أَوْ الذِّئْبَ عَلَى غَنَمِهِ وَلَكِنَّكُمْ تَسْتَعْجِلُونَ» [البخاري 6943]

ความว่า ค็อบบาบ ได้ร้องเรียนกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในขณะที่ท่านกำลังนอนเอนอยู่บนผ้าของท่านใต้ร่มเงากะอฺบะฮ์ว่า ท่านจะไม่ขอความช่วยเหลือให้เราหรือ? ท่านจะไม่ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ให้เราหรือ? ท่านนบีตอบว่า “เคยมีคนในยุคก่อนหน้าพวกท่านที่ถูกฝังร่างลงในดินแล้วถูกเลื่อยผ่าหัวออกเป็นสองซีก แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคกีดกันให้เขาเลิกจากศาสนาของเขาแต่อย่างใด บางคนถูกขูดเนื้อด้วยหวีเล็กจนเห็นกระดูกและเส้นเอ็น แต่นั่นก็ไม่ได้กีดกันให้เขาออกจากศาสนาของเขาแต่อย่างใดเลย ขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ พระองค์จะทำให้ศาสนานี้สมบูรณ์จนเกิดสันติสุข กระทั่งคนที่เดินทางจากศอนอาอ์ไปหะเฎาะเราะเมาต์จะไม่รู้สึกกลัวสิ่งใดเลยนอกจากอัลลอฮ์ หรือกลัวแค่ว่าหมาป่าจะมากินแกะของเขาระหว่างทางเท่านั้น ทว่าพวกท่านนั้นรีบเกินไป(ที่จะอยากจะเห็นชัยชนะ)” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 6943)

ทุกวันนี้ บททดสอบของเรายังไม่ได้หนักหนาเท่ากับบรรดาเศาะหาบะฮ์ในยุคมักกะฮ์ แต่เราอดทนในการยึดมั่นอิสลามมากแค่ไหน เป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ในการทบทวนตัวเอง

 

พี่น้องครับ

ประการที่สอง คือ ภาพแห่งความรักและการเสียสละ

ฮิจญ์เราะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เปิดเผยให้เราเห็นความรักและการเสียสละของบรรดาเศาะหาบะฮ์ที่มีต่ออิสลามและท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อย่างล้นพ้น

บุคคลสำคัญในเหตุการณ์ที่เราทุกคนต่างรู้จักกันดี เช่น ท่านอะลีย์, ท่านอบู บักร์, ครอบครัวของท่าน เช่น อับดุลลอฮ์ ที่เป็นสายลับฟังข่าว ท่านหญิงอัสมาอ์และอาอิชะฮ์ที่คอยเตรียมเสบียงอาหาร ทาสของท่านที่นำฝูงแกะไปเลี้ยงกลบรอยเท้า ได้แสดงบทบาทที่เป็นตัวอย่างอันล้ำค่าในการปกป้องอิสลามและปกป้องท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

รวมทั้งชาวมะดีนะฮฺที่ออกมาเฝ้ายังชานเมืองมะดีนะฮ์ทุกวัน เพื่อรอคอยว่าเมื่อไรท่านนบีจะมาถึง

ทุกคนที่อ่านเหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮฺย่อมต้องเห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่บุคคลเหล่านี้มีให้กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยเฉพาะท่านอบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ที่อยู่เคียงข้างตลอดการเดินทาง คอยปกป้องท่านและเป็นห่วงเป็นใยดูแลท่านไม่ให้คลาดสายตา ความกังวลของท่านอบู บักร์เกี่ยวกับความปลอดภัยของท่านนบีนั้นสุดจะบรรยายได้ จนกระทั่งท่านนบีเองกลับเป็นผู้ที่ต้องคอยปลอบโยนไม่ให้ท่านอบู บักร์กังวลใจ

ในเหตุการณ์หนึ่งระหว่างทางของการฮิจญ์เราะฮ์ ท่านอบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้เล่าว่า

فَارْتَحَلْنَا والقَوْمُ يَطْلُبُونَنَا، فَلَمْ يُدْرِكْنَا أحَدٌ منهمْ غَيْرُ سُرَاقَةَ بنِ مَالِكِ بنِ جُعْشُمٍ علَى فَرَسٍ له، فَقُلتُ: هذا الطَّلَبُ قدْ لَحِقَنَا يا رَسولَ اللَّهِ، فَقَالَ: «لا تَحْزَنْ إنَّ اللَّهَ معنَا». [الراوي: أبو بكر الصديق، أخرجه البخاري 3652]

ความว่า พวกเราเดินทางในขณะที่พวกเขาตามไล่ล่าเราอยู่ ไม่มีใครสักคนที่ตามเราทันได้นอกจากสุรอเกาะฮ์ บิน มาลิก บิน ญุอฺชุม ที่ขี่ม้าของเขามา ฉันได้บอกกับท่านนบีว่า เขาตามเราใกล้เข้ามาแล้วโอ้เราะซูลของอัลลอฮ์ ท่านตอบว่า “อย่ากังวลไปเลย แท้จริงแล้วอัลลอฮ์อยู่กับเรา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 3652)

และอีกหลายเหตุการณ์ที่ท่านอบู บักร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้แสดงให้เห็นว่าท่านรักและเป็นห่วงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากแค่ไหน สมกับที่ท่านได้กลายบุคคลที่ท่านนบีรักที่สุด จนกระทั่งท่านนบีถึงกลับกล่าวว่า

«لَوْ كُنْتُ مُتَّخِذًا مِنْ أُمَّتِي خَلِيلًا لَاتَّخَذْتُ أَبَا بَكْرٍ وَلَكِنْ أَخِي وَصَاحِبِي» [البخاري 3656 ومسلم 2383]

ความว่า “หากฉันจะเอาใครสักคนจากประชาชาติของฉันมาเป็นผู้รู้ใจที่สุด ฉันย่อมต้องเอาอบู บักร์ไว้แน่นอน ทว่าเขาเป็นทั้งพี่น้องและสหายของฉัน” (อัล-บุคอรีย์ 3656, มุสลิม 2383)

เป็นบทเรียนแห่งความรักและการเสียสละที่เราได้ทบทวนอีกเรื่องหนึ่งในการศรัทธาของเราและการดำเนินรอยตามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

 

พี่น้องครับ

ประการที่สาม ภาพแห่งความหวังและความเชื่อมั่นอย่างสูงต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา

ท่ามกลางเหตุการณ์วุ่นวายและความเสี่ยงต่อชีวิตในทุกย่างก้าวของการฮิจญ์เราะฮฺ เราจะเห็นว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำทุกอย่างด้วยความใจเย็นและด้วยการวางแผนที่รอบคอบ ไม่วู่วาม ไม่ผลีผลาม และด้วยใจที่มั่นคงต่อการช่วยเหลือของอัลลอฮ์ เป็นการใช้ทั้งมูลเหตุหรืออัสบาบ ผนวกกับการมอบหมายหรือตะวักกัลต่ออัลลอฮ์

ตั้งแต่การให้บรรดาเศาะหาบะฮ์ฮิจญ์เราะฮ์ไปก่อน การรวบรวมของฝากของพวกกุร็อยช์ให้ท่านอะลีย์นำไปคืน การบอกให้อบู บักร์รอเวลาก่อนจนกว่าอัลลอฮ์จะอนุญาต รวมถึงการวางแผนออกจากมักกะฮ์ในเวลาที่เหมาะสม การย้อนเส้นทางเพื่อหลบไปอยู่ในถ้ำก่อนสามวัน และการจัดการทุกอย่างในขณะเดินทางมีทั้งผู้นำทางที่เชี่ยวชาญและเลือกเส้นทางที่ปลอดภัย ฯลฯ

การแสดงบทบาทของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในการฮิจญ์เราะฮ์สอนให้เราคิดถึงการทำงานอย่างมีระบบระเบียบ ใช้ศักยภาพที่มีให้เต็มที่ พร้อมๆ กับการมอบหมายต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ด้วยความหวังและเชื่อมั่นต่อพระองค์ เป็นการทำงานที่มีทั้งสองมิติ ไม่ได้ขาดหรือแยกจากกัน ไม่ใช่ทุ่มเทแต่ในเรื่องปัจจัยโดยไม่มอบหมาย และไม่ใช่เฝ้ารอแต่ความช่วยเหลือโดยไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย เป็นบทเรียนให้เราตระหนักว่า มุสลิมผู้ศรัทธาต้องรู้จักวางแผนและจัดระบบให้ดี เสร็จแล้วก็ต้องมอบหมายต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ด้วยใจที่เชื่อมั่นในการช่วยเหลือของพระองค์

ความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ที่มอบให้กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นเกิดขึ้นตลอดเส้นทางที่ท่านฮิจญ์เราะฮ์ ความมั่นใจของท่านในอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทำให้ท่านสามารถทำสิ่งต่างๆ อย่างใจเย็นและรอบคอบจนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด

อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ฉายภาพความช่วยเหลือของพระองค์ไว้ในเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮ์ครั้งนี้ว่า

﴿إِلَّا تَنصُرُوهُ فَقَدۡ نَصَرَهُ ٱللَّهُ إِذۡ أَخۡرَجَهُ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ ثَانِيَ ٱثۡنَيۡنِ إِذۡ هُمَا فِي ٱلۡغَارِ إِذۡ يَقُولُ لِصَٰحِبِهِۦ لَا تَحۡزَنۡ إِنَّ ٱللَّهَ مَعَنَاۖ فَأَنزَلَ ٱللَّهُ سَكِينَتَهُۥ عَلَيۡهِ وَأَيَّدَهُۥ بِجُنُودٖ لَّمۡ تَرَوۡهَا وَجَعَلَ كَلِمَةَ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ ٱلسُّفۡلَىٰۗ وَكَلِمَةُ ٱللَّهِ هِيَ ٱلۡعُلۡيَاۗ وَٱللَّهُ عَزِيزٌ حَكِيمٌ 40﴾ [التوبة: 40] 

ความว่า “ถ้าหากพวกเจ้าไม่ช่วยเขา แท้จริงนั้นอัลลอฮ์ได้ทรงช่วยเขามาแล้ว ขณะที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาได้ขับไล่เขาออกไปเป็นหนึ่งในสองคน ขณะที่ทั้งสองอยู่ในถ้ำ ตอนที่เขาได้กล่าวแก่สหายของเขาว่า ท่านอย่ากังลใจแท้จริงอัลลอฮ์ทรงอยู่กับเรา แล้วอัลลอฮ์ก็ทรงประทานความสงบใจจากพระองค์ลงมาแก่เขา ทรงสนับสนุนเขาด้วยบรรดาไพร่พลที่พวกเจ้ามองไม่เห็น พระองค์ได้ทรงทำให้ถ้อยคำของผู้ปฏิเสธศรัทธาต่ำต้อย และพจนารถของอัลลอฮ์นั้นสูงส่งที่สุด และอัลลอฮ์คือผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัต-เตาบะฮ์ 40)

เหตุการณ์เหล่านี้ถ้าหากเรารู้จักเอาบทเรียนมาปรับใช้ในชีวิตก็ย่อมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เราได้ทุกวันและตลอดปีที่เราได้ใช้ชีวิตอีกวาระหนึ่งเมื่อศักราชใหม่มาถึง

 

พี่น้องทั้งหลายครับ

ฮิจญ์เราะฮ์อย่างน้อยต้องให้กับเราอย่างน้อยสองอย่าง

หนึ่ง คือ “การเปลี่ยนแปลง” เพราะฮิจญ์เราะฮ์คือภาพแห่งการเปลี่ยนแปลง จากสภาพที่ถูกกดขี่สู่สภาพแห่งการมีพลัง ซึ่งเป็นภาพรวมของคำว่าฮิจญ์เราะฮ์ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังหมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลตัวเองด้วย จากปีหนึ่งสู่ปีหนึ่งเราได้เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรบ้าง เพราะการเปลี่ยนแปลงตัวเองคือฐานแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคม การเปลี่ยนสังคมแทบจะทำไม่ได้เลยถ้าตัวเราไม่คิดจะเปลี่ยนตัวเองก่อน เหมือนที่อัลลอฮ์ได้ตรัสในอัลกุรอานว่า

﴿ وَٱلرُّجۡزَ فَٱهۡجُرۡ 5 ﴾ [المدثر: 5] 

ความว่า “และเจ้าจงหลีกห่างจากสิ่งโสโครกเสีย” (อัล-มุดดัษษิร : 5)

สิ่งโสโครกในที่นี้ หมายถึง พฤติกรรมการตั้งภาคีและการทำบาปต่ออัลลอฮ์ และการฮิจญ์เราะฮฺจากมันก็กระทำได้ด้วยการสลัดมันทิ้งเสียและหลีกห่างจากมัน

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«وَالْمُهَاجِرَ مَنْ هَجَرَ مَا نَهَى اللَّهُ عَنْهُ» [الراوي: عبد الله بن عمرو، أخرجه البخاري 10]

ความว่า “แท้จริง มุฮาญิร(ผู้ฮิจญ์เราะฮ์)คือผู้ที่ฮิจญ์เราะฮ์จากสิ่งอัลลอฮ์ทรงห้ามไว้”

หมายความว่า  ต้องละทิ้งสิ่งต่างๆ ที่อัลลอฮฺทรงห้าม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ จรรยามารยาท คำพูด การกิน การดื่มที่ต้องห้าม การมอง และสดับฟังสิ่งที่ต้องห้าม ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องฮิจญ์เราะฮ์และหลีกห่างจากมันทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการฮิจญ์เราะฮ์จากการคบค้ากับบรรดาผู้ฝ่าฝืน บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ผู้ตั้งภาคีกับอัลลอฮ์ ผู้ที่เป็นมุนาฟิกคนกลับกลอก และผู้ที่ชอบกระทำความชั่ว ด้วยการหลีกห่างจากและไม่คบหาสมาคมกับพวกเขาเหล่านั้น อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า

﴿ وَٱصۡبِرۡ عَلَىٰ مَا يَقُولُونَ وَٱهۡجُرۡهُمۡ هَجۡرٗا جَمِيلٗا 10 ﴾ [المزمل: 10] 

ความว่า “และเจ้าจงอดทนต่อสิ่งที่พวกเขาพูดจา(ถากถางและกล่าวหาใส่ร้ายเจ้า) และจงฮิจญ์เราะฮ์(หลีกห่าง) จากพวกเขาด้วยวิธีการฮิจญ์เราะฮ์ที่สวยงาม” (อัล-มุซซัมมิล : 10)

อีกประการหนึ่งที่ฮิจญ์เราะฮ์ควรต้องให้บทเรียนกับเรา คือ “การทำหน้าที่สืบทอดอิสลาม” เพราะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮ์ได้อพยพไปยังมะดีนะฮ์ ก็เพื่อนำอิสลามมาให้กระจายไปสู่มนุษยชาติทั้งหมด ด้วยการฮิจญ์เราะฮ์ทำให้อิสลามยังคงอยู่ และขจรขจายไปทั่วโลกจนกระทั่งทุกวันนี้

ดังนั้น เราในฐานะประชาชาติมุสลิมที่มีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาหนึ่งของกงล้อแห่งประวัติศาสตร์อิสลาม ควรต้องคิดว่าเราจะทำหน้าที่รับไม้ต่อของอิสลามและส่งมอบให้กับอนุชนรุ่นต่อไปจากเราได้อย่างไร ถ้าเราได้รับอิสลามเพราะบรรพบุรุษสืบทอดมาให้กับเรา หน้าที่ต่อไปของเราคือส่งต่อให้กับอนุชนรุ่นต่อไป อย่าให้อิสลามหยุดชะงักเพราะเราเป็นตัวทำลาย เป็นตัวขวาง เป็นตัวสกัดกั้น หรืออย่างน้อยก็เฉยเมยไม่กระตือรืนร้นและพยายามทำหน้าที่ในการรับมอบและส่งต่อให้กับลูกหลาน

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«بَلِّغُوا عَنِّي وَلَوْ آيَةً» [رواه البخاري 3461]

ความว่า “จงบอกต่อไปจากฉัน แม้เพียงแค่อายะฮ์เดียวก็ตาม” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 3461)

ด้วยภารกิจสองประการนี้ เราหวังว่าอิสลามจะกลับมามีบทบาทสร้างความสวยงามอันยิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกรียงไกร

 

แน่นอนว่า ฮิจญ์เราะฮ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นมีบทเรียนที่มากกว่านี้ แต่ที่เราได้ทบทวนเล็กๆ น้อยๆ ในครั้งนี้ก็พอที่จะให้กำลังใจเพื่อสืบสานเจตนารมณ์แห่งอิสลามต่อไปได้อย่างมั่นใจ ทั้งในการพัฒนาตัวเองและการพัฒนาสังคมมุสลิมให้เป็นผู้กระจายสารแห่งอิสลามที่เป็นความเมตตาแก่สากลโลกได้สืบไป อินชาอ์อัลลอฮ์

 


วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - บั้นปลายสุดท้าย - ซุฟอัม อุษมาน


ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 

 
หรือบน SoundCloud
 

พี่น้องผู้ร่วมศรัทธาที่อัลลอฮ์รักทุกท่าน

ชีวิตของเราวนเวียนอยู่กับการสิ้นสุดและเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ ทุกวันจะมีการสิ้นสุดของวันและเริ่มต้นวันใหม่ ทุกเดือนก็มีสิ้นเดือนและเริ่มต้นเดือนใหม่ เช่นเดียวกับปีแต่ละปีที่จะมีช่วงเวลาสิ้นปีและเริ่มต้นปีใหม่ ในระหว่างการสิ้นสุดและการเริ่มต้นใหม่ของทุกครั้ง อาจจะดูเหมือนไม่มีอะไรสำคัญ แต่บางทีก็แฝงไว้ด้วยบทเรียนมากมายสำหรับใครที่รู้จักพิจารณาและไตร่ตรอง

ก่อนจะเริ่มต้นใหม่ด้วยความรู้สึกใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ แผนการใหม่ๆ เราจะต้องสรุปทบทวนสิ่งที่ผ่านไปก่อนแล้วด้วย เพื่อจะดูว่าที่ผ่านมาผลงานที่เราทำไปมันดีมากน้อยแค่ไหน อันไหนที่เราทำมันอย่างดีแล้วก็ทำให้ดีและพัฒนาให้มันดียิ่งขึ้นต่อไป อันไหนที่ยังไม่ดีหรืออันไหนที่เป็นข้อผิดพลาดก็ต้องหาทางแก้ไขปรับปรุงให้กลับมาดีขึ้นในอนาคต นี่คือธรรมชาติของการสิ้นสุดและการเริ่มต้นใหม่

 

พี่น้องครับ

ในโลกดุนยานี้ การสิ้นสุดและการเริ่มต้นใหม่ อาจจะเกิดขึ้นได้ซ้ำๆ หลายครั้ง หมดปีเก่าขึ้นปีใหม่ หมดวันเก่าขึ้นวันใหม่ หมดสัปดาห์เก่าขึ้นสัปดาห์ใหม่ เกิดขึ้นหมุนเวียนไปเรื่อยๆ แต่ทว่ามีการสิ้นสุดหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว การสิ้นสุดที่ว่านี้จะไม่มีโอกาสให้เราได้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือปรับปรุงสิ่งไม่ดีขอเราอีก ถ้าปีเก่าผ่านไปปีใหม่ผ่านมาเราก็ยังมีโอกาสที่จะแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ในปีที่ผ่านมาได้ แต่การสิ้นสุดที่ว่านี้ไม่มีโอกาสที่เราจะได้แก้ไขอีกแล้ว ผิดแล้วผิดเลย พลาดแล้วพลาดเลย การสิ้นสุดที่ว่าก็คือการสิ้นชีวิต การจากไปโดยไม่มีวันหวนคืน หรือที่เรียกว่า อัล-คอติมะฮ์ บั้นปลายสุดท้ายในชีวิตของการเป็นมนุษย์

จุดสิ้นสุด บั้นปลายสุดท้ายในชีวิต คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่เราจะต้องระวังและต้องตระหนักอยู่เสมอว่าบั้นปลายของเราจะเป็นอย่างไร

มีตัวอย่างเรื่องราวของผู้คนในอดีตเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเรื่องราวของสุฟยาน อัษ-เษารีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.161)

بَكَى سُفْيَانُ الثَّوْرِيُّ لَيْلَةً إِلَى الصَّبَاحِ، فَلَمَّا أَصْبَحَ قِيلَ لَهُ: كُلُّ هَذَا خَوْفًا مِنَ الذُّنُوبِ؟، فَأَخَذَ تِبْنَةً مِنَ الْأَرْضِ، وَقَالَ: "الذُّنُوبُ أَهْوَنُ مِنْ هَذَا، وَإِنَّمَا أَبْكِي مِنْ خَوْفِ سُوءِ الْخَاتِمَةِ".. 

ความว่า คืนหนึ่ง สุฟยาน อัษ-เษารีย์ ร้องไห้จนถึงเช้า พอถึงเช้าก็มีคนถามท่านว่า ที่ร้องไห้ทั้งหมดนี้เพราะกลัวบาปใช่หรือไม่? ท่านสุฟยานก็เลยหยิบดินขึ้นมากำหนึ่งแล้วพูดว่า บาปนั้นเล็กน้อยกว่าดินนี้ (หมายถึงถ้ามันมีก็สามารถลบล้างได้ด้วยการอิสติฆฟารหรือขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ เพราะพระองค์นั้นทรงมีความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ต่อปวงบ่าว) แต่ที่ฉันร้องไห้ก็เพราะความกลัวและกังวลต่อบั้นปลายที่เลวร้ายต่างหาก ..

อิบนุล ก็อยยิม ได้พูดถึงคำพูดนี้ของท่านสุฟยาน อัษ-เษารีย์ว่า

قَالَ ابنُ القَيِّمِ -رَحِمَهُ اللهُ-: "وَهَذَا مِنْ أَعْظَمِ الْفِقْهِ: أَنْ يَخَافَ الرَّجُلُ أَنْ تَخْذُلَهُ ذُنُوبُهُ عِنْدَ الْمَوْتِ، فَتَحُولُ بَيْنَهُ وَبَيْنَ الْخَاتِمَةِ الْحُسْنَى". [الجواب الكافي ص 167] 

ความว่า และนี่คือความเข้าใจที่ยิ่งใหญ่มากประการหนึ่ง คือการที่คนผู้หนึ่งเกรงกลัวว่าบาปของเขาจะมาสร้างความล้มเหลวให้เขาเมื่อถึงเวลาที่วิญญาณจะออกจากร่าง เพราะบาปจะมากีดกันเขาไม่ให้เจอกับบั้นปลายที่ดี (ดู อัล-ญะวาบ อัล-กาฟีย์ หน้า 167, อ้างถึง t.ly/4vw74)

 

พี่น้องครับ

ในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีหะดีษที่เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยของท่าน จากบรรดาเศาะหาบะฮ์หลายๆ ท่าน ในจำนวนนั้นคือท่านสะฮ์ลฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า

عَنْ سَهْلٍ -رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ- قَالَ: الْتَقَى النَّبِيُّ -صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ- وَالْمُشْرِكُونَ فِي بَعْضِ مَغَازِيهِ، فَاقْتَتَلُوا فَمَالَ كُلُّ قَوْمٍ إِلَى عَسْكَرِهِمْ، وَفِي الْمُسْلِمِينَ رَجُلٌ لَا يَدَعُ مِنْ الْمُشْرِكِينَ شَاذَّةً وَلَا فَاذَّةً إِلَّا اتَّبَعَهَا فَضَرَبَهَا بِسَيْفِهِ: فَقِيلَ: يَا رَسُولَ اللَّهِ مَا أَجْزَأَ أَحَدٌ مَا أَجْزَأَ فُلَانٌ، فَقَالَ: "إِنَّهُ مِنْ أَهْلِ النَّارِ"، فَقَالُوا: أَيُّنَا مِنْ أَهْلِ الْجَنَّةِ إِنْ كَانَ هَذَا مِنْ أَهْلِ النَّارِ، فَقَالَ رَجُلٌ مِنْ الْقَوْمِ: لَأَتَّبِعَنَّهُ فَإِذَا أَسْرَعَ وَأَبْطَأَ كُنْتُ مَعَهُ، حَتَّى جُرِحَ فَاسْتَعْجَلَ الْمَوْتَ فَوَضَعَ نِصَابَ سَيْفِهِ بِالْأَرْضِ وَذُبَابَهُ بَيْنَ ثَدْيَيْهِ، ثُمَّ تَحَامَلَ عَلَيْهِ فَقَتَلَ نَفْسَهُ، فَجَاءَ الرَّجُلُ إِلَى النَّبِيِّ -صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ- فَقَالَ: أَشْهَدُ أَنَّكَ رَسُولُ اللَّهِ، فَقَالَ: "وَمَا ذَاكَ"، فَأَخْبَرَهُ، فَقَالَ: "إِنَّ الرَّجُلَ لَيَعْمَلُ بِعَمَلِ أَهْلِ الْجَنَّةِ فِيمَا يَبْدُو لِلنَّاسِ، وَإِنَّهُ لَمِنْ أَهْلِ النَّارِ، وَيَعْمَلُ بِعَمَلِ أَهْلِ النَّارِ فِيمَا يَبْدُو لِلنَّاسِ، وَهُوَ مِنْ أَهْلِ الْجَنَّةِ". [البخاري، 4207] وفي رواية: وإنما الأعمال بالخواتيم. [الدارقطني 55/416]

ความว่า ท่านสะฮ์ลฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปะทะกับพวกมุชริกีนในสงครามหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันจนกระทั่งล่าถอยไปยังที่ตั้งกองกำลังของแต่ละฝั่ง และในฝั่งของกองทัพมุสลิมนั้นมีชายคนหนึ่งที่สู้รบไม่หยุด เขาตามไปสังหารศัตรูทุกคนที่เห็นด้วยดาบของเขา ก็เลยมีคนพูดกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า ไม่มีใครที่กล้าหาญชาญชัยและมีผลงานมากกว่าไปกว่าผู้ชายคนนี้อีกแล้ว แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พูดว่า “เขาเป็นชาวนรก” บรรดาเศาะหาบะฮ์ต่างแปลกใจและพูดว่า ใครที่จะเป็นชาวสวรรค์ได้อีกถ้าผู้ชายคนนี้เป็นชาวนรก? จากนั้นก็เศาะหาบะฮ์คนหนึ่งก็พูดว่า ฉันจะตามไปดูเขาเอง ไม่ว่าเขาจะไปไหนก็จะติดตามดูอยู่ไม่ให้คลาดสายตา ในที่สุดก็เห็นผู้ชายคนนั้นได้รับบาดเจ็บจนเขาทนต่อบาดแผลไม่ไหวจึงปักดาบของตัวเองบนพื้นและให้ปลายดาบอยู่ระหว่างหน้าอก จากนั้นก็ปล่อยให้ตัวเองทับทิ่มลงไปจนตัวเองสิ้นใจ เศาะหาบะฮ์ที่ติดตามอยู่จึงกลับมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วกล่าวว่า ฉันขอเป็นพยานว่าท่านคือศาสนทูตของอัลลอฮ์ ท่านนบีถามว่า “เกิดอะไรขึ้น?” เขาก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า “ชายคนหนึ่งอาจจะทำงานบางอย่างที่เป็นพฤติกรรมของชาวสวรรค์ในสายตาของผู้คนทั่วไป ในขณะที่เขาเป็นชาวนรก และชายคนหนึ่งอาจจะทำเรื่องบางอย่างที่เป็นพฤติกรรมของชาวนรก ในขณะที่เขาเป็นชาวสวรรค์” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 4207) ในบางรายงานมีว่า “แท้จริง การงานต่างๆ นั้นดูที่บั้นปลายของมัน” (บันทึกโดย อัด-ดาเราะกุฏนีย์ 55/416)

การฆ่าตัวตายเป็นบาปใหญ่ ซึ่งในอะกีดะฮ์ของอะฮ์ลุสสุนนะฮ์เชื่อว่าในวันกิยามะฮ์เขาอาจจะได้รับโทษหรือได้รับการอภัยจากอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ก็เป็นได้ วัลลอฮุอะอฺลัม แต่การฆ่าตัวตายหลังจากที่ทำดีมามากมายถือเป็นการทำบาปในบั้นปลายสุดท้าย สุบหานัลลอฮ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะทำเป็นเรื่องเล็กๆ จะบอกว่าไม่น่าห่วงหรือไม่น่ากลัว ย่อมทำไม่ได้ การที่เราทำอะมัลของชาวสวรรค์อยู่ดีๆ แต่พอใกล้สิ้นชีวิตกลับหันเหเปลี่ยนไปทำบาปจนตายไปด้วยพฤติกรรมชั่วนั้น เป็นสิ่งที่น่ากลัว วัลอิยาซุบิลลาฮ์ มินซาลิก เช่นเดียวกับคนที่ทำผิดทำบาปมาตลอด แต่อัลลอฮ์อาจจะเปิดใจเขาในตอนท้าย จนเขามีความจริงจังที่จะเตาบัตและทำความดี สุดท้ายก็ตายด้วยการกลับตัว ก็จะได้เป็นชาวสวรรค์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้บอกว่า เกณฑ์ชี้วัดให้ดูบั้นปลายสุดท้ายว่าจบลงอย่างไร

 

พี่น้องครับ

หะดีษนี้มีประโยชน์ทั้งกับคนดีและคนชั่ว กับคนที่ทำดีมันจะช่วยเตือนว่าอย่าลำพองตน เพราะเกณฑ์ชี้วัดในการทำอะมัลไม่ใช่สิ่งที่เปิดเผยให้เห็นต่อหน้าผู้คน ดังนั้นเราอย่าลำพองตนกับอะมัลและความดีที่เราทำไปอย่างผิวเผินต่อหน้าคนอื่น ให้เช็คหัวใจตัวเองให้ดีว่า ที่เราทำความดีลงไป เราทำเพื่ออัลลอฮ์ หรือทำให้คนอื่นเห็นให้คนอื่นสรรเสริญหรือเปล่า เพราะหัวใจคือสถานที่ที่อัลลอฮ์ใช้พิจารณาว่าเราเป็นของแท้หรือของปลอม

สำหรับคนชั่ว หะดีษนี้มีประโยชน์และเป็นข่าวดีที่จะบอกกับเขาว่า คุณยังมีโอกาสที่จะพบกับความรอดพ้น แม้ว่าวันนี้คุณยังขลุกอยู่ในความชั่วและบาปที่คุณทำ แต่ถ้าคุณยังรู้สึกตัวว่าสิ่งที่ทำไปมันเป็นบาป คุณไม่ได้ยินยอม แต่บางทีชัยฏอนมันล่อลวงและลากคุณไปตกหลุมพรางของมัน คุณยังคงเสียใจ และยังอยากจะกลับตัว โอกาสแห่งการเจอจุดจบที่ดีก็ยังคงมีเสมอ อินชาอ์อัลลอฮ์

เพราะฉะนั้น อายะฮ์ที่เราได้ยินทุกวันศุกร์เวลาฟังคุฏบะฮ์ คือ สิ่งที่คอยกำชับให้เราต้องระวังตัวเองอยู่เสมอ ให้ดูแลบั้นปลายของเราให้ดี ให้มันเป็นบั้นปลายที่ดีและงดงาม

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِۦ وَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنتُم مُّسۡلِمُونَ 102 ﴾ [آل عمران: 102] 

ความว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธา จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ด้วยความยำเกรงที่แท้จริง และอย่าได้เสียชีวิตเว้นแต่ในสภาพที่พวกเจ้าเป็นมุสลิม” (อาล อิมรอน 102)

อิบนุ กะษีร อธิบายอายะฮ์นี้ว่า

أي: حافظوا على الإسلام في حال صحتكم وسلامتكم لتموتوا عليه، فإن الكريم قد أجرى عادته بكرمه أنه من عاش على شيء مات عليه، ومن مات على شيء بعث عليه، فعياذًا بالله من خلاف ذلك. [تفسير ابن كثير].

ความว่า จงรักษาดูแลอิสลามให้ดี ตอนที่ท่านยังมีสุขภาพดีและปลอดภัยดี เพื่อที่ท่านจะได้ตายด้วยสภาพที่มีอิสลาม เพราะอัลลอฮ์ผู้ทรงการุณย์ได้กำหนดเป็นกฎทั่วไปแล้วว่า ใครที่มีชีวิตอยู่กับสิ่งใดเขาก็จะตายกับสิ่งนั้น ใครที่ตายกับสิ่งใดก็จะถูกให้ฟื้นคืนชีพกับสิ่งนั้น ดังนั้น ขอให้อัลลอฮ์คุ้มครองเราให้พ้นจากสิ่งที่ตรงกันข้ามกับบั้นปลายที่ดีด้วยเทอญ (ตัฟซีร อิบนุ กะษีร)

 

พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน

มาใช้โอกาสในการเริ่มต้นช่วงเวลาใหม่ของเรา ด้วยการตั้งปณิธานว่าตลอดชีวิตนี้จะทำความดีตลอดไปเพื่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ขอดุอาอ์ให้เราได้ทำดีตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราไม่ได้ทำดีเพื่อโอ้อวดผู้อื่น เราทำความดีเพื่อเป็นเสบียงให้กับตัวเอง ขอดุอาอ์ให้การงานทุกอย่างที่เราทำเป็นงานที่จะนำไปสู่บั้นปลายที่ดีและเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงพอพระทัย

عن أنس بن مالك عن النبي صلى الله عليه وسلم: «إذا أرادَ اللَّهُ بعبدٍ خيرًا استعملَهُ». فقيلَ: كيفَ يستعملُهُ يا رسولَ اللَّهِ؟ قالَ: «يوفِّقُهُ لعملٍ صالحٍ قبلَ الموتِ». [أخرجه الترمذي 2142، حسن صحيح]

ความว่า จากท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “เมื่อใดที่อัลลอฮ์ประสงค์ให้บ่าวประสบกับความดี พระองค์ก็จะใช้งานเขา” มีคนถามว่า พระองค์จะใช้งานเขาอย่างไร โอ้รอซูลของอัลลอฮ์? ท่านตอบว่า “พระองค์จะประทานเตาฟีกอำนวยความสะดวกให้เขาทำอะมัลศอลิห์ที่เป็นความดีก่อนที่เขาจะตาย” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ 2142, หะสัน เศาะฮีห์)

เมื่อบ่าวรู้สึกปรารถนาที่จะทำงานเพื่อรับใช้อัลลอฮ์ เพื่อรับใช้ศาสนาของพระองค์ นั่นเป็นสัญญาณว่าเขาจะได้รับสิ่งดีๆ และจะได้เจอกับบั้นปลายที่ดี อินชาอ์อัลลอฮ์