วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

คุฏบะฮ์ - ญาฮิล ไม่รู้ศาสนา - ซุฟอัม อุษมาน


 

ฟังคุฏบะฮ์นี้ได้จาก YouTube 

คุฏบะฮ์ - ญาฮิล ไม่รู้ศาสนา - ซุฟอัม อุษมาน

 
หรือบน SoundCloud


พี่น้องผู้ร่วมศรัทธาที่อัลลอฮ์เมตตาทุกท่าน

ในหะดีษที่รายงานโดยอบู ดาวูด จากท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า
خَرَجْنا في سَفَرٍ، فأصابَ رَجُلًا مِنَّا حَجَرٌ فشَجَّه في رَأْسِه، ثم احتَلَمَ، فسألَ أصحابَه، فقال: هل تَجِدونَ لي رُخصةً في التَّيمُّمِ؟ فقالوا: ما نَجِدُ لكَ رُخصةً وأنتَ تَقدِرُ على الماءِ. فاغتَسَلَ، فماتَ، فلَمَّا قَدِمْنا على النَّبيِّ صلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ أُخبِرَ بذلك، فقال: «قَتَلوه قَتَلَهمُ اللهُ، ألَا سألوا إذْ لم يَعلَموا؛ فإنَّما شِفاءُ العِيِّ السُّؤالُ، إنَّما كان يَكفيه أنْ يَتيَمَّمَ ويَعصِرَ أو يَعصِبَ -شَكَّ موسى- على جُرحِه خِرقةً، ثم يَمسَحَ عليها ويَغسِلَ سائِرَ جَسَدِه» [رواه أبو داود] .
ความว่า ครั้งหนึ่งขณะที่เราอยู่ในระหว่างการเดินทาง มีชายคนหนึ่งในหมู่พวกเราเกิดอุบัติเหตุโดนก้อนหินที่ศีรษะทำให้มีแผลบาดเจ็บ ต่อมาเขาก็ฝันเปียก(ทำให้มีหะดัษใหญ่ต้องอาบน้ำวาญิบ) ก็เลยถามบรรดาพรรคพวกของเขาว่า พวกท่านมีความเห็นอย่างไร ฉันได้รับการอนุโลมให้ทำตะยัมมุมหรือไม่? พวกเขาตอบว่า เราไม่เห็นว่าท่านมีเหตุอนุโลมใดๆ เพราะท่านใช้น้ำชำระได้อยู่ ได้ยินดังนั้นเขาจึงอาบน้ำวาญิบ ต่อมาก็เสียชีวิต(เพราะแผลกำเริบจากการโดนน้ำ) เมื่อเรากลับมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านก็ทราบข่าวดังกล่าว ท่านกล่าวว่า “พวกเขาเป็นเหตุทำให้คนผู้นั้นต้องตาย ระวังเถิดว่าอัลลอฮ์จะลงโทษพวกเขา พวกเขาน่าจะถามถ้าพวกเขาไม่รู้ การรักษาเยียวยาความไม่รู้คือการถาม อันที่จริง เพียงพอแล้วที่จะให้คนผู้นั้นทำการตะยัมมุม ด้วยการเอาผ้ามาพันแผลไว้แล้วลูบบนผ้านั้นและล้างอวัยวะส่วนอื่นๆ ทั้งหมดแทน” (บันทึกโดย อบู ดาวูด ดูในเศาะฮีห์ อบี ดาวูด ของ อัล-อัลบานีย์ 336 เป็นหะดีษหะสัน)


ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตำหนิบรรดาเศาะหาบะฮ์ผู้ที่ออกความเห็นจนก่อให้เกิดอันตรายต่อคนอื่น โดยไม่ได้อาศัยความรู้ที่ถูกต้อง และท่านแนะนำว่าหากไม่รู้ก็ต้องถามคนที่รู้
หะดีษนี้สอนบทเรียนแก่เราว่า บางทีความไม่รู้ อาจจะส่งผลร้ายและมีอันตรายถึงชีวิต เหมือนที่เราพูดกันว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ การทำอะไรก็ตามโดยไม่ได้มีความรู้จึงเป็นอะไรที่น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้นอิสลามจึงมีบทบัญญัติให้มุสลิมทุกคนต้องเรียนรู้ศาสนา 

พี่น้องครับ

อัลลอฮ์ได้กำหนดให้ประชาชาติมุสลิมต้องมีคนรู้ศาสนาที่เรียนและคอยสอนคนอื่น พระองค์ตรัสว่า
﴿ ۞وَمَا كَانَ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ لِيَنفِرُواْ كَآفَّةٗۚ فَلَوۡلَا نَفَرَ مِن كُلِّ فِرۡقَةٖ مِّنۡهُمۡ طَآئِفَةٞ لِّيَتَفَقَّهُواْ فِي ٱلدِّينِ وَلِيُنذِرُواْ قَوۡمَهُمۡ إِذَا رَجَعُوٓاْ إِلَيۡهِمۡ لَعَلَّهُمۡ يَحۡذَرُونَ 122 ﴾ [التوبة: 122]  
ความว่า “ไม่บังควรที่บรรดาผู้ศรัทธาจะออกไปสู้รบกันทั้งหมด สมควรที่จะให้แต่ละกลุ่มในหมู่พวกเขามีตัวแทนที่ออกไปหาความรู้ศาสนา เพื่อจะได้ตักเตือนกลุ่มชนของพวกเขาที่อยู่ในสมรภูมิเมื่อคนเหล่านั้นกลับมายังมาตุภูมิ เพื่อที่พวกเขาจะได้มีความระมัดระวัง” (อัต-เตาบะฮ์ 122)
สุบหานัลลอฮ์ แม้กระทั่งเวลาที่บอกว่าให้ออกไปทำสงคราม อัลกุรอานยังบอกว่าไม่ควรออกไปทั้งหมด ให้มีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เรียนรู้ศาสนาด้วย เพื่อที่จะได้ใช้สอนบรรดาพลทหารที่ออกรบเมื่อพวกเขากลับมา ชี้ให้เห็นชัดว่าการเรียนรู้ศาสนาสำคัญไม่แพ้การออกไปสู่สมรภูมิสงครามเลย 

พี่น้องครับ

การเข้าใจศาสนาคือกุญแจที่จะไขไปสู่สิ่งดีๆ ในชีวิต ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์ 
«مَن يُرِدِ اللَّهُ به خَيْرًا يُفَقِّهْهُ في الدِّينِ» [البخاري، من حديث معاوية]
ความว่า “ใครก็ตามที่อัลลอฮ์ประสงค์จะให้ความดีบังเกิดแก่เขา พระองค์จะทำให้เขาได้เข้าใจศาสนา” (อัล-บุคอรีย์)


การมีความรู้คือตัวชี้วัดสำคัญว่าในดุนยานี้เราจะได้รับสิ่งดีๆ อะไรบ้าง และแน่นอนที่สุดในวันอาคิเราะฮ์นั้นเราจะกลับไปอย่างคนที่สำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนาของอัลลอฮ์ การไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอาคิเราะฮ์และสิ่งที่ต้องเตรียมตัวไปสู่ชีวิตหลังความตาย เป็นความญาฮิล(ความไม่รู้) แม้ว่าคนผู้นั้นจะรู้ทุกอย่างในดุนยาก็ตาม ถึงจะรู้ศาสตร์อื่นๆ ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง ฯลฯ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่รู้อาคิเราะฮ์ ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ไม่รู้ว่าชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไรและจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ก็ยังถือว่าเป็นคนที่ญาฮิลอยู่ดี 
﴿ يَعۡلَمُونَ ظَٰهِرٗا مِّنَ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَهُمۡ عَنِ ٱلۡأٓخِرَةِ هُمۡ غَٰفِلُونَ 7 ﴾ [الروم: 7]  
ความว่า “พวกเขารู้เรื่องที่เปิดเผยเกี่ยวกับชีวิตในโลกดุนยานี้เท่านั้น แต่พวกเขากลับหลงลืมเกี่ยวกับอาคิเราะฮ์” (อัร-รูม 7)

การญาฮิลในเรื่องศาสนาบางทีอย่าว่าแต่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ ที่ซับซ้อนเลย บางแม้กระทั่งเรื่องจำเป็นในแต่ละวันเราก็เห็นสภาพที่น่าเป็นห่วง เช่น จะอาบน้ำละหมาดอย่างไรให้ถูกต้อง ละหมาดอย่างไรให้ตรงตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอน เป็นต้น มีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสมัยท่านนบี เช่น ครั้งหนึ่งท่านเห็นคนผู้หนึ่งอาบน้ำละหมาดแล้วล้างเท้าไม่ทั่วตาตุ่ม ท่านก็บอกเขาให้ล้างให้ทั่ว และเตือนว่าการอาบน้ำละหมาดชุ่ยๆ ล้างไม่ทั่วอาจจะเป็นสาเหตุให้ต้องรับโทษในนรก
أنَّ النبيَّ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ رَأَى رَجُلًا لَمْ يَغْسِلْ عَقِبَيْهِ فقالَ: ويْلٌ لِلأَعْقابِ مِنَ النَّارِ. [حديث أبي هريرة رواه مسلم]
ความว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เห็นชายคนหนึ่งไม่ได้ล้างตาตุ่มทั้งสอง ท่านจึงกล่าวว่า “นรกคือโทษของผู้ที่ไม่ล้างตาตุ่ม” (บันทึกโดยมุสลิม จากหะดีษของอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์)

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือเศาะหาบะฮ์ที่เข้ามาละหมาดในมัสยิดแบบเร่งรีบและละหมาดเร็วๆ ไม่มีสมาธิ ท่านก็บอกให้เขากลับไปละหมาดใหม่ถึงสามครั้ง
أنَّ رَجُلًا دَخَلَ المَسْجِدَ فَصَلَّى، ورَسولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ في نَاحِيَةِ المَسْجِدِ، فَجَاءَ فَسَلَّمَ عليه، فَقَالَ له: ارْجِعْ فَصَلِّ فإنَّكَ لَمْ تُصَلِّ فَرَجَعَ فَصَلَّى ثُمَّ سَلَّمَ، فَقَالَ: وعَلَيْكَ، ارْجِعْ فَصَلِّ فإنَّكَ لَمْ تُصَلِّ قَالَ في الثَّالِثَةِ: فأعْلِمْنِي، قَالَ: إذَا قُمْتَ إلى الصَّلَاةِ، فأسْبِغِ الوُضُوءَ، ثُمَّ اسْتَقْبِلِ القِبْلَةَ، فَكَبِّرْ واقْرَأْ بما تَيَسَّرَ معكَ مِنَ القُرْآنِ، ثُمَّ ارْكَعْ حتَّى تَطْمَئِنَّ رَاكِعًا، ثُمَّ ارْفَعْ رَأْسَكَ حتَّى تَعْتَدِلَ قَائِمًا، ثُمَّ اسْجُدْ حتَّى تَطْمَئِنَّ سَاجِدًا، ثُمَّ ارْفَعْ حتَّى تَسْتَوِيَ وتَطْمَئِنَّ جَالِسًا، ثُمَّ اسْجُدْ حتَّى تَطْمَئِنَّ سَاجِدًا، ثُمَّ ارْفَعْ حتَّى تَسْتَوِيَ قَائِمًا، ثُمَّ افْعَلْ ذلكَ في صَلَاتِكَ كُلِّهَا. [حديث أبي هريرة، رواه البخاري]
ความว่า มีชายคนหนึ่งเข้ามาในมัสยิดและได้ละหมาด ในขณะที่ท่านนบีพักอยู่ที่ริมด้านข้างของมัสยิด เมื่อละหมาดเสร็จเขาก็เขามาทักทายให้สลามท่านนบี ท่านกล่าวกับเขาว่า “กลับไปละหมาดใหม่ เพราะท่านละหมาดไม่ถูกต้อง” ชายคนนั้นกลับไปละหมาดใหม่ตามเดิม หลังจากนั้นเขามาหาท่านนบีและทักทายให้สลามท่านอีกครั้ง ท่านนบีกล่าวอีกว่า “ขอให้ท่านได้รับสันติสุขเช่นกัน ท่านจงกลับไปละหมาดใหม่ เพราะยังละหมาดไม่ถูกต้อง” เมื่อเขาทำเช่นนั้นสามครั้ง ชายคนนั้นก็กล่าวว่า “โปรดสอนฉันเถิดว่าต้องละหมาดอย่างไร?” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “เมื่อท่านจะละหมาดให้อาบน้ำละหมาดให้ทั่ว แล้วหันไปทางกิบละฮ์ จงกล่าวตักบีร์ จากนั้นอ่านอัลกุรอานเท่าที่ท่านสามารถจะอ่านได้ จากนั้นรุกูอ์จนกว่าท่านจะนิ่งในอิริยาบถการรุกูอฺ จากนั้นยืนขึ้นจนกระทั่งได้ยืนตรง จากนั้นก็จงสุญูดจนกว่าท่านจะรู้สึกนิ่งสงบในอิริยาบถการสุญูดนั้น และจงเงยขึ้นมานั่งจนกว่าท่านจะนิ่งอยู่ในท่านั่ง แล้วก็ลุกขึ้นยืนจนกระทั่งยืนตรง ให้ทำเช่นนั้นตลอดการละหมาดของท่าน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ จากหะดีษอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ คนที่เข้ามาในมัสยิดแล้วนั่งเลยโดยไม่ได้ละหมาดก่อน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่ท่านกำลังคุฏบะฮ์วันศุกร์ ท่านก็บอกให้เขาละหมาดสองร็อกอะฮ์ก่อนที่จะนั่งลง
قالَ: دَخَلَ رَجُلٌ يَومَ الجُمُعَةِ والنبيُّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ يَخْطُبُ، فَقالَ: أصَلَّيْتَ؟ قالَ: لَا، قالَ: قُمْ فَصَلِّ رَكْعَتَيْنِ. [حديث جابر، رواه البخاري]
ความว่า ชายคนหนึ่งเข้ามานั่งในมัสยิดช่วงที่ท่านนบีกำลังคุฏบะฮ์วันศุกร์ ท่านนบีถามเขาว่า “ท่านละหมาดหรือยัง?” เขาตอบว่า ไม่ ท่านนบีจึงสั่งเขาว่า “จงลุกขึ้นมาละหมาดก่อนสองร็อกอะฮ์” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ จากหะดีษญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์)

พี่น้องครับ
ญาฮิลบางอย่างอาจจะทำให้อิบาดะฮ์ไม่สมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่แล้ว แต่การญาฮิลบางเรื่องอาจจะนำไปสู่การกระทำผิดที่น่ากลัวยิ่งกว่า ที่อาจจะถึงขั้นบาปใหญ่ ชิริก บิดอะฮ์ คุรอฟะฮ์ ก็เป็นได้ มีรายงานในหะดีษว่า
أنَّ رسولَ اللهِ صلَّى اللَّهُ عليْهِ وسلَّمَ لمَّا خرجَ إلى [حنين] مرَّ بشجرةٍ للمُشرِكينَ يقالُ لَها ذاتُ أنواط يعلِّقونَ عليْها أسلحتَهم فقالوا يا رسولَ اللهِ اجعَل لنا ذاتَ أنواطٍ كما لَهم ذاتُ أنواطٍ فقالَ النَّبيُّ صلَّى اللَّهُ عليْهِ وسلَّمَ: «سبحانَ اللهِ هذا كما قالَ قومُ موسى اجْعَلْ لَنَا إِلَهًا كَمَا لَهُمْ آلِهَةٌ والَّذي نفسي بيدِهِ لترْكبُنَّ سنَّةَ مَن كانَ قبلَكم». [حديث أبي واقد الليثي، رواه الترمذي]
ความว่า เมื่อครั้งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ออกไปทำสงครามหุนัยน์ ท่านผ่านต้นไม้ต้นหนึ่งของพวกมุชริกีน เรียกว่า ซาตุ อันวาฏ ซึ่งพวกเขาใช้เป็นที่แขวนดาบเพื่อเอาโชค บรรดาเศาะหาบะฮ์ที่มาด้วยก็เอ่ยกับท่านนบีว่า ท่านหาต้นไม้ซาตุ อันวาฏ ให้เราสักต้นหนึ่งเหมือนที่คนเหล่านั้นก็มีต้นไม้นี้ได้ไหม? ท่านนบีตอบพวกเขาว่า “สุบหานัลลอฮ์ นี่เป็นคำพูดที่เหมือนกับพวกของนบีมูซา ตอนที่พวกเขากล่าวกับมูซาว่า ให้เรามีพระเจ้าใช้กราบไหว้เหมือนกับที่คนอื่นก็มีพระเจ้าให้กราบไหว้! ขอสาบานด้วยอัลลอฮ์ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ พวกท่านจะได้เห็นการเลียนแบบตัวอย่างของประชาชาติก่อนหน้านี้อย่างเลี่ยงไม่พ้น” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ จากหะดีษอบู วากิด อัล-ลัยษีย์)

ด้วยความไม่รู้ทำให้เกิดพฤติกรรมที่น่ากังวลต่ออะกีดะฮ์และกระทบต่อความเชื่อในฐานะมุสลิมได้เช่นกัน ปัจจุบันนี้ก็มีมากมาย อาทิ เรื่องหมอผี หมอดู การบนบานจากเจ้าที่เจ้าทาง การยุ่งกับไสยศาสตร์ การลงทุนในธุรกิจคลุมเครือ ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นกับสังคมมุสลิมเองด้วย สุบหานัลลอฮ์
ดังนั้น นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนว่า ในฐานะมุสลิมเราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ และต้องไม่อยู่เฉยกับการแสวงหาความรู้ศาสนา เพื่อที่จะยกหรือขจัดความญาฮิลให้พ้นไปจากตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการอิสลามพื้นฐานที่ไม่รู้ไม่ได้ 

พี่น้องที่รักทั้งหลายครับ

ความญาฮิลอีกประการหนึ่งในยุคสมัยแห่งโซเชียลมีเดียและยุคดิจิตอลก็คือ ญาฮิล ต่อญาฮิลียะฮ์ คือความไม่รู้ต่อสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับอิสลามในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ ได้กล่าวว่า
إنما تنقض عرى الإسلام عروة عروة إذا نشأ فى الإسلام من لا يعرف الجاهلية [من أقوال عمر بن الخطاب]
แท้จริงแล้ว ขมวดปมแห่งอิสลามจะหลุดออกทีละขมวดทีละปม เมื่อเกิดอนุชนรุ่นใหม่ในอิสลามที่ไม่รู้จักญาฮิลียะฮ์

ญาฮิลียะฮ์ หรือสิ่งที่ไม่ถูกต้องกับบทบัญญัติอิสลามในยุคสมัยนี้อาจจะมาในรูปแบบกระแสวัฒนธรรม แฟชั่น เทรนด์ ไลฟสไตล์ แนวการทำธุรกิจ สื่อ โซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งการศึกษา และอื่นๆ ที่ต้องอาศัยความรู้ศาสนาในการกลั่นกรองและตรวจสอบว่าอันไหนที่ผู้ศรัทธาสามารถยุ่งเกี่ยวได้หรือไม่ได้  
ในหะดีษที่เล่าจากท่านอบู สะอีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า 
« لَتَتَّبِعُنَّ سَنَنَ مَن قَبْلَكُمْ شِبْرًا بشِبْرٍ، وَذِرَاعًا بذِرَاعٍ، حتَّى لو سَلَكُوا جُحْرَ ضَبٍّ لَسَلَكْتُمُوهُ، قُلْنَا: يا رَسُولَ اللَّهِ، اليَهُودَ وَالنَّصَارَى؟ قالَ: فَمَنْ؟» [حديث أبي سعيد، رواه البخاري]
ความว่า “พวกท่านจะเลียนแบบตามแนวทางของพวกก่อนหน้าท่าน คืบต่อคืบ ศอกต่อศอก แม้กระทั่งหากว่าพวกเขาเข้าไปในรูของฎ็อบบ์(สัตว์เลื้อยคลานในทะเลทรายประเภทหนึ่ง) พวกท่านก็จะยังตามพวกเขาเข้าไป” เศาะหาบะฮ์ถามว่า ท่านหมายถึงชาวยิวและชาวคริสต์ใช่หรือไม่? ท่านตอบว่า “จะเป็นใครได้อีกถ้าไม่ใช่พวกเขา?” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ จากหะดีษอบู สะอีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์)

พฤติกรรมการเลียนแบบต่างๆ ที่เราเห็นมันในสังคมของเราคือประจักษ์พยานที่น่าเป็นห่วงตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เตือนไว้ล่วงหน้าแล้ว 
เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันเยียวยารักษาให้สภาพแห่งความญาฮิลให้หมดไป 
ในฐานะปัจเจกมุสลิม ย่อมเป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่ต้องหาว่าตัวเองจะเรียนที่ไหนอย่างไร และในฐานะผู้นำชุมชนก็มีหน้าที่จะต้องจัดให้มีการเรียนรู้ศาสนาไม่ว่าในมัสยิดหรือตามวาระและโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ 

สุดท้าย อย่าลืมที่จะขอดุอาอ์ให้อัลลอฮ์เพิ่มพูนความรู้ที่มีประโยชน์แก่เราอย่างสม่ำเสมอ เหมือนดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนไว้ เช่น
كان إذا أصبَحَ قال: اللَّهُمَّ إنِّي أسألُكَ عِلمًا نافعًا، ورِزقًا طيِّبًا، وعَملًا مُتقَبَّلًا.  [حديث أم سلمة، رواه ابن ماجه]
ความว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในช่วงเวลาเช้าท่านจะขอดุอาอ์ว่า “โอ้อัลลอฮ์ ข้าวอนขอต่อพระองค์ให้ประทานความรู้ที่เป็นประโยชน์ ปัจจัยยังชีพที่ดี และการงานที่ถูกตอบรับ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ จากหะดีษอบู สะอีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์)


«اللَّهُمَّ انْفَعْنِي بِمَا عَلَّمْتَنِي، وَعَلِّمْنِي مَا يَنْفَعُنِي، وَزِدْنِي عِلْمًا» [رواه الترمذي]
ความว่า “โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรด ให้เกิดคุณประโยชน์แก่ความรู้ที่พระองค์สอนฉัน ได้โปรด สอนฉันในสิ่งที่มีประโยชน์ และได้โปรด เพิ่มพูนความรู้แก่ฉันด้วยเถิด” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์)