วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ ความอดทนในอัลกุรอาน - ซุฟอัม อุษมาน

 



ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 

 https://www.youtube.com/watch?v=nAlDZvft2ZE

 
หรือบน SoundCloud

พี่น้องมุอ์มินผู้ศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่านครับ

อัลหัมดุลิลลาฮ์ ชุโกรต่ออัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา สำหรับหลายๆ เรื่องที่ผ่านมาในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตหรืออุบัติภัยต่างๆ ที่เราต้องเผชิญ แต่อัลลอฮ์ก็ให้เราผ่านพ้นมาได้อย่างปลอดภัย เวลาเกิดเรื่องราวที่เป็นบททดสอบต่างๆ ในชีวิต เรามักจะได้เรียนรู้บทเรียนบางประการไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะบทเรียนเรื่องความอดทน

ความอดทนเป็นสิ่งที่ต้องพูดกันบ่อย เพราะเรามีปัญหาทุกวัน และชีวิตของเรายังต้องเจอกับบททดสอบอีกมากมายในวันข้างหน้า อัลลอฮ์ สบห ได้สอนให้เราร่วมมือกันทำความดีและช่วยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ให้มีความอดทนในการทำดีและเผชิญหน้าบททดสอบต่างๆ ในชีวิต 

﴿ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ 3 ﴾ [العصر: 3]  
ความว่า “พวกเขาสั่งเสียกันในเรื่องสัจธรรม และสั่งเสียกันให้มีความอดทน” (อัล-อัศร์ )

ดังนั้น ความอดทนจึงเป็นสิ่งที่เราต้องสั่งเสียกันให้มากอย่างสม่ำเสมอ หลายรอบหลายวาระ 


พี่น้องครับ

เราเข้าใจมิติต่างๆ ของความอดทนมากน้อยแค่ไหน ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับความอดทนที่เราอาจจะยังไม่รู้ เป็นสิ่งที่อยากจะเชิญชวนให้มารู้จักมิติและแง่มุมต่างๆ ของความอดทนเพิ่มขึ้น เพราะยิ่งเรารู้จักความอดทนมากขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มความรู้สึกให้คุณค่าแก่มัน จะได้รัก ปฏิบัติ และให้ความสำคัญแก่คำสอนจากอัลกรุอานในเรื่องนี้อย่างเต็มที่มากขึ้นอีกด้วย

อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสถึงความอดทนในอัลกุรอานของพระองค์ไว้อย่างไรบ้าง เราเคยผ่านหูผ่านตาอายะฮ์ต่างๆ ที่พูดถึงความอดทนที่ไหนบ้าง เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจทบทวนและศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่ง

ในหนังสือมะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน (เล่ม 2 หน้า 152 สืบค้นที่ t.ly/ADPTu) อิบนุล ก็อยยิม ได้ยกเอาคำพูดของอุละมาอ์อย่างอิมามอะห์มัดที่พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ 

قَالَ الْإِمَامُ أَحْمَدُ رَحِمَهُ اللَّهُ تَعَالَى: الصَّبْرُ فِي الْقُرْآنِ فِي نَحْوِ تِسْعِينَ مَوْضِعًا، وَهُوَ مَذْكُورٌ فِي الْقُرْآنِ عَلَى سِتَّةَ عَشَرَ نَوْعًا.
อิมามอะห์มัด เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ได้กล่าวว่า ความอดทนในอัลกุรอานนั้นถูกกล่าวถึงประมาณเจ็ดสิบแห่งด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็นสิบหกแง่มุม ดังนี้ 

الْأَوَّلُ: الْأَمْرُ بِهِ. 
หนึ่ง การมีคำสั่งให้อดทน เช่น
﴿ ٱصۡبِرُواْ وَصَابِرُواْ ﴾ [آل عمران: 200]  
ความว่า “จงอดทนและอดทนอย่างแข็งขัน” (อาล อิมรอน  200) 

﴿ وَٱصۡبِرۡ وَمَا صَبۡرُكَ إِلَّا بِٱللَّهِۚ ﴾ [النحل: 127]  
ความว่า “จงอดทน ความอดทนของเจ้านั้นจะไม่เกิดนอกจากด้วยการช่วยเหลือของอัลลอฮ์” (อัน-นะห์ล 127) 

الثَّانِي: النَّهْيُ عَنْ ضِدِّه.
สอง การมีคำสั่งห้ามพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับความอดทน คือ ห้ามไม่ให้ตีโพยตีพาย หุนหันพลันแล่น สิ้นหวัง เป็นต้น เช่น พระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า 
﴿ فَٱصۡبِرۡ كَمَا صَبَرَ أُوْلُواْ ٱلۡعَزۡمِ مِنَ ٱلرُّسُلِ وَلَا تَسۡتَعۡجِل لَّهُمۡۚ ﴾ [الأحقاف: 35]  
ความว่า “จงอดทนเหมือนที่บรรดาศาสนทูตผู้เข้มแข็งได้อดทนมาก่อน อย่าได้หุนหันพลันแล่นกับคนเหล่านั้น” (อัล-อะห์กอฟ 35)

﴿ وَلَا تَهِنُواْ وَلَا تَحۡزَنُواْ ﴾ [آل عمران: 139]  
ความว่า “อย่ารู้สึกท้อแท้อ่อนแอ และอย่าได้กังวล” (อาล อิมรอน 139) 
เพราะความท้อแท้มาจากการขาดความอดทน

الثَّالِثُ: الثَّنَاءُ عَلَى أَهْلِهِ.
สาม การชื่นชมผู้ที่มีความอดทน ซึ่งมีอยู่หลายที่ในอัลกุรอาน 
﴿وَٱلصَّٰبِرِينَ فِي ٱلۡبَأۡسَآءِ وَٱلضَّرَّآءِ وَحِينَ ٱلۡبَأۡسِۗ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ صَدَقُواْۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُتَّقُونَ 177 ﴾ [البقرة: 177]  
ความว่า “บรรดาผู้ที่มีความอดทนทั้งตอนที่ขัดสน เจ็บป่วย และสงคราม คนเหล่านั้นคือผู้สัจจริง พวกเขาคือบรรดาผู้ที่ยำเกรงต่ออัลลอฮ์” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 177)

الرَّابِعُ: إِيجَابُهُ سُبْحَانَهُ مَحَبَّتَهُ لَهُمْ. 
สี่ การที่อัลลอฮ์ทรงมอบความรักของพระองค์ให้แก่ผู้อดทน
﴿وَٱللَّهُ يُحِبُّ ٱلصَّٰبِرِينَ 146 ﴾ [آل عمران: 146]  
ความว่า “”อัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้ที่อดทน” (อาล อิมรอน 146)

الْخَامِسُ: إِيجَابُ مَعِيَّتِهِ لَهُمْ. وَهِيَ مَعِيَّةٌ خَاصَّةٌ. تَتَضَمَّنُ حِفْظَهُمْ وَنَصْرَهُمْ، وَتَأْيِيدَهُمْ وَهِيَ مَعِيَّةُ الْعِلْمِ وَالْإِحَاطَةِ.
ห้า การที่อัลลอฮ์บอกว่าพระองค์จะอยู่กับผู้อดทน หมายถึงทรงดูแล ปกป้อง ช่วยเหลือ สนับสนุน ทรงรอบรู้ทุกอย่างที่พวกเขาทำและต้องการ
﴿ وَٱصۡبِرُوٓاْۚ إِنَّ ٱللَّهَ مَعَ ٱلصَّٰبِرِينَ 46 ﴾ [الأنفال: 46]  
ความว่า “พวกเจ้าจงอดทนเถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงอยู่กับบรรดาผู้อดทน” (อัล-อันฟาล 46)

السَّادِسُ: إِخْبَارُهُ بِأَنَّ الصَّبْرَ خَيْرٌ لِأَصْحَابِهِ.
หก การที่อัลลอฮ์บอกว่าความอดทนคือสิ่งที่ดีกว่า
﴿ وَلَئِن صَبَرۡتُمۡ لَهُوَ خَيۡرٞ لِّلصَّٰبِرِينَ 126 ﴾ [النحل: 126]  
ความว่า “หากพวกเจ้าอดทน นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับคนที่อดทน” (อัน-นะห์ล 126)

﴿ وَأَن تَصۡبِرُواْ خَيۡرٞ لَّكُمۡۗ ﴾ [النساء: 25]  
ความว่า “การที่พวกเจ้าอดทนนั้นย่อมดีกว่าสำหรับพวกเจ้าเอง” (อัน-นิสาอ์ 25)

السَّابِعُ: إِيجَابُ الْجَزَاءِ لَهُمْ بِأَحْسَنِ أَعْمَالِهِمْ.
เจ็ด การที่อัลลอฮ์เตรียมผลตอบแทนที่ดีที่สุดสำหรับผู้อดทน 
﴿ وَلَنَجۡزِيَنَّ ٱلَّذِينَ صَبَرُوٓاْ أَجۡرَهُم بِأَحۡسَنِ مَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ 96 ﴾ [النحل: 96]  
ความว่า “แน่นอน เราจะให้ผลตอบแทนแก่บรรดาผู้อดทนด้วยรางวัลที่ดีที่สุดตามที่พวกเขาได้ทำ” (อัน-นะห์ล 96)

الثَّامِنُ: إِيجَابُهُ سُبْحَانَهُ الْجَزَاءَ لَهُمْ بِغَيْرِ حِسَابٍ.
แปด การที่พระองค์ทรงตอบแทนผู้อดทนด้วยผลบุญที่มากมายไม่อาจคำนวน
﴿ إِنَّمَا يُوَفَّى ٱلصَّٰبِرُونَ أَجۡرَهُم بِغَيۡرِ حِسَابٖ 10 ﴾ [الزمر: 10]  
ความว่า “แท้จริงแล้ว บรรดาผู้อดทนนั้นจะได้รับผลตอบแทนของพวกเขาอย่างมากมายโดยไม่อาจคำนวน” (อัซ-ซุมัร 10)

التَّاسِعُ: إِطْلَاقُ الْبُشْرَى لِأَهْلِ الصَّبْرِ.
เก้า การประกาศแจ้งข่าวดีแก่ผู้อดทน 
﴿ وَلَنَبۡلُوَنَّكُم بِشَيۡءٖ مِّنَ ٱلۡخَوۡفِ وَٱلۡجُوعِ وَنَقۡصٖ مِّنَ ٱلۡأَمۡوَٰلِ وَٱلۡأَنفُسِ وَٱلثَّمَرَٰتِۗ وَبَشِّرِ ٱلصَّٰبِرِينَ 155 ﴾ [البقرة: 155]  
ความว่า “แน่นอน เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยบางส่วนเล็กน้อยจากความกลัว ความหิว ความสูญเสียในทรัพย์สิน ชีวิต และพืชผลการเกษตร และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 155)

الْعَاشِرُ: ضَمَانُ النَّصْرِ وَالْمَدَدِ لَهُمْ. 
สิบ การรับประกันชัยชนะและส่งมะลาอิกะฮ์เป็นกองหนุนคอยช่วยเหลือพวกเขา อัลลอฮ์ตรัสว่า  
﴿ بَلَىٰٓۚ إِن تَصۡبِرُواْ وَتَتَّقُواْ وَيَأۡتُوكُم مِّن فَوۡرِهِمۡ هَٰذَا يُمۡدِدۡكُمۡ رَبُّكُم بِخَمۡسَةِ ءَالَٰفٖ مِّنَ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةِ مُسَوِّمِينَ 125 ﴾ [آل عمران: 125]  
ความว่า “ทว่า หากพวกเจ้าอดทนและยำเกรงต่ออัลลอฮ์ แล้วศัตรูก็พุ่งเข้ามาหาพวกเจ้าด้วยความมุ่งหมาย พระผู้อภิบาลของพวกเจ้าก็จะทรงสนับสนุนพวกเจ้าด้วยกองพลห้าพันนายจากมะลาอิกะฮ์ที่ห้าวหาญ” (อาล อิมรอน 125) 

และมีในหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า
«وَاعْلَمْ أَنَّ النَّصْرَ مَعَ الصَّبْرِ».
ความว่า “พึงทราบเถิดว่า ชัยชนะนั้นมาพร้อมกับความอดทน”

الْحَادِي عَشَرَ: الْإِخْبَارُ مِنْهُ تَعَالَى بِأَنَّ أَهْلَ الصَّبْرِ هُمْ أَهْلُ الْعَزَائِمِ.
สิบเอ็ด การที่อัลลอฮ์แจ้งว่าผู้อดทนคือผู้ที่มีความหนักแน่นมั่นคง 
﴿ وَلَمَن صَبَرَ وَغَفَرَ إِنَّ ذَٰلِكَ لَمِنۡ عَزۡمِ ٱلۡأُمُورِ 43 ﴾ [الشورى: 43]  
ความว่า “ใครที่อดทนและให้อภัย แท้จริง สิ่งนั้นย่อมเป็นเรื่องที่หนักแน่นมั่นคง” (อัช-ชูรอ 43)

الثَّانِي عَشَرَ: الْإِخْبَارُ أَنَّهُ مَا يَلْقَى الْأَعْمَالَ الصَّالِحَةَ وَجَزَاءَهَا وَالْحُظُوظَ الْعَظِيمَةَ إِلَّا أَهْلُ الصَّبْرِ. 
สิบสอง อัลลอฮ์บอกว่าความดีงามและโชคลาภทั้งหลายในชีวิตจะได้มาแก่ผู้ที่มีความอดทนเท่านั้น
﴿ وَمَا يُلَقَّىٰهَآ إِلَّا ٱلَّذِينَ صَبَرُواْ وَمَا يُلَقَّىٰهَآ إِلَّا ذُو حَظٍّ عَظِيمٖ 35 ﴾ [فصلت: 35]  
ความว่า “ไม่มีใครได้รับความดีงามเหล่านั้น นอกจากบรรดาผู้ที่อดทน และไม่มีใครที่ได้รับความดีงามเหล่านั้น นอกจากจะเป็นคนที่โชคดีอย่างใหญ่หลวง” (ฟุศศิลัต 35)

الثَّالِثَ عَشَرَ: الْإِخْبَارُ أَنَّهُ إِنَّمَا يَنْتَفِعُ بِالْآيَاتِ وَالْعِبَرِ أَهْلُ الصَّبْرِ.
สิบสาม อัลลอฮ์บอกว่ามีแต่ผู้อดทนเท่านั้นที่จะได้รับบทเรียนจากสัญญาณและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่นที่อัลลอฮ์ตรัสกับนบีมูซาว่า
﴿ وَذَكِّرۡهُم بِأَيَّىٰمِ ٱللَّهِۚ إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَأٓيَٰتٖ لِّكُلِّ صَبَّارٖ شَكُورٖ 5 ﴾ [ابراهيم: 5]  
ความว่า “จงสะกิดเตือนให้พวกเขาสำนึกด้วยเรื่องราวในอดีตที่อัลลอฮ์ให้เกิดขึ้น แท้จริงแล้ว ในเหตุการณ์เหล่านั้นย่อมมีบทเรียนต่างๆ แก่บรรดาผู้ที่อดทนอดกลั้นและรู้จักขอบคุณ” (อิบรอฮีม 5)
และที่พระองค์พูดถึงเรื่องราวของชาวสะบะอ์ว่า
﴿فَجَعَلۡنَٰهُمۡ أَحَادِيثَ وَمَزَّقۡنَٰهُمۡ كُلَّ مُمَزَّقٍۚ إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَأٓيَٰتٖ لِّكُلِّ صَبَّارٖ شَكُورٖ 19 ﴾ [سبأ: 19]  
ความว่า “แล้วเราทำได้ทำให้พวกเขากลายเป็นเรื่องเล่าขาน และเราได้ฉีกทำลายพวกเขาจนแหลกอย่างสิ้นเชิง แท้จริงแล้ว ในเหตุการณ์นั้นย่อมมีบทเรียนต่างๆ แก่บรรดาผู้ที่อดทนอดกลั้นและรู้จักขอบคุณ” (สะบะอ์ 19)
และในสูเราะฮ์ อัช-ชูรอ
﴿ وَمِنۡ ءَايَٰتِهِ ٱلۡجَوَارِ فِي ٱلۡبَحۡرِ كَٱلۡأَعۡلَٰمِ 32 إِن يَشَأۡ يُسۡكِنِ ٱلرِّيحَ فَيَظۡلَلۡنَ رَوَاكِدَ عَلَىٰ ظَهۡرِهِۦٓۚ إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَأٓيَٰتٖ لِّكُلِّ صَبَّارٖ شَكُورٍ 33 ﴾ [الشورى: 32،  33]  
ความว่า “ในจำนวนสัญญาณของอัลลอฮ์ก็คือเรือสำเภาในทะเลที่ใหญ่โตเหมือนภูเขา หากพระองค์ประสงค์ก็จะทรงทำให้ลมสงบนิ่ง แล้วเรือเหล่านั้นก็จะจอดแช่อยู่บนผืนน้ำไปไหนไม่ได้ แท้จริงแล้ว ในเรื่องนั้นย่อมมีบทเรียนต่างๆ แก่บรรดาผู้ที่อดทนอดกลั้นและรู้จักขอบคุณ” (อัช-ชูรอ 32-33) 

الرَّابِعَ عَشَرَ: الْإِخْبَارُ بِأَنَّ الْفَوْزَ الْمَطْلُوبَ الْمَحْبُوبَ، وَالنَّجَاةَ مِنَ الْمَكْرُوهِ الْمَرْهُوبِ، وَدُخُولَ الْجَنَّةِ، إِنَّمَا نَالُوهُ بِالصَّبْرِ. 
สิบสี่ อัลลอฮ์บอกว่าความสำเร็จตามที่หวัง การรอดพ้นจากสิ่งที่ไม่ชอบ และการได้เข้าสวรรค์ ล้วนต้องได้มาด้วยความอดทนทั้งสิ้น
﴿ وَٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ يَدۡخُلُونَ عَلَيۡهِم مِّن كُلِّ بَابٖ 23 سَلَٰمٌ عَلَيۡكُم بِمَا صَبَرۡتُمۡۚ فَنِعۡمَ عُقۡبَى ٱلدَّارِ 24 ﴾ [الرعد: 23،  24]  
ความว่า “มะลาอิกะฮ์จะพากันเข้ามาหาพวกเขาจากทุกประตู พร้อมกล่าวทักทายว่า ความสันติจงมีแก่พวกท่านทั้งหลายเถิด ด้วยการที่พวกท่านอดทนมาก่อน ดังนั้น นี่คือบ้านที่ดีที่สุดแล้ว” (อัร-เราะอฺด์ 23-24)

الْخَامِسَ عَشَرَ: أَنَّهُ يُورِثُ صَاحِبَهُ دَرَجَةَ الْإِمَامَةِ. 
สิบห้า ความอดทนเป็นมูลเหตุให้ได้เข้าถึงภาวะแห่งการเป็นผู้นำ
อิบนุล ก็อยยิม กล่าวว่า ฉันได้ยินอิบนุ ตัยมียะฮ์กล่าวว่า بِالصَّبْرِ وَالْيَقِينِ تُنَالُ الْإِمَامَةُ فِي الدِّينِ ด้วยความอดทนและความเชื่อมั่นจึงจะได้ภาวะแห่งการเป็นผู้นำมาครอง แล้วท่านก็อ่านอายะฮ์นี้
﴿ وَجَعَلۡنَا مِنۡهُمۡ أَئِمَّةٗ يَهۡدُونَ بِأَمۡرِنَا لَمَّا صَبَرُواْۖ وَكَانُواْ بِ‍َٔايَٰتِنَا يُوقِنُونَ 24 ﴾ [السجدة: 24]  
ความว่า “เราได้ทำให้พวกเขาบางคนเป็นผู้นำที่เรียกร้องเชิญชวนตามวิถีทางของเรา เมื่อครั้นพวกเขามีความอดทน และพวกเขาเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในโองการของเรา” (อัส-สัจญ์ดะฮ์ 24)

السَّادِسَ عَشَرَ: اقْتِرَانُهُ بِمَقَامَاتِ الْإِسْلَامِ وَالْإِيمَانِ، كَمَا قَرَنَهُ اللَّهُ سُبْحَانَهُ بِالْيَقِينِ وَبِالْإِيمَانِ، وَالتَّقْوَى وَالتَّوَكُّلِ. وَبِالشُّكْرِ وَالْعَمَلِ الصَّالِحِ وَالرَّحْمَةِ. 
สิบหก การที่ความอดทนอยู่เคียงข้างสถานะต่างๆ เช่น อิสลาม อีมาน ยะกีน ตักวา ตะวักกุล ชุกร์ อะมัลศอลิห์ และเราะห์มะฮ์ เช่น ความอดทนเคียงข้างการละหมาด ซึ่งเป็นรุก่นอิสลาม
﴿ وَٱسۡتَعِينُواْ بِٱلصَّبۡرِ وَٱلصَّلَوٰةِۚ ﴾ [البقرة: 45]  
ความว่า “จงแสวงหาความช่วยเหลือด้วยการอดทนและการละหมาด” (อัล-บะเกาะเราะฮ์ 45)
หรืออยู่เคียงข้างอีมาน เช่น
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱصۡبِرُواْ وَصَابِرُواْ ﴾ [آل عمران: 200]  
ความว่า “โอ้ บรรดาผู้มีอีมานทั้งหลาย จงอดทนและอดทนอย่างแข็งขัน” (อาล อิมรอน 200) 

นี่คือแง่มุมแห่งความอดทนในอัลกุรอาน ที่อัลลอ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ใช้เพื่อเราเรียนรู้และยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น เป็นแง่มุมที่ทั้งสวยงามและทรงพลังอย่างมหัศจรรย์

พี่น้องที่รักทั้งหลายครับ

ความอดทนคือสิ่งที่อยู่เคียงข้างความศรัทธาไม่สามารถแยกจากกันได้ ถ้าไม่มีความอดทนก็ไม่มีความศรัทธาที่แท้จริง เหมือนกับร่างกายที่ไม่มีศีรษะ ดังคำพูดที่ว่า 
ومنزلة الصبر من الإيمان بمنزلة الرأس من الجسد، ولا إيمان لمن لا صبر له، كما أنه لا جسد لمن لا رأس له. [ابن القيم]
ความว่า สถานะของความอดทนต่อความศรัทธานั้น เปรียนเหมือนสถานะของศีรษะกับร่างกาย ไม่มีความศรัทธาถ้าไม่มีความอดทน เช่นเดียวกับที่ร่างกายจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีศีรษะ (ดู มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 2/153 บ้างก็กล่าวกันว่าเป็นคำพูดของท่านอะลีย์ บิน อบีฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ดูใน กิตาบ อัศ-ศ็อบร์ ของ อิบนุ อบี อัด-ดุนยา 8)

ดังนั้น จงเรียนรู้อัลกุรอานคัมภีร์ของอัลลอฮ์ เพราะมันเพียงพอที่จะทำให้เราฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ ได้ แม้ว่ามันจะหนักหน่วงแค่ไหน หรือเราจะถูกทดสอบให้เจอกับความวุ่นวายที่หมุนเวียนซ้ำมาอีกกี่ครั้งก็ตาม เราก็สามารถที่จะผ่านไปได้ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา